Saturday, 25 May 2024
ทารุณสัตว์

‘Klook’ ประกาศยุติขายบัตรท่องเที่ยวที่ ‘ทารุณสัตว์’ ในไทย จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบดำเนินงาน

(26 ก.ย. 66) Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ประกาศการตัดสินใจในการยุติการขายบัตรท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการขายโปรแกรมสถานที่ท่องเที่ยวหรือประสบการณ์ที่แสวงประโยชน์จากสัตว์ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นับเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Klook ในการกำหนดนโยบายใหม่ด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลิกขายการแสดงโชว์ที่เกี่ยวข้องกับ ช้าง โลมา และเสือ จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงาน นโยบายนี้จะมีกำหนดบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566

นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม Klook จะไม่สามารถพบตัวเลือกในการซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เหล่านี้ในประเทศไทยอีกต่อไป โดยตอบสนองกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ไม่สนับสนุนการใช้สัตว์เพื่อสร้างความบันเทิงโดยได้ยุติการขายบัตรโชว์การแสดงที่ทำกำไรจากการทรมานสัตว์ อีกกว่า 130 แห่งทั่วโลก

ซูซาน มิลธอร์ป หัวหน้าฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “เรายินดีกับความก้าวหน้าของ Klook และจัดว่าเป็นก้าวแรกในการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ เราหวังอย่างยิ่งที่จะเห็น Klook มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หยุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่แท้จริง เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเมื่อจองกิจกรรมการท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์ม เราสนับสนุนให้ Klook เดินหน้ายกเลิกกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับช้างต่อไป เช่น การอาบน้ำและการให้อาหารช้าง และจะกลายมาเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่าอย่างแท้จริง”

“การยกเลิกกิจกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากสัตว์ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักท่องเที่ยวที่ไปในทิศทางเดียวกัน กับกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในประเทศไทยจากข้อมูลผลสำรวจสวนดุสิตโพลในปี พ.ศ. 2565 พบว่า 76 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าการแสดงโชว์ช้างเป็นการทารุณกรรมสัตว์” หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริม

การจัดการนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เอาจริงเอาจังของบริษัทท่องเที่ยวอย่าง Klook และแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวอื่นๆ จะช่วยตัดเม็ดเงินที่จะไปสนับสนุนต่อยอดการทำธุรกิจที่ใช้สัตว์ป่าเพื่อสร้างความบันเทิง ซึ่งเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับการนำสัตว์มาฝึกด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทท่องเที่ยวจะต้องให้ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ผ่านการเพิ่มตัวเลือกของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าแทน

‘การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ’ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งหมายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจสถานบริการ บริษัทท่องเที่ยว แพลตฟอร์มออนไลน์และนักท่องเที่ยว จะต้องมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของตัวเองความโปร่งใสระหว่างบริษัทฯ และลูกค้าจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น การแสดงจุดยืนในการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ ผ่านการแสวงหาผลประโยชน์จากสัตว์ป่า ในทางหนึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและช่วยสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

‘เกาหลีใต้’ ไฟเขียว!! กฎหมายห้าม ‘กิน-ซื้อขาย’ เนื้อสุนัข รับแรงหนุน 'กระแสแอนตี้-ปธน.เป็นคนรักสัตว์ตัวยง'

(10 ม.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายห้ามการจำหน่ายและบริโภคเนื้อสุนัขเมื่อวันอังคาร(9 ม.ค.) ซึ่งจะส่งผลให้ประเพณีการรับประทานเนื้อสุนัขที่มีมานานนับร้อยๆ ในแดนโสมกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ท่ามกลางกระแสรณรงค์ต่อต้านการกินเนื้อสุนัขจากบรรดานักปกป้องสิทธิสัตว์ รวมถึงบุคคลทั่วไป

กฎหมายแบนการรับประทานและจำหน่ายเนื้อสุนัขผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนน 208 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังผ่านช่วงเวลาผ่อนผัน (grace period) 3 ปี

ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 30 ล้านวอน (ราว 795,000 บาท)

คนเกาหลีใต้สมัยก่อนเชื่อกันว่า การรับประทานเนื้อสุนัขจะช่วยให้ร่างกายทรหดอดทนต่อสภาพอากาศในฤดูร้อน ทว่าปัจจุบันสุนัขกลายเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน บวกกับมีการรณรงค์ต่อต้านการเชือดสุนัขเพื่อเป็นอาหาร ทำให้ความนิยมในการกินเนื้อสุนัขลดลงไปมาก และยังคงรับประทานกันเฉพาะในหมู่คนสูงวัยเสียเป็นส่วนใหญ่

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์ชี้ว่า สุนัขมักจะถูกฆ่าด้วยวิธีใช้ไฟฟ้าช็อตหรือแขวนคอให้ตาย ก่อนจะถูกนำมาแล่เนื้อ  แต่เจ้าของฟาร์มและผู้ค้าสุนัขก็ออกมาแย้งว่าพวกเขามีความพยายามที่จะปรับไปใช้วิธีการฆ่าที่ทารุณน้อยลง

กระแสต่อต้านการกินเนื้อสุนัขเริ่มแพร่หลายขึ้นในยุคของประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนรักสัตว์ และเลี้ยงสุนัขเอาไว้ถึง 6 ตัว แมวอีก 8 ตัว ขณะที่นางคิม คยอน-ฮี สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาวิจารณ์การรับประทานเนื้อสุนัขเช่นกัน

ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (8 ม.ค.) โดยสถาบัน Animal Welfare Awareness, Research and Education ในกรุงโซลพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% ไม่ได้รับประทานเนื้อสุนัขเลยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และ 93% บอกว่าคงจะไม่รับประทานอีกในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top