Monday, 29 April 2024
ทรู

ทรู-ดีแทค เผยอยู่ระหว่างศึกษา ‘ควบรวมธุรกิจ’ เดินหน้าตั้งบริษัทร่วมทุน ดันไทยสู่ฮับเทคโนโลยี

เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ พิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร (Transformation) สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ

วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2564) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ในขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนี้ ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (Due Diligence) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็ว ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation) ของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”

“การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน”

“การก้าวสู่บริษัทเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กระจายไปทั่วประเทศได้ ซึ่งในฐานะบริษัทไทย เรามุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทยและผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมทั้งยังจะสามารถดึงดูดคนที่เก่งที่สุดและธุรกิจล้ำสมัยจากทั่วโลกให้มาทำธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วย”

“วันนี้ เป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าวตามแนวทางดังกล่าว โดยเราหวังว่า จะเป็นส่วนเสริมพลังให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งหมด และสร้างงานด้านเทคโนโลยี ในการเติมเต็มและดึงเอาศักยภาพ ให้เป็นผู้ประกอบการที่ส่งมอบมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมดิจิทัลที่ล้ำสมัยนี้” นายศุภชัยกล่าว

นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า “เรามีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมาแล้ว ดังนั้น ขณะที่เรายังพัฒนาต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัยและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม”

นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซีย กล่าวว่า “ข้อตกลงในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานของเราในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างคุณค่า และพัฒนาตลาดในภูมิภาคนี้ต่อไปในระยะยาว เรามีความมุ่งมั่นและพันธกิจต่อทั้งประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียมาอย่างยาวนาน และความร่วมมือครั้งนี้ก็จะเสริมความมุ่งมั่นและพันธกิจนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การที่เราสามารถเข้าถึงทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพดีที่สุด จะเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญสำหรับบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในครั้งนี้”

นายเยอเก้นกล่าวว่า “บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 - 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย”

ทั้งเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ต่างมั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

‘ก้าวไกล’ ค้าน ควบรวม ‘ทรู’ - ‘ดีแทค’ จี้ องค์กรกำกับดูแล กล้ายุติทุนใหญ่ผูกขาด

พรรคก้าวไกล คัดค้านการควบรวมบริษัทให้บริการเครือข่ายมือถือ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ จี้ องค์กรกำกับดูแล ต้องกล้าหาญ ยุติการผูกขาดของทุนใหญ่ ปกป้องผู้บริโภค 

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นคัดค้านกรณีการควบรวมระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย อย่างทรูคอร์ป และ โทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น โดยตั้งคำถามว่า การควบรวมนี้เป็นการผูกขาดหรือครอบงำตลาดหรือไม่

“การควบรวมครั้งนี้ จะทำให้บริษัทใหม่นั้นกลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที และมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เมื่อวัดจากจำนวนเลขหมาย ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการควบรวมนี้จะทำได้โดยไม่เป็นการผูกขาด หรือครอบงำตลาดได้อย่างไร และหากดีลนี้สำเร็จจะเกิดผลอย่างไรกับผู้บริโภค และคู่แข่ง”

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแล เพราะแม้ พรบ.แข่งขันทางการค้า จะถูกยกเว้น หากอุตสาหกรรมนั้นมีกฎหมายกำกับดูแลเฉพาะอยู่แล้ว เช่น กรณีนี้เป็นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมย่อมจะอยู่ภายใต้กำกับของ กสทช. ซึ่งควรจะเป็นไปตามประกาศของ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในข้อ 8

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นบริษัทลูก (ทรูมูฟ - ดีแทคไตรเน็ต) แต่บริษัทที่จะควบรวมเป็นบริษัทแม่ (ทรูคอร์ป - โทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น) นี่อาจกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะกรณีนี้จะหลุดจากมือ กสทช. ไปสู่การขออนุญาตต่อบอร์ดแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตามประกาศหลักเกณฑ์การควบรวมของ กสทช. นั้นเข้มงวดกว่าของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แถมยังระบุหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวเลขชัดเจนไว้อีกด้วย

‘วัชระ’ ร้อง ‘ลุงตู่’ ค้าน! ทรูควบรวมดีแทค ผูกขาดการค้าลิดรอนสิทธิ์ ปชช.!!

(31 ม.ค.65) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้กำกับดูแลให้คณะกรรมการ กสทช. และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกฉบับโดยเคร่งครัด โดยไม่ให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน จากกรณีกลุ่มบริษัทในเครือซีพี (กลุ่มบริษัททรู) จะควบรวมกิจการกับกลุ่มบริษัทในเครือเทเลนอร์ (กลุ่มบริษัทดีแทค) ซึ่งปรากฏว่ามีนักวิชาการ นักคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้แสดงความกังวลถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่จะถูกลิดรอนไปอันเป็นผลจากการควบรวมกิจการดังกล่าว เนื่องจากตามข้อมูลของ กสทช.

ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมาย ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ (ไอไอเอส ทรู และดีแทค) 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 93 และทั้ง 3 รายล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรูและกลุ่มดีแทคแล้วจะเป็นรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 57 ซึ่งถือว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญกว่านั้นการควบรวมนี้จะทำให้กลุ่มบริษัทใหม่หลังการควบรวมจะกลายเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่จำนวนมากที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย คือจำนวน1,260 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “มาตรา 60 ...คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ... องค์กรดังกล่าว (กสทช.) ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น ... ป้องกันการ กระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้อง ... และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป...” 

การควบรวมกิจการดังกล่าว อันเป็นการจำกัดลิดรอนสิทธิ์ของผู้บริโภค จึงถูกบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 “มาตรา 27 (11) กำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผู้ขาดหรือก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน...” “มาตรา 27 (13) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่...” และ “มาตรา 31... ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการฯ มิให้มีการดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ...” ซึ่ง กสทช. (กทช. ในขณะนั้น) ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติข้างต้นโดยออก ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะใน “ข้อ 8 ... การเข้าซื้อหุ้นเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นจำกระทำมิได้ เว้นแต่ กสทช.จะอนุญาต และหากการดำเนินการนั้นส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กสทช. อาจจะสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือกำหนดมาตรการเฉพาะ ...” 

นอกจากนั้น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 บัญญัติให้ กสทช.ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาด ทำให้กลุ่มทรูและกลุ่มดีแทค ต้องรายงานรายละเอียดการควบรวมกิจการต่อเลขาธิการ กสทช. ก่อนการดำเนินการใด ๆ โดยต้องมีรายละเอียดเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 5-11ซึ่งเลขาธิการ กสทช. ต้องเสนอรายงานดังกล่าว กสทช. พิจารณาภายใน60 วัน เพื่อให้กำหนดเงื่อนไขป้องกันความเสียหายในทันทีให้เป็นไปตามมาตรา 22 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยมีมาตรการป้องกันการผูกขาดหรือการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมให้เป็นไปตามประกาศข้างต้นในข้อ 12 

อีกทั้งกลุ่มทรูและกลุ่มดีแทค ประกอบธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือไปจากกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 “มาตรา 51 ...แจ้งผลการควบรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าภายใน 7 วัน เว้นแต่การควบรวมจะทำให้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อนการดำเนินการ...” โดยมีรายละเอียดตามประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะในข้อ 10 แต่กลับปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนว่าหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ปฏิเสธการดำเนินการ และอ้างว่าไม่ใช่อำนาจของตน แต่เป็นอำนาจของ กสทช. แต่เพียงผู้เดียว เพราะเป็นข้อยกเว้นในมาตรา 4 (4) ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงของกฎหมายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสองกลุ่มบริษัทล้วนประกอบธุรกิจอย่างหลากหลายนอกเหนือจากโทรคมนาคม

‘ชลน่าน’ ไม่เห็นด้วยปมควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ จ่อตั้งกระทู้ถามสด - เสนอญัตติด่วนหลังสภาเปิด

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่มีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคนั้น ตนกังวลและไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการที่อาจนำไปสู่การผูกขาดในธุรกิจใดๆ โดยมีความเห็นดังนี้ 

1.) ตนไม่เห็นด้วยกับการควบรวมที่เป็นการผูกขาดการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระทบการแข่งขันของผู้ประกอบการ สภาวะการทำธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และจะกระทบผู้บริโภคในท้ายที่สุด 

2.) ตนเห็นว่าการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค น่าจะมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นกิจการประเภทเดียวกัน และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงมาก 

3.) มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่ามติ กสทช.ในการรับทราบการควบรวมนั้น ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ และ กสทช.ได้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า กสทช.ต้องตอบคำถามนี้ 

4.) ตนกังวลและเห็นว่าการผูกขาดการประกอบธุรกิจ จะมีผลกระทบต่อสิทธิ์และประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแน่นอน ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่ต้องดูแลและปกป้องคุ้มครองอย่างมากที่สุด

5.) พรรคเพื่อไทยยึดมั่นในหลักนิติธรรมและระบบกฎหมาย และคัดค้านการผูกขาดไม่ว่าในธุรกิจใด 

“ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการที่ผู้มีส่วนได้เสีย ที่จะดำเนินการตามกฏหมาย และยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบรวมกิจการดังกล่าว ในเบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การตรวจสอบในสภาฯ โดยการตั้งกระทู้ถามสดในสัปดาห์แรกของการประชุมสภาฯ และเสนอพิจารณาญัตติด่วนเพื่อให้สภามีมติในเรื่องนี้ต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

ทรู ยอมให้ ทีวีดิจิทัลถ่ายบอลโลกแบบคู่ขนานแล้ว ด้าน กกท. วอน ทรู ปลดล็อกดูได้ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

กสทช. เผย ทรู ยอม ทีวีดิจิทัล ถ่ายบอลโลก 2022 แบบคู่ขนาน จำนวน 16 นัด ให้ กกท. จัดสรร ด้าน สมาคมฯก็พอใจกับข้อสรุปนี้ ขณะที่ ผู้ว่า กทท. วอน ทรูปลดล็อกให้ดูได้ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

(22 พ.ย. 65) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากได้มีการพิจารณาตามหนังสือที่ทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้ยื่นมาสำหรับที่จะมีการขอให้ทบทวนการจับฉลากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) 2022 อีกครั้งนั้น จึงได้มีการหารือร่วมกับทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน

‘ก้าวไกล’ ฉะ!! ซื้อสิทธิฉายบอลโลกประเคนนายทุน จับพิรุธผู้บรรยายช่องดังเอาแต่ขอบคุณ ‘บิ๊กป้อม’

ก้าวไกล ฉะ กสทช. อนุมัติเงินรัฐซื้อสิทธิฉายบอลโลกประเคนนายทุน ถาม ประวิตรขายนาฬิกาสมทบด้วยหรือ? ถึงได้ขอบคุณออกอากาศทุกแมทช์

(24 พ.ย. 65) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายตั้งคำถามกับการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าลิขสิทธิ์บอลโลก และได้ตั้งคำถามต่อการกำกับดูแลว่าเมื่อรับเงินไปแล้ว นายทุนหรือประชาชนได้ประโยชน์กว่ากัน

โดยปกรณ์วุฒิ เริ่มต้นถึงความย้อนแย้งในการทำหน้าที่ กสทช. ว่าในฟุตบอลโลก 2014 บริษัท RS ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกมาทั้งหมด โดยเพื่อทำธุรกิจจากการให้ประชาชนซื้อกล่องทีวีดาวเทียม ซึ่ง กสทช. ได้บังคับใช้กฎ Must Have / Must Carry บังคับให้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกลงในทุกช่องทางให้ทุกคนชมฟรี

แต่ปี 2022 ระหว่างที่กำลังถึงช่วงใกล้ฟุตบอลโลก ด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่สมเหตุสมผลของ กสทช. ทำให้ไม่มีเอกชนรายใดไปซื้อลิขสิทธิ์มาฉายในประเทศไทย กสทช. จึงต้องใช้งบชจากกองของ กสทช. จำนวน 600 ล้านบาท อุดหนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปดำเนินการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จนในที่สุด กกท. ก็ต้องไปเจรจากับเอกชนเพื่อลงขันซื้อลิขสิทธิ์ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก

แต่แล้วก็เกิดประเด็นจากกรณีที่ บริษัท True จ่ายเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ 300 ล้านบาท แต่กลับทำข้อตกลงลับ ๆ กับ กกท. นำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมาย

ประการแรก คือ การที่ระหว่างการถ่ายทอด ผู้บรรยายได้ขอบคุณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกอากาศทุกแมตช์ คำถามคือ พล.อ.ประวิตร ช่วยออกเงินด้วยหรือ? มีส่วนที่ พล.อ.ประวิตร ขายนาฬิกาเพื่อเอามาสมทบเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่?

ศาลสั่งห้าม AIS PLAYBOX ถ่ายสดบอลโลก หลังกลุ่มทรูยื่นฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามบริษัท SBN ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่กาตาร์ หลังกลุ่มทรูยื่นฟ้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่านโครงข่าย IPTV กลุ่มทรูแจงไม่กระทบประชาชนที่รับชมผ่านฟรีทีวีทั่วไป รวมทั้งเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม

วันนี้ (26 พ.ย.) มีรายงานว่า หลังจากมีความกังวลต่อการที่ผู้ให้บริการกล่องไอพีทีวีหลายรายได้อ้างกฎ Must Carry และดำเนินการแพร่ภาพสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิในลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะส่งผลกระทบถึงโอกาสในการรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ในประเทศไทย นั้น

‘กลุ่มทรู’ ในฐานะผู้ได้รับสิทธิในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในระบบ IPTV และระบบ OTT ได้ดำเนินการปกป้องสิทธิตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งที่ให้บริการผ่านกล่อง AIS PLAYBOX ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการชั่วคราวด้วย

'ทรู' ดำเนินคดีขบวนการเฟกนิวส์  ใส่ร้ายบริษัทตัดสัญญาณมือถือ 'พิธา'

ทรูดำเนินคดีขบวนการเฟกนิวส์ กรณีใส่ร้ายทรูตัดสัญญาณมือถือนักการเมือง พร้อมชวนย้ายค่ายไปคู่แข่ง ปั้นข้อมูลเท็จหวังดึงการเมืองให้เข้าใจผิด

(12 ก.ค. 66) จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ Fake News ในเพจกลุ่มพรรคก้าวไกล – Move Forward Party ว่า... “คุณพิธา ถูกตัด สัญญาณโทรศัพท์จากทรู Fc คุณพิธาเปลี่ยนเป็น เอไอเอสหรือยัง” ซึ่งจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า หมายเลขดังกล่าว ยังสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตามปกติ และทรูขอยืนยันว่าไม่มีการตัดสัญญาณตามที่ถูกใส่ร้ายแต่อย่างใด โดยทีมงานของทรูได้ติดต่อแจ้งข้อเท็จจริงต่างๆ โดยตรงกับแอดมินเพจกลุ่มพรรคก้าวไกล – Move Forward Party แล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีช่วยลบโพสต์ดังกล่าวด้วยความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การสร้างสังคมออนไลน์ที่สะอาดปราศจากการโกหกบนอินเตอร์เน็ต เป็นแนวทางในการสร้างสังคมที่ดี ซึ่งการดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุดและสืบสวนต่อถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะเป็นกรณีตัวอย่างให้สังคมหลีกเลี่ยงการใช้เฟคนิวส์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) โดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ซึ่งในกรณีนี้โพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่งเข้าข่าย Fake News เราจึงได้ดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ได้โพสต์ข้อความสร้างความเสียหายให้แก่บริษัท โดยไม่มีมูลความจริง ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุที่จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากข้อความที่มีการโพสต์เป็นลักษณะการโฆษณาต่อบุคคลอื่นที่ได้พบหรือได้อ่านข้อความดังกล่าว อันเป็นเหตุต่อเนื่องให้มีการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการใส่ความต่อบริษัท โดยเผยแพร่ต่อสาธารณะ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซเชียลมีเดียในเพจกลุ่มก้าวไกล ปลุกปั่นให้เชื่อว่าบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยความสุจริตเป็นผู้ฝักใฝ่ทางด้านการเมือง และได้ดำเนินการกลั่นแกล้งทางการเมือง อันทำให้บริษัทได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศเป็นการดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังและกระทบต่อธุรกิจของบริษัท บริษัทจึงจำเป็นต้องดำเนินคดีถึงที่สุด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เข้าข่าย Fake News เช่นนี้ เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ทรู-ดีแทค ยกระดับป้องกันภัยไซเบอร์ สร้างความมั่นใจลูกค้าใช้โครงข่าย และทุกบริการดิจิทัล

(16 ส.ค. 66) ทรู คอร์ปอเรชั่น ก้าวสู่เทเลคอม-เทคคอมปานีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ย้ำภาพผู้นำซีเคียวริตี้ ทั้งโครงข่ายและบริการดิจิทัล เต็มรูปแบบ รวมทั้งปกป้องดูแลครอบคลุมทุกความปลอดภัยของลูกค้าและครอบครัว เปิดตัว ‘ทรู-ดีแทค ซีเคียวริตี้’ ชู 3 จุดเด่น End-to-end Protection ปกป้องภัยคุกคามทางโลกออนไลน์ครบวงจรทั้งบนเครือข่าย และแอปพลิเคชันตามมาตรฐานโลก, 24/7 Smart Monitoring ระบบป้องกันทันท่วงที ตรวจติดตามเฝ้าระวังการทำงานของระบบต่าง ๆ แบบอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง, Best-in-class Partnership พร้อมผนึกกำลังกับพาร์ตเนอร์ชั้นนำระดับเวิลด์คลาสทั้งด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อาทิ คลาวด์ สไตร์ท - พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ - เวคตร้า เอไอ และด้านประกันภัย อย่าง FWD ทิพยประกันภัย ส่งมอบบริการด้านความปลอดภัยแบบเหนือชั้น และประสบการณ์ที่ดีที่สุด การันตีจาก NIST (National Institute of Standards and Technology) สหรัฐอเมริกา 

ซึ่งประเมินค่า NIST Score ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เหนือกว่าค่ามาตรฐานโลก (Global Benchmark) พร้อมดูแลเพิ่มความมั่นใจสูงสุดทุกการใช้บริการดิจิทัลกลุ่มทรู ทั้งดิจิทัลมีเดีย - ทรูไอดี, ดิจิทัลโฮม - TrueX และ ดิจิทัลเฮลท์ - หมอดีด้วยระบบ e-KYC พิสูจน์ตัวตนลูกค้าและการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลขั้นสูงสุดระบบตรวจจับการบุกรุกโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 24 ชั่วโมง ตลอดจนจัดเต็มแพ็กเกจปกป้องคุ้มครอง ดูแลลูกค้ามอบประกันภัย ประกันชีวิตและอุบัติเหตุสุดคุ้ม รวมถึง ความคุ้มครองดูแลมือถือและแท็บเล็ตสุดพิเศษให้ลูกค้า ทรู-ดีแทค ใช้ชีวิตยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน

นายฐานพล มานะวุฒิเวช หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภัยคุกคามทางดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญในชีวิตผู้คน ทางทรูและดีแทคตั้งใจจริงที่จะทำให้ลูกค้าสบายใจ ในการใช้งานเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยยิ่งกว่า ซึ่งหลังการควบรวมกิจการทำให้เรานำความเชี่ยวชาญของทั้งทรูและดีแทค มารวมพลังเพื่อดูแลลูกค้าคนสำคัญให้รอดพ้นจากภัยคุกคามที่มากับโลกยุคดิจิทัล ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับองค์กร ระดับบุคคล ทรู จึงยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด เปิดตัว True I dtac SECURITY ที่จะสะท้อนการปกป้องและดูแลความปลอดภัยทุกระบบแบบครบวงจร ตอกย้ำถึงความปลอดภัยยิ่งกว่าเมื่อมีกันและกัน Safer together ลูกค้าจะมั่นใจได้ทันทีเมื่อเห็นสัญลักษณ์ True I dtac SECURITY บนสินค้าและบริการจากทรู ด้วย 3 จุดเด่นคือ 1.End-to-end Protection ป้องกันการโจมตีทางโลกไซเบอร์ครอบคลุม ครบครันทุกการใช้งานทั้งเน็ตเวิร์ก คลาวด์ และสมาร์ตดีไวซ์ รวมถึงบริการดิจิทัล 

2.24/7 Smart Monitoring ระบบป้องกันการโจมตีแบบทันท่วงที ดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ 

3.Best-in-class Partnership ผสานความแข็งแกร่งกับพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลก อาทิ บริษัท คลาวด์ สไตร์ท อินคอร์พอเรชั่น จำกัด บริษัท พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ และบริษัท เวคตร้า เอไอ รวมถึงบริษัทประกันชั้นนำอย่าง FWD และ ทิพยประกันภัย 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความมั่นใจระบบความปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทรูก็ยังตอกย้ำทุกความปลอดภัยลูกค้าคนสำคัญและครอบครัวในยุคดิจิทัล ด้วยแพ็กเกจที่ครอบคลุมทั้งการปกป้องคุ้มครองจากภัยไซเบอร์ทั้งในส่วนลูกค้าองค์กร และรายบุคคล การประกันภัย และประกันชีวิตและอุบัติเหตุสุดคุ้ม รวมถึง ความคุ้มครองดูแลมือถือและแท็บเล็ตสุดพิเศษอีกด้วย

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งสู่ความเป็น เทเลคอม-เทคคอมปานีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย คือการสร้างและขยายโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมให้แข็งแกร่ง และครอบคลุมทั่วประเทศรวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยแบบสูงสุดให้กับลูกค้าผู้ใช้งานทุกบริการ ซึ่งการพัฒนา True I dtac SECURITY นี้ เป็นความตั้งใจของทีมงานทุกคนที่จะเพิ่มการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่าย คลาวด์ ทุกระบบแบบครบวงจร ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามในปัจจุบันแบบสูงสุด ผ่านระบบป้องกันภัยไซเบอร์อัจฉริยะ ครอบคลุม 5 ด้านทั้ง  

1.Infrastructure Security การป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน และอุปกรณ์การใช้งานให้ปลอดภัยจากภัยคุกคาม อาทิ ตรวจจับความผิดปกติหากมีการทำงานที่เข้าข่ายความเสี่ยงจะถูกห้ามใช้งานทันที การตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ และแก้ไขก่อนถูกโจมตี การยืนยันเข้าใช้งานระบบปฏิบัติการด้วยผู้ดูแลระบบ เป็นต้น

2.Network Security การป้องกันภัยคุกคาม และการโจมตีบนเครือข่ายที่ช่วยจำกัดสิทธิการเข้าถึงระบบ โดยกำหนดให้เฉพาะผู้ใช้งาน หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ป้องกันภัยคุกคามที่เข้ามาทาง เว็บ หรือแอปพลิเคชัน พร้อม Zero trust network ที่บังคับให้ทุกระบบต้องมีการขออนุญาตก่อนการเชื่อมถึงกัน

3. Cloud Security การป้องกันระบบโครงสร้างบนคลาวด์ ให้ปลอดภัยด้วยระบบช่วยตรวจสอบการตั้งค่า และช่องโหว่ต่าง ๆ ให้ถูกต้องและปลอดภัยอยู่เสมอ

4. 24/7 Smart Security Management ระบบเฝ้าระวังภัยคุกคาม ตรวจสอบและรับมือตลอด 24 ชั่วโมงด้วย Security Center Operation จากเจ้าหน้าที่ควบคู่ไปกับระบบ AI  รวบรวมข้อมูลการใช้งานจากระบบต่างๆ ในมาวิเคราะห์และหาสาเหตุเมื่อเกิดเหตุขึ้น

5. Best-in-Class Partnership ผสานความแข็งแกร่งกับพันธมิตรชั้นนำด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับโลก ยกระดับมาตรฐาน และเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการด้านบริหารจัดการระบบความปลอดภัยไซเบอร์

ด้านนายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการให้บริการดิจิทัล ได้ให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องการดูแลความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ โดยการปกป้องข้อมูลแบบรอบด้านมาตรฐานระดับเวิลด์คลาส โดดเด่นด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยแบบบูรณาการ

(1) มีระบบตรวจจับการบุกรุกโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งต่างจากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าทั่วไป

(2) มีการใช้งานสถาปัตยกรรม Zero-trust

(3) ใช้งานระบบข่าวกรองไซเบอร์ (Threat Intelligence Platform)

(4) การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าด้วยระบบ e-KYC ที่มีการตรวจสอบตัวตน 2 ชั้นในการ log in เข้าสู่ระบบในครั้งแรก

(5) มีการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการปกป้องประวัติการรักษาพยาบาลของลูกค้า

นอกจากนี้ ลูกค้าทรู-ดีแทค มั่นใจ ยังจะได้รับการปกป้อง คุ้มครองในด้านประกันชีวิตด้วย โดย
ลูกค้าแบบรายเดือน เมื่อสมัครแพกเกจ 5G Together+ และ 5G Better+ จะได้รับฟรีประกันชีวิต และอุบัติเหตุ ความคุ้มครอง รวมสูงสุดกว่า 320,000 บาท รวมถึงลูกค้าแบบเติมเงิน ยิ่งอยู่ยิ่งได้ยิ่งใช้ยิ่งคุ้ม เมื่อเปิดเบอร์ใหม่ พร้อมสมัครแพกเกจ 300 บาท ได้เน็ตแรง แถมโทรฟรี พร้อมรับประกันความคุ้มครองชีวิต สะสมรวมสูงสุด 270,000 บาท 

ลูกค้าทรูออนไลน์ สมัครเน็ตบ้าน รับฟรีประกันภัยที่อยู่อาศัยจากทิพยประกันภัย และประกันชีวิต กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จาก FWD คุ้มครองนาน 24 เดือน  หรือจะเลือกปกป้องดูแลโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตเครื่องใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ของลูกค้าทุกคนได้รับการดูแลในทุกการใช้งาน ด้วย dtac Mobile Care หรือจะเป็น True Protech บริการดูแล และส่งซ่อมมือถือ ไม่ว่า ตก แตก เปียก พัง แม้แต่สูญหาย ก็อยู่ในบริการทั้ง 2 บริการนี้ เพียงเริ่มต้น 39 บาท ต่อเดือน เท่านั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top