Saturday, 4 May 2024
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

รางวัลแห่งความภูมิใจ!! ของบริษัทแม่ และ บริษัทลูก “SET Award 2021” รับมอบโล่เกียรติคุณ บริษัทโดดเด่นที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดย ได้รางวัลพร้อมรับมอบโล่เกียรติคุณหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2564 บนเวที “SET Awards 2021” สำหรับบริษัทที่มีความโดดเด่นที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับรางวัลในกลุ่ม Business Excellence และรางวัลในกลุ่ม Sustainability Excellence ได้แก่

1. รางวัลประเภท Best Investor Relations Awards กับ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK รับมอบโดย นางสาววริษา อนันตรัมพร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

2. รางวัลประเภท Rising Star Sustainability Award กับ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) รับมอบโดย นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)

 

 

WICE โชว์งบ 9 เดือน กำไรโต 29% พร้อมให้ข้อมูลทิศทาง Q4/65 โตต่อเนื่อง ในงาน Opportunity Day

นายเอกพล พงศ์สถาพร (กลาง) ประธานกรรมการ ร่วมด้วย นายชูเดช คงสุนทร (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และ นางสาวบุศรินทร์ ต่วนชะเอม (ขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ให้ข้อมูลผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2565 รายได้รวม 5,851 ล้านบาท กำไรสุทธิ 458 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% พร้อมให้ข้อมูลทิศทางธุรกิจไตรมาส 4/65 มั่นใจทำผลประกอบการนิวไฮต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลท. จับมือ ‘ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้’ แลกเปลี่ยนข้อมูล เชื่อมโยงโอกาสลงทุน ระหว่าง 2 ตลาดหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange: SSE) เชื่อมโยงข้อมูลการลงทุนให้หลักทรัพย์ไทยและจีนเป็นที่รู้จัก ผ่าน www.settrade.com และ www.csindex.com.cn เป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 2 ประเทศ 

(27 มี.ค. 66) นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เชื่อมโยงข้อมูลการลงทุนให้หลักทรัพย์ไทยและจีนเป็นที่รู้จัก โดยความร่วมมือนี้อยู่ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านดัชนี (Index Cross-border Cooperation) ที่จัดทำขึ้นระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัท China Securities Index Company Limited (CSI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดทำและเผยแพร่ดัชนีในเครือตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เพื่อแลกเปลี่ยนการเผยแพร่ข้อมูลดัชนี โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำข้อมูลดัชนีของตลาดทุนไทยไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ CSI เพื่อชูศักยภาพและความน่าสนใจลงทุนของตลาดทุนไทย และเพื่อให้ผู้ลงทุนในประเทศจีนได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ CSI มีเครือข่ายผู้ใช้ข้อมูลเฉลี่ย 8,000 รายต่อวัน ความร่วมมือด้านดัชนีครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เป็นผลจากการหารือเชิงลึกระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการตลาดทุนระหว่างสองตลาด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียนด้านดัชนี ทั้งนี้ นายจาง จื่อหมิง ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท China Securities Index Company Limited (CSI) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงข้อมูลดัชนีนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างตลาดทุนจีนและอาเซียน ซึ่ง CSI มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ทั้งสองแห่ง ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มการรับรู้และความน่าสนใจในดัชนีของจีนในระดับสากล

ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลการเผยแพร่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ไทย ประกอบด้วย ดัชนี SET Index, SET 50 Index และ SET THSI Index ได้ที่ www.csindex.com.cn และดัชนีของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ประกอบด้วย ดัชนี SSE Composite Index, SSE 50 Index, SSE Science and Technology Innovation Board 50 Index, CSI 300 Index และ CSI Smallcap 500 Index ที่ www.settrade.com ภายใต้เมนู Global โดยใช้ชื่อว่า “International Index Cooperation”

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันตั้งแต่ปี 2553 เพื่อขยายโอกาสให้หลักทรัพย์ไทยและจีนเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น พร้อมเปิดโอกาสการเชื่อมโยงทั้งสองตลาดเพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุน ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนบุคลากรและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ขึ้นแท่นเศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 1 ปี 66 ครองแชมป์ 5 ปีซ้อน มั่งคั่งกว่า 1.9 แสนล้านบาท!!

(12 ธ.ค. 66) วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ 30 แล้ว โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศที่ถือหุ้นสูงสุด 10 อันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ mai ตามการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นล่าสุดภายในวันที่ 30 กันยายน 2566

สำหรับผลการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ปรากฏว่า แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ยังคงเป็นของ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ ‘GULF’ ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยถือหุ้นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 รวม 190,828,06 ล้านบาท ลดลง 28,153.53 ล้านบาท หรือ 12.86% นอกจากสารัชถ์ จะถือหุ้น GULF สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 35.67% คิดเป็นมูลค่า 190,421.51 ล้านบาทแล้ว ในปีนี้ยังถือหุ้น บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) บริษัทในกลุ่มไทยยูเนี่ยนที่ทำธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกทั่วโลกอีก 0.67% มูลค่า 406.55 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้ความมั่งคั่งจะลดลงไป แต่ตลอด 5 ปีของการครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย มูลค่าหุ้นที่สารัชถ์ ถือครองก็อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาททุกปี ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงสุดในทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน

โดยในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่ก้าวขึ้นครองแชมป์ สารัชถ์มีความมั่งคั่งรวม 120,959.99 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 ความมั่งคั่งลดลงไปเล็กน้อยที่ 115,289.99 ล้านบาท ก่อนทะยานสู่ 173,099.73 ล้านบาท ในปี 2564 และพุ่งทะลุไปถึง 218,981.58 ล้านบาท ในปี 2565 จนล่าสุดลดลงมาที่ 190,828.06 ล้านบาท ในปี 2566

เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ได้แก่ ‘นิติ โอสถานุเคราะห์’ นักลงทุนรายใหญ่ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 61,790.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,666.61 ล้านบาท หรือ 6.31% ซึ่งพอร์ตการลงทุนที่มีชื่อนิติเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกในปีนี้ยังคงอยู่ใน 8 บริษัท โดยถือหุ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 3 ได้แก่ ‘นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ’ หรือ ‘หมอเสริฐ’ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โดยถือครองหุ้น บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มูลค่ารวม 57,001.68 ล้านบาท ลดลง 5,734 ล้านบาท หรือ 9.14%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ได้แก่ ‘ปณิชา ดาว’ โดยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 41,595.20 ล้านบาท ลดลง 40,035.38 ล้านบาท หรือ 49.04% สำหรับ PSG ได้มีกลุ่มทุนจาก สปป.ลาว นำโดย ‘เดวิด แวน ดาว’ สามีของปณิชา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ ในนาม บริษัท พีที จำกัดผู้เดียว (PTS) เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ที่ สปป.ลาว เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ในปี 2564

เศรษฐีอันดับ 5 ได้แก่ ‘ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ’ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ทายาทหมอเสริฐ โดยยังคงถือหุ้น BDMS ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้วคือ 5.18% และถือหุ้น BA ในสัดส่วนเดิมที่ 6.49% ส่วน บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) ปีนี้ได้ลดการถือหุ้นจาก 40.04% เหลือ 25.05% ส่งผลให้มีมูลค่าหุ้นที่ถือครองรวมทั้งสิ้น 26,634.59 ล้านบาท ลดลง 8,367.28 ล้านบาท หรือ 23.91%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 6 และอันดับ 7 ได้แก่ สองเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) หรือชื่อเดิมคือ ‘เมืองไทยลิสซิ่ง’ โดย ‘ชูชาติ เพ็ชรอำไพ’ อยู่ในอันดับ 6 รวมมูลค่าหุ้นที่ถือครอง 25,933.90 ล้านบาท ลดลง 584.17 ล้านบาท หรือ 2.20% โดยถือหุ้น MTC 33.49% และ บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) 3.12% ส่วน ‘ดาวนภา เพ็ชรอำไพ’ อยู่ในอันดับ 7 ถือหุ้น MTC 33.96% มูลค่า 25,920 ล้านบาท ลดลง 180 ล้านบาท หรือ 0.69%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 ได้แก่ ‘นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี’ นักลงทุนรายใหญ่ที่ปีนี้มีพอร์ตการลงทุนมูลค่ารวม 22,462.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,181.71 ล้านบาท หรือ 99.12% ความมั่งคั่งในพอร์ตหุ้นของหมอพงศ์ศักดิ์ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยเมื่อคลี่พอร์ตหุ้นออกมาดูพบว่า หุ้นที่หมอพงศ์ศักดิ์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นเป็น 14 บริษัท จาก 7 บริษัทเมื่อปีที่แล้ว

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ได้แก่ ‘อนันต์ อัศวโภคิน’ บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ แบรนด์ ‘แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์’ ถือหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) สูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 23.93% มูลค่า 22,308 ล้านบาท ลดลง 3,146 ล้านบาท หรือ 12.36%

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ได้แก่ ‘สุระ คณิตทวีกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น (COM7) เจ้าของธุรกิจค้าปลีกสินค้าด้านไอที โดยถือหุ้นรวมมูลค่า 21,387.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,381.50 ล้านบาท หรือ 94.33% ซึ่งปีนี้พอร์ตหุ้นที่สุระเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรกเพิ่มขึ้นเป็น 17 บริษัทจาก 11 บริษัทเมื่อปีที่แล้ว โดยสุระเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ในสัดส่วน 25.05% และ บมจ.เวฟ เอกซ์โพเนนเชียล (WAVE) ในสัดส่วน 7.56% ส่วน บมจ.เอ็ม วิชั่น (MVP) สุระถือหุ้น 9.30% สูงเป็นอับดับ 2 รองจากผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือ Capital Asia Investment ที่ถือหุ้น 14.62%

สำหรับความมั่งคั่งของตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยในปีนี้ หดหายไปตามการปรับลดลงของดัชนีหุ้นไทยในปี 2566 โดยตระกูลรัตนาวะดี ยังคงครองแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2566 ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 มีความมั่งคั่งรวม 190,828.06 ล้านบาท ลดลง 28,153.53 ล้านบาท หรือ 12.86% จากการถือหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ของแชมป์เศรษฐีหุ้นไทย สารัชถ์ รัตนาวะดี

อันดับ 2 ตระกูลปราสาททองโอสถ โดย 6 เครือญาติในตระกูล ได้แก่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ และ 5 ทายาท พุฒิพงศ์ สมฤทัย, อาริญา ปรมาภรณ์ และ พลตำรวจโทวิสนุ ปราสาททองโอสถ ที่ถือครองหุ้นรวมกันเป็นมูลค่า 96,820.59 ล้านบาท ลดลง 11,161.75 ล้านบาท หรือ 10.34%

อันดับ 3 ตระกูลโอสถานุเคราะห์ โดย 6 เครือญาติในตระกูลโอสถสภา ได้แก่ นิติ, คฑา, ธัชรินทร์, นาฑี, เกสรา และภาสุรี โอสถานุเคราะห์ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 72,721.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 650.12 ล้านบาท หรือ 0.90%

อันดับ 4 ตระกูลเพ็ชรอำไพ โดยเจ้าของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ดาวนภา-ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 51,853.90 ล้านบาท ลดลง 764.17 ล้านบาท หรือ 1.45%

และอันดับ 5 ตระกูลดาว ของปณิชา ดาว กลุ่มทุนจาก สปป.ลาว ที่เข้ามาถือหุ้น บมจ.พีเอสจี คอร์ปอเรชั่น (PSG) ในสัดส่วน 80% ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งปีนี้ความมั่งคั่งของตระกูลดาวปรับลดลงไป 49.04% โดยถือครองหุ้นรวมมูลค่า 41,595.20 ล้านบาท

‘JKN’ ขายหุ้น ‘มิสยูนิเวิร์ส’ ยังวุ่นไม่จบ หลัง ตลท. ให้แจงข้อเท็จจริง ชี้!! อาจมีคนซวย

‘ตลท.’ จี้!! ‘JKN’ แจงรายละเอียดปรับโครงสร้าง JKN Legacy ก่อนขายหุ้น ส่อปกปิดข้อมูลดีลขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (MUO) หลังหลงเชื่อทนายศรีธนญชัย ให้ความเห็นการขายและโอนหุ้นดังกล่าว บริษัทไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ ชี้!! งานนี้อาจมีหลายคนซวย

จากกรณีที่ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ได้ทำการขายและโอนหุ้น ใน JKN Legacy ในสัดส่วนร้อยละ 100% ของหุ้นทั้งหมด ให้กับ JKN Global Content ก่อนที่จะขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization : MUO)  ในสัดส่วน 50% ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวมีข้อน่าสังเกตหลายจุด

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญกรณีบริษัทปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy ก่อนขายหุ้น และต่อมายื่นขอฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งกรณีเปิดเผยสารสนเทศเมื่อปรากฏข่าวลือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนภายในวันที่ 6 ก.พ. 67 และสำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทภายในวันที่ 15 ก.พ. 67

ตลท.ระบุว่า JKN ได้แจ้งข้อมูลการปรับโครงสร้างถือหุ้น JKN Legacy, Inc. การขายหุ้นดังกล่าว การผิดนัดชำระหนี้ การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ และการเปิดเผยข้อมูล

สรุปลำดับเหตุการณ์

- 1 ก.ย. 66 JKN ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 452 ล้านบาท

- 11 ต.ค. 66 JKN ปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy จากบริษัทย่อยโดยตรง 100% เป็นบริษัทย่อยทางอ้อม 100% ผ่าน JKN Global Content Pte. Ltd.

- 20 ต.ค. 66 คณะกรรมการบริหารของ JKN มีมติให้ JKN Global Content ขายหุ้น JKN Legacy 50% และได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นในวันดังกล่าว

- 7 พ.ย. 66 คณะกรรมการมีมติให้ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

- 9 พ.ย. 66 ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องการขอฟื้นฟูกิจการ

- 22 ม.ค. 67 JKN ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อสอบถามของตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีปรากฏในสื่อต่างๆ ว่า JKN จะขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (MUO) ว่า บริษัทคาดว่าจะมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อไป
.
- 23 ม.ค. 67 JKN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 คณะกรรมการ JKN มีมติรับทราบ มติอนุมัติของคณะกรรมการบริหารเกี่ยวกับการขายหุ้น 50% ของ JKN Legacy ในราคา 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (582 ล้านบาท) โดยแบ่งรับชำระ 3 งวด ภายในเดือน ธ.ค.66 เดือน พ.ค.และเดือน ก.ย. 67 กำหนดการโอนหุ้นเมื่อชำระเงินงวดสุดท้าย

- 29 ม.ค.67 JKN ชี้แจงเพิ่มเติมว่า JKN Global Content สามารถโอนหุ้นที่ซื้อขายได้เนื่องจากข้อห้ามตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นการต้องห้ามเฉพาะตัวของ JKN และการอนุมัติการขาย JKN Legacy เป็นไปตามขอบเขตอำนาจดำเนินการ และขนาดรายการน้อยกว่า 15% จึงไม่จำเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ JKN มีแผนนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น JKN Legacy เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นเงินหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยและเพื่อสนับสนุนแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท

ตลท.จึงขอให้ JKN ชี้แจง 1.) เหตุผลและความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy จากการถือหุ้นทางตรงเป็นการถือหุ้นทางอ้อม ก่อนยื่นฟื้นฟูผ่านศาลในเวลาไม่นาน รวมทั้งกรณีหากไม่เปลี่ยนโครงสร้าง JKN จะเป็นผู้ได้รับเงินจากการขายที่จะต้องอยู่ในข้อห้ามตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ อย่างไร

2.) ความคืบหน้าการรับชำระเงินตามงวดรับชำระข้างต้น รายละเอียดของวัตถุประสงค์การใช้เงินที่แจ้งว่าเพื่อสนับสนุนแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ความเห็นของคณะกรรมการ JKN ต่อวัตถุประสงค์การใช้เงินว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอย่างไร และมาตรการติดตามดูแลการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

3.) เหตุผลที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ ตลท.สอบถามไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข้อมูลในสื่อต่างๆ ว่า JKN จะขายกิจการ MUO โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 67 แจ้งว่าบริษัทคาดว่าจะมีข้อสรุปในเวลาต่อไป แต่วันถัดมาคือวันที่ 23 ม.ค. 67 บริษัทได้แจ้งว่า JKN Global Content ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกิจการดังกล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 66
.
โดยก่อนหน้านี้ JKN ระบุว่า ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ได้ให้ความเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่บริษัทได้ดําเนินการทําธุรกรรมการขายและโอนหุ้นดังกล่าว บริษัทไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือผู้ถือหุ้นของ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

- การขายและโอนหุ้นใน JKN Legacy ให้กับ JKN Global Content ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยบริษัทในสัดส่วน 100% ไม่ถือเป็นรายการได้มาหรือจําหน่ายไป เนื่องจากไม่ทําให้บริษัทได้มาหรือจําหน่ายออกไปซึ่งสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัท ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจําหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547

- ตามเอกสารระเบียบอํานาจอนุมัติรายการของบริษัท (ฉบับเริ่มใช้เมื่อช่วงปี 2561) ที่สํานักงานฯ ได้รับ การขายหุ้นที่บริษัทถือในบริษัทลูกและ/หรือบริษัทย่อยไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/29 ที่ระบุว่า การได้มาหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือบริษัทย่อย ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 

ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ซีอีโอ ของ JKN และคณะกรรมการบริหาร ยังอ่อนหัดกับการรับมือ และเชื่อมั่นในที่ปรึกษาที่อาจมีลีลาคล้ายศรีธนญชัยมากเกินไป วางใจให้คำปรึกษากับเคสดังระดับประเทศที่มีคนจับตามองแบบนี้ จึงเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ทำให้โดน ตลท. สั่งชี้แจงในความไม่ชอบมาพากล และอย่าคิดว่าจะทำเหมือนกรณี บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) มาปล้นกลางแดดกันง่าย ๆ สุดท้ายก็ไปไม่รอดขีดเส้นใต้ไว้ได้เลย

ส่วน คณะกรรมการบริษัท ที่เห็นชอบกับกฎบริษัทที่เขียนไว้แปลกๆ ว่า การจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นบริษัทในกลุ่มไม่ต้องขออนุมัติคณะกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ทั้งที่จริง ตามกฎหมาย ต้องขอมติพิเศษจากผู้ถือหุ้น ตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน การที่สรุปออกมาแบบนี้ ถือว่าเร็วไปหน่อย ซึ่งกรรมการบริษัทอาจจะซวยเอาได้

ในมุมวิเคราะห์ของสื่อ จึงใคร่ขอเตือนสติกันอย่างตรงๆ ว่า ‘นักกฎหมายลีลาศรีธนญชัย’ นั้น อาจมีความเก่งกาจ จนไม่มีใครกล้าลอกเลียนแบบ เพราะอ่านและตีความกฎหมายด้านเดียว หาช่องให้คนหลงเชื่อ ซึ่งนักกฎหมายประเภทนี้น่าจะสูญพันธุ์ไปนานแล้ว ไม่คิดว่ายังมีเหลือให้ขำๆ เล่นในยุค 5G นี้อีก และเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ รอติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึกได้เลย

'ตลท.' เตือนนักลงทุนเทรด 'หุ้นมิสแกรนด์' หลังถูกพักซื้อขายไปเมื่อ 23 ก.พ. ชี้!! หากจะลงทุน ต้องศึกษาข้อมูลเท็จจริง ที่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐานก่อน

(27 ก.พ. 67) รายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังหลักทรัพย์บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI ถูกหยุดพักการซื้อขายเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นเวลา 1 วัน เนื่องจากมีสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปไม่สอดรับปัจจัยพื้นฐาน โดยกลับมาซื้อขายได้ตั้งแต่ในภาคเช้าของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไปนั้น

ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและมีพื้นฐานประกอบ (material information) ก่อนเข้าซื้อ MGI เนื่องจากปัจจุบันค่า P/E และ P/BV อยู่ในระดับ 88.05 เท่า และ 22.64 เท่า ตามลำดับ (ปรับด้วยผลการดำเนินงานงวดปี 2566 แล้ว) โดยเช้าวันนี้ MGI แจ้งสารสนเทศการเปิดตัวงานแกรนด์คอนเสิร์ต อิน ยูเอสเอ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจปกติของบริษัทที่ดำเนินการอยู่แล้วในส่วนของธุรกิจสื่อและบันเทิง

สำหรับสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไม่สอดรับปัจจัยพื้นฐานอีก หลักทรัพย์ MGI จะถูกหยุดพักการซื้อขายอีกเป็นเวลา 1 วัน ตามหลักการของมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3 (ระดับสูงสุด) ซึ่งในปัจจุบัน MGI ยังคงอยู่ในมาตรการระดับนี้

สรุปสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ MGI โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 6-22 กุมภาพันธ์ 2567 (13 วันทำการ)

- การซื้อขายปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในเวลาอันสั้น เกินปัจจัยพื้นฐานของบริษัท แม้จะอยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย
- ราคาเพิ่มขึ้น 74% จาก 28.75 บาท มาเป็น 50 บาท (All Time New High)
- มูลค่าการซื้อขายในช่วงก่อนเข้ามาตรการระดับสูงสุด สูงอยู่ใน 3 ลำดับแรกของ mai
- เข้ามาตรการกำกับการซื้อขาย 3 ครั้ง (เข้ามาตรการระดับสูงสุด 2 ครั้ง)

'ตลท'. เผย!! 'SET-MAI' จ่ายเงินปันผลปี 2023 ลดลง 2.95 ชี้!! หมวดพลังงานยังจ่ายมากสุด 1.38 แสนล้าน

(19 มี.ค. 67) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผย ในปี 2023 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ mai จำนวน 583 บริษัท มีการจ่ายเงินปันผลรวม 842 ครั้ง เป็นการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมกว่า 5.93 แสนล้านบาท ลดลง 2.95% จาก 6.11 แสนล้านบาทในปี 2022

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาการจ่ายเงินปันผลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าการจ่ายเงินปันผลให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.49%

ในช่วงเทศกาลจ่ายเงินปันผล คือ ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2023 บริษัทจดทะเบียนจ่ายเงินปันผลรวม 530 ครั้ง หรือคิดเป็น 62.9% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2023 โดยเดือนพฤษภาคม 2023 มีการจ่ายเงินปันผลมากที่สุดทั้งจากจำนวนครั้งและมูลค่าเงินปันผลจ่าย

โดยในเดือนพฤษภาคม 2023 มีการจ่ายเงินปันผลมากที่สุดรวม 449 ครั้ง คิดเป็น 53.3% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2023 และในแต่ละปีจะมีเทศกาลจ่ายเงินปันผลอีกหนึ่งรอบในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งในเดือนกันยายน 2023 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 175 ครั้ง หรือประมาณ 20.8% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลในปี 2023

ทั้งนี้ หมวดธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผลมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ในปี 2566 ได้แก่ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธนาคาร และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 

โดยบริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy and utilities sector) จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยมูลค่ามากที่สุดมีมูลค่ารวมกว่า 1.38 แสนล้านบาท ตามมาด้วยบริษัทจดทะเบียนในหมวดธนาคาร (Banking sector) ที่จ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่ารวม 1.31 แสนล้านบาท และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information & Communication Technology sector) 

ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai มีการจ่ายเงินปันผลรวมกว่า 7.19 พันล้านบาทในปี 2023

นอกจากสถิติเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายปันผลเป็นหุ้นอีกด้วย โดยในปี 2023 มีบริษัทจดทะเบียนจำนวน 32 บริษัท มีการจ่ายปันผลเป็นหุ้นรวม 34 ครั้ง

หากพิจารณาความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนจากผลประกอบการ ประจำปี 2023 พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทย 823 บริษัท ที่รายงานผลประกอบการ มีกำไรสุทธิรวมกว่า 9.47 แสนล้านบาท ซึ่งกำไรสุทธิรวมลดลง 2.6% จากปี 2022

อย่างไรก็ตาม 76.0% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (625 บริษัท) ยังคงมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจในปี 2023 แต่บริษัทเหล่านี้จะมีการพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผล และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top