Saturday, 27 April 2024
ตลาดจีน

‘ผู้ประกอบการไทย’ ร่วมงาน ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง’ มุ่งพา ‘ภาพยนตร์ไทย-ละครไทย’ บุกตลาดจีนในอนาคต

(30 เม.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำหรับผู้ชมชาวจีนจำนวนมากแล้ว ภาพยนตร์ไทยเรื่องสุดท้ายที่ดูในโรงอาจเป็นเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” เมื่อปี 2017 ที่ถึงแม้จะเป็นหนังทุนต่ำ แต่กลับกวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์หรือบ็อกซ์ออฟฟิศจีนได้ถล่มทลายถึง 271 ล้านหยวน (ราว 1.33 พันล้านบาท) ขึ้นแท่นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในจีน

และเมื่อไม่นานนี้แสงสปอตไลต์ได้สาดส่องไปยังภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่งครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-29 เม.ย.

ลี ทองคำ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย จากบริษัท ทองคำ ฟิล์มส์ จำกัด ซึ่งเข้าร่วมงานเผยว่าหลังจากได้ร่วมงานกับผู้กำกับชาวจีนรวมถึงบริษัทภาพยนตร์และวิดีทัศน์ของจีนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย และมาร่วมงานนี้เพื่อมองหาโอกาสการร่วมมือ เขากล่าวว่าผู้กำกับ นักแสดง เงินทุน และทรัพยากรอื่นๆ ที่มีคุณภาพของจีนช่วยยกระดับการผลิตผลงานร่วมกัน และเผยว่าภาพยนตร์ที่ตนผลิตร่วมกับบริษัทจีน ซึ่งเปิดตัวในไทยเมื่อปีที่แล้ว กำลังอยู่ระหว่างการโปรโมตให้เข้าถึงผู้ชมชาวจีนในฤดูร้อนนี้

“ทีมกองถ่ายจีนนิยมมาถ่ายหนังที่ไทยมาก มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างเจรจาหรือเริ่มถ่ายทำในไทยแล้ว” คำกล่าวของจางเลี่ยง จากบริษัทอาร์ท้อป มีเดีย (Artop Media) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2009 และได้นำภาพยนตร์ไทยส่งออกสู่สายตาผู้ชมชาวจีนแล้วมากกว่า 100 เรื่อง รวมถึงมีส่วนร่วมผลิตผลงานภาพยนตร์จำนวนหนึ่งในประเทศไทยด้วย

จางเลี่ยงกล่าวว่า เทศกาลภาพยนตร์เช่นนี้ สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานรัฐ บริษัทภาพยนตร์ และผู้ประกอบวิชาชีพในวงการภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ พร้อมเผยว่าหลายปีมานี้ภาพยนตร์ไทยขายลิขสิทธิ์ได้ดีมากในจีน แต่ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในโรงของจีนมีไม่กี่เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อใหม่มากกว่า

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มวิดีโอ เช่น อ้ายฉีอี้ (iQiyi) เทนเซ็นต์ (Tencent) และ บิลิบิลิ (Bilibili) ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางหลักของชาวจีนในการชมภาพยนตร์ไทยเท่านั้น แต่ยังรุกเข้าสู่ตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ของจีนจำนวนมากเผยโฉมสู่ตลาดผู้ชมชาวไทย

ขณะที่บริษัทจีนอย่างไป่หมิง กรุ๊ป (Baiming Group) ซึ่งทำธุรกิจแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ก็หวังที่จะสร้างความร่วมมือกับบริษัทผลิตภาพยนตร์และฐานการถ่ายทำภาพยนตร์ของไทยผ่านเทศกาลนี้ เพื่อโปรโมตภาพยนตร์และละครใหม่ๆ

ทัพทุเรียนไทย’ บุก ‘ตลาดจีน’ เอาชนะใจผู้บริโภค ทำยอดขายพุ่งทะยาน 4 เท่า ‘หมอนทอง’ ขายดีสุด!!

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน มีชีวิตชีวาตั้งแต่ยามเช้ามืด รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์คันใหญ่วิ่งเข้าออกและหยุดจอดขนถ่ายสินค้าหน้าแผงทุเรียน โดยมีผู้ซื้อจับกลุ่มรออยู่ก่อนแล้ว

บรรดาพ่อค้าแม่ขายรายใหญ่ต่างคึกคักกระปรี้กระเปร่าหลังจากเข้าสู่ ‘ฤดูทุเรียน’ ซึ่งปีนี้ทุเรียนไทยบุกตลาดจีนเร็วกว่าปีก่อน โดยทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีจะถูกเก็บเกี่ยวและขนส่งถึงชั้นวางสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วแผ่นดินใหญ่ของจีนภายในเวลาเพียงราวหนึ่งสัปดาห์

ตัวอย่างเช่น ‘ทุเรียนซีพี เฟรช’ (CP Fresh) ถูกขนส่งถึงจีนและกระจายสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อทุเรียนคุณภาพดีและสดใหม่ที่สุด โดยซีพีเอฟ (CPF) จัดสารพัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุเรียนหมอนทองหอมหวาน ดึงดูดผู้บริโภคมาซื้อไม่ขาดสาย

“ทุเรียนซีพีมีคุณภาพสูง รสชาติดี แถมมีการชดเชยและสับเปลี่ยนถ้าเจอทุเรียนลูกที่ไม่ดี ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายใจ” ชายแซ่ลู่ ชาวนครหนานหนิงของกว่างซีกล่าว

เหลียงซูถิง ประธานซีพีเอฟ สาขาหนานหนิง เผยว่ายอดจำหน่ายทุเรียนเฉลี่ยรายวันช่วงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสูงเกิน 100 กล่อง โดยหลายปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมทุเรียนแบบครบวงจร กำหนดมาตรฐานของสินค้า ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือน “รับประทานทุเรียนกลางสวนในไทย”

อนึ่ง จีนเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยทุเรียนครองตำแหน่ง “ราชาผลไม้นำเข้า” ของจีนตั้งแต่ปี 2019 และปริมาณการนำเข้าในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน มูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นทุเรียนไทยถึง 7.8 แสนตัน

กวนฉ่ายเสีย ผู้ค้าขายทุเรียนมานานหลายปี และเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ ได้ร่วมมือกับโรงงานไทยในการออกแบบแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีการใช้อักษรจีน ‘ปั้ง’ (棒) ตัวใหญ่เตะตาบนกล่องทุเรียน ซึ่งกวนชี้ว่าสอดคล้องกับคุณภาพ ‘ยอดเยี่ยม’ ของทุเรียนไทย

การคลุกคลีอยู่กับการค้าขายทุเรียนไทยมานานถึง 20 ปี ทำให้กวนได้เห็นการเติบโตของทุเรียนไทยในจีน และเชื่อว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดจีน รวมถึงมีข้อได้เปรียบจากความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

ข้อมูลจากตลาดฯ ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนในตลาด 32 ราย ยอดค้าส่งในปีก่อนอยู่ที่ 24,000 ตัน ส่วนยอดจำหน่ายในปีนี้อยู่ที่ 17,000 ตัน เมื่อนับถึงวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยทุเรียนหมอนทองของไทยมียอดจำหน่ายสูงสุด

โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กว่างซี โยวเซียนหยวน อะกรีคัลเจอรัล เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้อาเซียนสู่จีนจำนวนมาก เผยว่าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยมียอดจำหน่ายดีมาก แต่ละวันนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ 5-6 ตู้ บางช่วงสูงถึง 10 ตู้ และอาจสูงขึ้นอีกในอนาคต

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานผลไม้อาเซียนอย่างทุเรียน มะพร้าว และลำไย โดยบริษัทฯ ทำการค้าส่ง การจำหน่ายผ่านไลฟ์สตรีมมิง และการวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ปีนี้บริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยราว 15,000-20,000 ตัน หรืออาจแตะ 25,000 ตัน” โม่กล่าว

แต่ละปีทุเรียนไทยเริ่มส่งออกสู่ตลาดจีนในเดือนเมษายน และพุ่งแตะระดับสูงสุดช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

“ครอบครัวของผมซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยเป็นประจำ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ชอบรับประทานกันมาก ราคาและคุณภาพของทุเรียนในปีนี้น่าพอใจมากๆ จนอาจจะได้ซื้อบ่อยขึ้น” เหลียงเจ๋อหลิน ชาวเมืองหนานหนิงกล่าว

เฮ่อเยี่ยน รองผู้จัดการร้านค้าปลีกแซมส์คลับ เผยว่าสินค้าทุเรียนเป็นที่ต้องการมากทุกวัน โดยทุเรียนที่ขนส่งมาถึงใหม่ๆ มักจะขายหมดภายในครึ่งวัน ทำให้ร้านค้าต้องกำหนดเพดานการซื้อของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งแห่มาซื้อกันตั้งแต่หัววัน

“ปีนี้ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมาก มีราคาเหมาะสม ครอบครัวทั่วไปล้วนอยากซื้อไปรับประทาน” จางอี้เฉียว จากบริษัท การค้านำเข้าและส่งออกหนานหนิง เจี๋ยรุ่ย จำกัด กล่าว โดยบริษัทฯ ยังทำธุรกิจค้าส่งทุเรียนในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองเจียซิงของเจ้อเจียงด้วย

จางกล่าวว่าหากดูจากตลาดหลายแห่งพบยอดจำหน่ายทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่ละวันบริษัทฯ สามารถจัดจำหน่ายทุเรียนตามตลาดแห่งต่างๆ ราว 3-4 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนหมอนทองขายดีที่สุด ส่วนทุเรียนกระดุมทองราคาแพงกว่าแต่ก็ขายดีเช่นกัน

ทั้งนี้ ‘ทุเรียน+มังคุด’ เป็นผลไม้ที่มักขายได้คู่กันตามตลาดหลายแห่ง โดยลูกค้าที่มาซื้อทุเรียนมักซื้อมังคุดด้วย โดยจางอธิบายว่าชาวจีนตอนใต้ไม่น้อยมองว่าทุเรียนเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน การรับประทานมังคุดที่เป็นผลไม้ฤทธิ์เย็นจะช่วยลดฤทธิ์ร้อนดังกล่าว

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนอาเซียนได้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแหล่งทุเรียนนำเข้าหลัก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวจีนมองหาทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ๆ มาลองลิ้มชิมรสชาติกันเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านโม่เจียหมิงเสริมว่าบริษัทฯ มุ่งปรับปรุงโครงสร้างผลิตภัณฑ์ มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานรับซื้อทุเรียนในเวียดนาม 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ และหลังจากหมดฤดูทุเรียนตะวันออกของไทย จะหันไปนำเข้าทุเรียนเหนือและทุเรียนใต้ของไทย ควบคู่กับทุเรียนเวียดนามบางส่วน

การก่อสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ เส้นทางตะวันตก การเปิดใช้ทางรถไฟจีน-ลาว และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงไม่นานนี้ ช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นและเกื้อหนุนการค้าข้ามภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น ‘ทุเรียนไทย’ นอกจากถูกนำเข้าสู่จีนทางอากาศ ยังมีการนำเข้าทางบก รวมถึงทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังของจังหวัดชลบุรีไปยังท่าเรือชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และท่าเรือหนานซาของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) อีกด้วย

“ยามสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกทยอยคลี่คลาย มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออก ช่วยให้ทุเรียนเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” กวนฉ่ายเสียกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการนำเข้าทุเรียนผ่านด่านบกโหย่วอี้ในกว่างซี ซึ่งถูกขนส่งต่อทางถนนและทางรางในจีน

ปัจจุบันทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่เข้าถึงหลายครอบครัวทั่วไปในจีน แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีผู้บริโภคกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่มเล็กเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการพัฒนาการค้าเสรีและการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

‘จีน’ ไม่แผ่ว!! นำเข้า ‘ทุเรียนไทย’ ต่อเนื่อง แม้มี ‘ทุเรียนไหหลำ’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ตลาด

เมื่อไม่นานนี้ กระแสข่าวทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เตรียมออกวางตลาดในประเทศช่วงปลายเดือนมิถุนายน ได้ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ผู้บริโภค

บรรดาคนวงในมองว่าการผลิตทุเรียนภายในประเทศของจีนไม่ได้มีแนวโน้มแปรเปลี่ยนทิศทางการบริโภคทุเรียนของจีนที่พึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก และ ‘ทุเรียนไทย’ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีน

เนื่องจากการผลิตทุเรียนในจีนยังอยู่ระยะแรกเริ่มเหมือนเด็กทารกหัดตั้งไข่ ไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกมากมาย รวมถึงมีไม่กี่มณฑลที่สามารถปลูกได้ ทั้งจีนยังเป็นประเทศผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนของบริษัท ไห่หนาน โยวฉี อะกรีคัลเจอร์ จำกัด ในเมืองซานย่า ซึ่งถือเป็นฐานปลูกทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบันด้วยขนาด 1.2 หมื่นหมู่ (ราว 5,000 ไร่)

ปัจจุบัน ทุเรียนที่ฐานปลูกแห่งนี้เริ่มสุก และคาดว่าจะทยอยถูกเก็บเกี่ยวเพื่อส่งขายช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทุเรียนเหล่านี้จะช่วยลดราคา หรือกระทบความต้องการทุเรียนนำเข้าหรือไม่

‘ตู้ไป่จง’ จากฐานปลูกทุเรียนแห่งนี้เผยว่าตอนนี้ไห่หนานมีการปลูกทุเรียนรวมกว่า 3 หมื่นหมู่ (ราว 12,500 ไร่) แต่มีทุเรียนสุกพร้อมส่งขายในปีนี้เพียง 1 พันหมู่ (ราว 416 ไร่) หรือคิดเป็นปริมาณราว 50 ตัน

แม้ไห่หนานจะเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งหลักของจีน แต่ยังคงมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกทุเรียนอยู่อย่างจำกัดมาก โดยต่อให้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ก็ยังถือเป็นแหล่งผลิต ‘ขนาดเล็ก’ อยู่ดี

“การปลูกทุเรียนภายในประเทศอาจได้ลดต้นทุนในการขนส่ง แต่ผลผลิตยังเป็นส่วนน้อยมากสำหรับส่วนแบ่งของตลาด” ตู้ไป่จง กล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ประกอบการไม่ได้คิดเร่งเพิ่มการลงทุนและพื้นที่ปลูกอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าด้วย

ดังนั้น ผู้บริโภคชาวจีนนั้นชื่นชอบ ‘ราชาแห่งผลไม้’ อย่างทุเรียนกันมากจนทำให้จีนกลายเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทุเรียนเกือบทั้งหมดในจีนมาจากการนำเข้า ซึ่งข้อมูลสถิติพบว่าจีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน และส่วนใหญ่มาจากไทย

‘เฉินเหล่ย’ เลขานุการสมาคมการตลาดผลไม้แห่งประเทศจีน กล่าวว่าการผลิตทุเรียนในประเทศยังอยู่ในขั้นทดลองปลูกขนาดเล็ก ยังไม่มีการปลูกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดังนั้นยังไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในระยะสั้นนี้

“ราคาทุเรียนจะทรงตัวอยู่ระดับสูงในระยะยาวเมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ โดยทุเรียนถือเป็น ‘ผลไม้หรู’ ชนิดหนึ่งในจีน แม้จะมีทุเรียนที่ปลูกในประเทศออกวางตลาด แต่ด้วยการปลูกขนาดเล็ก ทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนปริมาณมากในระยะยาว” เฉิน กล่าว

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ชี้ว่า ต่อให้สภาพอากาศจะเอื้ออำนวย แต่จีนจะยังคงเผชิญปัญหาความยากลำบากทางเทคนิค ในการเพาะปลูกทุเรียนขนาดใหญ่

‘โจวจ้าวสี่’ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน ระบุว่าทุเรียนเป็นพืชต่างถิ่น การปลูกต้นกล้าในประเทศจึงเป็นเรื่องยากในระดับหนึ่ง มีเงื่อนไขทั้งเรื่องอากาศ ความชื้น แสงแดด อุณหภูมิ ปุ๋ย และน้ำ

“แม้ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราค้นพบแนวทางการจัดการอย่างระบบน้ำหยดและบ่มเพาะต้นกล้าเตี้ย ๆ ที่ทนลมในไห่หนานได้ แต่การปลูกขนาดใหญ่ในท้องถิ่นทั้งหมดยังคงอยู่ขั้นทดลอง” โจว กล่าว

ปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกในไห่หนานส่วนใหญ่เป็นต้นอ่อนไร้ผล และการปลูกยังคงเจอสารพัดปัญหาที่ต้องเอาชนะ ทั้งการเพาะและปลูกต้นกล้าคุณภาพสูง เทคนิคจัดการการปลูก และการควบคุมศัตรูพืช

คนวงในอุตสาหกรรมเชื่อว่า ไทยยังคงเป็นแหล่งทุเรียนนำเข้าแห่งหลักของจีนในระยะยาว เพราะทุเรียนไทยมีรสชาติอร่อยโดดเด่น เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบที่ทำให้ทุเรียนไทย จะยังครองตลาดการบริโภคทุเรียนของจีนในอนาคต

ด้านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ถือเป็นช่องทางหลักของการนำเข้าทุเรียนไทย

สถิติจากศุลกากรนครหนานหนิงของกว่างซี ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าทุเรียนไทยผ่านด่านพรมแดนกว่างซี ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม สูงแตะ 1.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 381.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 5.51 พันล้านหยวน (ราว 2.69 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 403.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

นครหนานหนิงของกว่างซีมี ‘ตลาดไห่จี๋ซิง’ เป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนอยู่ 32 ราย และปริมาณการค้าส่งทุเรียนในปีก่อนสูงราว 2.4 หมื่นตัน

ส่วนยอดจำหน่ายทุเรียนของตลาดฯ ช่วงเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม รวมอยู่ที่ราว 1.7 หมื่นตันแล้ว ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยมีทุเรียนหมอนทองของไทยครองตำแหน่งขายดีที่สุด

‘หวงเจี้ยนซิน’ ฝ่ายบริหารธุรกิจของบริษัทขนส่งสินค้าท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เผยว่าแต่ละวันบริษัทรับรองการทำพิธีศุลกากรผ่านด่านโหย่วอี้ของทุเรียน 16 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นปริมาณราว 200-300 ตัน

“ความต้องการและความนิยมทุเรียนไทยของตลาดผู้บริโภคชาวจีนนั้นสูงมาก ส่วนทุเรียนที่ปลูกในประเทศยังคงต้องรอผ่านบททดสอบเรื่องรสชาติก่อน” หวง กล่าว
.
‘โจวจ้าวสี่’ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน เสริมว่าจีนส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนที่มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทุเรียนไห่หนานยังมีช่องโหว่ที่ต้องพัฒนาอีกมาก

“แม้จีนจะสามารถปลูกทุเรียนในประเทศได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านปัจจัยธรรมชาติและพื้นที่เพาะปลูก ทุเรียนนำเข้าจากไทยจึงยังจะเป็นส่วนเสริมสำคัญ” โจว กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : Xinhua Thai

‘สนค.’ ชี้เป้าผู้ประกอบการไทย เล็งขายสินค้าออนไลน์เจาะ ‘ตลาดจีน’ หลังพบมีการเติบโตต่อเนื่อง จากการที่คนจีนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

(12 ก.ย.66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาการเติบโตของการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือ Cross-border e-Commerce (CBEC) พบว่า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยปี 2565 มีจำนวน 1.067 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 35.49 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2564 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาใช้ e-Commerce มากขึ้น

ทั้งนี้ ยังพบว่า รัฐบาลจีนมีมาตรการและนโยบายสนับสนุน เช่น การจัดตั้งเขตนำร่องบูรณาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน จำนวน 165 แห่ง ครอบคลุม 33 เมือง อาทิ หางโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และเฉิงตู เชื่อมโยงระหว่างทางบก ทางทะเล ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าของ SMEs จีน ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศและส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีน โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมีขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่ง่ายกว่าการค้าระหว่างประเทศแบบปกติ และมีการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับต่างประเทศผ่านการลงนามในสัญญาความร่วมมือระยะยาวระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัทด้านการค้าระหว่างประเทศและบริษัทด้านการขนส่งทางทะเล รวมทั้งการส่งเสริมบริษัทคลังสินค้าในต่างประเทศให้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ทั้งของจีนและต่างประเทศ

สำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ตลาดจีนผ่านทางแพลตฟอร์ม CBEC แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.) การนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse Import) ผู้ประกอบการจากทั่วโลกสามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรและยังไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้า โดยการนำเข้ารูปแบบนี้มีข้อดี ดังนี้ (1) ลดระยะเวลาการรอคอยสินค้า การนำเข้าสินค้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้บริโภคได้ภายใน 3-7 วัน (2) ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการคัดแยก บรรจุหีบห่อใหม่และการติดฉลากสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร (3) รักษาสภาพคล่องได้ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องชำระอากรและภาษีเมื่อมีการนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน จึงทำให้ธุรกิจสามารถรักษากระแสเงินสดได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ดังนี้

(1) ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ อาทิ ขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่เพิ่มขึ้นในการขอเก็บสินค้าในคลัง และข้อจำกัดในการจัดเก็บสินค้าในคลัง (2) ต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ ค่าเช่า ค่าประกันภัย และค่าบริหารจัดการ

2.) การส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง (Direct Mailing Mode) ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าจากประเทศต้นทางไปยังผู้บริโภคที่อยู่ในจีนโดยตรงผ่านระบบโลจิสติกส์ การชำระเงิน และการเสียภาษีที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม โดยจะมีความสะดวกของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในด้านระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากของแพลตฟอร์มกับบริษัทโลจิสติกส์ร่วมมือกันโดยตรง และยังมีต้นทุนต่ำจากการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายคลังสินค้าทัณฑ์บนในจีน แต่ก็ยังมีข้อจำกัด คือ อาจต้องใช้ระยะเวลาผ่านพิธีการศุลกากรประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งยาวนานกว่าการนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ใช้เวลาดำเนินการพิธีทางศุลกากรเพียง 1-2 วัน

นายพูนพงษ์กล่าวว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยจากการที่ตลาด CBEC ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีความต้องการซื้อสินค้าในตลาดอยู่จำนวนมาก ประกอบกับมีสินค้าไทยหลายชนิดที่สามารถทำยอดขายในจีนได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว สินค้าเพื่อสุขภาพ ผลไม้สด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวธรรมชาติ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยค้าขายผ่านช่องทาง CBEC มากขึ้น และมุ่งเน้นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจีน ตอบสนองคุณภาพชีวิตยุคใหม่ก็จะสามารถเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดในจีนได้โดยการค้าผ่าน CBEC มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีทางศุลกากรที่ถูกและง่ายกว่าการค้าแบบปกติ หากเป็นคำสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 หยวน ต่อคำสั่งซื้อ และมูลค่ารวม ไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี/ต่อราย ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตเพียงร้อยละ 70 จากอัตราปกติ

“ด้วยแนวโน้มการซื้อขายสินค้าผ่าน CBEC ที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีศุลกากรที่ง่ายและรวดเร็วกว่าการซื้อขายในช่องทางปกติ จะทำให้ CBEC เป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางการตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางและสิ่งของที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายและบำรุงผิว รวมไปถึงอาหารสด โดยผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดจีนให้ลึกซึ้งทั้งในด้านกฎหมาย ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับตัวสินค้าเพื่อให้สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถใช้ช่องทาง CBEC เป็นกุญแจสำคัญในการขยายธุรกิจสู่ตลาดจีนต่อไป” นายพูนพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน กรมศุลกากรจีน ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ในปี 2565 มีมูลค่า 2.06 ล้านล้านหยวน (2.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC สูงถึง 1.1 ล้านล้านหยวน (1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 แบ่งเป็น การส่งออก 8.21 แสนล้านหยวน (1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และการนำเข้า 2.76 แสนล้านหยวน (3.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มมูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ของจีนแล้วจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นตั้งแต่ปี 2563

‘ผู้บริโภคจีน’ เปิดหลากปัจจัยทำไม 'ทุเรียนไทย' ครองใจในตลาดจีน เหตุ ‘คุณภาพเยี่ยม-ห่วงโซ่อุปทานได้เปรียบ-ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรสองประเทศ’

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยามฤดูเก็บเกี่ยวและจำหน่าย ‘ราชาแห่งผลไม้’ อย่างทุเรียนเวียนมาถึง ทุเรียนจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทยอยเข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยรสชาติที่อร่อยและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ทุเรียนเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้น กลายเป็นหนึ่งในผลไม้ตัวเลือกของหลายครอบครัวชาวจีน

‘ไทย’ ถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญของโลก แต่ละปีส่งออกทุเรียนสู่จีนเป็นปริมาณมาก โดยปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยสู่จีนในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.7 เมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนที่ส่งออกสู่จีนคิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย ขณะความนิยมทุเรียนในจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดและความต้องการของตลาดยังคงแข็งแกร่งในปี 2024

"ทุเรียนไทยอร่อยและมีกลิ่นหอมมาก แต่ละปีครอบครัวต้องซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยมารับประทานกัน โดยตอนนี้นอกจากทุเรียนไทยแล้วยังมีทุเรียนเวียดนามให้เลือกซื้อ นี่เป็นเหมือนโบนัสของคนรักทุเรียน" หวังอวิ๋นเจวียน ผู้บริโภคในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนกล่าว

ยามเดินเข้าตลาดค้าส่งผลไม้ไห่จี๋ซิงในนครหนานหนิงจะพบพ่อค้าแม่ค้ามากมายที่จำหน่าย ‘ทุเรียนไทย’ โดยกวนฉ่ายเสีย ผู้ดูแลร้านผลไม้แห่งหนึ่ง บอกว่าทุเรียนหมอนทองของไทยมักวางตลาดช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม และเป็นทุเรียนที่มีฐาน ‘แฟนคลับ’ ในจีน ถึงขั้นที่ผู้บริโภคบางส่วนมาสั่งจองล่วงหน้ากันแล้ว

ด้านคนวงในอุตสาหกรรมวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคชาวจีนสนใจวัฒนธรรมและสินค้าพื้นเมืองของไทย ด้วยอานิสงส์จากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้าระหว่างจีนและไทยที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันตลาดจีนมีทุเรียนเวียดนามเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยจุดเด่นด้านราคา คุณภาพ และการขนส่ง
ด้วยเหตุนี้ คนวงในอุตสาหกรรมมองว่าทุเรียนไทยอาจเผชิญการแข่งขันในอนาคต แม้ความต้องการทุเรียนไทยในตลาดจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

หูเชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี เผยว่า หลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นสัดส่วนสูงสุด แต่เวียดนามกำลังชิงส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามต่างแข่งขันและเกื้อกูลกัน ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกชนิดพันธุ์และราคาเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์ที่ต่างกันของสองประเทศได้แก้ปัญหาขาดแคลนสินค้าเมื่อสิ้นฤดู 

การเข้าสู่ตลาดของทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามในเวลาที่แตกต่างกันไป  ช่วยให้ผู้บริโภคจีนสามารถซื้อทุเรียนสดได้ในระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น ขณะความชอบทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกันอาจทำให้ทุเรียนบางสายพันธุ์ขาดตลาดในระยะสั้น ซึ่งจุดนี้ทุเรียนอีกสายพันธุ์จะเข้ามาทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดย หูเชา ชี้ว่าตราบเท่าที่คุณภาพดี ราคาดี และรสชาติดี ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจุบันการพัฒนาอันรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์ได้สนับสนุนความนิยมทุเรียนในตลาดจีนอย่างมาก ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อทุเรียนจากกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างสะดวกสบาย โดยเผิงเสวี่ยเยี่ยน ผู้จัดการบริษัทจำหน่ายสินค้าต่างประเทศแห่งหนึ่ง เผยว่า ทุเรียนเป็นของขวัญชั้นดีและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเสมอ
บริษัทของเผิงได้ติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทุเรียนที่มีคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาและยกระดับทางเทคโนโลยีโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุเรียนไทยสามารถรักษาความสดใหม่ได้ดีขึ้นระหว่างการขนส่ง ซึ่งช่วยรับประกันคุณภาพและรสชาติ

หลิวหมินคุน รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกว่างซี เสริมว่า ความนิยมทุเรียนไทยในตลาดจีนเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งคุณภาพยอดเยี่ยม ข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทาน ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างสองประเทศ และการพัฒนาอันรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การค้าจีน-อาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยโอกาสที่เกิดจากระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กอปรกับระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่พัฒนาดีขึ้น ช่องทางการขนส่งทุเรียนอาเซียนสู่ตลาดจีนจึงมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top