Friday, 10 May 2024
ดอกเบี้ย

'พิชัย' ชี้ 'ประยุทธ์' จะล้มเหลวรับมือปัญหาเศรษฐกิจ จี้ แก้ปัญหาไฟฟ้าแพง แก้ข้อพิพาทของก๊าซในอ่าวไทย

'พิชัย' ชี้ 'ประยุทธ์' จะล้มเหลวรับมือปัญหาเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ค่าบาทอ่อน จี้ แก้ปัญหาไฟฟ้าแพง แก้ข้อพิพาทของก๊าซในอ่าวไทย และ ค่าความพร้อมสูงถึงปีละแสนล้านบาท แนะ แม้ปัจจุบันจะยังไม่แย่เท่าศรีลังกา แต่ทิศทางกำลังเหมือน 

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เงินเฟ้อของสหรัฐเดือนมิถุนายนสูงถึง 9.1% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี ทั้งที่สหรัฐเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่ก็ยังคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐจะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกอาจสูงถึง 1% ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในเร็วๆนี้  ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกันจะทำให้เงินตราต่างประเทศไหลออก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เงินทุนต่างประเทศจะออกไปเพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า และจะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนลง และจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกได้ อีกทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในหลายเดือนที่ผ่านมายิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง 

โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายน ไทยขาดดุลการค้า 1.2 พันล้านเหรียญ หรือ 4 หมื่นล้านบาท ซ้ำเติมหลังจากที่ 5 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้าแล้ว 4,726 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินทุนได้ไหลออกไปกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1 ล้านล้านบาท) แล้วตั้งแต่ต้นปี และยังมีแนวโน้มที่จะไหลออกเพิ่มอีก จนภาคเอกชนกังวลกันว่าเงินบาทที่อ่อนจะทะลุ 37 บาทต่อดอลล่าร์ในอีกไม่นานนี้ อาจจะทะลุไปถึง 40 บาทต่อดอลลาร์ได้และอาจทำให้เงินเฟ้อของไทยที่กำลังจะทะลุ 8% อาจจะพุ่งทะลุไปถึง 10% ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก ในขณะเดียวกัน หากไทยจะขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงเกือบ 15 ล้านล้านบาท หรือ กว่า 90% ของจีดีพี อีกทั้งหนี้สาธารณะมากกว่า 10 ล้านล้านบาท หรือ ทะลุ  60% ของจีดีพีแล้ว ซึ่งหากขึ้นดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มภาระขึ้นไปอีกมาก ดังนั้น ความกังวลเรื่องการระเบิดของหนี้ต่างๆในไทยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของพลเอกประยุทธ์ ดังนั้น ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาดอกเบี้ย ปัญหาค่าเงินบาทที่อ่อน และปัญหาการระเบิดของหนี้ จะเป็นปัญหาใหญ่ที่พลเอกประยุทธ์ต้องรับมือ ซึ่งพลเอกประยุทธ์แทบจะไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งจะให้ปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ 

ทั้งนี้แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังผลิกผันได้ตลอด เรื่องที่น่ากังวลคือปัญหาการปรับราคาค่าไฟฟ้าที่จะพุ่งสูงขึ้นมากจากหน่วยละ 4 บาทเป็นหน่วยละ 5 บาท สร้างความสั่นสะเทือนและความกังวลไปทั่ว ทั้งค่าใช้จ่ายของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นและความสามารถแข่งขันของไทยที่จะลดลง เพราะคงไม่มีใครอยากจะมาลงทุนในประเทศที่ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด แนวทางที่จะแก้ไขก็ต้องเข้าไปแก้กันที่สาเหตุของปัญหาคือ การหาข้อยุติในข้อพิพาทระหว่างบริษัทที่รับสัมปทานเดิม เชฟรอน และ บริษัทที่รับสัมปทานใหม่ ปตท. สผ. และ มูตาบารา ในการส่งมอบสัมปทาน และ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนแท่นขุดเจาะก๊าซในทะเลที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงและอาจถูกฟ้องร้องได้ในกรณีที่การรื้อถอนอาจจะทำให้เกิดมลภาวะในทะเลและชายฝั่งได้ ทั้งนี้เพื่อที่นำก๊าซจากอ่าวไทยขึ้นมาได้ หลังจากที่ไม่สามารถนำก๊าซธรรมชาติจำนวนมากขึ้นมาได้จากปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว จึงต้องทำให้ไทยต้องนำเข้า ก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงกว่า 30 เหรียญต่อหน่วยเข้ามาทดแทน และทำให้ราคาค่า FT ของค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูงมาก 

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินถึง 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าแต่ไม่ได้ส่งไฟฟ้ามียอดถึงเดือนละกว่า 8,000 ล้านบาท หรือ ปีละประมาณแสนล้านบาทซึ่งสูงมาก เป็นความผิดพลาดในนโยบายการผลิตไฟฟ้าของพลเอกประยุทธ์ และ ปัจจุบันยังมีการให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้ากันอยู่เลย แม้กำลังผลิตจะยังล้นเกินนี้ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จะต้องหาทางเจรจาลดค่าความพร้อมนี้ และ หยุดการให้ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าไว้ก่อนชั่วคราวได้แล้ว จนกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมีเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงต้องทำเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ดอกเบี้ยเขย่าโลก 'กอบศักดิ์' เผย คำพูดสั้นๆ เขย่าโลกของประธานเฟด ส่งสัญญาณ 22 มี.ค.อาจขยับดอกเบี้ยถึง 0.5%

(9 มี.ค.66) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพและประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ 'คำพูดสั้นๆ ที่เขย่าตลาด !!!' ว่า...

เมื่อ 2 วันที่แล้วท่านประธานเฟด ไปให้ข้อมูลประจำปี ที่คณะกรรมาธิการการเงินของรัฐสภาสหรัฐ
ท่านพูดว่า... As I mentioned, the latest economic data have come in stronger than expected, which suggests that the ultimate level of interest rates is likely to be higher than previously anticipated. If the totality of the data were to indicate that faster tightening is warranted, we would be prepared to increase the pace of rate hikes.

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งชี้ว่าดอกเบี้ยเฟดคงจะต้องขึ้นไปสูงกว่าที่กรรมการเคยคิดกันไว้ และถ้าข้อมูลที่ประมวลทั้งหมดชี้ว่าจะต้องเร่งการขึ้นดอกเบี้ย กรรมการเฟดก็พร้อมที่จะขึ้นในอัตราที่สูงกว่า +0.25% !!!

‘Apple’ เปิดตัวบริการบัญชีเงินฝาก ให้กับผู้ใช้ไอโฟน ดอกเบี้ยสูงถึง 4.15% ต่อปี ไม่มีขั้นต่ำ-ปลอดค่าธรรมเนียม

(18 เม.ย.66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท แอปเปิล อิงค์ เปิดตัวบริการบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยสูงถึง 4.15% ให้กับผู้ใช้ไอโฟน สามารถฝากถอนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีขั้นต่ำ และ ค่าธรรมเนียมบริการ โดยเริ่มให้บริการเฉพาะในสหรัฐฯ ก่อนเท่านั้น รายงานแจ้งว่า Apple Card บัตรเครดิตของบริษัทแอปเปิล ออกโดยธนาคารโกลด์แมน แซคส์ เปิดทางเลือกให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์จาก Goldman Sachs ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.15% ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา สำหรับเงื่อนไขการให้บริการเมื่อมีการเปิดบัญชีแล้ว Daily Cash หรือ cash back จากการซื้อผลิตภัณฑ์แอปเปิลจะถูกโอนเข้าสู่บัญชีเงินฝากโดยอัตโนมัติ รวมถึงการโอนเงินจากบัญชีธนาคารเพิ่มเติมเข้าสู่บัญชีเงินฝากก็เป็นอีกช่องทางในการใช้บริการ

นอกจากนี้ การบริการดังกล่าวจะไม่มีค่าธรรมเนียม และไม่มีข้อกำหนดยอดเงินขั้นต่ำ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าและจัดการบัญชีออมทรัพย์ได้โดยตรงจาก Apple Card ใน Wallet อย่างไรก็ตาม การบริการ Apple Pay บนอุปกรณ์แอปเปิล iPhone, iPad หรือ Mac และผู้สนใจสามารถเปิดบัญชีดังกล่าวจากแอปพลิเคชัน Wallet บนเครื่อง iPhone ที่มีระบบปฏิบัติการตั้งแต่ iOS 16.3 ขึ้นไป และจะเริ่มบริการเฉพาะในสหรัฐฯ ก่อนเท่านั้น

เมื่อตั้งค่าบัญชีออมทรัพย์แล้ว เงินสดในอนาคตทั้งหมด ที่ผู้ใช้ได้รับจะถูกฝากเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ ปลายทางของ Daily Cash สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และไม่มีข้อจำกัดว่าผู้ใช้ Daily Cash สามารถรับรายได้เท่าใด เพื่อเพิ่มเงินออมให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ผู้ใช้สามารถฝากเงินเพิ่มเติมในบัญชีออมทรัพย์ผ่านบัญชีธนาคารที่เชื่อมโยง หรือจากยอดคงเหลือ Apple Cashผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงแดชบอร์ดการออมที่ใช้งานง่ายใน Wallet ซึ่งสามารถติดตามยอดเงินในบัญชีและดอกเบี้ยที่ได้รับเมื่อเวลาผ่านไปได้อย่างสะดวก ผู้ใช้ยังสามารถถอนเงินได้ตลอดเวลาผ่านแดชบอร์ด Savings โดยโอนไปยังบัญชีธนาคารที่เชื่อมโยงหรือไปยังบัตร Apple Cash โดยไม่มีค่าธรรมเนียม

สถาบันประกันเงินฝากแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เผยว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก APY สำหรับบัญชีเงินฝากทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.35% ดังนั้น แอปเปิล อินคอร์ปอเรชั่น จ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ระดับ 4.15% จึงถึงได้ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ย โดยธนาคารพาณิชย์ในระบบการเงินของสหรัฐอเมริกามีการแข่งขันที่สูงมากกับบัญชีเงินฝาก


ที่มา : https://www.naewna.com/inter/725193

4 สัญญาณอันตราย

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจว่า วิกฤตเพดานหนี้สหรัฐฯ แม้จะมีข้อยุติชั่วคราวไปแล้ว แต่ได้สะท้อนปัญหาการคลังที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมทั้งรัฐบาลไทย ซุกไว้ใต้พรมและพร้อมที่จะประทุได้อีกทุกเมื่อ หากไม่มีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ใน 4-5 ปีข้างหน้า แนวโน้มฐานะการคลังจะเลวร้ายลงจากสาเหตุ 4 ประการ ประกอบด้วย

1. ดอกเบี้ยสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้งบชำระหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างมาก
2. ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์โลก ทำให้ทุกประเทศต้องจัดงบประมาณด้านการทหารสูงขึ้น
3. การแก้ปัญหาโลกร้อนและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
4. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับรัฐในด้านบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพคนชรา และการรักษาพยาบาล

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.0% อาจเป็นการซ้ำเติมภาระหนี้รัฐบาลและประชาชนขึ้นอีก รวมทั้งยังอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลง ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลอาจต้องเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากทั่วโลกเปิดประเทศหลังโควิด โดยเฉพาะจีน น่าจะเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน Sovereign Wealth Fund ที่มีรายได้มาจากการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย โดยกองทุนดังกล่าวควรเข้ามาดูแลปัญหาและต้นทุนที่การท่องเที่ยวก่อเกิดกับประเทศไทย เช่น การประกันภัยและการรักษาพยาบาลนักท่องเที่ยว การบูรณะและฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมทรามลง การลดผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากรายได้การท่องเที่ยว
 

ดาราหนุ่ม ‘ปกป้อง ปริธี บุญศักดา’ โพสต์บ่น ผ่อนบ้าน 4 ปี เหลือหนี้อีก 10 กว่าล้าน เจอดอกเบี้ยปีละ 5 แสน

เริ่มมีชาวเน็ตหลายราย ออกมาโพสต์พ้อเกี่ยวกับดอกเบี้ยมหาโหด ซึ่งเป็นปัญหาหนักของคนผ่อนบ้าง ล่าสุด “ปกป้อง ปริธี บุญศักดา” นักแสดงหนุ่มและนักรีวิวเจ้าของเพจดัง ก็ได้มีการโพสต์บ่นถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า

“ผ่อนบ้านมาแล้ว 4 ปีกว่า เหลือหนี้ผ่อนบ้าน 10 กว่าล้าน จ่ายทุกเดือน 71,900 เงินต้น 27,256 ดอกเบี้ย 44,643 เท่ากับดอกเบี้ยปีนึง 535,716 เงินต้นเพิ่งหายไป 327,072 เอง แบบนี้ถือว่าธนาคารเอากำไรเกินไปไหม”

“ทุกคนหลังจากโพสต์ไป มีเพื่อน ๆ มาเตือนให้รีไฟแนนซ์ หรือ รีเทนชั่นทุก 3 ปี ไม่งั้นดอกจะแพง ในรูปคือผมกับแฟนลืมไปรีหลัง 3 ปี ตอนกู้ได้ดอก 2.5% พอเลย 3 ปีกลายเป็น 5.3% แล้วจ่ายเรตนี้มาปีกว่า แทนที่จะเสียดอก 250,000 กลายเป็นต้องเสียดอก 530,000 ขอเตือนไว้สำหรับคนที่จะกู้บ้านครับ”
“รีเทนชั่นคือไปบอกกับแบงก์เดิม ว่าขอลดดอกเบี้ยหลัง 3 ปี ส่วนรีไฟแนนซ์คือย้ายธนาคาร อาจจะได้โปรดีกว่าเดิม แต่ต้องยื่นเอกสารใหม่หมดเหมือนเริ่มกู้ใหม่ สะดวกอันไหน ไปอันนั้น จะได้จ่ายดอกเบี้ยถูกลงนะครับ”

“ไม่ใช่มีแค่เราที่บ่น หลายคนก็บ่น เพราะดอกเบี้ยมันโหดจริง ๆ ล่าสุดข่าวออก กู้บ้าน 13 ล้าน แต่เจอดอกเบี้ย 20 ล้าน สรุป เป็นหนี้ 33 ล้าน พอมานั่งคูณดู เจอดอกเบี้ยปีละ 5 แสน เข่าแทบทรุดอะคับ”

2 อดีต อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้!! ดอกเบี้ยจะลดหรือไม่ อยู่ที่โครงสร้างตลาด ส่วนการผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่นในตลาดเสมอไป

(4 ก.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ได้โพสต์อธิบายความ กรณีแคนดิเดตขุนคลังจากพรรคก้าวไกล ที่โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้ เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน ว่า...

ศิริกัญญา, ทำไมคุณถึงมั่วได้ขนาดนี้

แนวคิดของศิริกัญญาไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใดเลย

- ศิริกัญญาเอาจำนวนธนาคารไปผูกพันกับจำนวนประชากร แล้วสรุปเอาเองอย่าง “สุกเอาเผากิน” ว่า ...ไม่เพียงพอ !!

- ศิริกัญญาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “หวง” ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้  ... เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน 

ผมมึนกระโหลกกับตรรกะและภูมิรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของศิริกัญญามาก

ก่อนอื่นขอเอาประเด็นเรื่อง 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารมาชี้แจงก่อนนะ 

ธนาคารเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญ เพราะสามารถ 'สร้าง' เงินได้จากการปล่อยสินเชื่อ

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกดอกที่ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ในฐานะที่ควบคุมปริมาณเงินจำต้องเข้มงวด เพราะหากมีเงินมากกว่าสินค้า เงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้น 

ไม่มีประเทศไหนอยากเป็นแบบซิมบับเว หรือเวเนซูเอลา ที่ธนาคารกลางถูกนักการเมืองสั่งให้พิมพ์เงินออกมาตามที่รัฐบาลต้องการได้หรอก 

ผลคือ มีเงินเฟ้อเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี !! 

แต่ที่สำคัญไปกว่าเงินเฟ้อก็คือเงินฝาก หากไม่ 'ควบคุมให้ดี' ธนาคารก็เจ๊ง 

คนเดือดร้อนคือผู้ฝากเงิน เพราะธนาคารเอาเงินคนอื่นมาปล่อยกู้ไม่ได้ใช้เงินตนเอง 

มีโอกาสที่มันจะลาม Bank Run ไปทั้งระบบสถาบันการเงิน

หากธนาคาร ก. ล้มและไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้ ธนาคาร ข. ค. ง. และทำให้ผู้ฝากเงินไม่มั่นใจถอนเงินมาเก็บไว้กับตัว 

ในอดีตที่ธนาคารตราดอกบัวเคยเอาเงินสดหลายสิบล้านบาทมากองไว้ที่เคาเตอร์ถอนเงินเมื่อตอนศิริกัญญาอาจจะยังไม่เกิด ก็เพื่อสยบความไม่มั่นใจจากเหตุข้างต้น เคยรู้บ้างไหม?

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจะลดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดต่างหาก 

การผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น (คนซื้อคนขาย) ในตลาดเสมอไป 

หากจำนวนธนาคารมีเพิ่มเป็น 20 แห่งตามที่ศิริกัญญาอยากได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลง 

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?

ศิริกัญญาเอา 2 เรื่องมาปนกันอย่างไม่น่าให้อภัย สำหรับผู้ที่จะอ้างตัวว่ามีความสามารถ (แต่อายุน้อย) อยากจะเป็นรัฐมนตรีคลัง คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และ เงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน

อย่างหลังเกิดเพราะ...

(1) คำโฆษณา เช่น 'เงินด่วน' / 'ไม่ตรวจประวัติ' / 'ไม่ต้องยื่นเอกสาร' ซึ่งอาจจะตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เช่น ไม่มีงานทำที่แน่นอน หรือ มีประวัติเสียทางการเงิน (ติดเครดิตบูโร) 

แต่อีกเหตุก็คือ (2) ความมักง่ายและไร้ซึ่งวินัยทางการเงิน ฟุ้งเฟ้อตามกระแสในโซเชียล เช่น 'ของมันจำเป็นต้องมี'

ผู้ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบก็คิดเป็นเช่นกันว่าลูกค้าของเขาคือใคร มีลักษณะอย่างข้างต้นหรือไม่ และถ้าเป็นจะปล่อยเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ถูกหรือแพงกว่าละ !! 

ถ้าจะยึดหลักเสรี (ทางเศรษฐกิจ) ให้เท่าเทียมกัน จะไปขัดขวางไม่ให้เขาคิดดอกเบี้ยสูงสำหรับลูกค้าความเสี่ยงสูงกลุ่มนี้ได้อย่างไร 

คิดซิ. . .คิด ศิริกัญญา !!

แต่ผมเชื่อว่าคุณแกล้งโง่ ... เพื่อหลอกพวกคนโง่ที่เป็นสาวกพรรคก้าวไกลของคุณ ที่คิดเองไม่เป็น เรียนรู้เองไม่เป็น และหาข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณเองไม่เป็นมากกว่า

แต่ถ้าศิริกัญญาคิดและเชื่ออย่างที่ศิริกัญญาพูดในคลิป Tik Tok จริงๆ ... ผมคงขนหัวลุกแน่นอน ถ้าวันใดที่ศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีคลังบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย

ส่วนอย่างแรกคือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของคนบางกลุ่มนั้น 

Virtual Bank (VB) อย่างที่ศิริกัญญาน่าจะจำขี้ปากหรืออ่านแค่ไม่กี่บรรทัดแล้วนำมาพูดใน Tik Tok 

ขอโทษที่ต้องบอกตามตรงว่าศิริกัญญาไม่รู้จริงเลย มีแต่โวหารล้วนๆ มาดูของจริงก่อนเปนไร

VB หรือที่บางประเทศรู้จักกันในชื่อ Internet Only Bank, Digital Bank หรือ Neobanks ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มีแล้วในหลายประเทศ 

ญี่ปุ่นมี Rakuten Bank ซึ่งเป็น Internet Only Bank มาตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จีนมี Webank ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2556-2557 

คุณลักษณะสำคัญคือ 'ไร้รูปลักษณ์ทางกายภาพ แต่ไม่ไร้ซึ่งบริการ' 

อาจไม่มีเครื่องรับฝาก/ถอนอัตโนมัติ(ATM) เพราะสามารถใช้ร่วมกับธนาคารดั้งเดิม หรือทำผ่านร้านค้าที่เป็นตัวแทน เช่น 7-11 หรือ ไปรษณีย์ ได้ 

ไม่มีสาขาในอาคารห้างร้านและที่สำคัญเปิด 24-7 ไม่มีเวลาปิดเลย 

ลูกค้า VB จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากด้วยตนเอง ยื่นเรื่องขอกู้เงิน วางแผนการออมและการลงทุน รวมไปถึงการใช้บริการอื่นๆ ของธนาคารบนแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์มือถือ ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์หรือเทคโนโลยี Biometrics 

ศิริกัญญาจะได้เห็นการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้าให้มากที่สุด เช่น บริการสินเชื่อขนาดเล็กแก่ผู้มีรายได้น้อย บัญชีเงินออมเงินหลายสกุลที่ใช้ได้ในหลายประเทศ ออกบัตรเครดิตที่ให้แต้มด้านสิ่งแวดล้อม บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็ก รวมไปถึงบัตรเดบิตที่ไม่ต้องใช้ชื่อและเพศตามบัตรประชาชนเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่พรรคคุณเรียกร้อง 

เอาง่ายๆ แค่นี้ ศิริกัญญาคิดบ้างไหมว่าต้นทุนบริการจะถูกลงกว่าเดิมเยอะมาก เมื่อต้นทุนถูกลงมากจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ไหม 

บริการธนาคารต่างๆ มันจึงอยู่รอบตัวประชาชน 70 ล้านคนอยู่แล้ว 

ใบอนุญาตแค่ 3 ใบที่ออกใหม่ก็แข่งกันแย่แล้ว ไม่ต้องคลิกเข้าไปในแอปพลิเคชัน 

แต่ละ VB ก็อาจจะเข้ามาเชิญชวนใช้บริการถึงหน้าจอมือถือเลยหากพิจารณาแล้วว่าเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ รองรับคนกู้ที่ไม่น่ามีถึง 70 ล้านคนได้อย่างสบาย

ไม่ได้จำเพาะเจาะเฉพาะศิริกัญญา แต่หากใครจะเสนอหน้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง มันต้องมี 'กึ๋น' มากกว่านี้ 

ถ้ามีกึ๋นแค่นี้ ผมไม่ได้ดูถูกหรือกดขี่ทางเพศหรอกนะ แต่บอกตามตรงว่า คุณเป็นได้อย่างมากแค่หน้าห้องรัฐมนตรี คอยยกน้ำชากาแฟเท่านั้น

~ ชวินทร์ ลีนะบรรจง, ศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คลิป Tik Tik ของศิริกัญญา เป็นเรื่องแหกตาระดับชาติ ของคนที่ไม่รู้จริงอะไรเลยในเรื่องการเงิน 

ถ้าศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีการคลังจริงๆ คือ คนทั้งประเทศปล่อยให้ทารกสามขวบเล่นแกะระเบิดมืออยู่โดยไม่ห้ามปราม นั่นเอง

~ สุวินัย ภรณวลัย, รศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้!! ดอกเบี้ยใกล้ ‘จุดสมดุล’ ยัน!! หนี้ครัวเรือนยังไม่ลามเป็น ‘วิกฤติ’

(16 ส.ค.66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ในระยะข้างหน้า เชื่อว่าเริ่มเข้าใกล้ ‘จุดสมดุล’ หรือถึงจุดที่ ‘ดอกเบี้ย’ อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ ภายใต้เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ ซึ่งไม่สร้างความไม่สมดุล หรือสร้างความเปราะบางในการกู้ยืมต่างๆ แต่ส่วนดอกเบี้ยจะหยุดที่ใดนั้น คงต้องดูการพิจารณาของ กนง.ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของโลกมากขึ้น จากหลากหลายตัวแปรที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยเอง แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาค่อนข้างนาน แต่ยังไม่มีรัฐบาล เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นสารพัด และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่รู้ว่าช็อกมาจากไหน

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ การวางแผนการดำเนินธุรกิจ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องสร้างภูมิคุ้มกัน งบดุล หรือสภาพคล่องต้องแข็งแกร่ง และการก่อหนี้ไม่ควรมากเกินไป โดยเฉพาะ ‘หนี้ครัวเรือนของไทย’ ปัจจุบันที่อยู่ระดับสูง และเป็นตัวที่สร้างความเปราะบาง และต้องเร่งจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน 

เมื่อถามว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถึงขั้นวิกฤติหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ใช่ แต่ต้องเร่งจัดการ และหากปล่อยไป จะกลายเป็นวิกฤติได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การเทกแอ็กชัน และพยายามลดหนี้ครัวเรือน ลดในระยะข้างหน้าเพื่อให้อยู่ในระดับความยั่งยืน

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! 'ค่าเงินบาทอ่อน' สวน 'ดอกเบี้ยพุ่ง' ส่อสัญญาณขัดแย้ง 'นโยบายการคลัง-การเงิน' ไทย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกกับความผันผวนหลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (Federal Reserve Bank) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% และจะส่งผลต่อตลาดการเงินไทยหรือไม่อย่างไร เมื่อวันที่ 1 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนหลังจาก Federal Reserve คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% แต่ออกการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีความร้อนแรงและอาจมีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปี

ตลาดการเงินไทยก็ไม่พ้นจากความผันผวนนี้ แต่น่าจะรุนแรงกว่าความผันผวนในตลาดโลกด้วยซ้ำ เพราะค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเป็นประวัติการถึงระดับ 36.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี กระโดดแรงขึ้นมาอยู่ที่กว่า 3% ซึ่งถือว่าผิดธรรมชาติที่ดอกเบี้ยขึ้น แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินไทยเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความขัดแย้งและ/หรือความแตกต่างของทิศทางนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

แน่นอนทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะธนาคารกลาง ต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง แต่ความอิสระก็ย่อมต้องมีขอบเขต 

ที่ผ่านมาต้องถือว่าแบงก์ชาติผิดพลาดในเรื่องจังหวะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าช้า ทำให้ปี 2565 เงินเฟ้อไทยทะยานสูงสุดในอาเซียนที่ 6.1% แม้ว่าจะโชคดีที่เงินเฟ้อทั่วโลกลดลงในช่วงที่ผ่านมาเพราะราคาพลังงานลดลง แต่ไม่ใช่เพราะการดำเนินนโยบายการเงินที่เก่งกาจแต่อย่างไร และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่กระโดดขึ้นฉับพลันก็แสดงให้เห็นว่าแบงก์ชาติไม่ยอมรับและไม่ตอบสนองต่อแนวทางของรัฐบาลใหม่ในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) แต่อย่างใด

เรื่องยังไม่จบอยู่เท่านี้ เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา กนง. มีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.50% โดยไร้เหตุผลทางเศรษฐกิจสนับสนุน และน่าจะถือว่าสวนทางกับนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด 

ความขัดแย้งทางนโยบายนี้ได้ทำลายความมั่นใจและสร้างความปั่นป่วนอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน ทั้งตลาดหุ้น ตลาดหนี้ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งอาจทำให้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดการสะดุดได้

เราเชื่อในความเป็นอิสระของธนาคารกลาง แต่ความอิสระนี้จะต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย

'นักวิชาการ' ชี้!! แบงก์ไทย กำไรไม่สูงผิดปกติ ระบุ!! หากลดดอกเบี้ยอาจสร้างปัญหาเพิ่ม

จากกรณี นายสรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ตั้งคำถามถึงกำไรของธนาคารไทย ที่พุ่งสูง 2.2 แสนล้าน โดยส่วนใหญ่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย พร้อมตั้งคำถามถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ารู้สึกถึงความผิดปกติหรือไม่นั้น

(9 ม.ค. 67) สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์เฟซบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล ระบุว่า เดี๋ยวจะหาเวลาเขียนอธิบายเป็นซีรีส์บทความนะคะ เพราะ ‘การแข่งขันในภาคธนาคาร’ เป็นประเด็นที่ตัวเองสนใจอยู่แล้ว แต่อยากเขียนอะไรสั้น ๆ ก่อนนะคะ

‘กำไรธนาคาร’ ไม่ได้สูง ‘ผิดปกติ’ ในมุมการเงินทั่ว ๆ ไป เพราะถ้าเทียบกับเงินทุนที่ใช้ไป (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนทุนหรือ ROE) หรือตัวชี้วัดในการทำกำไรอย่าง NIM มันก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น

แต่ในสายตาประชาชนที่เดือดร้อนจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงมาก เพราะนี่คือสิ่งที่ตัวเองเจอ หลายคนอาจโวยวายว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ

ปัญหาจริง ๆ อยู่ตรงไหน สมมุติเราตีความปัญหาว่า ธนาคารได้กำไรผิดปกติ เกิดจากการที่ ธปท. ยอมให้ธนาคารทั้งหลายคิดดอกเบี้ยแพง ดังนั้น ธปท. ควรสั่งให้ธนาคารลดดอกเบี้ยซะ —> แต่ถ้าปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ แก้แบบนี้แทนที่จะแก้ปัญหาอาจเพิ่มปัญหา เพราะถ้าแบงก์มองว่าลูกหนี้จำนวนมากเสี่ยงเกินกว่าที่เขาจะปล่อยสินเชื่อ ยิ่งให้ลดดอกเบี้ยเขายิ่งไม่ปล่อย ปล่อยแต่ลูกค้าชั้นดีดีกว่า

แล้วปัญหาจริง ๆ อยู่ตรงไหน ส่วนตัวมองว่า น่าจะเป็นส่วนผสมระหว่าง ต้นทุนสูงบางส่วนเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพ (เช่น ทุ่มเงินลงทุนในระบบ IT แต่ล่มแล้วล่มอีก) บวกกับ ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาดเวลากลั่นกรองสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 26 ปีที่แล้ว

ประเด็นความไร้ประสิทธิภาพ แก้ได้ด้วยการให้ ธปท. กำกับอย่างจริงจังในทางที่จูงใจให้ลงทุนในประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น เลิกกฎแย่ ๆ ที่สั่งปรับ 5 แสนบาทเมื่อระบบ e-banking ล่มถึง 8 ชั่วโมง (สิบนาทีก็มากแล้ว) ต้องเพิ่มบทลงโทษให้หนักเหมือนในต่างประเทศ, เพิ่มการกำหนดเกณฑ์ privacy + cybersecurity ที่ได้มาตรฐานสากล, บังคับให้ใช้ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพ เป็น KPI ในการประเมินผลตอบแทนของผู้บริหารและกรรมการ เป็นต้น

ส่วนประเด็น ทัศนคติอนุรักษนิยมเกินขนาด แก้ได้ด้วยการให้ ธปท. เปิดเสรีการแข่งขันที่เป็นธรรมจากคู่แข่งหน้าใหม่ที่ไม่มี ‘legacy’ นี้ + พัฒนาโครงสร้างที่ช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้โดยเฉพาะ SME - เช่น ใบอนุญาต virtual bank ห้ามธนาคารเดิมสมัคร, ผลักดันกฎหมาย open data บังคับธนาคารใหญ่เปิดข้อมูล, แก้กฎกติกาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคของฟินเทคหน้าใหม่ (เช่น ให้ บสย ค้ำประกันให้ฟินเทคได้), ปลดล็อกอำนาจผูกขาดในธุรกิจ credit scoring, promptpay และ national digital ID (หรือกำกับให้เป็นธรรมขึ้น), ทำทะเบียนหลักประกันออนไลน์, ฯลฯ

จริง ๆ มีประเด็นอื่นอีกมากที่น่าทำ เช่น มาตรการจูงใจให้คนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเปิดบัญชีเงินออมระยะยาว คล้าย Individual Retirement Account ในอเมริกา - ไว้จะค่อย ๆ ทยอยเขียนนะคะ

‘แบงก์ชาติ’ แจง!! เหตุยังไม่ลดดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อลง ชี้!! ดอกเบี้ยไทยยังต่ำ เมื่อเทียบกับทั่วโลก

(15 ม.ค. 67) นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ไม่สามารถปรับดอกเบี้ยนโยบายตามกระแสข่าวได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักคือ 1.) เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน 2.) ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน และ 3.) เสถียรภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นต่อประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายการเงินสูงไปหรือไม่นั้น นายปิติยืนยันว่าทางกนง. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่อาจใช้นโยบายการเงินมาแก้ไขโดยง่าย การลดดอกเบี้ยมีต้นทุนและเสี่ยง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะไม่เพียงแค่เรื่องคุมเงินเฟ้อ แต่จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก

"นโยบายดอกเบี้ยต้องดูหลายปัจจัยรอบด้าน เพื่อดูให้ออกว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส ต้องมองไประยะปานกลาง เพราะใช้เวลาส่งผ่านช่วงหนึ่ง เหมือนส่งบอลให้เพื่อนว่าจะวิ่งไปทางไหน"

สำหรับแนวทางกำหนดกรอบดอกเบี้ยนโยบายโดยคำนึงถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนนั้น นายปิติขยายความว่า แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรและไม่สมดุล เพราะขาดแรงส่งจากภาคส่งออกและการผลิต แต่เป็นการขยายตัวที่เน้นหนักที่ด้านท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีบางจุดที่ยังไม่เป็นไปตามคาด เช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและปริมาณนักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับที่ภาคการผลิตและภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัวเร็ซอย่างที่เคยประเมินไว้ เพราะอุปสงค์โลกยังเน้นฟื้นตัวที่ภาคบริการเป็นหลัก ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลก

ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว จนส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าคู่แข่งมาก และดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไทยเองก็มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวน้อยลง เพราะขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม

แต่มองว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างครบครันและสมดุลมากขึ้น จะมีทิศทางการส่งออกดีขึ้น จากปัจจัยที่วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกกลับมา แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังทำให้ประโยชน์ที่ควรได้รับไม่มีมากเท่าที่ควร กนง.จึงให้ความสำคัญและยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในการประเมินภาพเศรษฐกิจในอนาคต

"เหตุผลที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอ เพราะปัจจัยทางโครงสร้าง และปัจจัยนอกประเทศที่เหนือการควบคุม เลยยังไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้"

สำหรับในมิติของเงินเฟ้อนั้น มองว่าการที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเป็นข่าวดี เพราะช่วยจำกัดค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้สูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อของไทยได้คลี่คลายไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ต่ำมาจากมาตรการรัฐ แต่จริง ๆ แล้วราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง ทั้งนี้แม้ว่าเงินเฟ้อไทยปรับลดลงเร็ว จึงไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ระดับ 2% และการลดลงของเฟ้อสะท้อนเรื่องอุปทานหรือการผลิตที่คลี่คลายลง โดยมองว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปอีกถึงเดือนกุมภาพันธ์ แล้วจะค่อยเพิ่มขึ้นจึงคาดว่าปลายปีก็จะอยู่ 1-2% ตามระดับเป้าหมาย 

"ด้วยเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงนี้ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นเงินฝืดหรืออุปสงค์ที่ลดลงจริง จึงยังไม่ใช่เหตุผลที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงทันที เพราะต้องดูให้รอบด้านไม่ใช่แค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อ"

ส่วนมิติของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินนั้น นายปิติกล่าวว่า ระดับหนี้ที่สูงเป็นจุดเปราะบางสาคัญของเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขหนี้ต่อ GDP ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง นั่นคือหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% และหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ที่ 87.4% เช่นเดียวกับที่สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีสินทรัพย์รองรับมีน้อยหรืออยู่ที่เพียง 34% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เกินกว่า 50% ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวทางธุรกิจที่แท้จริง 

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก แล้วเป็นไปในแนวทางที่กนง.ต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นกลาง และไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ให้มีเม็ดเงินเพียงพอไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ แม้ค่าเงินบาทยังผันผวนแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ 

ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ยืนยันว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจุบันยังส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ย MRR เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้เปรียบเทียบการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ว่า ของไทยอยู่ที่ 69% สำหรับดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 64% สำหรับ MOR และ ที่ 49%  สำหรับ MRR ซึ่งโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าหลายประเทศ แม้อาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย

ส่วนประเด็นที่ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูงเป็นจุดที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ทางแบงก์ชาติมองว่า เรื่องส่งต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นกลไกตลาด ที่การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปเงินฝากน้อยเกินไป โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ค่อยตึงตัว ทั้งนี้หน้าที่ของแบงก์ชาติต้องดูแลเรื่องความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ และดูแลเรื่องให้บริการอย่างเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังดูเรื่องต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top