Monday, 20 May 2024
ดอกเบี้ย

'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย เหมือนตบหน้ารัฐบาล-คนไทยทั้งประเทศ

(17 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึงกรณีแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศผ่าน THE STATES TIMES ว่า...

การปฏิเสธไม่ลดดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการระบุเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เพียงแต่กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ถือเป็นการไม่ให้เกียรติคนไทยและรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) และถดถอย (Recession) ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Innterest Rate) สูงสุดเป็นประวัติการณ์และอาจจะสูงที่สุดในโลก อัตราเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

"เราไม่สามารถหาคำอธิบายอื่นที่เหมาะสมกว่าที่จะกล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความรับผิดชอบ และบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง การที่แบงก์ชาติกล่าวอ้างปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เป็นเพียงความพยายามที่จะบิดเบือนประเด็นเพื่อโยนความผิดให้กับคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการว่าเสถียรภาพของราคาเป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบ Inflation Targeting โดยตรง และผลการทำงานที่ผ่านมา 2 ปีพิสูจน์แล้วว่าธนาคารแห่งประเทศไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดูแลเสถียรภาพราคา จากเงินเฟ้อสูงสุดในโลกในปี 2565 มาเป็นเงินฝืดในปี 2566 การปัดความรับผิดชอบออกไปจากนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นการแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศเลย และควรถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องอ้างความบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงตามกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบนโยบายการเงิน ก่อนที่จะสายเกินไป จนบ้านเมืองเสียหายไปกว่านี้

'นายกฯ' รับ!! ไม่เห็นด้วย 'กนง.' คงดอกเบี้ย 2.5% ชี้!! ตอนนี้เงินเฟ้อของประเทศไทยติดลบแล้ว

(7 ก.พ.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังกล่าวถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2.5% ว่า ทราบว่ามติ 5:2 ให้คงดอกเบี้ย ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็ต้องน้อมรับ เพราะโดยหน้าที่ของรัฐบาลต้องให้ความเห็น และโน้มน้าวว่าความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ตรงไหน เพื่อให้นโยบายการเงินและการคลังเดินไปด้วยกัน 

“เมื่อผลออกมาแบบนี้ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับเพราะว่า กนง.มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน เราคงไม่ก้าวก่าย แต่ก็อยากเห็นนโยบายการเงินการคลัง เดินไปด้วยกัน และในตอนนี้เงินเฟ้อของประเทศนั้นติดลบแล้ว” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ตนไม่ได้รู้สึกว่าถูกบีบอะไรทั้งสิ้น มีหน้าที่ต้องบริหารต้องทำความเข้าใจก็บริหารกันไป เป็นหน้าที่ที่ต้องบริหารเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องของความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน 

เมื่อถามว่าการประชุมครั้งนี้ กนง.ไม่ลด แต่ครั้งหน้าอาจจะลดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าก็ต้องดูตัวเลขต่อไปเรื่อยๆ ตนเองไม่ได้มีธงว่าต้องลดหรือไม่ลด ถ้าตัวเลขบอกว่าไม่ต้องลดผมก็จะออกมาบอกว่าไม่ควรจะลด

"การเห็นต่าง เห็นด้วย เห็นสมควร ในเรื่องต่างๆ หรือว่าต้องโน้มน้าวในเรื่องนี้ ผมก็จะทำต่อไป"นายเศรษฐา กล่าว 

ศปน.ตร.แถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  (ศปน.ตร.) แถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับ หนี้นอกระบบทั่วประเทศ ในห้วงระหว่างเดือน พ.ย.66-ก.พ.67 โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้นอกระบบและ หนี้ในระบบ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ  

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายรัฐบาล จึงสั่งการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ซึ่งมี พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ดำเนินการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไก สถานีตำรวจทั่วประเทศ และ หน่วยงานสืบสวนสอบสวนจากส่วนกลางทุกหน่วย พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการ เป็น 3 มิติ ได้แก่

1. มิติการบูรณาการด้านข้อมูล  เปิดให้บริการรับลงทะเบียนขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่สถานีตำรวจทุกแห่ง เพิ่มเติมจากศาลากลางจังหวัด  ที่ว่าการอำเภอ และ สำนักงานเขต เพื่อสนับสนุน และบูรณาการข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกระทรวงมหาดไทย 

2. มิติการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดทุกรูปแบบ ทั้ง On Ground และ Online อย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายทุกฐานความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ข่มขู่ ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย รวมทั้งขยายผลไปยังนายทุน ผู้อยู่เบื้องหลัง

3. มิติด้านการไกล่เกลี่ยเชิงบูรณาการ ได้ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  พิจารณาแนวทางการไกล่เกลี่ย เจรจาและประนอมข้อพิพาท เพื่อให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย    

วันที่ 23 ก.พ.67 ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานฯ และมี พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.สุรจิต  ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.ชมชวิณ  ปุระธนานนท์ รอง ผบช.ภ.7, พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. และ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รอง ผบก.สส.บช.น. เข้าร่วมแถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบทั่วประเทศ ในห้วงระหว่างเดือน พ.ย.66 - ก.พ.67 ซึ่งได้มีการดำเนินการระดมกวาดล้าง 3 ห้วง คือ ห้วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.66 ถึง 4 ธ.ค.66, ห้วงที่ 2 วันที่ 15 – 24 ม.ค.67 และห้วงที่ 3 วันที่ 12 – 21 ก.พ.67 โดยสามารถดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบได้ 2,182 ราย ผู้ต้องหา 2,296 คน คิดเป็นมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 114,801,112 บาท ตรวจยึดของกลางหลายรายการ อาทิเช่น เงินสด อาวุธ บัญชีลูกค้า บัญชีธนาคาร รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดิน และโทรศัพท์จำนวนมาก ซึ่งประเมินมูลค่าของกลางรวมทั้งสิ้น 63,694,336 บาท   

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ในวันที่ 28 พ.ย.66  ที่ผ่านมา มีผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ระหว่าง 1 ธ.ค.66 – 31 ม.ค.67 จำนวนทั้งสิ้น 1,237 คดี ซึ่งมีผลการปฏิบัติที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ระหว่าง 1 ธ.ค.65 –31 ม.ค.66 มีจำนวนทั้งสิ้น 266 คดี
     
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) จะยังคง กวดขัน ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี กับผู้กระทำความผิด อย่างต่อเนื่องต่อไป ในส่วนรายที่มีการจับกุมดำเนินคดีแล้ว ได้มีการเร่งรัดการทำสำนวนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา รวมไปถึงการควบคุมสำนวนการสอบสวนให้มีความเห็นสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ความเชื่อมั่นว่า จะระดมทุกสรรพกำลัง เดินหน้าปราบปรามนายทุนเงินกู้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยลูกหนี้ ให้หลุดพ้นจากวงจรอันโหดร้ายนี้ และพร้อม
ร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
         
ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบฯ ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนมายังพี่น้องประชาชนหากต้องการกู้ยืมเงินควรศึกษาข้อมูล และเลือกกู้ยืมเงินกับทางสถาบันทางการเงินหรือผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงปล่อยเงินกู้นอกระบบ จนสร้างความเดือดร้อน หากตกเป็นเหยื่อหรือได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน 1599 หรือลงทะเบียนขอความช่วยเหลือที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และ สำนักงานเขต

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! 3 ตัวแปร ที่ทำให้ 'แบงก์ชาติ' ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย 'เข้าใจบทบาทตนเองผิด-เกรงใจสถาบันการเงิน-กฎหมายล้าหลัง'

(3 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ไว้ว่า...

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีเงินฝืด (Deflation) ติดต่อกันมา 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในไม่ช้า 

ประเด็นนี้ได้ลุกลามใหญ่โตเป็นวิวาทะทางการเมืองระดับชาติระหว่างรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทยและลิ่วล้อที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์แบงก์ชาติ 

วิวาทะหรือความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และน่าจะมีข้อยุติได้หากเราเข้าใจธรรมชาติของธนาคารกลางและบทบาทที่ควรจะเป็น

ในโลกปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) แต่บางทีรัฐบาลบางประเทศก็มอบหน้าที่รองให้ ซึ่งรวมถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือเป็นหลักการว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยึดหลัก Inflation Targeting ซึ่งมีความเป็นอิสระในเชิงเครื่องมือ (Instrumental Independence) แต่ต้องอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล หากเงินเฟ้อจริงเบี่ยงเบนไปจากกรอบนี้ ต้องถือว่าความเป็นอิสระนั้นจบลง

ส่วนบทบาทอื่น โดยเฉพาะการกำกับดูแลและพัฒนาสถาบันการเงินนั้น หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และอยู่นอกบทบาทหลักตามกฎหมายของธนาคารกลาง 

ดังนั้นความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และป้องกันความขัดแย้งกับนโยบายการคลังได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น จึงสามารถตอบคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ...

ประการแรก แบงก์ชาติกลัวหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ในหลายประเทศการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ประการที่สอง การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความสนิทสนมในฐานะผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ ความสนิทสนมดังกล่าวนานเข้าจะนำไปสู่ความเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น ๆ แน่นอนการลดดอกเบี้ยนโยบายย่อมนำไปสู่การลดดอกเบี้ยแบงก์ ซึ่งจะทำให้แบงก์มีกำไรลดลง

ประการสุดท้าย กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายกว่า 20 ปีมาแล้วภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้มีการนำเป้าหมายทางการเงินหลายอย่างมากระจุกรวมไว้ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ดังนั้น การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดไปรับใช้เป้าหมายหลาย ๆ เป้าหมาย ย่อมทำให้งานหลักของธนาคารกลางขาดประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าว

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างรีบด่วน โดยลดบทบาทของแบงก์ชาติ และให้มุ่งเน้นในเรื่องนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเพียงเรื่องเดียว จนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จในระหว่างนี้ก็ขอให้แบงก์ชาติและลิ่วล้อยุติการเรียกร้องความเป็นอิสระ และหยุดการโยนความผิดของตนไปให้ผู้อื่น รวมทั้งหยุดวิวาทะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เผยกับสื่อนอก ยัน!! จะดำเนินนโยบายอย่างอิสระ เมิน!! แรงกดดันทางการเมือง หลังโดนให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘Street Signs Asia’ ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีของสหรัฐฯ ในวันที่ 29 เม.ย. ว่า ธปท.จะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นอิสระ โดยไม่สนใจแรงกดดันทางการเมือง

‘ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์’ นายเศรษฐพุฒิกล่าว พร้อมระบุเสริมว่า แม้จะเผชิญเสียงเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ ธปท.ไม่ได้ดำเนินการตามเสียงเรียกร้องเหล่านั้น เพราะไม่ใช่การดำเนินการอย่างเป็นอิสระ

"ผมคิดว่ากรอบการบริหารจัดการค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมานั้นอิงตามสิ่งที่เรารู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจประเทศ ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับการผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรือแรงกดดันอื่น ๆ"

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธปท.มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดในเดือน เม.ย. แต่ธปท.ถูกรัฐบาล รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กดดันอย่างหนักให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ซีเอ็นบีซีระบุว่า การปรับลดต้นทุนการกู้ยืมเงินมีแนวโน้มจะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากส่งเสริมให้ธุรกิจกู้เงินมาลงทุนและหนุนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเงิน

นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า "หากพิจารณาเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซา จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเลย"

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันนั้นสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว และสอดคล้องกับความพยายามในการลดภาระหนี้สินในระบบอย่างเป็นระบบระเบียบ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการไม่เพิ่มภาระหนี้สินภาคครัวเรือนมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มมากเกินไป

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อุปสรรคเชิงโครงสร้างได้ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอน โดยจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพเนื่องจากไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านประชากรศาสตร์โดยมีกำลังแรงงานลดน้อยลง

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจเรื่องการลงทุนสาธารณะ ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นระยะสั้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top