Monday, 29 April 2024
ชูใจ

รับมือกับคนชอบเม้นแรงยังไงดี?

"ชูใจ" เป็นคอนเท้นประจำที่พวกเราชาว The States Times Lite ตั้งขึ้นมา ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า "ทุกคนอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น" โดยเฉพาะโลกในวันนี้ ที่หมุนไปเร็วเหลือเกิน จนบางทีเราตั้งรับไม่ทัน หรือปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน จุดนี้เราจึงอยากนำปัญหาและเรื่องราวดี ๆ มาบอกเล่า อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อ "ชุบชูใจ" ให้หัวใจเบิกบาน ให้มองโลกอย่างสร้างสรรค์ และให้เราก้าวไปเป็นคนที่พร้อมจะพัฒนาตัวเองเสมอ

เริ่มต้นด้วยเรื่องใกล้ตัวทุกคน "โซเชี่ยลมีเดีย" เคยหงุดหงิดไหมกับคนที่เข้ามาคอมเม้นใต้สเตตัสของเราแบบ...แกจะแรงไปไหน?

อ่ะ เม้นครั้งแรกก็ยังรับได้ (เพื่อนมันคงอยากจะแซวละมั้ง) จนมีครั้งที่ 2 3 4 5 เดี๋ยว ๆๆๆๆ ฉันไปทำอะไรให้แกเกลียดป่ะวะ? ขนาดโพสต์สเตตัสขำที่สุด แกยังเม้นประชดเหน็บแนม บ้ารึป่าววว!!

เรื่องทำนองนี้ เคยเกิดกับตัวเองบ้างไหม? จากที่อ่านแล้วยิ้ม ๆ เพราะคิดว่าเพื่อนแซว แต่พออ่าน ๆ ไป ชักจะไม่ใช่ล่ะ อารมณ์เริ่มมา สติปัญญาเริ่มหาย ต้องแสดงความเกรี้ยวกราดด้วยการตอบ Reply กลับไป และร้อยทั้งร้อย อิเพื่อนก็จะตอบ Reply กลับมาว่า "ไม่มีไร๊ ล้อเล่นนน!"

มันมีคนแบบนี้อยู่จริง คือคนที่ประเภทชอบเห็นคนอื่นโกรธ ประมาณว่า ได้ล้อ ได้แซว แล้วเห็นรีแอ็คกลับทันที มันจะสาแก่ใจ เหมือนเพื่อนที่ชอบแกล้งเพื่อนในห้องเรียนนั่นแหละ แต่ทุกวันนี้มันมีโลกมากกว่าห้องเรียนไง มันเลยมาแกล้งเราในโซเชี่ยลด้วย

.

.

ถามว่า ทำไงดีหากเจอเหตุการณ์ทำนองนี้?

จะเลิกเล่นโซเชี่ยลไปเลย? จะเข้าไปเม้นแรงๆ ในสเตตัสมันบ้าง? หรือจะเปิดศึกนอกโซเชี่ยล นัดตบนัดต่อยกันไปเลย?

คำตอบคือ "ปล่อยวาง" ฟังดูง่าย แต่รู้ว่าโคตะระยาก แต่ก็ต้องลองทำ!

สมมติว่า ต้นเหตุมาจากการที่เพื่อนอยากแกล้งเรา อยากเห็นเราเสียจริตทางโลกโซเชี่ยล แต่หากเราไม่ได้ทำแบบนั้นสมดั่งใจเพื่อน โจทย์ของเพื่อนก็จะถูกทำลายทันที เข้าตำรา ปรบมือข้างเดียวไม่มีทางดัง หรือสมมติต่อไปอีกว่า อิเพื่อนมันเกลียดเราจริง ๆ ตามเม้นทุกโพสต์เหมือนเจ้ากรรมนายเวร หากประเมินได้แบบนั้น ก็ตัดขาดความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนไปเถอะ คนเกลียดกันจะเป็นเพื่อนกันเพื่อ?

โอเค มันอาจจะยุ่งยากรำคาญใจสักหน่อยในช่วงแรก ๆ ที่ต้อง "ทน" กับตัวหนังสือแย่ ๆ แถมยังรู้สึกไม่ดีอีก หากคนอื่นจะต้องมาเห็นประโยคเหล่านี้ ทำบรรยากาศในเฟซบุ๊กเราพลอยด่างพร้อยไปด้วย แต่ให้คิดซะว่า "นี่เป็นการฝึกวุฒิภาวะ" ให้กับตัวเรา เชื่อเถอะ ถ้ามันเห็นเราไม่ไปต่อล้อต่อเถียงด้วยสักพัก เดี๋ยวเจ้าอารมณ์ที่เรียกว่า "ความเสร่อ" มันจะตีกลับไปที่เขาเอง เหมือนอะไรเอ่ย ไม่เข้าพวก สเตตัสนี้เขาคุยกันเรื่องดีๆ แต่แกมาแซวบ้าบอคอแตกอะไร? ทำบ่อย ๆ เข้า คิดว่าคนอื่นจะไม่เห็นเหรอ

.

โซเชี่ยลมีเดียไม่ได้แค่ให้เราได้สื่อสาร หรืออ่านข่าว หรือสนุกกับเพื่อน ๆ เท่านั้น มันยังสร้างให้เรามีวุฒิภาวะ จะด้วยทางตรง หรือทางอ้อม ก็สุดแท้ ถ้าเรามองเห็นในจุดนั้น โซเชี่ยลมีเดียจะมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับตัวเราเอง

ของทุกอย่างจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่ที่เรา ส่วนคำพูด หรือคำวิจารณ์ของคนอื่น รับฟังได้ แต่สุดท้าย ก็ขึ้นอยู่กับเราเหมือนกัน ว่าจะเลือกเก็บเอาไว้ หรือจะเลือกโยนมันทิ้งลงถังขยะซะ!

อย่าเสีย ‘เพื่อน’ เพียงเพราะ ‘การเมือง’

ไม่มีสถานการณ์ไหนจะร้อนแรงเฟร่อเท่าเรื่องมุมมองทางการเมือง โดยเฉพาะมุมมอง ‘ที่เห็นต่าง’

 

พฤติกรรมหนึ่งที่หลายคนเคยเจอ คือการได้อ่านสเตตัสในมุมมองตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองคิด (หรือชื่นชอบ) อ่านมากๆ แล้วก็คันหัวใจ คันปาก และคันนิ้ว ต้องพิมพ์ใส่ในคอมเม้นเพื่อเถียง พอเถียงไป เขาก็เถียงกลับ งั้นเถียงต่อ มันก็เถียงกลับมาอีก เริ่มซัดกันนัว ระอุ ดุเดือด รู้ตัวอีกที ‘อ้าว! นี่เพื่อนกรูเอง!’

 

บรรยากาศตอนนี้ เราทะเลาะกับเพื่อน หรืออิหยังวะกับเพื่อน เพราะเรื่องการเมืองกันมากมาย ไม่รู้มีโพลสำนักไหนเคยไปทำแล้วหรือยัง แต่เชื่อว่า พฤติกรรมยอดฮิตกับเรื่องเห็นต่างทางการเมืองที่มาเป็นอันดับ 1 คือ การกด Unfriend (เพื่อนซะเล้ย!)

 

กด Unfriend ทำไม?

 

กดเพื่อให้รู้ว่า โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบที่แกคิดไม่เหมือนกับฉัน เป็นชั่วอารมณ์แวบเดียวที่อยากจะแสดงความไม่พอใจใส่เพื่อน แต่พอรู้ตัวอีกที อ้าว! ยุ่งล่ะ พรุ่งนี้เดี๋ยวก็ต้องไปเจอมันที่โรงเรียน ที่มหา’ลัย หรือที่ทำงาน แล้วฉันจะทำตัวยังไง ฉันจะมองหน้าแกยังไง เคยมีเคสหนักๆ กำลังจีบหญิงที่หมายปอง แต่ฝ่ายหญิงดันอยู่คนละขั้วการเมือง ไปเผลอกด Unfriend งานนี้จบ!

 

จะบอกว่า เรื่อง Unfriend ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอันใดหรอก ด้วยยุคสมัยนี้ มันมีพื้นที่ที่ทำให้เราไม่ต้องไปเจอกันต่อหน้า เราถึงแสดงออกผ่านทางโลกเสมือนจริง ใช้สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ มันก็ดีที่ไม่ต้องมาทะเลาะกันแบบตรงๆ แต่ในมุมกลับกัน มันก็ทำให้เราใจร้อน ใจเร็ว ตัดสินใจด้วยอารมณ์แค่แวบเดียว

 

เพื่อนบางคนคบกันมา 10-20 ปี เคยทะเลาะกับมันมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ทุกครั้งเมื่อได้พูดคุย ขอโทษขอโพยกัน (ด้วยเสียงและการเจอตัวเป็นๆ) ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนก็ยังอยู่คงเดิม แต่พอมีสื่อโซเชี่ยลมีเดียที่ไม่ต้องทำให้เราเจอกันตรงๆ แบบเห็นหน้า เราก็หาได้แคร์เพื่อนไม่ เขียนอะไรไม่เข้าหูเข้าตา กด Unfriend แม่มซะเลย!

 

ถามว่าแล้วจะให้ทำยังไงถ้าไม่กด Unfriend?

 

ก็ปุ่มในโซเชี่ยลมีตั้งเยอะ ลองกด Hide ไหม? หรือกด Unfollow ไปสักพักก็ได้ วิธีนี้ช่วยได้ทั้งเราและเพื่อน คือเราจะไม่เห็นสเตตัสการเมืองของเพื่อนให้รำคาญใจ และเพื่อนก็ไม่ต้องมารู้ว่าเราหงุดหงิด ความน่าแปลกใจต่อจากนั้นก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เราจะลืมไปเลยว่าเคยทำอะไรไว้ แล้ววันหนึ่งจู่ๆ ก็นึกถึงสเตตัสของเพื่อนขึ้นมา ‘เออ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เห็นมันโพสต์บ้าๆ บอๆ อะไรเลยเน๊อะ’ ก็แหงสิ! เราไป Unfollow เขาอยู่พักใหญ่จนลืม เมื่อนึกขึ้นมาได้อย่างนั้น เราก็จะกลับไปติดตามเพื่อนดังเดิม (ด้วยความคิดถึง)

 

ปัญหาบางอย่าง อยู่ที่เราจัดการกับมันอย่างไร และที่สำคัญ มันยังฝึกให้เราเติบโตขึ้น โตด้วยวิธีคิด โตด้วยสติ และโตด้วยปัญญา  โลกโซเชี่ยลเหมือนการบ้านโจทย์ใหญ่ ที่ให้เราได้เรียนรู้ ได้แก้ปัญหา และได้เห็นการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของมัน มองอย่างเข้าใจ และมองให้เป็นประโยชน์ เราก็จะได้ประโยชน์จากมัน

 

ส่วนเรื่องการเมืองกับเพื่อนนั้น บางทีไม่ต้องคิดซับซ้อนเหมือนโลกโซเชี่ยล ถามง่ายๆ ว่า การเมืองอยู่กับเรามากี่ปี? แล้วเพื่อนอยู่กับเรามากี่ปี? เพื่อนยืมเงินได้ พาไปเลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้าได้ แต่การเมืองพาเราไปแบบนั้นได้ไหม ยืมเงินการเมืองได้ไหม แล้วที่สำคัญ การเมือง (ที่เราชื่นชอบ) ก็ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เพราะสักวันหนึ่ง ตัวละครใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น

 

แต่สำหรับเพื่อน เป็นตัวละครในชีวิตที่จะอยู่กับเราไปจนวันตาย...

 

 

   

ปัญหา 'ช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน' แก้ได้

หลายคนเคยวาดฝัน ว่าเมื่อฉันเรียนจบไปแล้ว ฉันจะเดินเข้าสู่ที่ทำงานทันสมัย ใหม่ ๆ ดี ๆ เท่ ๆ คูล ๆ บลา ๆๆๆ ทว่าตัดกลับมาในฉากชีวิตจริง วันแรกของการทำงาน คือบริษัทเก่าซูเปอร์โบราณ แถมยังมีหัวหน้างานที่แทบจะยกมือไหว้เรียก...คุณพ่อ!!

เป็นธรรมดา ภาพฝันกับภาพความจริง มักไม่ค่อยแนบสนิทชิดเป็นภาพเดียวกันสักเท่าไร แถมหนำซ้ำ การมีหัวหน้าเป็นคุณพ่อ เอ้ย! การมีหัวหน้าอายุคราวคุณพ่อ ยังทำให้หลายคนต้องพกแผงยาพาราเซตตามอลไว้บนโต๊ะตลอดเวลา เพราะต้องกินแก้ปวดหัว จากปัญหาการสื่อสารด้วยภาษาที่ยากจะเข้าใจ หรือไม่ก็เป็นการสั่งงานที่เชื่องช้า ทุก ๆ งาน ทุก ๆ อย่าง มักต้องเริ่มจากนับหนึ่งเสมอ พอจะแนะนำอะไรไป ก็ทำหน้างงใส่ แถมพูดเสียงแข็ง 'นี่ผมเป็นหัวหน้าคุณนะ!'

เจอ 'ปัญหา' ที่เรียกว่า หัวหน้าแก่แบบนี้ หลายคนตั้งธงในใจ ได้งานใหม่เมื่อไร 'กรูไปแน่!!'

ใจเย็น ๆ ก่อนครับ ชะลออารมณ์เบื่อหน่าย แล้วมาตรึกตรองกันดูดี ๆ เสียก่อน 

เริ่มต้นที่คำว่า 'ปัญหา' มองกันให้ชัด ๆ ว่าปัญหาจริง ๆ คือ หัวหน้างานที่แก่ หรือว่าที่จริงแล้ว เป็นเราเองที่แก่? 

'แก่' ในที่นี้ หมายความว่า ใจเราเองหรือเปล่า ที่เหมือนคนแก่ ที่ไม่ยอมเปิดรับ ภาษาอังกฤษเรียก ไม่ 'Open Mind' คอยตั้งกำแพงกับสิ่งที่หัวหน้าบอกหรือพูดอยู่หรือไม่ ลองทุบกำแพง หรือแม้แต่แง้มประตูออกสักนิด ไม่ต้องเปิดมากก็ได้ เปิดพอให้ 'มุมมองที่แตกต่าง' ได้เข้ามาในสมองและความคิดของเราดูบ้าง 

บางทีอะไรที่มันเคยไม่ใช่ พอมองดี ๆ มันกลับกลายเป็นความลงตัวขึ้นมาก็เป็นได้ รถยนต์มีคันเร่งให้เหยียบไปได้เร็วปรู้ดปร้าด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเหยียบคันเร่งเร็วแบบนั้นเสมอไป ผ่อนลงมาบ้าง จะได้เห็นอะไร ๆ ที่แตกต่างตั้งมากมาย 

ยิ่งเมื่อเราผ่อนคลาย ช่องว่าง (Gab) ระหว่างเรากับหัวหน้า ที่เคยห่างไกลลิบ ๆ ก็จะค่อย ๆ ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น ไม่ต้องห่วงนะว่าจะดูเหมือนว่าเรายอมเขา เพราะหากว่าเขาเป็น 'หัวหน้างานที่ดี' เขาจะปรับท่าที และขยับเข้าหา เพื่อเรียนรู้กันและกันมากขึ้น

ปัญหาเรื่องอายุที่ห่างกัน หากมองในแง่ดี ยิ่งเราอายุห่างจากหัวหน้างานมากเท่าไร เราก็จะได้ 'ประสบการณ์' มากขึ้นเท่านั้น และจงเชื่อเถอะว่า ไม่มีประสบการณ์ไหนที่เก่า หรือเป็นประสบการณ์หมดอายุ ใช้งานไม่ได้ เพราะประสบการณ์คือตัวแปรของความรอบคอบ รอบคอบในการทำงาน รอบคอบในความคิด ในการตัดสินใจ แล้วที่สำคัญ ประสบการณ์ไปหาซื้อตามห้างสะดวกซื้อที่ไหนไม่ได้ ซึ่งบางที มันอยู่ที่ 'หัวหน้างาน' ของเรานี่ล่ะ

ไม่มีใครเริ่มต้นงานแล้วสามารถเป็นหัวหน้างานได้ทันที เมื่อก่อนคนที่เคยเป็นหัวหน้า ก็ต้องเคยเป็นลูกน้องมาก่อนทั้งนั้น เหมือนกับเราในตอนนี้ที่กำลังเป็นลูกน้อง แต่วันหนึ่ง เราก็จะขึ้นไปเป็นหัวหน้าแทนบ้าง แล้ววันนั้น เราก็จะมีลูกน้องมองเราว่า 'แก่' เพียงแต่ถ้าเราเข้าใจในการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านนี้ สุดท้าย..เราจะสามารถยิ้มให้กับเจ้าลูกน้องคนนั้นได้อย่างสบายใจ

เอาเป็นว่า พรุ่งนี้ตื่นเช้าก่อนเข้าออฟฟิศ ซื้อขนมปัง ปาท่องโก๋ ไปฝากคนแก่ เอ้ย! ไปฝากหัวหน้าสักหน่อยแล้วกัน แล้วอะไร ๆ จะดีขึ้นแน่นวล...   

ถูก ‘บูลลี่’ ควรแก้ยังไง?

ใครเคยถูก ‘บูลลี่’ ยกมือขึ้น?

 

ถามแบบนี้ เชื่อเถอะว่า ยกมือกันพรึ่บ ไล่ไปตั้งแต่เด็กประถมไปยันนายกรัฐมนตรี ยุคสมัยนี้เขาเรียกการโดนล้อว่า ถูกบูลลี่ (Bully) แต่ถ้าเป็นยุคก่อนๆ มันก็คือ การถูกล้อ ถูกแซว นั่นแหละ

 

การถูกบูลลี่ หรือการล้อ การแซว เป็นเรื่องทางจิตวิทยาของมนุษย์มาแต่โบร่ำโบราณแล้วล่ะ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม พอมารวมกลุ่มกันเข้า เมื่อเห็นว่าสิ่งใดที่มันดู ‘แตกต่าง’ ไปจากผู้คนปกติในกลุ่ม ก็มักจะมีการออกความเห็น เป็นธรรมดา

 

เช่น ‘ทำไมคนนี้ถึงดำ’ ‘ทำไมคนนั้นถึงเตี้ย?’ แต่ปัญหาต่อมาก็คือ เมื่อมีคนพูด (หรือตั้งประเด็นขึ้นมา) คนอื่นๆ ในกลุ่มก็จะพลอยสนใจ จากที่มีคนสีผิวต่าง หรือส่วนสูงต่างอยู่ในกลุ่มตั้งนานสองนาน พอมีคนตั้งข้อสังเกตปุ๊บ กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาทันที

 

ที่มันเลยเถิดไปกว่านั้น เมื่อสนใจในความแตกต่าง กลับกลายเป็นการไปย้ำความต่างนั้นๆ อยู่เรื่อยๆ เหมือนอะไรเอ่ยไม่เข้าพวก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ถ้าไม่มีใครทัก ใครพูด มันก็จะไม่กลายเป็นประเด็น

 

ยังมีอีกหลายกรณี เช่น คนนี้อ้วนกว่าใครในกลุ่ม คนนี้ผอมแห้งกว่าใครในแก๊ง คนนี้สิวเยอะ คนนั้นพูดไม่ชัด คนโน้นผมหยิก กระทั่งพัฒนามาสู่ยุคนี้ ที่มีโซเชี่ยลมีเดียเป็นตัวกระจายอำนาจการบูลลี่ กล่าวคือ ใครที่มีความต่าง หรือมีพฤติกรรมไม่เข้าพวก หรือแม้แต่ทำอะไรน่าเกลียดๆ แล้วโดนถ่ายภาพเก็บไว้ ทั้งหมดนี้จะถูกกระจายกำลังกันโดนบูลลี่ไปในโลกกว้างทันที

 

 

เรื่องเหล่านี้ ใครไม่เจอกับตัวเอง ก็คงไม่รู้ซึ้งว่า ‘มันเจ็บปวดเพียงใด’

 

อย่างที่ถามไป มีใครเคยถูกบูลลี่บ้าง น้อยคนนั่นแหละที่จะไม่เคย เอาเรื่องเบสิกสุดๆ ประเภทล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ยิ่งชื่อพ่อแม่เป็นชื่อเชยๆ แปลกๆ งานนี้โดนล้อกันจนแก่จนเฒ่า นี่ก็เป็นมิติหนึ่งของการบูลลี่เหมือนกัน ถามต่อมาว่า แล้วจะทำยังไงไม่ให้ถูกบูลลี่? ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ‘ยาก!’ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมมีความแตกต่าง หรือแม้แต่ทำอะไร ‘พลาดๆ’ กันได้หมด

 

แต่ตัวการปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ ‘คนบูลลี่’ นั่นต่างหาก

 

ยกสมการง่ายๆ ว่า ‘ถ้าไม่มีคนบูลลี่ มันก็จะไม่มีการถูกบูลลี่’ ถูกไหม? เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ‘ทุกคน’ ควรทำ หรือต้องทำ คือ ฉุกคิดสักนิด ก่อนจะพูด ก่อนจะเล่า ก่อนจะแซว ก่อนจะล้อ ก่อนจะให้ความเห็น หรือก่อนจะคอมเม้น

 

ทั้งหมดมันเกิดจากตัวเรานี่ล่ะ บางครั้งไม่ตั้งใจ แต่เผลอตัวพูดออกไปด้วยความสนุก(ปาก) ด้วยความคึกคะนอง คิดว่าขำๆ ล้อกันเล่นๆ แต่ใจเขาใจเรา อะไรที่มากเกินพอดี ผลลัพธ์ที่ออกก็มักจะเกินงามไปด้วยเช่นกัน

 

 

เราไม่ได้บอกให้ใครต้องทำตัวโลกสวย ต้องพูดเพราะๆ แต่ก่อนพูด ขอให้มีสติ ฉุกคิดสักนิดกับคำพูดของเรา อะไรที่ประเมินว่าสุ่มเสี่ยง ก็ข้ามๆ ไปบ้าง ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่คิดก็ได้

 

สรุปคาถาง่ายๆ ป้องกันการถูกบูลลี่ นั่นคือ ‘การไม่ไปบูลลี่คนอื่นก่อน’ ก็เท่านั้นเอง...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top