อย่าเสีย ‘เพื่อน’ เพียงเพราะ ‘การเมือง’

ไม่มีสถานการณ์ไหนจะร้อนแรงเฟร่อเท่าเรื่องมุมมองทางการเมือง โดยเฉพาะมุมมอง ‘ที่เห็นต่าง’

 

พฤติกรรมหนึ่งที่หลายคนเคยเจอ คือการได้อ่านสเตตัสในมุมมองตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวเองคิด (หรือชื่นชอบ) อ่านมากๆ แล้วก็คันหัวใจ คันปาก และคันนิ้ว ต้องพิมพ์ใส่ในคอมเม้นเพื่อเถียง พอเถียงไป เขาก็เถียงกลับ งั้นเถียงต่อ มันก็เถียงกลับมาอีก เริ่มซัดกันนัว ระอุ ดุเดือด รู้ตัวอีกที ‘อ้าว! นี่เพื่อนกรูเอง!’

 

บรรยากาศตอนนี้ เราทะเลาะกับเพื่อน หรืออิหยังวะกับเพื่อน เพราะเรื่องการเมืองกันมากมาย ไม่รู้มีโพลสำนักไหนเคยไปทำแล้วหรือยัง แต่เชื่อว่า พฤติกรรมยอดฮิตกับเรื่องเห็นต่างทางการเมืองที่มาเป็นอันดับ 1 คือ การกด Unfriend (เพื่อนซะเล้ย!)

 

กด Unfriend ทำไม?

 

กดเพื่อให้รู้ว่า โกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบที่แกคิดไม่เหมือนกับฉัน เป็นชั่วอารมณ์แวบเดียวที่อยากจะแสดงความไม่พอใจใส่เพื่อน แต่พอรู้ตัวอีกที อ้าว! ยุ่งล่ะ พรุ่งนี้เดี๋ยวก็ต้องไปเจอมันที่โรงเรียน ที่มหา’ลัย หรือที่ทำงาน แล้วฉันจะทำตัวยังไง ฉันจะมองหน้าแกยังไง เคยมีเคสหนักๆ กำลังจีบหญิงที่หมายปอง แต่ฝ่ายหญิงดันอยู่คนละขั้วการเมือง ไปเผลอกด Unfriend งานนี้จบ!

 

จะบอกว่า เรื่อง Unfriend ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอันใดหรอก ด้วยยุคสมัยนี้ มันมีพื้นที่ที่ทำให้เราไม่ต้องไปเจอกันต่อหน้า เราถึงแสดงออกผ่านทางโลกเสมือนจริง ใช้สัญลักษณ์บางอย่างเพื่อแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ มันก็ดีที่ไม่ต้องมาทะเลาะกันแบบตรงๆ แต่ในมุมกลับกัน มันก็ทำให้เราใจร้อน ใจเร็ว ตัดสินใจด้วยอารมณ์แค่แวบเดียว

 

เพื่อนบางคนคบกันมา 10-20 ปี เคยทะเลาะกับมันมาไม่รู้กี่ครั้ง แต่ทุกครั้งเมื่อได้พูดคุย ขอโทษขอโพยกัน (ด้วยเสียงและการเจอตัวเป็นๆ) ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนก็ยังอยู่คงเดิม แต่พอมีสื่อโซเชี่ยลมีเดียที่ไม่ต้องทำให้เราเจอกันตรงๆ แบบเห็นหน้า เราก็หาได้แคร์เพื่อนไม่ เขียนอะไรไม่เข้าหูเข้าตา กด Unfriend แม่มซะเลย!

 

ถามว่าแล้วจะให้ทำยังไงถ้าไม่กด Unfriend?

 

ก็ปุ่มในโซเชี่ยลมีตั้งเยอะ ลองกด Hide ไหม? หรือกด Unfollow ไปสักพักก็ได้ วิธีนี้ช่วยได้ทั้งเราและเพื่อน คือเราจะไม่เห็นสเตตัสการเมืองของเพื่อนให้รำคาญใจ และเพื่อนก็ไม่ต้องมารู้ว่าเราหงุดหงิด ความน่าแปลกใจต่อจากนั้นก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เราจะลืมไปเลยว่าเคยทำอะไรไว้ แล้ววันหนึ่งจู่ๆ ก็นึกถึงสเตตัสของเพื่อนขึ้นมา ‘เออ ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เห็นมันโพสต์บ้าๆ บอๆ อะไรเลยเน๊อะ’ ก็แหงสิ! เราไป Unfollow เขาอยู่พักใหญ่จนลืม เมื่อนึกขึ้นมาได้อย่างนั้น เราก็จะกลับไปติดตามเพื่อนดังเดิม (ด้วยความคิดถึง)

 

ปัญหาบางอย่าง อยู่ที่เราจัดการกับมันอย่างไร และที่สำคัญ มันยังฝึกให้เราเติบโตขึ้น โตด้วยวิธีคิด โตด้วยสติ และโตด้วยปัญญา  โลกโซเชี่ยลเหมือนการบ้านโจทย์ใหญ่ ที่ให้เราได้เรียนรู้ ได้แก้ปัญหา และได้เห็นการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของมัน มองอย่างเข้าใจ และมองให้เป็นประโยชน์ เราก็จะได้ประโยชน์จากมัน

 

ส่วนเรื่องการเมืองกับเพื่อนนั้น บางทีไม่ต้องคิดซับซ้อนเหมือนโลกโซเชี่ยล ถามง่ายๆ ว่า การเมืองอยู่กับเรามากี่ปี? แล้วเพื่อนอยู่กับเรามากี่ปี? เพื่อนยืมเงินได้ พาไปเลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้าได้ แต่การเมืองพาเราไปแบบนั้นได้ไหม ยืมเงินการเมืองได้ไหม แล้วที่สำคัญ การเมือง (ที่เราชื่นชอบ) ก็ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เพราะสักวันหนึ่ง ตัวละครใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น

 

แต่สำหรับเพื่อน เป็นตัวละครในชีวิตที่จะอยู่กับเราไปจนวันตาย...