Sunday, 28 April 2024
ข้าวไทย

ข้าวหอมมะลิ 105 คว้าแชมป์โลก 2 ปีซ้อน คาดดันส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 6 ล้านตัน

‘จุรินทร์’ เผยข้าวหอมมะลิไทย 105 ชนะการประกวดข้าวดีที่สุดในโลกของปี 2021 คว้าแชมป์โลกมาครอง 2 ปีซ้อน ส่งผลส่งออกข้าวปีนี้ทะลุเป้า 6 ล้านตัน

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการประกวดข้าวโลก หรือ “World’s Best Rice Award 2021” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 13 โดยผู้ค้าข้าวของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดตั้งแต่วันที่ 7-9 ธันวาคม 64 ที่เมืองดูไบโดยจัดแบบไฮบริด หรือรูปแบบผสมผสานเป็นครั้งแรก มีผู้ส่งข้าวเข้าประกวด 6 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมาและไทย

รวมจำนวน 11 ตัวอย่าง ผลการตัดสินปรากฏว่าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทย คือ ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งปลูกในภาคอีสาน ที่ส่งเข้าประกวดโดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ

‘เฉลิมชัย’ ปลื้ม!! ข้าวไทยครองแชมป์ข้าวที่ดีที่สุด 2 ปีซ้อน ส่งออกเบอร์ 2 ของโลก 9 เดือนแรก โกย 9 หมื่นล้านบาท

‘เฉลิมชัย’ ขอบคุณชาวนาพาไทยผงาดเบอร์ 2 ส่งออกข้าวโลกและครองแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน พอใจส่งออกข้าว 9 เดือน 9 หมื่นล้าน เพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่าพร้อมเดินหน้านโยบายประกันรายได้ข้าวปีที่ 4 ชี้ เป็นประโยชน์ช่วยเพิ่มรายได้ชาวนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

(14 พ.ย. 65) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แสดงความพอใจต่อการพัฒนาศักยภาพของชาวนาไทยและการส่งออกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 และยุทธศาสตร์ ‘ตลาดนำการผลิต’ ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลกเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคาโดย 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค. - ก.ย. 65) ประเทศไทยส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ทั้งสิ้น 5.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 39.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออก 2,796.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึง 95,233 ล้านบาท 

สำหรับราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ตันละ 510.8 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ที่ราคาตันละ 500.5 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7-8 ล้านตันทำให้ประเทศไทยกลับมาผงาดขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกในปีนี้อย่างแน่นอน

'จุรินทร์' โชว์วิชั่นกลางวงผู้นำเข้าข้าวโลกกว่า 1,000 ราย ดันข้าวไทยเป็นแหล่งผลิตแปรรูป-ส่งออก สร้างความมั่นคงทางอาหารคุณภาพโลก พร้อมย้ำ!ไทยส่งเสริมการค้าข้าวเสรีทั้งตลาดในและต่างประเทศ

(16 พ.ย.65) เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษการประชุมข้าวโลก ครั้งที่ 14 (14th World Rice Conference) พร้อมด้วย Mr.Jeremy Zwinger ประธานกรรมการบริหารนิตยสาร The Rice Trader นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้ประกอบการค้าข้าวทั้งในและต่างประเทศ ที่โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต โดยในงานนายจุรินทร์ได้กล่าวว่า ขอบคุณ Mr.Jeremy Zwinger และนิตยสาร The Rice Trader ที่ให้เกียรติกับประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3  เพราะเคยจัดที่ไทยมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ปี 2016 ครั้งที่สองที่จังหวัดภูเก็ตปี 2010 และครั้งนี้ครั้งที่สาม 2022 จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะเชื่อมกับจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของตน การที่มาจัดการประชุมข้าวโลกที่ภูเก็ต หวังว่าทุกท่านจะได้มีโอกาสข้ามสะพานท้าวเทพกระษัตรีไปยังจังหวัดพังงาและจังหวัดอื่นในอันดามัน ทั้งภูเก็ตและกระบี่ ขอต้อนรับผู้ประกอบการข้าวจากทั่วโลกที่ได้มีโอกาสมาเยือนภูเก็ต

สำหรับสถานการณ์ข้าว ถือเป็นธัญพืชที่เพาะปลูกมากเป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากข้าวโพด และข้าวสาลี ภูมิภาคที่บริโภคข้าวมากที่สุดในโลกคือทวีปเอเชีย มากกว่า 90% ของผลผลิตทั้งโลก ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่าปีนี้ 2022  ความต้องการข้าวโลกจะมากขึ้นประมาณ 3.5% เทียบจากปีที่แล้วที่ 517 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 10 ปี เพราะปัญหาความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจโลกและความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ ส่งผลให้หลายประเทศที่เป็นผู้นำเข้าข้าวหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น เช่น อินโดนีเซียเซเนกัล ออสเตรเลีย ทั้งที่เป็นผู้นำข้าวมาก่อน ทำให้เกิดการแข่งขันด้านการตลาดข้าวรุนแรงตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ผลิตข้าวรายสำคัญของโลกปีนี้ ประเทศไทยผลิตข้าวเป็นลำดับ 4 ของโลก ประเทศที่ผลิตมากที่สุดในโลกคือ จีน 147 ล้านตัน อินเดีย 124 ล้านตัน เวียดนาม 27 ล้านตันและไทยผลิตได้ 20 ล้านตัน สำหรับการส่งออก 9 เดือนแรกของปีนี้ ม.ค.-ก.ย.ประเทศไทยส่งออกข้าวแล้ว 2,796 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.5% ปีที่แล้วส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน ปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ถึง 7.5 ล้านตันโดยประมาณ  ด้านคุณภาพในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ขอยืนยันว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกชนิดหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง ดูจากผลการประกวดข้าวโลกของนิตยสาร The Rice Trader ซึ่งจัดมา 13 ครั้งประเทศไทยได้แชมป์ข้าวโลกถึง 7 ครั้ง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของการจัดประกวด คือเครื่องการันตีว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง สำหรับนโยบายของรัฐบาลไทย 1. ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ข้าวไทย ว่า 5 ปีตั้งแต่ปี 2020-2024 มีเป้าหมายสำคัญทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตด้าน การตลาดและด้านผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพของโลกใช้ยุทธศาสตร์ 'ตลาดนำการผลิต' เพื่อสนองความต้องการของตลาดโลก กำหนดเป้าหมายแต่ละด้านชัดเจน เช่น ภายใน 5 ปี จะเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ วันนี้ปี 2022 มีข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการรับรองแล้ว 6 พันธุ์ และคาดว่าไม่เกินปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 6 พันธุ์ รวมเป็น 12 พันธุ์ใหม่สนองความต้องการของตลาดโลกต่อไป 

ข้าวพันธุ์ใหม่ประกอบด้วยข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ รวมทั้งข้าวคุณสมบัติพิเศษ เช่น ข้าวสี ข้าวเพื่อการบริโภค ข้าว Functional Food อีก 2 พันธุ์ วันนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกับกระทรวงพาณิชย์นำมาแสดงและให้ทุกท่านได้ชิม 2. นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ดำเนินการมา 3 ปีเต็ม และปีนี้เป็นปีที่ 4 ปลายอายุของรัฐบาลนี้ จะหมดวาระประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า  เมื่อวานคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเดินหน้าต่อนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้เงิน 81,200 ล้านบาท ให้ชาวนาในประเทศไทยมีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ ถ้าราคาตกต่ำกว่ารายได้ที่ประกันจะมีเงินส่วนต่างช่วยชดเชยให้สามารถเลี้ยงชีพได้ ไม่เลิกอาชีพปลูกข้าวเพื่อทำให้ประเทศไทยมีข้าวบริโภคและเป็นส่วนหนึ่งด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกดำรงอยู่ต่อไปได้ ด้วยฝีมือชาวนาไทยที่มีส่วนสำคัญ และทำให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกหรือ Kitchen of the World เป็นแหล่งสำรองอาหารให้กับโลกโดยเฉพาะข้าวได้ต่อไป

‘เพื่อไทย’ จี้ ‘ก.เกษตรฯ’ ใส่ใจชื่อเสียงข้าวหอมมะลิ 105 หลัง ‘ข้าวผกาลำดวนของกัมพูชา’ ผงาดขึ้นที่ 1 ของโลก

(25 พ.ย. 65) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีข้าวหอมมะลิไทยเสียแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกให้กับข้าวผกาลำดวนของกัมพูชา ในการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 2022 ที่จ.ภูเก็ตว่า…

ความจริงแล้วข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยเป็นสายพันธุ์ที่ยังคงดีที่สุดในโลก การประกวดข้าวในประเทศไทยครั้งนี้ ข้าวหอมมะลิ 105 ไทยไม่ได้แพ้ที่สายพันธุ์ แต่แพ้เพราะการปล่อยปละละเลยในกระบวนการจัดการ ทั้งด้านวิชาการ และการส่งเสริมด้านเกษตรกรรมที่ถูกต้อง เนื่องจากคนจัดการเรื่องนี้มืออ่อน ไม่มีความใส่ใจในชื่อเสียงของประเทศไทย เมื่อรู้อยู่ว่าเราจะทำการประกวดข้าว กระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่เรื่องของเมล็ดพันธุ์ พื้นที่ปลูก ช่วงแสง จังหวะการให้ปุ๋ย กระบวนการเพาะกล้า ที่ดูแลตั้งแต่ระบบราก จังหวะการใส่ปุ๋ย ตามความต้องการของข้าวในแต่ละช่วงอายุข้าว ตลอดจน การให้ปุ๋ยเสริมเพิ่มคุณภาพข้าว ในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวเราได้เข้าไปควบคุมดูแลหรือไม่ แม้กระทั่งการวิเคราะห์ ความต้องการปุ๋ย NPK ที่เป็นธาตุอาหารหลัก และปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซี่ยม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ หรือแมงกานิส ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคของประเทศไทยนั้น เราได้เสริม เพิ่มเติม ให้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เมื่อรู้ว่าจะมีการประกวดคุณได้นำข้าวจากแปลงนาที่มีการดูแลที่ถูกต้องหรือไม่ หรือปล่อยไปตามยถากรรมแล้วหยิบเอาข้าวทั่วไปไปประกวด 

“ในความรู้สึกที่เป็นคนไทย รักชื่อเสียงของข้าวไทย รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่เห็นว่ารัฐบาลนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับลำดับข้าวไทยว่าข้าวไทยจะอยู่ในลำดับที่ 1 หรือไม่ จะส่งผลกระทบต่อราคาหรืออนาคตของข้าวไทยอย่างไร การปล่อยให้ข้าวไทยแพ้คาบ้านแบบนี้ นักวิชาการเรื่องข้าวในประเทศไทยแทบไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เราขายหน้ากับกระบวนการจัดการของรัฐบาล ที่รู้อยู่ว่าจะแข่งแต่กลับไม่มีกระบวนการจัดการอะไรเลย ทั้งที่ข้าวคือพืชทางการเกษตรหลักของประเทศ และเป็นพืชผลหลักที่เราส่งออก” นายวรวัจน์ กล่าว

‘อนุชา’ เผย ส่งออก ‘ข้าวไทย’ 2 เดือนแรก ส่งออกได้ 1.4 ล้านตัน มูลค่า 25,404.15 ลบ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2% คาดปี 66 มีโอกาสขยายตัวตามเป้า

(19 เม.ย.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ตัวเลขการส่งออกข้าวของไทย 2 เดือนแรกของปี 2566 ยังคงอยู่อันดับ 2 ประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลก ปริมาณการส่งออกกว่า 1.4 ล้านตัน โดยส่งออกมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกยังคงเพิ่มต่อเนื่อง จากความต้องการข้าวในตลาดโลก โดยตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรพบว่า ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 25,404.15 ล้านบาท หรือ 753.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตรามูลค่าการส่งออกขยายตัวมากขึ้นร้อยละ 38.2 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีการส่งออกข้าวมูลค่า 18,376.8 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ อินโดนีเซีย อิรัก บังคลาเทศ และเซเนกัล เป็นต้น โดยประเทศไทยยังคงอยู่อันดับ 2 ประเทศผู้ส่งออกข้าวของโลก ตามหลังอินเดียที่ยังคงครองอันดับ 1 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวในเดือนมีนาคม 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000-730,000 ตัน เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้นจากการที่อุปทานข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญ ส่วนผู้นำเข้าที่สำคัญของไทยยังคงนำเข้าทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยสต็อกข้าวในประเทศที่มีปริมาณลดลง

'อินเดีย' ห้ามส่งออกข้าวกระทบประชากรหลายล้านคน ด้านไทยพร้อม หลังผลผลิตเพียงพอ เหลือพอส่งออกเพิ่ม

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้ห้ามส่งออกข้าวขาว ที่ไม่ใช้พันธุ์บาสมาติ (Basmati) เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เสี่ยงสั่นคลอนตลาดข้าวทั่วโลก มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนหลายล้านคน โดยเฉพาะเอเชียและแอฟริกา

เหตุผลเพราะรัฐบาลอินเดียต้องการควบคุมราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ และรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอภายในประเทศ 

ทั้งนี้ อินเดียมีสัดส่วนส่งออกข้าว กว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดยมีมาเลเซีย, สิงคโปร์ เป็นสองประเทศในอาเซียนที่พึ่งพาข้าวจากอินเดียมาก รวมทั้งแอฟริกา, ตะวันออกกลาง, แอฟริกาเหนือ (MENA) โดยประเทศจิบูตี, ไลบีเรีย, กาตาร์, แกมเบีย และคูเวต มีความเสี่ยงมากที่สุด ตามรายงานของธนาคารบาร์เคลย์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศที่มีการผลิตข้าว ส่งออกข้าว หรือนำเข้าข้าว ให้ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิด หลังจากที่อินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น มากำหนดแผนและมาตรการในเรื่องข้าวของไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ ขอให้ติดตามสถานการณ์การส่งออกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไร ประเทศไหนมีความต้องการเพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาส่งออกเป็นอย่างไร กรมการค้าภายใน ให้ติดตามสถานการณ์สต็อกในประเทศ ราคาข้าวเปลือกในประเทศ และทูตพาณิชย์ ให้ติดตามว่าแต่ละประเทศมีมาตรการและนโยบายในเรื่องข้าวอย่างไร มีความต้องการเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายกีรติกล่าวว่า เมื่อเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าทิศทางข้าว จะเป็นไปอย่างไร กระทรวงพาณิชย์จะมาทำแผนและมาตรการในเรื่องข้าว ซึ่งมีสมมติฐานตั้งแต่เบาไปหาหนัก แล้วแต่ว่าสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังคงเป็นปกติ ไม่มีอะไร ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้กลไกตลาดขับเคลื่อนต่อไป แต่ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณความต้องการข้าวที่สูงขึ้น ก็จะมาพิจารณาว่าจะใช้มาตรการอะไร ซึ่งมองว่าอาจจะไม่ต้องใช้เลยก็ได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญของโลก ผลผลิตมีเพียงพอ และเหลือที่จะส่งออก

"ผมมองว่าน่า 1-2 สัปดาห์ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าแนวโน้มตลาดข้าวโลกจะเป็นอย่างไร เบื้องต้น ในประเทศไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าว และเหลือส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมากกว่า การส่งออกปีนี้ น่าจะเกิน 8 ล้านตัน จากที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น" นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงในเรื่องของภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากกว่า โดยมีการประเมินกันว่าจะเกิดต่อเนื่อง 1-3 ปี ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวของไทย และทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยลดลง โดยล่าสุดได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เพื่อร่วมกันทำแผนรับมือ เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตลดลง

'นักวิชาการเกษตรอิสระ' ไขกระจ่าง!! ไทยไม่ได้ส่งเข้าประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก  เหตุผลเพราะ 'ไทย' ถอนตัว เนื่องจากมีเรื่อง 'การค้า-การเมือง' เอี่ยวมากไป

(7 ธ.ค. 66) จากกรณีที่องค์กรที่ชื่อว่า The Rice Trader หรือ TRT ประกาศผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก The World’s Best Rice 2023 ในการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผลปรากฏว่าข้าวสายพันธุ์ ST25 ของเวียดนาม ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 เอาชนะพันธุ์ข้าวที่ส่งเข้าประกวดราว 30 ตัวอย่าง จากหลายประเทศ โดยมีข้าว 3 พันธุ์เท่านั้นที่ผ่านเข้ารอบ 3 อันดับแรก ได้แก่ พันธุ์ข้าวจากกัมพูชา พันธุ์ข้าวจากอินเดีย และพันธุ์ข้าวจากเวียดนาม ทำให้สื่อมวลชนบางสำนักวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้าวไทยไม่ติดอันดับนั้น

ล่าสุดเฟซบุ๊ก ‘ศักดา ศรีนิเวศน์’ ของนายศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการเกษตรอิสระ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ตามข่าวที่ ... (สื่อมวลชนสำนักหนึ่ง) นำเสนอข่าวผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก The World's Best Rice 2023 นั้น ปีนี้ประเทศไทยไม่ได้ส่งข้าวหอมไทยเข้าประกวด เราถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก The World's Best Rice 2023 เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องมองว่าเป็นการค้า หรือการเมืองมากไป ไม่ใช่ไทยแพ้หรือตกรอบ เรื่องนี้ เพื่อนผมที่เป็นเจ้าของพันธุ์ข้าว ST25 บอกกับผมเองว่าประเทศไทยไม่ได้ส่งเข้าประกวดครับ” 

ภายหลังจากโพสต์ข้อความดังกล่าวไปแล้ว ก็ถูกแชร์บนโซเชียลฯ และมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

‘นายกฯ’ เผย อินโดฯ สั่งข้าวไทย 2 ล้านตัน เชื่อ ช่วยดันราคาสูงขึ้น พร้อมหารือ ‘ผู้นำ 3 ชาติ’ เล็งจัดเส้นทางท่องเที่ยว 4 ประเทศ

(17 ธ.ค. 66) ที่โรงแรมโอกุระ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษฯ ว่า ระหว่างการประชุมได้หารือพูดคุยส่วนตัวกับผู้นำประเทศในอาเซียน อาทิ ประเทศกัมพูชา, ประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย สำหรับการพูดคุยกับ ‘นายฮุน มาเนต’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีความสนิทสนมกัน และพบเจอกันในหลายวงประชุมแล้ว ก็ได้หารือกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานกงศุลที่กรุงเสียมเรียบซึ่งเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังคือนครวัด และมีนักท่องเที่ยวเยอะ โดยทางนายฮุน ยืนยันจะสนับสนุนเต็มที่ รวมถึงขอบคุณประเทศไทยที่ช่วยดำเนินการให้คนกัมพูชาเข้าไทยได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต และทำให้ภาคแรงงานทำให้ขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะที่การหารือร่วมกับ ‘นายหวอ วัน เถือง’ ประธานาธิบดีเวียดนาม ก็จะมีการรื้อฟื้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมสองประเทศ โดยทางเวียดนามเสนอให้จัดช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2567 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ก็น่าจะมีการพูดคุยกันเรื่องราคาข้าว เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น

รวมถึงทางเวียดนามเสนอให้ประเทศไทยในฐานะที่มีประสบการณ์สูงในเรื่องการท่องเที่ยว และนโยบายก้าวหน้า รวมถึงมีนักท่องเที่ยวเยอะที่สุดในภูมิภาคนี้ ทางเวียดนามก็ได้เสนอว่า ให้ไทย เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา มาพูดคุยกันเพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการโปรโมทการท่องเที่ยวให้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะเวลานักท่องเที่ยวมาภูมิภาคนี้ก็จะได้มาทั้งหมด นำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาใช้ ซึ่งตนได้เสนอว่าการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีระหว่างเวียดนามและไทยช่วงเดือนพฤษภาคม เราจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดประชุมกับรัฐมนตรีท่องเที่ยวทั้ง 4 ประเทศ เพื่อทำการบ้านไปก่อนคลอดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของทุกประเทศที่จะดำเนินการต่อไป อีกทั้งแนวคิดนี้ถือเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ที่ดีมากของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนการพูดคุยกับ ‘นายโจโก วีโดโด’ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่ดำรงตำแหน่งมา 8 ปีแล้ว และปัจจุบันเป็นประธานอาเซียน ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีบารมี และทุกคนให้ความเคารพ ตนได้เจอท่าน 3-4 ครั้ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านส่งนักธุรกิจมาคุยเรื่องการค้าข้าวมาพูดคุยก่อนแล้ว และการพบกันวันนี้ประธานาธิบดียืนยันว่าจะซื้อข้าวไทยจำนวน 1 ล้านตันภายในปีนี้ แต่เมื่อระยะเวลาเหลือเพียง 20 วัน ประธานาธิบดียืนยันจะสั่งข้าวไทยเป็น 2 ล้านตัน โดยจะส่งคนมาพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงต้นปี 2567 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวไทยมีราคาและความต้องการสูงขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ยังมีความสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ด้วย เพราะมีนักลงทุนอินโดนีเซียสนใจมาลงทุน โดยจะมีการนัดมาหารือต่อไป

ส่งออกข้าวไทย 66 ทะลุ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ผลจากความต้องการในตลาดโลกพุ่ง-อินเดียชะลอส่งออก

(1 ก.พ.67) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ส่งออกในปี 2566 ส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูง การชะลอส่งออกข้าวของอินเดีย และปัญหาโลกร้อน

ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ สรุปร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน

ล่าสุดข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2567 มีปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน

>>ปัจจัยหนุนส่งออกข้าว 2567

โดยปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือผลผลิตข้าวของไทยที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5.87% ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น

ขณะที่ไทยยังมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

>>อินโดนีเซียซื้อข้าวลดลง อินเดียกลับมาส่งออก

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต

นอกจากนี้ อินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

>>แผนรับมือส่งออกข้าว

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกราย เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกโดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลงเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง

ทั้งนี้ หากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

>>อัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมเดินหน้าทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย ตามนโยบาย ‘รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ’

โดยกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ ‘Thailand Rice Convention (TRC) 2024’ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน

รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมมีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน รวมถึงประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย

'ศูนย์วิจัยกสิกร' มอง!! ส่งออกข้าวไทยปี 67 อาจจะลดลง -13% หากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวแข่งกับไทย หลังจบการเลือกตั้ง

(12 ก.พ. 67) Business Tomorrow เผย ตัวเลขปี 2566 ซึ่งเป็นปีทองส่งออกข้าวไทย เนื่องจากการส่งออกข้าวไทยมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปีอยู่ที่ 5,144 ล้าน ดอลลาร์ หรือเติบโต +29% (YoY) โดยเป็นการเติบโตทั้งด้านราคาที่ +13.8% (YoY) ตามราคาข้าวโลกที่ปรับสูงขึ้น ภายใต้ปัจจัยหลัก 2 ประการด้วยกัน ได้แก่...

1. อินเดียงดส่งออกข้าว และปริมาณที่เติบโต +14% (YoY) (จาก 7.7 ล้านตันเป็น 8.8 ล้านตัน)

2. แรงหนุนซื้อหลักจาก อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ (ไทยส่งออกไป 3 ประเทศ นี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย +590% (YoY) และมีสัดส่วนปริมาณส่งออกรวม +26%)

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรมองปี 2567 ได้คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวไทยจะลดลง จากคำสั่งซื้อใหม่ของผู้ซื้อหลักที่อาจลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าไปแล้วในปีก่อนแม้บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับอินโดนีเซียและจีน ขณะที่ไทยคงเผชิญเอลนีโญในช่วงไตรมาสแรกของปีที่จะทำให้เกิดภัยแล้ง สะท้อนจากข้อมูลของ NOAA1 ที่คาดว่า เอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่จากดัชนี Ocean Nino Index (ONI) ที่สูงกว่า 0.5 องศาเซลเซียส อาจต่อเนื่องถึงในเดือน มี.ค.2567 

อีกทั้งปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ท้ังประเทศในวันที่ 7 ก.พ.2567 ลดลง -8% (YoY) กดดัน 2 ผลผลิตข้าวนาปรัง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงและ เข้าสู่ภาวะเป็นกลางมากขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 จึงอาจกระทบผลผลิตข้าวนาปีไม่มาก ส่งผลต่อภาพรวมผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ให้ยังอยู่ในระดับสูงที่ราว 31 ล้านตันข้าวเปลือกซึ่งมีเพียงพอเพื่อการส่งออก

>> อินเดียอาจกลับมาส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 67

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างนโยบายส่งออกข้าวอินเดียในปี 2567 จะกระทบการส่งออกข้าวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักอันดับ 1 ของโลกที่ครองสัดส่วนปริมาณส่งออกราว 40% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวขาวในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2567 หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้

เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้งที่พรรครัฐบาลอินเดียของโมดีต้องการรักษาความนิยม และเพื่อควบคุมเงินเฟ้อภายในประเทศ จึงใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าว (ข้าวขาว) ซึ่งคาดว่าคงมีความจำเป็นน้อยลงหากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ประกอบกับ USDA2 คาดว่า ผลผลิตข้าวของอินเดียในปี 2567 อาจลดลงไม่มากที่ 2.8% (YoY)

ดังนั้นการที่อินเดียน่าจะกลับมาส่งออกข้าวทำให้ไทยเผชิญการแข่งขันด้านราคากับอินเดีย ซึ่งจะกดดันการส่งออกข้าวขาวไทยในปี 2567 ให้ลดลง -17% (YoY) (จาก 4.8 ล้านตันเป็น 4 ล้านตัน) ซึ่งเป็นประเภทข้าวที่ไทยส่งออกมากที่สุด คิดเป็น 51% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ไทยมีราคาส่งออกข้าวขาวสูงกว่าอินเดีย จึงกระทบส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวขาวไทยในตลาดโลกให้ลดลง

อย่างไรก็ดีแม้ว่าการส่งออกข้าวขาวจะมีปริมาณลดลงแต่ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ไทยอาจมีปริมาณส่งออกข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้น +5% (YoY) (จาก 1.32 ล้านตันเป็น 1.39 ล้านตัน) โดยข้าวหอมมะลิ แม้จะมีสัดส่วนปริมาณส่งออกไม่มากที่ 18% แต่เป็นข้าวเกรดพรีเมียมที่มีราคาขายสูง มีคุณภาพและมีโอกาสโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย +2.1% ต่อ ปีในปี 2557-2561 เป็นเฉลี่ย +5.2% ต่อปีในปี 2562-2566

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2567 ภาพรวมมูลค่าส่งออกข้าวไทย อาจลดลง -13% (YoY) จาก 5,144 ล้านดอลลาร์ เป็น 4,495 ล้าน ดอลลาร์ เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวลดลง -10% (YoY) จาก 8.8 ล้านตัน เป็น 7.9 ล้านตัน และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยลดลง -3% (YoY) จาก 587 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 569 ดอลลาร์ต่อตัน โดย สาเหตุหลักมาจากแรงฉุดของมูลค่าการส่งออกข้าวขาวที่ลดลงทั้งในด้านปริมาณ และราคา เนื่องจากศูนย์วิจัยกสิกรอาจกลับมาส่งออกข้าวขาวหลังการเลือกตั้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top