Sunday, 5 May 2024
กลต

ก.ล.ต. คลอดเกณฑ์คุมใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ห้ามใช้ ‘ชำระค่าสินค้าหรือบริการ’ เริ่ม 1 เม.ย.นี้

ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยันไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ตามที่ ธปท. และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันและเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแล สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้ว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน

โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2565)  ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สรุปสาระสำคัญดังนี้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น   

(2) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน  

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการตาม (1) และ (2) อยู่ก่อนแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

คำถาม-คำตอบ

กรณีการออกเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ(Means of Payment)  

1.) การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างไร 

คำตอบ

หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง จะมีความเสี่ยงต่อผู้เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ดังนี้ 

(1.)  เสถียรภาพระบบการชำระเงิน 

หากสินทรัพย์ดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าบริการอย่างแพร่หลาย อาจส่งผลต่อการดูแลระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงและปลอดภัย เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีสาธารณะแบบกระจายศูนย์ (public blockchain) ทำให้ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและไม่มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้ หากเกิดปัญหา ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ ยังทำให้มีระบบการชำระเงินหลายระบบ (fragmentation) และซ้ำซ้อน อาจสร้างความสับสนหรือทำเกิดต้นทุนหากผู้บริโภคต้องใช้หลายระบบ ทำให้ต้นทุนการชำระเงินโดยรวมของประเทศสูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องมายังการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินด้วย 

(2.) เสถียรภาพทางการเงิน และความสามารถในการดูแลภาวะการเงินของประเทศ

การเกิดหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) หรือหน่วยการตั้งราคาที่นอกเหนือจากสกุลเงินบาท จะเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและธุรกิจ จากการแลกเปลี่ยนไป-มาระหว่างสกุลต่าง ๆ นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสกุลเงินบาทที่ลดลง จะลดทอนประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมถึงลดความสามารถของ ธปท. ในการดูแลให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ หากเกิดวิกฤตสภาพคล่องในประเทศ ธปท. จะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินบาทได้

มุมมองความเสี่ยงข้างต้นสอดคล้องกับมุมมองของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสมเช่นกัน 

(3.) ผู้ใช้หรือรับชำระสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ 

(3.1) ความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ใช้ หรือรายรับของผู้รับชำระมีความไม่แน่นอนสูง แม้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายมีบริการที่ช่วยแลกสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาทก่อนส่งมอบแก่ร้านค้า แต่ยังอาจมีต้นทุนแฝง เช่น ค่าธรรมเนียมในการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อป้องกันความผันผวน ที่อาจเก็บจากผู้ใช้หรือผู้รับชำระได้ 

(3.2) ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีโอกาสที่ผู้ใช้บริการจะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบหยุดชะงักทำให้เสียโอกาส 

(3.3) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถโอนหรือรับโอนจากกระเป๋าส่วนตัว (private wallet) ที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน จึงมีโอกาสที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกใช้เพื่อการฟอกเงิน และเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนทางการเงินให้กับการก่อการร้าย รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต่าง ๆ เป็นต้น

2 แนวทางนี้ สะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่

คำตอบ

ประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลฯ กังวล คือ ความเสี่ยงจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่ระบบชำระเงินปัจจุบันของไทยมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว ทำให้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มประโยชน์มากนักให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ 

อย่างไรก็ดี ธปท. และ ก.ล.ต. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีต่าง ๆ เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น blockchain และให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรม และไม่ได้ปิดกั้นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการลงทุน สะท้อนจากการที่ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีกฎหมายรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดย ก.ล.ต. เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เหมาะสม และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ธปท. เป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ เช่น การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี blockchain หรือการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินด้วย 

‘ชัยวุฒิ’ ซัด ก.ล.ต. ปล่อยปละละเลย Forex 3D  ลั่น “หากไม่ทำ จะทำเอง” เล็งขอเพิ่มอำนาจดีอีเอส

‘ชัยวุฒิ’ ยัน ซัดเป็นหน้าที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบการจดทะเบียน เปิดบริษัทระดมทุน Forex 3D ลั่น “หากไม่ทำ จะทำเอง” ขอเพิ่มอำนาจดีอีเอส เตรียมเรียกประชุม คกก.อาชญากรรมออนไลน์ปิดเว็บ 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่มีอำนาจในการเข้าไปกำกับดูแล คดี Forex 3D เพราะว่าฟังแล้วรู้สึกเสียใจเพราะต้องมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้ หากปล่อยให้บริษัทตั้งขึ้นมาลงทุน แล้วมาระดมทุนจากประชาชนผ่าน เครือข่ายการแชร์ลูกโซ่หรือโซเชียลมีเดียเป็นพันล้าน หมื่นล้าน หลอกลวงให้ประชาชนเสียหาย จะไม่มีคนรับผิดชอบ

ส่วนที่ ก.ล.ต. ระบุว่าคดีนี้เป็นเรื่องการหลอกลวงต้องเป็นคดีอาญานั้น ตนจะนัดประชุมคณะกรรมการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ หากพบเป็นช่องโหว่กฎหมาย ให้สามารถเปิดบริษัทแล้วหลอกลวงประชาชนมาลงทุนผ่านโซเชียลมีเดีย หรือเครือข่ายต่างๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแสดงว่ากฎหมายไทยไม่ทันสมัยต้องมีการปรับปรุง ซึ่งตนอยากปิดเว็บ และช่องทางเหล่านี้ จะต้องเพิ่มอำนาจให้กระทรวงดีอีเอสเข้ามาดู 

‘ชัยวุฒิ’ นำทีมดีอีเอส ร่วมหารือ ก.ล.ต. เร่งจัดการมิจฉาชีพหลอกลงทุนออนไลน์

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผนึกกำลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาหลอกลวงการลงทุนออนไลน์ โดยเฉพาะลวงลงทุนผ่านโซเชียลมีเดีย 

วันนี้ (10 ต.ค. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อแก้ไขปัญหาหลอกลวงการลงทุนออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการระดมทุนที่ผิดกฎหมาย เช่น การให้บริการชักชวนคนมาลงทุน ขายหลักทรัพย์  โดยทางกระทรวงดิจิทัลจะจัดตั้งคณะทํางานร่วมกับทางก.ล.ต ในการติดตาม Facebook account หรือ เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อวางแนวทางป้องกันปราบปรามปิดกั้นเว็บไซต์ที่หลอกลวงการลงทุนในช่องทางต่างๆ ที่ไม่ได้รับการอนุญาติจาก ก.ล.ต. หากพบจะถูกดําเนินคดีปิดกั้น Account หรือเว็บไซต์โดยทันที เพื่อลดผลกระทบความเสียหายของประชาชน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. พร้อมให้ความร่วมมือกับดีอีเอส โดยหลังจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความโฆษณาชวนเชื่อและชักชวนให้ประชาชนลงทุนในลักษณะหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ และสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชน ทาง ก.ล.ต. ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำรายชื่อขึ้นไว้ใน Investor Alert บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการลงทุนหรือทำธุรกรรมการเงิน รวมถึงการเก็บเอกสาร หลักฐานเพื่อนำส่งให้กับดีอีเอสได้ดำเนินการต่อไป

ในกรณีที่ ก.ล.ต. ตรวจพบว่ามีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ และหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่น ก.ล.ต. มีกระบวนการในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่แนะนำการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec. or.th หัวข้อ SEC Check First หากมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัย โปรดแจ้งที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร. 1207 หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.

ประชาชนต้องรับรู้ เคาะ!! ทุก ‘บล.’ ต้องเผย ‘ข้อมูล-งบการเงิน’ ผ่านทุกช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 16 มิ.ย.นี้

📌เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ.9/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการประกาศ รายการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2566

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 สำนักงานออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 4/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์และระยะเวลาในการประกาศรายการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2544 

ข้อ 2 ให้บริษัทหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลโดยวิธีการที่กำหนดดังต่อไปนี้ ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานหรือประชาชนเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยพลัน ณ สำนักงานทุกแห่งของบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้ติดต่อกับประชาชน ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต้องถูกต้องครบถ้วน ชัดเจน เป็นปัจจุบัน และตรงต่อความเป็นจริง

(1) ใบอนุญาต สำเนาใบอนุญาต หรือเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงสถานะการได้รับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของสำนักงาน โดยปิดประกาศหรือแสดงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือช่องทางอื่นใดที่สามารถเชื่อมโยงหรือเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น 

(2) งบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี พร้อมหมายเหตุประกอบงบการเงินของงวดการบัญชีหลังสุด โดยปิดประกาศหรือแสดงข้อมูลบนหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งติดตั้งไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์

ข้อ 3 ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามข้อ 2 ให้บริษัทหลักทรัพย์ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลนั้นให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และตรงต่อความเป็นจริงโดยพลัน

ข้อ 41 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566
นายธวัชชัย พิทยโสภณ
รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 

ส่ง DSI ฟัน ‘วนรัชต์’ พร้อมพวกรวม 10 ราย  เอาผิดทางอาญา-กม.ฟอกเงิน ปมตกแต่งงบ ‘STARK’

ก.ล.ต. ส่ง DSI กล่าวโทษ "ชนินทร์ -วนรัชต์ - ศรัทธา"รวม 10 ราย กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง เอาผิดทางอาญา-กม.ฟอกเงิน

สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  กล่าวโทษบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) กรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 

โดย ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ (6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 

ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ว่า บุคคลข้างต้นได้ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ในบัญชีหรือเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ

อีกทั้ง STARK มีการเปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน โดยเปิดเผยงบการเงินที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบการเงินดังกล่าว รวมทั้งปกปิดข้อความจริงในข้อมูลในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบแสดงรายการข้อมูลสำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ STARK ว่าได้มีการเข้าลงทุนในบริษัท LEONI Kabel GmbH และ LEONIsche Holding Inc แล้ว ทั้งที่ยังเข้าลงทุนในกิจการดังกล่าวไม่เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ ปรากฏว่าหลังจากที่ STARK ได้รับเงินหุ้นกู้และเงินเพิ่มทุน พบการโอนเงินออกจาก STARK และบริษัทย่อยไปยังบริษัทหรือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการตกแต่งงบการเงินด้วย

การกระทำของบุคคลรวม 10 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 312 และมาตรา 281/2 วรรค 2 ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 278 มาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 300 มาตรา 306 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (แล้วแต่กรณี) ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 10 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นอกจากกรณีที่กล่าวโทษในครั้งนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลไปยังกรณีอื่น ๆ ที่มีข้อสงสัยในเรื่องการทุจริต โดยจะประสานความร่วมมือกับ DSI ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีการเปิดเผยให้ทราบต่อไป 

ในการตรวจสอบเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปง. DSI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top