Wednesday, 15 May 2024
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

‘พัชรี อาระยะกุล’ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่!ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน One Home พม.น่าน

"นางพัชรี อาระยะกุล" ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน One Home พม.น่าน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรคการทำงานของหน่วยงาน One Home พม.น่าน ในเรื่องการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ครอบครัวกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนในระดับพื้นที่

พร้อมทั้งให้แนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ตามนโยบายของกระทรวง พม.พร้อมให้ขวัญและกำลังใจบุคลากรกระทรวง พม. ในการทำงานแก้ไขปัญหาสังคม

 

'อนาคตเด็ก อนาคตประเทศไทย' ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดหนักจัดเต็ม 'เปิดงานสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ' เน้นกิจกรรมให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ ระหว่างวันที่ 10 - 14 มกราคม นี้

(10 ม.ค. 66) นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด 'อนาคตเด็ก อนาคตประเทศไทย' โดยกล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ว่า เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญและความต้องการของเด็ก รวมถึงให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม พัฒนาตนเองรอบด้านและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัยให้มีความพร้อมในศตวรรษที่ 21 เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กำหนดจัดงานสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด 'อนาคตเด็ก อนาคตประเทศไทย' ระหว่างวันที่ 10 - 14 มกราคม 2566 โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 

- การเสวนา หัวข้อ 'เด็กไทยยุคใหม่ ตระหนักภัยออนไลน์' โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โครงการฮัก ประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชน

'วราวุธ' หนุนช่วย 'คนพิการ' เข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึง เร่ง ‘แก้กฎหมาย-จ้างงาน-เพิ่มศูนย์บริการ’ ครอบคลุมทั่วประเทศ

(18 ต.ค.66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยม กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ว่า 

ได้ดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการของประเทศ ภายใต้ Campaign 'EQUAL' เพื่อคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมบนพื้นฐานความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้ 'คนพิการ' เข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึง นำไปสู่ 'ความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและครอบคลุม' 

ซึ่งได้มอบนโยบายให้ พก. ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการส่งเสริมให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สิ่งอำนวยความสะดวก สวัสดิการ และความช่วยเหลือต่าง ๆ ตามความต้องการและความจำเป็นที่เหมาะสม เร่งเพิ่มศูนย์บริการคนพิการทั่วไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศในทุกมิติทั้งประเภทความพิการและบริการ และยกระดับองค์กรด้านคนพิการให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน พร้อมทั้งนำฐานข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย มาใช้ประโยชน์ เพื่อยกระดับศักยภาพคนพิการ

สำหรับการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้ พก. ตระหนักถึงศักยภาพของคนพิการและตำแหน่งงานที่เหมาะสม มุ่งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามมาตรา 33 และการส่งเสริมการประกอบอาชีพตาม มาตรา 35 อีกทั้งควรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและให้ครอบคลุมคนพิการอย่างทั่วถึง ด้วยการใช้กลไกของคณะกรรมการด้านกฎหมาย ก่อนที่จะมีการรับฟังความคิดเห็น และควรบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นต่อการทำงานและการใช้งบประมาณกองทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนพิการเป็นสำคัญ

‘พม.’ พร้อมเยียวยาจิตใจ-ให้คำปรึกษา ‘เหยื่อก้าวไกล’ หากร้องขอ ปมถูก สส.คุกคามทางเพศ โดยไม่ตัดสินใครเป็นผู้กระทำผิด

(24 ต.ค. 66) เวลา 08.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเยียวยาจิตใจเหยื่อที่ถูก ส.ส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) คุกคามทางเพศว่า ในแต่ละเคสที่โดนกระทำนั้น หากมีการติดต่อเข้ามาทางกระทรวง พม. เราก็ยินดีเข้าไปให้คำปรึกษาโดยไม่ตัดสินว่า ใครเป็นผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละเคสย่อมมีความกระทบกระเทือนด้านจิตใจ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ที่อยู่ภายใต้กระทรวง พม. จะเข้าไปดูแลสภาพจิตใจของเหยื่อผู้เสียหายในแต่ละเคส 

เมื่อถามว่า จะถูกมองว่าเป็นการเมืองระหว่างพรรค ก.ก. และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ตนไม่คิดเช่นนั้น แต่เมื่อมีการร้องเรียนขึ้นมา ก็เป็นสิทธิของเหยื่อแต่ละคนที่จะดำเนินการ รวมถึงการกระทำเช่นนี้ก็มีขั้นตอนทางกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งเรื่องกฎหมายจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายอาญา หรือกฎหมายด้านอื่นๆ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะรับไปดำเนินการต่อไป 

‘ยูนิเซฟ’ จับมือ ‘พม.’ เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ ‘สงสัยไว้ก่อน’ เตือน ‘เด็ก-เยาวชน’ รู้ทันภัยการล่วงละเมิดทางเพศผ่านออนไลน์

(8 พ.ย.66) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ ‘#สงสัยไว้ก่อน’ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จัก ‘คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน’ ก่อนจะโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวบนพื้นที่ออนไลน์ เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ หลังจากที่รายงานการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เด็กในประเทศไทยจำนวนมากกำลังตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

จะดีกว่าไหม? หากเราตั้งข้อสงสัยในบทสนทนาแปลก ๆ บนโลกออนไลน์ และคงจะดีกว่าถ้าเราสามารถประเมินความเสี่ยงและฉุกคิดทันก่อนที่จะสายเกินไป เพียงแค่เรา #สงสัยไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของผู้ไม่หวังดีที่หวังแสวงประโยชน์ และ #สงสัยให้แจ้ง เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่าง ๆ และขอให้เชื่อมั่นว่า หากเราเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ อย่าเก็บไว้คนเดียว ทุกปัญหามีทางออก มีความช่วยเหลือรอเราอยู่เสมอ

นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงานหยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand Report) ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่า ในปี 2564 มีเด็กไทยอายุ 12 - 17 ปี กว่า 400,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 10 คน เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และรูปแบบการล่วงละเมิดที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ การที่ภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเด็กถูกนำไปเผยแพร่ส่งต่อโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม และมีการแบล็กเมล หรือข่มขู่ให้เด็กมีสัมพันธ์ทางเพศ

นายวราวุธ กล่าวว่า “แคมเปญนี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาการขู่กรรโชกทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กระทรวง พม. มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันเรายังมีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการด้านการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการตอบสนองต่อรายงานการล่วงละเมิดและละเลยเด็ก เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนจะสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ได้อย่างทันท่วงที” นายวราวุธ กล่าว

‘วราวุธ’ เร่งประสาน ‘ตร.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง’ แก้ปมขอทาน ฝากปชช.ช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส ย้ำ!! ถ้าถูกขออย่าให้

(23 พ.ย. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาขอทานชาวต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศไทย ว่า กรณีขอทานที่มาหากินในประเทศไทย ยืนยันว่าขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ไม่สามารถจะมาขอทานได้เพราะเรามีกฎหมายเอาผิด และเมื่อจับตัวได้แล้วหากเป็นคนไทยทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็จะรับช่วงต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวเข้าสู่สถานคุ้มครอง แต่หากเป็นขอทานชาวต่างชาติ กระทรวงพม. จะประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ส่งกลับประเทศต้นทาง  หรือหากพิสูจน์ได้ว่าหากเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการภายหลังการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism - NRM) ในการตรวจสอบและดำเนินการต่อไป 

นายวราวุธ กล่าวว่า การที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐเราก็ต้องขอขอบคุณ การที่ออกสื่อเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ช่วยในการแจ้งเบาะแสได้ ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงพม. ได้ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนคนใดพบเห็นเหตุ ขอให้แจ้งเบาะแสเข้ามาได้ เพราะนอกจากเอกชนแล้วกระทรวงพม. และหน่วยงานของรัฐเราก็มีศูนย์รับแจ้งโดยตรงเช่นกัน อาจจะทำงานไม่ทันใจเราก็ต้องขออภัย เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีอยู่หยิบมือเดียวหากเทียบกับประชาชนทั่วประเทศที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาได้ หากทุกคนช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามาเราต้องขอขอบคุณ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ขอทานต่างชาติเป็นชาวจีนถูกจับถึง 7 คน นั้น มองว่าเป็นขบวนการหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูสาเหตุว่าการที่เขาเดินทางเข้าประเทศ เป็นการเดินทางเข้ามาอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการใดหรือไม่  แต่ทางกระทรวงพม. เราไม่มีอำนาจในการสอบสวนหรือดำเนินการ ดังนั้นต้องรอข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนประเทศไทยเองก็มีขบวนการขอทาน ในเชิงธุรกิจสงเคราะห์เช่นกัน ตรงนี้ทางกระทรวงพม. จะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างไร รมว.พม. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ของกระทรวงพม. เราทำงานร่วมกับอีกหลายภาคส่วน มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำงานควบคู่กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การที่จะบอกว่าเป็นขบวนการหรือไม่นั้น เราก็ต้องทำงานร่วมกับตำรวจในการดูว่า มีการทำงานอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ ขอย้ำว่า ปัญหาเรื่องขอทานไม่ยากเลยหากประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมา ร่วมใจกันอย่าให้เงินแก่ขอทาน เมื่อเขาไม่ได้เงินมันก็ไม่เป็นธุรกิจ ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วการแก้ปัญหาขอทานถ้าว่ายากมันก็ยาก ปราบปรามเก็บกวาดเท่าไหร่ก็เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ การแก้ปัญหาขอทาน คือ ไม่ให้เงินขอทานเท่านั้นก็จบ เพราะเท่าที่มีข้อมูลขอทานบางคนมีเงินมากกว่านักศึกษาจบปริญญาตรีเสียอีก ดังนั้นสำคัญที่สุดคือคนไทยเป็นคนใจบุญแต่เราต้องใจบุญในทางที่ถูกต้องดีกว่า อย่าส่งเสริมในทางที่ผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดมีการสรุปหรือไม่ว่าขอทานชาวจีนที่ถูกจับนั้น ร่วมขบวนการขอทานข้ามชาติหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า การจะได้ข้อมูลดังกล่าวเราต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวง พม. ไม่มีอำนาจไปสอบสวน และที่สำคัญเราต้องใช้ทีมสหวิชาชีพในการเข้าพูดคุย ตรวจสอบกับผู้เสียหายก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำงานเพื่อนำข้อมูลประสานงานกับทางตำรวจ การจะตัดสินได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นขบวนการอย่างไรนั้น มีขั้นตอน และมีองค์ประกอบอยู่ ซึ่งการตรวจสอบในชั้นนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากทราบผลตำรวจคงได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียก่อน 

เมื่อถามว่า ในบ้านเราที่ผ่านมาเคยมีกระบวนการลักษณะนี้หรือไม่ที่จะเข้าข่ายค้ามนุษย์ และนำเข้ามาเพื่อการแสวงหาประโยชน์ นายวราวุธ กล่าวว่า เคยมี ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องเร่งทำงาน เพราะประเทศไทยต้องส่งทริปรีพอร์ตให้กับสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ ดังนั้นเท่ากับว่ายังไม่กระทบกับการทำทริปรีพอร์ตของไทย ยังมีเวลาอีกสักพักหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มีล่ามหรือทนายความคนเดิมๆ เข้ามาช่วยในคดีขอทานจีน จะสามารถมองได้หรือไม่ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ นายวราวุธ กล่าวว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็น แต่การที่จะยืนยันให้ได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่นั้นต้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนยืนยัน คงจะไม่ใช่ทางกระทรวงพม.ที่จะยืนยัน

‘วราวุธ’ สั่ง พม. เข้าดูแลเคสทัวร์กามเด็ก 15 ที่พัทยา  ชี้!! เร่งดำเนินคดีผู้กระทำผิด - เยียวยาผู้เสียหาย

(7 ธ.ค. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสื่อเยอรมันตีข่าวทัวร์กามเด็ก 15 ที่พัทยา ในส่วนของ พม.จะดำเนินการอย่างไรในมุมป้องกันและช่วยปราบปราม ว่า เบื้องต้นเวลามีการดำเนินคดีในลักษณะการค้าประเวณีเด็ก หลักคือ ต้องพึ่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมดำเนินคดี 

ในส่วนของ พม. ไม่ว่าจะเป็นกรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เราจะเข้าไปดูว่าผู้เสียหายได้รับผลกระทบอย่างไร ต้องการการเยียวยาอย่างไร หรือมีปัญหาทางบ้านอย่างไรจึงได้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น รวมถึงการฝึกฝนอาชีพ หรือการนำกลับเข้าสู่ระบบในการเสริมศักยภาพของแต่ละกรณี เป็นสิ่งที่ พม.ดูแล และหากเกิดช่องโหว่ในจุดใด ทาง พม.เองพร้อมที่จะเยียวยาผู้ที่เสียหาย ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย หรือครอบครัวในทุก ๆ มิติ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกนั้น ตนคิดว่าสิ่งที่จะแก้ไขข่าวคราวเช่นนี้ได้คือ ให้มีการดำเนินคดีและมีข่าวออกมาเพื่อเผยแพร่ให้ทราบ เพราะเมื่อมีการกล่าวหาเราก็ต้องทำให้เห็นว่าการดำเนินการของแต่ละฝ่ายในส่วนของรัฐบาลไทยได้ดำเนินการอะไรบ้าง เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ พม.ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนกลาง ไปจนระดับปฏิบัติงานในท้องถิ่น เราดำเนินการเต็มที่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชาวต่างชาติจะให้ความสำคัญการท่องเที่ยวมากกว่าเรื่องแบบนี้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เชื่อว่าในทุกประเทศย่อมจะมีจุดที่เป็นการบริการในเชิงนี้ แต่อะไรที่ผิดกฎหมาย ขอย้ำว่าประเทศไทยและรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนแน่นอน แต่บางครั้งคนชอบนำจุดที่เป็นประเด็นขึ้นมาขยาย คิดว่าประเทศไทยของเรายังมีข้อดีอีกมากมาย สถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่เป็นจุดเชิดหน้าชูตาของประเทศ ส่วนจุดที่ยังเป็นจุดด้อยนั้น เราจะต้องแก้ไขปัญหา คิดว่าทุกหน่วยงานกำลังเร่งแก้ปัญหากันอย่างเต็มที่

'วราวุธ' ชี้!! 'ไทย' ก้าวสู่ภาวะเสี่ยงจากปัญหาโครงสร้างประชากร  'เด็กเกิดใหม่น้อย-วัยแรงงานลด-สูงวัยเพิ่ม' ทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว

(12 ม.ค.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง 'ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย' ที่มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารโลก วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นายวราวุธ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยตื่นตัว ไม่ค่อยตื่นเต้น ไม่ค่อยตระหนักรู้ ว่าปัญหาโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทยนั้นหนักหนาเพียงใด ซึ่งต้องขอขอบคุณปลัด พม. เพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ที่ทำให้รู้สึกว่านี่คือ คลื่นลูกใหญ่ที่มีความหนักหนาไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ

นายวราวุธ กล่าวว่า อีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เพราะจะเชื่อมไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยทั้ง 65 ล้านคนในวันนี้ ไปจนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม จุดยืนของประเทศไทย ศักยภาพทางการค้าของประเทศไทย จะอยู่ที่ตรงไหน 

เหล่านี้คือ ปัญหาที่อีกไม่นานเกินรอพวกเราคนไทยจะได้รับรู้ และเป็นหน้าที่ของกระทรวงพม. และผู้เชี่ยวชาญ ต้องมากระตุกต่อมให้คนไทยได้รับรู้ก่อนว่ามันคือ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ไม่แพ้อีกหลายๆ ปัญหา 

นายวราวุธ กล่าวว่า สถาบันอนาคตไทยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้นมีความท้าทายต่อการพัฒนาและออกแบบนโยบายด้านสังคมเป็นอย่างมาก ประชากรน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น แล้วใครจะมาเป็นคนจ่ายเงินเข้ากระเป๋าสำนักงบประมาณ ตนเคยให้สัมภาษณ์ว่าเงินเข้าไม่มี เพราะจากคนเสียภาษีในประเทศไทย 65 ล้านคน เสียภาษีอยู่ 4.5 ล้านคน แล้วจะเอาเงินจากไหน ดราม่าก็บังเกิด แต่นี่คือเรื่องจริง และเป็นสิ่งที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรจะเป็นตัวกระทบและกำหนดนโยบายทางด้านสังคม สวัสดิการ และเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้

นายวราวุธ กล่าวว่า "วันนี้เรามีอัตราเด็กแรกเกิดที่น้อยลง อีกไม่นานปัญหาเรื่องแรงงานก็จะเข้ามา ในขณะที่ผู้สูงอายุหรือ ผู้มากประสบการณ์ ก็จะมีมากขึ้น คนใช้สวัสดิการมากขึ้นแต่คนเอาเงินเข้ากองทุนน้อย แล้วเราจะเอาคนกลุ่มไหนมาจ่ายเงินให้กับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพราะแหล่งรายได้เดียวของประเทศ คือภาษี ในเมื่อคนทำงานน้อยลงแล้วเราจะเอาใครมาจ่าย วันนี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. 

"ดังนั้นงบประมาณปี 2568 ต้องเป็นกรอบงานของกระทรวง พม. เราจะต้องเปลี่ยนบริบท การทำงานของกระทรวงไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ แต่มีหน้าที่สร้างศักยภาพให้กับคนกลุ่มเปราะบาง คนสูงอายุผู้มากประสบการณ์ คนพิการ"

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า "คนสูงอายุผู้มากประสบการณ์นั้นก็มีแบ่งช่วงได้ 3 ช่วง ต้น กลาง ปลาย แต่ศักยภาพของคนกลุ่มนี้ 60-75 ปี ยังมีทั้งกำลังกายและกำลังสมอง เหลือเพียงอย่างเดียวคือกำลังใจที่จะเข้ามาทำงาน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราในการสร้างความตระหนักให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐ เพราะ พม. เพียงกระทรวงเดียวทำงานไม่ได้ต้องร่วมมือ กับกระทรวงแรงงาน มหาดไทย หน่วยงานราชการต่างๆ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนขอบคุณปลัดพม.ที่ได้เซ็นต์ MOU กับกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ประกอบด้วย 5 มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ ตนจึงอยากให้โครงการนี้สำเร็จให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2567 และในปีงบประมาณ 2568 ตนฝันไว้ว่า พม. กับ อว. เซ็นต์ MOU กับ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แล้วทำให้ผู้พิการปีละกว่าแสนคนได้มีงานทำขึ้นมา นี่คือการทำให้คนกลุ่มเปราะบางเป็นคนไม่เปราะบางอีกต่อไป 

”คนกลุ่มเปราะบาง คนพิการ หรือผู้สูงอายุ ผู้มากประสบการณ์ ไม่ใช่คนด้อยโอกาส แต่เราต้องหาโอกาสให้เขา และนำคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จะบอกว่าอายุมากแล้ว เกษียณแล้ว แล้วยังต้องจับมาทำงานอีกหรือ ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คงใช่ เพราะไม่มีใครทำงานแล้ว แต่ถ้าเทียบกับบางประเทศในยุโรปหลายคนคงทราบว่าเขาเจอปัญหานี้แล้ว รัฐสวัสดิการในบางประเทศที่ดูแลดีมาก คนเจ็นวาย ที่เป็นคนจ่ายเงินภาษีอย่างมหาศาล 30-40% บอกว่าฉนไม่ทำแล้ว ขอรีไทร์ดีกว่าเพื่อไปใช้รัฐสวัสดิการ หากทุกคนรีไทร์ไปหมดแล้วใครจะทำงาน นำเงินมาเข้ากระเป๋าภาครัฐ” นายวราวุธ กล่าว

“ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นต่อม ความตระหนักรับรู้ ให้สังคมได้เข้าใจว่าปัญหาที่เรากำลังจะพบเจอในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่ใช่เพียงปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อย ไม่ใช่เพียงแต่จะทำให้เด็กเกิดใหม่เป็นวาระสำคัญของรัฐบาล แค่นั้นไม่พอ การที่จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความอยากที่จะมีครอบครัว มีความอยากมีลูกมีผู้สืบสกุลต่อไป แต่ต้องพูดถึงสังคมที่มีความอบอุ่น สังคมที่มีความ มีการศึกษาที่ดี เติบโตขึ้นมาแล้วจะเป็นบุคลากร เป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยที่สำคัญ เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ครบ คนรุ่นใหม่ไม่ว่าเจนไหน อยากมีลูกกันทั้งนั้น อยากมีผู้สืบสกุลต่อไป คงไม่มีใครอยากให้ครอบครัวเราจบที่รุ่นเรา เรื่องประชากรอย่าให้จบที่รุ่นเรา อย่าง ศิลปอาชา ของผมตอนนี้มี 3 คนแล้ว ดังนั้นปลอดภัย ศิลปอาชา ยังมีต่อ สำหรับครอบครัวอื่นเราต้องมาสร้างความเข้าใจและให้กำลังใจกัน ปัญหาประชากรจะแก้เมื่อเกิดขึ้นแล้วคงไม่ทัน ต้องแก้ปัญหาก่อนที่จะเกิด ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือเรากำลังจะมาป้องกันไม่ให้ปัญหาโครงสร้างประชากรกลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพของประเทศไทยบนเวทีโลก“ นายวราวุธ กล่าว

‘วราวุธ’ เปิดงานวันเด็ก ปี 67 หนุนลูกหลานใช้ชีวิตในวัยเด็กให้เต็มที่ พร้อมย้ำ!! หน้าที่ผู้ใหญ่คือการสร้างสังคมที่ดีให้กับอนาคตของชาติ

(13 ม.ค.67) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวเปิดงานวันเด็ก ที่จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมีการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ 2567 ภายใต้หัวข้อ ‘ให้ทุกวันเป็นวันของเด็ก’ ว่า…

“ความจริงทุกวันเป็นวันเด็กไม่เฉพาะเพียงวันนี้ และไม่เพียงแค่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ทุกคนทำอะไรเพื่อเด็กๆ ในวันนี้ ผู้ใหญ่ทุกคนได้เปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ แสดงศักยภาพ

และนอกจากเราคิดถึงอนาคตของประเทศไทยแล้ว บทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนคิดถึงตัวเองในสมัยที่เป็นเด็กๆ หลาย 10 ปีก่อนมาจนถึงวันนี้อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เราจะนำมาดูแลลูกหลานอนาคตของประเทศไทยจากนี้ไปอย่างไร เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร”

นายวราวุธ กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยจากนี้ไปมีความท้าทายมาก และเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนที่จะจะต้องเตรียมอนาคตของชาติให้เด็กทุกคน ให้พร้อมสิ่งที่ที่จะเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต ความท้าทายมีมากมาย แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ความสนุกสนานในวัยเด็กของทุกคนนั้น เป็นสิ่งมีค่าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีแสนล้าน สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถทำได้คือดึงเวลากลับไปแล้วเอาเวลาของเด็กๆ กลับคืนมา ดังนั้น วันนี้ขอให้ลูกหลานทุกคนใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างสนุกสนาน ไม่ต้องกังวล ภาระหน้าที่ทั้งหลายผู้ใหญ่อย่างพวกเราจะมีหน้าที่แบกรับเอาไว้เพื่อที่จะสร้างสังคมให้ดีขึ้นให้กับลูกหลานและอนาคตของประเทศไทย

นายวราวุธ กล่าวว่า “คำขวัญวันเด็กปีนี้ “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง และร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” ซึ่งสมัยพ่อบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีคำขวัญวันเด็กเช่นกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลาย 10 ปี ไม่รู้ว่าได้ถูกนำไปใช้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญคืออยากให้เด็กทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองของตัวเอง เพราะคำขวัญที่ดีที่สุดคือคำขวัญที่มาจากพ่อและแม่ แต่ในขณะเดียวกันเด็กบางคนไม่มีความสุขสบาย ดังนั้น คำว่า ‘ครอบครัว’ ในวันนี้ ไม่ได้แปลว่า มีพ่อแม่ลูก เพราะสำหรับบางคนครอบครัวคือการที่มีคนที่รักเราอยู่ การมีเพื่อนเปรียบเสมือนพี่น้องนั่นก็คือครอบครัว อย่าได้คิดน้อยใจว่าพ่อแม่เราคือใคร แต่สถาบันครอบครัวไม่ได้จำเป็นจะต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเสมอไป แต่ประกอบไปด้วยคนที่รักและห่วงใยเรา อยากเห็นเราเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ดีมีคุณค่าต่อสังคม นั่นคือความหมายของคำว่าครอบครัวในมิติของกระทรวงพม.”

นายวราวุธ กล่าวว่า อยากขอเป็นกำลังใจให้กับลูกหลานทุกคน เป็นกำลังใจให้อนาคตของประเทศไทย เพราะจากนี้ไปในเวลาไม่กี่ 10 ปี ประเทศไทยจะเป็นของลูกหลานทุกคน ดังนั้น ในวันเด็กทุกปี เป็นวันที่เราจะมาคำนึงถึงอนาคตของประเทศไทย และเลี้ยงดูพวกเขาเหล่านั้นให้เติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า ต้นไม้ที่สามารถแผ่ขยายกิ่งก้านสาขา และดูแลประเทศไทยต่อจากพวกเรา 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในช่วงเช้า ของานวันเด็กที่กระทรวงพม. เป็นไปด้วยความคึกคัก ทุกหน่วยงานในสังกัด พม. พร้อมด้วยภาคเอกชนได้จัดบูทกิจกรรมการละเล่น พร้อมแจกของรางวัลให้กับเด็กๆ ในสถานรองรับและสถานสงเคราะห์สังกัด พม.

อย่างไรก็ตามที่สะดุดตา คือ มีการแต่งกายเลียนแบบ ‘ไอ้ไข่’ มาร่วมในงาน ซึ่งเรียกความสนใจจากเด็กๆและผู้ปกครองมาขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึก รวมทั้งนายวราวุธเองก็ได้รวมทั้งถ่ายภาพด้วย ขณะที่เด็กๆ ผู้ปกครอง ต่างทยอยกันมาร่วมงานกันอย่างสนุกสนาน

โดยก่อนพิธีอย่างเป็นทางการจะเริ่มในเวลา 08.30 น.ได้มีเยาวชนนักกิจกรรม ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ ประกอบด้วย น.ส.อันนา อันนานนท์ และนายชาญชัย น้อยวงศ์ มาเฝ้ารอพร้อมยื่นหนังสือต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม.เพื่อทวงถามความคืบหน้า กรณีที่เคยยื่นร้องขอเยียวยาในฐานะผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่ พม.คุกคาม เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2565 โดย น.ส.อันนา กล่าวว่า ได้แจ้งเรื่องไปหลายรอบได้ติดตามเรื่องจากกระทรวงมา 2 ปี แล้ว กรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ พม.คุกคาม แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทางด้าน นายวราวุธ ก็ได้รับหนังสือจากนายชาญชัยด้วยตัวเอง และได้กล่าวกับน.ส.อันนา ว่า รับทราบและยินดีรับหนังสือมาพิจารณาให้

‘วราวุธ’ เศร้า!! เด็ก ม.2 ก่อเหตุสลดแทงเพื่อนดับ ยัน!! ขอฟังชัด ผู้ก่อเหตุเป็น ’เด็กพิเศษ’ หรือไม่

(29 ม.ค.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็กนักเรียน ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านพัฒนาการ 26 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง ทำให้มีเด็กเสียชีวิต 1 ราย ว่า เบื้องต้นได้ทราบว่ามีเหตุเกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง เป็นเด็กชั้น ม.2 แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเด็กพิเศษ หรือไม่ ข้อมูลเบื้องต้นทราบเพียงว่า เด็ก ม.2 ต่างห้องเรียนกัน แทงกัน ซึ่งขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเด็กที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะส่งสหวิชาชีพเข้าประสานงานกับทางโรงเรียน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานในพื้นที่ต่อไป

“ผมขอฝากพี่น้องประชาชนที่บริโภคข่าว ในขณะนี้อย่าเพิ่งเร่งตัดสินว่าเด็กที่ก่อเหตุเป็นเด็กพิเศษ ขอให้ฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เพราะขณะนี้เรายังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นอะไร แต่อย่างไรก็ตามผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบเหตุการณ์ครั้งนี้” นายวราวุธ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top