Thursday, 9 May 2024
กรมหมื่นเทพพิพิธ

รู้จัก กรมหมื่นเทพพิพิธ 'แมวเก้าชีวิต' แห่งกรุงศรีอยุธยา อยู่แห่งหนใด นำพาสิ่งไหนก็ไม่ชนะ มีแต่พังพินาศ

กรมหมื่นเทพพิพิธ 'ลูกพระสนม' ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเจ้านายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งหนีราชภัย ออกผนวช ถูกจับ ถูกเนรเทศ เป็นเจ้าผู้ปกครอง เป็นเชลย พระองค์ สู้กับชีวิต สู้กับอุปสรรค จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

กรมหมื่นเทพพิพิธ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิวัติสำเร็จ ก็ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ให้ทรงกรม คือ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็น 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ร่วมกับ เจ้าพี่ เจ้าน้อง อีกหลายพระองค์ โดยเป้าประสงค์ให้สามารถคานอำนาจกับเหล่าบรรดาขุนนางทั้งหลาย แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงคาดไว้...ทำไมล่ะ ? 

ลูกพระสนมพระองค์อื่น ๆ ที่ได้ 'ทรงกรม' และมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีกลุ่ม ที่เรียกกันว่า 'เจ้าสามกรม' คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ซึ่งเจ้าทั้ง ๓ นี้เป็นขั้วตรงข้ามอีก ๓ เจ้าฟ้า 

กลุ่ม ๓ เจ้าฟ้านำโดย 'เจ้าฟ้ากุ้ง' กรมขุนเสนาพิทักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต ซึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ในขั้วนี้ ซึ่งแปลก แต่ก็นับว่าอยู่ถูกขั้ว 

'เจ้าสามกรม' เริ่มต้นความขัดแย้งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยการเดินเกมหนักจัดการ 'เจ้าฟ้ากุ้ง' ด้วยการกราบบังคมทูลฟ้องว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง เสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง" จนเป็นเหตุให้องค์รัชทายาทถูกลงลงพระราชอาญาถึงกับสวรรคต จนว่างวังหน้าอยู่ถึง ๒ ปี 

ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ใช้เวลา ๒ ปีที่ว่างนี้ 'ล็อบบี้' เสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ พร้อมกราบบังคมทูลให้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ขึ้นเป็นวังหน้า โดย 'ข้าม' เจ้าฟ้าเอกทัศไป ด้วยความมั่นใจว่าถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน 'กรมขุนพรพินิต' ต้องได้เป็น 'พ่ออยู่หัว' แน่ๆ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีพระราชดำริเห็นชอบ แม้ว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจะทรงเป็น 'น้อง' ก็ตาม 

เพราะมีบันทึกระบุไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(เจ้าฟ้าเอกทัศ)นั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ....” ตรัสมอบราชสมบัติให้ 'กรมขุนพรพินิต' กรมหมื่นเทพพิพิธจึงกล้าเปิดหน้าเล่น

แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต ความอลหม่านก็เกิดขึ้น

คือทั้ง ๒ ฝ่าย เริ่มต้นจาก 'กลุ่มสามเจ้าฟ้า' กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ก็เชิญเอาพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ และพระแสงง้าวข้างพระที่ ส่งให้ชาวที่เชิญตามเสด็จฯ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย 

ข้างฝ่าย 'เจ้าสามกรม' แสดงการไม่ยอมรับแผ่นดินใหม่ พากันเสด็จฯ เข้าไปในวังบ้าง แล้วเชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฐานที่มั่นของ 'เจ้าสามกรม'

ครั้นเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ต่อพอ่อยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็ปรากฏว่า “เจ้าสามกรม” ไม่เสด็จฯ มา “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” จึงได้คิดแผน อาราธนาพระราชาคณะ ๕ รูป ก็ไปเจรจากับ “เจ้าสามกรม” เพื่อให้ยินยอมที่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์

แต่เมื่อเจ้าสามกรมยินยอมมาเฝ้าเป็นที่ปรึกษาราชการ 'เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี' ในฐานะที่ปรึกษาจึงทำการจับกุมทั้ง 3 พระองค์แล้วนำไปสำเร็จโทษ 

จบตรงนี้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ก็ได้ครองราชย์เป็น 'พระเจ้าอุทุมพร' ซึ่งถ้ามองเกม กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็น่าจะได้อวยยศแน่ๆ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น 

ความซวยครั้งที่ ๑ ของ กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็มาเยือน เพราะผ่านไป ๒ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ก็ 'น้อง' ไม่ต้องการบัลลังก์ จึงขอคืนให้พี่ แล้ว 'พระเจ้าอุทุมพร' ก็เสด็จออกผนวช จนรู้จักกันในพระนามว่า 'ขุนหลวงหาวัด' 

ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็น 'พระเจ้าเอกทัศน์' หรือ 'สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์' ถึงตรงนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธก็กลัวพระราชภัย ก็เลยต้องออกผนวชเช่นกัน

แต่ออกบวชไม่นานก็คิดอ่านจะนำเอาพระราชบัลลังก์คืนแก่พระเจ้าอุทุมพร เพราะบรรดาขุนนางน้อยใหญ่มาฟ้องว่า 'พระเจ้าเอกทัศน์' นั้นน่าจะทำให้กรุงศรีฯ ต้องวิบัติ เนื่องจาก ขุนนางพี่น้อง ๒ กร่าง ผู้ใกล้ชิดพ่ออยู่หัว คือ พระยาราชมนตรีบริรักษ์และหมื่นศรีสรรักษ์ มาป่วนงานราชการ จนเละเทะไปหมด 

กรมหมื่นเทพพิพิธก็เลยนำความกราบบังคมทูลพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร เพื่อขอเชิญพระองค์ชิงบัลลังก์พระเจ้าเอกทัศน์ แต่ พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร อาจจะเกรงว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ จะล้มกระดานหรือทำการยึดครองบัลลังก์กรุงศรีฯ ซะเอง ก็เลยนำไปฟ้องเรื่องนี้กับ 'พระเจ้าเอกทัศน์' 

ความซวยครั้งที่ ๒ ก็บังเกิดจากหวังดีกลับกลายเป็น 'กบฏ' ถูกจับประหารทั้งแก๊ง แต่โชคดีที่ กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเว้นโทษตาย รับแต่โทษเนรเทศไปลังกา ซึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศท่านได้สร้างวัดและฝังรากหยั่งลึกไว้บ้างแล้ว

'พระเจ้ากรุงลังกา พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์' ได้ให้การต้อนรับ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' เป็นอย่างดี เมื่อไปอยู่เกาะลังกาได้ไม่นานนั้น เป็นที่ชื่นชอบของขุนนางและราษฎรมาก เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และที่สำคัญทรงเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิด 

ความซวยครั้งที่ ๓ ของพระองค์ก็มาเยือน เพราะในลังกามีกระแสอยากจะล้มล้าง พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ เนื่องจากทรงเป็นชาวทมิฬ ที่นับถือฮินดูมาก่อน พอมานับถือพุทธก็มีวัตรปฏิบัติที่แปลกประหลาด ซึ่งถ้าล้มล้างได้ก็จะนำบัลลังก์ถวายแก่กรมหมื่นเทพพิพิธ !!! 

แต่การล้มล้างยังไม่ทันเกิด  พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ ทรงทราบข่าว จึงทรงกวาดล้างผู้ไม่หวังดีทั้งหมด ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ต้องหนีตามระเบียบเพราะมีสิทธิ์ตายนอกราชอาณาจักรเป็นแน่ 

พระองค์ทรงลงเรือหนีกลับมาเมืองมะริด แต่ต้องถูกกักตัวไว้เพราะต้องโทษเนรเทศ กรมการเมืองก็แจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จ ฯ กลับเข้ามา ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการสั่งให้รับตัวมากักไว้ที่เมืองตะนาวศรี 

ความซวยครั้งที่ ๔ ของพระองค์ก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อสงครามเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น โดย 'พระเจ้ามังระ' ได้มีพระบัญชาให้ 'มังมหานรธา' ยกทัพบุกเข้าเมืองชายแดนกรุงศรีฯ ตั้งแต่ ทวาย มะริด รวมไปถึงตะนาวศรีที่ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ทรงประทับอยู่  พระองค์ก็เลยต้องหนีเตลิดไปถึงเมืองเพชรบุรี ทางการจึงรายงานขึ้นไปที่กรุงศรีอยุธยา จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่เมืองจันทบุรี ขนาดสงครามมาประชิด พระเจ้าเอกทัศก็ยังทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยให้กรมหมื่นเทพพิพิธกลับกรุงศรี ฯ 

แต่ใช่ว่า 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' จะนิ่งเฉย เพราะมองว่าจะช้า จะเร็วกรุงศรีฯ ก็น่าจะแตก เลยทรงรวบรวมกำลังคนโดยทรงอ้างว่าจะไป 'กู้กรุง' ทำให้มีผู้คนไปร่วมด้วยจำนวนมาก ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนคร ออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิง ซึ่งเป็นพระหน่อ ในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็หนีออกไปหาเจ้า” 

โดยมีผู้คนจากทั้ง ปราจีนฯ, นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี มาร่วมกันเพื่อ 'กู้กรุง' หลายพันคน กรมหมื่นเทพพิพิธ จึงทรงยกกองกำลังไปตั้งไว้ ณ ปากน้ำโยทกา เมืองนครนายก ซึ่งพระองค์ดำเนินการก่อน 'พระเจ้าตาก' ถึง ๖ เดือน 

แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ทำกรรมอะไรไว้ ความซวยครั้งที่ ๕ ก็มาถึง เพราะยังไม่ทันจะไป 'กู้กรุง' พม่าก็ยกทัพมาจัดการจนกระเจิง แต่การนี้บางบันทึกก็บอกว่า กองทัพที่ยกมาปราบกองกำลังกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนี้ ไม่ใช่กองทัพพม่า แต่เป็นกองทัพของพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง เพราะกลัวกรมหมื่นเทพพิพิธจะ 'ปฏิวัติ' ยึดอำนาจก็เลยชิงจัดการซะก่อน...ก็ว่ากันไป 

ไม่ว่าจะเป็นกองทัพของใคร พม่าหรือกรุงศรีฯ ผลที่ได้ก็เหมือนกันคือทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้อง 'หนี' โดยครั้งนี้หนีไป 'เมืองนครราชสีมา'

เมื่อมาถึงเมืองนครราชสี 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ทรงคิดจะชวนเจ้าเมืองนครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพไปรบพม่าอีก แต่พระยานครราชสีมาไม่คิดแบบนั้น ความซวยครั้งที่ ๖ ก็มาเยือนพระองค์ 

เพราะพระยานครราชสีมาคิดจะจับตัว 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ส่งกรุงศรีอยุธยา ตอนแรกพระองค์คิดจะ 'หนี' อีก แต่พระโอรส หม่อมเจ้าประยงค์ ทูลให้ 'สู้' จึงได้ทรงฆ่าเจ้าเมืองนครราชสีมาเหลือแต่หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาที่หนีไปได้ หลังจากนั้นพระองค์จึงได้เข้าไปตั้งกองกำลังอยู่ในเมืองนครราชสีมา

ความซวยครั้งที่ ๗ มาเยือนอย่างรวดเร็ว เพราะ 'หลวงแพ่ง' มา 'เอาคืน' โดยตีเมืองนครราชสีมาคืนได้สำเร็จ แรกทีเดียวหลวงแพ่งจะฆ่ากรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายขอชีวิตไว้ ด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เหลือรอดอยู่ไม่กี่คนในขณะนั้น ก่อนที่ 'พระพิมาย' จะทูลฯ เชิญ กรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเมืองพิมายและยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินต่อไป ซึ่งรู้จักและเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

ส่วน 'พระพิมาย' ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น 'เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แห่งเมืองพิมาย'

หลังจากนั้นไม่นาน 'เจ้าพิมาย' ก็ได้วางแผนจัดการ 'หลวงแพ่ง' ที่ครองเมืองนครราชสีมาที่ไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่ โดยใช้โอกาสที่ 'หลวงแพ่ง' ได้เชิญ 'พระพิมาย' เพื่อนเก่า มางานบุญที่บ้าน 'พระพิมาย' เล่นไม่ซื่อถือโอกาสขณะนั่งดูละครเพลินๆ ฆ่าหลวงแพ่งกลางงานบุญนั่นเอง ก่อนนำกองกำลังเข้ายึดเมืองนครราชสีมา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

จากการณ์นี้ทำให้ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ได้เมืองนครราชสีมาเพิ่มเข้ามาอีก จนมีเขตปกครองจนถึงเวียงจันทน์ ด้านใต้จรดกรุงกัมพูชา มีอํานาจเหนืออาณาเขตเมืองนครราชสีมาทั้งหมด เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'ก๊กเจ้าพิมาย'

แต่เวลานั้นเกิด 'เจ้าแผ่นดิน' ขึ้นหลายกลุ่ม เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาสูญสลายไปแล้ว ทำให้ผู้นำท้องถิ่นตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร นอกจากเจ้าพิมาย ก็มี เจ้าพระพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก)

เจ้าพิมาย 'เป็นเจ้าแผ่นดิน' อยู่ได้ไม่นาน ความซวยครั้งที่ ๘ ก็เข้ามาเยือนเพราะ พระเจ้ากรุงธนบุรีประกาศที่จะรวบรวมหัวเมืองทั้งหลายให้กลับมาเหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงยกทัพมาเยือน 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ'

เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวการศึกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพขึ้นมาตี จึงให้จัดแต่งนายทัพ นายกอง ออกไปรับศึกที่นอกเมืองนครราชสีมาเป็น ๒ ทัพใหญ่ ผลปรากฏว่า กองทัพเจ้าพิมายถูกตีแตกพ่ายไปทั้งหมด จึงถึงคราวต้องทรง 'หนี' อีกครั้ง โดยทรงตั้งใจจะมุ่งหน้าสู่กรุงเวียงจันทน์ แต่ก็ถูกจับได้ระหว่างทาง และนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี

แรกเริ่ม 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' ทรงไม่ปรารถนาจะสำเร็จโทษ แต่ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ไม่ยอมสวามิภักดิ์ 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' จึงตรัสว่า...

"ตัวหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียอีกด้วย เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย"

ความซวยครั้งสุดท้ายนี้จึงเป็นอันปิดบัญชีชีวิตนักการเมือง แมวเก้าชีวิต แห่งกรุงศรีอยุธยาไปแต่เพียงเท่านี้

มรดก 'สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ' ถึง 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' สำเนียงเหน่อเฉพาะตัว ที่ฉีกจากสำเนียงสไตล์อีสาน

ในฐานะลูกหลานคนโคราช ที่มักมีคนถามผมว่าผมพูดโคราชหรือพูดอีสาน ผมบอกว่าผมฟังโคราชได้แปลออก ส่วนอีสานผมพูดได้ ฟังออกแต่สำเนียงค่อนข้างจะทองแดงไม่ใช่อีสานแท้ๆ หลายคนก็งงว่าทำไม? 

หลายคนก็ถามว่าจริงๆ โคราชก็เว้าอีสาน แต่ไม่ใช่ลาวหรือ? เออ !!! งงไปอีก ผมบอกไม่ใช่ เพราะโคราชมีแต่เจ้านายลาวมารบด้วย แต่ไม่เคยตั้งรกราก ก็ไม่น่าจะพูดอีสานเหมือนชาวบ้านเขา เอ้า !!! งงอีกที นี่แหละที่ทำให้ผมต้องหาคำตอบเพื่อให้ความงงของผมลดลงไปบ้าง

 

โดยคำตอบแรกต้องนับเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๐๐ กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐ กว่าจะสำเร็จมั่นคงลงหลักปักฐานต้องมีกำลังคนของอยุธยาจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่แม้จะต่างชาติพันธุ์ เช่น มอญ, เขมร, มลายู 

ซึ่งคนเหล่านี้จำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย (ในตระกูลภาษาไทย-ลาว) ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทยใช้พูดทุกวันนี้ ได้แก่สำเนียงสองฝั่งโขง ซึ่งแพร่กระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนนานแล้ว ที่ปัจจุบันเรียก สำเนียงเหน่อ จนเกิดการผสมผสานเป็นรูปแบบเฉพาะ ตรงนี้ถือว่าว่าเป็นมรดกที่มีมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้สร้างให้เมืองนครราชสีมากลายเป็นเมืองพระยามหานครขอบขัณฑสีมา

ภาษาอีสานสำเนียงโคราช จึงน่าจะมีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนต้นอยุธยาที่พูดสำเนียงเหน่อ 'สุพรรณ' ซึ่งเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา พยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ 

แต่เกิดการ Cross ด้านภาษากับลาวฝั่งไทย ซึ่งเมืองนครรราชสีมามีอาณาเขตครอบคลุมถึงและแลกเปลี่ยน ค้าขายกันอย่างเป็นปกติ ดังนั้นการพูดอีสานของคนโคราชจึงไม่เหมือนสำเนียงของใครในอีสาน “พูดอีสานแต่สำเนียงและคำบางคำไม่เหมือนอีสานที่อื่น” 

ส่วนภาษาโคราชที่เหน่อมากๆ และเป็นภาษาเฉพาะมาจากไหน? ถ้าเราจำเรื่องของ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' หรือ 'เจ้าพิมาย' แมวเก้าชีวิตสมัยอยุธยาได้ เรื่องสำเนียงและภาษาโคราชก็ถือว่าเป็นมรดกจากท่านนี่แหละ  

โดยก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ไม่น้อยกว่า ๓ - ๔ เดือน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งต้องโทษเนรเทศไปอยู่ลังกาได้ระหกระเหินหนีมาจนถึงเมืองจันทบุรี แล้วก็ชักชวนชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพหลายพัน เพื่อหวังจะมารบพม่าเพื่อแก้ไขกรุงศรีอยุธยา แต่แผนแตกเสียก่อน พม่ายกกองทัพมาตีจนแตกพ่าย ต้องหนีไปเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นพระยามหานครขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงศรีอยุธยา 

กรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อมาถึงเมืองนครราชสีมาก็ประสบชะตากรรมเกือบถูกฆ่า แต่ก็รอดและได้รับสถาปนาเป็นเจ้าครองอาณาเขต เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีฯ ซึ่งเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

นอกจากกำลังพลจากหัวเมืองชายทะเลตะวันออกแล้วนั้น ยังมี 'ข้าเก่า' ของ 'เจ้าพิมาย' จากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่าขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมอยู่ด้วยอีกมาก ชาวอยุธยาก็ได้เคลื่อนย้ายมาเป็นเจ้านายขุนนาง, ข้าราชการ, พลไพร่ และผสมผสานกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนกรุงแตกมานานอยู่พอสมควรแล้ว 

สำเนียงภาษาโคราชก็เป็นการผสมระหว่างการพูดเหน่อของสำเนียงหลวงอยุธยาตามข้างต้นผสมกับสำเนียงของชาวหัวเมืองทะเลตะวันออกของชาวระยองและชาวจันทบุรี ที่ได้มาเป็นกองกำลังให้กับ 'เจ้าพิมาย' ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย 

เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาปราบ 'ก๊กเจ้าพิมาย' แล้ว ก็ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนชาวหัวเมืองตะวันออกเหล่านี้ลงมากรุงธนบุรี อีกทั้งคนพวกนี้ก็ได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองนครราชสีมาแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็น 'คนโคราช' แล้วก็เกิดประเพณีใหม่กลายเป็น 'วัฒนธรรมโคราช' ที่โคตรเฉพาะตัวอย่างเช่น สําเนียงโคราช ที่กระเดียดไปทางสําเนียงชายทะเลตะวันออกแถบระยองและจันทบุรี ผสมสำเนียงเขมร แม้ผู้คนแถวปราจีนบุรีและนครนายกเมื่อสัก ๕๐ ปีมาแล้วก็พูดสําเนียงเก่าแบบ 'ยานคาง' ไม่ต่างจากสําเนียงโคราชนัก

ปัจจุบันภาษาและสำเนียงโคราชที่เป็นเฉพาะก็มีอยู่หลายอำเภอแต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะหลายอำเภอก็พูดอีสานแต่ทว่า 'ภาษาและสำเนียงโคราชมีความคล้ายความเหน่อของคนภาคตะวันออกแต่ภาษาแตกต่างออกไป'

ตัวอย่างที่ชัดก็คือ 'เพลงโคราช' ก็มีฉันทลักษณ์และลีลาเดียวกับเพลงพาดควาย, เพลงฉ่อย (ไม่ใช่ลําตัดที่เพิ่งเกิดสมัยรัชกาลที่ ๕) ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง แต่ต่างตรงอัตลักษณ์ด้านภาษาและสำเนียงที่แปร่งไป

นอกจากนี้ 'คนโคราช' ยังมีประเพณีอื่นๆ ที่เหมือนกับคนลุ่มเจ้าพระยาอยุธยาภาคกลาง เช่น กินข้าวจา, เคียวหมาก, ตัดผมเกรียน, นุ่งโจงกระเบน แม้กระทั่งศิลปวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม ที่ไม่เหมือนกับคนอีสานอื่นๆ เอาซะเลย 

นี่แหละถึงบอกว่าคนโคราชไม่ใช่ลาว และคนโคราชพูดบางอำเภอพูดโคราช บางอำเภอพูดอีสานแต่ก็เป็นอีสานที่เหน่อเป็นเฉพาะตนที่เรียกกันว่า 'เหน่อแบบโคราช' และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างเฉพาะตน 

‘คนโคราช’ ไม่ใช่ ‘ลาว’ สำเนียงโคราช ‘เหน่อ’ เฉพาะตัว | THE STATES TIMES Story EP.141

มรดกตกทอดจาก ‘สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ’ มาจนถึง ‘กรมหมื่นเทพพิพิธ’ ทำให้รู้ว่าคนโคราช ไม่ใช่ ‘ลาว’ และสำเนียงโคราชมีความเหน่อเฉพาะตัว   

ปัจจุบันภาษาและสำเนียงโคราชที่เป็นเฉพาะก็มีอยู่หลายอำเภอ แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะหลายอำเภอก็พูดอีสาน แต่ทว่า ‘ภาษา’ และ ‘สำเนียงโคราช’ มีความคล้ายความเหน่อของคนภาคตะวันออก แต่ภาษาแตกต่างออกไป

ส่วนจะมาที่มาที่ไปอย่างไร ติดตามได้ใน THE STATES TIMES Story เรื่องจริง ฟังเพลิน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top