Tuesday, 21 May 2024
กรมสมเด็จพระเทพ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทาน ส.ค.ส.ภาพฝีพระหัตถ์ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๖๕ ‘ปีเสือต้องขวนขวายและอดทน’

ส.ค.ส.พระราชทานของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๖๕ “ปีเสือต้องขวนขวายและอดทน”

ปีขาลเสือ พ.ศ. ๒๕๖๕ วนมาถึงแล้ว ในปีนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ รูปเสือสีเหลืองมีลายพาดกลอนสีน้ำตาล นอนฝันหวานว่า คงจะได้รับประทานไอศกรีมของโปรดในไม่ช้า จึงนอนรออย่างมีความหวัง และอดทนยิ่ง ทางร้านภูฟ้านำภาพฝีพระหัตถ์ “ปีขาลเสือ” มาปักบนกระเป๋าเสื้อโปโล ๖ สี ซึ่งจะจัดจำหน่ายเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้

นอกจากพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์แล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพร ส.ค.ส. ๒๕๖๕ สวัสดีปีขาลเสือ “ปีเสือต้องขวนขวายและอดทน” แก่ปวงชนชาวไทยให้มีความสุขใน ปี พ.ศ.๒๕๖๕ ดังนี้

จากกลอนพรปีใหม่พระราชทาน “สวัสดีปีขาลเสือ” ในปี ๒๕๖๕ ที่จะถึงนี้ พระองค์ทรงปลอบประโลมและเตือนสติปวงชนชาวไทยให้ได้ผ่านพ้นโรคระบาดโควิด-19 ด้วยความ “ขวนขวายและอดทน” อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายและท้อแท้เสียก่อน ถ้าทุกคนอดทนก็จะทำให้สุขกายสบายใจ และพร้อมที่จะดูแล ป้องกันตัวเองให้พยายามใส่หน้ากากป้องกันตลอดเวลา และขอให้มีน้ำใจดี โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยแล้ว จะได้มีความสุขในปี ขาลเสือ พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้โดยทั่วหน้า

สำหรับชื่อของเสื้อโปโล “ปีขาล” สีต่าง ๆ ที่จะออกจำหน่ายเพื่อเป็นของขวัญ ปีใหม่เร็ว ๆ นี้นั้น ทางร้านภูฟ้าได้ นำคำบางคำ จากพรพระราชทานข้างต้นทั้งหมด ๖ คำ มาใช้เป็นชื่อของสีเสื้อเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ แล้วยังเป็นเครื่องเตือนสติให้ปวงชนชาวไทย มีความอดทน ขวนขวายที่จะดูแลป้องกันตัวเอง ช่วยดูแลผู้คนรอบข้างให้ผ่านพ้นโรคภัยไข้เจ็บในครั้งนี้กันไปได้ โดยไม่เบื่อท้อ แท้เสียก่อน ขอให้คนไทยทุกคนมีความฝัน และมีความหวังที่จะพบความสุขในอนาคต เช่นเดียวกับเสือจากภาพฝีพระหัตถ์ “ปีขาลเสือ” ที่เจ้าเสือลายพาดกลอนนอนรออย่างอดทนว่า สักวันหนึ่งจะได้รับประทานไอศกรีมของโปรดอย่างมีความสุขแน่นอน

‘เหมียนหยางเซียนเฟิงลู่ สิรินธร’ โรงเรียนในจีน สร้างจากทรัพย์ส่วนพระองค์ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’

ในโอกาสวันตรุษจีน ดร.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ราชบัณฑิตวิชาสถาปัตยศิลป์ ได้โพสต์ภาพโรงเรียนเหมียนหยางเซียนเฟิงลู่ สิรินธร ที่สะท้อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุข้อความ ว่า โรงเรียนหนึ่งเดียวในจีน นำพระนาม "กรมสมเด็จพระเทพฯ" ไปตั้งเป็นชื่อโรงเรียน

ที่เมืองจีนมีโรงเรียนที่นำพระนามของพระองค์ท่านมาตั้งชื่อโรงเรียน ("เหมียนหยางเซียนเฟิงลู่ สิรินธร") เพราะสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนโรงเรียนพังพินาศ เด็กๆ ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ พระองค์จึงมอบพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ จนเด็กๆ ได้กลับมาเรียนหนังสือกันอีกครั้ง 

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ต้นแบบของผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ทรงศึกษาบาลี-สันสกฤต เพราะอยากเข้าใจบทสวดมนต์

เพจ ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา ได้โพสต์ข้อความถึงใฝ่เรียน ใฝ่ศึกษาของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  ว่า 

สาเหตุที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  มีความสนพระทัยในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต เนื่องมาจากไม่สามารถเข้าพระทัยบทสวดมนต์ที่เป็นภาษาบาลีที่ทรงได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำ ทำให้มีพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาภาษาไทยและวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นวิชาโท ทรงศึกษาไวยากรณ์พื้นฐานจนถึงขั้นสูง 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรสายการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า-แบตฯ EA

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรสายการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม ณ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสแซมบลี จำกัด และ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

(9 ก.ค.65) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสายการผลิตรถโดยสารไฟฟ้า ณ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสแซมบลี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) เป็นบริษัทพลังงานของคนไทย ที่เริ่มต้นจากธุรกิจไบโอดีเซล และขยายสุ่ธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของพลังงานสะอาดที่มีประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ ลดการนําเข้า เชื้อเพลิง และด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดปัญหามลพิษ และลดภาวะโลกร้อน ให้ความสําคัญต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านในเทคโนโลยียานยนต์แบบเดิมที่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มเสถียรภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพในระบบผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าของประเทศ ผลักดันให้เกิดผลสําเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็น New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ ของประเทศ 

ในการนี้ ทรงทอดพระเนตรวีดิทัศน์กระบวนการเชื่อมรถการชุบสีรถโดยสารไฟฟ้า และสายการประกอบรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่ง บริษัท แอ๊บโซลูท แอสแซมบลี จำกัด ได้สร้างโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายในประเทศ ได้แก่ รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 'MINE Bus' เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า 'MINE Smart Ferry' ที่เปิดให้บริการแล้วในแม่น้ำเจ้าพระยา และรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนสถานีชาร์จ อัดประจุไฟฟ้าที่มีชื่อว่า 'EA Anywhere' เพื่อยกระดับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ช่วยลดมลภาวะอย่างยั่งยืน

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยัง บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งบริษัทในกลุ่มย่อยของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เข้าเฝ้าทูลรายงาน ซึ่งบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 

ในการนี้ ทอดพระเนตรอาคารผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า / นิทรรศการ Blue Mind City / ตัวอย่างวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน / ตัวอย่างชิ้นงานที่ถูกตัดด้วยกระบวนการ High Speed Die Cutting / กระบวนการอบสุญญากาศชิ้นงานให้แห้งสนิทเพื่อใช้ประกอบเป็นเซลล์แบตเตอรี่ จากนั้นฉลองพระองค์ชุดกาวน์ ทอดพระเนตรเครื่องจักรและกระบวนการกำจัดแก๊สออกจากเซลล์แบตเตอรี่ / ตัวอย่าง Cell Module ซึ่งเป็นการนำเซลล์แบตเตอรี่ที่ได้พ่วงต่อกันเพื่อให้ได้พลังงานที่สูงขึ้น เหมาะสมต่อการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้า

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2564

เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.65) - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ประจำปี 2564 จำนวน 30 คน โดยแบ่งเป็นระดับปริญญาเอก จำนวน 26 ราย และระดับปริญญาโท จำนวน 4 ราย และพระราชทานทุนการศึกษา ‘ศรีเมธี’ ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมจากสถาบันฯ จำนวน 4 ราย รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 5 โดยนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมกับคณะผู้บริหารและพนักงาน กลุ่ม ปตท. เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรผลงานทางวิชาการและงานวิจัยของสถาบันวิทยสิริเมธี ที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ งานวิจัยทางด้านระบบปัญญาและหุ่นยนต์ (Al and Robotic) งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน การพัฒนาแบตเตอรี่และวัสดุคุณภาพสูง (Energy Materials & Environment) และงานวิจัยพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ อนึ่ง สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมกันสร้างนักวิจัย พัฒนางานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสร้างคุณค่าให้แก่สังคม อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของสถาบันฯ 

ต่อมาทรงเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สถาบันวิทยสิริเมธี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฏิบัติการ ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) พื้นที่ประมาณ 88 ไร่

เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพ เป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ โดยเครื่องกำเนิดแสงที่จะจัดสร้างนี้ มีค่าระดับพลังงาน 3 GeV และใช้เทคโนโลยี Double Triple Bend Achromat (DTBA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้แสงซินโครตรอนมีความสว่างจ้ามากกว่าเดิม 1 ล้านเท่า และรองรับระบบลำเลียงแสงได้สูงถึง 22 ระบบ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยได้หลากหลาย

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการวิศวกรรม (Fabrication Center) ซึ่งเป็นห้องทดลองสำหรับนักเรียนในการสืบค้นข้อมูลและพัฒนาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ตามแนวคิดของตนเอง พร้อมทรงติดตามความก้าวหน้าและความยั่นยืนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยมี 

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญโชติ เผ่าสวัสดิ์ยรรยง ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กราบบังคมทูลรายงาน ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินไปยัง ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา’ ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญในการพัฒนาภาพลักษณ์ของเกษตรกรไทยยุคใหม่ ให้เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจและยั่งยืน โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และ นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที ดิจิทัล โซลูชั่น จำกัด ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือและแพลตฟอร์ม ‘สวนสมรม’ ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการเกษตร

ต่อมาทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนลานใจบ้าน สถาบันวิทยสิริเมธี โดยมีนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ และนำเสนอนิทรรศการโครงการด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ผลงานของ ปตท.สผ. ร่วมกับพันธมิตร ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 ของ ปตท.สผ.

'กรมสมเด็จพระเทพฯ' ทรงถือไฟฉายขณะพระราชทานโอวาทบัณฑิตจุฬาฯ แก้ไขเหตุเฉพาะหน้า สร้างความตื้นตันใจข้าเฝ้าเหล่าทูลละออง

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปยังหอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2565

ทว่าได้เกิดไฟฟ้าดับระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ

อย่างไรก็ตามพระองค์ฯ ทรงแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ง่ายดาย โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 'Tongthong Chandransu' เกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุว่า...

"เมื่อกระแสไฟฟ้าเกิดขัดข้อง
จึงต้องทรงแก้ไขเฉพาะหน้า
เดชะพระเชาวน์ปัญญา
และพระมหากรุณาเป็นเทียนทอง
ทรงไฟฉายไว้ในพระหัตถ์มั่น
พระราโชวาทประสาทสรรมิบกพร่อง
ตื้นตันใจข้าเฝ้าเหล่าทูลละออง
เสมือนต้องมนตราสวามิภักดิ์
เพราะทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง
หน้าที่ไม่ทรงวางแม้เหนื่อยหนัก
เรื่องจริงของแท้แน่ใจนัก
กราบพระบาทพึ่งพำนักเป็นหลักเอย"

ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Jessada Denduangboripant' ระบุว่า...

เป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจมากแต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยครับ เกิดไฟฟ้าดับระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ เมื่อวันพฤหัสครับ

ผมก็ไปรับเสด็จอยู่ในห้องรับรองของหอประชุมจุฬาฯ ด้วย ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยจุฬาฯ พอหอประชุมไฟฟ้าดับไฟตกขึ้นมา เราก็ตกใจกันมากเลย ว่าพิธีจะเป็นปัญหายังไงบ้าง

ยังดีว่าไฟฟ้ากลับมาปรกติในเวลาไม่นาน พอเสร็จในส่วนของการพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ท่านก็ทรงออกมาเล่าให้ฟังว่าทรงต้องแก้สถานการณ์อย่างไรบ้าง เพื่อให้พิธีดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด .. เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงครับ

ป.ล. มีข้อมูลเพิ่ม (จากคอมเมนต์ด้านล่าง) ดังนี้ครับ "เหตุสุดวิสัยครับ มีนกบินชนตู้ไฟฟ้า แล้วมันมีห้วงที่รอไฟสำรองเซ็ทระบบ ประมาณ 1-2 นาทีครับ แต่บังเอิญมันเกิดช่วงที่พระราชทานพระโอวาทพอดี"

‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรสถาบันวิทยสิริเมธี พร้อมติดตามการพัฒนาธุรกิจ ‘กลุ่ม ปตท.’ ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

(7 พ.ย.66) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 35 ราย พร้อมพระราชทาน ‘ทุนพระราชทานศรีเมธี’ แก่นิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม จำนวน 4 ราย และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมีนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมคณะผู้บริหารจากกลุ่ม ปตท. ร่วมกับผู้บริหารสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เฝ้าฯ รับเสด็จฯ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี ประกอบไปด้วย ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า และ 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สำนักวิชาวิทยาการชีวโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูงด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม และส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และส่งเสริมความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนรุ่นที่ 6 สำเร็จการศึกษา จำนวน 69 คน แบ่งเป็นนักเรียนที่ได้ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) จำนวน 48 คน ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและอื่น ๆ จำนวน 21 คน โดยได้รับทุนศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ และได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธีเพื่อศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรีภายในประเทศด้วยเช่นกัน

ในวันเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี จัดตั้งจากการสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ติดตามความก้าวหน้าด้านงานวิจัยและพัฒนา พร้อมทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการและนิทรรศการผลงาน เช่น ห้องปฏิบัติการวิจัย Wangchan Advanced Industrial Labs โครงการกลุ่มวิจัย Interfaces Lab โครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โครงการกลุ่มวิจัย Brain Lab เป็นต้น 

ต่อมาทรงทอดพระเนตรผลงาน โรงเรือนสาธิตเทคโนโลยีชีวภาพ ที่นำเสนอภาพรวมโครงการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อ Net Zero เกษตรยั่งยืน และอาหารปลอดภัยรวมถึงโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอุตสาหกรรมชีวภาพและชุมชนที่ยั่งยืน จ.น่าน ที่นำโครงการต้นแบบไปพัฒนาสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านนวัตกรรมของวังจันทร์วัลเลย์และกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. ณ ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจใหม่ ปตท. โดยขับเคลื่อนจากการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใน 4 ด้าน ได้แก่…

1.ด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050)
2.ด้านนวัตกรรมเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่โลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร มุ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าในระดับสากล 
3.ด้านนวัตกรรมเพื่อโลกยุคใหม่ (AI and Robotics) มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขยายขีดความสามารถสู่สากล 
4.ด้านนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม (Life Science) สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ผ่านการดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจยา กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ และ กลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ 

อนึ่ง โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ โครงการวังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานกลอนปีใหม่รับปีงูใหญ่ 2567 ขอความสมบูรณ์พูนสุขเกิดแก่ประชาชาวไทยทุกผู้ทุกนาม

เมื่อไม่นานมานี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพรปีใหม่ 2567 แด่พสกนิกรชาวไทยทุกคนเพื่อเป็นสิริมงคลของชีวิตใหม่ในปี ‘มะโรงงูใหญ่’ 2567 ความว่า

สวัสดีปีใหม่ 2567 ปีมะโรงงูใหญ่

“ปีมะโรงไทยว่าเป็นงูใหญ่ ฉันสงสัยว่าเป็นงูเหลือม งูหลาม
อาจจะเป็นพญานาคน่าครั่นคร้าม เป็นเรื่องตามเทพนิยายที่อ่านมา
คนจีนว่ามะโรงนี้ปีมังกร มีฤทธิอาจบินจรขึ้นเวหา
ขออำนาจนาคมังกรช่วยพารา ให้ฝนฟ้าสมบูรณ์พูนสุขเอย”

จากกลอนพระราชทาน ปีมะโรงงูใหญ่ จะเห็นตามคติความเชื่อของคนไทยคนจีน คำว่า งูใหญ่ อาจหมายรวมถึง พญานาค และ มังกร ที่มีอิทธิฤทธิ์ มีอำนาจ และสามารถดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลยังความสมบูรณ์พูนสุขให้เกิดแก่ประชาชาวไทยทุกผู้ทุกนาม จนมีแต่ความสุข สนุกสนานตลอดปีมะโรงงูใหญ่ พุทธศักราช 2567

นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานให้ร้านภูฟ้า อัญเชิญภาพวาดฝีพระหัตถ์ ‘มังกรบิน’ จัดทำผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นของขวัญของฝาก ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 อาทิ กระเป๋า เสื้อผ้า กระบอกน้ำ

‘หวังอี้’ เข้าเฝ้าฯ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ระหว่างเยือนไทย ย้ำชัด!! พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพไทย-จีน

(29 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 ม.ค.) หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน และกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ กรุงเทพมหานคร

หวัง กล่าวว่า เขาได้พบปะกับปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันอาทิตย์ (28 ม.ค.) เพื่อการประชุมหารือประจำปี ซึ่งทั้งสองฝ่ายบรรลุฉันทามติสำคัญว่าด้วยการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หวังกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายลงนามข้อตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราหรือวีซ่าซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเกื้อหนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน พร้อมเสริมว่าจีนและไทยมีความใกล้ชิดสนิทสนมดังครอบครัวเดียวกัน และการแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ทั้งสองประเทศผูกพันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หวังแสดงความหวังว่าราชวงศ์ไทย ซึ่งให้ความสำคัญยิ่งยวดกับสัมพันธไมตรีระหว่างจีนและไทยเสมอมา จะยังคงมีส่วนส่งเสริมการพัฒนามิตรภาพจีน-ไทยภายใต้สถานการณ์ใหม่

หวัง กล่าวว่า กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นสหายที่ดีและเพื่อนเก่าของประชาชนชาวจีน โดยพระองค์ทรงเคยได้รับเหรียญมิตรภาพและเสด็จฯ เยือนจีนมากกว่า 50 ครั้ง ซึ่งส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนสองประเทศ และพระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพจีน-ไทย

หวังกล่าวว่าทั้งสองประเทศจะเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า โดยจีนพร้อมรักษาการแลกเปลี่ยนระดับสูงกับฝ่ายไทย ดำเนินการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และยกระดับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างสองประเทศสู่ระดับใหม่

ด้านกรมสมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่าพระองค์ทำนุบำรุงสัมพันธไมตรีกับจีน และมักให้นักเรียนนักศึกษาของพระองค์ได้ชมเหรียญมิตรภาพดังกล่าว โดยพระองค์หวังว่าการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างสองประเทศจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในด้านการศึกษา การแพทย์แผนโบราณ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบินและอวกาศ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ตรัสว่าพระองค์คาดหวังจะได้เยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ ในจีนเพิ่มเติมในอนาคต

‘นักเรียนนายร้อย จปร.’ นับพันคน ตบเท้าแสดงจุดยืน จัดกิจกรรมถวายกำลังใจ ‘ทูลกระหม่อมอาจารย์’ วันนี้

เมื่อวานนี้ (11 ก.พ. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมโฆษกกองทัพบก แจ้งกำหนดการทำข่าวสื่อมวลชนในกรุ๊ปไลน์นักข่าวว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าว กิจกรรม ‘ถวายกำลังใจ ทูลกระหม่อมอาจารย์’ พลเอกหญิงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยมีกำลังพลของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนปิยชาติพัฒนา ร่วมทำกิจกรรม ในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15.30 น. ณ หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อ.เมือง จ.นครนายก”

แหล่งข่าว โรงเรียนจปร. ระบุว่า สำหรับการจัดกิจกรรมในวันที่ 12 ก.พ.ของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อเป็นการให้กำลังใจต่อหน้า พระบรมฉายาลักษณ์ทูลกระหม่อมอาจารย์ พลเอกหญิงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ภายในห้องประชุม โดยจะมีข้าราชการ นักเรียนจปร. 1,600 นาย รวมถึงมวลชนในพื้นที่

“ยอมรับว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีสาเหตุมาจากกรณีขบวนของทูลกระหม่อมอาจารย์ พลเอกหญิงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ถูกนักกิจกรรมบีบแตรและพยายามชับรถแทรกขบวนในระหว่างเสด็จฯ พระราชดำเนินพระราชกรณียกิจในช่วงที่ผ่านมา” แหล่งข่าวโรงเรียนจปร. ระบุ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top