Wednesday, 15 May 2024
Xinhua

‘ต้าเหลียน’ เปิดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าสู่ ‘ยุโรป’ สายใหม่ เชื่อมโยงการค้าตามแนวเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

(9 พ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ต้าเหลียน รายงานว่า การเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเส้นทางตรง ซึ่งเชื่อมเมืองท่าต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เข้ากับพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้เริ่มต้นการดำเนินงานครั้งแรก หลังจากเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์เอ็มเอสซี เคธี (MSC Katie) แล่นออกจากสถานีตู้คอนเทนเนอร์ต้าเหลียน เมื่อวันจันทร์ (8 พ.ค.) ที่ผ่านมา

เส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าเปิดใหม่นี้ ใช้เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ 11 ลำ แต่ละลำสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน 14,000 ตู้ ซึ่งเชื่อมโยงต้าเหลียนกับท่าเรือสำคัญหลายแห่งในกลุ่มประเทศยุโรป อย่างประเทศอิตาลีและสเปน ตามแนวเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 รวมถึงแล่นผ่านกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ประเทศอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย

‘หลีเสี่ยวกวง’ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ต้าเหลียน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือบริษัท เหลียวหนิง พอร์ต กรุ๊ป จำกัด เผยว่าการเปิดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้านี้ เป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างต้าเหลียนกับกลุ่มประเทศยุโรปอย่างมาก และจะส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขัน เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า, ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, เคมีภัณฑ์, แร่ธาตุ, เครื่องมือ รวมถึงธัญพืชและอาหารแช่แข็ง

ทั้งนี้ หลีเสริมว่า ปัจจุบันท่าเรือต้าเหลียนดำเนินงานขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้า 105 เส้นทาง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ 92 เส้นทาง ครอบคลุมท่าเรือมากกว่า 300 แห่งในกว่า 160 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก


ที่มา : https://www.xinhuathai.com/china/356664_20230509

‘กูรู EV จีน’ ชี้ ‘การปฏิวัติรถยนต์’ เข้าสู่ระยะใหม่ ใช้ชิปเป็นเทคโนโลยีหลัก ขับเคลื่อนการเดินทางอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮ่องกง รายงานว่า ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะโลกกำลังผลักดันเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย ‘เฉิน ชิงเฉวียน’ (C.C.Chan) นักวิทยาศาสตร์ด้านวิศวกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าของฮ่องกง เชื่อว่าการปฏิวัติรถยนต์ถึงเวลาเข้าสู่ระยะใหม่แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ เฉินให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปฏิวัติระยะแรก คือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้า และขณะนี้ถึงเวลาเข้าสู่การปฏิวัติช่วงครึ่งหลัง โดยอาศัยชิปรถยนต์และระบบปฏิบัติการเป็นเทคโนโลยีหลัก โดยอนาคตรถยนต์จะเปลี่ยนจากวิธีขนส่งแบบดั้งเดิม เป็นพื้นที่เดินทางเคลื่อนที่อัจฉริยะ นำสู่การบูรณาการเครือข่ายการขนส่ง พลังงาน ข้อมูล และวัฒนธรรม

เฉินเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ มหาวิทยาลัยฮ่องกง รวมถึงเป็นประธานผู้ก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าโลก (WEVA) โดยเขาได้รับเลือกเป็นนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน เมื่อปี 1997 ซึ่งนับเป็นนักวิชาการจากฮ่องกงคนแรก

เฉินเริ่มมุ่งเน้นการวิจัยเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่กว่า 40 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้ โดยเขาได้รับรางวัลทัชชิง ไชน่า อะวอร์ด (Touching China Award) ปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปี เพื่อยกย่องบุคคลต้นแบบที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อยกย่องคุณูปการอันโดดเด่นที่มีต่อเครื่องยนต์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า

เฉินระบุว่า การวิจัยด้านวิศวกรรมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ พร้อมเน้นย้ำ ความสำคัญของการแปรเปลี่ยนผลการวิจัยและพัฒนา (R&D) สู่ผลิตภัณฑ์ในแวดวงวิศวกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเกี่ยวพันกับการเดินทางในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเฉินมองว่า เหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงความต้องการและการยอมรับของตลาดด้วย โดยมีเพียงวิธีนี้ที่สามารถผลักดันการวิจัยและพัฒนาไปข้างหน้าได้

เฉินออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก รุ่น ‘ยู 2001’ (U2001) ในปี 1993 โดย ‘ยู’ หมายถึง ‘สามัคคี’ และ ‘2001’ หมายถึง ‘การมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21’ ซึ่งรถยนต์รุ่นนี้ใช้พลังงานแบบบูรณาการ แบตเตอรี่พลังงานสูง และระบบช่วยเหลือการขับเคลื่อนอัจฉริยะ มีอัตราเร่ง 6.3 วินาทีต่อ 100 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง และระยะขับขี่ 180 กิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่ำชองอย่างเฉินมีความหมั่นเพียรอย่างมาก และเป็นเลิศในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมีความปรารถนาจะรับใช้มาตุภูมิด้วยความสามารถตั้งแต่อายุยังน้อย

“ถ้าคุณตามหลัง คุณก็จะถูกแซงหน้า” เฉินกล่าว “ผมรู้สึกว่าโชคชะตาของคนๆ หนึ่งนั้น สัมพันธ์กับประเทศอย่างใกล้ชิด”

เฉินเกิดในครอบครัวผู้ประกอบการเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียเมื่อปี 1937 และเดินทางสู่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 1953 เพื่อศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าขณะมีอายุ 16 ปี ต่อมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในปี 1982 และมีส่วนร่วมในการสอนและวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้านับตั้งแต่นั้น

เฉินบูรณาการยานยนต์ มอเตอร์ การควบคุม และเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ากับการศึกษาแบบสหวิทยาการใหม่อย่างสร้างสรรค์ พร้อมวางรากฐานสำหรับทฤษฎียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ รวมถึงมีส่วนส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีหลักอื่นๆ อย่างโดดเด่น จนขึ้นแท่นเป็นผู้ชี้นำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของจีน

เฉิน ในวัย 86 ปี ยังคงมีไหวพริบว่องไวและความจำดีเยี่ยม ทั้งยังเข้าใจแนวทางการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน

“ผมสรุปประเด็น 3 ข้อที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้แก่ ความต้องการเร่งด่วนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ การดูแลนักวิทยาศาสตร์และความคาดหวังต่อนักวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดจนโอกาสการมีส่วนร่วมในระดับประเทศและโลกของนักวิทยาศาสตร์” เฉิน อธิบาย

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) ของจีน สนับสนุนการพัฒนาของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับนานาชาติอย่างชัดเจน โดยมีการออกสารพัดนโยบาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฮ่องกงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เฉินแนะนำว่า ฮ่องกงมีความแข็งแกร่งด้านการวิจัยพื้นฐาน แต่ค่อนข้างมีจุดอ่อนด้านการประยุกต์ใช้ โดยฮ่องกงสามารถทำงานร่วมกับเมืองอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า และสร้างสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเมืองเหล่านั้น

เฉินชี้ว่า แต่ละเมืองในเขตเศรษฐกิจฯ มีข้อได้เปรียบของตัวเอง เช่น เซินเจิ้นมีผู้ประกอบการนวัตกรรมจำนวนมาก ตงก่วนมีระบบประมวลผลสนับสนุนที่สมบูรณ์ จึงควรมีการจัดตั้งห่วงโซ่ระบบนิเวศการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการแบ่งปันทรัพยากรและเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมโดยรวมของเขตเศรษฐกิจ

ปัจจุบันเฉินสาละวนกับการเตรียมสุนทรพจน์ เพื่อการประชุมวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนนี้ โดยเขาจะเดินหน้าแบ่งปันแนวคิดการปฏิวัติรถยนต์ต่อไป พร้อมเสริมว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องแสวงหากฎธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ต้องคิดการณ์ไกลยามทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และยึดมั่นทิศทางที่ถูกต้องจนนาทีสุดท้าย

‘อิสราเอล’ เริ่มทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าระบบชาร์จไร้สายบนถนน วิ่งไปชาร์จไปได้ต่อเนื่องแบบไม่หยุดพักนานกว่า 100 ชั่วโมง

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัว, เยรูซาเล็ม รายงานว่า แถลงการณ์จากอิเลคทรีออน ไวร์เลส (Electreon Wireless) บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงสัญชาติอิสราเอล เปิดเผยว่าบริษัทฯ เริ่มการทดสอบวิ่งรถยนต์ไฟฟ้าบนถนนชาร์จไร้สายแบบไม่หยุดพักนาน 100 ชั่วโมงแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ (21 พ.ค) ที่ผ่านมา

บริษัทฯ สร้างระบบชาร์จผ่านถนนโดยใช้ขดลวดทองแดงแบบพิเศษที่ฝังใต้พื้นผิวถนน ซึ่งทำให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จพร้อมขับขี่บนถนนได้

รายงานระบุว่า การทดสอบขับรถยนต์ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ดำเนินการบนถนนทดสอบที่สร้างแบบพิเศษยาว 200 เมตร ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในหมู่บ้านชายฝั่งเบตยาไนทางตอนกลางของอิสราเอล

อนึ่ง ก่อนหน้าในเดือนนี้ อิเลคทรีออน ไวร์เลสได้เปิดตัวเส้นทางรถบัสสาธารณะที่ติดตั้งเทคโนโลยีชาร์จไร้สายในเมืองบัดเบลลิงเงนของเยอรมนี โดยบริษัทฯ ยังได้ลงนามข้อตกลงกับหุ้นส่วนหลายรายเพื่อสร้างถนนชาร์จไร้สายในสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป

อีลอน มัสก์’ ซีอีโอเทสลา เยือนโรงงานในเซี่ยงไฮ้ เล็งขยายโรงงานผลิตเพิ่มต่อเนื่อง ตอกย้ำประสิทธิภาพ

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, เซี่ยงไฮ้ รายงานว่า ‘อีลอน มัสก์’ ซีอีโอเทสลา (Tesla) ได้เดินทางเยือนโรงงานเทสลา เซี่ยงไฮ้ กิกะแฟกทอรี ในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (1 มิ.ย.) โดยเขาได้ชื่นชมประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตของโรงงาน

มัสก์แสดงความยินดีกับทีมจีนสำหรับผลการปฏิบัติงานอันยอดเยี่ยม และพลังงานเชิงบวกในการทำงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง โดยเขากล่าวว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจอย่างมากที่ทุกคนสามารถเอาชนะสารพัดอุปสรรคความยากลำบากและความท้าทาย

“รถยนต์ที่ผลิตจากที่นี่ ไม่เพียงมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ยังมีคุณภาพสูงสุดอีกด้วย” มัสก์ กล่าว

อนึ่ง โรงงานเซี่ยงไฮ้ กิกะแฟกทอรี ถือเป็น ‘ต้นแบบ’ ของโรงงานเทสลาแห่งอื่นๆ ทั่วโลก เช่น เบอร์ลิน กิกะแฟคทอรี และเท็กซัส กิกะแฟคทอรี ซึ่งเปิดทำการปีก่อน และ ‘ทำสำเนา’ ประสิทธิภาพและอิทธิพลทางอุตสาหกรรมระดับโลกของโรงงานในจีน

โรงงานเซี่ยงไฮ้ กิกะแฟกทอรี ซึ่งก่อตั้งปี 2019 จัดเป็นโรงงานกิกะแฟกทอรีนอกสหรัฐฯ แห่งแรกของเทสลา ที่ได้ส่งมอบรถยนต์ 710,000 คันในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากปี 2021

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน เทสลาประกาศแผนการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่แห่งใหม่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะมุ่งผลิต ‘เมกะแพ็ก’ (Megapack) ผลิตภัณฑ์จัดเก็บพลังงานของเทสลา

รายงานระบุว่า โรงงานแห่งใหม่มีกำหนดเริ่มต้นก่อสร้างในไตรมาสสาม (กรกฎาคม-กันยายน) ของปีนี้ และจะเริ่มต้นการผลิตในไตรมาสสอง (เมษายน-มิถุนายน) ของปี 2024

 

‘เด็กจีน’ แห่เรียน ‘ภาษาไทย’ คึกคัก หลังมีการปรับหลักสูตร เพื่อพัฒนาบุคคลากร จบไปมีบริษัทจ่อรอรับเข้าทำงานทันที

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, หนานหนิง รายงานว่า บรรดานักศึกษาชาวจีนผู้รักการเรียนภาษาไทยจากสถาบันอุดมศึกษาในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จำนวน 19 แห่ง ต่างงัดทักษะความสามารถด้านภาษาไทยออกมาโชว์กันอย่างเต็มที่ ณ การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยระดับอุดมศึกษาครั้งที่ 16 ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี (Guangxi University for Nationalities) เมื่อไม่นานนี้ โดยการแข่งขันในปีนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทย และนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเรียนการสอนภาษาไทยในจีนคึกคักมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนให้ทันตามกระแสแห่งยุคสมัย และทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาบุคคลากรที่มีทั้งความสามารถด้านภาษา มีความรู้ความเข้าใจ และมีความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทย

‘ฉินซิ่วหง’ คณบดีวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันส่วนมากเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 หรือ 3 และหัวข้อการกล่าวสุนทรพจน์และการแข่งขันรายการอื่นๆ ในแต่ละปี จะอิงจากสถานการณ์และกระแสความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เช่น กระแสอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

ฉิน กล่าวว่า “เราคัดเลือกหัวข้อ เช่น หมอนยางพารา ทุเรียน และสินค้าไทยอื่นๆ ที่ชาวจีนสนใจ แล้วให้นักศึกษาแนะนำในรูปแบบการไลฟ์สด นักศึกษาที่ได้รับรางวัลบางคนอาจเซ็นสัญญากับบริษัทที่เกี่ยวข้องได้เลยทันที” พร้อมเสริมว่า ปีนี้การท่องเที่ยวจีน-ไทยกำลังฟื้นตัวอย่างเป็นลำดับ การแนะนำวัฒนธรรมไทย อาหารไทย สถานที่ท่องเที่ยวในไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อการแข่งขัน

รายงานระบุว่า ตลาดงานในปัจจุบันต้องการบุคคลากรที่มีทั้งทักษะภาษาและความรู้ด้านวิชาชีพอื่นๆ ด้วย เช่นความรู้ด้านกฎหมายและการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยภาษาหลายแห่งในจีนจึงมุ่งสร้างบุคคลากรที่เก่งหลายด้านในคนเดียว ผ่านการเสริมหลักสูตรวิชาชีพอื่น ซึ่งทำให้หลังเรียนจบผู้เรียนจะได้รับวุฒิปริญญาสองใบ หรือมีประกาศนียบัตรรับรองความสามารถทางวิขาชีพเพิ่มเติม

ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด การแลกเปลี่ยนระหว่างจีน-ไทยเผชิญข้อจำกัด หลายสถาบันจึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาไทยออนไลน์ ขณะที่เว็บไซต์จีนบางแห่งก็มีการสอนภาษาไทยในรูปแบบของการไลฟ์สดและคลิปวิดีโอสั้น ซึ่งกระตุ้นกระแสความนิยมภาษาไทยได้ไม่น้อย ฉิน กล่าวว่า “เยาวชนคนรุ่นใหม่ในจีนนิยมชมชอบ ‘วัฒนธรรมไทย’ และการเรียนภาษาไทย หลังละครไทยกลายเป็นกระแสในจีน” พร้อมเสริมว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์นั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศ

‘โอวม่าน’ ผู้อำนวยการภาควิชาภาษาไทยของวิทยาลัยฯ ให้ข้อมูลว่าตำแหน่งงานด้านภาษาไทยที่หลายบริษัทติดต่อมาให้ประกาศให้ในปีนี้ มีมากกว่าจำนวนนักศึกษาเอกภาษาไทยทั้งหมดของมหาวิทยาลัย

‘หยางเย่าหง’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้แข่งขันที่เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก เริ่มเรียนภาษาไทยด้วยตนเองเมื่อ 8 ปีก่อน ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น “ผมคิดว่าภาษาไทยสนุกมาก มีความคล้ายคลึงหลายอย่างกับภาษาเฉาซ่าน (แต้จิ๋ว) บ้านเกิดของผม”

‘หวงเหม่ยเสีย’ ผู้จบการศึกษาสาขาเอกภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยชนชาติยูนนาน (Yunnan Nationalities University) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานบริหาร ประจำสาขากว่างซีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าการได้ไปเรียนที่ประเทศไทยในช่วงชั้นปีที่ 3 ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์และทำให้ภาษาไทยของเธอพัฒนาไปอีกขั้น พร้อมเล่าประสบการณ์ความประทับใจที่มีต่อครูชาวไทย

ด้านเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง กล่าวว่าภาษาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกัน และเป็นกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม ซึ่งตนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นนักศึกษาชาวจีนเรียนภาษาไทยและเข้าใจประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมแสดงความหวังว่าบุคคลากรคุณภาพเหล่านี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษา การค้า การลงทุน และอื่นๆ ระหว่างสองประเทศต่อไป

เกิดเหตุระเบิดร้านปิ้งย่างในนครอิ๋นชวน เสียชีวิตแล้ว 31 ราย คาด เกิดจากมี ‘ก๊าซปิโตรเลียมเหลว’ รั่วไหลภายในร้าน

วันที่ (22 มิ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, อิ๋นชวน รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานท้องถิ่นของจีน รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่ร้านอาหารแบบปิ้งย่าง หรือบาร์บีคิวในนครอิ๋นชวน เมืองเอกของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 31 รายแล้ว

เหตุระเบิดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.40 น. บนถนนสายพลุกพล่านในเขตซิงชิ่งของอิ๋นชวน เนื่องจากมีก๊าซปิโตรเลียมเหลวรั่วไหลจากพื้นที่ของร้านอาหารดังกล่าว

คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 38 ราย ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว 31 ราย แม้จะมีความพยายามดำเนินงานกู้ภัย ขณะที่ผู้บาดเจ็บอีก 7 ราย ซึ่งรวมถึง 1 รายที่มีอาการขั้นวิกฤต กำลังเข้ารับการรักษาทางการแพทย์
 

จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ‘รถไฟจีน’ ยอดพุ่งทะลุ 70 ล้านครั้ง เร่งเพิ่มกำลังการขนส่ง รองรับผู้โดยสารในช่วงเทศกาลเรือมังกร

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด รายงานว่า ปริมาณการหมุนเวียนของผู้โดยสารรถไฟในจีนพุ่งสูงขึ้น ระหว่างมหกรรมการเดินทางช่วงหยุดเทศกาลเรือมังกรที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารรถไฟทั่วจีน ระยะ 5 วัน (นับระหว่างวันที่ 21-25 มิ.ย.) สูงเกือบ 70.38 ล้านครั้ง ซึ่งมากกว่ามหกรรมการเดินทางช่วงหยุดเทศกาลเรือมังกรในปี 2019 ราว 7.14 ล้านครั้ง

โดยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารรถไฟรายวันในจีน สูงแตะ 16.09 ล้านครั้ง ซึ่งถือเป็นการเดินทางของผู้โดยสารภายในวันเดียวที่สูงเป็นประวัติการณ์ ระหว่างมหกรรมการเดินทางช่วงหยุดเทศกาลเรือมังกร

อนึ่ง หน่วยงานการรถไฟของจีนได้เพิ่มกำลังการขนส่งผู้โดยสาร เพื่อตอบสนองความต้องการเดินทางของประชาชน พร้อมกับยกระดับคุณภาพการบริการเพื่อประสบการณ์การเดินทางที่ดียิ่งขึ้นของเหล่าผู้โดยสาร

สำหรับเทศกาลเรือมังกร หรือ ‘เทศกาลตวนอู่’ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติจีน และตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย. ในปีนี้
 

‘ไทย’ เผยยอด ‘นทท.ต่างชาติ’ ครึ่งปีแรก ทะลุ 12 ล้านคน คาดสร้างได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศ 2.38 ล้านล้านบาท!!

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วงเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมิถุนายน ปี 2023 จำนวนกว่า 12.46 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคนตลอดปีนี้

เมื่อนับถึงสัปดาห์ก่อน ไทยทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 5.14 แสนล้านบาท ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนมีส่วนส่งเสริมสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มตลาดหลักส่วนใหญ่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน

เมื่อวันจันทร์ (26 มิ.ย.) แถลงการณ์จากอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัจจุบันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าจะแตะ 25 ล้านคนภายในสิ้นปี 2023

อนุชา เผยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการส่งเสริมต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายทำรายได้จากการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวล่าสุดทะลุสถิติตลอดปี 2022 ที่ 11.15 ล้านคนแล้ว

ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในปี 2019 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยเกือบ 40 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ครองสัดส่วนราวร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
 

‘อุตสาหกรรม NEV’ จีนพุ่ง!! ยอดผลิตแตะ 20 ล้านคัน!! เร่งเดินหน้าพัฒนาคุณภาพ-ขยายฐานเจาะทั่วโลก

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กว่างโจว รายงานว่า ภาคธุรกิจยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของจีนได้ปักหมุดหมายความสำเร็จครั้งสำคัญ หลังจากมีการส่งยานยนต์พลังงานใหม่ออกจากสายการผลิตเป็นคันที่ 20 ล้าน ณ นครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา

‘ฟู่ปิ่งเฟิง’ รองประธานและเลขานุการสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน เผยว่า ยานยนต์พลังงานใหม่คันที่ 20 ล้าน ผลิตโดยบริษัท จีเอซี ไอออน นิว เอนเนอร์จี ออโตโมบิล จำกัด (GAC Aion New Energy Automobile) บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั่วโลก และคุณภาพสูง รวมถึงเป็นส่วนสำคัญของระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของจีน

กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน เป็นผู้ประกาศการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนครบ 20 ล้านคัน ณ พิธีเฉลิมฉลองสถิติใหม่ในนครกว่างโจว ด้านจีเอซี ไอออน (GAC Aion) เป็นบริษัทยานยนต์พลังงานใหม่ในเครือบริษัท กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป จำกัด (GAC Group) ในนครกว่างโจว

‘นครเซินเจิ้น’ นำร่องใช้ ‘กระเป๋าเงินหยวนดิจิทัล’ ที่แรกในจีน รองรับการชำระเงินรอบด้าน เผย ยอดใช้งานทะลุ 35 ล้านใบแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, เซินเจิ้น รายงานว่า มหานครเซินเจิ้นทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นเมืองนำร่องด้านการใช้สกุลเงินดิจิทัลแห่งแรกของจีน มีการเปิดใช้งาน ‘กระเป๋าเงินดิจิทัลของจีน’ หรือ ‘เงินหยวนดิจิทัล’ (e-CNY) จำนวน 35.94 ล้านใบ เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 7.6 ล้านใบ

ธนาคารประชาชนจีน สาขากลางของเมืองเซินเจิ้น ระบุว่า ปัจจุบันกิจการในเซินเจิ้นมากกว่า 2.1 ล้านราย ได้รองรับการชำระเงินสกุลเหรินหมินปี้ (RMB) แบบดิจิทัล ครอบคลุม 6 ด้านหลัก ได้แก่ การบริโภคประจำวันในห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทางโดยรถประจำทางและรถไฟใต้ดิน และค่าจอดรถและค่าเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ เซินเจิ้นได้ออกแผนงานในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเสนอการร่วมมือกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีน เพื่อดำเนินงานนำร่องการชำระเงินด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ข้ามพรมแดน ด้านเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่เฉียนไห่ เซินเจิ้น-ฮ่องกง จะถูกสร้างเป็นเขตสาธิตการใช้สกุลเงินหยวนดิจิทัลข้ามพรมแดน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top