Saturday, 27 April 2024
TopUniversity

รู้จัก “มศว ประสานมิตร” เป๊ะปังยังไง ทำไมใคร ๆ ถึงอยากเรียน ?!

หลาย ๆ คนก็คงจะรู้จัก “มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ” หรือ “มศว” ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังที่ผลิตบุคลากรในวงการต่าง ๆ มากมาย มีวิทยาเขตด้วยกัน 2 ที่คือ มศว ประสานมิตร ที่อโศก กรุงเทพฯ และ มศว องครักษ์ ที่จังหวัดนครนายก ในวันนี้ THE STUDY TIMES จะมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักถึงประวัติและชื่อเสียงของ มศว ประสานมิตร กัน

มศว หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ถือกำเนิดเมื่อตอนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมได้คลี่คลาย การศึกษาในยุคนั้นก็ต้องการที่จะพัฒนาให้คงอยู่

แต่มีประชากรครูไม่เพียงพอต่อประชากรนักเรียนเพื่อผลักดันการศึกษาทางด้านวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการจึงก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2492 ที่ถนนประสานมิตร กรุงเทพมหานคร โดยได้ถือกำเนิดขึ้นจาก หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น

หลังจากนั้นจึงได้พัฒนามาเป็น “วิทยาลัยวิชาการศึกษา” ในปี พ.ศ.2496 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เป็นผู้นำพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน หลังจากนั้นก็พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ มีหลักสูตรมากมายจนกลายมาเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี 2 วิทยาเขตคือ มศว ประสานมิตร ที่อโศก กรุงเทพฯ และ มศว องครักษ์ ที่จังหวัดนครนายก

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความหมายว่า "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร" "วิโรฒ"มาจากคำว่า "วิโรฒ" ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความงอกงามหรือเจริญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) มีชื่อย่อว่า "มศว" (ไม่มีจุด) เขียนอักษรโรมันว่า "Srinakharinwirot University" มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SWU (อ่านว่า สะ-วู)

สัญลักษณ์ของมศวคือกราฟ ซึ่งเป็นสมการทางด้านคณิตศาสตร์ Y = ex (Exponential Curve) เส้นกราฟของการขยายเพิ่มขึ้น มีความหมายสอดคล้องปรัชญาที่ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” หรือ สิกขา “วิรุฬหิ สมปตตา” หรือ “ Education is Growth” รวมทั้งสอดคล้องกับ “สีเทา–แดง” ซึ่งสีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึง “ความคิด” และสีแดงเป็นสีของเลือด หมายถึง “ความกล้าหาญ” สีเทา – แดง จึงหมายถึง “คิดอย่างกล้าหาญ” นั้นเอง โดย มศว จะใช้คำว่า นิสิต แทนตัวผู้เรียน

ในวันนี้ THE STUDY TIMES ขอพูดถึง มศว ประสานมิตร กันก่อนนะคะ โดย มศว ประสานมิตรตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา อโศก การเดินทางก็ง่ายและสะดวกมาก ๆ เนื่องจากตัวมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้ BTS และ MRT (อยู่หลังตึกแกรมมี่ด้วยนะ)

นอกจากนี้ มศว ประสานมิตร ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอบแข่งขันแอดมิชชั่นสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยคณะที่เป็นยอดนิยมคือ คณะวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม นั่นเอง ซึ่งเป็นคณะที่มีการแข่งขันสูงมาก ๆ โดยเฉพาะเอกภาพยนตร์ หรือ คนในคณะจะเรียกเอก Cinema ที่มีรุ่นพี่อย่าง เก้า จิรายุ เจเจ กฤษณภูมิ และมีรุ่นพี่ดาราคนอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาต่อหรือจบจากคณะนี้ก็มีอีกเพียบ

ในส่วนของคณะที่มศว ประสานมิตร มีคณะที่ศึกษาอยู่ที่มศว ประสานมิตรทั้ง 4 ปีมีคณะดังต่อไปนี้

คณะศึกษาศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์

คณะทันตแพทยศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์

คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คณะศิลปกรรมศาสตร์

วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม

วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน

ส่วนคณะอื่น ๆ จะเป็นการสลับเปลี่ยนกันไปเรียนที่มศว องครักษ์บ้าง อย่างเช่นคณะแพทย์ศาสตร์จะเรียนที่ มศว ประสานมิตรตั้งแต่ปี 1 – 3 และจะไปเรียนต่อในชั้นปีที่ 4 – 6 ที่ มศว องครักษ์

สังคมของมศวในแต่ละคณะก็มีความแตกต่างหลากหลายกันไปแต่จากที่ได้ประสบพบเจอนั้นสังคม มศว ถือว่าเป็นสังคมที่ดี ทุกคนเป็นมิตรและมีอัธยาศัยดีมาก ๆ เลยละค่ะ คณะคุณครูหรืออาจารย์ ก็มากไปด้วยประสบการณ์จัดเต็มทุกเนื้อหาการสอน เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อัดแน่นไปด้วยการเรียนรู้ที่ไม่ที่สิ้นสุดจริง ๆ ค่ะ

นอกจากนี้ รอบ ๆ มศว ประสานมิตร เป็นแหล่งออฟฟิศ มีแหล่งของกิน และ และห้างสรรพสินค้า มากมายเพราะว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ใจกลางย่านออฟฟิศ เหล่าพนักงานออฟฟิศและผู้คนหนาแน่นจริง ๆ ค่ะ เรียกได้ว่าสัมผัสบรรยากาศของเสน่ห์กรุงเทพฯเต็ม ๆ

ถ้าผู้ใดสนใจที่อยากจะเข้าศึกษาต่อที่มศวไม่ว่าจะเป็นที่ประสานมิตรหรือองครักษ์ ทางมหาวิทยาลัยจะมีงาน Open House ที่จัดขึ้นทุก ๆ ปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยแต่ละปีก็จะมีธีมการจัดงานที่แตกต่างกันไป และ มีบรรดาพี่ ๆ ศิษย์เก่าที่ชื่อเสียงมาแชร์ประสบการณ์และให้กำลังใจน้อง ๆ นักเรียนถึงที่ โดยงานจะจัดที่ มศว ประสานมิตรนะคะ ส่วนจัดวันที่เท่าไร ทาง THE STUDY TIMES จะรีบนำข่าวมาแจ้งให้เร็วที่สุดเลยค่ะ


แหล่งข้อมูล : https://www.swu.ac.th/history.php

รู้จัก ‘พยาบาลศาสตร์’ คณะในฝันของเหล่าผู้มีจิตเมตตา

หลาย ๆ คนมีความฝันที่อยากจะเป็นพยาบาลคอยดูแล เอาใจใส่ คนไข้ และการประกอบอาชีพนี้จะต้องมีความเมตตา เพราะจะต้องคอยดูแลผู้ป่วยทั้งด้านสุขภาพอนามัย รวมไปถึงจิตใจผู้ป่วยอีกด้วย THE STUDY TIMES จะมาแนะนำ “คณะพยาบาลศาสตร์” กันว่าในช่วงระยะเวลา 4 ปีพยาบาลจะต้องเรียนอะไรกันบ้าง 

คณะพยาบาลศาสตร์ที่แรกในประเทศไทยคือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าวิชาแพทย์ผดุงครรภ์มีความจำเป็นแก่ชีวิตของสตรี เนื่องจากในสมัยนั้นสตรีต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการคลอดบุตร 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถจึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโรงเรียนเพื่ออบรมผดุงครรภ์ขึ้นในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชเริ่มเปิดทำการสอน เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2439 โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้” สังกัดกรมศึกษาธิการ ซึ่งต่อมาเรียกว่ากระทรวงธรรมการ ขึ้นภายในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล ซึ่งนับเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรก และเป็นจุดเริ่มของการศึกษาด้านการพยาบาลของประเทศด้วย หลังจากนั้นประเทศไทยก็ได้พัฒนาหลักสูตรและได้มีคณะพยาบาลศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยเพื่อให้ประชาชนได้มีทักษะ ความรู้ในด้านการพยาบาล

ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ในแต่ละปีนั้นจะมีการสอบแข่งขันกันค่อนข้างสูง และ การที่จะได้เรียนในคณะพยาบาลศาสตร์นั้น จะต้องมีใบรับรองแพทย์ด้านสุขภาพกาย เพราะการเรียนและการทำงานในคณะพยาบาลนั้นจะต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจอย่างมาก นอกจากที่เราจะต้องทำงานในการดูแล เราจะต้องทำงานในด้านบริการอีกด้วย ไม่ว่าคนไข้จะดีหรือไม่ดีก็จะต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้อีกด้วย 

หลังจากที่ได้สอบเข้าเรียนในคณะพยาบาลศาสตร์ได้แล้วนั้น ในแต่ละช่วงปีก็จะมีการเรียนที่แตกต่างกันไป โดยในช่วงปีแรกจะเป็นการเรียนปรับพื้นฐาน เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันทุกสาขา เช่น วิทยาศาสตร์ เคมี ชีววิทยา จิตวิทยา ฯลฯ ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ในด้านภาษา การสื่อสาร และศึกษาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

พอช่วงปีที่ 2 จะเป็นการเริ่มเรียนทางด้านพยาบาลและชีววิทยาเพิ่มมากขึ้น เป็นหมวดวิชาเฉพาะพื้นฐานวิชาชีพเช่น สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ปรสิตวิทยา การพยาบาลเบื้องต้น โภชนาการและโภชนาการบำบัด เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์

ก้าวเข้าปีที่ 3 จะเรียนลึกมากยิ่งขึ้นในทางด้านวิชาชีพ และการฝึกปฏิบัติต่าง ๆ หมวดวิชาเฉพาะในด้านทฤษฎี การรักษาโรคเบื้องต้น การพยาบาลผู้ประสบภัยพิบัติการพยาบาลชุมชน การพยาบาลผู้สูงอายุ การพยาบาลจิตเวช การพยาบาลผู้ใหญ่ การพยาบาลมารดา-ทารกแรกเกิดและการผดุงครรภ์ ช่วงปีที่ 3 นี้จะได้มีการเข้าเวรจริง ๆ เพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติมีการเข้าเวร ดูแลคนไข้จริง  ๆ โดยจะเจอคนไข้เกือบทุกรูปแบบ เป็นการพยาบาลเด็ก พยาบาลผู้ป่วย

ปีที่ 4 ปีสุดท้ายจะเป็นการฝึกงาน (ฝึกปฏิบัติการพยาบาล) โดยนิสิตหรือนักศึกษาพยาบาลจะได้เรียนในวิชาที่เกี่ยวกับอนามัยชุมชน การรักษาโรคเบื้องต้น รวมไปถึงการฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินและวิกฤต ฝึกปฏิบัติการพยาบาลเด็ก ฝึกปฏิบัติการพยาบาลจิตเวช ฝึกปฏิบัติการพยาบาลมารดา-ทารกแรกเกิด และการผดุงครรภ์ เรียกได้ว่าเป็นปีที่ท้าทายสุด ๆ ใน 4 ปีเลยล่ะค่ะ 

เมื่อเรียนจบแล้ว นิสิตหรือนักศึกษาพยาบาลทุกคนจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาลด้วย เหมือนเป็นการการันตีว่าสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติในหน้าที่พยาบาล เมื่อจบแล้วสามารถทำอาชีพพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน หรือตามสถานที่ ๆ มีหน่วยพยาบาลเช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียน หรือ ตามคลินิกต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถทำงานดูแล พยาบาลผู้ป่วยตามบ้านหรือผู้ป่วยติดเตียงได้อีกด้วย  

สำหรับรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในคณะพยาบาลศาสตร์มีดังต่อไปนี้ 

สถาบันอุดมศึกษารัฐบาล
•    คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก)
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
•    สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
•    ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
•    วิทยาลัยนานาชาติ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
•    สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
•    สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
•    วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
•    วิทยาลัยพยาบาลพระยาภักดีชุมพล มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
•    สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
•    สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
•    คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
•    สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (เปิดสอนเฉพาะหลักสูตร 2 ปีต่อเนื่อง)

วิทยาลัยพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่น

•    สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย
•    วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
•    วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก
•    วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ
•    วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ
•    วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ

วิทยาลัยพยาบาลสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง
•    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา
•    วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
•    วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
•    วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม

สถาบันอุดมศึกษาเอกชน

•    มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
•    มหาวิทยาลัยคริสเตียน (หลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ)
•    มหาวิทยาลัยปทุมธานี
•    มหาวิทยาลัยพายัพ
•    มหาวิทยาลัยรังสิต
•    มหาวิทยาลัยราชธานี
•    มหาวิทยาลัยราชธานี วิทยาเขตอุดรธานี
•    มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
•    มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
•    มหาวิทยาลัยสยาม
•    มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
•    มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (หลักสูตรนานาชาติ)
•    มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
•    มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
•    วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา
•    วิทยาลัยเชียงราย
•    วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
•    วิทยาลัยเซนต์เทเรซา-อินติ (หลักสูตรนานาชาติ)
•    วิทยาลัยนครราชสีมา
•    วิทยาลัยบัณฑิตบริหารธุรกิจ
•    วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย

พยาบาลในปัจจุบันถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญอย่างมาก นอกจากจะช่วยเหลือคุณหมอแล้ว การดูแลผู้ป่วยถือว่าเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญของพยาบาล การได้รับการดูแล เอาใจใส่ คณะพยาบาลศาสตร์ถือว่าได้เป็นอีกคณะหนึ่งที่น่าสนใจและได้ทำคุณงามความดี ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไว้อย่างมากมาย


แหล่งข้อมูล 
https://campus.campus-star.com/education/44923.html
https://www.admissionpremium.com/content/5688 
https://th.wikipedia.org/wiki/คณะพยาบาลศาสตร์มหิดล

รู้จัก “คณะเศรษฐศาสตร์” คณะของคนที่ชอบวิเคราะห์ มีหลักการ และมีเหตุผล !

เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะรู้จักหรือเคยคุ้นชื่อ “คณะเศรษฐศาสตร์” พอได้ยินถึงชื่อคณะหลาย ๆ คนอาจจะนึกแค่ว่าเรียนเกี่ยวกับเลข การคำนวณ จบไปทำงานธนาคาร แต่แท้จริงแล้วคณะนี้เรียนอะไร THE STUDY TIMES จะขอมาแนะนำเกี่ยวกับคณะนี้กันค่ะ 

คณะเศรษฐศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและกระจายทรัพยากรของมนุษย์ โดยคำว่าเศรษฐศาสตร์ในภาษาอังกฤษคือ Economics มาจากคำว่า Oikonomia ในภาษากรีกโบราณ มีความหมายว่า การจัดระเบียบเรื่องในบ้าน และ การบริหารจัดการภาระหน้าที่ 

เดิมทีเศรษฐศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชารัฐศาสตร์ ที่เพิ่งแยกออกมาเป็นวิชาของตัวเองช่วงปลายศตวรรษที่ 19 การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยสามารถแบ่งตามเนื้อหาได้เป็น 2 สาขาหลัก ๆ คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหาภาค 



เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษาในเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับบุคคล โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจนั้น ๆ และบุคคล หรือหน่วยงานสำคัญ ๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในแต่ละเรื่อง เช่น การศึกษาเกี่ยวกับตลาดแต่ละตลาด และตัวแทนทางเศรษฐกิจ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับครัวเรือน หน่วยธุรกิจ ผู้ซื้อ และผู้ขาย ฯลฯ

ส่วนเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น อุปทานมวลรวมและอุปสงค์มวลรวม การว่างงาน เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เป็นต้น

ส่วนการเรียนในแต่ละชั้น ปี 1 จะได้เรียนในวิชาพื้นฐานทั้งหมด ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ สถิติ ภาษาอังกฤษ รวมถึงจะได้เรียนวิชาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นอีกด้วย

พอเข้าสู่ ปี 2 จะได้เรียนเข้าใจลึกมากยิ่งขึ้นในวิชาเศรษฐศาสตร์ในหลาย ๆ ระดับ เช่น เศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์มหาภาค และการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ส่วน ปี 3 ปีนี้ จะได้เจอวิชาเฉพาะที่เจาะลึกมากขึ้น รวมถึงเนื้อหาที่มีความหลากหลาย เช่น  หมวดการเงิน หมวดทรัพยากรมนุษย์ หมวดสินค้าเกษตร หมวดนโยบาย หมวดการพัฒนา 

และ ปี 4 ปีสุดท้าย เนื้อหาการเรียน จะได้เลือกเรียนเฉพาะหมวด ที่ตัวเองได้เลือกและมีการทำวิจัยจบและมีการสัมมานาตามแต่ละมหาวิทยาลัย 



สำหรับสาขาในคณะเศรษฐศาสตร์มีดังต่อไปนี้ 

เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ / เศรษฐศาสตร์การจัดการ เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการพลิกแพลงเอาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ไปใช้ในการบริหารจัดการในทุกๆ ด้านขององค์กร หรือธุรกิจต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ

เศรษฐศาสตร์การเงิน เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยทฤษฎี และความรู้ทางเศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์การคลัง เรียนเกี่ยวกับนโยบาย และมาตรการการคลัง การหารายได้ และการใช้จ่ายของรัฐบาล รวมถึงผลกระทบของมาตรการการคลังที่มีต่อเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์การพัฒนา และวางแผน ศึกษานโยบาย และกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งยังศึกษาบทเรียนตัวอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

เศรษฐศาสตร์แรงงาน และทรัพยากรมนุษย์ เน้นการเรียนเพื่อนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปแก้ปัญหาตลาดแรงงาน ปัญหาการว่างงาน และการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นสาขาที่ศึกษาเพื่อหาวิธีจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกนำไปใช้ในระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

เศรษฐศาสตร์ทฤษฎี และการวิจัย / เศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ เน้นการเรียนด้านทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งบัณฑิตจากสาขานี้จะเป็นคนที่มีการตัดสินใจที่แม่นยำ เพราะจะมีมุมมอง การคิดวิเคราะห์ และการเชื่อมโยง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับภาพรวมได้เป็นอย่างดี

เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ สาขานี้จะผสมผสานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เข้ากับความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาเติบโตไปในโลกของการค้าระหว่างประเทศได้

เศรษฐศาสตร์เกษตร เรียนเพื่อนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ในการจัดการการเกษตร

เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ สาขานี้จะเน้นการจัดการสหกรณ์ ด้วยความรู้ทางเศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์การพัฒนา เรียนเพื่อนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในระดับประเทศ

เศรษฐศาสตร์สาธารณะ ศึกษาบทบาทของรัฐบาลที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งยังวิเคราะห์บทบาทของรัฐบาล ในการใช้จ่ายงบประมาณ ภาษีอากรของราษฎร และศึกษาถึงการใช้นโยบายการคลังในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย

เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย



ในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทั้งในภาครัฐและเอกชนมีดังต่อไปนี้ 

มหาวิทยาลัยภาครัฐ
•    คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
•    วิทยาลัยนานาชาติ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล 
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา 
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
•    คณะสังคมศาสตร์บูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  
•    คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร  
•    คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  
•    คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  
•    คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา  
•    สำนักวิชาการจัดการ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  
•    คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ  
•    คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  
•    คณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี 
•    คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  
•    สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  
•    สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

มหาวิทยาลัยภาคเอกชน 
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ 
•    คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
•    คณะบริหารธุรกิจ สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล  
•    คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หลาย ๆ คนสงสัยว่าพอจบไปแล้วจะต้องทำงานที่ธนาคารอย่างเดียวหรือไม่ จริง ๆ แล้วคณะเศรษฐศาสตร์เมื่อเรียนจบแล้วสามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งในงานธนาคาร บริษัทด้านการเงินหรือบริษัทด้านตลาดหลักทรัพย์ ทำงานในบริษัทประกันภัย ที่ต้องการนักเศรษฐศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่ในการวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับสภาวะของตลาด และการวางแผนในการดำเนินธุรกิจอย่างไรให้ได้กำไร บริษัทที่ต้องการฝ่ายการตลาดหรือ Marketing ก็สามารถทำงานด้านนี้ได้เช่นเดียวกัน 

ในปัจจุบันคณะเศรษฐศาสตร์ถือว่ามีความสำคัญในทุกประเทศ เพราะ เศรษฐกิจถือว่าเป็นตัวเดินเครื่องที่สำคัญ การค้าขาย ธุรกิจต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ต้องใช้ศาสตร์ความรู้จากเศรษฐศาสตร์ทั้งสิ้น สุดท้ายนี้ THE STUDY TIMES ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนเจอทางที่ตัวเองชอบกันนะคะ 


ที่มา
https://campus.campus-star.com/education/76630.html
https://tcaster.net/2021/01/about-bachelor-of-economics/
https://www.sanook.com/campus/1401708/

คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นคณะที่หลาย ๆ คนที่รักและเมตตาเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ต่างสนใจ อยากที่จะศึกษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาสัตว์ไม่ให้บาดเจ็บ และ ปลอดภัย การเรียนในคณะนี้ยังต้องพบเจออีกหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่ใช่แค่การดูแลรักษาสัตว์เท่านั้น

สำหรับใครที่สนใจอยากที่จะเรียนในคณะสัตวแพทยศาสตร์แต่ยังไม่รู้ว่าการเรียนภายใน 6 ปีนั้นจะต้องพบเจอกับอะไร วันนี้ THE STUDY TIMES จะขอมาแนะนำการเรียนในคณะนี้กัน ที่นอกจากการเรียนที่เข้มข้นไปด้วยเนื้อหาแล้ว ยังต้องพบเจอกับอะไรอีกมากมายเลยทีเดียว 

แต่ก่อนอื่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ นั้นหมายถึง สัตว์ รวมกับคำว่า แพทย์ และ ศาสตร์ คือการเรียนเกี่ยวกับการรักษาสัตว์ไม่ใช่แค่เพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ยังรวมไปถึงสัตว์ทุกชนิดและทุกประเภท เมื่อจบมาแล้วจะได้รับวุฒิการศึกษาคือ สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต นอกจากการเรียนเพื่อรักษาสัตว์ คณะนี้ยังต้องเรียนเกี่ยวกับ ผลผลิตด้านปศุสัตว์ การขยายพันธุ์สัตว์ การเลี้ยง และบำรุงพันธุ์สัตว์ วิธีการควบคุมโรคของสัตว์ที่สามารถติดต่อมาถึงมนุษย์ได้ รวมถึงด้านสุขศาสตร์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับสัตว์จริง ๆ 


โดยในคณะสัตวแพทยศาสตร์ จะเรียนทั้งหมด 6 ปี เหมือนกับเรียนแพทยศาสตร์ และ เภสัชศาสตร์ โดยจะแบ่งเป็น ปี 1 - 3 เรียกว่าชั้น Pre-clinic และปี 4 - 6 เรียกว่าชั้น Clinic โดยมีการเรียนคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

ปี 1 (ชั้น Pre-clinic) จะเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานทั่วไป เช่น ฟิสิกส์ทางการแพทย์ เคมีทั่วไป ชีววิทยาทั่วไป เคมีอินทรีย์ เป็นต้น 

ปี 2-3 (ชั้น Pre-clinic) เป็นชั้นปีที่เริ่มเรียนวิชาของคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ซึ่งการเรียนในคณะนี้ ไม่ได้เรียนแค่เฉพาะสัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัขหรือแมวเท่านั้น ยังต้องเรียนไปถึงสัตว์ในฟาร์มเช่น หมู ไก่ ม้า วัว รวมไปถึงสัตวน้ำอีกด้วย วิชาที่เรียนยกตัวอย่างเช่น  จุลกายวิภาควิทยา หลักสัตวบาล Anatomy Neuroanatomy Immunology สรีรวิทยา อนามัยสิ่งแวดล้อม เภสัชวิทยา เป็นต้น เรียนตั้งแต่โครงสร้างของสัตว์และสิ่งมีชีวิตที่มองเห็นและมองไม่เห็น จนถึงสุขอนามัยในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 

ปี 4-6 (ชั้น Clinic) เริ่มเข้าสู่วิชาเกี่ยวกับการรักษา พยาบาลสัตว์มากขึ้น วิชาเรียนจะเจาะลึกลงไปอีก เช่น อายุรศาสตร์ตามระบบอวัยวะ เทคนิคการวินิจฉัยและการรักษาโรคสัตว์ รังสีวิทยา พิษวิทยา หลักการศัลยศาสตร์และวิสัญญี เทคโนโลยีชีวภาพทางการสืบพันธุ์ของสัตว์ สุขศาสตร์อาหาร กฎหมายและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งในช่วง 3 ปีนี้ก็จะมีความยากมากยิ่งขึ้น มีการฝึกงานและทำวิจัยต่าง ๆ เพื่อให้ตัวผู้เรียนมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะไปดูแลรักษาพยาบาลสัตว์น้อยใหญ่ 

เมื่อเรียนจบแล้ว คณะสัตวแพทยศาสตร์ไม่ได้จบมาเป็นสัตว์แพทย์อย่างเดียวนะคะ ยังสามารถทำงานในหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมปศุสัตว์, กรมประมง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ส่วนหน่วยงานเอกชน สามารถประกอบอาชีพในธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ และธุรกิจฟาร์มสัตว์ต่าง ๆ

ส่วนสถาบันที่เปิดสอนในคณะสัตวแพทยศาสตร์มีดังต่อไปนี้ 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

คณะสัตวแพทยศาสตร์ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่งในการเข้าศึกษาต่อเพราะนอกจากจะได้ช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่แล้ว ยังฝึกความอดทนอีกมาก แต่ทุกการเรียนรู้จะแลกมาด้วยประสบการณ์ที่อาจจะไม่มีวันลืมได้เลย THE STUDY TIMES ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนตามความฝันของตัวเองได้สำเร็จนะคะ


ที่มา 
https://www.dek-d.com/tcas/45341/
https://campus.campus-star.com/education/133857.html
https://www.admissionpremium.com/adplanning/fac?id=20150911135458QJCr0qY


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top