Thursday, 16 May 2024
SafeBirthforAll

‘สาธารณสุข’ ผนึกพลังองค์กรระดับโลก ร่วมส่งเสริม ‘การเกิดมีชีพ’ อย่างยั่งยืน

ไม่นานมานี้ กระทรวงสาธารณสุข, กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และ บริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและอินโดจีน (Reckitt) ได้ร่วมมือกันจัด ‘การประชุมเชิงปฏิบัติการการนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของโครงการการพัฒนาและส่งเสริม การเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) ผ่านสื่อออนไลน์’

โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยตัวแทนจาก Reckitt Thailand & Indochina และ Dr. Asa Torkelsson, Representative for UNFPA Malaysia and Country Director for UNFPA Thailand กล่าวเปิดการประชุม และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวรายงานการประชุม

เริ่มต้นที่ ดร.สาธิต ได้กล่าวว่า การตายของมารดาเป็นเครื่องชี้วัดด้านสุขภาพที่สำคัญของโลก ทุกประเทศทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยตั้งหวังที่จะลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อ ‘การเกิดมีชีพ’ แสนคน ภายในปี 2573

(หมายเหตุ : การเกิดมีชีพ คือ เด็กที่คลอดออก มาแล้วมีลมหายใจ ชีพจรเต้น มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ)

สำหรับประเทศไทย โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานเพื่อลดอัตราส่วนการตายของมารดาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังและส่งเสริมการเกิดคุณภาพ โดยเฉพาะทั้งคนไทยและไม่ใช่คนไทยในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก เป็นการป้องกันการตายที่ป้องกันได้ของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการตายสูง ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All)

“ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ได้ร่วมมือดำเนินงานโครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า (Safe Birth for All) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบรายงานและการให้บริการอนามัยแม่และเด็ก และวัยรุ่นวัยเจริญพันธุ์อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนบูรณาการการมีส่วนร่วมของบุคลากรสาธารณสุข บุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ ในชุมชนท้องถิ่น ในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล ลดปัญหาการตายของมารดาและทารกระยะเวลา 15 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - ธันวาคม 2564 เพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการอนามัยแม่และเด็กและประสานความร่วมมือ ภาคีเครือข่ายในการดำเนินงาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ริกคิทท์ ประเทศไทยและ อินโดจีน (Reckitt)” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “โครงการการพัฒนาและส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพและถ้วนหน้า” (Safe Birth for All) กรมอนามัย ได้ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ที่อนามัยมารดาและทารกเข้าไม่ถึงบริการ 

โดยพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นคนไทยและชาติพันธุ์ ประมาณ 210,000 คน และเป็นหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 30,700 คน ซึ่งต้องอาศัยผดุงครรภ์โบราณ กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการลดการตายมารดาและทารกในพื้นที่ชายขอบและห่างไกล ช่วยให้หญิงมีครรภ์ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์และชายขอบเป็นประชากรราวร้อยละ 60 ของประชากรในพื้นที่ และข้อจำกัดด้านการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ยังมีการคลอดที่บ้านโดยผดุงครรภ์โบราณ 

ทั้งนี้ กรมอนามัยให้การสนับสนุนอุปกรณ์การทำคลอดจำนวน 1,500 ชุด ชุดตรวจ ATK มีการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมผดุงครรภ์โบราณ จำนวน 1 หลักสูตร จัดประชุมระบบการแจ้งการเกิด การตาย แก่เครือข่ายครู ตชด. ครู กศน. พร้อมทั้งพัฒนาระบบเฝ้าระวังการตายทารกปริกำเนิด โดยปี 2565 จะมีการขยายผลให้ครอบคลุมสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ และมีการวางแผนจะขยายผลให้ครอบคลุมในสถานพยาบาลของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเอกชน และการตายนอกสถานพยาบาลต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top