Friday, 24 May 2024
NASA

‘NASA’ รุกตลาดสตรีมมิ่ง เตรียมเปิดตัว NASA+ ปลายปีนี้  เล็งเสนอเรื่องราวภารกิจบนอวกาศ แถมดูฟรี!! ไม่มีโฆษณาคั่น

เมื่อไม่นานมานี้ NASA องค์กรอวกาศจากสหรัฐอเมริกากำลังเตรียมตัวเข้าสู่วงการสตรีมมิ่ง โดยเปิดตัว NASA+ สตรีมมิ่งที่จะนำเสนอภารกิจและเรื่องราวบนอวกาศแบบไม่มีโฆษณาหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ภายในปลายปีนี้

บริการสตรีมมิ่งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง NASA และ เอเจนซี่สัญชาติสหรัฐรายหนึ่งเพื่อผลิตสารคดีหรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจและเรื่องราวต่างๆ บนอวกาศขององค์กร NASA 

บริการสตรีมมิ่งนี้ NASA+ ยังเป็นบริการในรูปแบบ On-Demand นั่นคือสามารถเลือกและเริ่มชมเนื้อหาที่ต้องการในเวลาที่ต้องการโดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาที่มีการถ่ายทอดสด หรืออาจจะไม่จำกัดเวลาการดูตามกำหนด

การเข้ามาในวงการสตรีมมิ่งของ NASA จึงเป็นการตบเท้าเข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรและยกระดับบริการสื่อของตนเองให้ก้าวทันโลกและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น

นี่จึงเป็นถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญนับตั้งแต่ NASA ใช้ NASA TV ถ่ายทอดเนื้อหาวิดีโอ เพื่อการศึกษาสาธารณะ และถ่ายทอดสด การปล่อยจรวดโดยถ่ายทอดในลักษณะของสถานีโทรทัศน์ ตลอด 24 ชั่วโมงและทุกวันทั้งบนเว็บไซต์ NASA และ YouTube การออกอากาศในปัจจุบัน มีการถ่ายทอดสดอย่างต่อเนื่องบน YouTube ตั้งแต่ปี 2018

“การทำให้เว็บไซต์หลักของเราอัปเดตเทคโนโลยีและการปรับปรุงกระบวนการที่ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาออนไลน์ของเราเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการทำให้ข้อมูลของหน่วยงานเราเข้าถึงได้ง่าย และมีความปลอดภัย” Jeff Seaton ประธานกรรมการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของ NASA กล่าว

บริการ NASA + จะผูกรวมเข้ากับแอปพลิเคชัน NASA ซึ่งมีให้ดาวน์โหลดบน iOS และ Android อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับเว็บไซต์และคลังข้อมูลของ NASA ในส่วนของสตรีมมิ่งบนทีวีจะให้บริการใน กล่องสตรีมเช่น Apple TV, Roku และ Fire TV

‘นาซา’ แถลง ไม่พบหลักฐานเชื่อมโยง UFO-มนุษย์ต่างดาว แต่ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ พร้อมแจง องค์การจะเร่งศึกษาต่อ

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 66 คณะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ ‘นาซา’ (NASA) ของสหรัฐอเมริกา นำโดย ‘บิล เนลสัน’ (Bill Nelson) ผู้อำนวยการนาซา จัดแถลงข้อมูล ผลการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ ‘UAP (unidentified anomalous phenomenon)’ หรือ ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ ซึ่งเดิมทีเรียกว่า ‘UFO (unidentified flying object)’ หรือ วัตถุปริศนาบินได้ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้

เป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ เพื่อที่จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จนอาจทำให้เกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิด หรือการตีความที่ไม่ถูกต้อง รวมไปถึงสร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาชน

‘บิล เนลสัน’ (Bill Nelson) ผู้อำนวยการนาซาเผยว่า หน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้นำในการค้นคว้า ‘ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (UAP)’ แต่จะแบ่งปันข้อมูลด้วยความโปร่งใสมากขึ้น

จากการศึกษาของ ‘นาซา’ (NASA) ที่ได้นำรายงานการพบเห็น ‘ยูเอฟโอ’ (UFO) หรือ ‘ยูเอพี’ (UAP) หลายร้อยครั้ง ในอดีตที่เคยบันทึกได้มาศึกษา พบว่า ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ‘มนุษย์ต่างดาว’ อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้เหล่านี้ รวมถึงยังไม่พบหลักฐานใดที่เชื่อมโยงว่า ‘ยูเอฟโอ’ ที่พบทั้งหมดนั้นมาจากนอกโลก

แต่อย่างไรก็ดี ทางหน่วยงานอวกาศก็ยังไม่สามารถฟันธงและปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าว เนื่องจากทางคณะกรรมการเผยว่า ยังมีปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (UAP) อีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด และยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้

นับเป็นการตอกย้ำความสำคัญที่จะต้องมีการรายงานและศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างเป็นระบบ อาจจะนำไปสู่การค้นพบปรากฏการณ์สำคัญที่เรายังไม่รู้จักต่อไปในอนาคต

แม้ว่ารายงานดังกล่าวจะไม่ได้สรุปว่า สิ่งมีชีวิตนอกโลกมีอยู่จริง แต่นาซาก็ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะมี “เทคโนโลยีของมนุษย์ต่างดาวที่ไม่ทราบศักยภาพซึ่งปฏิบัติการในชั้นบรรยากาศโลก”

‘นิโคลา ฟ็อกซ์’ (Nicola Fox) ผู้ร่วมบริหารของคณะกรรมการภารกิจวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวว่า “UAP เป็นหนึ่งในปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของเรา” ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการขาดข้อมูลหลักฐานที่มีคุณภาพ

‘ฟ็อกซ์’ ยังเสริมอีกว่า แม้จะมีรายงานการพบเห็น ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (UAP) หลายครั้งก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสามารถใช้เพื่อสรุปข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับธรรมชาติและต้นกำเนิดของ UAP ได้

‘ฟ็อกซ์’ ประกาศว่า นาซาได้แต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (UAP) คนใหม่เพื่อ ‘สร้างฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งสำหรับการประเมินข้อมูลในอนาคต’ โดยจะมีการใช้ AI ในกระบวนการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

จากกรณีล่าสุด ‘ซากมนุษย์ต่างดาว’ ที่มีอายุกว่าพันปี และมีรหัสพันธุกรรม (DNA) ของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ถูกนำมาเปิดเผยกลางสภาเม็กซิโก ผู้ค้นพบคือ ‘นายไฮเม เมาส์ซัน’ (Jaime Maussan) ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะชาวเม็กซิโก ซึ่งศึกษาสนใจเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาวและจานบิน (UFO) มาเป็นเวลาหลายสิบปี

การค้นพบดังกล่าว สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ดี ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากตั้งข้อกังขา เพราะก่อนหน้านี้ นายไฮเม เคยมีประเด็นเดือด นำเสนอซากมนุษย์ต่างดาวลักษณะคล้ายกันนี้ ทว่าแท้จริงแล้วเป็นเพียงมัมมี่โบรา

สำหรับกรณี ‘ซากมนุษย์ต่างดาว’ ที่เป็นไวรัลจากเม็กซิโก ทาง ‘ดร.เดวิด สแปร์เกล’ (Dr.David Spergel) นักวิทยาศาสตร์ของนาซา เผยว่าได้ทำการส่งตัวอย่างไปให้ชุมชนวิทยาศาสตร์โลก เพื่อตรวจสอบต่อไป

เรียกได้ว่าทาง ‘นาซา’ แถลงการณ์ออกมาชัดเจนว่า ยังไม่พบหลักฐานใดที่เชื่อมโยงว่า ‘ยูเอฟโอ’ ที่พบทั้งหมดนั้นมาจากนอกโลก หรือมี ‘มนุษย์ต่างดาว’ อยู่เบื้องหลัง

ทว่าทางคณะกรรมการยังชี้ถึง ‘ความเป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตนอกโลกนั้นอาจจะมีอยู่จริง’ แม้จะยังไม่สามารถค้นหาได้ในเร็วๆ นี้ แต่ทางหน่วยงานก็จะยังคงเร่งศึกษาในเรื่องนี้ต่อไป โดยการอาศัยเทคโนโลยีที่มี เพื่อก้าวอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

‘นาซา’ ลุ้น!! ‘ยานโอไซริส-เร็กซ์’ เตรียมยิงแคปซูล 24 ก.ย.นี้ พร้อมนำตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูกลับมาศึกษาต่อที่ดาวโลก

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีรายงานว่า แคปซูลของยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ ซึ่งเก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู เตรียมที่จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อลงจอดที่ทะเลทรายตะวันออก ในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนนี้

นี่ถือเป็นความพยายามครั้งแรกของประเทศสหรัฐฯ ในการเก็บตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อย เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์บนโลก ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2016 และเก็บตัวอย่างฝุ่นบนดาวเคราะห์น้อยเบนนูมาได้เป็นปริมาณราว 250 กรัม เมื่อเดือนตุลาคม 2020 โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์หวังว่า ตัวอย่างฝุ่นที่เก็บมาได้จะช่วยให้มนุษยชาติมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา และการที่โลกมีสภาวะที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้ากำหนดการลงจอดในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 24 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐประมาณ 4 ชั่วโมง ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์จะทำการปล่อยแคปซูลที่บรรจุตัวอย่างฝุ่นของเบนนูที่ระยะทางห่างจากโลกราว 108,000 กิโลเมตร และพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็ว 43,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้น ร่มชูชีพ 2 ชุดจะกางออก เพื่อนำแคปซูลลงจอดบนพื้นโลกอย่างปลอดภัย

โดยคืนก่อนหน้าการลงจอด เจ้าหน้าที่ควบคุมยานสำรวจอวกาศจะมีโอกาสครั้งสุดท้าย ในการล้มเลิกการลงจอดหากปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ยานสำรวจอวกาศจะต้องไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ก่อนที่จะมีการลองลงจอดอีกครั้งในปี 2025 แซนดร้า ฟรอยด์ ผู้จัดการโครงการโอไซริส-เร็กซ์ จากล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยานของสหรัฐ กล่าวว่า ภารกิจนำตัวอย่างฝุ่นที่เก็บได้กลับสู่โลกนั้นยากมากเพราะมีหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ทีมงานก็ได้เตรียมการทุกอย่างด้วยความละเอียดเพื่อการลงจอดในครั้งนี้

หากการลงจอดสำเร็จด้วยดี เจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างของฝุ่นที่เก็บได้ไปทำการวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการในศูนย์อวกาศจอห์นสัน เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส และคาดว่าจะมีการแถลงข่าวถึงผลการวิเคราะห์ครั้งแรกในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

นาซาจัดให้เบนนูเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะ เนื่องจากเบนนู ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 500 เมตร โคจรรอบดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกทุกๆ 6 ปี และเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสพุ่งชนโลกมากที่สุด โดยจะมีโอกาส 1 ใน 2,700 ที่เบนนูจะพุ่งชนโลกในปี 2182 ซึ่งนาซากำลังศึกษาวิธีที่จะเปลี่ยนวิถีการโคจรของเบนนู และการมีความเข้าใจที่มากขึ้นถึงส่วนประกอบของเบนนูจะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างมาก

‘NASA’ ชี้!! พบจุดความร้อนจากการเผาป่าใน 'กัมพูชา' จำนวนมาก อาจเป็นเหตุที่ทำให้ฝุ่น PM 2.5 ในกทม.และภาคกลางพุ่งสูงขึ้น

(30 ม.ค. 67) จากกรณี 13 จังหวัดภาคกลาง มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในระดับสีแดงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ราชบุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครปฐม สระบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา

ขณะที่ กรุงเทพฯ พบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานทุกเขต โดย 49 เขต มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบจากเว็บไซต์ของ NASA Firms ที่อัปเดตจุด hotspot ที่เผยจุดความร้อน จากการเผาป่า ไฟป่า ต้นเหตุควัน และฝุ่น PM2.5 พบว่ามีหลายจุดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ที่พบจุดความร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางพุ่งสูงขึ้น

ขณะที่จุดความร้อน (Hot Spot) คือ จุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากก็คือความร้อนจากไฟ แสดงในรูปแบบแผนที่เพื่อนำเสนอตำแหน่งที่เกิดไฟในแต่ละพื้นที่แบบคร่าวๆ การได้มาซึ่งข้อมูลจุดความร้อนอาศัยหลักการที่ว่า ดาวเทียมสามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ (อุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส) บนพื้นผิวโลก จากนั้นประมวลผลแสดงในรูปแบบจุด

‘NASA’ ค้นพบ ‘ซูเปอร์เอิร์ธ’ โลกใหม่ที่ใหญ่กว่าโลกของเรา อยู่ห่างไปเพียง 137 ปีแสง ชี้!! หลายปัจจัยเอื้อต่อการอยู่อาศัย

(17 ก.พ. 67) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ได้เผยการค้นพบ ‘TOI-715b’ ดาวเคราะห์นอกระบบ ที่เป็น ‘ซูเปอร์เอิร์ธ’ (Super-Earth) หรือโลกที่ใหญ่กว่าโลกของเรา ที่อาจเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต โดยดาวเคราะห์ดวงนี้ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 137 ปีแสงเท่านั้น

ในการค้นพบซูเปอร์เอิร์ธในครั้งนี้ เป็นผลมาจากภารกิจที่ให้ดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ (TESS) ของ NASA สำรวจอวกาศอันกว้างใหญ่ และได้พบดาวเคราะห์นอกระบบ ซึ่งได้ถูกตั้งชื่อว่า ‘TOI-715b’ โดยโคจรรอบดาวแคระแดงที่เย็นและเล็กกว่าดวงอาทิตย์ของเรา

นักดาราศาสตร์ได้ระบุถึงดาวเคราะห์ดวงนี้ว่า อาจมีขนาดกว้างกว่าโลกของเราหนึ่งเท่าครึ่ง ใช้เวลา 19 วัน ในการโคจรรอบดาวแคระแดงในระบบของตัวเอง โดยดาวเคราะห์ TOI-715b อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากพอที่จะทำให้มันกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย คือมันมีระยะห่างจากดาวฤกษ์ที่เหมาะสมคล้ายกับโลกของเรา จนทำให้อุณหภูมิภายในดาวอาจสร้างสิ่งที่สิ่งมีชีวิตได้ และยังอยู่ห่างออกไปประมาณ 137 ปีแสงเท่านั้น

‘Georgina Dransfield’ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร กล่าวว่า ระยะที่ห่างจากดาวฤกษ์ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยมักจะคำนวณ จากปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาด อุณหภูมิ และมวลของดาว การค้นพบนี้ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เนื่องจากเป็นซูเปอร์เอิร์ธดวงแรกจากภารกิจ TESS

“นี่จะเป็นหนึ่งในการค้นหาที่ทุกคนต่างรอคอยมากที่สุด เพราะมันจะช่วยให้เราเห็นว่าดาวเคราะห์ทั่วไปมีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกับโลกเพียงใด” เขากล่าว

ในอนาคตข้างหน้า นักดาราศาสตร์หวังว่าจะมีความสามารถมากพอ ในการค้นหาดาวเคราะห์ที่อยู่รอบๆ ดาวฤกษ์ที่คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเราเพิ่มมากขึ้น โดยเร็วๆ นี้ จะมีภารกิจเพลโต (PLATO) ขององค์การอวกาศยุโรป (PLAnetary Transits and Oscillations of stars) ที่จะใช้กล้องจำนวน 26 ตัว เพื่อศึกษาและค้นหาดาวเคราะห์ที่เหมือนโลกในโซนที่อยู่อาศัยได้ หรือโคจรรอบดาวที่เหมือนดวงอาทิตย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top