Sunday, 19 May 2024
GT200

‘โฆษกกลาโหม’ แจง ทบ.ตั้งงบจ้างสวทช. ผ่าพิสูจน์  GT200 เก๊หรือไม่ กว่า 7.5 ล้านบาท เป็นไปตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ก่อนรับเงินค่าเสียหายกว่า 683 ล้านบาท  

4 มิ.ย.2565 - พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจง ภายหลังที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบกลาโหม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท ว่า ทราบเรื่องจากกองทัพบก ที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจาก เป็นไปตามคดีอาญา ที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย กับพวก รวม 5 คน ต่อศาล ฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ขณะเดียวกันคดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมา ทางบริษัทได้ยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่

ทั้งนี้ให้ตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ทั้งการวัดวัตถุไฟฟ้าสถิต การแพร่คืนแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง การวิเคราะห์ผลรวมถึงการผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง กองทัพบกจึงได้ดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. ตามที่เสนอราคามาโดยในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท ก็ได้ทยอยตรวจสอบ

'อัยการสุงสุด' แฉไทม์ไลน์คดี GT200 แนะ ทบ. พิสูจน์ตั้งแต่ปี 60 ชี้ทำตอนนี้ไม่มีผล

‘อัยการสุงสุด’ แจงไทม์ไลน์คดี GT200 แนะตรวจสอบ 757 เครื่อง ตั้งแต่ปี 2560 กองทัพบกชนะคดีให้บริษัทคืนเงินตั้งแต่ปลายปี 2564 ย้ำ การพิสูจน์ไม่ได้มีผลแพ้ชนะทางคดีแล้ว

6 มิ.ย. 2565 – นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์กรณีที่กระทรวงกลาโหมระบุถึงอัยการสูงสุดแนะให้ตรวจสอบจีที 200 ทุกเครื่องว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 กองทัพบกได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อขอให้จัดพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีปกครองว่าต่างฟ้อง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกรวม 4 คน เพื่อให้รับผิดตามสัญญาปกครอง กรณีซื้อขายเครื่องจีที 200 รวม 12 สัญญา ทุนทรัพย์ยังไม่รวมดอกเบี้ย 683,900,000 บาท

เมื่อได้รับเรื่องมาจึงได้มอบเรื่องให้ทางสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ระหว่างตรวจสำนวน ทางพนักงานอัยการเห็นว่าการที่จะบอกว่าเครื่องนี้ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาหรือเป็นเครื่องที่ใช้การไม่ได้นั้น เป็นสาระสำคัญที่จะบอกว่าคดีนี้แพ้หรือชนะ จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกองทัพบกเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงซื้อเป็นข้อยุติเพื่อให้ศาลใช้ประกอบการตัดสินคดี

วันที่ 23 เมษายน 2560 อัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง โดยฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 ในฐานะเป็นแบงก์การันตี รับผิดในวงเงินประมาณ 56,000,000 บาท โดยไม่เกิน 56,000,000 บาทเศษ ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 4 ในฐานะแบงก์การันตีรับผิดชอบในวงเงินไม่เกิน 6,000,000 บาทเศษ ซึ่งทุนทรัพย์ที่ยื่นฟ้องไป ณ วันที่ 27 เมษายน 2560 คือ 687,691,975.49 บาท

วันที่ 28 ธันวาคม 2560 ศาลปกครองกลางกลาง สั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ทางอัยการฝ่ายคดีปกครอง 5 ยื่นอุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความ
 

กองทัพบก ไม่ผ่า GT200 แล้ว เตรียมคืนงบ 2- 3 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2565  ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดี พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการทหารบก ในฐานะ โฆษกกองทัพบก ได้เปิดเผยถึง กรณีที่มีการอภิปรายในการตั้งงบประมาณเพื่อการตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 Detection Substances) ของกองทัพบกว่า  ขณะนี้สิ้นสุดแล้วไม่ต้องผ่าพิสูจน์

เมื่อถามว่าไม่ต้องผ่าไม่ต้องผ่าเครื่องGT200 แล้ว ใช่หรือไม่ พล.อ.สันติพงษ์ กล่าวว่า “ไม่ต้องผ่าแล้ว”

“ยืนยันว่างบประมาณปี 66 ไม่ได้ตั้ง ในส่วนงบประมาณปี2565 ก็ไม่ต้องใช้ เราก็ต้องคืน ประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการผ่าพิสูจน์ไปแล้ว 320 เครื่อง 

เมื่อถามว่าได้มีการทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดเพื่อเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ต้องผ่าเครื่องGT200 แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สันติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้รอหนังสือตอบรับจากอัยการสูงสุดอยู่

“ยืนยันกองทัพบกจะใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ” พล.อ.สันติพงศ์ กล่าว 

‘จิรัฏฐ์’ ซัด 13 ปี GT200 คนสั่งซื้อได้เป็นรมต. ส่วนคนขายยังได้ดี รับงานกองทัพต่ออีก 8,000 ล้าน

จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT-200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง

จิรัฏฐ์ กล่าวว่า คดี GT-200 ถือเป็นมหกรรมการทุจริตครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในช่วง 2549-2552 จากการจัดซื้อ จัดจ้าง เครื่องค้นหาวัตถุระเบิดและสารเสพติดต่าง ๆ ที่ต่อมาถูกแหกว่าไร้คุณภาพ จนมีการให้ฉายาความห่วยแตกว่าไม่ต่างอะไรกับ ‘ไม้ล้างป่าช้า’ ส่วนสาเหตุที่สังคมไทยไม่ลืมเรื่องค่าโง่ GT-200 ทั้งที่ผ่านมาแล้ว 13 ปี ก็เพราะยังคงมีคำถามที่ยังไม่เคยได้รับคำตอบว่า ใครต้องรับผิดชอบจากการจัดซื้อเครื่อง GT-200

“ปัญหาสำคัญของการจัดซื้อเครื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทุจริตที่ทำให้ประเทศชาติสูญเงินฟรีนับพันล้าน แต่ยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทหารและพลเรือนหลายคนได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดเพราะเครื่องที่ใช้การไม่ได้ ทั้งยังทำให้ผู้บริสุทธิ์นับร้อยรายต้องโดนละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการโดนคุมขัง ดำเนินคดี เพราะเครื่องชี้ผิดชี้ถูก ดังนั้น เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เพียงได้เงินคืนแล้วจบ แต่ต้องมีการเอาผิดไปถึงผู้ที่อนุมัติการซื้อเครื่องนี้เข้ามา เพราะมันได้ทำร้ายชีวิตของผู้คนไปมากมาย”

จิรัฏฐ์ กล่าวว่า คดีนี้เพิ่งมีความคืบหน้าไปอีกขั้น เมื่อวันที่ (28 มีนาคม 2565) ที่ผ่านมานี้  อัยการสูงสุด โดยอัยการศาลทหารกรุงเทพ ได้ยื่นฟ้องทหารจำนวน 22 คน ในข้อหาว่ากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่กองทัพบกสั่งซื้อ GT-200 เป็นจำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาท สำนวนนี้รับต่อจาก ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย แต่ประเด็นสำคัญคือ คดีนี้กลับชี้ไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติเลย ทั้งที่ GT-200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ.อนุพงษ์ ผบ.ทบ. ขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น

“การซื้อครั้งที่ 3, 11 และ 12 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผบ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติซื้อด้วยตัวเอง การซื้อครั้งที่ 2, 3, 6, 7, 8 และ 11 ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของ ผบ.ทบ. ก็พบว่ามีผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสธ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติโดยรับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ โดยการสั่งซื้อครั้งที่ 11 พบว่า เสธ.ทบ. ผู้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อ มีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ก็มีลายเซ็นอนุมัติสั่งซื้อในครั้งที่ 9, 10 และ 12 ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท ด้วยเช่นกัน เอกสารนี้เป็นเอกสารในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 12 สัญญา ซึ่ง ป.ป.ช. ถืออยู่มา 10 ปีแล้ว คำถามคือทำไมชื่อเหล่านี้หายไป”

จิรัฏฐ์ ยังยืนยันว่า คดีนี้มองมุมไหนก็ส่อเค้าทุจริตและ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร ต้องรับผิดชอบด้วย แต่สาเหตุที่ไม่สามารถนำไปสู่การชี้มูลความผิดได้ เพราะ ป.ป.ช. ซึ่งรู้กันว่ามีที่มาเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเพิกเฉยในการทำหน้าที่จึงไม่สามารถไปสู่การดำเนินคดีต่อได้ ตามที่พนักงานอัยการ ท่านหนึ่งมีความเห็นไว้ใน เอกสาร อก.4 ว่า

“ประวิตร รัฐมนตรีกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อ ในการจัดซื้อครั้งที่ 4 /7 /12  อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2/3/6/7/8/11 เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 1/5  มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อ แต่ไม่ได้ดำเนินการตามนั้นจึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้ เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้”

“คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่แจ้งข้อกล่าวหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อ ผู้บัญชาการทหารบกผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อ อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าวได้”

‘ป.ป.ช.’ มีมติเอกฉันท์ยื่นฟ้อง 'หมอพรทิพย์' เอง ฟันคดีอาญาจัดซื้อเครื่อง ‘GT200 และ Alpha6’

มติเอกฉันท์ ‘ป.ป.ช.’ ลุยยื่นฟ้อง 'หมอพรทิพย์' คดีจัดซื้อเครื่อง ‘GT200-Alpha6’ เชื่อมีพยานหลักฐานเพียงพอ

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 มี.ค.66 ที่ผ่านมา เห็นควรสั่งฟ้องเอง ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 ในสำนวนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญา ที่มีการชี้มูลความผิดทางอาญา กล่าวหา แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) หลังจากก่อนหน้าที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง โดยระบุว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟ้องคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์

“เหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ที่สั่งฟ้องคดีนี้เองนั้น เป็นไปตามที่เคยชี้มูลความผิดก่อนหน้านี้ เนื่องจากเชื่อได้ว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ โดยขั้นตอนปัจจุบัน ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักคดี เพื่อร่างคำฟ้อง ก่อนส่งฟ้องแก่ศาลที่เกี่ยวข้องต่อไป”

‘หมอพรทิพย์’ เปิดใจพร้อมสู้ ในคดี GT200 หลัง ป.ป.ช.สั่งฟ้อง - ขอบคุณทั้งคนห่วงใยและถล่มซ้ำ

(9 มี.ค.66) จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติเอกฉันท์ เห็นควรสั่งฟ้องเอง ในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 ในสำนวนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญา ที่มีการชี้มูลความผิดทางอาญา กล่าวหา แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) หลังจากก่อนหน้าที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง โดยระบุว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอฟ้อง แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น 

ล่าสุด แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ได้โพสต์ภาพเก่าขณะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมเขียนข้อความระบุว่า วันนี้มีข่าวจากสำนักข่าวหนึ่งให้ทราบว่าถูกป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินคดีเรื่องจีที200 ทั้งที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หลายคนตกใจ ห่วงใย บางคนอาจบูลลี่ถล่มซ้ำ ก็ต้องขอบคุณ นับเป็นความคืบหน้า เป็นความชัดเจน และนับว่าจะใกล้จุดสิ้นสุดของเรื่องหนักๆเสียที คนไม่เคยลงปฏิบัติงานในพื้นที่จะไม่เข้าใจความเหนื่อยยาก ความลำบาก อันตรายที่มีตลอดเวลา เวลาทำงานต้องมีสติ ต้องเร่งให้เสร็จเร็วเพราะมีแต่อันตราย 

ไม่เป็นกลาง!! 'หมอพรทิพย์' คาใจ 'ป.ป.ช.' ปิดโอกาสแจงจัดซื้อ 'GT200'

(10 มี.ค.66) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว.ในฐานะอดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.เห็นควรสั่งฟ้องเองในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha (อัลฟา) 6 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญา ว่า ตนพร้อมจะดำเนินการตามขั้นตอนที่มีอยู่ เพราะขณะนี้เข้ามาสู่ทางตันแล้ว ก็คงจะต้องรอจนกว่า ป.ป.ช.จะยื่นฟ้องมาเอง สำหรับช่องทางอื่นตนก็มองว่าไม่มี รอสุดทางคือถูกฟ้อง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องมาอยู่พักหนึ่งแล้ว เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะฟ้อง เพียงแต่เราทราบความเห็นเพียงตอนต้น ที่เหลือก่อนจะมาถึงจุดนี้ เราไม่ได้เห็นเอกสารหรือรายละเอียดอะไรเลย

เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังหรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า คิดว่าตอนนี้ไม่ต้องคิดอะไรมากแล้ว เราถูกร้องตั้งกรรมการสอบ เพียงแต่สงสัยว่าในฐานะที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานในขณะนั้น เราจัดซื้อเพียงแค่ 3 เครื่อง ทำไมถึงโดน แต่ในขณะที่หน่วยงานอื่นซื้อเป็นพันเครื่องถึงไม่โดน ตนมีความติดใจในเรื่องของความไม่เป็นกลาง เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช.นั้นเคยวิพากษ์วิจารณ์ตน ตอนที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิติวิทยาศาสตร์ เข้าสภาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ศาลฯ ยกฟ้อง 'คุณหญิงพรทิพย์' ปม GT 200 ไม่พบการทุจริต ด้าน ทนายซัด!! ปปช.เหมือนสั่งประหารชีวิต ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่ผิด

เมื่อวานนี้ (26 มี.ค. 67) ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.เลียบทางรถไฟ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำ อท 98/2566 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ฐานร่วมกันทุจริตและประพฤติมิชอบคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟา เมื่อปี พ.ศ. 2551 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

ภายหลัง ดร.ณรงค์ พลมาตร์ ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลพิเคราะห์หลักฐานหลังการไต่สวนพยานครบถ้วนแล้ว ไม่พบว่า คดีมีมูลความผิด หรือการทุจริต มีการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบและไม่พบว่า คุณหญิงพรทิพย์ กับเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ มีเจตนาจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ ว่าด้วยการจัดซื้อ จัดจ้าง แต่อย่างใด

ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนะสุนันท์ และเจ้าหน้าที่ ทุกข้อกล่าวหา

​ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชันซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับราชการ โดยเฉพาะข้าราชการที่ลงไปทำงานในพื้นที่อันตรายที่มีความเสี่ยงตลอดเวลา เมื่อมีการกล่าวหาและให้ข่าวต่อสาธารณะ โดยเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นเหมือนการประหารชีวิต ทั้งที่ ป.ป.ช.ทราบอยู่แล้วว่าไม่มีหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชัน ตั้งแต่ในชั้นการสอบสวน และตลอดระยะเวลา 14 ปี มีบุคคลพยายามสื่อสาร สร้างข่าว สร้างกระแสในทางลบต่อคุณหญิงพรทิพย์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟา ทำให้เกิดความเสียหาย​โดยข้อเท็จจริง หน่วยงานความมั่นคงได้ดำเนินการจัดซื้อ GT 200 ดังนี้ 

1.กองทัพอากาศ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 รวมจัดซื้อ 26 เครื่อง 
2.กองทัพบก จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณพ.ศ. 2550 รวมจัดซื้อ 757 เครื่อง 
3.กองทัพเรือ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 รวมจัดซื้อ 38 เครื่อง 
4.กรมราชองครักษ์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รวมจัดซื้อ 8 เครื่อง 
5.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รวมจัดซื้อ 6 เครื่อง

​“การที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อหาทุจริต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก และการกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ ซึ่งหมายถึงการกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญ และ กรมบัญชีกลางให้ความเห็น และตรวจสอบความชอบแล้ว ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ได้กล่าวหาโดยไร้พยานหลักฐาน แต่อ้างเป็นความเห็นส่วนตัว สร้างตราบาปให้ข้าราชการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคุณหญิงพรทิพย์ มาตลอดระยะเวลา 14 ปี (กล่าวหาปี 2553 พิพากษา 2567) และมีเจ้าหน้าที่บางหน่วยเครียดจนต้องจบชีวิตตัวเอง” ดร.ณรงค์ กล่าว

ดร.ณรงค์ กล่าวย้ำว่า ป.ป.ช. ใช้เวลาในการสอบสวนเป็นเวลานานโดยผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่เคยได้มีโอกาสชี้แจงทั้งก่อนและหลังการชี้มูล ทั้งนี้ เมื่อร้องขอความเป็นธรรมตามมาตรา 99 อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากเห็นว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ ป.ป.ช.นำคดีมายื่น ฟ้องเอง ซึ่งศาลได้ไต่สวนโดยละเอียดและตรวจสอบพยานบุคคล เอกสาร ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน ไม่พบการทำผิดใด ๆ ในข้อกล่าวหาว่า ทุจริต ประพฤติมิชอบ ดังนั้น ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ทั้งหมดจึงไม่เป็นความจริง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top