Sunday, 19 May 2024
GoodsVoice

‘ปตท.’ ผนึก ‘กฟผ.’ ร่วมทุนโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 หนุนนโยบายรัฐ ‘เสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ’ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

เมื่อไม่นานมานี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.), นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. ในฐานะประธานกรรมการ PTTLNG, นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และนายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) ประกาศความสำเร็จการร่วมทุนใน บริษัท พีอี แอลเอ็นจี จำกัด (PE LNG) เพื่อดำเนินโครงการ LNG Map Ta Phut Terminal 2 (LMPT2) ระหว่าง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 

โดย PTTLNG และ กฟผ. จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน (50:50) พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เสริมความมั่นคงทางพลังงานแก่ประเทศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสความร่วมมือและการลงทุนร่วมกันต่อไป

ผู้ถือหุ้น WHA Group ไฟเขียว จ่ายปันผลเพิ่ม 0.1170 บาทต่อหุ้น หลังผลประกอบการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566

(2 พ.ค.67) ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท, นางสาว จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ร่วมด้วยคณะกรรมการ และผู้บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM)  

โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติจ่ายปันผลเพิ่มเติมอีกในอัตราหุ้นละ 0.1170 บาท คิดเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1,750 ล้านบาท โดยขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ส่งผลให้งวดปี 2566 มีการจ่ายปันผลรวมทั้งสิ้น 0.1839 บาทต่อหุ้น ซึ่งสอดรับกับการเติบโตของผลการดำเนินงานงวดปี 2566 ที่สร้างออลไทม์ไฮสูงสุดเป็นประวัติการณ์

‘บีโอไอ’ เผยยอดลงทุนไตรมาสแรก ปี 67 แตะ 2.28 แสน ลบ. 5 อุตฯ มาแรง!! ‘อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-เคมี-ดิจิทัล-การเกษตร’

(2 พ.ค. 67) บีโอไอ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2567 เติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อน ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 724 โครงการ เงินลงทุน 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 นำโดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง สะท้อนศักยภาพของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีทองแห่งการลงทุน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน 

โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ของบีโอไอ 

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินลงทุนสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับ Power Electronics และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท ตามลำดับ  

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 105 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 785 โครงการ เงินลงทุนรวม 254,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 50,000 ตำแหน่ง สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 647 โครงการ เงินลงทุนรวม 256,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 107

“จังหวะเวลานี้มีความสำคัญ และเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ด้วยความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเสถียรของไฟฟ้าและความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ซัปพลายเชนที่แข็งแกร่ง คุณภาพของบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดี ปัจจัยที่เอื้อสำหรับการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในไตรมาสแรกนี้ มีการลงทุนสำคัญเกิดขึ้นในไทยหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการผลิตเอนไซม์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการไบโอรีไฟเนอรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความพร้อมของไทยสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และทำให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถตอบโจทย์การลงทุนในทิศทางใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกได้เป็นอย่างดี” นายนฤตม์ กล่าว

‘กรมการค้าต่างประเทศ’ คิกออฟ!! งานใหญ่เสริมแกร่ง SME 8-9 พ.ค.นี้ เอื้อโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างแดน

(4 พ.ค.67) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานใหญ่ให้ความรู้ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดและขยายโอกาสธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ SME รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง “FAST, FUTURE, FREE TRADE ขยายโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้า” ในวันที่ 8, 9 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ โรงแรม The Tide Resort Bangsaen Beach, Thailand จังหวัดชลบุรี

งานนี้ กรมการค้าต่างประเทศ นำขบวนทัพนักวิชาการให้ความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมกับความตกลงใหม่ล่าสุด กับความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา 🇹🇭รวมถึงการสมัครบัญชีผู้ใช้งานผ่านระบบ DFT SMART – I และการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยระบบ DFT SMART C/O รวมถึงการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดผ่านระบบ ROVERs PLUS 

เพราะสิทธิประโยชน์ทางการค้า คือ กุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ

พร้อมแล้วหรือยังกับการไขกุญแจเพื่อเปิดรับความรู้ดี ดี สิทธิประโยชน์ทางการค้า อย่าลืม อย่าพลาด...โอกาสดี ดี รีบลงทะเบียนด่วน

ฟรี...ฟรี มีที่นี่ กรมการค้าต่างประเทศ

‼️สนใจลงทะเบียนได้ที่ ‼️

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/LKVmVNc5Wf8YyjpN6

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/Ud74PVMatyrejQ5V7

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
📞 081-701-4654 , 063-792-4412
📞สายด่วน 1385
👉🏻Facebook กรมการค้าต่างประเทศ DFT
💻 www.dft.go.th

'อ.พงษ์ภาณุ' ยก 4 เรื่องที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของประเทศ หวัง 'พิชัย ชุณหวชิร' สะสาง พา ศก.ไทยสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ของฝากถึงรัฐมนตรีคลัง' เมื่อวันที่ 5 พ.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

น่าเสียดายที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คาด

เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 หลายสำนักรวมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ต่างก็ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือไม่ถึง 3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของไทย แม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีหลายประการในช่วงปลายไตรมาส อาทิ งบประมาณประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ / มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มมีความชัดเจน / นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาไทยอย่างท่วมท้นจนดุลบริการและดุลการชำระเงินเกินดุล แต่น่าเสียดายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง โดยตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง และไม่ฟังเสียงสาปแช่งจากประชาชนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามความหวังของคนไทยเริ่มจุดประกายขึ้นใหม่ เมื่อเราได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ที่ชื่อ 'พิชัย ชุณหวชิร' ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการเงินการคลังมาอย่างโชกโชน และเป็นที่ยอมรับในทุกวงการ เราเชื่อมั่นว่าท่านจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ได้ หากสามารถสะสางงาน 3-4 เรื่องที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของประเทศอยู่ ดังนี้...

ประการแรก ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ได้เป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง ไม่มีที่ไหนในโลกปล่อยให้ธนาคารกลางมีอิสระอย่างไร้ขอบเขตและไร้จิตสำนึกเช่นประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยล้มเหลวในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างสิ้นเชิง ปี 2565 เงินเฟ้อขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% พอปี 2566 เงินเฟ้อกลับติดลบจนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) เพราะการขึ้นดอกเบี้ยที่ผิดจังหวะจะโคน นโยบายการเงินจึงเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ หากไม่สามารถเรียกความร่วมมือจากนโยบายการเงินได้ ก็สมควรที่จะพิจารณาเปลี่ยนตัวบุคคลที่คุมนโยบายนั้นเสีย

ประการที่สอง การปรับโครงสร้างการคลังเข้าสู่สมดุล โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีอากรเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล ขณะนี้รายได้ภาษีของไทยอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และไม่เพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นเหตุให้ต้องกู้เงินจนหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ระยะต่อไปรัฐยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ จัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการป้องกันประเทศ เป็นต้น

ประการที่สาม ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังโดยตรง แต่กระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการจัดโครงสร้างแรงจูงใจและการจัดสรรทรัพยากรไปสู่การลงทุนในโครงการที่เอื้อต่อการลดคาร์บอน รวมทั้งการจัดการตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในฐานะที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง

ประการสุดท้าย ในฐานะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านนี้เป็นบุคคลในวงการกีฬา ประกอบกับปีนี้จะ มีมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็อยากขอให้ท่านรัฐมนตรีสนับสนุนการพัฒนากีฬาของประเทศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการใช้เงินของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ซึ่งมาจากเงินภาษีอากร ดูเหมือนจะยังไม่มีประสิทธิภาพและมีการรั่วไหลอยู่พอสมควร เราเชื่อมั่นว่าหากท่านรัฐมนตรีเข้ามาจัดการวงการกีฬาอย่างจริงจัง ก็น่าจะสามารถทำให้คนไทยมีความสุขกับความสำเร็จของทีมนักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปารีสนี้

รู้จัก 'บ.ทุนธนชาต' กลุ่มธุรกิจการเงินไทย 4 ทศวรรษ สร้างเครือข่ายธุรกิจจนใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

ถ้าพูดถึง ‘กลุ่มธนชาต’ หรือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ TCAP คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงธนาคารธนชาต ที่มีสีส้มสดใส เป็นสัญลักษณ์ให้คนได้จดจำ แต่ปัจจุบัน ธนชาต ได้เปลี่ยนเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB ไปแล้ว ภายหลังจากมีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต

ก่อนที่จะมาเป็น ‘ทุนธนชาต’ ในวันนี้ เส้นทางธุรกิจขององค์กรได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อปี 2523 โดยนายบันเทิง ตันติวิท (ประธานกรรมการ) และนายศุภเดช หมู่ศิริเลิศ ได้เข้าไปฟื้นฟู แคปปิตอลทรัสต์ ซึ่งพัฒนามาจากลี กวง มิ้ง บริษัทส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเปลี่ยนมาเป็น ‘บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาต’ ซึ่งได้ผ่านร้อนผ่านหนาวและวิกฤตทางเศรษฐกิจมาหลายครั้ง โดยเฉพาะวิกฤตปี 2540 จนสามารถขยายธุรกิจ จนยกระดับเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำของประเทศ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางอย่างเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจของกลุ่มธนชาตนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่มีการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจเน้นการลงทุนและเป็นบริษัทแม่ (Holding Company) ที่เข้าไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว

🔴ธุรกิจของกลุ่มธนชาต มีอะไรบ้าง?

อย่างที่เกริ่นไปว่า ‘กลุ่มธนชาต’ ดำเนินธุรกิจแบบ Holding Company จึงมีธุรกิจที่เข้าไปลงทุนหลากหลาย ตัวอย่างเช่น...

>> กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ 
ดำเนินธุรกิจโดย บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แบบ ก (Full License) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาทางการลงทุน การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ เป็นต้น

>> กลุ่มธุรกิจประกัน ประกอบด้วย...
บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้บริการประกันภัย โดยครอบคลุมถึงการรับประกันวินาศภัย ได้แก่ การประกันภัยรถยนต์ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

>> ธุรกิจการลงทุน
- บริษัท ที ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้บริการรับประกันชีวิตรายบุคคล ประกันชีวิตกลุ่ม ซึ่งเป็นหลักประกันด้านการออมเงิน ให้ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ

- บริษัท ที เอ็ม โบรคเกอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจในการเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต รวมถึงเป็นผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในการเป็นนายหน้าประกันภัยหรือตัวแทนประกันภัย

- บริษัท เอ็ม ที เซอร์วิส 2016 จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการงานด้าน Back Office และ Business Support แก่เอ็มบีเค ไลฟ์ และทีเอ็ม โบรคเกอร์

>> กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ประกอบด้วย...
- บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในกลุ่มธนชาตและสถาบันการเงินอื่นมาบริหาร

- บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินอื่นมาบริหาร

- บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารนครหลวงไทยและธนาคาร ธนชาต ทั้งสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และทรัพย์สินรอการขายมาบริหาร 

>> กลุ่มธุรกิจลิสซิ่ง ประกอบด้วย...
- บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน โดยมุ่งเน้นในตลาดรถยนต์ทั้งใหม่และเก่า ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ได้แก่ รถกระบะ รถแท็กซี่ รถหัวลาก และรถบรรทุก เป็นต้น

- บริษัท อาร์ทีเอ็น อินชัวร์รันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิตโดยให้บริการแก่ลูกค้าของราชธานีลิสซิ่งเป็นหลัก

>> กลุ่มธุรกิจลงทุน ประกอบด้วย...
- บริษัท ธนชาต เอสพีวี 1 จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นราชธานีลิสซิ่งจากธนาคารธนชาต ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ

- บริษัท ธนชาต เอสพีวี 2 จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นบริษัทอื่นๆ จากธนาคารธนชาต ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยบริษัทที่รับโอนมา เป็นกลุ่มบริษัทที่จะไม่มีการประกอบกิจการใหม่ และจะดำเนินการเลิกบริษัทและชำระบัญชีในที่สุด

นอกจากธุรกิจทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่กลุ่มธนชาตมีความแข็งแกร่งและสร้างผลตอบแทนที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องแล้ว กลุ่มธนชาต ยังมีการลงทุนในธุรกิจแขนงอื่นๆ ด้วย เช่น บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK) ที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 20% ซึ่ง MBK ถือเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายทั้ง ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ 

และที่น่าสนใจ MBK คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดราว 48% ในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้าที่เรียกได้ว่าเป็นระดับแลนด์มาร์กของประเทศไม่ว่าจะเป็น ไอคอนสยาม, สยามพารากอน, สยามดิสคัฟเวอรี, สยามเซ็นเตอร์, และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ซึ่งมีข่าวว่ากำลังจะ IPO เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กลุ่มธนชาต ไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการเงินเท่านั้น แต่ยังกระจายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจที่หลากหลาย จากจุดเริ่มต้นเป็นเพียงบริษัทหลักทรัพย์ แต่ผ่านมา 44 ปี ได้แผ่กิ่งก้านขยายการลงทุนเข้าไปยังธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มธนชาตกลายเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นองค์กรมีความชัดเจนด้านการดำเนินธุรกิจและเดินตามวิสัยทัศน์ที่ว่า 'เป็นบริษัทการลงทุนชั้นนำในธุรกิจหลากหลาย เป็นที่ยอมรับทั่วไป ในด้านความมั่นคง ยั่งยืน และมีผลตอบแทนที่ดี' อย่างแท้จริง

ร้านสเต็กชื่อดัง ‘อีซี่ กริล' ประกาศฟ้าผ่า!! แจ้งปิดกิจการถาวร ขอบคุณ ‘ลูกค้า’ จากใจ จำเป็นต้องจากไป เพราะปัญหาเศรษฐกิจ 

(6 พ.ค.67) กลายเป็นเรื่องเศร้าไปเลยสำหรับสายเนื้อ เมื่อร้านสเต็กและอาหารไทยฟิวชั่นชื่อดังอย่าง'อีซี่ กริล' (Easy Grill) ได้ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ แจ้งปิดให้บริการถาวร โดยระบุข้อความว่า "ขอบพระคุณลูกค้าที่น่ารักทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างดีตลอดมาค่ะ ร้านปิดตั้งแต่ 5 พ.ค. 67 นี้นะคะ"

"เรียนลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่านร้านอีซี่กริล มีความจำเป็นต้องปิดกิจการอย่างถาวร เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ร้านประสบปัญหาในการดำเนินกิจการทางร้านขอขอบพระคุณลูกค้าที่น่ารักทุกท่านจากใจที่ให้การสนับสนุนอย่างดีตลอดมาขอบพระคุณค่ะ Thank You " ท่ามกลางชาวเน็ตที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

‘พีระพันธุ์’ จ่อคลอดกฎหมายใหม่ เคาะราคาน้ำมันเดือนละครั้ง  ชดเชยราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ลดภาระให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

(7 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการโครงสร้างราคาพลังงานว่า หลังจากเข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ภายในกระทรวงพลังงานมีปัญหาที่ถูกหมักหมมมาเยอะมาก และแน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีคนเสนอให้ปรับโครงสร้าง แต่เมื่อทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จึงพบว่า ปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง แต่เป็นระบบเกี่ยวกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะฉะนั้น จึงต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อที่จะรื้อระบบน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย

นอกจากการออกกฎหมายแล้ว ทางกระทรวงฯ ยังเร่งเดินหน้าสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมี และจำเป็นต้องมี นั่นคือ การสร้างระบบสำรองน้ำมันทางด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ซึ่งหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีระบบนี้อยู่ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมัน และในกรณีเกิดวิกฤตสงคราม ซึ่งจะทำให้น้ำมันขาดแคลนและราคาผันผวน 

ทั้งนี้ ระบบการสำรองน้ำมันในประเทศไทยที่มีอยู่นั้น เป็นการสำรองน้ำมัน เพื่อการค้าของผู้ประกอบการ หรือภาคเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล และมีปริมาณสำรองเพียงแค่ 20 กว่าวันเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศ จะต้องมีปริมาณขั้นต่ำตามมาตรฐานอยู่ที่ 90 วัน และเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ 100% ซึ่งระบบสำรองน้ำมันที่ใช้อยู่วันนี้เป็นการสำรองน้ำมันตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ใช่สำรองเพื่อยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะฉะนั้น เมื่อประเทศต้องใช้น้ำมัน คนที่รับผิดชอบ คือ รัฐบาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในประเทศหรือต่างประเทศ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ระบบใหม่ที่กำลังจะนำมาใช้ จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลกระทบกับคนไทย โดยราคาตลาดโลกจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการกับรัฐบาล ส่วนราคาในประเทศจะขายเท่าไร รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด โดยจะเอาระบบ SPR ของประเทศมาเป็นกลไกแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการรักษาระดับราคาน้ำมัน ด้วยน้ำมัน ไม่ใช่เงินกองทุนฯ สำหรับน้ำมันที่จะนำมาใช้ ก็คือน้ำมันที่สำรองไว้ 90 วันนั่นเอง

“เรื่องนี้คนที่ประสบการณ์เยอะ รู้เยอะ ก็จะบอกทำไม่ได้ ต้องใช้เงินเป็นแสนล้าน ผมบอกไม่ต้อง ผมจะไม่ใช้เงินเลย แต่ผมจะเก็บภาษีเป็นน้ำมัน ซึ่งเก็บภาษีเป็นน้ำมันหมายความว่า เวลานี้ถ้าคิดคร่าว ๆ เงินกองทุนน้ำมันเก็บจากผู้ค้า แต่เก็บเป็นเงิน ต่อไปผมจะไม่เก็บเป็นเงิน แต่เก็บเป็นน้ำมันแทน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะได้น้ำมันวันละ 10 ล้านลิตร เมื่อผมมีน้ำมันเป็นทุนสำรอง ผมก็จะแก้ปัญหาน้ำมัน ซึ่งน้ำมันนี้เป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันสำรองของประเทศ และขณะเดียวกันผมจะใช้น้ำมันตรงนี้ที่มันจะหมุนเวียน เอามารักษาระดับราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ผมจะยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงิน เปลี่ยนเป็นกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นน้ำมันจริง ๆ นี่ก็เป็นการรื้ออย่างหนึ่ง”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า ระบบใหม่นี้สามารถทำได้แน่นอน ถ้าไม่มีคนขวาง เพราะหากจะรักษาระดับราคาน้ำมันคุณก็ต้องเอาน้ำมันไปรักษา ยกตัวอย่างสมัยตนเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ยังไปช่วยรักษาระดับราคาผลไม้เลย ผลไม้ราคาตกต่ำ ในยุคนั้นราคามังคุดตกต่ำจากกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหลือกิโลกรัมละ 4-5 บาท ก็ไปกวาดซื้อมาหมดเลย จากนั้นเอาไปให้นักโทษกิน เมื่อพ่อค้าไม่มีจะขาย คนก็ต้องกลับมาซื้อกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหมือนเดิม แต่ต้องซื้อจากเกษตรกร ไม่ได้ซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เช่นเดียวกันกับน้ำมัน ซึ่งเป็นระบบที่ IEA (International Energy Agency) ที่มีสมาชิกอยู่ร้อยกว่าประเทศในโลก เขาก็ลงขันหาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นทุนสำรองเอาไว้ เวลาที่เกิดวิกฤติในตลาดโลกแพงเกินไป หรือว่าน้ำมันขาดแคลน ก็จะนำน้ำมันในสต็อกตรงนี้เข้าไปอัดในตลาดโลก ทำให้รักษาระดับราคาน้ำมันได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการวางระบบใหม่ จะมีองค์กรพิเศษใหม่มาคอยกำกับเรื่องราคาน้ำมันโดยเฉพาะ และความมั่นคงพลังงาน อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เป็นองค์กรที่ไม่ได้ค้ากำไร ไม่ได้มาแข่งกับผู้ค้า แต่เป็นองค์กรกำกับให้อยู่ในระบบเฉย ๆ เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังทำอยู่ และพยายามจะให้แล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือนนี้ 

“เมื่อระบบ SPR สำเร็จ 100% จะช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันและกองทุนฯ ได้อย่างยั่งยืน และเป็นระบบที่ถูกต้อง โดยยืนยันว่าไม่กระทบกับเอกชนแน่นอน และจะไม่ให้ปรับราคาขึ้นลงทุกวันตามอำเภอใจแบบนี้อีก จะให้ปรับได้เดือนละครั้ง ต้องเอาต้นทุนมาเคลียร์กับกระทรวงแล้วมาหาราคาเฉลี่ยกันว่าจะปรับขึ้นลงยังไง กฎหมายผมจะไม่มีตารางส้ม (ตารางต้นทุนผู้ค้าน้ำมันของสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน) แบบนี้อีกแล้ว ผมจะใช้ต้นทุนจริง ไม่ใช่ต้นทุนอ้างอิงสิงคโปร์อะไรกันอีก ทุกอย่างต้องเป็นของจริง ในกฎหมายที่ผมจะออกใหม่จะชัดเจนดูแลได้ทั้งหมด”

5 เดือนแรก ต่างชาติแห่เที่ยวไทย ดันยอดทะลุ 12 ล้านคน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายประมาณ 605,201 ล้านบาท

(7 พ.ค. 67) รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยผลการประเมินเบื้องต้นพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 พ.ค. 2567 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาแตะระดับ 12 ล้านคน ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาลดลงจากการชะลอตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ (Short haul) และตลาดระยะไกล (Long haul) จากการเริ่มเข้าสู่ช่วง Low season โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียขยับลงมาเป็นกลุ่มที่เข้ามาเป็นอันดับที่ 5 จากเดิมในอันดับที่ 4 ส่งผลให้ในภาพรวมสัปดาห์นี้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 639,822 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 12,419 คน หรือ 1.90% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 91,403 คน

โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน 161,678 คน มาเลเซีย 84,127 คน อินเดีย 46,561 คน เกาหลีใต้ 31,738 คน และรัสเซีย 27,228 คน โดยนักท่องเที่ยวจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และมาเลเซีย มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 9.41% 8.41%  5.96% และ 0.84% ในขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซีย มีการปรับตัวลดลง 9.15%

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลงจากการเริ่มเข้าสู่ช่วง Low season แต่ยังคงมีปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน และการขยายสิทธิการยกเว้นตรวจลงตรา ที่เดินทางไม่เกิน 60 วัน ให้กับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการท่องเที่ยวในปีนี้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ค. 67 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมาทั้งสิ้น 12,588,825 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 605,201 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 2,461,620 คน มาเลเซีย 1,634,388 คนรัสเซีย 784,550 คนเกาหลีใต้ 704,427 คน และอินเดีย 677,783 คน

‘BCPG’ เผยผลงานไตรมาส 1/67 ปลื้ม!! กำไรสุทธิแตะ 441 ล้านบาท

(8 พ.ค. 67) บีซีพีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.9 จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว กลับมาดำเนินการเต็มไตรมาส และเริ่มรับรู้รายได้ของคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในปีที่ผ่านมา ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,194 ล้านบาท 
มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 441 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2566 ร้อยละ 13.9 ที่มีกำไรสุทธิ 512 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2566 มีการบันทึกการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน 267 ล้านบาท  
ขณะที่มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ  ซึ่งไม่รวมการกลับรายการจากการด้อยค่าทรัพย์สิน และรายการพิเศษอื่นๆ 343 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 114.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่ 160 ล้านบาท 

"กำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานปกติในไตรมาส 1 ปี 2567 เติบโตกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการกลับมาเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว และเริ่มขายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ประกอบกับการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการหลัก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากกำลังลมที่พัดผ่านโครงการเพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและมีการบริหารจัดการส่วนต่างของราคาขายไฟฟ้าและต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ดี

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 บริษัทฯ ได้บรรลุเงื่อนไขบังคับภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 7.95 เมกะวัตต์ และจะเริ่มรับรู้รายได้เพิ่มเติมในทันที” นายนิวัติกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นผู้ประกอบการและลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ และก๊าซธรรมชาติ ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิตรวม 2,049 เมกะวัตต์ 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มการทำการตลาดกับผู้บริโภครายย่อยโดยตรงมากขึ้น เน้นการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงให้บริการการจัดการ ด้านพลังงานหรือ energy as a service และนำเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลกมาใช้ ช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top