'อ.พงษ์ภาณุ' ยก 4 เรื่องที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของประเทศ หวัง 'พิชัย ชุณหวชิร' สะสาง พา ศก.ไทยสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ของฝากถึงรัฐมนตรีคลัง' เมื่อวันที่ 5 พ.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

น่าเสียดายที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คาด

เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 หลายสำนักรวมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ต่างก็ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือไม่ถึง 3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพของไทย แม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีหลายประการในช่วงปลายไตรมาส อาทิ งบประมาณประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ / มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มมีความชัดเจน / นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาไทยอย่างท่วมท้นจนดุลบริการและดุลการชำระเงินเกินดุล แต่น่าเสียดายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง โดยตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง และไม่ฟังเสียงสาปแช่งจากประชาชนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามความหวังของคนไทยเริ่มจุดประกายขึ้นใหม่ เมื่อเราได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ที่ชื่อ 'พิชัย ชุณหวชิร' ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการเงินการคลังมาอย่างโชกโชน และเป็นที่ยอมรับในทุกวงการ เราเชื่อมั่นว่าท่านจะนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ได้ หากสามารถสะสางงาน 3-4 เรื่องที่เป็นอุปสรรคขวากหนามของประเทศอยู่ ดังนี้...

ประการแรก ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ได้เป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง ไม่มีที่ไหนในโลกปล่อยให้ธนาคารกลางมีอิสระอย่างไร้ขอบเขตและไร้จิตสำนึกเช่นประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยล้มเหลวในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างสิ้นเชิง ปี 2565 เงินเฟ้อขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% พอปี 2566 เงินเฟ้อกลับติดลบจนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) เพราะการขึ้นดอกเบี้ยที่ผิดจังหวะจะโคน นโยบายการเงินจึงเป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ หากไม่สามารถเรียกความร่วมมือจากนโยบายการเงินได้ ก็สมควรที่จะพิจารณาเปลี่ยนตัวบุคคลที่คุมนโยบายนั้นเสีย

ประการที่สอง การปรับโครงสร้างการคลังเข้าสู่สมดุล โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีอากรเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล ขณะนี้รายได้ภาษีของไทยอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และไม่เพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นเหตุให้ต้องกู้เงินจนหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ระยะต่อไปรัฐยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ จัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการป้องกันประเทศ เป็นต้น

ประการที่สาม ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังโดยตรง แต่กระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการจัดโครงสร้างแรงจูงใจและการจัดสรรทรัพยากรไปสู่การลงทุนในโครงการที่เอื้อต่อการลดคาร์บอน รวมทั้งการจัดการตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในฐานะที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง

ประการสุดท้าย ในฐานะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านนี้เป็นบุคคลในวงการกีฬา ประกอบกับปีนี้จะ มีมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็อยากขอให้ท่านรัฐมนตรีสนับสนุนการพัฒนากีฬาของประเทศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการใช้เงินของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ซึ่งมาจากเงินภาษีอากร ดูเหมือนจะยังไม่มีประสิทธิภาพและมีการรั่วไหลอยู่พอสมควร เราเชื่อมั่นว่าหากท่านรัฐมนตรีเข้ามาจัดการวงการกีฬาอย่างจริงจัง ก็น่าจะสามารถทำให้คนไทยมีความสุขกับความสำเร็จของทีมนักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปารีสนี้