Wednesday, 4 December 2024
Easthern

ชลบุรี - สัตหีบ เปิดศูนย์ CI แยกกักตัวผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อเวลา 10.00 น วันที่ 31 ส.ค.64 นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ เป็นประธานเปิดศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation :CI) ณ ศูนย์การเรียนรู้เทศบาลตำบลบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

หลังพบการแพร่ระบาดในพื้นที่อำเภอสัตหีบ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน ล่าสุดเมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16 ราย ยอดสะสม 1,780 ราย กำลังรักษา 411 ราย หายป่วย 1,350 ราย เสียชีวิต 19 ราย และผู้ติดเชื้อในเขตเทศบาลตำบลบางเสร่ เมื่อ 30 ส.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายยอดสะสม 132 ราย รักษาหาย 95 ราย อยู่ระหว่างรักษาในโรงพยาบาล36 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ในการรับดูแลผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับแยกกักตัวคนในชุมชน (CI) เพื่อดูแลผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 และแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยได้กลับมาดูแลรักษาในศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชนจนครบกำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

โดยมี นายชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางเสร่ พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทน สส.ชลบุรี เขต 8 ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สาธารณสุขอำเภอสัตหีบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางเสร่ ร่วมในพิธีเปิดโครงการและนำนายอำเภอสัตหีบ เข้าเยี่ยมชมศูนย์พักคอยและแยกกักตัว สำหรับคนในชุมชน ในครั้งนี้ จำนวน 15 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยหญิง 8 เตียง ผู้ป่วยชาย 7 เตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน

นายกิตติพงษ์ กิตติคุณ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่าโครงการจัดตั้งศูนย์พักคอยและแยกกักตัวสำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพี่น้องประชาชนชาวบางเสร่ เพื่อให้ชุมชนปลอดโรคและปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยการได้รับการป้องกัน เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ผ่านภาวะเฉียบพลันหรือวิกฤต และมีอาการดีขึ้นคงที่ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และเพื่อให้ประชาชนผู้ติดเชื้อ ได้รับการคัดแยกอาการและรักษาดูแลตามแนวทางการปฏิบัติ ด้านสาธารณสุข ในการป้องกันแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด-19

และขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ลดกิจกรรมต่าง ๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เช็คอุณหภูมิร่างกาย ไม่มั่วสุมรวมกลุ่มดื่มสุรา ซึ่งเราจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ ไปให้ได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ในทุกภาคส่วนขอให้พี่น้องประชาชน สบายใจได้


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ระยอง - คณะกรรมการ EEC เปิดโรงพยาบาลสนาม EEC บ้านฉาง จำนวน 120 เตียง ภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านโควิด

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นายแพทย์สุนทร เหรียญภูมิการกิจ นายแพทย์สาธาราณสุขจังหวัดระยอง และนายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง ร่วมเปิดโรงพยาบาลสนาม EEC บ้านฉาง ขนาด 120 เตียง พร้อมตรวจเยี่ยมระบบบริหารจัดการ การดูแลผู้ป่วยและการใช้ระบบ JITASA.CARE weSAFE@Home เป็นสื่อกลางดูแลผู้ป่วยทั้งระบบ ภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านโควิด ตั้งอยู่ริมถนนบูรพาพัฒน์ ม.2 อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างของความร่วมมือเพื่อจะช่วยกันบรรเทาปัญหาของโควิด-19 ของทางจังหวัดระยอง กระทรวงสาธารณสุข อบจ.ระยอง เทศบาลตำบลบ้านฉาง และภาคโรงงานอุตสาหกรรม และ EEC ด้วย โดย EEC จะเข้ามาช่วยประสานงานเพื่อให้เกิดเป็นระบบขึ้นมาในการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ตรวจ ATK จนกระทั่งผู้ป่วยหาย โดยมีการนำเอาจิตอาสาเข้ามาร่วมทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งจะมีการต่อยอดไปทำโรงพยาบาลที่อื่นต่อไป ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 เตียงในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ด้วย โดยที่นี่จะเป็นต้นแบบการทำโรงพยาบาลสนามของพื้นที่ของ EEC ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ปลวกแดง และอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ด้าน นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า เป็นโครงการความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้ลุล่วงไป โดยการทำงานครั้งนี้เป็นการตรวจปูพรมทั้งพื้นที่ เพื่อจะดูว่าระบบมีปัญหาขัดข้อง และอุปสรรคอย่างำไร เมื่อสำเร็จก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป ที่สำคัญโครงการดังกล่าวมีจิตอาสา และภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงานแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งจะนำไปบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่อื่นต่อไป


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

ชลบุรี - พัทยา เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ป่วย 7 โรค เกิน 80 % แล้ว หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก่อนเตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว มีนักร้องขับกล่อมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อลดความเครียด

วันนี้ 1 ก.ย.64 ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล และประชาชนที่เดินทางมาเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์ม เมืองพัทยาเข็ม 1 ในวันแรก จำนวน 1,000 คน  ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยา ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อทำการจัดซื้อจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ฯ จำนวน 100,000 โดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนเมืองพัทยาหวังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยปัจจุบันเมืองพัทยา ได้รับการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม จากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส โดยบรรยากาศวันนี้มีผู้ที่ลงทะเบียนออนไลท์ มาฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม และผู้ที่มาตรวจหาเชื้อโควิด ATK จำนวน 200 คน โดยบรรยากาศมีเพลงขับกล่อม เพื่อระบายความเครียดแก่ผู้ที่มาใช้บริการ

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ของเมืองพัทยาวันที่สอง ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 2  ซึ่งพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเมืองพัทยา เร่งฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม ที่เมืองพัทยาตั้งงบประมาณจัดซื้อมานั้น ถือว่ามีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่เกือบทั้งหมด รวมถึงวัคซีนที่ภาครัฐจัดสรรมาให้ ทั้งในส่วนของซีโนแวค แอสตร้าเซเนก้า วันนี้สามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคไปแล้ว มากกว่า 80% ส่วนประชาชนทั่วไปนั้น ได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนที่กำหนดหรือ 70 % เพื่อเร่งเปิดเมืองท่องเที่ยวหรือแผน Pattaya Move On สามารถมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีความปลอดภัยด้านการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดภายในเดือน มกราคม 2565 ซึ่งหลังจากนั้นจะได้เร่งตามแผนการที่จะเปิดการรับนักท่องเที่ยว อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ทัพเรือภาคที่ 1 มอบอาหารกล่องจาก “ครัวเรือรบ” ภายใต้แนวคิด “From The Sea” ต้านภัยโควิด-19 ให้ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วย และเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 1 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 พร้อมด้วย พลเรือตรี จรัญวีร์  ญาดี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 และ คุณนุชนภา อินทร์พรหม ประธานชมรมภริยาทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 1 เดินทางไปมอบอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม จำนวน 86 ชุด ณ จุดประชาสัมพันธ์ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ภายใต้โครงการมอบอาหารกล่องจาก “ครัวเรือรบ” ภายใต้แนวคิด “From The Sea” ต้านภัย COVID-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วย COVID-19 และเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นนักรบชุดกราวน์ ที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยตรง โดยมี พลเรือตรี ชลธร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ให้การต้อนรับ และนำไปแจกจ่ายให้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ณ โควิดคลินิก และแจกจ่ายให้แก่บุคลากรแพทย์และพยาบาลด่านหน้าที่ต้องต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อไป

สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มาเข้ารับบริการที่โควิดคลินิก รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการคัดแยก ให้ความรู้ และรับไว้รักษา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และจะต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดบริเวณโดยไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารกลางวันได้

ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 จึงได้มีนโยบายให้การสนับสนุนในโครงการมอบอาหารกล่องจาก “ครัวเรือรบ” ภายใต้แนวคิด “From The Sea” ต้านภัย COVID-19 มอบให้ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่โควิดคลินิก อีกทั้งยังเป็นการให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ โครงการนี้ได้จัดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง รวมอาหารกล่อง พร้อมน้ำดื่มที่ได้ให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 1,116 ชุด และจะยังคงให้การสนับสนุนเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยที่ผ่านมาในโครงการนี้มีกำลังพลจากหมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน และหมวดบินเฉพาะกิจ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันจัดทำอาหารกล่องมามอบให้แก่ทางโรงพยาบาล ภายใต้โครงการดังกล่าวด้วย

“ครัวเรือรบ From The Sea” ต้านภัย COVID-19

#พลังสามัคคีพลังราชนาวี

#ทัพเรือภาคที่1


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี

ชลบุรี - ต้องรุกสู้! นายก อบจ.ชลบุรี ตรวจเยี่ยมการให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์ม เร่งกระจายให้ประชาชนเร็วที่สุด

บริเวณศาลาประชาคมอ่าวอุดม ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมกันลงพื้นตรวจเยี่ยมการให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์ม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (อบจ.ชลบุรี) ที่ได้จัดหาวัคซีนทางเลือกในการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันหมู่ และเพื่อเป็นการเสริมแนวทางการกระจายวัคซีนหลักจากทางรัฐบาล

ในวันนี้ได้กำหนดกระจายวัคซีนต่อ ให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนกับเครือข่าย อบจ.ชลบุรี โดยกำหนดใช้พื้นที่ศาลาประชาคมอ่าวอุดม ซึ่งเป็นสถานที่ให้บริการวัคซีนซิโนฟาร์ม กับประชาชน โดยพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนงานต่าง ๆ ได้ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวก ท่ามกลางมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาด อย่างเคร่งครัด

นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ทางอบจ.ชลบุรี จะได้พยายามกระจายวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ทั่วทั้งจังหวัด โดยอำเภอศรีราชา ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และเป็นกลุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาด เนื่องด้วยเป็นพื้นที่เมืองท่องเที่ยว

อบจ.ชลบุรี ได้ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกอำเภอ เพื่อจะได้จัดสรรและกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงให้เร็วที่สุด  


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ระยอง - สภ.เมืองระยอง เปิดตัวโครงการ “ระยอง สมาร์ท เซฟตี้โซน 4.0”ใช้ระบบกล้อง CCTV และแอพพลิเคชันแจ้งเหตุร้ายได้รวดเร็ว คุมพื้นที่ 4.4 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2564 ที่ สภ.เมืองระยอง ต.ท่าประดู อ.เมืองระยอง จ.ระยอง พล.ต.ต.มานะ อินพิทักษ์ รอง ผบช.ภ.2 รรท.ผบก.ภ.จว.ระยอง เป็นประธานเปิดตัวโครงการ”สมาร์ เซฟตี้ โซน 4.0(SMART SAFETY ZONE 4.0)สู่นวัตกรรมใหม่ของความปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะสุดล้ำ และการร่วมมือภาคประชาชน “เชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน”  มี พ.ต.อ.พรัชต์ศรุต วัชรธนโยธิน ผกก.สภ.เมืองระยอง และผู้นำชุมชนในเขตรับผิดชอบ สภ.เมืองระยอง เข้าร่วมโครงการ โดยมีการปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกรณรงค์เคาะประตูบ้านประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการด้วย

พล.ต.ต.มานะ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ที่ต้องการลดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรมแก่พี่น้องประชาชน และเกิดความเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ของความปลอดภัยด้วยระบบกล้อง CCTV แอพพลิเคชั่นที่แจ้งข้อมูลอาชญากรรม เหตุด่วนเหตุร้ายได้รวดเร็วดังกล่าวมาใช้ เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมีสถานีตำรวจนำร่อง 15 แห่ง ซึ่ง สภ.เมืองระยอง เป็น 1ใน 3 แห่ง สังกัดตำรวจภูธรภาค 2 ที่ได้นำโครงการดังกล่าวมาใช้ดูแลครอบคลุมพื้นที่ 4.4 ตารางกิโลเมตร เขตพื้นที่เทศบาลนครระยอง เทศบาลตำบลเนินพระ และเทศบาลตำบลเชิงเนิน ประชากร 8,053 ครัวเรือน ซึ่งการนวัตกรรมดังกล่าว จะประกอบด้วย 1.การใช้ระบบกล้อง CCTV จำนวน 130 ตัว และห้อง ควบคุม CCOC  กล้องวงจรปิดที่ใช้ในงานสืบสวน จราจรและสายตรวจ 24 ชม. / 2.ตู้แดง 4.0 / 3.แอพพลิเคชั่น police I lert u / 4.โครงการฝากบ้านกับตำรวจ 4.0 / 5.ติดตั้งระบบ GPS ในรถสายตรวจ / 6.ระบบแจ้งเอกสารหายออนไลน์ / 7.การสร้าง Line official account ของโครงการ / 8.การใช้ระบบไฟฟ้าโซลาเซล และ 9.เสาไฟฟ้าอัจฉริยะ


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

ชลบุรี - ศรชล.ภาค1 ร่วมหน่วยงานพื้นที่สัตหีบ รื้อถอนทำลายซากเรือ จัดระเบียบสร้างความสวยงามให้ชายทะเลอ่าวสัตหีบ

วันนี้ (7 ก.ย.64) ที่บริเวณชายทะเลหน้าโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ศรชล.ภาค 1 บูรณาการหน่วยงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จัดโครงการอาสาสมัครรักษ์ทะเลไทย ศรชล.ภาค 1 ภายใต้ (กิจกรรมรื้อถอนและทำลายซากเรือของกลางที่คดีถึงที่สุดแล้ว) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของชายหาดและทะเลอ่าวสัตหีบบริเวณหน้าโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้กลับมามีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และความสวยงามของทัศนียภาพ

ซึ่งปัจจุบันเกิดปัญหาจากซากเรือประมงของกลางที่สะสมอยู่จำนวนมาก ทำให้กีดขวางและเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ รวมถึงทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อาทิ สัตว์น้ำและหญ้าทะเล อีกทั้งการจอดเรือที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้ทัศนียภาพของอ่าวสัตหีบขาดความสวยงามและส่งผลกระทบด้านความมั่นคงต่อพื้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นเขตปลอดภัยในราชการทหาร

นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังช่วยส่งเสริมประชาสัมพันธ์ถึงความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และมีส่วนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปแบบของกิจกรรมการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ระยอง - กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง ‘โครงการลมหายใจเดียวกัน’ สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อชุดตรวจ covid-19 แบบ Rapid Antigen Test Kit และจัดทำชุด PTT Group Care Box สำหรับผู้ป่วยสีเขียว

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง นำโดยคุณสมนึก แพงวาปี กรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง ดร. วิสุทธิ์ หนูงาม ประธานอนุกรรมการชุมชนสัมพันธ์และการสื่อความกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง และคณะผู้บริหารจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด มูลค่ารวม 2,000,000 บาท

ดำเนินโครงการลมหายใจเดียวกัน สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อชุดตรวจ covid-19 แบบ Rapid Antigen Test Kit และจัดทำชุด PTT Group Care Box สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โดยได้รับเกียรติจาก นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ เป็นตัวแทนรับมอบ ในปี 2564 กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยอง ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดของ covid-19 ในโครงการลมหายใจเดียวกัน เช่น เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจให้โรงพยาบาลระยอง , มอบเครื่องวัดความดัน ให้กับโรงพยาบาลสนาม, สนับสนุนแอลกอฮอล์ชนิดน้ำและหน้ากากผ้าให้กับ 4 เทศบาล 

#กลุ่ม ปตท.เคียงข้างสังคมไทย ด้วยลมหายใจเดียวกัน


ภาพ/ข่าว  ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

ประจวบคีรีขันธ์ - ศรชล.ภาค 1 - ทรภ.1 นำอาหารจากเรือรบ ส่งมอบผู้ใกล้ชิดและผู้ติดเชื้อโควิด-19

วันที่ 16 ก.ย.64  ศรชล.ภาค 1 โดย น.อ.ไกรพิชญ์ กรวีร์ปภาวิทย์ หน.ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ (PSCC) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร.อ.มานะ พิมพ์งาม เจ้าหน้าที่ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร.ท.กุลเชษฐ์ สืบศิริ ผู้ควบคุมเรือ ต.261 ทัพเรือภาคที่ 1 ร.ต.ต. บัลลังก์ บุญพิทักษ์โยธิน รองสารวัตร สถานีตำรวจน้ำ

6 กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ พร้อมกำลังพลในสังกัดได้ร่วมกันมอบ อาหารกล่องพร้อมน้ำดื่มจำนวน 100 ชุด ให้กับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากน้ำปราณ เพื่อนำไปส่งมอบให้กับผู้ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง ที่กักตัวอยู่ภายในเรือ ภายในบ้านเรือน หรือโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีมากกว่า 100 คนในปัจจุบัน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ในสถานการณ์ COVID 19

สำหรับอาหารกล่อง ที่นำมามอบส่งมอบกำลังใจทางทะเล เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์  โดยใช้ห้องครัวเรือ ต.261 ประกอบอาหาร เพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ติดเชื้อ และผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังที่กักตัวอยู่ภายในเรือ หรือบ้านเรือน หรือโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ ต.ปากน้ำปราณ ในสถานการณ์ COVID 19  ตามแนวคิด From The Sea ของ พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) / ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1( ศรชล.ภาค 1) ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือในโครงการ “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID-19” โดย เรือ ต.261 เป็นเรือหลวง สังกัดทัพเรือภาคที่ 1 ที่มีแผนการลาดตระเวนทางทะเลในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้ นำความห่วงใย จากทัพเรือภาคที่ 1 และกองทัพเรือ สู่ประชาชนในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว สนง.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

ชลบุรี - คกก.สว.พบประชาชน ส่งมอบวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ - รพ.สนาม พร้อมสรุปสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่

คณะกรรมการสมาชิกวุฒิสภา พบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก มอบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี พร้อมประชุมรับฟังการสรุปสถานการณ์ในพื้นที่ (ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์)

วันที่ 16 กันยายน 2564 ที่ศาลากลางจังหวัดชลบุรี วุฒิสภา โดย คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภา พบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมี พลเอก วรพงษ์  สง่าเนตร รองประธานกรรมการ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน (ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา ในคณะกรรมการโครงการฯ เข้าร่วมพิธี และร่วมประชุมหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ณ ห้องประชุม 416-417 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) กรุงเทพฯ

พร้อมกันนี้ นายชาญวิทย์  ผลชีวิน และนางสาววิไลลักษณ์  อรินทมะพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นผู้แทนส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และสิ่งของจำเป็น ให้กับนายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมผู้บริหารโรงพยาบาลชลบุรี เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อนำไปให้โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โอกาสนี้ สมาชิกวุฒิสภา ยังมอบเงินสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา จำนวน 75,000 บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามในจังหวัดชลบุรี โดยมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับมอบในครั้งนี้

สำหรับการดำเนินการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของจำเป็นเร่งด่วน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกวัน และขณะนี้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกระจายในหลายจังหวัด เพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชน กระจายอยู่ในทุกจังหวัด ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้มีการประชุมหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อรับทราบข้อมูลในประเด็นปัญหาเร่งด่วนของจังหวัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมและส่งผลกระทบต่อประชาชน

คณะกรรมการฯ ขอส่งกำลังใจและความห่วงใยไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนคนไทยทุกคน เราทุกคนจะร่วมมือกันฝ่าฟัน และผ่านวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top