Friday, 26 April 2024
ClickonCrazy

???? เตรียมพบรายการใหม่จาก THE STUDY TIMES รายการ "Click on Crazy" ????

???? เตรียมพบรายการใหม่จาก THE STUDY TIMES จ้าาาาา

???? รายการ "Click on Crazy"

"ระเบิดการเรียนรู้ คิดนอกกรอบ พัฒนาอย่างสร้างสรรค์และทันสมัย "????

พูดคุยกับแขกรับเชิญสุดแสนจะไม่ธรรมดา ปลดปล่อย Passion สุด Crazy !!

พบพิธีกรน้องใหม่สุดน่ารักของเรา "แองจี้ THE STUDY TIMES" ????

ติดตาม Click on Crazy ได้ทาง

Facebook : THE STUDY TIMES

YouTube : THE STUDY TIMES

"โปรแกรมเมอร์" เบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจยุคโซเชียลกับ คุณบิว อธิศนันท์ | Click on Crazy EP.1

บทสัมภาษณ์ Click on Crazy EP.1
คุณบิว อธิศนันท์ กีรติณัตินันท์
โปรแกรมเมอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนิวสเปคทีฟ กรุ๊ป 

Q : จุดเริ่มต้นของสายงานอาชีพ “โปรแกรมเมอร์”

A : คือจริงๆแล้วก็ไม่คิดไม่ฝันเหมือนกันว่าตัวเองจะมาเป็นโปรแกรมเมอร์เพราะว่าเรียนจบบริหารธุรกิจนะคะในสายคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แล้วก็เรียนจบมาเนี่ยก็ทำงานในสายของแอดมิน เป็นคนคอยคีย์ข้อมูลเข้าระบบอะไรประมาณนี้ค่ะ

ทีนี้เนี่ยก็มีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระบบมาเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ยังไงก็เกิดจากการที่เราคีย์ข้อมูลเข้าระบบนี้แหละแล้วเรามีความรู้สึกว่าระบบเนี่ยถ้าเกิดว่ามีการเขียนโปรแกรมและไม่มีการคีย์ข้อมูลซ้ำๆเข้าไปแล้วสามารถที่จะดึงข้อมูลมาแล้วคีย์สต็อกได้เนี่ยมันน่าจะทำงานได้ง่ายมากขึ้นเราก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาก็เลยเดินเข้าไปคุยกับเจ้าของบริษัทว่าเราคิดว่าเราจะทำตรงนี้ให้ได้นะอย่างนั้นเราขอโอกาสว่าเราเป็นคนเขียนโปรแกรมได้ไหมก็ถือว่าเป็นงานที่เปิดทางให้เราได้ก้าวจากแอดมินทั่วไปมาเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นก็คือจุดเริ่มต้น

Q : ประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์มาทั้งหมดกี่ปี 

A : ประมาณ 17 ปีค่ะ 

Q : คำว่า “โปรแกรมเมอร์” คือในความหมายของคุณบิวคืออะไร

A : โปรแกรมเมอร์ หรือ Programmer developer ก็คือเป็นผู้พัฒนาเป็นผู้สร้างเป็นผู้คิดพัฒนาระบบขึ้นมา หลายคนที่ดูจากภายนอกเข้ามาอาจจะมองว่าต้องเก่งมากๆเลย จริงๆ แล้วเป็นงานที่ไม่สายเลยนะคะใช้ความคิดค่อนข้างมาก ระยะเวลาในการทำงานเนี่ยบางครั้งเนี่ยจะต้อง Coding ถึง 10 ชั่วโมงขึ้นไปโดยส่วนใหญ่โปรแกรมเมอร์เหมือนความคิดของเขาเนี่ยมันจะมีกระบวนการซึ่งเขาจะต้องเชื่อมต่อระบบในหัวตลอดเวลา หลาย ๆ คนเลยบอกว่าโปรแกรมเมอร์เข้าถึงยาก อาจจะเป็นเพราะการทำงานของแต่ละคน

Q : ทำไมถึงชื่นชอบในอาชีพ “โปรแกรมเมอร์”

A : จริง ๆ ทุก ๆ สายงานมีเสน่ห์เฉพาะตัวของมันไม่ว่าจะเป็นบัญชีหรือผู้สื่อข่าวก็จะมีความพิเศษเฉพาะของอาชีพนั้น ๆ แต่ในส่วนของโปรแกรมเมอร์เนี่ยมันก็มีเสน่ห์ของมันสิ่งหนึ่งที่เป็นความภูมิใจคือเวลาที่ทำงานชิ้นหนึ่งของมาแล้วทำให้คนหรือบริษัทได้ใช้งานได้ง่ายขึ้นจากการที่เขาเคยอ่านต้องมานั่งคีย์ที่ระบบหลายขั้นตอน เราก็สามารถทำงานให้ระบบออกมาเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นคืออันนั้นคือความภูมิใจของโปรแกรมเมอร์ที่จะได้ทำงานออกไปแล้วให้คนที่ใช้งานได้ง่ายขึ้นก็เหมือนเราทำงานให้มันน้อยลงพยายามลดขั้นตอนในการทำงาน

Q : หลังจากได้ทำงาน “โปรแกรมเมอร์” รู้สึกว่าตัวเองมีการพัฒนาอะไรมากยิ่งขึ้น

A : หน้าที่ของโปรแกรมเมอร์เนี่ยเดิมทีต้องเป็นคนที่ออกแบบ สร้างและพัฒนาดูแลและ support โปรแกรมเมอร์เนี่ยจะต้องมีทักษะเหล่านี้อยู่ฉะนั้นเวลาที่เราได้รับงานมาเนี่ยเราก็ต้องมีการวางแผนก่อนบางครั้งโจทย์ที่ได้รับมาอย่างเช่นให้ทำระบบบัญชีอย่างล่าสุดที่เข้ามาอยู่ใน Newspective ทางบริษัทให้ทำเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับระบบบริหารธุรกิจ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะจบบริหารมาแต่เราก็ไม่รู้ระบบ PO เราไม่ได้รู้ระบบเกี่ยวกับบัญชี ตอนเราได้โจทย์มาว่าจะต้องทำโปรแกรมที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เพื่อที่จะทำให้คนใช้งานสามารถเปิด po ออนไลน์ได้สามารถที่จะเปิด invoice ออนไลน์ได้สามารถที่จะเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้ทุกอย่างเราก็ต้องทำการรีเซ็ตตัวเองก่อน การเป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยก็จะได้มีสะสมประสบการณ์จากการที่เราเขียนโปรแกรมเหล่านี้ การ Research ขั้นตอนกับเจ้าของโปรแกรมว่าต้องการอะไร เราก็เอากระบวนการทำงานของเขาเนี่ยมันคิดเป็นระบบแล้วก็เขียนโปรแกรมออกมาได้เรียนรู้ใหม่ตลอด 

Q : ถ้าเราเขียนโปรแกรมแล้วเกิดปัญหาอย่างการติด Bugs มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร 

A : อย่างการเกิด Bugs จะเกิดหลังจากที่เราเขียนโปรแกรมเสร็จแล้วก็คือหลังจากที่ User เข้ามาทำการทดลองใช้งาน บางครั้งโปรแกรมเขียนจะไม่เจอปัญหา แต่คนอื่นจะมาเจอปัญหาที่ว่าในขณะการใช้งานการแก้ไขปัญหาในเรื่องบางเรื่องไม่ต้องซีเรียสเลยเพราะว่าโปรแกรมเมอร์จะรู้แล้วว่าจะ Error โปรแกรมก็ต้องฟ้องว่า Error เพราะอะไรเกิดจากอะไรและข้อมูลของมาไม่ครบหรือเกิดจากการที่ข้อมูลค้างอยู่แล้วส่งไปไม่ได้อันนี้ก็คือเป็นหน้าที่เราที่เข้าไปแก้ไขแล้วก็ไปดูว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เกิดจากอะไรและเราก็ทำการแก้ไขให้สามารถทำงานได้เอง คือปัญหาเหล่านี้จริง ๆ แล้วเป็นของคู่กันกับโปรแกรมเมอร์อยู่แล้วซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยแล้วถ้าเกิดปัญหาเหล่านี้มาหลังจากที่เขียนเสร็จแล้ว 

Q : ในการเป็นโปรแกรมเมอร์มาตลอด 17 ปี ส่วนไหนของการเขียนโปรแกรมยากที่สุด

A : สำหรับตัวเองไม่เคยมองว่าการเขียนโปรแกรมจะยาก แต่ความยากอาจจะเกิดจากการทำงานในสภาวะแวดล้อมและบุคคล ที่เราเลือกทำอาชีพนี้เพราะเราต้องการที่จะไม่ปะทะกับคนสักเท่าไหร่เวลาเราเขียน Coding มีแค่เรากับ Code แล้วก็เรา คือเราคุยกับสิ่งที่เราจะสร้างโดยที่เราไม่ได้คุยกับคนข้างนอกเลยมันก็เลยกลายเป็นว่ามันเป็นการเขียนโค้ดมันเป็นการที่ดิ่งลงไปแล้วเราต้องใช้เวลาส่วนตัวของเราในการสร้างผลงานนี้ขึ้นมาเอง ปัญหาของโปรแกรมเมอร์เนี่ยมันก็เลยกลายเป็นว่าเวลาที่มีการ Coding หรือว่าใช้สมาธิสูงในการเขียน สำหรับพี่เนี่ยมองว่าการเขียนโปรแกรมมันไม่ได้ยากเพราะว่าสุดท้ายแล้วการเขียนโปรแกรมอย่างมันจะมีทางออกของมันอยู่แล้วเราจะหาของมันไปจนแก้ปัญหานั้นได้แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ยากที่สุดก็คือภาวะของสภาพแวดล้อมของตัวเราและอารมณ์ของเราที่มีกับคนข้างนอกมากกว่า ทุก ๆ สายงานมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน 

การเขียนโปรแกรมไม่ใช่เป็นการเขียนให้มันจบ ให้มันเสร็จ ๆ ไป แต่การเขียนโปรแกรมมันคือชีวิตของคนอื่นด้วยนะคือหนึ่งในเรื่องของความปลอดภัยในเรื่องของข้อมูลต่างๆในการรั่วไหลในเรื่องของความปลอดภัยของระบบ ความคิดของเรามันมีหลายชั้นมาที่เราจะต้องต้องดูแล มันคืองานที่ล้ำค่ามากสำหรับตัวเรานะ คือเขียนงานหนึ่งเราเขียนเสร็จแล้วเนี่ยมันมีผลกระทบอะไรกับใครถ้าเกิดเขียนไปแล้วเนี่ยความปลอดภัยดีมากแค่ไหนเราก็ต้องดูในเรื่องนี้ด้วย 

Q : จุดไหนที่คุณบิวคิดว่า การเขียนโปรแกรมจะต้องคำนึงในเรื่องของความปลอดภัยของคนอื่น ด้วยนอกจากระบบ 

A : จากการเคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ด้วยความที่เป็นระบบโรงพยาบาลจะเชื่อมโยงหมดทุกจุดตั้งแต่คนไข้ หมอ ยา คือหนึ่งเป็นความลับของคนไข้ สองเป็นความปลอดภัยของคนไข้อย่างการเขียนระบบถ้าเราไม่มีความรับผิดชอบ ทำงานไม่ละเอียด ไม่คิดให้ถี่ถ้วนผลที่ตามมา ไม่ใช่แค่ระบบผิดพลาดแต่มันหมายถึงชีวิตคน ๆ หนึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนของเวลาทำงานเลยค่อนข้างที่จะละเอียดและระวังในเรื่องนี้พอสมควร ก็ต้องขอบคุณโรงพยาบาลหัวเฉียวด้วย 

ถ้าเกิดข้อผิดพลาดไปคือชีวิตคนหนึ่งเลยถ้าเราคิดผิดระบบผิดไปเราไปแจ้งคนไข้ก็ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่คนใช้โปรแกรม แต่เป็นคนออกแบบโครงสร้างและประมวลผลออกมา ถ้าสมมุติว่าเราเขียนระบบใดระบบหนึ่งแล้วเราเขียนด้วยความที่ไม่ตั้งใจ ไม่ตรวจสอบให้มันถี่ถ้วนก่อนแล้วพอคนใช้งาน ปรากฏว่าเราผิดแค่ตัวอักษรเดียวมันอาจจะทำให้ผลของคนไข้คนนั้นผิดไปหรือไปดึงของคนอื่นมาใส่อีกคนนึง การรักษาก็จะไม่ถูกต้อง

การเป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยสำหรับพี่ถือว่าเป็นอาชีพที่ทรงคุณค่าเหมือนกันนะเพราะว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ทำงานแล้วจบ ในทุก ๆ กระบวนการมีความสำคัญอยู่ในทุกขั้นตอน ความยากง่ายขึ้นอยู่ขึ้นอยู่กับโจทย์กับองค์กรที่เราทำงานอยู่ องค์กรที่เราทำงานด้วยต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูลของคนทุกคน อย่างในโรงพยาบาลด้วยความที่ระบบมันใหญ่มากคือมีทั้งข้อมูลของผู้ป่วยข้อมูล ยา และข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็เป็นข้อมูลที่จะต้องเก็บถึง 10 ปีอย่างนี้ฉะนั้นถ้าเราเขียนโปรแกรมแล้วเราทำผิดก็อาจจะทำให้คนไข้คนนั้นได้รับยาผิดไปก็ได้

นี่คือสิ่งที่เราต้องคำนึงเหมือนกันระบบทั่วไปทุกวันนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากคือการขายของออนไลน์ถ้าเราเปลี่ยนระบบเช่นเราดึงข้อมูลผิดชื่อ นามสกุล ลูกค้าสั่งของชิ้นนี้แล้วปรากฏว่าเราเขียนผิดไปดึงอีกคนหนึ่งมาซึ่งไม่ใช่สินค้าของคนนี้แล้วส่งผิดคน คือความเสียหายมันไม่ได้มันเกิดแค่ที่บริษัทอย่างเดียว โปรแกรมก็ผิดด้วย โปรแกรมเมอร์จึงต้องมีละเอียด ถี่ถ้วน 

Q : ตอนนี้เป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับทาง Newspective Group  เป็นอย่างไรบ้าง 

A :  ก็หลังจากที่ออกจากหัวเฉียวมาก็มาร่วมงานกับทาง Newspective Group งานแรกเลยที่เข้ามาทำระบบในเรื่องของระบบบริหารทั่วไป แต่ว่าก็มีโครงการสตาร์ทอัพเข้ามาส่งเข้าประกวดซึ่งตอนนั้นเนี่ยไม่ได้คิดอะไรมากก็สั่งอะไรให้ทำก็ทำ ตามที่เขา Request มาแต่ว่าสิ่งที่เป็นแรงกดดันจากงานนี้คือระยะเวลามันสั้นมากคือต้องเสร็จภายใน 20 วันในใจคิดว่าจะทำได้ไหมแต่ทางผู้ใหญ่บอกว่าถ้าทำได้องค์กรเราจะดียิ่งขึ้น เราก็เลยมองว่าถ้าเกิดอะไรที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าได้เราก็พร้อมที่จะลุยอันนี้ก็คือเป็นนิสัยของเราก็เห็นว่าช่วยคนอื่นได้ด้วย 

เราไม่เคยประกวด การแข่งขันอะไรแบบนี้เลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกแล้วก็ได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของการประกวด บริษัทสตาร์ทอัพลงประกวดเยอะ ทำให้เห็นว่าคนไทยเนี่ยเก่งเยอะมากแต่แค่ว่าเราแค่ไม่มีโอกาสให้ได้นำเสนอในสิ่งที่เราคิดแค่นั้นเอง จริง ๆ มันไม่ใช่ผลงานของพี่ทั้งหมดพี่เป็นเพียงคนเขียนโปรแกรมตามที่เราได้รับมอบหมายมา ทางทีมช่วยกันไม่ว่าจะเป็นทีมการตลาดและคิดระบบเราก็ทำตามโจทย์ว่าระบบอยากได้อะไรเราก็ทำตามเงื่อนไขนั้นให้สำเร็จ

Q : เว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES เว็บไซต์ที่คุณบิวเขียนขึ้นมาด้วยตัวเอง 

A : ใช่ค่ะ เป็นคนทำคนเดียว โจทย์คือเว็บไซต์สำนักข่าวต้องขึ้นภายใน 1 เดือน ซึ่งเว็บไซต์นี้ก็ถือว่ายากพอสมควร ปัจจุบันสายอาชีพนี้มีความแตกต่างจากสมัยก่อนเมื่อเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็คือว่าสมัยที่พี่ทำงานเนี่ยคือเขาเรียกว่าเป็นลักษณะของการเขียนคนเดียวออกแบบคนเดียว หลังๆมาช่วง 5 ปีหลังมานี้เป็นลักษณะของการพัฒนาระบบ ซึ่งมีการแบ่งงานกันทำ แต่อย่างในเว็บไซต์นี้ค่อนข้างกดดัน เพราะทำเองคนเดียว ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะต้องเจองานที่เรากลัวจะทำไม่ทันถือว่าเป็นความท้าทายตัวเองด้วยเหมือนกัน

Q : เป็นโปรแกรมเมอร์จำเป็นต้องเรียนเก่งจริงหรือ ?

A : ตอนที่พี่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เกรดเฉลี่ยแค่ 1.88 เอง ในช่วงตอนเรียนที่โรงเรียนก็ไม่สนใจเรียนคือเรียกว่าติด 0 ติดรอด้วยซ้ำ เป็นเด็กฝ่ายกิจกรรม เมื่อก่อนอยู่วงโยธวาทิตของโรงเรียน ก่อนที่จะมาเข้าสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์ในความฝันจริง ๆ คือการเป็นนักดนตรี สอบเข้าจุฬาได้ด้วยแต่ด้วยความที่ฐานะทางบ้านเนี่ยไม่ได้ ก็เลยมาเรียนสายบริหารคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

Q : อาชีพ “โปรแกรมเมอร์” อาชีพที่ไม่ตกงานในช่วงยุคโควิด-19

A : โปรแกรมเมอร์ถือได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ไม่ตกงานในยุคโควิด แล้วหลังจากนี้สายโปรแกรมเมอร์จะแรงขึ้นเรื่อยๆเพราะว่าทุกอย่างจะอยู่บนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และโลกออนไลน์ทั้งหมดถ้าคุณอยากทำอะไรสักอย่างเช่นคุณจะเปิดร้านขายของออนไลน์ก็ต้องอาศัยโปรแกรมเมอร์เหมือนกัน อีกทั้งการต่อยอดของสายอาชีพนี้เยอะมากเพราะเนื่องจากสายอาชีพนี้เป็นสายอาชีพที่ยังไงบริษัทหลายแห่งก็ต้องการขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นสามารถต่อยอดตัวของเขาเองได้

Q : ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ 

A : สำหรับพี่เนี่ยคืออันดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าเราอยากเป็นอะไร ซึ่งปัจจุบันนี้ทุกวันนี้โปรแกรมเมอร์เนี่ยใน YouTube หรือว่า Social Media ต่าง ๆ มีสอนเยอะมากแล้วก็โอกาสของเด็กยุคใหม่เนี่ยมีโอกาสพัฒนาเร็วแล้วก็มีข้อมูลค่อนข้างเยอะมากกว่ายุคพี่ กว่าพี่จะหาความรู้ได้เนี่ยคือพี่ต้องอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะเลยแล้วก็ในอินเทอร์เน็ตแทบจะไม่มีคนแชร์ข้อมูลเลยแต่ในปัจจุบันเนี่ยถ้าเกิดเราค้นพบตัวเองแล้วว่า เฮ้ย..ฉันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์จริง ๆ ฉันมีความรักในเรื่องของโปรแกรมเมอร์แต่เราต้องชอบความเป็นโปรแกรมเมอร์แล้วเราต้องถามตัวเองว่าเราสามารถที่จะนั่งเขียนโปรแกรมเนี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมงได้ไหมด้วยโปรแกรมเมอร์เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งคืนหนึ่งการทำงานเนี่ยงานหนักในที่นี่คือใช้สมองเยอะสมาธิเยอะความกดดันเยอะ

อย่างความกดดันคือหนึ่งกดดันจากตัวเองแล้วกดดันจากเวลาที่เราได้รับงานมาอีกต่างหาก ซึ่งถ้าเกิดว่าเราตอบโจทย์ว่าเราสามารถทำได้ ถ้าเกิดเรารักในงานใดงานหนึ่งต่อให้งานนั้นยากมาก เราก็จะผ่านมันไปได้ถ้าเกิดว่าชอบจริง ๆ เหมือนตอนที่พี่เขียนโปรแกรมเพราะว่าพี่สามารถอยู่กับงานนี้ได้ เราสามารถอยู่กับมันได้ทั้งวัน เหมือนเราพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ได้เพราะว่าเกิดจากที่เรารักมันถ้าเกิดเราตอบตัวเองว่าเราชอบงานนี้จริง ๆ เราก็ลุยเลยเพราะว่าพี่คิดว่าโปรแกรมเมอร์ไม่ยากแต่ว่าเราจะต้องฝึกเยอะ ๆ

ทุกวันนี้ที่พี่ยังมองว่าพี่ยังต้องพัฒนาอยู่ทุกวันเพราะเนื่องจากว่าระบบเนี่ยมันมีการพัฒนาทุกวันแล้วก็มีอะไรใหม่ๆมาตลอดคือการที่เป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยเราไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้เพราะว่าการเขียนโปรแกรมเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับวันนี้เขียนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงมันไม่สามารถเอาสิ่งที่เรียนเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาใช้กับวันนี้ได้แต่พื้นฐานมันยังคงเดิมอยู่แต่เราต้องรู้จักมันต้องมีการประยุกต์ใช้ให้มันแล้วแต่ยกเว้น Generation ที่มันพัฒนาไปนี่ก็คุยกับตัวเองว่าเอาจริงไหมเราเอาจริง ให้ลุยเลย แล้วสายงานนี้เนี่ยก็อย่างที่ทุกคนเห็นก็คือรายได้ดีแต่ก็แต่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบที่เราต้องรับผิดชอบอย่างมากเลยทีเดียว 
.

.

.

.

สถาปัตย์นอกคอก กลายเป็น "ครูโยคะฟลาย" จนได้ดีบนผ้าพริ้ว กับ ครูต้น ธัญณกรณ์ | Click on Crazy EP.2

บทสัมภาษณ์รายการ Click on Crazy EP.2
ธัญณกรณ์ ธิบูรณ์บุญธรณ์ (ครูต้น) 
คุณครูสอนโยคะฟลาย ประสบการณ์กว่า 8 ปี

Q : แนะนำตัวหน่อยค่ะ

A : ครูต้น ธัญณกรณ์ ธิบูรณ์บุญธรณ์ ครับ ปัจจุบันสอนโยคะอยู่ที่สถาบัน Yoga&Me เป็นคลาสโยคะฟลาย คลาสเต้นและคลาสบาร์พิลาทิสครับ จบสถาปัตยกรรมภายใน มีความถนัดในเรื่องของการแสดง และก็พัฒนาตัวเองต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันนี้ครับ เป็นคุณครูมาประมาณ 8 – 9 ปีแล้วนะครับ 

Q : ครูต้นเรียกตัวเองว่าเป็น “สถาปัตย์นอกคอก” อะไรคือคำนิยามของสถาปัตย์นอกคอก และ ทำไมครูต้นถึงเรียกตัวเองแบบนั้น ?

A : ตั้งแต่ในสมัยเด็กมีความสามารถในการวาดรูป ก็เลยมองตัวเองว่าจะมีวิชาไหนบ้างที่เป็นศิลปะและสามารถหาเลี้ยงชีพได้เป็นอย่างดี ก็เลยเลือกที่จะเข้าไปสอบวิชาสถาปัตยกรรม แต่ช่วงแรกก็มีไปสอบวิศวะบ้าง วิทย์-คอม บ้างแต่สุดท้ายแล้วก็เลือกเรียนสถาปัตยกรรมภายใน 

ส่วนสถาปัตย์นอกคอกคือ ในช่วงระหว่างที่เรียนก็มีไปทำงานเพิ่มเติมบ้าง ก็เลยเอาความสามารถส่วนตัวอย่างเรื่องของการแสดงไปหารายได้เพิ่ม กลายเป็นเด็กสถาปัตย์ที่ตอนเช้าไปเรียน พอกลางคืนก็ต้องไปทำงานการแสดง ทำให้การใช้ชีวิตของเราแตกต่างจากเด็กสถาปัตย์คนอื่น ๆ มีวงจรของตัวเองในการทำงาน นอนวันล่ะ 3-4 ชั่วโมง ต้องรีบทำงานให้เสร็จ ส่งการบ้าน ทักษะที่ได้จากการเรียนสถาปัตยกรรมเลยมีเพียงแค่การวาดรูป 

Q : จากการเป็น “สถาปัตย์นอกคอก” สู่การเป็น ครูสอนโยคะฟลาย จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร ?

A : หลังจากที่เรียนสถาปัตย์มาก็ได้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับงานอีเวนต์ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้เอางานของตัวเองไปขายลูกค้า โดยตัวเองนั้นทำทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่องค์ประกอบงานต่าง ๆ รูปแบบเวที สคริปต์พิธีกร เป็นงานอีเวนต์ใหญ่ ทำอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายได้กำไรมาน้อย เลยรู้สึกว่าตัวเองอาจจะไม่เหมาะกับงานนี้ เลยออกมาทำงานการแสดงได้แสดงมาเรื่อย ๆ และได้ไปออดิชั่นละครเวที ฟ้าจรดทรายเดอะมิวสิคเคิล และได้ไปอยู่ค่ายละครเวที Dreambox

และมีผู้ใหญ่ได้เข้ามาดูเหล่านักแสดงที่มีประสิทธิภาพ performance ดีให้ทุนไปเรียนเพื่อเป็นคุณครูสอนโยคะฟลาย ต้องมีการสอบเป็นคุณครูโยคะฟลาย โดยตัวเองเป็นคุณครูช้าที่สุด เพราะตอนแสดงละครหรือตอนเรียนโยคะฟลายเราสามารถจัดตัวเองได้ แต่พอเป็นคุณครูจะต้องอธิบายนักเรียน เราไม่ยอมพูด จนผู้ใหญ่บอกให้พูดให้อธิบายกับนักเรียนหน่อย ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเพื่อที่จะได้ฝึกฝนการเป็นคุณครู พิสูจน์ตัวเองว่าตัวเองสามารถทำได้ เมื่อเราสะสมประสบการณ์จากการ performance ความสร้างสรรค์บวกกับการเป็นคุณครูรู้วิธีการพูด ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นอิสระทางด้านความคิด ทำให้เราได้คิดค้นท่าทางต่าง ๆ มากมาย และโชคดีที่มีคนสนับสนุน นักเรียนก็ชื่นชอบ ถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับตัวเองมาก ๆ อย่างหนึ่ง

Q : คำว่า “โยคะ” และ “โยคะฟลาย” แตกต่างกันอย่างไร ในความคิดของครูต้น 

A : พื้นฐานหลัก ๆ เป็นเรื่องของร่างกาย โยคะฟลายเป็นการฝึกร่างกายโดยการใช้อุปกรณ์ในเบื้องต้น เราคุมร่างกายตัวเองและใช้อุปกรณ์เป็น ในสตูดิโอจะมีระดับชั้นในการเรียน เรียนรู้การควบคุมตัวเอง ในแต่ละระดับ 

Q : คลาสหนึ่งของครูต้นมีนักเรียนเยอะไหมคะ ?

A : มีประมาณ 12 – 16 คนครับ ในแต่ละช่วง ช่วงที่เราไปทำงานเราเป็นรุ่นที่ 2 ของสถาบัน Yoga&Me ที่มาสอน เราค่อนข้างที่จะบุกเบิกในเรื่องของการสอนโยคะฟลาย ในช่วงยุคนั้นจะเป็นที่นิยมและมีการพัฒนาการสอนมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่พื้นฐานจนไปถึงโยคะฟลายประกอบเพลงด้วย 

Q : ถ้านักเรียนไม่สามารถทำท่าโยคะฟลายตามที่เราสอนได้ หรือ มีการหมดกำลังใจ ไม่มีสติในการเรียน ครูต้นมีวิธีการอย่างไร ? 

A : การเป็นคุณครูทำให้เรามีประสบการณ์ในการสอนมาก ทำให้เรารู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใด บางคนต้องการความเอาใจใส่เราก็จะไปอยู่ใกล้ ๆ ให้นักเรียนรู้สึกอุ่นใจ ถ้านักเรียนยังไม่พร้อมที่จะทำ เราจะเข้าไปสอนใกล้ ๆ ไม่ให้กดดันกับคลาส ให้นักเรียนฝึกและใช้เวลา ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน นักเรียนจะต้องสบายใจกับคุณครู ให้รู้สึกว่าที่นี้เป็นพื้นที่ของนักเรียนให้ได้ ให้นักเรียนมั่นใจ การก้าวเข้ามาเป็นสิ่งใหม่เสมอ ให้กำลังใจนักเรียนทุก ๆ คน

Q : ช่วงนี้มีสถานการณ์โควิดเข้ามาทำให้การสอนโยคะฟลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น ครูต้นมีวิธีการปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างไรกับสถานการณ์แบบนี้

A : ตอนแรกไม่ได้คิดว่าสถานการณ์เกิดขึ้นนานขนาดนี้ ในช่วงแรกที่โควิดเข้ามาเรามีการไลฟ์สอนออกกำลังกายให้นักเรียนได้เห็น และก็ได้เปิดสถาบันสอน พอมาตอนนี้ช่วงสถานการณ์ค่อนข้างยาวนาน เพราะอาชีพที่เราเป็นทั้งคุณครูสอนโยคะฟลาย นักแสดงละครเวที ศิลปะต่าง ๆ เราจะต้องพบปะผู้คนหมดเลย ทำให้เราคิดว่าเราไม่รู้จะทำอะไร เลยเริ่มมีการสอนออนไลน์แต่ความมั่นใจในการสอนกลับลดน้อยลง ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเรา ช่วงโควิดระลอกใหม่เราเก็บตัวถึง 2 เดือน ไม่ยุ่งกับ Social Media เลย สักพักหนึ่งเราเริ่มมีการมองหาอาชีพอื่น ขายของ ทำอาหารขาย และมีการปรึกษากับเพื่อน ๆ  ความมั่นใจกับศักยภาพตัวเองลดน้อยลง

เลยเริ่มมองหางานอดิเรกให้ตัวเองได้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เลยได้มีโอกาสวาดภาพสีน้ำมัน พอวาดสำเร็จก็เกิดความคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา และมีคนชื่นชมยินดี มีคนมาขอซื้อรูปวาดด้วย และก็ได้มีงานวาดรูปต่อมาเรื่อย ๆ และมีการเปิดสอนคลาสเต้น ก็มีคนมาเข้าเรียน เราก็เลยรู้สึกว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรอยู่ พอเรามั่นใจ หลาย ๆ คนก็เปิดโอกาสให้กับเรา งานก็เริ่มมีเข้ามาเรื่อย ๆ เราจะคิดแบบเดิมไม่ได้ เราจะต้องมีความคิด New Normal มาจากสมองของเรา งานแบบไหนที่เราสามารถทำได้ ในช่วงสถานการณ์แบบนี้  เราก็เริ่มมีการจัดฟังก์ชันบ้าน ทำความสะอาดห้อง จัดของต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ทำให้ระบบความคิดของเรามีศักยภาพ แบ่งปันประสบการณ์ พูดคุยกับผู้คนใน Social Media เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน 

Q : แล้วถ้าคนที่กำลังท้อ หรือ หมดกำลังใจ ครูต้นอยากฝากอะไรให้กับผู้คนเหล่านั้น 

A : เราอาจจะแนะนำวิธีกับใครไม่ค่อยได้ แต่เราจะแนะนำวิธีของเรา เริ่มต้นจากการจัดฟังก์ชั่นของตัวเองง่าย ๆ เช่นการทำบ้านให้สะอาด พอเราไม่รู้ว่าตัวเองจะออกจากจุดนี้ยังไง วิธีนี้มาจากตอนเรียนสถาปัตย์คือให้เราวาด Mind Mapping แบ่งออกมา ตัวเราทำอะไรได้บ้าง แตกแขนงออกไป แล้วตัวที่เราทำอะไรได้บ้างแล้วเราจะทำอย่างไรในตอนนี้ ลิสต์มันออกมาให้เห็นเป็นภาพ

ถ้าคุณยังไม่มั่นใจที่จะไปพูดคุยกับใครให้เขียน Mind Mapping ของตัวเองดูก่อน เราพอจะทำอะไรได้บ้างจากศักยภาพของตัวเราเอง และเราจะทำอะไรเพิ่มได้บ้างจากศักยภาพใหม่ที่คุณอยากเรียนรู้ ทำอาหาร ถ่ายรูป หรือ ขายของ ให้เราจำแนกออกมา จะทำให้เราเห็นตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่าพะวงอยู่ในหัวของตัวเอง ให้มันกระจายออกมา ถ้ายังไม่ได้จริง ๆ ให้คุณเดินออกไปจากในห้อง แล้วก็มองกว้าง ๆ ออกไป สูดอากาศให้ลึก ที่กล่าวมาทั้งหมดเริ่มจากตรงไหนก็ได้ แต่ขอให้คุณออกจากตัวเองไปก่อน ถ้าคุณทำได้คุณจะเห็นช่องทางหลาย ๆ ทางและจะมีคนรอซัพพอร์ตเราอยู่ เราก็ต้องส่งความรัก และ กำลังใจกลับไปให้ด้วย 

Q : ครูต้นมีความฝันอะไรต่อจากนี้ 

A : สิ่งแรกเลยคงจะสอนออนไลน์ต่อไป มีลูกศิษย์คนหนึ่งจะไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วบอกให้เราสอนออนไลน์ต่อไปเพื่อเป็นช่องทางในการออกกำลังกาย เราจะได้เจอกันต่อไปเรื่อย ๆ เราอยากที่จะให้ช่องทางออนไลน์เจริญต่อเรื่อย ๆ ให้มีลูกศิษย์กระจายกว้างมากขึ้น จะตั้งใจทำแบบเดิมแม้มีนักเรียน 2 คน 5 คนหรือ 10 คน เราทำออนไลน์แบบนี้ทำให้เรารู้สึกสร้างความอบอุ่นขึ้นมาได้ จะใส่ใจในทุกรายละเอียดที่เจอกัน จะเป็นครูที่ดีมากคนหนึ่ง ในส่วนของออนไลน์ จะพัฒนาต่อยอดไป

ในอนาคตก็คงสร้างคลาสออนไลน์จากความถนัด อาจจะเปิดฟรีก่อนให้นักเรียนมั่นใจในตัวผู้สอนหลังจากนั้นจะเปิดหารายได้อะไรก็ว่ากันไป ส่วนเรื่องของศิลปะเราก็จะไม่ทิ้ง หลังจากที่เราทิ้งไว้มา 10 ปี ปรากฎว่าเรากลับมาทำแล้วมีคนซัพพอร์ตเราขึ้นมา เราก็จะต่อยอดไปเรื่อย ๆ อาจจะวาดด้วยมือหรือวาดลงคอมพิวเตอร์ จะลองทำต่อไปในช่วงแรกที่เราได้ เราอาจจะไม่เก่งในทางด้านธุรกิจแต่คงจะมีการถ่ายทอดต่อ ๆ ไปได้จากศักยภาพที่เรามีและจะมีประโยชน์กับคนทั่วไปได้ด้วยครับ 

สนใจเรียน โยคะฟลาย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.yogaandme.net/

.

.


.

ลุยสวิตจนเก่งภาษา คว้าโอกาส เข้าทำงานบริษัทในสวิตสำเร็จ กับ คุณตาล วัณย์ทิศากร | Click on Crazy EP.3

บทสัมภาษณ์ Click on Crazy EP.3 
วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ (คุณตาล)
สาวไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กว่า 20 ปี

Q : แนะนำตัวหน่อยค่ะ 

A : วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ค่ะ ทำงานอยู่ที่ Private Bank Julius Baer ทำอยู่ในแผนก Documentation ทำงานประมาณ 4 วัน หยุด 3 วันเพื่อที่จะได้มีเวลาไปท่องเที่ยวค่ะ 

Q : ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประมาณกี่ปี 

A : 20 ปีค่ะ ปีนี้เป็นปีที่ 20 

Q : จุดเริ่มต้นของการไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

A : ในอดีตตัวคุณแม่ได้ไปทำงานบ้านคนสวิต ตัวพี่เองไปรับ – ส่งแม่ตลอดเวลาเช้าเย็น แล้วก็ได้เจอกันกับแฟนชาวสวิต ในตอนนั้นพี่เรียนอยู่ที่ ปวส.อยู่เทอม 2 สอบอีกเทอมหนึ่งก็จะจบแล้ว แต่ก็ตัดสินใจไปอยู่สวิตเพราะแฟนถามว่าสนใจไหม ชอบหรือเปล่า แฟนของพี่อยากให้ลองมาใช้ชีวิตที่สวิตดูก่อน เพราะว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตรงบริเวณที่พี่อยู่ไม่ใช่แถวเมืองหลวง มีแต่ธรรมชาติ หญ้า แพะ แกะ วัว แฟนของพี่ก็กลัว ตอนนั้นเราก็อายุน้อย กลัวพี่อยู่ไม่ได้ 

Q : มีปัญหากับที่บ้านบ้างไหมในตอนนั้น

A : กับคุณแม่จะคอยซัพพอร์ต สนับสนุน คุณแม่ก็ได้มีการถามว่าจะไม่เรียนต่อ จะไม่สอบต่อใช่ไหม เหตุผลที่อยากไปคืออะไร พี่ก็ตอบไปว่า ถึงแม้จะเรียนปวสจบแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้วุฒิตอนไปอยู่ที่นั้นอยู่ดี แต่กลับคุณพ่อไม่ยอม คุณพ่อบอกว่าต้องสอบก่อน ต้องเรียนให้จบก่อน เพราะคนที่เรียนไม่จบก็จะไม่มีค่าอะไร ค่านิยมคนไทยสมัยก่อน ต้องมีปริญญาบัตรติดฝาบ้าน แต่พี่ก็ไม่ยอม ก็ทะเลาะกับคุณพ่อไม่ยอมพูดด้วยเลย แล้วก็ตัดสินใจไปสวิตเซอร์แลนด์ 6 เดือน ในระหว่างนั้นก็โทรศัพท์คุยกับแม่ ไม่คุยกับคุณพ่อเลย 

Q : แล้วความรู้สึกแรกของการได้ไปใช้ชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นอย่างไร เป็นอย่างที่เราคาดฝันไว้ไหม 

A : จริง ๆ พี่ไม่ได้คาดฝันอะไรไว้เลย นอกจากใส่กระโปรงสั้น ๆ รองเท้าบูท เดินแบบจูเลียร์ โรเบิร์ต (หัวเราะ) แต่ว่าพอถึงสนามบินผู้คนก็เยอะ พอเรานั่งรถไฟมาแล้วจริง ๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์ให้ความรู้สึกเงียบ สงบ มีทะเลทราบซูลิค (Lake Zürich) วิวทิวทัศน์สวยงามมาก บ้านเมืองสะอาดมาก มีแต่หญ้า ไม่มีพื้นทราย พี่ก็รู้สึกตื่นเต้นเพราะเรายังเด็ก อากาศเย็นสบาย 

Q : มีเหตุการณ์แบบ Culture Shock บ้างไหม 

A : พี่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนปรับตัวเข้ากับทุกสิ่งได้ง่าย จะไม่ได้รู้สึกแบบ Culture Shock แต่มีความรู้สึกแบบ เอ๊ะ งง ๆ ในบางเหตุการณ์ เช่น การสั่งน้ำมูกบนโต๊ะอาหาร แล้วก็รู้สึกแปลกบางอย่าง อย่างตอนที่พี่อยู่ที่ประเทศไทยพี่ย้ายจากสัตหีบมาพัทยาแล้ว เมืองพัทยาเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล เปิดตลอดเวลา แต่พอมาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ 6 โมงเย็นร้านค้าต่าง ๆ ก็ปิดหมดแล้ว ปิดเมืองเป็นเมืองร้าง วันอาทิตย์ก็ไม่มีอะไรเปิด ยิ่งถ้าเป็นวันหยุดเราต้องเตรียมเสบียงเพราะทุกอย่างจะปิดหมดเลย 

Q : พอเราไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เราต้องไปเรียนภาษาบ้างไหม 

A : พี่เรียนภาษาที่นี่ประมาณ 4 เดือน เรียนที่โรงเรียน แล้วก็หลังจากนั้นก็เริ่มทำงาน เราเรียนภาษาแบบ Learning by Doing พูดคุยกับผู้คน มันก็ค่อย ๆ ซึมซับเข้ามาเอง 

Q : ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีความหลากหลายทางด้านภาษาหรือไม่ 

A : ใช่ค่ะ เพราะว่าภาษาสวิตเป็นภาษาที่ไม่มีภาษาเขียน เป็นภาษาที่ใช้พูดอย่างเดียว ภาษาเขียนก็จะใช้ตามพาร์ทของแต่ละภาษานั้น ๆ อย่างเช่นพี่อยู่ติดบริเวณประเทศเยอรมณี ก็จะใช้ภาษาเขียนของเยอรมณี เมืองที่ติดอยู่ใกล้ฝรั่งเศสก็จะใช้ภาษาเขียนของฝรั่งเศส อยู่ติดบริเวณไหนก็ใช้ภาษาเขียนนั้น ๆ

ตรงบริเวณที่พี่อยู่จะแปลกนิดนึงตรงที่เวลาเขียนใช้ภาษาเยอรมณีแต่พอพูดเราจะพูดภาษาสวิต เขาเรียกภาษาสวิต-เยอรมณี แล้วก็เราเวลาเราเรียนภาษาเยอรมณีเราก็จะเข้าใจ แต่คนเยอรมณีจะฟังภาษาสวิตไม่เข้าใจ ตรงกลางสวิตก็จะมีภาษาโรมัน แต่เป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ค่ะ

Q : การเรียนภาษาส่งผลให้ตัวคุณตาลได้เข้าทำงานที่ปัจจุบันหรือไม่

A : ใช่ค่ะ ทุกที่ ๆ พี่ทำงาน เวลาพี่ทำงานพี่ก็จะเขียนหนังสือส่งให้กับหัวหน้าหรือฝ่ายบุคคล เพื่อที่จะขอเรียนต่อ คือเราไม่ต้องการจะเสียเงินเรียนเอง เราก็ต้องไปทำให้เขาเข้าใจว่าทำไมเราถึงอยากเรียนอันนี้ ถ้าเราเรียนแล้วเราจะสามารถพัฒนาองค์กรต่อไปได้อย่างไร พี่ก็เรียนไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จักเหนื่อย คนรอบข้างก็สงสัยว่าทำไมพี่ถึงต้องเรียนอีก 

Q : การเรียนทำให้คุณตาลได้เปรียบมากกว่าคนอื่นหรือไม่ 

A : แน่นอนค่ะ ตัวพี่เป็นคนที่ไม่รู้จักเบื่อที่จะเรียน หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกท้อและเหนื่อยในการเรียน แต่พี่รู้สึกว่าการเรียนทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เอาจริง ๆ พี่มาประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยวุฒิม.6 ซึ่งมันไม่ได้อะไรอยู่แล้ว จุดมุ่งหมายของพี่เมื่อ 20 ปีที่แล้วคือพี่จะกลับมาทำงานออฟฟิศอีกครั้ง ตอนที่พี่อยู่เมืองไทยพี่เรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย ด้วยความที่ร่างกายพี่ไม่ค่อยแข็งแรงพี่เลยอยากที่จะทำงานที่สบาย ๆ นิดนึง

อันนี้พี่พูดตรง ๆ นี่คือแรงจูงใจอีกอย่างนึง พี่เคยทำงานร้านสะดวกซื้อที่สวิตแล้วพี่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เพราะเรายกของหนักมาก ๆ เราก็คิดว่าเราคงไม่ไหวแน่ ๆ เราต้องได้งานดี ๆ ทำ เพราะฉะนั้นการเรียนถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมาก ๆ เลยค่ะ แล้วก็พี่ประสบความสำเร็จแล้วก็ภูมิใจมาก ๆ ที่ได้ทำงานที่นี่

Q : ภาษาสวิตเซอร์แลนด์มีภาษาท้องถิ่นไหมคะ 

A : แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไป มีสำเนียงแตกต่างกันไปค่ะ ตรงที่พี่อยู่ใช้ภาษาสวิตเป็นหลักแต่จะมีสำเนียงเฉพาะตัว 

Q : คุณตาลเคยมีเหตุการณ์โดนบูลลี่บ้างไหมคะ จากเพื่อนร่วมงานหรือชาวสวิตบ้างไหมคะ  
A : จริง ๆ แล้วคนสวิตเป็นคนปิด จะไม่ค่อยเปิดเผย ส่วนใหญ่แล้วเขาก็จะเป็นคนเก็บความรู้สึกเก่ง แต่ก็จะมีบ้าง คนที่นี้จะคิดว่าเราเป็นคนใจดี บางครั้งบางคนก็จะคิดว่าเขาสามารถทำอะไรกับเราได้ก็มีบ้าง แต่ถึงขนาดบูลลี่พี่ยังเคยเจอ

เพราะแต่ละที่ ๆ ทำงานพี่ ทำงานให้เขาอย่างดี ไม่เคยมีปัญหาเรื่องความสามารถ แล้วก็เพื่อนพี่ส่วนใหญ่เป็นคนสวิต พี่รู้จักคนไทยที่นี่ไม่ค่อยเยอะ ส่วนใหญ่ก็จะพูดคุยกับคนสวิต คนไทยอยู่ในประเทศสวิตค่อนข้างเยอะ สังคมคนไทยก็จะรักกันเหนี่ยวแน่นมาก 

Q : ประสบการณ์การท่องเที่ยวของคุณตาลมีเหตุการณ์อะไรที่น่าประทับใจบ้าง

A : ต้องบอกก่อนว่าในแต่ละปีพี่จะตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ 3 ข้อ มีข้อหนึ่งถึงเหมือนกันในทุก ๆ ปีเลยก็คือการไปท่องเที่ยวใน 3 ประเทศต่อปี ที่ทำงานก็จะมีเวลา vacation ประมาณ 5 อาทิตย์ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องวางแพลนการท่องเที่ยวดี ๆ ถ้าถามว่าประเทศไหนที่ชื่นชอบที่สุดก็คือประเทศไอซ์แลนด์ พี่หลงรักในธรรมชาติของประเทศนี้มาก

อย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทิวทัศน์ธรรมชาติมีการจัดตกแต่ง แต่ประเทศไอซ์แลนด์เป็นทิวทัศน์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง แล้วพี่เคยไปเดินบนภูเขาไฟที่เคยระเบิดเมื่อ 150 ปีที่แล้ว พี่ขึ้นยืนบนนั้นแล้วมองลงมา ทำให้พี่รู้สึกว่าสิ่งที่เราอยู่มันช่างเล็กเหลือเกินเมื่อเทียบกับธรรมชาติ พี่เป็นคนที่ชื่นชอบธรรมชาติมากจริง ๆ เป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ ส่วนอันดับสองก็น่าจะเป็น แคลิฟอร์เนีย ค่ะ 

Q : ในเรื่องของความสัมพันธ์คุณตาลมีอุปสรรคนเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากเราเป็นคนไทย การใช้ชีวิต วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

A : ไม่ค่อยนะคะ เพราะว่าพี่เป็นผู้หญิงไทยที่มีลักษณะนิสัยฝรั่งเยอะ พี่จะพูดตรง ๆ กับคนที่บ้านเรา กับคนอื่น ๆ เราอาจจะไม่ต้องพูดทุกคำกับคนที่เราคิดก็ได้ แต่กลับคนที่บ้านเราเราก็ต้องรู้ว่าเราจะพูดอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจกัน พี่จะไม่เก็บเอาไว้ถ้ามีอะไรที่พี่รู้สึกไม่ชอบใจ และแฟนพี่เองก็มีลักษณะนิสัยแบบคนไทยสูงมาก

ทำให้รู้สึกว่ามีความเข้ากันพอดี ส่วนเรื่องภาษาพี่มองว่าอาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคเท่าไร ตอนเริ่มที่จะคุยกันพี่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร คนเราถ้าอยากจะเข้าใจกันเราจะต้องหาทุกวิธีทางเพื่อที่จะได้เข้าใจกัน แต่ถ้าคู่ไหนที่ไม่อยากจะเข้าใจกันแล้วต่อให้พูดภาษาเดียวกันมันก็จะไม่เข้าใจกันอยู่ดี 

Q : คุณตาลมีเทคนิค เคล็ดลับในการเรียนทั้งภาษาและการเรียนเพิ่มทักษะส่วนตัวบ้างไหมคะ 

A : จริง ๆ พี่ไม่ได้มีเทคนิคส่วนตัวอะไรเลย พี่คิดอย่างเดียวคือพี่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ที่สวิตอย่างเช่นคนสวิต ไม่ใช่คนต่างชาติ ถ้าเราตั้งธงเอาไว้แล้วให้เราเดินตามทางของเราได้เลย คือพี่ไม่อายที่จะพูดผิด ถ้าเราพูดผิดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะไม่ใช่ภาษาของเรา และคนที่นี่ก็ไม่ได้มาหัวเราะที่เราพูดผิด แล้วเขาก็จะพยายามที่จะเข้าใจเรา แต่ถ้าคุณไม่พูดเลย คุณก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย คนเราเรียนรู้จากความผิดพลาด 

Q : คุณตาลมีแพลนที่จะกลับมาเมืองไทยบ้างหรือไม่ 

A : ไม่เคยคิดที่จะกลับมาเมืองไทยเลย ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่แฟนก็ถามมาตั้งแต่แรกก่อนที่จะแต่งงานกันว่ามีแพลนจะกลับเมืองไทยไหม พี่ก็คิดว่าพี่ไม่ได้มีแพลนที่จะกลับมาเมืองไทยเลยนะ เพราะว่าถ้าเกิดพี่มีแพลนที่จะกลับไทย เราก็ต้องกลับมาทบทวนว่าเราควรจะอยู่ด้วยกันไหม แฟนพี่เขามีฟาร์มอย่างที่บอก เขารักและหวงมากเพราะเขาอยู่มาตั้งแต่เกิด เขาทำงานอยู่บริษัทไฟฟ้าและเขาก็ทำฟาร์มกับพี่ชายด้วย เขาทิ้งมันไปได้ เขาก็ถามตั้งแต่แรกเลยว่าอยากจะกลับไปอยู่ที่เมืองไทยไหม พี่ก็ตอบไปว่าไม่คิดเหมือนกัน ไม่คิดที่จะกลับไป

เพราะพี่ชินกับวัฒนธรรมที่นี้ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  พี่ชินกับความตรงต่อเวลา ขนส่งสาธารณะ พี่ก็ไม่รู้ว่าถ้ากลับไป พี่ก็มีพี่ชายอยู่คนเดียวแล้วก็ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ พี่ก็ไม่รู้ว่าจะกลับไปเริ่มต้นอะไร แต่ในอนาคตพี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน

Q : เป้าหมายต่อจากนี้ของคุณตาล หรือความฝันต่อจากนี้คืออะไร 

A : เป้าหมายจริง ๆ ตอนนี้ไม่มีแล้ว คือเป้าหมายของพี่ก็ตั้งไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้พี่บรรลุเป้าหมายแล้ว ณ ตอนนี้คือได้ทำงานที่นี้ ได้ทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ชีวิตต่อไปนี้พี่ก็คงจะเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ การเรียนรู้มันไม่มีวันสิ้นสุด  เมื่อเราเรียนรู้ในอีกสเต็ปหนึ่งต่อไปเราก็อาจจะมีความคาดหวัง

อย่างในตอนนี้หัวหน้าของพี่ก็จะเกษียณในปีหน้า เขาก็มาถามว่าอยากจะขึ้นเป็นหัวหน้าแทนเขาไหม เพราะฉะนั้นตอนนี้พี่ก็เลยต้องพัฒนาตัวเองเผื่อเราจะได้ไปอยู่ในจุดนั้น ถ้าพี่ได้เป็นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในชีวิตพี่แล้วล่ะ ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวก็ต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังมีอีกหลายที่ ๆ อยากจะไป เป็นธงหลักของเราเลย 

Q : คุณตาลมีอะไรอยากที่จะเรียนเพิ่มเติม อยากพัฒนาเพิ่ม

A : ณ ตอนนี้อาจจะยัง แต่ถ้าสมมุติว่าได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าก็คงต้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการบุคคล คนที่เป็นหัวหน้าคนเขาอาจจะไม่ได้เรียนในสิ่งนี้ อาจจะทำงานแล้วได้เลื่อนตำแหน่งแล้วอาจจะไม่ได้ต่อยอด การปกครองคนต้องใช้หลักจิตวิยาเยอะ ถ้าพี่มีโอกาสก็อยากที่จะเรียนในจุดนี้เพิ่ม

Q : อยากให้คุณตาลฝากข้อคิด แนวทางถึงคนที่อยากมาอยู่ในต่างประเทศ

A : คือจริง ๆ แล้วการมาอยู่ที่ต่างประเทศอาจจะขึ้นอยู่กับเวลา เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราเดินทางไปถึงจุดนั้นหรือเปล่า แต่สิ่งที่สำคัญคือการเตรียมตัว คุณต้องมีธงในใจและต้องพัฒนาตัวเอง มุ่งมั่น อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง เมื่อใดที่คุณหยุดพัฒนาตัวเอง คุณก็จะอยู่กับที่ มันจะก้าวไปต่อไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งด้านภาษาหรือทักษะอะไรก็ตาม อ่านให้เยอะ

อย่างเรื่องภาษาดูหนังให้เยอะ ฟังเพลง ก็ถือว่าเป็นการเรียนทั้งหมด ส่วนตัวพี่เองชอบร้องเพลงภาษาอังกฤษ เนี่ยคือการเรียนภาษา แต่พอมาอยู่สวิตแล้วก็ต้องมาเรียนภาษาสวิต แฟนพี่พาไปเที่ยวทุกที่และพี่ไม่เบื่อที่จะไป พี่ไปนั่งฟังเขาสื่อสารกัน พี่ไม่เบื่อเพราะนั้นคือการเรียนรู้ทั้งหมด อะไรที่เป็นการเรียนรู้ให้เราลงมือทำและเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอน พี่มีความเชื่อที่ว่าความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่บังเอิญ เพราะฉะนั้นต้องมุ่งมั่นและเดินทางไปยังจุดนั้นของตัวเองให้ได้

.

.

.

ล่าฝันคนทำเพลง จนได้เป็น ’โปรดิวเซอร์’ กับ ร้อยตรี จุฑาคุณ รังสรรค์ (คุณแบงค์) | Click on Crazy EP.4

บทสัมภาษณ์ Click on Crazy EP.4 
ร้อยตรี จุฑาคุณ รังสรรค์ (คุณแบงค์)
โปรดิวเซอร์เพลงค่าย KIT MUSIC

Q : แนะนำตัวหน่อยค่ะ
A :
ผมร้อยตรี จุฑาคุณ รังสรรค์ ชื่อเล่นชื่อแบงค์ ตอนนี้ก็เป็นผู้บังคับหมวดดุริยางค์ กองบริหารศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล จ.ลพบุรี ครับ และก็เป็นโปรดิวเซอร์ค่าย KIT MUSIC ครับ

Q : ในตอนเด็ก ๆ เด็กชายแบงค์มีความฝันอะไร 
A :
ตอนเด็ก ๆ ความฝันของผมคืออยากเป็นนักฟุตบอล ในตอนนั้น ไม่ได้มีดนตรีในความคิดเลย อยากติดนักฟุตบอลทีมชาติ เล่นกีฬาฟุตบอลอย่างเดียว พยายามไปคัดตัว เราก็เป็นทีมโรงเรียนสลับกันไปครับ 

Q : แล้วจุดเริ่มต้นในแวดวงดนตรีคืออะไร 
A :
จุดเริ่มต้นคือเหมือนพอเราเริ่มโตขึ้น มีกิจกรรมมากขึ้น การเรียนก็เริ่มลดลง ผมสนใจในการทำกิจกรรมมากกว่า เล่นฟุตบอล เล่นดนตรี เกรดผมก็เลยตก ทางครอบครัวก็เลยมองว่าตัวผมไปทางการเรียนวิชาการไม่น่าจะรอด คุณพ่อก็วางแผนให้ไปเรียนที่ดุริยางค์โรงเรียน และรู้สึกว่าตัวเองมีพรสวรรค์ คือทางโรงเรียนก็มีให้คัดตัวไปเล่นทรัมเป็ต เราก็ได้มีโอกาสได้เล่นดนตรีกับผู้ใหญ่ และก็เริ่มมีความรู้สึกชื่นชอบ และ มีความสุขกับการเล่นดนตรี ได้สังคมด้วย มีความสุขมากขึ้นด้วย 

Q : แล้วทางครอบครัวของคุณแบงค์มีความคิดเห็นอย่างไร
A :
ทางครอบครัวก็คิดว่าผมคงเรียนไม่จบแน่ จากเด็กเรียนดี เกรด 4 มาตลอดพอขึ้นช่วงมัธยมแล้วเกรดก็ตก เคยติดศูนย์ด้วย อาจารย์ก็แปลกใจที่การเรียนตก ครอบครัวก็แปลกใจเช่นกัน และช่วงนั้นปี พ.ศ.2540 ก็มีวิกฤติต้มยำกุ้งด้วย ครอบครัวผมเลยหาที่เรียนใหม่เพื่อให้ผมเรียนจบ ก็เลยไปสอบที่ดุริยางค์ทหารบกแล้วก็สอบติดในปีถัดมา ทางครอบครัวก็คาดหวังอยากให้เรียนให้จบ ถ้าเรียนไม่จบก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ตอนที่เรียนโรงเรียนทหารบกผมก็ได้รับเงินเดือนด้วยบางส่วน และพอผมเรียนผมรู้สึกชอบและเข้าใจง่ายและสามารถทำได้ ทั้งในการเรียนวิชาการ ทฤษฎีและปฏิบัติ เกรดก็ดีขึ้นด้วย 

Q : ก่อนที่จะเป็นโปรดิวเซอร์ ต้องผ่านการเป็นนักดนตรีมาก่อนใช่ไหมคะ 
A :
ผมมองว่าทุกคนในอดีต ทุกคนต้องเป็นนักดนตรีอาชีพมาก่อน ต้องเริ่มมากจากจุดนั้น สมัยก่อนโซเชียลมีเดียยังเข้าไม่ถึงด้วย ไม่มีสื่ออะไรให้ดูเหมือนสมัยนี้ ต้องไปนั่งซื้อวิดีโอ เทคโนโลยีในปัจจุบันง่ายกว่าสมัยก่อน ห้องอัดแต่ก่อนเข้าทีก็ 2 – 3,000 บาท แต่สมัยนี้เราสามารถมีห้องอัด ห้องแต่งเพลงที่บ้าน ง่าย ๆ 

Q : เหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่ประทับใจในการทำงานดนตรี 
A :
 จริง ๆ แล้วผมประทับใจในทุกงานที่เราทำ งานที่เข้ามาแล้วเราสามารถทำได้ดี ทุกงานที่ผ่านมือเราไป ถือว่าเป็นหนึ่งบทเรียน ทุกงานไม่ว่าจะงานเล็ก งานใหญ่ เป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุด ทุกงานมีความพิเศษ เราไม่รู้หรอกว่าจะมีโอกาสเข้ามาทางไหนบ้าง ทุกเรื่องอาจจะเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราไม่ทำงานให้มันดีทุกงาน มันก็ไม่ดี เราควรเต็มที่กับทุก ๆ งาน

Q : มีงานไหนที่เรารู้สึกเสียใจ หรือ พลาดในบางโอกาส ที่อยากจะกลับไปแก้ไขบ้างไหม 
A :
 ถ้าพูดตรง ๆ ก็พลาดทุกงานและครับ ทุกคนเป็นมนุษย์ก็ต้องมีการพลาดกันบ้าง งานเล็ก งานน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ถ้าเราแก้ไขได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ทำอย่างไรให้มันพลาดน้อยที่สุด พยายามไม่ให้มันพลาดมากที่สุด เราจะต้องมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว อย่างถ้าคนทำงานเดินทุกวันก็ต้องมีคนสะดุดบ้าง ฉะนั้นเรื่องนี้ยิ่งคนทำงานยิ่งเจอข้อผิดพลาด ยิ่งทำให้เรามีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น

อย่างการทำงานแต่ก่อนก็มีการร้องเพลงหลาย ๆ ชาติ เราก็อาศับประสบการณ์เข้าช่วย อย่างในอดีตผมเคยเกิดเหตุการณ์ลืมเนื้อเพลงตอนร้องเพลง แต่ด้วยความประสบการณ์ก็สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ โชคดีที่มีฟีดแบ็คที่ดีกลับมา เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด ผมมองว่าข้อผิดพลาดเป็นครูของผม ผมไม่ได้รู้สึกนอยน์ เสียใจ แต่จะเก็บไว้เป็นบทเรียนในคราวหน้า พลาดบ่อย ๆ ก็สนุกดีแต่อย่าพลาดเยอะ ถ้าเกิดเหตุการณ์ก็ให้คำว่าช่างมันกับตัวเอง แล้วเริ่มใหม่ 

Q :  ความแตกต่างระหว่าง “นักดนตรี” และ “นักแต่งเพลง” คืออะไร 
A :
มีความแตกต่างกันครับ นักดนตรี จะมีหน้าที่ในการ Performance ให้ดี และต้องเล่นให้ดี เขาเรียกว่า Player จะต้องมีทักษะและสามารถถ่ายทอดออกมาให้ดี แต่นักแต่งเพลงจะต้องคิดภาพรวมทั้งหมดว่าก่อนที่จะออกมาจะเป็นอย่างไร และยิ่งนักแต่งเพลงจะต้องฟังเพลงเยอะมาก ๆ ก่อนที่ผมจะแต่งเพลง ผมก็เล่นดนตรี ฟังเพลงมาเยอะ จะต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง 

Q : เพลงไหนที่เมื่อแต่งแล้วมีความประทับใจที่สุด หรือมีความท้าทายมากที่สุด
A :
เพลงทุกเพลงมีความท้าทาย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแต่งเพลง ๆ หนึ่ง มันไม่มีอะไรง่ายเลย เพลงทุกเพลงพอได้ทำออกมาผมมีความประทับใจในทุก ๆ เพลง จะมีความภาคภูมิใจ เวลาเรามานั่งฟัง มันให้ความรู้สึกพิเศษในทุกเพลง ผมมองว่าเป็นเพลงทุกเพลงเป็นเหมือนลูก ๆ ของผม เพราะเราสร้างมากับมือ เวลาที่เราทำงานชิ้นหนึ่งแล้วมีคนสนใจ พอสักพักความสนใจก็จะหายไป

แต่พอเราได้นึกย้อนกลับมา จะให้ความรู้สึกคิดถึง และอารมณ์ตอนนั้นก็จะลกับมา เหมือนเป็นความทรงจำดี ๆ ให้ได้นึกถึง อย่างเพลงเชียร์ยูโร พอย้อนกลับมาก็ให้ความรู้สึกถึงช่วงเวลานั้น ทำให้เรานึกถึงตอนแต่ง อารมณ์คนฟัง ในช่วงนั้น อย่างเพลงไหนที่คนจำได้แค่ช่วงสั้น ๆ แต่ติดหูก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

Q :  โปรดิวเซอร์จริง ๆ แล้วมีหน้าที่อะไร 
A :
โปรดิวเซอร์มีหน้าที่ดูภาพรวม ภาพรวมของพาร์ทดนตรีทั้งหมด ทิศทางของอัลบั้ม เหมือนโปรดิวเซอร์รายการที่ต้องดูภาพรวมของรายการทั้งหมด 

Q : มีช่วงเวลาที่หมดไฟบ้างหรือไหม 
A :
มีครับ มีตลอดเวลา อารมณ์คล้าย ๆ กับการเล่นละครเวที พอเราทำเพลงเสร็จ อารมณ์ก็จะดึงออกมาไม่ได้ เราเล่น เราฟังเป็นหลาย ๆ รอบ ฟังหลาย ๆ ครั้ง เอาอารมณ์ช่วงนั้นไม่ออก ก็ต้องไปนอนหรือใช้เวลาเอาอารมณ์ออก พอะเริ่มต้นใหม่ก็จุดไฟมันขึ้นมาใหม่ ลงมือทำใหม่ได้เลย แต่ก่อนช่วงหมดไฟก็หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ พอเราทำกิจกรรมไอเดียก็จะขึ้นมาใหม่ จากการดูซีรีส์ เล่นเกม เล่นฟุตบอลก็มี 

Q : ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอะไรบ้าง
A :
จริง ๆ ก็กระทบทุกอาชีพครับ นักดนตรีนี่ยิ่งกระทบเลย ไม่ได้เล่น ไม่ได้มีงานเข้ามาเลย เราก็อยู่อย่างพอเพียง อยู่อย่างประหยัด ในความคิดของผมก็อยู่ได้ ช่วงนี้ทุกอย่างก็แย่หมด กว่าจะฟื้นตัวก็อีกนาน ก็ต้องอยู่อย่างประหยัด

Q :  คุณแบงค์ชอบมีการวางแผนในการทำงานบ้างไหมคะ ทำให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง
A :
ส่วนตัวชอบการวางแผนครับ แต่ก่อนไม่ได้เป็นคนวางแผนอะไรเลย แต่มีอาจารย์ก็ได้มาสอนให้เราลองวางแผนล่วงหน้าว่าในวันพรุ่งนี้จะทำอะไร ทำให้เกิดประโยชน์มาก ๆ ก่อนจะนอนก็มีการวางแผนและมีเป้าหมายในชีวิต ทำให้เราเดินตามเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ กว่าจะถึงจุดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

หลาย ๆ คนอาจจะมองคนที่ผลลัพธ์ไม่ได้มองระยะทาง ชอบมองคนที่สำเร็จแล้ว จริง ๆ แล้วไม่ได้ง่าย จริง ๆ แล้วชีวิตของคนมีความท้าทายตลอดเวลา จริง ๆ แล้วผมเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่งด้วย อย่างตอนโควิด-19 มาแรก ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เล่นเกม หากิจกรรม อย่างตอนนี้ ก็อยากเรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้กำกับหนัง อยากรู้ว่าสายอาชีพนั้นมีอะไร การถ่ายภาพ ต่าง ๆ อยากเรียนที่เกาหลี อยากเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ถ้าอยากรู้ก็ให้ลงมือเรียนเลยดีกว่า อยากรู้ก็ต้องเริ่มเลย 

Q : อยากให้คุณแบงค์ฝากถึงผู้คนที่อยากประสบความสำเร็จในเส้นทางดนตรีหน่อยค่ะ
A :
การเป็นนักดนตรีหรือการเป็นนักแต่งเพลง มันล้มลุกคลุกคลาน เขียนมาร้อยเพลงอาจจะดีไม่กี่เพลง อย่าไปท้อ เพราะท้อเอาไว้ให้ลิงถือ อย่าท้อ ให้ลงมือทำ อันไหนที่เราทำไม่ได้ก็ไม่ต้องไปทำ ถ้าเราอยากทำอะไรให้ทำไปเลย อย่ารอ เริ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้ อยากเขียนเพลงก็เริ่มเลย บางคนเขียนเพลงแรกก็ประสบความสำเร็จเลย 

.

.

.

LIVE Streaming สื่อยุคใหม่ท้าทายโลกโซเชียล กับ คอนเน่ คเณศ ธีรวรวงศ์ | Click on Crazy EP.5

???? Click on Crazy EP.5 "คุยลึก มือหนึ่งของไทย LIVE Streaming สื่อยุคใหม่ท้าทายโลกโซเชียล"  

????คเณศ ธีรวรวงศ์ (คอนเน่) CEO CNLIVE Production Live Streaming

 ✅ดำเนินรายการโดย แองจี้ THE STUDY TIMES

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top