Monday, 24 March 2025
China

‘นครฉงชิ่ง’ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ลงนาม 70 โครงการใหญ่ ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ มูลค่าทะลุ 2 แสนล้านหยวน

เมื่อวันที่ (6 เม.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, ฉงชิ่ง รายงานว่า ทางการท้องถิ่นเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายงานว่า ฉงชิ่งได้ลงนามโครงการขนาดใหญ่ 70 โครงการ มูลค่าการลงทุนตามสัญญารวมกว่า 2.08 แสนล้านหยวน (ราว 1.02 ล้านล้านบาท) ในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้

พิธีลงนามร่วมถูกจัดขึ้นวันพฤหัสบดี (6 เม.ย.) ในเขตจิ่วหลงโพของฉงชิ่ง โดยการลงทุนใหม่เหล่านี้ จะครอบคลุมอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ อาทิ ยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) เชิงอัจฉริยะและเชื่อมต่อกับเครือข่าย แผงวงจรรวม ชีวการแพทย์ ซอฟต์แวร์ และนวัตกรรมวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี

‘เทียนจิน’ เปิดเส้นทางขนส่ง ‘ตู้คอนเทนเนอร์’ สายใหม่ เชื่อมท่าเรือสำคัญในยุโรป เพิ่มประสิทธิภาพการส่งออก

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, เทียนจิน รายงานว่า ‘เอชเอ็มเอ็ม’ (HMM) บริษัทขนส่งชั้นนำในเกาหลีใต้ เปิดบริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เส้นทางตรง เชื่อมระหว่างเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีนกับท่าเรือสำคัญหลายแห่งของยุโรป โดยจะใช้เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่พิเศษ 24,000 ทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) จำนวน 12 ลำ ออกปฏิบัติงานทุกสัปดาห์

เส้นทางการขนส่งดังกล่าวจะเชื่อมต่อเทียนจินกับหลายท่าเรือสำคัญ ได้แก่ ท่าเรืออัลเจซิราสในสเปน ท่าเรือรอตเทอร์ดามในเนเธอร์แลนด์ ท่าเรือฮัมบวร์กในเยอรมนี และท่าเรือแอนต์เวิร์ปในเบลเยียม โดยมุ่งอำนวยความสะดวกและบริการการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับการส่งออกอุปกรณ์เครื่องกลและไฟฟ้า และสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ผลิตในจีน

ลีจูมยอง ประธานเอชเอ็มเอ็ม (ไชน่า) จำกัด (HMM (China) Co.) กล่าวว่าสินค้าที่ผลิตในจีน อาทิ เครื่องจักร ชิ้นส่วนรถยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ สามารถจัดส่งถึงยุโรปรวดเร็วขึ้นผ่านเส้นทางดังกล่าว โดยลดระยะเวลาการขนส่งเกือบร้อยละ 15 จึงประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์สำหรับลูกค้า

อนึ่ง ท่าเรือเทียนจินเป็นท่าเรือสำคัญในภูมิภาคตอนเหนือของจีน โดยมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 21 ล้านทีอียูเมื่อปีที่แล้ว ครองอันดับที่ 8 ของโลก


ที่มา : https://www.xinhuathai.com/china/350018_20230407

‘จีน’ เตรียมเปิด ‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ ขนส่งผู้โดยสารข้ามแดน เชื่อมการเดินทางจาก ‘นครคุนหมิง’ สู่ ‘เมืองหลวงเวียงจันทน์’

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด รายงานแผนการเปิดบริการรถไฟขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนบนทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเชื่อมโยงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. เป็นต้นไป

รายงานระบุว่า การบริการรถไฟขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนดังกล่าว จะเดินรถจากคุนหมิงไปยังเวียงจันทน์หนึ่งเที่ยวต่อวัน และจากเวียงจันทน์ไปยังคุนหมิงอีกหนึ่งเที่ยวต่อวัน โดยรถไฟจะหยุดจอดตามสถานีรายทาง 8 แห่ง และการเดินทางจะใช้ระยะเวลา 10 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งนับรวมระยะเวลาที่ใช้ผ่านพิธีการศุลกากรด้วย

รู้จัก ‘เอ้อเอ่อตัวซือ’ เมืองที่จีดีพีต่อหัวสูงที่สุด แซงหน้า ‘ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้-กว่างโจว-เซินเจิ้น’

(11 เม.ย.66) เพจ ‘ลึกชัดกับผิงผิง’ ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘เมืองรวยที่สุดของจีน’ ระบุว่า...

เมืองรวยที่สุดของจีนปัจจุบัน ไม่ใช่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองกว่างโจว หรือเมืองเซินเจิ้น แต่เป็นเมืองเอ้อเอ่อตัวซือ (鄂尔多斯市) เมืองสวยงามกลางทุ่งหญ้ามองโกเลียในของจีน 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการเมืองเอ้อเอ่อตัวซือประกาศสถิติแสดงให้เห็นว่า ปี 2022 จีดีพีเฉลี่ยต่อคนของที่นี่คือ 38,196 เหรียญสหรัฐคิดเป็น 1.4 เท่าของกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ แถมยังแซงหน้าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อีกด้วย 

‘จีน’ เอาจริง!! เร่งจัดการ ‘เนื้อหาออนไลน์ผิดกฎหมาย’ หน่วยไซเบอร์สเปซ เผย ยอดเดือน มี.ค.พุ่ง 16 ล้านกรณี

(12 เม.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า หน่วยกำกับดูแลไซเบอร์สเปซของจีน รายงานว่า จีนจัดการกรณีเกี่ยวกับเนื้อหาออนไลน์ผิดกฎหมายหรืออันตราย ช่วงเดือนมีนาคม มากกว่า 16.7 ล้านกรณี ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 จากเดือนก่อนหน้า

รายงานระบุว่า กลุ่มเว็บไซต์รายใหญ่ของจีนได้จัดการกรณีลักษณะดังกล่าวราว 15.52 ล้านกรณี ส่วนเจ้าหน้าที่กำกับควบคุมอินเทอร์เน็ตส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคจัดการกรณีลักษณะดังกล่าวราว 1.18 ล้านกรณี

‘กระทรวงพาณิชย์’ เผยตัวเลขนำเข้าทุเรียนสดของ ‘จีน’ ‘ไทย’ ครองอันดับ 1 ส่งออกมากถึง 121,398 ตัน

(29 พ.ค.67) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติตัวเลขการนำเข้าทุเรียนสดของประเทศจีน พบไทยครองแชมป์อันดับ 1 ปริมาณ 121,398 ตัน สร้างรายได้ 717 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สถิติการส่งออกทุเรียนไทย ช่วง 4 เดือนแรกปี 67 พบว่ามีการส่งออกทุเรียนไปจีน 225,204 ตัน

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการนำเข้าทุเรียนสดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2024 ล่าสุด (ข้อมูลจาก GTA) พบว่า จีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 1 ปริมาณ 121,398 ตัน มูลค่า 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเวียดนามอันดับที่ 2 ปริมาณ 79,186 ตัน มูลค่า 369 ล้าน เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

และข้อมูลสถิติการส่งออกทุเรียนสดของไทยในช่วง 4 เดือนล่าสุด (ม.ค.-เม.ย. 67) พบว่าไทยสามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ถึง 225,204 ตัน (ข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากร) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสามารถมั่นใจได้ว่าไทยยังคงครองแชมป์การส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน

ขณะที่ราคาทุเรียนไทยในปี 67 ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในตลาดจีนปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ย ราคาส่งออกกิโลกรัมละ 6 เหรียญดอลลาร์ หรือประมาณ 216 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายเชิงรุกของ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการนำของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ลงพื้นที่ ด่านโมหาน/บ่อเต็น และมอบหมายให้นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ด่านโหย่วอี้กวาน/หูหงิ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ด่านเป็นด่านสำคัญในการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนโดยเส้นทางรถ บรรทุกและได้ประสานกับหน่วยงานศุลกากรตลอดจนบริษัทขนส่งซึ่งได้รับความมั่นใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่มีข้อกังวล

เปิดภาพ 'ธงชาติจีน' จากยานฉางเอ๋อ-6 บนด้านลึกลับของดวงจันทร์ หนักแค่ 11 กรัม ทอจากเส้นใยหินบะซอลต์ ทนทานนานนับหมื่นปี

(6 มิ.ย. 67) ChinaReport รายงานว่า ธงชาติจีนผืนนี้ ผืนที่กางออกจากยานฉางเอ๋อ-6 บน 'ด้านไกล' ด้านลึกลับของดวงจันทร์

- ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 ของจีน คลี่ธงชาติจีนเมื่อภารกิจเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์ด้านไกลเสร็จสิ้น ธงชาติจีนผืนนี้ไม่ธรรมดา มีความพิเศษ หนักเพียง 11 กรัม ทอจากเส้นใยหินบะซอลต์ เส้นใยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1/3 ของเส้นผม

- โจว ฉางอี้ หัวหน้าผู้ออกแบบและนักวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่า ธงชาติจีนผืนนี้ สามารถคงทนบนดวงจันทร์นาน 10,000 ปี เพราะทำจากวัสดุที่ทนทานต่อการกัดกร่อน ความร้อน และความเย็น ในสภาวะอวกาศ

- ธงชาติจีนถูกกางออกจากยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ซึ่งทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์แล้วช่วงเช้าวันอังคารที่ 4 มิ.ย. พร้อมตัวอย่างที่เก็บจากด้านไกลของดวงจันทร์นำกลับสู่โลก เป็นความสำเร็จอันมิเคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์

- ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 เดินทางจากโลกสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ลงจอดที่แอ่งขั้วใต้-เอตเคน ด้านไกลของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.

นายกจีนเสนอชาติลุ่มน้ำโขง เร่งลงนามการค้าเสรีจีน-อาเซียน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.67) หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 8 โดยเรียกร้องให้ 6 ประเทศสมาชิกยกระดับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้ร่วมมือกันมายาวนานกว่า 30 ปี

การประชุมนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยมีผู้นำจากกัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม รวมถึงประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้าร่วมด้วย

โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1992 เพื่อส่งเสริมการเติบโตของการค้า การลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาคให้มีความเชื่อมโยงมากขึ้น 

หลี่เฉียงกล่าวว่า โครงการนี้ได้กลายเป็นเวทีสำคัญในการหารือความร่วมมือเพื่อพัฒนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเน้นว่าจีนและประเทศสมาชิกควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางเศรษฐกิจร่วมกัน พร้อมดำเนินความร่วมมือเชิงปฏิบัติในหลายด้านอย่างลึกซึ้ง ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง

หลี่เฉียงได้เสนอให้ประเทศสมาชิกขยายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและสร้างตลาดขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเสนอให้พัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางคุณภาพสูง ดำเนินความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และเร่งการลงนามพิธีสารฉบับปรับปรุงของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน

เขายังเรียกร้องให้มีการพัฒนาแบบขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค การร่วมมือในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่พลังงานใหม่ ยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ รวมทั้งขยายความร่วมมือในพลังงานสะอาด การผลิตอัจฉริยะ คลังข้อมูลขนาดใหญ่ และเมืองอัจฉริยะ

ด้านการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน หลี่เฉียงได้เสนอให้มีการเชื่อมโยงถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ รวมถึงด้านนโยบายและกฎระเบียบ เพื่อเร่งการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ทั้งนี้ จีนจะออก 'วีซ่าล้านช้าง-แม่น้ำโขง' ให้กับประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ และออกวีซ่าเข้าประเทศแบบหลายครั้ง ระยะ 5 ปี ให้กับนักธุรกิจที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์

เขายังได้เน้นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ (UN) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย 

ผู้นำต่างชาติที่เข้าร่วมการประชุมต่างชื่นชมบทบาทสำคัญของจีนในการผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคนี้ และยืนยันที่จะเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การเกษตร การเชื่อมต่อเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสีเขียว การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม

จีนโชว์ J-35A เครื่องบิน stealth หวังสู้เทคโนโลยี F-35 ของสหรัฐฯ

(8 พ.ย.67) เครื่องบินขับไล่สเตลท์รุ่น J-35A ของจีน ซึ่งมีคุณสมบัติล่องหนและสามารถหลบเลี่ยงการตรวจจับจากเรดาร์ของศัตรูได้ ถูกเปิดตัวครั้งแรกต่อสาธารณชนในงานนิทรรศการการบินและอวกาศนานาชาติจีน ครั้งที่ 15 หรือ China International Aviation & Aerospace Exhibition ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ระหว่างวันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2567

เจ้าหน้าที่จากหน่วยอุปกรณ์ของกองทัพอากาศจีนเผยว่า เครื่องบิน J-35A ไม่เพียงแต่มีเทคโนโลยีการอำพรางตัว แต่ยังสามารถบรรทุกขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศรุ่น HQ-19 และจะมีการเปิดตัวอากาศยานไร้คนขับใหม่ที่ใช้สำหรับภารกิจลาดตระเวนและโจมตีในงานนี้ด้วย

นิทรรศการการบินและอวกาศครั้งนี้ถือเป็นงานแสดงอากาศยานของพลเรือนและทหารที่ใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่งจะมีการจัดแสดงเครื่องบินหลายรุ่น รวมถึง J-20, J-16 และเครื่องบินเติมน้ำมัน YY-20A ขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดให้เข้าชมห้องบรรทุกของเครื่องบินขนส่งหนัก Y-20 อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการแสดงบินผาดโผนที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก

จีนใกล้สำเร็จ!!! สร้างเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ลำแรก คืบหน้าวิจัยเครื่องปฏิกรณ์ต้นแบบ

(11 พ.ย.67) จีนได้สร้างต้นแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บนบกสำหรับเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่า จีนกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของประเทศ จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและเอกสารของรัฐบาลจีนที่มอบให้กับสำนักข่าว AP

ข่าวลือเกี่ยวกับแผนของจีนที่จะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์มีมานานแล้ว แต่การวิจัยล่าสุดจากสถาบัน Middlebury Institute of International Studies ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นการยืนยันครั้งแรกว่า จีนกำลังพัฒนาระบบขับเคลื่อนพลังงานนิวเคลียร์สำหรับเรือขนาดใหญ่เทียบเท่ากับเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งหากสำเร็จจีนจะกลายเป็นอีกชาติบนโลกที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ไว้เสริมแสนยานุภาพ เป็นลำแรกของกองทัพเรือจีน

ความสำคัญของการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของจีน กองทัพเรือจีนถือเป็นกองทัพเรือที่มีจำนวนเรือมากที่สุดในโลก และยังคงเดินหน้าพัฒนาทันสมัยอย่างรวดเร็ว การเพิ่มเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาในกองเรือ จะช่วยให้จีนเข้าใกล้เป้าหมายในการมี 'กองทัพน้ำลึก' หรือ blue-water navy ที่สามารถปฏิบัติการได้ทั่วโลก ซึ่งเป็นความท้าทายต่อสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์จะใช้เวลาสร้างนานกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินแบบปกติ แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะสามารถออกทะเลได้เป็นเวลานานกว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเติมเชื้อเพลิงบ่อย และมีพื้นที่สำหรับเชื้อเพลิงและอาวุธของเครื่องบินมากขึ้น ส่งผลให้ขีดความสามารถของเรือเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถผลิตพลังงานได้มากพอสำหรับระบบขั้นสูง

ในปัจจุบัน มีเพียงสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสเท่านั้นที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ โดยสหรัฐฯ มีอยู่ทั้งหมด 11 ลำ ทำให้สามารถมีกองเรือประจำการทั่วโลกได้ตลอดเวลา รวมถึงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาและการขยายกองเรือของจีนอย่างรวดเร็ว รวมถึงการออกแบบและการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่

ปัจจุบัน จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินอยู่ 3 ลำ รวมถึงเรือ Type 003 Fujian ที่เป็นลำแรกซึ่งออกแบบและสร้างขึ้นโดยจีนเอง อีกทั้งจีนยังระบุว่า กำลังดำเนินการสร้างเรือลำที่ 4 แล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศว่าจะใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือพลังงานแบบปกติ

การปรับปรุงนี้สอดคล้องกับการเน้นหนักที่เพิ่มขึ้นของจีนต่อภาคส่วนทางทะเลและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของกองทัพเรือในการปฏิบัติการระยะไกลจากแผ่นดินใหญ่ ตามรายงานล่าสุดของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่เสนอต่อรัฐสภาเกี่ยวกับกองทัพของจีน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top