Sunday, 19 May 2024
AUKUS

จับตาการประชุม 'The Quad' สหรัฐฯ-ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น-อินเดีย พันธมิตร 4 เส้า กับยุทธศาสตร์โลกล้อมจีนของไบเดน

คงต้องจับตามองกับแทบไม่ควรกะพริบกันแล้ว ณ นาทีนี้ กับงานประชุมสุดยอดผู้นำ 4 ฝ่าย ที่จัดขึ้นในกรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2021 นี้ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘พันธมิตร The Quad’ อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และอินเดีย ประเทศแกนนำหลักในย่านอินโด-แปซิฟิก ซึ่งทางประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เปิดทำเนียบขาว เชิญผู้นำ 3 ชาติพันธมิตร มานัดพบกันแบบตัวต่อตัวทีเดียว 

การนัดประชุมพันธมิตร 4 เส้านี้เป็นที่น่าสนใจมากที่มาเกิดเอาในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ-ออสเตรเลีย เพิ่งออกมาประกาศร่วมกันเป็นพันธมิตร AUKUS มีจุดประสงค์ในการส่งผ่านข้อมูลเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์เชิงลึกให้แก่ออสเตรเลีย นำมาใช้พัฒนาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หรืออีกนัยยะหนึ่ง คือ ต้องการสกัดอิทธิพลทางทะเลของจีนในน่านน้ำย่านเอเชีย 

ข่าวการประสานมือเปิดตัวพันธมิตรกลุ่มใหม่ ยังเป็นที่ฮือฮาไม่ทันจางหาย มาวันนี้ มีการนัดประชุมกลุ่มพันธมิตร The Quad แบบจับเข่าคุยกันจริงๆ ถึงในทำเนียบขาว ถึงแม้ว่าหัวข้อสนทนาจะมีประเด็นทั่วๆ ไป อย่างความร่วมมือด้านวัคซีน Covid-19 หรือการร่วมมือด้านความมั่นคงทั้งในเชิงกายภาพ และบนโลกไซเบอร์ 

โลกระทึก!! ศักราชใหม่แห่งยุคสงครามเย็นระดับเร็วเหนือเสียง เมื่อ 'สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสซี่' จับมือพัฒนาขีปนาวุธ Hypersonic

สมาชิกพันธมิตร 3 อ. หรือ AUKUS อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ได้ร่วมแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ว่าจะจับมือกันพัฒนาขีปนาวุธ Hypersonic เพื่อติดตั้งในกองทัพเรือดำน้ำราชนาวีของออสเตรเลียภายในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้

โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้อ้างว่าที่จำเป็นต้องเดินหน้ายกระดับแสนยานุภาพทางทหารของตนในย่านแปซิฟิก เนื่องจากกรณีรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งได้เปิดตัวใช้ขีปนาวุธ Hypersonic โจมตียูเครนไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการใช้เทคโนโลยีด้านการทหารไปสู่อีกขั้นหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ พันธมิตร AUKUS ที่เป็นกลุ่มระดับมหาอำนาจของโลกคงยอมไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมี Hypersonic กับเขาบ้าง เพื่อมาถ่วงดุลกัน

ข้ออ้างในการพัฒนาขีปนาวุธ Hypersonic ของสหรัฐฯ และ อังกฤษ นั้นพอเข้าใจได้ หากยกกรณีข้อพิพาทระหว่างรัสเซีย กับชาติพันธมิตรในตะวันตก

ว่าแต่...ออสเตรเลีย ประเทศในย่าน Down Under มาเกี่ยวอะไรกับเขาด้วย??

แม้ในแถลงการณ์ร่วมของพันธมิตร 3 อ. ไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ แต่ทุกคนก็น่าจะรู้ว่าการที่ออสเตรเลียจำเป็นต้องติดขีปนาวุธ Hypersonic ไว้ลาดตระเวนแถวน่านน้ำแปซิฟิก ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแถวทะเลบอลติกแม้แต่น้อยนั้น ก็เพื่อข่มแสนยานุภาพ

ของกองทัพจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้!!

เนื่องจากทางจีนเอง ก็เริ่มมีการทดสอบขีปนาวุธ Hypersonic ของตัวเองไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 ที่อ้างว่ามีความเร็วสูงถึง 5 มัค และตอนนี้ประกาศว่าได้พัฒนารุ่นที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ซ้ำยังคุยข่มด้วยว่าใช้เทคโนโลยีล้ำหน้ากว่าใครใน 7 ย่านน้ำ แม้แต่กองทัพสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2025 ถึงจะตามได้ทัน

ทั้งนี้ฟากฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ได้เผยว่า จีนกำลังเพิ่มปริมาณหัวรบนิวเคลียร์ของตัวเองให้ได้ถึง 1,000 ลูกในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีบวกกับเทคโนโลยี Hypersonic เข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการทหารเบอร์ 1 ในย่านเอเชีย แม้ปริมาณหัวรบนิวเคลียร์จะน้อยกว่าที่สหรัฐฯ มีถึง 3 เท่า แต่ก็ถือเป็นภัยคุกคามที่สหรัฐฯ จะยอมปล่อยให้ขยายอิทธิพลมากไปกว่านี้ไม่ได้

แต่ใช่ว่าสหรัฐฯ จะไม่รู้ว่า จีน หรือ แม้แต่รัสเซีย ว่ามีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีขีปนาวุธระดับไหน ดังจะเห็นได้ว่าทันทีที่มีข่าวรัสเซียยิงขีปนาวุธ Hypersonic รุ่น Kinzhal Missile ใส่คลังแสงของกองทัพยูเครนปุ๊บ ทางรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐก็ออกมาให้สัมภาษณ์ออกสื่อทันทีว่า ทางสหรัฐฯ ก็มีการทดสอบขีปนาวุธ Hypersonic ไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว ที่มีความเร็วมากกว่า 5 มัค

แถมยังเกทับอีกว่า ขีปนาวุธรัสเซียนั้น 'กระจอก' เป็นแค่จรวดพิสัยใกล้ ไหนเลยจะเทียบรุ่นกับของเราได้ สเปกแน่น จัดเต็ม ความแม่นยำสูง แค่เราทดสอบเงียบๆ แบบไม่อยากบอกใครเท่านั้นเอง

และอันที่จริงแล้ว ฟากออสเตรเลีย หนึ่งในสมาชิก 5 Eyes ก็มีโครงการพัฒนาเทคโนโลยี Hypersonic ร่วมกับสหรัฐอเมริกามาตั้งนานแล้ว ก่อนจะจับมือตั้งเป็นพันธมิตร AUKUS ร่วมกันเสียอีก โดยใช้ชื่อโครงการว่า SCIFIRE (the Southern Cross Integrated Flight Research Experiment) มีเป้าหมายในการพัฒนาเครื่องยนต์ หัวยิง และขีปนาวุธ Hypersonic ให้ได้ความเร็วตั้งแต่ 5-8 มัค

ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีความเป็นไปได้อย่างมาก ถึงขนาดที่ออสเตรเลียยอมหักหน้า ทิ้งสัญญาเรือดำน้ำของฝรั่งเศสจนเป็นเหตุให้เคืองใจกันอย่างแรงระหว่าง เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส กับ สก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียอยู่พักใหญ่

ดังนั้นแผนการยกระดับการครอบครองขีปนาวุธ Hypersonic จึงน่าจะอยู่ในแผนระหว่างสหรัฐฯ กับ ออสเตรเลีย อยู่ก่อนแล้ว แม้จะไม่มีกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ตาม เพียงแต่ช่วงนี้ประเด็นรัสเซียกำลังร้อนๆ ออสเตรเลียก็เลยโบ้ยตามน้ำว่าเพราะรัสเซียเป็นเหตุ สังเกตได้ เท่านั้นเลยจริงๆ

'โฆษกจีน' ย้อน 'ออสซี่' ทำข้อตกลง AUKUS กันแบบลับๆ แต่กลับป้ายสีข้อตกลง 'จีน-โซโลมอน' ไม่โปร่งใส

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนตำหนิ นายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี และนายปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีกลาโหมของออสเตรเลียว่า มีเจตนาบิดเบือน และใส่ร้ายป้ายสีซ้ำซาก กรณีรัฐบาลปักกิ่งลงนามข้อตกลงความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

โดยนายกรัฐมนตรีออสซี่พูดอยู่เสมอว่า จีนกำลังสร้างฐานทัพบนหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งตั้งอยู่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และยังบอกอีกว่า สำหรับออสเตรเลีย และสหรัฐฯ แล้ว นี่ถือเป็นการก้าวข้าม “เส้นสีแดง” ซึ่งมีความหมายว่า ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ จะไม่ยอมทนอีกต่อไป

ในการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันจันทร์ที่ 25 เม.ย. 65 โฆษกหวัง ได้ชี้แจง โดยกล่าวเน้นย้ำว่า การก่อสร้างฐานทัพอย่างที่นายกรัฐมนตรีออสซี่ว่านั้น เป็นเฟกนิวส์ทั้งเพ

โฆษกหวัง ยังกล่าวต่อไปว่า "สหรัฐฯ กับออสเตรเลียเอาแต่ก่นด่าข้อตกลงฉบับนี้ว่า ขาดความโปร่งใส ก็แล้วทีสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ทำข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคง “ออกัส” (AUKUS) เล่า ก็วางแผนกันใต้โต๊ะมิใช่หรือ โดยซุ่มกันทำปราศจากการเปิดเผย และไร้ความโปร่งใส!!"

"เมื่อใดกันเล่าที่สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย จะส่งข้อตกลง “ออกัส” ให้บรรดาชาติในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ได้พิจารณาไตร่ตรองเนื้อหา และเมื่อใดกันเล่าที่สหรัฐฯ จะปิดฐานทัพของตัวเองที่มีอยู่ 800 แห่งในกว่า 80 ประเทศ และภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งได้ก่อความวิตกกังวลในหมู่นานาชาติ" โฆษกหวังย้อนถาม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top