Tuesday, 3 December 2024
ASEAN

10 ชาติอาเซียน ร่วมหารือ 'ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์' ตั้ง 'ASEAN CERT' รับมือกับภัยร้ายจากโลกออนไลน์

วันที่ (20 ตุลาคม 2565) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity : AMCC) และการประชุม AMCC วาระพิเศษ ร่วมกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ณ ประเทศ สิงคโปร์ โดยมี นางโจเซฟิน ทีโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศจากประเทศอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 

โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับ ว่าเรื่องปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือภัยไซเบอร์ เป็นปัญหา ระดับชาติ ในโลกไร้พรมแดน ดังนั้น การผนึกกำลังร่วมกัน เป็นสิ่งที่สำคัญ ทางสมาชิกอาเซียนมีความเห็นตรงกัน ที่จะจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ ที่ชื่อว่า ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre) หรือ ASEAN CERT เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ พร้อมการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรให้ความรู้ ฝึกอบรม ภาคประชาชน ให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์  

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ได้ร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่นเดียวกับ ประเด็นระดับโลกอื่น ๆ การปกป้องพื้นที่ไซเบอร์ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐ 

‘EA-รามาฯ-EXAT’ ดันอาคารจอดรถต้นแบบ ติดตั้งหัวชาร์จมากที่สุดใน ASEAN ถึง 578 เครื่อง

(29 มี.ค.66) นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า EA ยกระดับมิติใหม่ของระบบการจัดการพลังงานแบบเดิม สู่รูปแบบการก่อสร้างอาคารและติดตั้งระบบบริการชาร์จไฟที่ทันสมัย ในการเป็น EV Hub แห่งแรกในอาเซียน ภายใต้แนวคิด ‘EV Smart Building’ by EA Anywhere บนอาคารจอดรถ รามาธิบดี - พลังงานบริสุทธิ์ สนับสนุนพื้นที่โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอาคารต้นแบบแห่งแรกที่ติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นจำนวน 578 เครื่อง พร้อมให้บริการสถานีชาร์จทั้งระบบ AC Normal Charge ขนาด 7.3 kW จำนวน 576 เครื่อง ดำเนินการครอบคลุม 100% ทุกช่องจอดรถในอาคาร และระบบ DC Fast Charge 360 kW จำนวน 2 เครื่อง โดยคาดว่าจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคมนี้

อาคารแห่งนี้ออกแบบเพื่อการ Sharing & Charging ที่ส่งเสริมผู้ใช้บริการยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมระบบการบริหารจัดการพลังงานที่ครบวงจรอย่างคุ้มค่า ด้วยนวัตกรรมการจัดการพลังงานไฟฟ้า แบบ Predictive และ Productive ให้สามารถรองรับจำนวนเครื่องชาร์จไฟฟ้าจำนวนมากได้ ไม่ต้องลงทุนในระบบโครงสร้างเพิ่มเติม และมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานต่อจำนวนชั่วโมงการชาร์จ ใช้งานง่าย ควบคู่ไปกับ แอปพลิเคชันอัจฉริยะ EA Anywhere ที่สามารถ ค้นหา จอง ชาร์จ จ่าย จบได้ในแอปฯ เดียว

"โครงการอาคารจอดรถ รามาธิบดี - พลังงานบริสุทธิ์ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะยกระดับประเทศสู่ EV Hub ด้วย Model ‘EV Smart Building’ by EA Anywhere สู่การพัฒนาพื้นที่สำหรับ อาคารชุด อาคารสำนักงาน และอาคารขนาดใหญ่ อาทิ ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม, คอนโด, Mix Use และ Community Mall ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่เดิมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่คุ้มค่า ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายสมโภชน์กล่าว

ทั้งนี้ ระบบ ‘EV Smart Building’ by EA Anywhere ได้มีการออกแบบระบบการควบคุมกำลังไฟฟ้า โดยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งในทุกเครื่องอัดประจุไฟฟ้า จะมีการเชื่อมโยงกับระบบ Smart Monitoring ของบริษัทฯ ผ่านระบบสื่อสารแบบ Real-Time เพื่อตรวจสอบสถานะการทำงาน และ ควบคุมการจ่ายพลังงาน มาพร้อมกับการจัดลำดับความสำคัญของการใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจุบัน สถานีชาร์จในโครงข่าย EA Anywhere ดำเนินการโดยบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ให้บริการแล้วกว่า 490 สถานีทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จไปสู่ธุรกิจการจัดการพลังงาน ‘EV Smart Building’ by EA Anywhere ภายในสิ้นปี 2566 เพื่อให้ผู้ใช้รถ EV โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้รถในอาคาร มีความมั่นใจในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

-โรงพยาบาลรามาธิบดี และ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ โดยรับการสนับสนุนพื้นที่โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมติดตั้ง การพลังงาน ‘EV Smart Building’ by EA Anywhere ซึ่งเป็นอาคารที่มีหัวชาร์จมากที่สุดใน ASEAN
-โดยจะให้บริการทั้งรูปแบบ AC Normal Charge ขนาด 7.3 kW จำนวน 576 เครื่อง ดำเนินการครอบคลุม 100% ทุกช่องจอดรถในอาคาร และ แบบ DC Fast Charge 360 kW จำนวน 2 เครื่อง
-ออกแบบระบบการอัดประจุ ภายใต้หลักการ Sharing and Charging และมีระบบการบริหารจัดการพลังงานในอาคารที่สอดรับกับพฤติกรรมการจอดรถของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
 

ดีขึ้นทุกด้าน!! ‘IMD’ เผย อันดับขีดสามารถในการแข่งขันไทย ปี 66 ดีขึ้น ไต่จากอันดับที่ 64 มาอยู่ที่ 30 ของโลก ที่ 3 ของอาเซียน

ภาพรวมผลการจัดอันดับระดับโลก ในปี 2566 IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก (ประเทศรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ร่วมการจัดอันดับในปี 2566 นี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศคูเวต ได้เข้าร่วมการจัดอันดับในปีนี้เป็นปีแรก) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2565 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่างๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ภาพรวมของผลการจัดอันดับในปี 2566 นี้ พบความแตกต่างของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการค้าเสรี (Open-trade economies) และเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionist economies) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง (Politics) ด้านเศรษฐกิจ (Economics) และด้านสังคม (Social) ซึ่งผู้บริหารองค์กรที่จะสามารถนำพาธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบันได้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเงินเฟ้อ (Inflation) ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และโลกที่มีความแบ่งแยกแตกต่างกัน (Fragmented world) มากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาของปี 2566 ยังแสดงให้เห็นว่าเขตเศรษฐกิจอย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปีนี้ จากการกลับมาเปิดประเทศ หลังดำเนินนโยบายปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างยาวนาน

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 เดนมาร์กยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากความแข็งแกร่งในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงการปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยของปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ไอร์แลนด์ อันดับ 2 ในปีนี้ ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว จากความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการปรับตัว (Resilient economies) สูง อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ จากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ปรับอันดับดีขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่อันดับ 18 จากอันดับ 30 ในปีก่อน
.
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller Economies) ที่มีกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional frameworks) ที่ดี รวมถึงมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong education systems) และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาด (Access to markets) และพันธมิตรทางการค้า (Trading partners) ได้ดี เช่น เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับในอันดับ 4-10 ตามลำดับ ในปี 2566 ได้แก่ อันดับ 4 สิงคโปร์ ซึ่งหล่นจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 6 ไต้หวัน ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 7 ฮ่องกง ปรับอันดับลง 2 อันดับจากปีก่อน อันดับ 8 สวีเดน ร่วงลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 และอันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
.
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่า ประเทศที่มีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง (Stable indigenous energy production) ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง (Robust supply chains) และดุลการค้าที่ดี (Favorable trade balances) เป็นของตนเอง เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จะสามารถรักษาหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ได้ จากผลกระทบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
.
ผลการจัดอันดับของไทย


ปี 2566 ในภาพรวม ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นจาก 68.67 มาอยู่ที่ 74.54 ในปีนี้

เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 18 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ที่ต่างขยับอันดับดีขึ้น 7 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ขยับดีขึ้น 1 อันดับ โดยมีประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้

- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ จากการที่ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติ มีการลงทุนในไทยรวม มูลค่ากว่า 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 46,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 56 โดยมีการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดถึง 39,515 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 เนื่องจากตัวชี้วัด 1.2.12 Exports of commercial services ($bn) และ 1.2.13 Exports of commercial services (%) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมูลค่าการส่งออกบริการเชิงพาณิชย์ ที่เป็นการขนส่ง เดินทาง รวมถึงบริการและรายได้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จากการที่ไทยกลับมาเปิดประเทศ หลังวิกฤตโควิด 19 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว

- ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 41 และ 38 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 34 และ 31 ตามลำดับในปีนี้ โดยในปีนี้ ตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.3.02 Cost of capital อันดับ 11 และตัวชี้วัด 2.3.05 Central bank policy อันดับ 11 และภายใต้ปัจจัยย่อยกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.4.16 Labor regulations อันดับ 6 ตัวชี้วัด 2.4.17 Unemployment legislation อันดับ 12 และตัวชี้วัด 2.4.06 Investment incentives อันดับ 14

- ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ
(Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 47 ในปี
2565 มาอยู่ที่อันดับ 38 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ได้แก่ ตัวชี้วัด 3.1.08 Large corporations อันดับ 11

- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): ภาพรวมอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological
Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 34 ในปี 2565 มาอยู่ที่
อันดับ 25 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี
(Technological Infrastructure) ได้แก่ ตัวชี้วัด 4.2.08 Internet bandwidth speed และตัว
ขี้วัด Investment in Telecommunications ที่ต่างอยู่ในอันดับ 5 ตัวชี้วัด 4.2.15 High-tech
exports (%) อันดับ 11 ตัวชี้วัด 4.2.03 Mobile telephone costs อันดับ 15 ตัวชี้วัด 4.2.04
Communications technology อันดับ 15 และตัวชี้วัด 4.2.11 Public-private partnerships
อันดับ 18

มีรายละเอียดของผลการจัดอันดับในแต่ละปัจจัย ดังนี้

สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)


ในปี 2566 ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไทย มีพัฒนาการของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมากจากปีก่อนถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 จากอันดับที่ดีขึ้นของทุกปัจจัยย่อย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่อันดับดีขึ้น 7 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 44 ในปีนี้ การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่อันดับดีขึ้น 8 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 การจ้างงาน (Employment) ที่อันดับดีขึ้น 1 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 3 และระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 4 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 27

‘ไทย’ ครองแชมป์!! ยอดนักท่องเที่ยว 28.09 ล้านคน เพิ่มขึ้น 153% สูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

(27 ม.ค. 67) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 27 (ASEAN Tourism Forum : ATF 2024) ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีนางสวนสวรรค์ วิยะเกต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายเตียง คิง ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม สหพันธรัฐมาเลเซีย

โดยรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ที่จะฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รับผิดชอบ และยั่งยืน มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ผ่านการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี 2559 – 2568

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจที่ได้จากการประชุม พบว่าในปี 2566 ตัวเลขท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 153% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า โดยแคมเปญการตลาดในปี 2566 ทั้ง 2 แคมเปญ ได้แก่ แคมเปญ ‘imag in ASEAN’ และแคมเปญฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมมากถึง 2,500 ล้านคนทั่วโลก

ทั้งนี้ ยังได้รับทราบรายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวปัจจุบัน ของประเทศสมาชิกอาเซียน มีดังนี้

- ประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสูงสุดในปี 2566 จำนวน 28.09 ล้านคน เพิ่มขึ้น 153.94% จากปีก่อนหน้าที่มี 11.06 ล้านคน
- เวียดนาม มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 12.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 344.2% จากปีก่อนหน้าที่มี 3.66 ล้านคน
- สิงคโปร์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12.37 ล้านคน เพิ่มขึ้น 130% จากปีก่อนหน้ามี 5.37 ล้านคน
- กัมพูชา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.45 ล้านคน เพิ่มขึ้น 139.5% จากปีก่อนหน้ามี 2.27 ล้านคน
- ฟิลิปปินส์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.45 ล้านคน เพิ่มขึ้น 105.38% จากปีก่อนหน้ามี 2.65 ล้านคน
- บรูไน มีนักท่องเที่ยว 82,109 คน เพิ่มขึ้น 345.61% จากปีก่อนหน้ามี 18,426 คน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ติดตามมาตรการและกิจกรรมภายใต้แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียน ภายหลังโควิด-19 ได้ดำเนินการไปแล้ว หรือกำลังดำเนินการอยู่ผ่านแผนปฏิบัติการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวอาเซียนฯ ถึง 60% จึงได้ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทบทวนกิจกรรมสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี 2559-2568 และข้อริเริ่มสำคัญอื่นๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินการกิจกรรม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี 2559-2568 ตลอดจนประเด็นสำคัญอื่น ๆ ในปี 2566-2567 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวที่รวดเร็วของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต ให้สอดคล้องกับแนวทาง ‘การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบ : มุ่งสู่อนาคตอาเซียนที่ยั่งยืน’ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าการท่องเที่ยวอาเซียนจะมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน

สำหรับ ในปี 2568 การประชุมด้านการท่องเที่ยวอาเซียน จะจัดขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2568 ภายใต้หัวข้อ ‘Unity in Motion : Shaping ASEAN’s Tourism Tomorrow’ โดยมีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ

🔎ส่อง SPR ของ ASEAN ใคร ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุด

ปัจจุบันพลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังคงเป็นพลังงานหลักที่ชาวโลกจำเป็นต้องพึ่งพาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งย่อมรวมถึงพลเมืองของกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วย ASEAN หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) ถือกำเนิดขึ้นด้วยการลงนามของชาติสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศใน ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 โดยมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ 

ด้วยจำนวนประชากรของประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ร่วม 700 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความต้องการน้ำมันในอาเซียนจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงเป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานในปริมาณมากแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ ASEAN ต้องมีความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงพลังงานระหว่างกันด้วย โดย ASEAN เริ่มจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting: AMEM) ครั้งแรกในปี 1982 

โดยเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ด้วยการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานในระดับภูมิภาคที่อาศัยจุดแข็งและศักยภาพ ของแต่ละประเทศในอาเซียนที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลอดจนพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ และทำให้เกิดความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของ ASEAN (ASEAN Petroleum Security Agreement: APSA) ซึ่งได้ลงนามมาตั้งแต่ปี 1986 

APSA เป็นกลไกในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉินด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเวลาหรือสถานการณ์ทั้งที่มีการขาดแคลนและมีอุปทานมากเกินไป โดย APSA กำหนดว่า ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภาวะการขาดแคลนปิโตรเลียมต้องขาดแคลนปิโตรเลียมอย่างน้อย 10% ของความต้องการภายในประเทศนั้น ๆ และ ความร่วมมือให้เป็นไปตามสมัครใจ โดยให้เลขาธิการคณะมนตรี ASEAN ว่าด้วยปิโตรเลียม (ASEAN Council on Petroleum (ASCOPE) Secretary-in-Charge) เป็นผู้ประสานงาน

แม้ว่า ASEAN จะมี APSA เป็นหลักประกันหากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแล้วก็ตาม แต่ละประเทศสมาชิกต่างก็มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเองด้วย ปัจจุบันสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ (ยกเว้นกัมพูชาและลาว) มีโรงกลั่นน้ำมันรวมกันกว่า 30 โรง มีกำลังการกลั่นรวมกันราว 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยประเทศที่มีกำลังการกลั่นสูงสุดคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย และอินโดนีเซีย รวมสามประเทศสามารถกลั่นน้ำมันคิดเป็น 70% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด โดยสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเหลือเพื่อการส่งออกมากที่สุด 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามารถส่งออกได้ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ในขณะที่ไทยมีกำลังการกลั่นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เหลือส่งออกประมาณ 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ด้วยปัจจัยนี้กอรปกับทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย จึงเป็นทั้งจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและจุดกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียได้โดยสะดวก อีกทั้งตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่มีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์จึงกลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย 

รัฐบาลสิงคโปร์จัดให้มี SPR ตั้งแต่หลังจากเกิดวิกฤตน้ำมันปี 1973 ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ SPR ของสิงคโปร์แข็งแกร่งที่สุดใน ASEAN ด้วยโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมันที่ทันสมัย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์การกลั่นน้ำมันที่สำคัญของโลกและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปทั่วโลก รัฐบาลสิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5ล้านคนนานถึง 451 วันเลยทีเดียว อาจจะถือว่ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อินโดนีเซียประเทศเดียวของ ASEAN ที่เป็นสมาชิก OPEC โดยส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมที่ไม่สามารถกลั่นเองได้วันละกว่า 600,000 บาร์เรล โดยมีการบริโภคเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ SPR ของอินโดนีเซียนั้นดำเนินการโดย PT Pertamina (Persero) บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศได้เป็นเวลา 19-22 วัน ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพัฒนา SPR ให้สามารถจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้ได้มากขึ้น 

ตั้งแต่ปี 1974 มาเลเซียผลิตน้ำมันได้ 9 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 50 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมาเลเซียผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง 660,000 บาร์เรลและก๊าซประมาณ 7.0 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  มาเลเซียบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงราว 708,000 บาร์เรลต่อวัน มาเลเซียต้องการขยายขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทั้งสิงคโปร์ยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการจัดเก็บน้ำมัน ซึ่งมาเลเซียพยายามหาประโยชน์ด้วยการเป็นผู้ให้บริการทางเลือกสำหรับการจัดเก็บน้ำมันในภูมิภาค ประมาณการว่าปัจจุบันมาเลเซียน่าจะมีปริมาณ SPR อยู่ที่ 23.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 33 วัน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ SPR เพิ่มเป็น 34.6 ล้านบาร์เรล เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 493 วัน ใน 2-3 ปีข้างหน้า

เวียดนามมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองแห่งชาติเท่ากับ 9 วันของการนำเข้าสุทธิ และไม่มีน้ำมันดิบสำรองของชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) ของเวียดนามได้พยายามเสนอให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองเป็น 15 วันหรือ 30 วันของการนำเข้าสุทธิ เมียนมามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 60 วัน โดยแบ่งเป็นเอกชนจัดเก็บในปริมาณสำหรับ 40 วัน และรัฐบาลจัดเก็บ (SPR) ในปริมาณสำหรับ 200 วัน ลาวมีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 16 วัน (เป็นน้ำมันสำเร็จรูป 60 ล้านลิตร) ฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ปิโตรเลียมแห่งชาติประมาณ 30 ล้านบาร์เรล สามารถรองรับการบริโภคในประเทศได้ 63 วัน กัมพูชามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 30 วัน และบรูไนประเทศที่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากที่สุดใน ASEAN ได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 50% ของปริมาณน้ำมันดิบที่จัดเก็บ 

และเป็นที่ทราบกันว่า ไทยเรามีการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองโดยบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ 25-36 วันเท่านั้น ซึ่งยังคงต่ำกว่าปริมาณมาตรฐานน้ำมันสำรองของ IEA ที่ 50 วัน หลาย ๆ ประเทศที่เศรษฐกิจมีศักยภาพสูงมี SPR มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคสูงถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งหรือการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจนกระทบต่อการจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อมี SPR เกิดขึ้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะมีอำนาจในการต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ อีกด้วย เพราะรัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากที่สุด โดยที่ SPR จะมีการหมุนเวียนจากการซื้อเข้าและจำหน่ายออกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้รัฐบาลรู้ต้นทุนนำเข้าและราคาหลังการกลั่นได้โดยตลอด จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์อย่างมากมาย 

ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเกิดขึ้นและถูกนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด

ไอเดียจีนสร้างฮับดิจิทัลกว่างซี เชื่อมอีคอมเมิร์ซอาเซียนที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

เมื่อไม่นานนี้ ตำบลอูเจิ้น มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ได้จัดการประชุมสุดยอดอินเทอร์เน็ตโลก (WIC) แห่งอูเจิ้น ปี 2024 โดยส่วนหนึ่งเป็นการประชุมศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน หัวข้อสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล แบ่งปันอนาคตดิจิทัลร่วมกัน

คณะเจ้าหน้าที่รัฐจากจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว มาเลเซีย และเมียนมา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการวงการอินเทอร์เน็ตจากทั้งในและต่างประเทศด้วยเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียน เพื่ออนาคตใหม่ของเส้นทางสายไหมดิจิทัลที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

อนึ่ง จีนและกลุ่มประเทศอาเซียนมุ่งใช้โอกาสการพัฒนาใหม่จากกระแสดิจิทัลมาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเขตปกครองตนเอง 'กว่างซี' ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวของจีนที่เชื่อมต่อกับอาเซียนทางบกและทางทะเล ได้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเปิดกว้างความร่วมมือเส้นทางสายไหมดิจิทัลกับอาเซียน

กว่างซีได้ทำหน้าที่แกนกลางของศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน ซึ่งดำเนินงานเชื่อมต่อเครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงสร้างความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางดิจิทัลและสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนในด้านรัฐบาลดิจิทัล วิถีชีวิตดิจิทัล และอุตสาหกรรมดิจิทัลเกือบ 20 โครงการ โดยแพลตฟอร์มบริการข้อมูลสินเชื่อข้ามพรมแดนจีน-อาเซียนของศูนย์ฯ ครอบคลุมผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนถึง 7.87 ล้านราย และร่วมมือกับธนาคารในและต่างประเทศ 16 แห่ง

นอกจากนั้นศูนย์ฯ ส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ทั้งการสื่อสาร การสำรวจระยะไกล พลังการประมวลผล และการนำทาง รวมถึงมีการวางเคเบิลออปติกภาคพื้นดินระหว่างประเทศ 12 เส้น พร้อมจัดตั้งศูนย์สารสนเทศ 38 แห่งใน 9 ประเทศอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา และเมียนมา

กว่างซีได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียน ดึงดูดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่างลาซาด้าและชอปปีมาจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ และสร้างฐานการไลฟ์ตรีมมิงอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนสำหรับอาเซียน

ขณะเดียวกันกว่างซีเร่งสร้างนิคมอุตสาหกรรมปลายทางอัจฉริยะ 5G (ชินโจว) จีน-อาเซียน เดินหน้านิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียน และลงนามข้อตกลงการลงทุนกับบริษัทเกือบ 30 แห่ง ส่งผลให้ยอดจำหน่ายอุปกรณ์จัดเก็บและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผลิตโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่างซีตั้งแต่ปี 2023 สูงเกิน 20 ล้านหยวน (ราว 94 ล้านบาท)

ฐานหลักของศูนย์สารสนเทศจีน-อาเซียนในนครหนานหนิงได้รวบรวมบริษัทผู้ประกอบการเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่า 7,200 แห่ง เมื่อนับถึงสิ้นปี 2023 และปริมาณนำเข้าและส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของหนานหนิงสูงเกิน 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.76 หมื่นล้านบาท) ติดต่อกัน 2 ปี

ทั้งนี้ ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มขึ้นจากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.44 ล้านล้านบาท) ในปี 2004 เป็น 9.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31.37 ล้านล้านบาท) ในปี 2023 โดยทั้งสองฝ่ายต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันติดต่อกัน 4 ปี พร้อมเดินหน้าความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และยานยนต์พลังงานใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top