Friday, 3 May 2024
8ปีนายก

ชมรมแพทย์ชนบท ออกโรงให้ประยุทธ์พอได้แล้ว พร้อมชวนสังคมสร้างกระแส ‘8 ปี พอแล้ว’ ให้กระหึ่ม

ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ให้ประยุทธ์พอได้แล้วในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 8 ปี พร้อมชวนใช้เวลาที่เหลือ 1 สัปดาห์ปลุกทุกองค์กรสร้างกระแส 8 ปีให้กระหึ่ม

(18 ส.ค. 2565) ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท “8 ปีแล้ว พอเถอะนะ” มีเนื้อหาว่า กติกาทางสังคมเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีรวมกันต้องไม่เกิน 8 ปี เป็นเจตนารมณ์ที่ก้าวหน้าของทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 นับว่าครบ 8 ปีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจน ท่านรับเงินเดือนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปีแล้ว ท่านใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว ท่านรับสวัสดิการจากภาษีประชาชนในฐานะนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมาว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีแล้ว จึงถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะก้าวลงจากตำแหน่งอย่างมีศักดิ์ศรีตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2560

‘ทิพานัน’ วอนเพื่อไทย หยุดปั่นกระแส 8 ปี นายกฯทำสังคมสับสน ย้ำปัญหากฎหมายให้ศาล รธน. ตัดสิน เผย ‘บิ๊กตู่’ จัดเอเปคมีแผนดำเนินงานล่วงหน้า หวังสร้างโอกาสและรายได้ตามวาระอายุรัฐบาล ไม่ใช่ข้ออ้างดำรงตำแหน่งต่อ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวหานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้ช่องให้นายกฯ อยู่รักษาการต่อไปว่า สิ่งที่ท่านวิษณุได้ชี้แจงเป็นการตอบคำถามของนักข่าวตามหลักกฎหมายและอธิบายกฎหมายให้เข้าใจได้ง่าย  ส่วนที่นายสมคิดเองเออเองว่าเป็นการชี้ช่องนั้น อาจเป็นเพราะคำตอบตามหลักกฎหมายนั้นไม่ถูกใจนายสมคิดจึงแสดงความไม่พอใจในคำตอบและบิดเบือนความเห็นทางกฎหมายให้สังคมกังขาการรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“การปั่นกระแสสังคมที่อยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ ในห้วงเวลานี้ เป็นปัญหาที่ต้องไปตีความตัวบทกฎหมาย ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นองค์กรอิสระและมีหน้าที่วินิจฉัย ไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.เพื่อไทยหรือฝ่ายใดที่จะวินิจฉัยตีความให้สังคมสับสน” น.ส. ทิพานัน กล่าว 

น.ส. ทิพานัน กล่าวต่อว่า  ส่วนที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องฟังคำวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญนั้น  แสดงให้เห็นว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องการเคารพกระบวนการยุติธรรมอย่างนั้นหรือ  ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ที่มีอดีตหัวหน้าพรรค ทั้งนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเมิดกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีพยายามติดสินบนตุลาการรวมถึงหลบหนีการดำเนินคดีและการลงโทษคดีทุจริตต่างๆ โดยไม่เคารพกฎหมายใช่หรือไม่

‘วิษณุ’ ยัน 'บิ๊กตู่' ยังนั่งร่วม ครม. ได้ ในฐานะ รมว.กห. แม้ศาลสั่งหยุดหน้าที่นายกฯ

'วิษณุ' ลั่นรัฐบาลพร้อมแจงปม 8 ปีนายกฯ ต่อศาล ชี้ถ้าสั่งหยุดหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัย 'บิ๊กตู่' นั่งร่วมครม.ในฐานะ รมว.กลาโหมได้ 'ป้อม' รักษาการแทน ยันไม่ว่าออกหน้าไหนไร้กระทบการทำงาน รบ.

(22 ส.ค. 2565) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องให้ศาลตีความประเด็นความเป็นนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม วันเดียวกันนี้ (22 ส.ค.) รัฐบาลต้องเตรียมการชี้แจงอย่างไรหรือไม่ ว่า ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะยังไม่รู้ว่าศาลจะสั่งให้ชี้แจงหรือไม่ อาจไม่ต้องให้ใครชี้แจง หรือสั่งให้ใครชี้แจง อาจจะเป็นนายกฯ โดยตรง หรือรัฐบาล ซึ่งก็คือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อความเป็นธรรม

"เพราะเรื่อง 8 ปี จะเกี่ยวกับ พล.อประยุทธ์ คนเดียว ก็คงไม่ใช่ มันต้องเป็นท่าทีของรัฐบาล จึงยังไม่รู้จะเตรียมอะไร แต่คร่าวๆในใจมีกันอยู่ ฉะนั้นหากศาลสั่งมาแนวทางไหนก็พร้อมชี้แจง แต่ขอเวลาหน่อย วันถึงสองวัน เรื่องนี้ไม่เสียเวลาคิด แต่เสียเวลาพิมพ์ เพราะเวลายื่นคำตอบต่อศาล การพิมพ์ต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่นึกจะเขียนอะไรก็เขียนไปต้อง 9 ชุด" นายวิษณุ ระบุ

เมื่อถามว่าข้อมูลในใจคร่าว ๆ ที่ว่าคืออะไร รองนายกฯ กล่าวว่า บอกไม่ได้เดี๋ยวเสียรูปคดี

ส่วนกรณีที่นายชวน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง กับกรณีที่มีผู้ร้องผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความต่างกันอย่างไรนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แตกต่าง เป็นเรื่องดีมากที่จะทำอย่างนั้น โดยเฉพาะช่องทาง กกต. จะได้ศึกษาอะไรเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ เพราะฝ่ายค้านยื่นในมุมจ้องจะให้ออกก็มีวิธีให้เหตุผลแบบของเขา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อนายชวนยื่นเรื่องไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำสั่งรับคำร้องภายในวันที่ 24 ส.ค. เลยหรือไม่ เพราะผู้ร้องมองว่าวันดังกล่าวเลยการดำรงตำแหน่ง 8 ปี นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่ศาล ตนไม่ทราบ ส่วนจะใช้เวลาพิจารณานานหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ไม่ได้มีผลอะไรเหมือนที่ฝ่ายค้านอธิบายไปแล้วนั้นถูกต้อง เพราะเมื่อนายชวน ส่งเรื่องไปที่ศาล โดยศาลจะสั่งสองอย่างคือไม่รับคำร้องกับรับคำร้อง ถ้ารับคำร้องจะมีคำสั่งตามมาว่า รับโดยให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กับรับโดยนายกฯ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างรอคำพิพากษา ถ้าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แทน คณะรัฐมนตรีก็อยู่ทำหน้าที่ทั้งหมดไม่ต้องกลัวอะไรจะโมฆะ ไม่ว่าวันไหนศาลตัดสินว่าพล.อ.ประยุทธ์ พ้นหรือไม่พ้น คณะรัฐมนตรียังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังมีอีกตำแหน่งคือ รมว.กลาโหม ที่ไม่มีข้อกำหนด 8 ปี หากเป็นเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็นั่งเป็นลูกน้อง พล.อ.ประวิตร ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย ทั้งนี้ถ้าถึงที่สุดแล้วศาลวินิจฉัยให้พ้นเพราะประเด็น 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงรักษาการได้ แต่ควรหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง และคิดว่าการหานายกฯ ใหม่ไม่น่าจะยากอะไร นายชวน คงรีบดำเนินการใน 3 วัน 7 วัน

เพื่อไทย แถลงการณ์ ย้ำ ‘บิ๊กตู่’ สิ้นความเป็นนายกฯ 24 ส.ค.นี้ จี้ ใช้จิตสำนึกเคารพกฎที่สร้างขึ้นมาเอง

‘เพื่อไทย’ ออกแถลงการณ์จี้ ‘บิ๊กตู่’ สิ้นสุดความเป็นนายกฯ 24 ส.ค. นี้ ชี้ 1-2 วันนี้จะเป็นบทพิสูจน์ จี้ เคารพกฎเกณฑ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา พร้อมย้ำ ให้ใช้จิตสำนึก ไม่ใช่ให้ศาลหรือคนใดมากำหนด

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรค พท. แถลงท่าทีพรรค พท.ต่อกรณีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อง บทพิสูจน์นายกรัฐมนตรี 8 ปีกับการปฏิรูปการเมืองไทย ว่า การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นหลักนิติธรรม เพราะอำนาจทำให้คนทุจริตใช้อำนาจในทางมิชอบ อำนาจเด็ดขาดทำให้ทุจริตอย่างไม่มีข้อจำกัด ถ้าปล่อยให้คนที่มีอำนาจเด็ดขาดเป็นระยะเวลายาวนานเกินไป ก็เท่ากับปล่อยให้ผู้ใช้อำนาจสามารถทุจริตโดยไม่มีข้อจำกัด

น.ส.ธีรรัตน์  กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาโดยลำดับ แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะประกาศใช้ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 9 มิถุนายน 2562 ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่นับถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นเวลา 8 ปี ฉะนั้น กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งต่อกันหรือไม่ และมาตรา 171 วรรคสี่ กำหนดไว้ชัดเจนว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หากดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปี

น.ส.ธีรรัตน์กล่าวด้วยว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 โดยประธานกรรมาธิการฯ ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลมาตรา 264 แสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าว รวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกินแปดปี พรรค พท.เห็นว่า โดยเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 มาตรา 171 และมาตรา 264 ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

น.ส.ธีรรัตน์กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อปี 2557 และตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ต้องการปฏิรูปการเมือง แม้เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งตนเองผลักดัน ก็จัดเรื่องการปฏิรูปประเทศรวมถึงการปฏิรูปการเมืองไว้เป็นหมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญ การไม่ให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินไปจึงกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้แปดปี เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ สร้างอิทธิพลทางการ อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น จึงเป็นสาระสำคัญที่ส่อแสดงถึงความต้องการที่จะปฏิรูปการเมือง พรรค พท.เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดำเนินการโดยประการใด กับกรณีเป็นนายกรัฐมนตรีมาแปดปีแล้ว จะเป็นวิกฤตของประเทศอีกครั้งหนึ่ง และอาจนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองขึ้น แต่สิ่งที่จะสะท้อนได้แน่นอนคือ การปฏิรูปการเมืองที่กล่าวไว้ตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองประเทศเรื่อยมา เป็นความจริงใจหรือเป็นเพียงวาทะกรรมคำพูดที่ให้ดูดีเท่านั้น โดย 1-2 วันนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงตัวตนอย่างแท้จริงให้เห็นว่ามีแนวคิด แนวทางแบบเผด็จการอำนาจนิยม ลุแก่อำนาจ ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ หรือจะยอมรับการเมืองตามวิถีทาง และจารีตประเพณีแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เพราะวันนี้ทุกข้อกฎหมาย ทุกความคิดเห็นของนักวิชาการที่ได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์หมดลงแล้ว การตัดสินใจต่อไปของ พล.อ.ประยุทธ์จะทำเพื่อตัวเองหรือจะเห็นถึงประเทศไทย สิ่งที่เราได้ร่วมกันทำงานมาคืออยากจะเห็นประชาธิปไตยและทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ฉะนั้น ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เคารพกฎกติกาที่ท่านสร้างขึ้นมาเอง และปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกคน” น.ส.ธีรรัตน์กล่าว

‘เพื่อไทย’ ไล่ส่ง ‘ประยุทธ์นายกฯ 8 ปี’ ชี้ เสพติดอำนาจ ฝืนบทบัญญัติรธน.

‘ตรีชฎา’ นับถอยหลังไล่ส่ง ‘ประยุทธ์นายกฯ 8 ปี’ ฝืนบทบัญญัติรธน. เหตุเสพติดอำนาจไม่สนคนไล่ 

นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีในวันที่ 23สิงหาคม 2565 เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จากนั้นก็ตั้งพรรคพวกตัวเองมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้มีแม่น้ำ 5 สาย หนึ่งในนั้นคือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ สนช.โหวตตัวเองเป็นนายกฯ เริ่มนับหนึ่งในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และเป็นนายกฯเรื่อยมา สืบทอดอำนาจจนมาถึงหลังเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จนถึงทุกวันนี้     

นางสาวตรีชฎา กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 264 ในบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ..”  นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ จึงเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้ว  ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จึงเป็น นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้

ชัดเจนแล้ว!! เปิดเอกสาร 'มีชัย' ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นปม 8 ปีนายกฯ เริ่มปี 60

(6 ก.ย. 2565) จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมวินิจฉัยกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยล่าสุด นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำชี้แจงของพยาน 3 ปากเรียบร้อยแล้ว โดยพยานปากสำคัญคือคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้สำหรับคำชี้แจงของนายมีชัย ที่ส่งเป็นเอกสารถึงศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีทั้งสิ้น 3 แผ่นโดยมีรายละเอียดดังนี้

เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับ มาตรา ๒๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

กราบเรียน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

อ้างถึง หนังสือเรียกของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔๐/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้นสั่งให้ข้าพเจ้าในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรมนูญ จัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด ซึ่งมีความว่า "ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖o ใช้บังคับ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๔ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งรารอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด" นั้น

ข้าพเจ้ามีความเห็นในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้

๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา ๑๖๐) ที่มา (มาตรา ๘๘) วิธีการได้มา (มาตรา ๑๘๙ และมาตรา๒๗๒) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา ๑๖๔) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่) และผลจากการพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา ๑๖๘) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่าง ๆ เหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใดๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐

๓. อย่างไรก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา ๒๖๔ บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่..." โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ

๔.โดยผลของมาตรา ๒๖๔ ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตั้งแต่วันที่รัฐชรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ใช้บังคับ คือ วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ ๖ เมษายน เป็นต้นไป

‘ทิพานัน’ วอนอย่าด่วนวิจารณ์เอกสาร 'มีชัย' ปม 8 ปี เตือนสติฝ่ายค้าน ควรรอศาลชี้ขาด อย่าตีรวนรายวัน

รองโฆษกรัฐบาล วอนอย่าด่วนวิจารณ์เอกสารความเห็น 'มีชัย' ปม 8 ปี เผยแพร่ในโลกโซเชียล ชี้แจงกรณี ‘พล.อ.ประยุทธ์' ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา เตือนสติฝ่ายค้านต้องเชื่อมั่นศาลหลังยื่นคำร้องเอง หยุดตีรวนกดดันศาลทำสังคมสับสนรายวัน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส่งเป็นเอกสารถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอให้สังคมหยุดวิพากษ์วิจารณ์เพราะเอกสารดังกล่าวยังไม่มีการรับรองว่าเป็นเอกสารจริงและเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้เป็นข้อสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี จึงขอให้สังคมใช้วิจารณญาณก่อนการวิพากษ์วิจารณ์ 

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า หลังมีเอกสารดังกล่าวเผยแพร่ในโซเชียล อาจทำให้สังคมสับสนว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาล จึงต้องขอชี้แจงว่า หากศาลต้องการข้อมูลหรือคำชี้แจงของท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นไปในฐานะพยาน ตามกระบวนพิจารณาของศาล โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อาศัยอำนาจตามพรป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 27 ที่กำหนดให้การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจค้นหาความจริง การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็ว และในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีได้ ซึ่งคำชี้แจงหรือหลักฐานของบุคคลที่ส่งมายังศาล เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 72 และ 73 ของพรป. นี้

อดีตศาลรธน. วิเคราะห์วาระ 8 ปีนายกฯ ชี้ชัดบทเฉพาะกาล ม.264 ดึงมาตีความไม่ได้

อดีตศาล รธน. วิเคราะห์วาระ 8 ปี ‘บิ๊กตู่’ ดึง ม.264 มาตีความไม่ได้ เหตุเป็นบทเฉพาะกาล-ข้อยกเว้น ชี้ต้องเริ่มนับจากปี’62 

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการตีความวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไป บทเฉพาะกาลถือเป็นข้อยกเว้นจากหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งในกรณีมาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ก็เช่นกัน เป็นข้อยกเว้นที่เขียนให้รัฐบาลที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นรัฐบาลโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้ไม่มีรอยแหว่ง ให้มีความต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นจะหาว่ารัฐบาลที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นรัฐบาลเถื่อน แต่งตั้งใครไปก็เป็นโมฆะ ใช้เงินก็เป็นโมฆะ ดังนั้นจึงต้องมีข้อยกเว้นเป็นบทเฉพาะกาลดังกล่าวไว้ เหมือนกับกฎหมายทุกฉบับ

“เมื่อบทเฉพาะกาลถือเป็นข้อยกเว้น ก็มีหลักว่าข้อยกเว้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งมาตรา 264 ก็ตีความเฉพาะว่ารัฐบาลมีความต่อเนื่องตีความแค่เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง จะเอาเรื่องนี้ไปใช้ด้วยไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลัง ทั้งนี้รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะใช้เงื่อนไขทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญ ทั้งคุณสมบัตินายกฯ คุณสมบัติรัฐมนตรี จะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งรัฐบาล วันที่ (9 มิ.ย. 2562) ดังนั้นหากจะนับ 8 ปีก็จะต้องนับตั้งแต่ปี 2562 ส่วนใครจะเป็นนายกฯ ก็ให้เป็นให้เบื่อไปเลย แต่กติกาเป็นอย่างนี้”

อย่างไรก็ตาม กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประ ยุทธ์ จะเอามาเทียบเคียงกับกรณีของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ เพราะนายสิระ สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องใช้คุณสมบัติที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นจะไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่อง

ศาลรัฐธรรมนูญ นัด 30 กันยายนนี้ วันชี้ชะตา ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ปมวาระ 8 ปี นายกฯ

ศาลรัฐธรรมนูญ ยุติการไต่สวน ปมวาระ 8 ปีนายกฯประยุทธ์ เหตุมีพยานหลักฐานเพียงพอ พร้อมนัดอ่านคำวินิจ 30 กันยายนนี้

(14 ก.ย. 2565) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่แล้ว เห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและหลักฐานเพียงพอให้พิจารณาวินิจฉัยได้ จึงให้ยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.เวลา 15:00 น.

ศาลรธน. เคาะ ‘ประยุทธ์’ นั่งนายกฯยังไม่ถึง 8 ปี ชี้ วาระนายกฯให้เริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 60

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง โดยเจตนารมณ์ของ รธน.มาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดระยะเวลาการเป็นนายกฯ รวมกันไม่เกิน 8 ปีนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ รธน.2560 ใช้บังคับ คือวันที่ 6 เม.ย.2560

วันนี้ (30 ก.ย. 65) เมื่อเวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยตามคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 2 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมากว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากเจตนารมณ์ของมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันไม่เกิน 8 ปีนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ นั่นคือวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธจึงยังไม่ครบ 8 ปี และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้อีก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top