Sunday, 19 May 2024
แบงก์ชาติ

หวั่นใจ!! 'คลังชาติ' ใต้ความพยายามครอบงำ 'ธนาคารแห่งประเทศไทย' การกระทำที่แม้แต่จอมเผด็จการตัวจริงของไทย 'ยังไม่เคยคิดจะทำ'

จากคำปราศรัยของ 'อุ๊งอิ๊ง' แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' จัดโดยพรรคเพื่อไทย โดยเธอกล่าวถึงปัญหา 3 เรื่องของธนาคารชาติคือ...

1. ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
2. กฎหมายที่กำหนดให้แบงก์ชาติเป็นอิสระเป็นต้นเหตุของปัญหา
3. หากแบงก์ชาติไม่ยอมทำความเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาล จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุที่ 'อุ๊งอิ๊ง' อ่านตามโพย จึงเกิดกระแสวิจารณ์ว่า เธอพูดโดยไม่ได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของธนาคารชาติจริง ๆ แต่พูดตามที่มีคนเขียนบทให้ และทำให้คิดว่า พรรคเพื่อไทยใช้ 'อุ๊งอิ๊ง' และการปราศรัยในงานนี้ โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงท่าทีที่ไม่ยอมตามนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการลดดอกเบี้ย และการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้ ธนาคารกลาง หรือ ธนาคารชาติเป็นองค์กรอิสระที่มีความเฉพาะตัว โดยทั่วไป แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นองค์กรของรัฐ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล และผู้ว่าการได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล แต่จะต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล เพราะหากไม่เป็นอิสระแล้ว ก็จะเกิดความเสี่ยงร้ายแรงจากการบิดเบือนและการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองที่รออยู่อย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญให้เกิดภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของประเทศ

ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างธนาคารชาติกับนโยบายของรัฐบาล มีข้อดีสำหรับทั้งสองฝ่าย 

***ในด้านหนึ่ง รัฐบาลสามารถได้รับประโยชน์จากคำแนะนำด้านเทคนิคจากธนาคารชาติ (ที่มีความเป็นอิสระ) ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางการเงินจากโครงการเศรษฐกิจและการคลังที่เสนอโดยรัฐบาล 

นอกจากนี้ ธนาคารชาติอาจอำนวยความสะดวกในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสม และธนาคารชาติยังสามารถช่วยเหลือรัฐบาลได้โดยใช้ชื่อเสียงในฐานะสถาบันอิสระเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดยืนของรัฐบาลในกรณีที่นโยบายทางเศรษฐกิจหรือการคลังที่รัฐบาลดำเนินการถูกมองว่าไม่มั่นคง ขาดเสถียรภาพ 

ดังนั้น ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานที่เป็นกลางและการดำเนินงานด้วยความยุติธรรมในระบบเศรษฐกิจ เมื่อธนาคารชาติเป็นอิสระจากกระทรวงการคลัง ธนาคารชาติก็สามารถตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันทางการเมือง เพราะความเป็นอิสระนี้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

***ในอีกมุมหนึ่ง มีหลายสถานการณ์ที่ธนาคารชาติต้องการหรืออย่างน้อยก็จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเสริมของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะพบว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินที่กำหนดสามารถบรรลุผลได้ง่ายขึ้น หากมีการใช้มาตรการทางการคลังและมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงินร่วมกับมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ 

สรุปแล้ว นโยบายการเงินและสินเชื่อสามารถช่วยเหลือรัฐบาลในการดำเนินโครงการของตนได้ แต่ถ้าธนาคารชาติมีความเห็นที่แตกต่าง ก็อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของรัฐบาล อย่างเช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลย่อมไม่เต็มใจที่จะให้ธนาคารชาติดำเนินการอย่างอิสระอีกต่อไป และอยากให้ธนาคารชาติอยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลของตน

แน่นอนว่า แนวคิดและมุมมองเช่นนี้ แม้แต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้ที่สังคมไทยมองว่าเป็น ‘จอมเผด็จการ’ ตัวจริงของไทยยังไม่เคยทำเลย เพราะจอมพลสฤษดิ์ไม่เคยเข้าไปวุ่นวายยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

ดังนั้นแนวคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยและเป็นกังวลในผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของชาติในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง

‘อนุทิน’ ชี้ ‘แบงก์ชาติ’ ต้องมีอิสระในการทำงานเพื่อบ้านเมือง ยัน!! พรรคร่วมพร้อมหนุนทุกนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(7 พ.ค. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสวิจารณ์ถึงความเป็นกลางของแบงก์ชาติ ระบุว่า “ทุกหน่วยงานต้องมีอิสระในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานใดก็ตาม เราก็ต้องทำตามสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมือง และทำตามนโยบายของรัฐบาล ตราบใดที่นโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และประชาชน หลักการมีแค่นี้”

“ในฐานะพรรคร่วม ย้ำว่านโยบายของรัฐบาล อย่าง เงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น เป็นนโยบายหรือไม่ อยู่ในสมุดปกขาวใช่หรือไม่ ก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาล คือการที่จะทำนโยบายนี้ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ แน่นอนจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าหลักสำคัญเรื่องนี้ถูกพิสูจน์ได้ เช่นได้รับคำยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลหรือจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ่งเหล่านี้ก็ต้องถือว่าพรรคร่วม ก็ต้องสนับสนุน” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวเสริมว่า “ทั้งนี้ตนไม่ใช่นักกฎหมาย เราก็ต้องให้คนที่มีความชำนาญด้านกฎหมาย เป็นผู้ชี้แจงต่อรัฐบาล และประชาชน ในกรณีนี้รัฐบาลทุกรัฐบาล เรามีสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นที่ปรึกษากฎหมายแห่งรัฐ เราต้องฟังความเห็น”

‘สมาคมเศรษฐศาสตร์ฯ’ ออกแถลง ‘ความขัดแย้ง ธปท.-ฝ่ายการเมือง’ ชี้!! ฝ่ายการเมืองไม่ควรข่มขู่แบงก์ชาติในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง

(8 พ.ค.67) ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ในฐานะนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และนายวิศาล บุปผเวส เลขาธิการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อเตรียมออกแถลงการณ์เรื่อง ความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับ ฝ่ายการเมือง ดังนี้…

‘แถลงการณ์ เรื่องความขัดแย้งระหว่าง ธปท. กับ ฝ่ายการเมือง’

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง ว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหรือไม่ จนนำไปสู่วิวาทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการปกป้องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย กับฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นของภาคการเมือง

เนื่องจากวิวาทะเรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควบคู่กับนโยบายการคลังในทุกประเทศทั่วโลก ในขณะเดียวกันสังคมยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่องความจำเป็นที่ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน คณะผู้แถลงการณ์จึงขอแสดงความเห็น ดังนี้...

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมีความจำเป็นด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองเหตุผล

ประการแรก ธนาคารกลางควรมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองระยะสั้น ที่อาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน หากอำนาจในการกำหนดปริมาณเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอยู่ในมือของรัฐบาลผู้ใช้เงิน ก็จะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะรัฐบาลมีแรงจูงใจที่จะให้ต้นทุนการใช้เงินหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำลง

ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสาธารณชน ตลาดการเงิน ตลาดทุน ตลาดเงินตราระหว่างประเทศ มีความเชื่อใจธนาคารกลางว่าจะแน่วแน่ในการรักษาเสถียรภาพสามประการที่กล่าวถึงก่อนหน้า จนทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) อยู่ในกรอบเป้าหมายจริง ซึ่งจะส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่าย การลงทุน ปริมาณและการหมุนเวียนของเงิน การสร้างสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพจริง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว หากความเชื่อมั่นดังกล่าวถูกทำลายไป หน่วยเศรษฐกิจก็จะมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป จนอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ฟองสบู่ อันจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในที่สุด ดังตัวอย่างประเทศตุรกีในปัจจุบัน

ความสำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้รับการรับรองจากงานวิชาการจำนวนมากรวมทั้ง ประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีหรือมากกว่านั้น ที่แสดงให้เห็นว่าการมีเสถียรภาพของราคา ของระบบการเงิน และของระบบสถาบันการเงินส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การที่ราคามีเสถียรภาพทำให้หน่วยเศรษฐกิจ (ประชาชน ธุรกิจ ภาคการเงิน และอื่น ๆ) สามารถวางแผนการจับจ่าย วางแผนธุรกิจ และแผนการเงิน ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของราคา ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน การออม เป็นไปตามแผนระยะยาวได้ดีกว่า ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว และที่สำคัญคือ การป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ฟองสบู่และการหดตัวรุนแรงที่กล่าวถึงข้างต้น

ความสำคัญชองความเป็นอิสระของธนาคารกลางอันนำไปสู่ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ ‘หลักปฏิบัติ’ ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกหลายประการ เช่น ฝายการเมืองไม่ควรแสดงท่าทีกดดันหรือข่มขู่ธนาคารกลางในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง แต่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปอย่างสุภาพ มีการพูดคุยที่อิงบนหลักการ หลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลสนับสนุนอย่างรอบด้าน ไม่ใช่นำเสนอข้อมูลด้านเดียว เป็นต้น ส่วนธนาคารกลางเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจของตนให้เป็นไปตามกรอบนโยบายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลและรัฐสภา เหตุผลสำคัญสำคัญคือ ธนาคารกลางต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชน เช่นการออกจดหมายเปิดผนึกอธิบายเหตุผลกรณีที่เงินเฟ้อไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย เป็นต้น

นโยบายการคลังเองก็ต้องรักษาเสถียรภาพด้วยเช่นกัน ผ่านการมีวินัยการคลังที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้หนี้สาธารณะ (ทั้งทางการและหนี้ที่เกิดจากนโยบายกึ่งการคลัง) และรายจ่ายในการบริหารหนี้สูงเกินไป ต้องมีนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ มีการใช้จ่ายด้านการคลังที่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสประเทศในการก้าวทันพัฒนาการสำคัญ ๆ เช่นพัฒนาการด้านเทคโนโลยี การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้นคณะผู้แถลงการณ์ขอเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำการประสานเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ผ่านการพูดคุยถกเถียงที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุน พร้อมกับการรักษาระดับความอิสระของธนาคารกลางอย่างที่ควรเป็น ประเทศไทยโชคดีที่มีสถาบันและกระบวนการให้หน่วยงานด้านการเงินการคลังร่วมกันจัดทำกรอบงบประมาณประจำปีตามหลักวินัยการ

เงินการคลังอยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรใช้กระบวนการนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

อนึ่ง เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ คณะผู้แถลงการณ์ขอแจ้งว่านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งจะจัดงานเสวนาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน’ วัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทุกรุ่นในการหาทางออกให้กับประเทศไทยที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นเวลานาน จนทำให้กลายเป็นผู้ป่วยแห่งอาเซียน งานเสวนาจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยจะจัดให้มีการถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

แถลงการณ์ ยังเชิญชวนลงชื่อ ระบุว่า...

เรียน เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ทุกท่าน

สิ่งที่ส่งมาด้วย แถลงการณ์เรื่องความขัดแย้งระหว่าง ธปท. กับ ฝ่ายการเมือง และใบร่วมลงนาม

ตามที่มีความขัดแย้งระหว่างธปท. และฝ่ายการเมืองเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ผมและเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์บางคนมีความเป็นห่วงกังวลมาก และต้องการระดมสมองหาทางออกให้สังคม จึงตกลงร่วมกันดำเนินการ 2 เรื่อง...

เรื่องแรก คือ ออกแถลงการณ์ขอให้ “ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำการประสานเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ผ่านการพูดคุยถกเถียงที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุน พร้อมกับการรักษาระดับความอิสระของธนาคารกลางอย่างที่ควรเป็น” ถ้าท่านเห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ กรุณาลงนามร่วมกันครับ

เรื่องที่สอง คือ เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นกรรมการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยและผมในฐานะนายกสมาคมฯ ตกลงจะจัดการเสวนาหาทางออกด้านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลาง/ระยะยาว เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย โดยการระดมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทุกรุ่น ในเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นกำหนดจัดการเสวนาในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00-17.00 น. ที่ศูนย์เรียนรู้ ธปท. สมาคมฯ จะ Confirm วันเวลาที่แน่นอนภายในสัปดาห์นี้ และจะรีบประกาศให้ทราบเพื่อให้นักเศรษฐศาสตร์ทุกรุ่นมีโอกาสร่วมแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกให้ประเทศ

จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาลงนามในแถลงการณ์ (หากท่านเห็นด้วย) และกรุณาส่งใบร่วมลงนาม มายัง คุณนุชนารถ [email protected] โทร 081-442-0052 ภายในวันเสาร์ 11 พฤษภาคม 2567

ผมขอขอบคุณในความร่วมมือครับ
นิพนธ์ พัวพงศกร [email protected]

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ควรอยู่ใต้กรอบนโยบายรัฐและโฟกัสเฉพาะนโยบายการเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง' เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

คงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงร่วมกับรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สมควรมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) focus เฉพาะนโยบายการเงิน และ (2) อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายทางนโยบายของรัฐบาล

ประการแรก ธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ซึ่งได้แก่การดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น นโยบายการเงินคือการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำทุกอย่าง ตั้งแต่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน จนถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อทำหลายอย่างก็ย่อมเกิด Conflict of Interest การเข้าไปกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายธนาคารจนนำไปสู่ความเกรงอกเกรงใจ จนไม่กล้าที่จะลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรลดลง

การทำหน้าที่แบบจับฉ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังนำมาซึ่งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้เงินภาษีอากร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ทางการคลังของรัฐบาล เมื่อธนาคารกลางเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล แล้วจะไม่ให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งกับธนาคารกลางได้อย่างไร?

ดังนั้นหากต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระ มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยให้อยู่เฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น ไม่ใช่ทำแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบเช่นในปัจจุบัน

ประการที่สอง ความเป็นอิสระย่อมต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบต่อเป้าหมายและสังคม (Accountability) 'การพลาดเป้า' ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้เป็นครั้งแรก เราคงจำวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 กันได้ ความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จนกลายเป็นหนี้สาธารณะจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท และยังใช้หนี้ไม่หมดจนทุกวันนี้

มาถึงวันนี้ นโยบายการเงินพลาดเป้าเงินเฟ้อมา 2 ปีติดต่อกัน และกำลังจะพลาดเป้าอีกครั้งในปีนี้ ปี 2565 เงินเฟ้อไทยขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% สูงที่สุดในอาเซียน พอปี 2566 เงินเฟ้อติดลบจนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืดประเทศเดียวในอาเซียน ความผันผวนทางการเงินยังความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ในภาวะที่นโยบายการเงินพลาดเป้าอย่างน่าอับอายขายหน้าเช่นนี้ คนไทยยังจะยอมให้แบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระอยู่อีก หรือจะรอให้เกิดต้มยำกุ้ง ภาค 2 ก่อนจึงค่อยแก้ไข?


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top