Tuesday, 7 May 2024
เกษตรกร

‘นายกสมาพันธ์ฯ’ เตือน!! ‘ชาวสวน’ อย่านิ่งนอนใจ ชี้ ควรเร่งปรับตัว หลัง ‘เวียดนาม’ จี้ติด!! ส่ง 'ทุเรียน' ไปจีน เกือบครึ่งหนึ่งของไทยแล้ว

(9 ม.ค. 67) นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสำรวจราคาค้าส่งทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนาม ที่ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-31ธ.ค.2566 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ราคาทุเรียนหมอนทองของไทย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 1,000-1,200 หยวนต่อกล่องบรรจุ 6 ลูก 

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองของประเทศเวียดนาม 1 กล่อง 6 ลูกอยู่ที่ 900-1,000 หยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ขณะที่ทุเรียนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 400 หยวน

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนการส่งออกทุเรียนไปตลาดดังกล่าวที่มีประมาณ 49 ตู้ต่อครั้ง เป็นทุเรียนไทยจำนวน 27 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม จำนวน 22 ตู้

ส่วนการเปรียบเทียบการส่งออกทุเรียนจากไทยไปตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่าราคาส่งออกทุเรียนหมอนทองไทย 1 กล่อง กล่องละ 6 ลูก ลดลงเหลือเพียง 950-1,100 หยวน เช่นเดียวกับทุเรียนหมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 500-520 หยวน ส่วนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 380-400 หยวน

โดยปริมาณการส่งทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในวันดังกล่าวที่มีจำนวนรวม 39 ตู้ เป็นทุเรียนไทยจำนวน 25 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม 14 ตู้

นายชลธี เผยว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปตลาดจีน จะเห็นว่าสัดส่วนการส่งออกเติบโตเกือบถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกที่ได้มาตรฐานมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐของเวียดนามเอาใจใส่กับผลผลิตทางการเกษตร และยังเร่งส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร สอดรับกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน จึงทำให้เกษตรกรสามารถตัดทุเรียนคุณภาพ (แก่) เพื่อส่งออกได้ทันที

“สิ่งที่เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัว คือ ทำทุเรียนคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตัด คัด ส่งออก ซึ่งในทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด และหากเกษตรกรยังไม่คำนึงถึงคุณภาพทุเรียนส่งออก สุดท้ายจะทำให้ตลาดปลายทางเสียหาย และผลกระทบจะย้อนกลับมาที่ตัวเกษตรกรเอง”

นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพ และไม่ตัดทุเรียนก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากต้นฤดูมีทุเรียนไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด จะทำให้ทุเรียนทั้งภาคตะวันออก และทั่วประเทศ ตลอดไปจนถึงหน้าทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีคำสั่งซื้อน้อยลง

ส่วนการจัดทำโครงการหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน นำร่องในพื้นที่ จ.ตราด เป็นพื้นที่แรกนั้น นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก บอกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวสวนทุเรียนไทยต้องหันมามองเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และกระบวนการผลิตจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของแหล่งผลิตนั้น

“วันนี้ยังคงยืนยันได้ว่าทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำผลผลิตได้ตามคุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการจะทำให้ตลาดทุเรียนไทยเติบโตแบบยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาครัฐของไทยต้องเข้มงวดในเรื่องกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน” นายชลธี กล่าว

‘ชาวนากาฬสินธุ์’ หันปลูกแตงโม-ขายเมล็ดส่งนอก โกยเงินล้าน ชี้!! ใช้น้ำน้อย ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือก สร้างรายได้ต่อรายสูง

(19 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ทั้งพื้นที่รับน้ำชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พบว่ามีการทำนาปรังหรือนาฤดูแล้งเต็มพื้นที่ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มีการเพาะปลูกพืชอายุสั้น พืชตระกูลแตงเป็นจำนวนมาก โดยใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเพียงพอ

นางประนอม ภูเต้านา อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านขมิ้น เลขที่ 95 หมู่ 5 ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ก็อยู่ใกล้กับหนองเลิงไก่โอก แหล่งน้ำสาธารณะประจำตำบลนาดี ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงแปลงแตงโม และแปลงแตงแคนตาลูป ที่เพาะปลูกประมาณ 2 ไร่

นางประนอม กล่าวอีกว่า ที่เลือกเพาะปลูกพืชตระกูลแตง 2 ชนิด เพราะว่าอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้งได้ดี อายุ 4 เดือนเก็บผลผลิตจำหน่าย ที่สำคัญมีบริษัทของเอกชนเข้ามาส่งเสริม มีประกันราคาแน่นอน โดยเป็นแตงลูกผสม จำหน่ายเมล็ดส่งต่างประเทศ ก.ก.ละ 1,600-2,000 บาท ปลูกมาประมาณ 20 ปี รายได้เฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท ซึ่งรายได้สูงกว่าปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งชนิดอื่น

นางประนอม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาขายเมล็ดแตงโมและเมล็ดแตงแคนตาลูปสูง โดยที่ผ่านมาได้กำไรทุกปี ขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกยังตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มทุน เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าแรง ค่าเก็บเกี่ยวสูง ดังนั้น ในปีนี้จึงพบว่าพี่น้องเกษตรกรชาวนาในหมู่บ้าน หันมาปลูกแตงโม และแตงแคนตาลูปลูกผสม เพื่อขายเมล็ดต่างประเทศกับบริษัทเอกชนถึง 20 ราย ที่หากเฉลี่ยได้กำไรไร่ละ 5 หมื่น ก็จะมีรายได้ในภาพรวมถึง 1 ล้านบาททีเดียว

‘ซีพีเอฟ’ รับบท ‘ตลาดรับซื้อ’ หนุน 5,500 เกษตรกรรายย่อย ป้องกันตลาดผันผวน ตัดวงจรเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร

(31 ม.ค. 67) นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ได้มุ่งยกระดับการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5,500 ราย ในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ภายใต้การบริหารจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่มีมาตรฐาน ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเลี้ยงแก่เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีตลาดรองรับผลผลิต บริษัทฯ จึงทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงด้านราคาและการตลาด และมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสุกรผันผวนมาก จากการเข้ามาของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน หากแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการทำสัญญาตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า และบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไว้ทั้งหมด

“นอกจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับทั้งความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้รับความเสี่ยงตลาดผันผวน โดยสินค้าที่ซีพีเอฟผลิตส่งจำหน่ายในตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มาจากเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทฯ รับความเสี่ยงโดยตรง และยังมีเกษตรกรรายกลางอีกร่วม 500 ราย ที่ซีพีเอฟ เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปด้วยกัน” นายสมพร กล่าว

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ที่ซีพีเอฟนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญาแก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย 

เกษตรกรเฮ !! สินค้าเกษตร ขยับราคาขึ้น สอดรับนโยบายกระทรวงเกษตรฯ หลังปราบสินค้าเถื่อน

นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยฯ ทั้งสองท่าน และการบริหารราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย (สินค้าเถื่อน)อย่างเข้มงวด การเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการจัดการน้ำช่วงวิกฤติภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมไปถึงการมุ่งยกระดับสินค้าเกษตร ซึ่งผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด น้ำนมดิบ และสุกร มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะ สุกร ราคาขยับขึ้นกิโลกรัมละ 4 บาท หลังจากปราบปราบหมูเถื่อนอย่างจริงจัง  ตลอดจนการตรวจค้นห้องเย็นทั่วประเทศมากกว่า 2 พันแห่ง ขณะที่ ยางพารา ราคายางแผ่นดิบ ปัจจุบัน (28 มกราคม 2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 54.89 บาท/กก. สูงขึ้นจากราคา ณ เดือน กันยายน 2566 ที่ราคาเฉลี่ย 45.51 บาท/กก. โดยราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายจากภาครัฐในการปราบปรามและตรวจสอบการลักลอบการนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรผิดกฎหมายไม่ให้ทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และยังเป็นผลจากมาตรการการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งจากความต้องการของตลาด ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ เป็นต้น ส่วนน้ำนมดิบ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 20.21 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 19.65 บาท/กก. เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ ได้มีประกาศฯ ปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกด้านตามนโยบายและแผนที่วางไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ให้กินดีอยู่ดีมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภาคการเกษตรเติบโต มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงต่อไป

'นักวิจัยญี่ปุ่น' เผย!! 'ตาข่ายสีแดง' ปกป้องพืชผลจากแมลงได้ดีที่สุด บังตาพืชผล ลดใช้สารเคมี เพิ่มโอกาสพืชรับ 'แสง-น้ำ-อากาศถ่ายเท'

(20 ก.พ. 67) จาก TNN Tech เผยข้อมูลจากนักวิจัยประเทศญี่ปุ่นที่ค้นพบว่า 'ตาข่ายสีแดง' สามารถปกป้องพืชผลจากแมลงได้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งแตกต่างจากตาข่ายที่ใช้กับแปลงปลูกผักแบบกางมุ้งในปัจจุบันที่มักเป็นสีดำ สีขาว สีเขียวหรือสีน้ำเงิน

แม้ว่าการปลูกพืชในมุ้งจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผักปลอดจากสารเคมีกำจัดแมลงมากที่สุด แต่ยังคงมีแมลงบางชนิดที่สามารถหลุดรอดผ่านมุ้งเข้าไปทำลายแปลงผักของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะ 'เพลี้ยไฟหัวหอม' ซึ่งนอกจากกินต้นพืช มันยังมีเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายทิ้งเอาไว้ด้วย

งานวิจัยตาข่ายสีแดงปกป้องพืชชิ้นนี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญหลังมีการตรวจพบว่าเพลี้ยไฟหัวหอม มักอยู่ห่างจากพืชที่ถูกฉายรังสีด้วยแสงสีแดง ทำให้ศาสตราจารย์ มาซามิ ชิโมดะ และทีมงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยโตเกียว ตั้งสมมติฐานว่าหากใช้ตาข่ายสีแดงอาจสามารถกันแมลงได้ 

ทีมงานได้ใช้ตาข่ายสีแดงผสมกับสีอื่นๆ สามสี ประกอบด้วย แดง-ขาว แดง-ดำ และแดง-แดง โดยตาข่ายแต่ละสีมีขนาดรูแตกต่างกัน เช่น 2, 1 และ 0.8 มม. เพื่อให้ได้คำตอบของงานวิจัยที่แม่นยำทั้งในด้านของการใช้สีและขนาดของรูตาข่าย

ตาข่ายทั้ง 3 แบบ ถูกนำมาคลุมแปลงต้นหอมคูโจ หรือหัวหอมเวลส์ และเริ่มทำการทดลองปล่อยให้ต้นหอมเจริญเติบโต ผลการทดลองพบว่าแม้ตาข่ายสี 'แดง-แดง' จะมีรูตาข่ายขนาดใหญ่แมลงลอดผ่านได้ง่ายมากกว่าตาข่ายสีอื่น แต่ผักกลับมีร่องรอยการโจมตีของแมลงที่น้อย แสดงว่าให้เห็นว่าแมลงอาจมองไม่เห็นตาข่ายสีแดง

นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมและพบคำตอบว่า แมลงส่วนใหญ่รวมถึงเพลี้ยไฟหัวหอม ไม่มีเซลล์รับแสงสีแดงในดวงตาไม่สามารถมองเห็นสีแดงได้เช่นเดียวกับดวงตาของมนุษย์ ทำให้พวกแมลงไม่สามารถมองเห็นตาข่ายสีแดง รวมไปถึงผักที่โดนตาข่ายสีแดงปกป้องเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงทำการทดลองต่อไป เพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติของตาข่ายสีแดงที่มีผลต่อแมลงและพฤติกรรมของเพลี้ยไฟหัวหอมอย่างแท้จริง รวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมของแมลงสายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากตาข่ายสีแดงยังไม่สามารถป้องกันแมลงทุกสายพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว นับว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญและอาจปูทางไปสู่การลดใช้สารเคมีปราบแมลงในการทำเกษตร นอกจากนี้การใช้ตาข่ายสีแดงและรูตาข่ายที่ใหญ่ขึ้น ยังเพิ่มโอกาสให้พืชสามารถรับแสงแดด น้ำและการไหลเวียนของอากาศได้ดีมากขึ้นยิ่งขึ้น

'รมว.ปุ้ย' กางแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ 'ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกร-ลดมลพิษ' ยกหูถึง 'พีระพันธุ์' ดันใช้ E20 พร้อมปลดล็อกเอทานอลอ้อย ขายให้อุตฯ อื่นได้

'รมว.พิมพ์ภัทรา' รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแผนบริหารจัดการอ้อยทั้งระบบ ยกหูถึง 'นายพีระพันธ์' รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ดันการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ปลดล็อกผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง ขายให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม เตรียมดึงแพลตฟอร์มจาก 'ไทยคม' เผยจุด Hot Spot ย้อนหลัง 3 ปี เร่งแก้ปัญหา PM 2.5

(12 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กลุ่มผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลทราย ในฐานะ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เข้าพบ โดยได้หารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย เนื่องจากปัจจุบันมีความไม่สมดุลในการสร้างรายได้ของเกษตรกร โดยกลุ่มเอทานอล ขอให้รัฐส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานช่วงการเปลี่ยนผ่าน และปลดล็อกให้ผู้ผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง สามารถจำหน่ายเอทานอลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้

ขณะที่กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล ขอให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลในราคาที่เหมาะสม และต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าชีวมวลที่จะหมดอายุในราคาที่เหมาะสม

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารืออยู่ตลอดกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเป็นทางที่รัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาสอดคล้องกันอยู่แล้ว จากนี้จะเร่งเรื่องนี้เข้าเพิ่มเติมในรายละเอียดและผลักดันไปในระดับนโยบาย ล่าสุดที่ยกหูถึงพี่พี (รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน) ซึ่งก็ได้รับทราบแนวทางดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีการหารือในการที่จะนำเทคโนโลยีดาวเทียม การตรวจหาความร้อน แหล่งกำเนิดฝุ่นควัน PM2.5 มาใช้ในภาคการเกษตร โดยตน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง รวมถึงผู้บริหารจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ร่วมหารือกับ คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นำโดย นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่จะมุ่งไปที่เรื่องของการใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เรียกว่า ‘Sugarcane Intelligence System’ มีข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลแปลงเกษตรไร่อ้อย และสามารถแสดงผลจุดความร้อน (Hot Spot) ดูข้อมูลย้อนหลังได้ 3 ปี

ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผน กำหนดทิศทางเกษตรกรรมของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลได้เป็นอย่างดี ครบวงจร ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการแก้ปัญหาเผาไร่อ้อยการเก็บเกี่ยวได้อีกด้วย

สำหรับมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเรื่อง ส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร สำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลให้ได้รับสิทธิในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลือกการตัดอ้อยสดแทนการเผา และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อย โดยการจำหน่ายให้กับโรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และเร็ว ๆ นี้จะมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นกฎหมายควบคุมมลพิษจากต้นกำเนิด PM 2.5 เป็นการแก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน

“เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการบริหารจัดการไร่อ้อยแบบครบวงจร และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราขอเน้นเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรเป็นหลัก”

สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมีมูลค่า 235,000 ล้าน แบ่งเป็นน้ำตาล 199,000 ล้านบาท (อ้อย 131,000 ล้านบาท) กลุ่มโมลาสและเอทานอล 22,000 ล้านบาท กลุ่มไฟฟ้าชีวมวล 14,000 ล้านบาท ที่มาจากใบอ้อยเพื่อต้องการลดภาวะฝุ่นควัน PM 2.5 และลดการเผาทิ้ง กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาคจากเอทานอล และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งเกรดบริสุทธิ์ เกรดอุตสาหกรรมเภสัชกรรม เกรดเชื้อเพลิง

‘เศรษฐา’ ห่วงปัญหาภัยแล้ง สั่ง!! ‘ก.กลาโหม’ บริหารจัดการ เร่งจัดหารถบรรทุกน้ำทหาร บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

(3 พ.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ถึงปัญหาภัยร้อนและภัยแล้งว่า ภัยร้อนและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลทราบถึงปัญหา และมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อรับมือและบรรเทาสถานการณ์ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

“นอกจากนี้ ผมได้ประสานสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับบรรเทาสาธารณภัยให้ดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งขณะนี้มีรถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ และรถขนน้ำไปให้บริการประชาชน รวมถึงกำลังเร่งการขุดลอกแหล่งน้ำ และซ่อมบำรุงระบบประปาแก่ชุมชนด้วย ผมยังสั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้นำสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้ง โดยให้กองบัญชาการทหารพัฒนา กรมการทหารช่าง มณฑลทหารบกทุกมณฑล และหน่วยทหารทุกหน่วยที่อยู่ใกล้ชุมชน ใช้รถบรรทุกน้ำของทหารฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร (โดยเฉพาะพืชที่มีมูลค่าสูง) ร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในรูปแบบกองกำลังเฉพาะกิจ ซึ่งผมได้กำชับให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์มาทุกระยะเพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการที่เหมาะสมครับ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทัวร์ลงหนัก!! หลัง ‘Netflix’ โปรโมตเดี่ยวสเปเชียล ‘โน้ส อุดม’ ฟาด!! ‘ไร้สาระ-คิดแต่ตรรกะฝั่งตัวเอง-นึกว่าจะฉลาดกว่านี้’

(4 พ.ค.67) ทัวร์ลงหนักเลยทีเดียว สำหรับเพจ ‘Netflix’ ที่มีคนติดตาม 91 ล้านคน โดยมีการโปรโมตทอล์กโชว์ เดี่ยวสเปเชียล ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์ของ ‘โน้ส อุดม แต้พานิช’ ตัดตอนที่โน้สได้พูดเหน็บแนมเรื่องความพอเพียง แซะคนอยากเป็นเกษตรกรตามดารา อินฟลูฯ อยากอยู่กับธรรมชาติ อีด-ก เขาลงมาจากรถตู้ พอกครีมกันแดดหลายตลบ เสร็จแล้วก็ขึ้นรถแอร์ อย่าดัดจริต โดยแคปชันระบุว่า

“อยากพอเพียง อยากปลูกผักตามอินฟลูฯ แต่ลืมคิดว่าเขาลงจากรถตู้ พอกครีมกันแดดมาเกี่ยวข้าว กลับมาคราวนี้ พี่โน้ส อุดม เขาจัดเต็ม ไม่กั๊ก ไม่เซ็นเซอร์ เชิญรับชมพร้อมกันได้ใน เดี่ยวสเปเชียว ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ Netflix”

งานนี้ชาวเน็ตฟาดไม่ยั้ง อาทิ พอเพียงเป็นคำที่มีความหมายในตัวเอง คนที่ไม่พอก็ไม่ได้แปลกอะไร คนที่แปลกคือคนที่พยายามด้อยค่ามันเพราะอคติ, พอไม่พออยู่ที่ความพอใจ ความพอใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่าคิดแต่ฝั่งตรรกะตัวเอง ใครไม่พอก็หากันต่อไป ใครพอเขาก็มีความสุขกับสิ่งที่เขามี แล้วไม่ต้องดินมาก แค่นั้นเอง,

มันไม่เกี่ยวกับง่ายหรือยาก มุงไม่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงแล้วเอามาแซะ นึกว่าจะฉลาดกว่านี้ ภูมิใจจริงๆ ไม่เคยอุดหนุนอะไรสักอย่าง, คุณนิยามคำว่าพอเพียงผิดมหันต์ มันจึงเหมือนเป็นการเหน็บแนม ผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่ากับคุณจริงๆ , อยากฟังทฤษฎีใช้เงินไปสวรรค์ของวัดดังแถวปทุมนะ, พอเพียงมันก็คือทางสายกลาง แบบที่พระพุทธเจ้าสอนนั่นแหละ การไม่ยึดติดสุดทางทั้งไม่ลำบากไปไม่สบายไป เอาแบบพอดี แต่โน้ส อุดม คงไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ไปเชื่อคำสอนของธัมมชโยมากกว่า ฯลฯ

‘แก้วสรร’ ชี้ แจกเงินดิจิทัล ‘ทรยศ-ลวงโลก’ แจง!! เป็นเงินเดิมในวงจรอยู่แล้ว ฟาด!! รบ.ไม่เร่งผ่านงบ ซ่อนเจตนาให้เงินเหลือจ่าย เพื่อเอาใส่ในโครงการ

(5 พ.ค.67) นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความ โครงการแจกเงินดิจิตอล : ทรยศและลวงโลก ? มีเนื้อหาดังนี้

ถาม การแจกเงินชาวบ้านคนละ 1 หมื่น   จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงไหม?
ตอบ คุณเป็นโรคขาดเลือด เพราะไขสันหลังไม่ทำงานผลิตเม็ดเลือดแดงให้เพียงพอ พอเม็ดเลือดแดงมีน้อย การขนส่งออกซิเจน กับธาตุอาหาร ไปยังเซลล์ต่างๆทั่วร่างกายก็ไม่เพียงพอตามไปด้วย   ร่างกายก็เสื่อมทรุดถึงตายได้ในที่สุด     
นี่คือ ‘วิกฤต’ ที่พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าเกิดขึ้นแล้ว  ต้องเร่งเติมเงินเติมเลือดเข้าไปโดยด่วน 

ถาม แล้วมันสมเหตุผลหรือไม่
ตอบ นักวิชาการเขาก็ยังเถียงกันอยู่  แต่ที่ฟังแล้วผมเห็นด้วยเลยนั้น ก็คือความเห็นที่ว่า งานนี้ คนไข้ขาดเลือด ก็ต้องเอาเลือดใหม่เข้ามาเติม ไม่ใช่ดูดเลือดจากแขนซ้าย ไปอัดใส่แขนขวาแบบนี้   ทำอย่างนี้มันไม่ใช่การเติมเม็ดเลือดใหม่ให้ร่างกาย   มันไม่มีผลสร้างสุขภาพใหม่ขึ้นมาได้

ถาม มันเป็นการดูดเลือดแขนซ้ายไปใส่แขนขวา ยังไงครับ
ตอบ คือที่มาของเงินแจกในครั้งนี้  มันเป็นเงินเดิมเลือดเดิมที่มีในวงจรเศรษฐกิจอยู่แล้ว  อยู่ในงบประมาณ ปี 2567 และ 2568 รวมกว่า 3.7 แสนล้าน และถ้าเอามาจาก ธกส.จริงอีก 1.3 แสนล้าน วงเงินก้อนนี้ก็เป็นเงินที่ ธกส.เขามีและจะให้กู้ช่วยการประกอบการของเกษตรกรอยู่แล้ว  มันจึงไม่ใช่เลือดใหม่อะไรทั้งสิ้น

ถาม เหตุผลเพียงเท่านี้ ก็ไปหาว่าเขาทุจริตลวงโลก เลยเชียวหรือ
ตอบ มันไม่ใช่ ‘เพียงเท่านี้’ นะครับ  คุณไม่เห็นหรือว่า   มันมีการละเว้นหน้าที่  ไม่เร่งรัดผ่านงบประมาณ ปี 2567 เช่นที่ควรจะเป็น  งบปี 67 พึ่งประกาศราชกิจจา ในพฤษภาคม นี้เอง    มีเวลาใช้งบลงทุนเหลืออยู่แค่ 6 เดือน เท่านั้น รับรองว่าผูกมัดหาคู่สัญญาไม่ทันแน่นอน พอพ้นตุลาไปแล้ว ใช้มติ ครม.ผลักเงินที่เหลือจ่าย เข้าโครงการดิจิตอลได้ทั้งหมดเลย

ถาม อาจารย์กล่าวหาว่า เขามีเจตนาประวิงให้งบประมาณ ปี 67 ผ่านล่าช้าเลยเชียวหรือ
ตอบ ถ้าสุจริต ก็ควรต้องเร่งรัดได้เร็วกว่านี้    เป็นรัฐบาลเมื่อ กันยายน 2566   ก็ควรเปิดสภาวิสามัญลุยผ่านงบให้เสร็จได้ในสิ้นธันวา ก็ไม่ทำ   เอื่อยเฉื่อยไปเรื่อยๆ จนเวลาหายไปอีก  4 เดือน วันนี้เหลือเวลาเพียง ๖ เดือนเท่านั้น

ถาม ให้ทุกส่วนราชการเร่งใช้ เร่งหาคู่สัญญามาผูกมัดงบประมาณให้หมด ไม่ได้หรือ
ตอบ ผมถามพรรคพวกในกระทรวงคลังแล้ว เขาบอกว่าไม่มีทางทัน   และที่สำคัญเขาไม่เห็นมาตรการเร่งรัดเช่นที่ควรจะเป็นเลย  

ถาม รัฐบาลที่รู้งาน ควรจะเร่งรัดอย่างไร
ตอบ ถ้าสุจริตตรงไปตรงมาจริงๆ   ต้องมีมติ ครม.โดยพลัน วางมาตรการเร่งรัด เอาไปใช้บังคับในงบทุกรายการ ทุกส่วนราชการเลย   ขั้นตอนหาคู่สัญญาที่ไม่จำเป็นก็ใช้มติ ครม.ยกเว้นเสียให้หมด   ทุกรายการงบประมาณต้องมีแผนปฏิบัติการผูกมัดงบประมาณ เห็นเป็นแผนเวลาชัดเจน  โดยต้องรายงานทุกเดือนว่าคืบหน้าตามแผนหรือไม่  ถ้าล่าช้าต้องรายงานพร้อมเสนอมาตรการแก้ไขมาด้วย   

ถาม แล้ววันนี้ เขาไม่เร่งกันเลยหรือครับ
ตอบ เพื่อนผมบอกว่า   ดีไม่ดีน่าจะแอบส่งสัญญาณห้ามเร่งรีบซะด้วยซ้ำไป คุณดูอาการในงบกระทรวงคมนาคมให้ดีๆก็แล้วกัน

ถาม ถ้าเตะถ่วงได้เต็มที่จริงๆ เงินจะเหลือพอโครงการดิจิตอลไหม
ตอบ เขาพูดกันว่า  เหลือได้ถึง 3 แสน เลยทีเดียว เติมงบกลางอีกหน่อย  ก็ไม่ต้องไปกู้ ธกส.หรอกครับ

ถาม หมายความว่า  ที่รัฐบาลบอกจะกู้ ธกส.1.3๓ แสนล้านนั้น มันเป็นโคมลอย ที่หลอกให้ผู้คนหลงทางโจมตีกันไป อย่างนั้นหรือ
ตอบ ครับ เป็นไปได้อย่างยิ่ง ผมดูทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่นี่ เขามีดีเอ็นเอ เดียวกันทั้งนั้น  สามารถจะร่วมมือกันดึงงบได้ดีทีเดียว

ถาม ถ้าเป็นจริงอย่างที่เราสงสัย  พฤติการณ์จงใจใช้งบล่าช้าเพื่อแปลงงบแผ่นดินเป็นงบดิจิตอลอย่างนี้  จะมีความผิดหรือไม่ครับ
ตอบ เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติราชการโดยสุจริต มุ่งประโยชน์ทางการเมืองที่มิควรได้ ทำให้เศรษฐกิจบ้านเมืองเสียหายงบแผ่นดินไม่ถูกเร่งผลักดันออกมาใช้ในเวลาอันควร จนบ้านเมืองขาดเงินหมุนเวียนเป็นแสนล้านกว่า ๖ เดือน    

ถาม ฟังดูเหมือน ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นะครับ
ตอบ ในทางกฎหมายยังเถียงกันได้ แต่ในทางการเมือง ถูกตราหน้าว่า ‘ลวงโลก’ และ ‘ทรยศต่อหน้าที่’ ได้แน่นอน    
ก็ไม่เป็นไรครับ....บ้านนี้เมืองนี้ ‘ประชาชน’ มีไว้หลอกลวงและป้อนอาหารเม็ดอยู่แล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top