Saturday, 18 May 2024
อุดรธานี

เยือนถิ่นคนเสื้อแดง!! ‘ก้าวไกล’ ลุยอุดรฯ ชูนโยบาย หยุดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ชี้ เลือกทั้งที ต้องเลือกให้ขาด เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

(5 มี.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าและผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ยังคงร่วมกันเดินสายหาเสียงในภาคอีสานอย่างต่อเนื่องที่จังหวัดอุดรธานี โดยในช่วงเช้า ได้ร่วมเดินสายหาเสียงไปกับ นายอานันท์ อมรินทร์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.อุดรธานี พรรคก้าวไกล (อ.ศรีธาตุ, อ.ไชยวาน, อ.วังสามหมอ, อ.กู่แก้ว) ขึ้นรถอีแต๋นแห่หาเสียงไปตามถนนสายหลักของ อ.ศรีธาตุ ก่อนร่วมกันเปิดเวทีปราศรัยที่โรงเรียนศรีธาตุวิทยาคม ท่ามกลางประชาชนชาวศรีธาตุที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายปิยบุตรปราศรัยว่า ที่ผ่านมาจากพรรคอนาคตใหม่มาสู่พรรคก้าวไกล เราได้พิสูจน์แล้วว่า เราเป็นพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ในสภาได้อย่างดีเยี่ยม ไม่มีมวยล้มต้มคนดู อภิปรายทุกครั้งทุกคนยกให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่อภิปรายได้ดีเยี่ยม ไม่มีมองว่ารัฐมนตรีคนไหนเป็นเพื่อนเก่า ไม่มีมองว่ารัฐมนตรีคนไหนช่วยดูแลอยู่ รัฐมนตรีคนไหนประพฤติมิชอบพรรคก้าวไกลอภิปรายแทนประชาชนทั้งหมด

พรรคก้าวไกลยังได้เสนอแนวนโยบายแทนประชาชนหลายเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ทั้ง พ.ร.บ.แรงงาน, พ.ร.บ.บำนาญประชาชน, การแก้ปัญหาที่ดิน ฯลฯ หลายกฎหมายถูกนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตีตก ถูกคว่ำร่างกฎหมาย แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือน ประชาชนสนับสนุนสิ่งที่พรรคก้าวไกลผลักดันอย่างกว้างขวาง ขนาดพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านยังทำได้ขนาดนี้ ถ้าเป็นรัฐบาลจะทำได้ขนาดไหน

นายปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าอุดรธานีขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาทุกยุคสมัย ปี 2553 คนที่เข้าไปต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแข็งขันที่สุดก็คือ คนเสื้อแดงอุดรธานี แต่การต่อสู้ในวันนั้นจบลงด้วยการปราบปรามเข่นฆ่า คนเสื้อแดงหลายคนถูกจับดำเนินคดี บาดเจ็บล้มตายกันไป ผ่านไปถึง 13 ปี วันนี้ยังไม่ชำระสะสาง นายทหารที่บัญชาการการสั่งฆ่ายังลอยนวล ไม่มีการนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แถมยังได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีในวันนี้

แม้แต่ พล.อ.ประวิตร ที่วันนี้เสนอตัวมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นโซ่ข้อกลางก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ในวันนั้น ทำหน้าที่ปราบปรามสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ถามจริงว่าพี่น้องคนเสื้อแดงยอมให้คนแบบนี้ขึ้นมามีอำนาจได้ต่อไปอย่างนั้นหรือ ใครก็ตามที่ไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประวิตรได้ ก็คือคนที่เหยียบหน้าคนเสื้อแดงทั้งประเทศ

สำหรับพรรคก้าวไกลชัดเจนมาตลอด ว่าจะไม่เข้าร่วมกับพรรคทหารจำแลงไม่ว่าพรรคไหนทั้งนั้น ถ้า ครม. วันข้างหน้ามีพรรคทหารจำแลงอยู่ในนั้นเมื่อไหร่พรรคก้าวไกลพร้อมเป็นฝ่ายค้านทันที

“พอกันทีกับการเมืองแบบเดิม ๆ ลูบหน้าปะจมูก ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ผ่านมา 13 ปี จากเหตุการณ์ปี 2553 คนเสื้อแดงอุดรธานีย่อมจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ ความปรองดองอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ยิงพวกเราตายเสร็จแล้วบอกว่าโทษที ลืม ๆ กันไป ความปรองดองที่แท้จริงต้องมาจากการยอมรับความจริง ชำระสะสางเหตุการณ์ เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่หน้าสื่อวันนี้ เต็มไปด้วยข่าวการย้ายพรรค ดูดตัว ส.ส. กันให้วุ่นวายน่าสับสนไปหมด วันหนึ่งอยู่พรรคสืบทอดอำนาจ อภิปรายด่าฝ่ายค้าน สนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ มาอีกวันแค่เปลี่ยนเสื้อก็กลายเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไปแล้ว สรุปว่าพรรคการเมืองเป็นที่รวมตัวของคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน หรือเป็นที่รวมตัวของคนอยากเป็น ส.ส. รวมยอดที่นั่ง ส.ส. กันไปแลกเก้าอี้รัฐมนตรีกันแน่

ใครที่ไม่อยากเห็นการเมืองเดิม ๆ แบบนี้อีกแล้ว ขอให้ร่วมกันเลือกพรรคก้าวไกลให้มาก ๆ ส.ส. พรรคก้าวไกล รวมตัวกันด้วยความต้องการเดียวเท่านั้นคือการเปลี่ยนแปลง เราต้องการ ส.ส. จำนวนมาก ๆ เพียงเพื่อไปยกมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไปเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ไปส่งมอบนโยบายที่ดีให้กับประชาชนเท่านั้น

ในส่วนของนายพิธา ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกคนสามารถเลือกเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่ออนาคต 60% ของเด็กเล็กในอุดรธานีอยู่ในครอบครัวที่ยากจน เราต้องมีรัฐสวัสดิการให้ลูกเด็กเล็กแดง คืนครูให้กับห้องเรียน ยกเลิกระบบครูเวรทันที โรงเรียนต้องเป็นที่ปลอดภัยของทุกคน เราต้องกระจายอำนาจ เพิ่มอำนาจและงบประมาณให้ท้องถิ่นทุกระดับ ยกเลิกรัฐราชการรวมศูนย์ ไม่ใช่อย่างที่ประยุทธ์ไปพูดผิด ๆ ว่าจะยุบ อบต.

‘ธรรมรักษ์’ นำทัพลุย ‘อุดรฯ’ ชู บัตรประชารัฐ-ก้าวข้ามความขัดแย้ง ปลื้ม!! ประชาชนเห็นด้วย เผย อยากเห็นคนไทยหยุดแตกแยก

(29 มี.ค. 66) ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ จังหวัดอุดรธานี พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ลงพื้นที่พบประชาชน จังหวัดอุดรธานี เพื่อรับฟังปัญหาจากในพื้นที่และให้กำลังใจว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคฯ พร้อมเน้นย้ำนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้งของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

โดย พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรค พปชร. โดยเฉพาะเรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะไม่อยากเห็นคนไทยกลับมาทะเลาะกันเหมือนเดิมอีก และนโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนได้

“ผมเชื่อว่า วันนี้ คนไทยรู้ดีว่าประเทศบอบช้ำจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว แบ่งสี ทำให้คนไทยต้องมาทะเลาะกันเองยาวนานเป็น 10 ปีแล้ว ทุกคนอยากเห็นสังคมไทยกลับมามีแต่รอยยิ้มอีกครั้ง ดังนั้น หลายคนจึงมองว่า นโยบายก้าวข้ามความขัดแย้งจะช่วยให้ประเทศชาติเดินหน้าไปสู่ความเจริญ รุ่งเรืองได้อย่างยั่งยืน หากคนในชาติเกิดความสามัคคีขึ้น” พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าว

ทางหลวงสายใหม่ อุดรธานี-บึงกาฬ มาตรฐานมอเตอร์เวย์ ไร้จุดตัดทางแยก เชื่อมต่อสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 5

เพจเฟซบุ๊ก โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ทางหลวงสายใหม่ อุดรธานี-บึงกาฬ โดยมีใจความว่า ...

ทางหลวงสายใหม่ อุดรธานี-บึงกาฬ ร่นระยะทางกว่า 65 กม
มาตรฐานมอเตอร์เวย์ ไร้จุดตัดทางแยก เชื่อมต่อสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) และสนามบินบึงกาฬ
วันนี้เอาอีกหนึ่งโครงการถนนยุทธศาสตร์ ด้านการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือเส้นทางทางหลวงสายใหม่ อุดรธานี (กุมภวาปี) - บึงกาฬ เพื่อตัดตรง จากถนนมิตรภาพ เข้าสู่บึงกาฬ โดยตรง 
ซึ่งถนนสายใหม่เส้นนี้ สามารถลดระยะทาง ได้กว่า 65 กิโลเมตร จากเดิม 220 กิโลเมตร เหลือเพียง 155 กิโลเมตร 

การยกระดับมาตรฐานทางหลวง ขนาด 4 ช่องจราจร เทียบเท่ามอเตอร์เวย์ ไร้จุดตัดทางแยก และทางกลับรถกลางถนน เพื่อความปลอดภัย และความสะดวกของประชาชน
นอกจากนั้น ถนนสายใหม่นี้ จะเป็นอีกหนึ่งสายที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น

- ทะเลบัวแดง
- คำชะโนด
- หินสามวาฬ
- ถ้ำนาคา

สำคัญที่สุด จะเป็นโครงข่ายสนับสนุนการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ที่กำลังก่อสร้าง และจะเสร็จประมาณปี 67 คู่ขนานกับการเชื่อมต่อสนามบินบึงกาฬที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

รายละเอียด ถนนสายใหม่ อุดรธานี-บึงกาฬ 

- ระยะทางรวม 155 กิโลเมตร 
- เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร
- มาตรฐานการออกแบบ เป็นทางหลวงระหว่างเมือง ไม่มีจุดตัดทางแยก (เทียบเท่ามอเตอร์เวย์)
- มีทางต่างระดับเพื่อเชื่อมต่อทางหลวงสายหลัก 3 จุด ได้แก่ จุดตัดถนนมิตรภาพ (ทล.2) ที่ กม. 424 (ต้นทาง) , จุดตัดทางหลวงสาย 22 ที่ กม. 30 และ จุดตัด ถนนเลี่ยงเมืองบึงกาฬ ที่ กม. 2 (ปลายทาง)
- มีสะพานข้ามแยก 7 จุด เพื่อเชื่อมต่อกับถนนขนาดเล็ก 

แนวเส้นทาง
เริ่มต้นโครงการจาก ถนนมิตรภาพ กม. 424 ในอำเภอกุมภวาปี มุ่งหน้าขึ้นเหนือ ผ่านอำนาจประจักษ์ศิลปาคม เข้าสู่อำเภอหนองหาน ตัดกับทางหลวงสาย 22 (อุดรธานี-นครพนม) ซึ่งเป็นทางต่างระดับ เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อทุกด้าน
จากนั้นก็มุ่งหน้าต่อผ่านอำเภอทุ่งฝน อำเภอพิบูลย์รักษ์ อำเภอบ้านดุง ตัดกับทางหลวง 2022 (สามารถเดินทางต่อยปคำชะโนดได้)
จากนั้น มุ่งหน้าต่อ เข้าเขตจังหวัดหนองคาย อำเภอโพนพิสัย ตัดกับทางหลวง 2023 และ ทางหลวง 2267 และจะมีพื้นที่จุดบริการทางหลวง อยู่ที่อำเภอเฝ้าไร่
จากนั้นเข้าสู่เขตจังหวัดบึงกาฬ ที่อำเภอโซ่พิสัย ตัดกับทางหลวง 2095 เข้าสู่เขตอำเภอเมืองบึงกาฬ
ซึ่งบริเวณ นี้จะเชื่อมต่อกับตำแหน่งสนามบินบึงกาฬ แห่งใหม่ ที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่
สุดท้าย ปลายทางจะไปบรรจบกับถนนเลี่ยงเมืองบึงกาฬ ซึ่งจะเป็นถนนที่เชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 ด้วยเช่นกัน
 

‘สุริยะ’ เดินหน้าลุยโครงการพัฒนาคมนาคม ‘อุดรธานี-สกลนคร’ สั่งซ่อมบำรุงเส้นทางสัญจร เพิ่มความสะดวก-ปลอดภัยแก่ ปชช.

(24 ก.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญ ของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร และลงพื้นที่ก่อสร้างโครงข่าย ทางหลวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง, นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท, นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และประชาชนร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันที่  23 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงอุดรธานีที่ 1 จังหวัดอุดรธานี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อความอุดมสุขของประชาชน จึงได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ดังนี้

การพัฒนาทางหลวงที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
1.) โครงการทางหลวงที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ทล.216 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุดรธานี (ด้านตะวันออก) ทล.2 ตอน บ้านห้วยหินลาด - อำเภอโนนสะอาด และ ทล.2023 ตอน อำเภอกุมภวาปี - บ้านโนนสวรรค์ ระยะทางรวม 57 กิโลเมตร

2.) โครงการทางหลวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ ทล.2 ตอน อุดรธานี - อำเภอสระใคร (เป็นตอนๆ) ดำเนินการบูรณะพร้อมขยายถนนเป็น 6 ช่องจราจร คืบหน้า ณ เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 90.20% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567

3.) โครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมของบประมาณปี 2567 ได้แก่ ทล.2263 ตอน อุดรธานี - บ้านเพีย (กุดจับ) งานซ่อมสะพานข้ามลำน้ำปาว ทล.2023 ตอน น้ำฆ้อง - ศรีธาตุ ทล.2350 ตอน หนองหาน - กุมภวาปี ทล.2096 หนองเม็ก - คำตากล้า และ ทล.2022 ตอน นิคม - บ้านดุง

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคตในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีอีก  5 โครงการ ระยะทางรวม 229.69 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างรวม 27,596 ล้านบาท

การพัฒนาทางหลวงที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
1.) โครงการทางหลวงที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ทล.2 สกลนคร - นครพนม ตอน 1 และ 2 และ ทล.2 อำเภอหนองหาน - อำเภอพังโคน ตอน 1 และ 2 ระยะทางรวม 83 กิโลเมตร

2.) โครงการทางหลวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ ทล.223 สกลนคร - อำเภอธาตุพนม ตอน สกลนคร - อำเภอนาแก ขยายเป็น 4 ช่องจราจร ความคืบหน้า ณ เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ 95.62% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

3.) โครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมของบประมาณปี 2567 ได้แก่ ทล.222 ตอน พังโคน - หนองแวงทล.2218 ตอน คำเพิ่ม - ห้วยบาง และ ทล.227 ตอน บ้านผาสุก - พังโคน

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคตในพื้นที่จังหวัดสกลนครอีก 10 โครงการ ระยะทางรวม 207 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 10,140 ล้านบาท

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วย ถนนสาย ทล.2263 สายอุดร - กุดจับ ตรวจสอบความชำรุดของสะพานลำน้ำปาว เชื่อมต่อระหว่างอำเภอกุมภวาปีและอำเภอศรีธาตุ โครงการขยายช่องทางจรจรบน ทล.2023 สายน้ำฆ้อง - วังสามหมอ ตั้งแต่เมืองเก่า (บ้านพันดอน) ถึงเมืองใหม่ อำเภอกุมภวาปี ตรวจสอบและศึกษาการออกแบบโครงการขยายช่องจราจรถนน ทล.2350 ตอน หนองหาน - กุมภวาปี และ ทล.2022 สายสุมเส้า - บ้านดุง

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบปะพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีที่มารอต้อนรับ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงฯ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิต ครอบคลุมทุกมิติ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้

1.) ให้ ทล. ทช. และหน่วยงานอื่น ๆ รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้แทนประชาชนให้มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่

2.) ให้พัฒนาเส้นทางคมนาคมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่จะมาร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ณ จังหวัดอุดรธานี

3.) จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากประชาชน พบว่า มีบางเส้นทางผิวทางชำรุด คับแคบ ไม่สะดวกในการเดินทาง ซึ่ง ทล. ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงเพื่อบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น ตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปี 2566 แล้ว ดังนั้น เพื่อให้โครงข่ายคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพ มีความสะดวก ปลอดภัย และแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ตนจะเร่งรัดการจัดสรรงบประมาณให้ ทล. ทช. นำมาพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก ปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งรัด!! โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี พร้อมกำชับ ‘กพร.’ กำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดีอยู่คู่ชุมชน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เร่งรัดโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ สั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดี อยู่คู่ชุมชน ขณะที่บริษัทฯ ผู้รับประทานบัตร เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่ทำเหมืองแล้ว โดยตั้งเป้าเร่งผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี 

(3 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าตรวจเยี่ยมและ รับฟังการบรรยายสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี จากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งเป็นผู้ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ว่า เบื้องต้นบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี

“ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจ ในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว 

ทั้งนี้ กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้หลายประการ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง การติดตามตรวจวัดเสียงไม่ให้เกินค่ามาตรฐานและติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงในบริเวณที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ การรังวัดการทรุดตัวของพื้นที่ทำเหมืองด้วยกล้องสมัยใหม่และโดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้เทคโนโลยีวัดผลกระทบในการก่อสร้างอุโมงค์ และการใช้เทคโนโลยีการป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลเข้าอุโมงค์ เป็นต้น 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน สรุปได้คือ ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการฯ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และเข้าร่วมโครงการมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) รวมทั้งประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิตรวจสอบการทำเหมืองสามารถร่วมตรวจสอบการทำเหมืองได้ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 

โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 26,000 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป๊นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน ทั้งนี้แร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักในภาคเกษตรกรรม 

“โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงฯ จะกำกับดูแลโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

'นิคมฯ อุดรธานี' วอนรัฐ หนุนเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เชื่อ!! เปิดประตู 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' สู่พื้นที่ 'CLMVT-จีนตอนใต้'

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี วอนภาครัฐขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายครอบคลุมถึงพื้นที่นิคมฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่า ชงส่งเสริม Logistics Park ในนิคมฯ ให้เป็น One Stop Service เชื่อมโยงการบริการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และพิธีศุลกากรในจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หวังจูงใจการลงทุนในพื้นที่ CLMVT

(11 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การประชุมหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย 

ทั้งนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ได้ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นประตูสู่ประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้อีกด้วย

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการ A4 (กิจการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ตามประเภทกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากได้รับการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมเป็น 8 ปี 

นอกจากนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ Logistic Park ในระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า และขออนุญาตจัดตั้งโรงพักสินค้าพร้อมลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) เพื่อบรรจุและตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก 

ระยะที่ 2 ขออนุญาตจัดตั้งเขตศุลกากร พร้อมลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ Inland Container Depot : ICD ที่สามารถเชื่อมระบบรางเข้ามาภายในพื้นที่เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางเต็มรูปแบบ

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาด สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน จึงเป็นโอกาสดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในนิคมฯ มากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเป็นรูปธรรม

"ข้อเสนอที่บริษัทฯ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะนวัตกรรม ICD Logistic Park ที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กนอ.จะประสานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกรมศุลกากรให้ ขณะที่เรื่องการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เป็นแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้น คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ต่อไป" นายวีริศ กล่าว

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันมีลูกค้า 8 ราย พื้นที่ประมาณ 145 ไร่ ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.ผลิตอาหารแปรรูป (ไตปลา,ปลาร้าต้มสุก) 2.คลังสินค้า คลังสินค้าแช่เย็น 3.ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า 4.โรงพักสินค้า (Warehouse) 5.สร้างโรงงานมาตรฐานให้เช่า และ 6.ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นส่วนโลหะและผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก

‘วธ.’ ลุ้น!! ‘ภูพระบาท’ เตรียมเข้าสู่วาระบอร์ดมรดกโลกกลางปีนี้ หวัง ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆ นี้ รับทราบความคืบหน้าการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งได้รับการบรรจุชื่อในบัญชีชั่วคราว (Tentative List) ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี หลังจากที่กรมศิลปากรจัดส่งเอกสารนำเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฉบับสมบูรณ์ ไปยังศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสแล้ว อาจเข้าสู่การพิจารณาในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ในช่วงกลางปี 2567

รัฐมนตรีว่าการ วธ.กล่าวต่อว่า ส่วนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ได้รับการบรรจุชื่อในบัญชีชั่วคราวของยูเนสโก ได้แก่ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช, พระธาตุพนม จ.นครพนม และแหล่งอนุสรณ์สถาน แหล่งและภูมิทัศน์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ศูนย์กลางล้านนา จ.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอยู่ในบัญชีเบื้องต้นมากว่า 6-10 ปี ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีข้อแนะนำให้ทั้ง 3 จังหวัดปรับปรุงเนื้อหาของเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน

เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจจะมีข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีชั่วคราว ของยูเนสโก หากแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมใดปรับปรุงเอกสารแล้วเสร็จสมบูรณ์ และผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการแล้ว ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทันที

“นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานจากกรมศิลปากร ภายหลัง ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะต้องส่งรายงานการดำเนินงานของเมืองโบราณศรีเทพเสนอต่อยูเนสโก ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง’ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลก ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม รวม 4 แห่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์” นายเสริมศักดิ์กล่าว

อุดรธานี-พรรครวมพลัง เลือกหัวหน้าพรรค พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรคปี 2567

“ดนุช ตันเทอดทิตย์” ได้รับความไว้วางใจเป็นหัวหน้าพรรครวมพลังต่อ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่อุดร พร้อมเดินหน้าต่อเพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชนทุกกลุ่ม 

วันนี้(31 มีนาคม 2567) พรรครวมพลัง จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี  2567 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคและกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ศูนย์ประชุมอุดรดุษฎี โรงแรมเจริญโฮเต็ล จังหวัดอุดรธานี โดยมีสมาชิก หัวหน้าสาขาพรรค จากทั่วประเทศร่วมอาทิ จากกาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ สงขลา พัทลุง กำแพงเพชร อยุธยา พิษณุโลก กรุงเทพ และอุดรธานีเจ้าภาพ ซึ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปรึกษาพรรครวมพลัง ได้ให้เกียรติ ร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย  มีนางสาวณัฐธนินทร์ เลิศเตชะสกุล หรือ "น้องโย" หญิงเก่งของพรรค ดำเนินรายการ

ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ หัวหน้าพรรครวมพลัง ได้กล่าวพบปะสมาชิก รายงานการดำเนินงานกิจกรรมของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา และรายงานงบการเงิน และมีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ปี 2567 พรรคเราอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของพรรค ไม่มีนายทุน ไม่เอาประโยชน์จากงบประมาณ โครงการต่างๆ เราทำงานเป็นทีม ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ สร้างประโยชน์ให้ประชาชนทุกกลุ่ม

ทั้งนี้ การเลือกกรรมการบริหารพรรคของที่ประชุม มีดังนี้ 
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์  หัวหน้าพรรค
นายภูมิ เทือกสุบรรณ  เลขาธิการพรรค
นางชลิตา บุรณศิริ  เหรัญญิกพรรค
ผศ.ดร.วัชรินกร เมฆลา  นายทะเบียนสมาชิกพรรค
นางสาวเพชรน้ำหนึ่ง ศรีวรรธนะ  กรรมการบริหารพรรค
นางสาวนงนุช เพชรสังฆาต  กรรมการบริหารพรรค
นายยศวัจน์  ธนทรงทรัพย์  กรรมการบริหารพรรค

นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งกรรมการจริยธรรมและวินัย และกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ประวัติหัวหน้าพรรครวมพลัง
“ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ “ หรือ ดร.ปอน ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรครวมพลัง
เกิดวันที่ 18 สิงหาคม 2507  (ปัจจุบันอายุ 60 ปี)
จบการศึกษา ปริญญาตรี พาณิชยศาสตร์บัณฑิต สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ปริญญาโท California State University , Bakersfield สาขา การตลาด
,ปริญญาเอก ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

จุดเริ่มต้นเข้ามาในเส้นทางการเมืองเริ่มต้นด้วยการผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตร, ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ , เข้าร่วมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในเวลาต่อมาก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และเป็นกรรมการบริหารพรรค เดือนสิงหาคม 2564 ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีอว. และ เลขานุการรัฐมนตรีอว. ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปรึกษาพรรครวมพลัง กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค เราร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน เป็นพรรคเล็กๆ เลือกตั้งครั้งแรกเราประสบความสำเร็จพอสมควร และได้รับเชิญให้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดูแลกระทรวงแรงงาน และกระทรวง อว. วันนี้เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามปกติ มาร่วมประชุมเป็นกำลังใจให้สมาชิก ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ส่วนแนวทางการเลือกตั้งนั้น จะมีการคัดเลือกคนลงสมัครในระดับต่างๆตามที่พรรคมีความพร้อม เราจะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ 

‘อโกด้า’ ชี้!! ‘อุดรธานี’ ขึ้นแท่นอันดับ 1 จังหวัดคุ้มค่าน่าเที่ยว ห้องพักราคาเฉลี่ย 1,022 บาท แซงหน้าแชมป์เก่าขอนแก่น

(3 เม.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก Salika โพสต์ข้อความระบุว่า…

Pierre Honne, ผู้อำนวยการอาวุโสประจำประเทศไทย, อโกด้า กล่าวถึงผู้คนทั่วเอเชียต่างตั้งตารอวันหยุดนักขัตฤกษ์จำนวนมากที่กำลังจะมาถึง เช่น วันสงกรานต์ วันฮารีรายอ และโกลเด้นวีค ทั้งนี้ เดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการวางแผนหยุดไปท่องเที่ยวพักผ่อน ที่อโกด้าเรามุ่งมั่นช่วยให้ทุกคนออกเดินทางท่องโลกทั้งใบได้ในราคาที่ถูกลงอยู่เสมอ ซึ่งการแนะนำจุดหมายปลายทางที่คุ้มค่าที่สุดในเอเชียก่อนช่วงวันหยุดที่จะมาถึงครั้งนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราที่เห็นได้อย่างชัดเจน

โดยอุดรธานี ครองอันดับ 1 ในปีนี้ เลื่อนขึ้นมาแย่งตำแหน่งแชมป์เก่าอย่างขอนแก่นที่อยู่อันดับเดียวกันในปี 2566 ที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็น 1 ใน 4 เมืองใหญ่ในภาคอีสาน อุดรธานีจึงเป็นจังหวัดที่คุ้มค่าที่จะไปเที่ยว

เมืองอันครึกครื้นแห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่มากมาย เช่น สวนสาธารณะหนองประจักษ์ที่มีทะเลสาบล้อม ประตูมังกร และพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี อุดรธานีเป็นเมืองที่ไปเที่ยวง่ายเพราะมีสนามบิน นักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือใครที่อยากไปต่อที่ลาว ก็สามารถไปเที่ยวชมความสวยงามของกรุงเวียงจันทน์ที่อยู่เพียงอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขงได้อย่างสะดวก (ราคาห้องพักเฉลี่ย 1,022 บาท)

ส่วนจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ที่มีราคาที่พักเฉลี่ยต่ำที่สุดในเอเชีย ได้แก่ สุราบายา (อินโดนีเซีย) เว้ (เวียดนาม) กูชิง (มาเลเซีย) อีโลอีโล (ฟิลิปปินส์) เบงกาลูรู (อินเดีย) นาริตะ (ญี่ปุ่น) และเกาสง (ไต้หวัน) ตามลำดับ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top