Thursday, 16 May 2024
ออสเตรเลีย

เปิดมุมมอง ‘คนไทย’ ได้สัญชาติออสเตรเลีย รับ!! ‘ผูกพัน-บ้านอีกหลัง’ แต่เมื่อเกิดที่ไทย โตมาที่ไทย ก็ยังรู้สึกว่าเป็นคนไทยแท้ 100%

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 66 เพจ ‘Sydney Moments’ ได้แชร์มุมมองความภูมิใจในการเป็นคนไทย แม้จะได้สัญชาติออสเตรเลียแล้วก็ตามไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

คำถามสุดคลาสสิก :

รู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘ออสซี่’ หลังจากได้สัญชาติออสเตรเลียไหม? 🇦🇺

ถ้าถามผม ผมเฉยๆ นะ แม้ว่าผมจะได้มา 10 กว่าปีแล้ว ผมก็ยังรู้สึกว่าผมยังเป็นคนไทย ที่ได้ใบสัญชาติ และพาสปอร์ตออสเตรเลียมา… แค่นั้นเองครับ

เพียงแต่ผมรู้สึกผูกพัน และรักในประเทศนี้มากขึ้น เพราะผมเรียกที่นี่ว่า ‘บ้าน’ อีกหลังของผม นางให้ที่พักอาศัย ให้งานทำ ให้มีข้าวกินหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ลูกๆ ของผมได้มีการศึกษา (thank you)

และการเป็นออสเตรเลียน มันก็เพิ่ม option ความสะดวกในการใช้ชีวิต และการเดินทางมากขึ้น

เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าพาสปอร์ตของออสเตรเลียนั้นทรงอิทธิพลมากระดับ Top 10 ของโลก 🌍

แต่… เวลาผมไปไหน ผมจะ Represent ตัวเองเป็น ‘คนไทย’ เสมอ 🇹🇭

แม้กระทั่งเวลาผมเจอชาวออสซี่ในต่างประเทศ (บ่อยมาก) เวลาเราทักกันผมก็บอกผมก็เป็นคนไทยที่อยู่ซิดนีย์ บางทีเพื่อนชาวออสซี่ก็บอกผมว่า คุณต้องเรียกตัวเองว่า ‘ออสซี่’ สิ เพราะว่าคุณเป็นออสเตรเลียนเหมือนกัน

“Well, it depends”

ผมบอกว่าผมก็ Celebrate ทั้ง 2 อย่าง 😊

เพราะการเป็นออสเตรเลียน (ตามกฎหมาย) มันมาได้หลายวิธี การเกิด, ทักษะ, ลี้ภัย หรือแม้แต่การสมรส

แต่ทางด้านจิตใจ มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะรู้สึกถึงความเป็น ‘ออสซี่’ แตกต่างกันไป ซึ่งผมมองว่า จริงๆ มันแล้วแต่คนนะ บางคนอาจจะแบบ patriotic มากๆ หลังจากได้สัญชาติ

เขาก็ไม่ผิด… มันสิทธิ์ของเขา

ผมก็มีเพื่อนที่เป็นคนต่างชาติ แล้วพอได้สัญชาติออสเตรเลีย เขาก็ represent ตัวเองเป็นออสซี่เลย เขาภูมิใจในความเป็นออสซี่มาก แล้วความเป็นออสซี่จริงๆ ที่ผมสัมผัสได้ตลอดเกือบสิบกว่าปีที่นี่ คือ กีฬา, ธรรมชาติ, อาหาร, ความชิลของการใช้ชีวิต และความมีมิตรไมตรีต่อคนแปลกหน้า นี่แหละ ‘ออสซี่’ สำหรับผม

ผมไม่ Relate ความเป็น ‘ออสซี่’ ของตัวเองผ่านรูปลักษณ์ภายนอก บางคนอาจจะบอกว่า ‘ออสซี่’ มีไว้เรียกแค่ ‘ฝรั่งผิวขาว’ เท่านั้น!!

ผมจะบอกว่า “คุณผิด” ครับ

แล้วคนอะบอริจิน หรือคนผิวอื่นๆ ที่เกิดที่นี่ล่ะครับ?

ก็ออสซี่หมดแหละครับ!

ประเทศนี้เป็นประเทศพหุวัฒนธรรม (Multicultural) ที่แต่ละคนมีรากเหง้าที่มาต่างกัน แต่เรามา Celebrate วัฒนธรรมของเราร่วมกันที่ดินแดนแห่งนี้

ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน ถ้าคุณได้เป็นคนออสเตรเลียแล้ว คุณก็เป็นออสเตรเลียน ไม่มาก และไม่น้อยไปกว่าคนอื่น ในทางนิตินัย แต่ทางพฤตินัยนั้น ก็แล้วแต่ใจคุณครับ

สำหรับผม ผมเกิดไทย โตมาที่ไทย ก็รู้สึกว่าเป็นคนไทย 100% ครับ 

ขอจบโพสต์นี้ ด้วยท่อนเพลงสุดคลาสสิกของวง The Seekers ครับ

"I am. You are. We are Australian" 🎵

อ้น
Just another Australian

‘สี จิ้นผิง’ พบหารือนายกฯ ออสเตรเลีย ให้คำมั่นพร้อมทำงานร่วมกันทุกด้าน

(7 พ.ย.66) นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบกับนายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยผู้นำจีนกล่าวว่า ทั้งสองประเทศสามารถเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจได้ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับออสเตรเลียในทุกด้าน ตั้งแต่ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่นายอัลบาเนซี ซึ่งเป็นผู้นำออสเตรเลียคนแรกที่เดินทางเยือนประเทศจีนในรอบกว่า 7 ปี ได้กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ที่เป็นบวกอย่างมาก และนับตั้งแต่ที่ผู้นำทั้งสองพบกันที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว การค้ามีความไหลลื่นมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ 

‘ออสเตรเลีย’ เดินหน้าประสานรอยร้าว-เคลียร์ใจทุกข้อขัดแย้ง ‘จีน’ งัดกลยุทธ ‘Kungfu Panda Diplomacy’ หวังพิชิตใจ ‘สี จิ้นผิง’

‘นายแอนโทนี แอลบานีส’ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ของัดทุกกลยุทธ ขุดทุก Soft Power ที่รู้จัก มาเพื่อทำภารกิจสานสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนปักกิ่ง หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ดำดิ่งสู่ระดับเลวร้ายมานานกว่า 7 ปี

เมื่อไม่นานนี้ นายแอนโทนี แอลบานีส ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ที่มาเยือนจีนอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี 2016 ในสมัยของ ‘นายแมลคัม เทิร์นบุลล์’ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระดับทวิภาคี ให้กลับมามีบรรยากาศที่ดีขึ้นอีกครั้ง และยังเป็นการมาเพื่อเคลียร์ใจในประเด็นที่เคยขัดแย้ง จนสร้างความเย็นชาต่อกันมานานหลายปี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกกุ้งล็อบสเตอร์ เนื้อวัว และไวน์ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของออสเตรเลียไปยังตลาดจีน

ซึ่งต้องยอมรับว่า จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้าออสเตรเลียรายใหญ่ที่สุดมานานหลายสิบปี นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาจีนนับแสนต่อปีที่เดินทางมาศึกษาต่อในออสเตรเลีย ซึ่งเคยทำสถิติสูงสุดในปี 2019 มากกว่า 1.6 แสนคน และถือเป็นสัดส่วนนักเรียนต่างชาติมากที่สุดของออสเตรเลียอีกด้วย

จนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่าง ‘จีน-ออสเตรเลีย’ เริ่มเลวร้ายลงตั้งแต่ปี 2017 เมื่อออสเตรเลียออกมากล่าวหาว่า จีนพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองในประเทศ ตามมาด้วยการตัดสินใจดำเนินตามนโยบายของสหรัฐอเมริกา ในการแบนอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G ของ ‘Huawei’ รวมถึงการออกมาเรียกร้องให้สอบสวนคดีต้นกำเนิดไวรัส Covid-19 โดยตั้งข้อสงสัยว่าอาจมาจากเมืองอู่ฮั่น

และล่าสุด ได้มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (AUKUS) ที่มีเป้าหมายเพื่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ได้เติมเชื้อไฟในความบาดหมางระหว่างจีน และออสเตรเลียเรื่อยมาจนถึงวันนี้

โดยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อรัฐบาลจีนคว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากออสเตรเลีย และตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 116.2% – 218.4% รวมถึงการรณรงค์ไม่ให้นักศึกษาจีนเดินทางมาเรียนต่อในออสเตรเลีย จนยอดนักศึกษาจีนหล่นฮวบกว่า 5 หมื่นคนในปีการศึกษา 2022

ทำให้นายแอนโทนี แอลบานีส ผู้นำออสเตรเลียคนปัจจุบัน ต้องมาคิดทบทวน นโยบายที่แล้วมา และขอเดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง ซึ่งการเยือนจีนในครั้งนี้ยังถือเป็นการฉลองครบรอบ 50 ปีที่ ‘โกห์ วิทแลม’ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนแรก เดินทางมาเยือนจีน ในปี 1973 

หลังจากที่ได้พบหน้ากับผู้นำจีนแล้ว นายแอนโทนี แอลบานีส ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า เป็นการพูดคุยด้วยบรรยากาศชื่นมื่น แถมยังมีการเล่นมุก หยอกล้อกันด้วยเรื่องความน่ารักของ ‘แพนด้า’ อีกด้วย

นายแอนโทนี เล่าว่า “สี จิ้นผิง เล่าถึงการไปเยือนนิวซีแลนด์เมื่อเร็วๆ นี้ และเอ่ยปากชมว่าไวน์ของที่นั่นรสชาติดีมาก ผมจึงเสริมทันทีว่า ถ้าพูดถึง ‘ไวน์แดง’ ของออสเตรเลียเหนือชั้นกว่ามาก จากนั้น สี จิ้นผิง ก็พูดถึงตัว ‘แทสเมเนียนเดวิล’ สัตว์พื้นถิ่นของออสเตรเลีย และชมว่ามันน่ารักดี ผมบอกเขาไปทันทีว่า น่ารักไม่เท่าแพนด้าของจีนหรอก ผู้นำจีนรีบตอบทันทีว่า แพนด้าก็ไม่ได้น่ารักทุกตัวหรอกนะ จากนั้นก็ได้หยิบตัวละครในแอนิเมชันดัง อย่าง ‘Kungfu Panda มาคุยกันต่อ” ซึ่งผู้นำออสเตรเลียค่อนข้างพอพึงใจในการเจอกัน ระหว่างเขาและผู้นำสี จิ้นผิง ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่น

แต่ทว่า สื่อตะวันตกบางสำนักได้ออกวิพากษ์วิจารณ์ นายแอนโทนี แอลบานีส ว่าเป็นการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อที่ ‘แปลกประหลาดที่สุด’ ในบรรดาผู้นำออสเตรเลียที่ผ่านมา และแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความละมุนละม่อมต่อรัฐบาลจีน จากที่เคยแสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอด และตั้งคำถามว่าจะมีผลต่อนโยบายเกี่ยวกับจีนของรัฐบาลออสเตรเลียหรือไม่

ด้านนายแอนโทนี ตอบแบบกลางๆ ว่า ถึงระบบการเมืองของจีนจะแตกต่างจากออสเตรเลีย แต่มันไม่สำคัญเลยว่าใครจะสวมหมวกใบที่แตกต่างจากเรา เพราะพวกเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันได้ ถ้าหากเรารู้จักแสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่าง

แต่ทั้งนี้ ผู้นำออสเตรเลียย้ำว่า ออสเตรเลียยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา และยังต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนด้วยเช่นกัน เราไม่ต้องการเป็นกันชน คนกลางระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งการพูดคุยกับผู้นำจีนในวันนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากการเจอหน้ากันครั้งแรก ในงานประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี

นับเป็นสัญญาณที่ดีในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีน ที่มีความบาดหมาง และเย็นชาต่อกันมานานหลายปี อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่นายแอนโทนี แอลบานีส ยังอยู่ในตำแหน่ง ถึงไม่อาจจะรับประกันได้ว่าผู้นำออสเตรเลียคนต่อไป จะมีนโยบายต่อจีนที่ต่างออกไปหรือไม่ แต่สำหรับ ‘แพนด้า’ นับเป็นสัญลักษณ์ทูตสันถวไมตรี ที่ใช้เป็นสื่อกลางของชาวจีนได้ดีเสมอ

‘ออสเตรเลีย’ ประสบปัญหา ‘เนื้อแกะล้นตลาด’ กว่า 78 ล้านตัว เกษตรกรระทม!! ราคาตก จนต้อง ‘แจกฟรี’ เพื่อลดต้นทุน

(23 พ.ย. 66) สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ออสเตรเลียกำลังเผชิญปัญหาปริมาณเนื้อแกะล้นตลาดและส่งผลให้ราคาทรุดตัวลงอย่างรุนแรง จนทำให้เกษตรกรบางรายต้องหาทางออกด้วยการกำจัดแกะในฟาร์มหรือแจกจ่าย เพื่อเป็นการลดต้นทุนแทนที่จะเลี้ยงฝูงแกะไว้ในฟาร์มต่อไป

ข้อมูลจากสมาคมเนื้อสัตว์และปศุสัตว์แห่งออสเตรเลีย (MLA) ระบุว่า ราคาเนื้อแกะร่วงลงรุนแรงถึง 70% ในปีที่แล้ว สู่ระดับกิโลกรัมละ 1.23 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 43.37 บาท)

นายทิม แจ็กสัน นักวิเคราะห์ฝ่ายอุปทานตลาดโลกของ MLA กล่าวว่า ออสเตรเลียมีฤดูกาลที่ดีมากหลายฤดูในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ฝูงแกะมีจำนวนมากถึง 78.75 ล้านตัว ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552

ปัจจัยที่ทำให้ฝูงแกะในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจำนวนมากนั้น มาจากการที่หลายภูมิภาคที่เลี้ยงแกะมีฝนตกลงมากกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเวลานานถึง 3 ปี ซึ่งรวมถึงรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรีย โดยฝนที่ตกลงมาจะทำให้ต้นหญ้าเติบโต ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงสัตว์ และทำให้สัตว์ขยายพันธ์ุอย่างรวดเร็ว

“ยิ่งฝนตกลงมามากเท่าไร ปริมาณเนื้อแกะในตลาดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น และเมื่อแกะมีจำนวนมากจนไม่สามารถนำเข้าสู่ตลาดได้อีก ทำให้เกษตรกรต้องตัดสินใจกำจัดแกะเหล่านี้ หรือไม่ก็แจกจ่ายให้ประชาชนฟรี ๆ” นายสตีฟ แมคไกวร์ รองประธาน WAFarmers ซึ่งเป็นกลุ่มส่งเสริมด้านการเกษตรของออสเตรเลีย กล่าว

ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อแกะรายใหญ่ที่สุดในโลก และภาวะเนื้อแกะล้นตลาดนี้ได้สร้างแรงกดดันขาลงต่อราคาขายส่งทั่วโลก

ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดโดยสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติออสเตรเลียพบว่า กว่า 60% ของเกษตรกรออสเตรเลียที่ตอบแบบสำรวจ ไม่ได้รู้สึกเชิงบวกมากกว่าในปีที่แล้ว ต่ออนาคตของการทำเกษตรในประเทศ

‘ออสเตรเลีย’ ออกกฎหมายแบน ‘การชูมือแบบนาซี’ ในประเทศ หวังไม่ให้มีที่ยืนสำหรับคนที่เชิดชู ฝ่าฝืน!! จำคุกสูงสุด 12 เดือน

(8 ม.ค. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกกฎหมายแบนการชูมือคารวะแบบนาซี ตลอดจนการแสดงหรือการจำหน่ายสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (8 ม.ค.) เป็นต้นไป กฎหมายนี้เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ต่อต้านชาวยิวเพิ่มขึ้นจากสงครามระหว่างอิสราเอล-กาซา

กฎหมายดังกล่าวระบุว่า การชูมือคารวะแบบนาซี หรือการแสดงสัญลักษณ์สวัสติกะหรือสัญลักษณ์ประจำหน่วยชุทซ์ชตัฟเฟิล (SS) ในที่สาธารณะ ตลอดจนการจำหน่ายและแลกเปลี่ยนสัญลักษณ์เหล่านี้ ถือเป็นความผิดต้องโทษจำคุกสูงสุด 12 เดือน

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังห้ามการแสดงหรือค้าขายแลกเปลี่ยนสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรก่อการร้ายที่ถูกแบน เช่น กลุ่มรัฐอิสลาม (IS), ฮามาส หรือพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้มีข้อยกเว้นสำหรับการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิชาการ การศึกษาหรือศิลปะ

นายมาร์ก เดรย์ฟัส อัยการสูงสุด กล่าวในแถลงการณ์ว่า กฎหมายนี้ส่งสารชัดเจนว่า ในออสเตรเลียไม่มีพื้นที่ให้สำหรับผู้ยกย่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือการก่อการร้าย

“นี่เป็นกฎหมายฉบับแรกในลักษณะนี้ และจะทำให้แน่ใจว่า ไม่มีใครในออสเตรเลียสามารถยกย่องหรือแสวงหาผลกำไรจากการกระทำและสัญลักษณ์ที่เชิดชูพวกนาซีและอุดมการณ์ชั่วร้ายของพวกมัน”

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้รับการเสนอในเดือนมิ.ย.และผ่านความเห็นชอบในเดือนธ.ค. 2566 โดยกฎหมายนี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นท่ามกลางกระแสต่อต้านชาวยิวและศาสนาอิสลามที่เพิ่มขึ้นหลังจากเหตุการณ์การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งทางการอิสราเอลรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,200 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 240 ราย

ตัวอย่างกระแสเกลียดชังชาวยิวที่ปรากฏในออสเตรเลียได้แก่กรณีคลิปวิดีโอแสดงภาพชายกลุ่มเล็ก ๆ ในม็อบสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่ชุมนุมกันนอกซิดนีย์โอเปราเฮาส์เมื่อเดือนต.ค. โดยมีการตะโกนว่า ‘gas the Jews’ (จับพวกยิวไปรมแก๊ส)

ออสเตรเลียสั่งโละ 'Golden Visa' ให้เศรษฐีต่างชาติ เพราะสุดท้าย ไม่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศเลย

รัฐบาลออสเตรเลียตัดใจยกเลิก 'Golden Visa' หรือ 'วีซ่าทองคำ' สำหรับมหาเศรษฐี ที่หอบเงินก้อนโตมาลงทุนเพื่อแลกสิทธิ์พำนักถาวรในออสเตรเลีย หลังข้อมูลชี้ว่า นักลงทุนกลุ่มนี้แทบไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างที่เคยหวังไว้

สำหรับ 'วีซ่าทองคำ' เป็นแคมเปญดึงดูดมหาเศรษฐีต่างประเทศให้รายใหญ่ ให้โยกเงินก้อนโตของตนมาฝาก หรือลงทุน ซื้อทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ เป็นช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศนิยมใช้ โดยให้สิทธิวีซ่าในการพำนัก หรือย้ายถิ่นฐานถาวร

ซึ่งทางออสเตรเลีย ก็ได้เปิดวีซ่าทองคำ สำหรับนักลงทุนต่างชาติเป็นครั้งแรกในปี 2012 ภายใต้โครงการ 'นวัตกรรมธุรกิจ และ การลงทุน' ซึ่งมีการแบ่งวีซ่าประเภทนี้ออกเป็น 2 หมวด สำหรับ 'นักธุรกิจด้านนวัตกรรม' และ 'นักลงทุน' โดยกำหนดเงื่อนไขเงินที่ต้องใช้ลงทุนในออสเตรเลียมากกว่า 5 ล้านเหรียญออสเตรเลียขึ้นไป (ประมาณ 117.5 ล้านบาท) และตั้งเป้าว่าจะได้เศรษฐีมาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ หรือลงทุนในธุรกิจด้านนวัตกรรมให้ขยายตัวมากขึ้น

แต่ทว่า ผลลัพธ์กลับไม่ได้ดังหวัง เพราะเศรษฐีจำนวนไม่น้อย ต้องการวีซ่าทองคำเพื่อได้สิทธิ์อยู่ถาวรในออสเตรเลียเท่านั้น อีกทั้งวีซ่าทองคำ ไม่ได้จำกัดอายุ หรือ ต้องมีทักษะทางภาษาอังกฤษ ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นใบสมัครจะเป็นใครก็ได้ ที่ไม่มีคดีติดตัว และมีหลักฐานเงินทุนที่มั่งคงเกิน 5 ล้านดอลลาร์ ก็สามารถสมัครวีซ่าประเภทนี้ได้ นั่นจึงทำให้วีซ่าทองคำของออสเตรเลียนิยมในหมู่มหาเศรษฐีจีน 

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า กว่า 85% ของวีซ่าทองคำ 100,000 ใบที่ออกให้ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน เป็นชาวจีน ที่หลายคนเชื่อว่าอาจเป็นเพราะตัวเลขหมวดวีซ่าทองคำออสเตรเลียใช้รหัส 888 ที่ถือเป็นเลขมงคลของชาวจีนด้วย 

แต่ทว่าผู้ที่ได้วีซ่าทองคำไปแล้ว กลับไม่ได้นำเงินมาลงทุนต่อยอดจริงๆ อย่างที่รัฐบาลออสเตรเลียคาดหวัง หลายคนแค่ต้องการย้ายเงินเก็บทั้งชีวิตมาเพื่อหาที่เกษียณ อยู่สบายๆในออสเตรเลียมากกว่า แถมยังทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศพุ่งสูงขึ้นจนพลเมืองแท้ๆ ในประเทศหลายครอบครัวไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้

นอกจากนี้ วีซ่าทองคำยังถูกวิจารณ์ว่า เป็นช่องทางให้กับเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ หอบเงินที่ได้จากการคอร์รัปชัน ฟอกเงิน มาซุกซ่อนไว้ในออสเตรเลีย อีกทั้งรัฐบาลปัจจุบันของออสเตรเลียที่มาจากพรรคแรงงาน มีนโยบายลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นต่างชาติให้น้อยลงเท่ากับจำนวนก่อนยุค Covid-19 

ดังนั้น จึงมีการพิจารณายกเครื่องระเบียบ กฎเกณฑ์ การยื่นวีซ่าย้ายถิ่นฐานสำหรับชาวต่างชาติใหม่หมด และได้ตัดวีซ่าทองคำทิ้ง แต่เพิ่มสัดส่วนของวีซ่าแรงงานที่มีทักษะสูง ภาษาอังกฤษดี เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานที่ออสเตรเลียแทน

เช่นเดียวหลายชาติในยุโรป ที่เริ่มตัดสินใจยกเลิกให้ 'วีซ่าทองคำ' แก่เศรษฐีต่างชาติแล้วเช่นกัน อาทิ สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์ ส่วน สเปน และ โปรตุเกส ได้เริ่มลดจำนวนการออกวีซ่าทองคำแล้ว เพื่อที่จะยกเลิกอย่างถาวรในไม่ช้า 

อันเนื่องจากรัฐบาลกลางของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเริ่มมีทัศนคติในแง่ลบต่อโครงการวีซ่าทองคำ ที่มักถูกมองว่าเป็นการ 'ขายวีซ่า' แก่บุคคลที่อาจโดนคว่ำบาตร หรือถูกขึ้นบัญชีดำจากชาติตะวันตก  หรือเป็นช่องทางไซฟ่อนเงินทุจริตจากต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลบรัสเซลส์จึงเรียกร้องให้ชาติสมาชิกมีนโยบายออกวีซ่าทองคำ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครให้มากขึ้นอีกด้วย

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

นักวิจัย ในออสเตรเลีย ชี้ ‘งูเหลือม’ มีโปรตีนสูง เหมาะทำ ‘ฟาร์มปศุสัตว์’ เพื่อแก้ปัญหา ‘สภาวะขาดโปรตีนเฉียบพลัน’ ในกลุ่มประเทศยากจน

เมื่อเร็วๆ นี้ การวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมกควอรี ในออสเตรเลีย นำทีมโดยนักวิจัยกิตติมศักดิ์ ดร. แดเนียล นาทัสช์ ได้ศึกษาฟาร์มงูเหลือมเชิงพาณิชย์ 2 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า 'งูเหลือม' สามารถเปลี่ยนอาหารเป็นการเพิ่มน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่ง เมื่อเทียบกับปศุสัตว์ทั่วไป เช่น ไก่และโคเนื้อ

“งูเหลือมมีประสิทธิภาพในการแปลงอาหารให้เป็นโปรตีนและน้ำหนักตัวมากกว่าสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคทุกชนิด งูเหลือมโตเร็วมาก เพียงแค่ปีเดียวหลังจากฟักออกจากไข่ ก็สามารถจับส่งขายได้แล้ว” ดร.นาทัสช์ กล่าว

นักวิจัยได้เก็บข้อมูลงูเหลือมร่างแห (Malayopython reticulatus) และงูเหลือมพม่า (Python bivittatus) ที่เลี้ยงในฟาร์มของประเทศไทยและเวียดนามเกือบ 5,000 ตัวเป็นเวลาหนึ่งปี พร้อมด้วยอาหารพวกมันที่ได้รับอาหาร รวมถึงน้ำหนักเนื้องู โดยไม่รวมผิวหนัง อวัยวะภายใน ศีรษะและหาง จากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่ในสัตว์อื่น ๆ 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคภัยไข้เจ็บ และปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง ล้วนสร้างปัญหาให้กับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนจำนวนมาก ในกลุ่มประเทศยากจน ที่อยู่ในสภาวะขาดโปรตีนเฉียบพลันอยู่แล้ว จนเกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในวงกว้าง ทำให้ผู้คนต้องแสวงหาแหล่งอาหารทางเลือก

'เนื้องู' ถือเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูงและมีไขมันอิ่มตัวน้อยและเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยมีการบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศจีน ถึงแม้ว่าจะมีการเลี้ยงงูเหลือมขนาดใหญ่มากมายในเอเชีย ถึงขั้นเปิดเป็นฟาร์มเชิงพาณิชย์ได้ แต่งูกลับไม่ได้รับความสนใจจากวงการวิทยาศาสตร์การเกษตรกระแสหลักมากนัก ทั้ง ๆ ที่งูไม่ต้องการดูแลและอาหารมากเท่ากับสัตว์ชนิดอื่น

ปกติแล้ว นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญเสียพลังงานจากอาหารที่กินประมาณ 90% เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ แต่สัตว์เลื้อยคลานที่เป็นสัตว์เลือดเย็นไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการรักษาอุณหภูมิ พวกมันแค่ต้องการแสงแดดเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นเท่านั้น

ดังนั้นงูเหลือมจึงสามารถเปลี่ยนแปลงสารอาหารที่พวกมันกินให้เป็นเนื้อและเนื้อเยื่อร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าสิ่งมีชีวิตเลือดอุ่นทุกชนิด

ดร.นาทัสช์ กล่าวว่า งูสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยน้ำค้างที่ตกลงบนเกล็ดของมันในตอนเช้า และกินสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์อื่น ๆ ที่ทำลายพืชอาหารของมนุษย์ พร้อมระบุว่า การศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการทำฟาร์มงูเหลือมด้วยระบบปศุสัตว์ อาจให้การตอบสนองต่อความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลกได้อย่างและมีประสิทธิภาพ

ศ.ริค ชายน์ ผู้ศึกษาวิจัยร่วม กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่เจาะลึกถึงต้นทุน และประโยชน์ของฟาร์มงูเชิงพาณิชย์ โดยผลการศึกษาชี้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงงูเหลือมสามารถปรับตัวทางเศรษฐกิจและได้กำไรมากกว่าการทำฟาร์มสุกร

การศึกษาพบว่า มวลอาหารแห้งที่งูเหลือมเลี้ยงคือ 1.2 เท่าของมวลเนื้องู ซึ่งต่ำกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาแซลมอน (1.5) จิ้งหรีด (2.1) สัตว์ปีก (2.8) หมู (6) และ วัว (10) 

เช่นเดียวกับน้ำหนักของโปรตีนที่ให้เป็นอาหารงูอยู่ที่ 2.4 เท่าของมวลน้ำหนักงู ต่ำกว่าสัตว์ชนิด ๆ ได้แก่ ปลาแซลมอน (3) จิ้งหรีด (10) สัตว์ปีก (10) หมู (38) และ วัว (83)

งูเหลือมหนึ่งตัว สามารถนำมาใช้บริโภคได้ถึง 82% ของน้ำหนักตัว ซึ่งนอกจากเนื้อสัตว์ที่นำมาบริโภคแล้ว ยังสามารถนำหนังไปใช้ทำเครื่องประดับหรือเฟอร์นิเจอร์ได้ ขณะที่ไขมัน หรือที่เรียกว่า 'น้ำมันงู' และ ดีงู (น้ำดีงู) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อีกด้วย

สัตว์เลื้อยคลานผลิตก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก ระบบย่อยอาหารที่แข็งแรงของพวกมัน สามารถสลายกระดูกได้ ทำให้แทบไม่มีการสูญเสียน้ำและสร้างของเสียน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก

อีกทั้งงูยังให้กำเนิดลูกได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น โดยงูเหลือมผลิตไข่ได้ระหว่าง 50-100 ฟองในหนึ่งปี ตรงกันข้ามกับวัวซึ่งให้กำเนิดลูกโดยเฉลี่ยเพียง 0.8 ตัวต่อปี ส่วนสุกรซึ่งสามารถตกลูกได้ประมาณ 22-27 ตัว 

ดร.นาทัสช์ กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกษตรกรไม่สามารถขายสุกรได้ และมีต้นทุนมากเกินไปที่จะเลี้ยงต่อ สุดท้ายเกษตรกรจำเป็นต้องการุณยฆาตและฝังกลบ หรือเอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก แต่ถ้าเลี้ยงงูก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะงูเหลือมสามารถอดอาหารได้นานกว่า 4 เดือน โดยที่น้ำหนักแทบจะไม่ลดลงเลย  และกลับมาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทันทีที่ได้กินอาหาร ดังนั้นการเลี้ยงดูงูเหลือมจึงสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาหารจะขาดแคลนก็ตาม

นอกจากนี้การเลี้ยงงูยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้อีกด้วย “ฟาร์มบางแห่งมีนำลูกงูเหลือมไปให้ชาวบ้านช่วยเลี้ยง และจะรับซื้อคืนเมื่องูอายุครบหนึ่งปี ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านวัยเกษียณ โดยพวกเขาจะมีต้นทุนเพียงแค่ค่าอาหารงู อาจจะเป็นสัตว์ฟันแทะหรือเศษอาหารต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น” ดร.นาทัสช์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ชายน์ กล่าวว่าการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอันน่าทึ่งของสัตว์เลื้อยคลานในการเปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ และแสดงให้ถึงโอกาสในการผลักดันให้งูกลายเป็นแหล่งอาหารทางเลือก แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้ที่ชาวยุโรปและออสเตรเลียจะทดลองทำฟาร์มงู และนำงูมาบริโภค

“ผมคิดว่าคงอีกนานกว่าที่คุณจะได้เห็นเบอร์เกอร์งูเหลือมเสิร์ฟที่ร้านอาหาร”

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยงูเหลือมนั้นเป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 โดยมีงูจำนวน 14 ชนิด ได้แก่

1. งูเขียวกาบหมาก (Gonyosoma oxycephalum)
2. งูจงอาง (Ophiophagus Hannah)
3. งูทางมะพร้าวเขียว (Gonyosoma prasina)
4. งูทางมะพร้าวดำ หรือ งูทางมะพร้าวมลายู หรือ งูหลุนชุน (Elaphe flavolineata)
5. งูทางมะพร้าวแดง (Elaphe porphyracea)
6. งูทางมะพร้าวลายขีด (Elaphe radiata)
7. งูทางมะพร้าวหางดํา หรืองูใบ้ หรืองูทางมะพร้าวถํ้า (Elaphe taeniura)
8. งูสิง (Ptyas korros)
9. งูสิงหางดํา (Ptyas carinatus)
10. งูสิงหางลาย หรืองูสิงลาย (Ptyas mucosus)
11. งูแสงอาทิตย์ (Xenopeltis unicolor)
12. งูหลาม (Python molurus bivittatus)
13. งูหลามปากเป็ด (Python curtus)
14. งูเหลือม (Python reticulatus)

ทั้งนี้สามารถขออนุญาตเพื่อเพาะพันธุ์จำหน่าย เพื่อความสวยงาม แปรรูปผลิตภัณฑ์หนัง แต่ไม่อนุญาตให้นำไปกินเป็นอาหาร

‘เซาท์ออสเตรเลีย’ จ่อห้ามเด็กต่ำกว่า 14 ปี เล่นโซเชียลมีเดีย หลังพบผลกระทบในด้าน ‘สุขภาพจิต-พัฒนาการ’ ของเด็ก

(13 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปีเตอร์ มาลินอสคัส ผู้ว่าการรัฐเซาท์ออสเตรเลียของออสเตรเลีย เปิดเผยแผนการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการแต่งตั้งโรเบิร์ต เฟรนช์ อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงแห่งออสเตรเลีย ดำเนินการตรวจสอบข้อปฏิบัติทางกฏหมายของการบังคับใช้คำสั่งห้ามลักษณะดังกล่าวเป็นครั้งแรกของออสเตรเลีย

เมื่อวันอาทิตย์ (12 พ.ค.) ปีเตอร์ มาลินอสคัส กล่าวว่า รัฐบาลรัฐเซาธ์ออสเตรเลียออกข้อเสนอที่ว่าประชาชนในรัฐที่มีอายุต่ำว่า 14 ปี จะถูกห้ามใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ส่วนผู้มีอายุ 14-15 ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ผู้ปกครองหากต้องการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์

โดยอธิบายว่า มีผลการตรวจสอบและหลักฐานผลกระทบมากมายที่บ่งชี้ว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและพัฒนาการของเด็ก โดยมีการใช้แอดดิคทีฟ อัลกอริทึม (addictive algorithm) มาดึงดูดเด็กวัยรุ่นในวิถีทางที่จิตใจอันกำลังพัฒนาของพวกเขามิอาจรับมือได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ตกอยู่ในอันตราย จึงไม่ควรเสียเวลาเปล่าอีกต่อไป” ปีเตอร์ มาลินอสคัส กล่าว พร้อมเสริมว่า กฎเกณฑ์และข้อบังคับของคำสั่งห้ามนี้อาจมีลักษณะเหมือนกับคำสั่งห้ามชาวออสเตรเลียที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าถึงการพนันออนไลน์

ทั้งนี้ ข้อมูลจากอีเซฟตี คอมมิชชันเนอร์ (eSafety Commissioner) ของรัฐบาลกลางออสเตรเลียในปี 2021 ระบุว่าวัยรุ่นออสเตรเลียใช้เวลาบนโลกออนไลน์เฉลี่ย 14.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์เฉลี่ย 4 แพลตฟอร์ม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top