Thursday, 3 July 2025
สหรัฐฯ

ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยทางการศึกษา จากนโยบายของทรัมป์ ที่ออกคำสั่งห้าม!! ‘ฮาร์วาร์ด’ รับนักศึกษาต่างชาติ

(24 พ.ค. 68) หนึ่งในผู้ประสบภัยคำสั่งห้ามฮาร์วาร์ดรับนักศึกษาต่างชาติของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือ เจ้าหญิง เอลีซาแบ็ต เตแรซ มารี เอแลน ดัชเชสแห่งบราบันต์ รัชทายาทลำดับที่หนึ่งในการสืบราชบัลลังก์เบลเยียม

เจ้าหญิง เอลีซาแบ็ต กำลังศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ ที่ฮาร์วาร์ด และกำลังจะขึ้นปีที่ 2 เพื่อจบหลักสูตร ก่อนหน้านี้พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ และ รัฐศาสตร์มาแล้วจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ 

แต่จากคำสั่งของรัฐบาลทรัมป์ ที่เพิกถอนสิทธิ์การรับนักศึกษาต่างชาติของฮาร์วาร์ด ที่จะทำให้นักศึกษาต่างชาติทุกคนต้องย้ายไปเรียนที่สถาบันอื่น มิฉะนั้นจะถูกเพิกถอนวีซ่า ไม่เว้นแม้แต่ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยทางการศึกษาของทรัมป์

‘ผู้พิพากษาสหรัฐฯ’ ขวาง!! รัฐบาลทรัมป์ กรณีเพิกถอนสถานะทางกฎหมาย ‘นศ.ต่างชาติ’

(24 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

เจฟฟรีย์ ไวท์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิกถอนสถานะทางกฎหมายของนักศึกษาชาวต่างชาติที่ศึกษาและทำงานอยู่ในสหรัฐฯ โดยปราศจากการพิจารณารายบุคคล รวมถึงห้ามจับกุมหรือกักขังนักศึกษาที่เกิดในต่างประเทศโดยอ้างอิงสถานะผู้อพยพเพียงอย่างเดียว

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยุติการบันทึกข้อมูลชาวต่างชาติหลายพันคนในฐานข้อมูล "ระบบข้อมูลนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยน" (SEVIS) ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเมื่อเดือนเมษายนด้วยข้ออ้างปราบปรามนักศึกษาชาวต่างชาติที่มีประวัติอาชญากรรม ทำให้นักศึกษาชาวต่างชาติสูญเสียสถานะทางกฎหมายในสหรัฐฯ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศ

คำสั่งห้ามของวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ยังห้ามรัฐบาลสหรัฐฯ โอนย้ายโจทก์ในคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาไปยังเขตอำนาจศาลนอกถิ่นพำนักอาศัย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการบรรเทาความวิตกกังวลครั้งแรกแก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ โดยไวท์ระบุว่ารัฐบาลภายใต้การนำของทรัมป์ "สร้างหายนะ" แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของโจทก์ รวมถึงนักศึกษาชาวต่างชาติคนอื่นๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ได้เพิกถอนการรับรองมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดภายใต้โครงการนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเมื่อวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่สามารถรับสมัครนักศึกษาชาวต่างชาติใหม่เข้าเรียนได้

ด้านมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยื่นฟ้องร้องในวันศุกร์ (23 พ.ค.) ซึ่งผู้พิพากษาในรัฐแมสซาชูเซตส์ได้อนุมัติคำสั่งยับยั้งการเพิกถอนดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่ออนุญาตนักศึกษาชาวต่างชาติสามารถลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่อไปได้

จีนแอบอมยิ้ม ทรัมป์จะกร่างไปได้อีกสักกี่น้ำ หลังศาลสหรัฐฯ สั่งเบรกเก็บภาษีบูลลี่คนอื่น

(29 พ.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า จีนแอบอมยิ้ม ทรัมป์จะกร่างไปได้อีกสักกี่น้ำ ! ศาลสหรัฐฯ สั่งเบรกทรัมป์เก็บภาษีบูลลี่คนอื่น + อิลอน มัสก์ ก็เทใจจากทรัมป์ ขอบายแล้ววว

ทำความรู้จัก ‘Northrop B-2 Spirit’ เครื่องบินทิ้งระเบิดราคาแพงลิบของสหรัฐฯ

(22 มิ.ย. 68) เมื่อพูดถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก หนึ่งในชื่อที่ถูกกล่าวถึงเสมอคือ Northrop B-2 Spirit เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการข่มขวัญในระดับโลกของกองทัพอากาศสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้าน “ความลับ” และ “ความล่องหน”

เปิดตัวพร้อมเปลี่ยนสมรภูมิ 

Northrop B-2 Spirit เปิดตัวครั้งแรกในปี 1989 ท่ามกลางยุคสงครามเย็น ด้วยภารกิจเฉพาะคือการเจาะทะลวงพื้นที่เป้าหมายภายใต้การป้องกันทางอากาศที่แน่นหนา ด้วยคุณสมบัติ Stealth Bomber ที่ออกแบบมาเพื่อลดการตรวจจับจากเรดาร์ได้อย่างน่าทึ่ง โดยแต่ละลำมีราคาสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 66,000 ล้านบาท

Northrop B-2 Spirit คือ เครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีสมรรถนะทะลุทะลวงเรดาร์ พร้อมขนระเบิดได้ถึง 18 ตัน รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์และ GBU-57 ที่ใช้ถล่มฐานใต้ดินลึก เปิดตัวตั้งแต่ปี 1989 B-2 ถูกใช้งานในหลายสงครามทั่วโลก และไม่เคยถูกยิงตกแม้แต่ครั้งเดียว ปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ 19 ลำ

สมรรถนะที่ยากจะเทียบเคียง
ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ General Electric F118-GE จำนวน 4 เครื่อง ทำให้ B-2 Spirit สามารถบินได้ที่ระดับความสูงถึง 12,000 เมตร และทำความเร็วสูงสุดกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมพิสัยการบินไกลถึง 11,000 กิโลเมตร โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ

ความลับที่มองไม่เห็น
หัวใจของ B-2 คือ ความสามารถในการล่องหน (Stealth) ที่ออกแบบมาให้ตรวจจับได้ยากมาก ตัวเครื่องมีโครงสร้างแบบปีกบิน (flying wing) ที่แปลกตา ไม่มีหางแนวตั้งหรือแนวนอน พร้อมวัสดุดูดซับคลื่นเรดาร์ และมีค่าตัดขวางเรดาร์ (Radar Cross-Section) เพียง 0.1 ตารางเมตร ซึ่งเล็กพอ ๆ กับนกตัวหนึ่ง

ขุมพลังทำลายล้างในระยะลึก
B-2 Spirit มีช่องเก็บระเบิดภายใน 2 ช่องหลัก รองรับน้ำหนักรวมได้ถึง 18,000 กิโลกรัม โดยสามารถติดตั้งอาวุธได้หลากหลาย เช่น GBU-38 (ระเบิดนำวิถีขนาดเล็ก), GBU-31 (ระเบิดนำวิถีขนาดกลาง), AGM-154, AGM-158 (จรวดนำวิถีระยะไกล) และระเบิดนิวเคลียร์ GBU-57A/B MOP (Massive Ordnance Penetrator) ซึ่งมีศักยภาพทะลวงเป้าหมายใต้ดินได้ลึกถึง 60–90 เมตร

สำหรับระเบิด GBU-57 นี้เองที่ตกเป็นข่าวในกรณีที่อิสราเอลต้องการใช้โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ Fordow ของอิหร่านซึ่งตั้งอยู่ในภูเขาลึกใกล้กรุงเตหะราน

ปัจจุบันเหลือใช้งานเพียง 19 ลำ
แม้เคยมีการผลิต B-2 Spirit ทั้งหมด 21 ลำ แต่เกิดอุบัติเหตุเครื่องตก 2 ครั้งในดินแดนสหรัฐฯ เอง ทำให้กองทัพอากาศต้องปลดประจำการบางลำลง ปัจจุบันมี B-2 ประจำการเหลืออยู่เพียง 19 ลำ และยังคงเป็นกำลังสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ จนกว่ารุ่นใหม่อย่าง B-21 Raider จะเข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์ในทศวรรษหน้า

เปิดปูม ‘สหรัฐฯ’ เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ ‘อิหร่าน’ เหตุเพราะไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติอย่างที่เคยเป็น

(22 มิ.ย. 68) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และเป็นนักเขียนที่ได้รับ รางวัลซีไรต์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เรื่องตลกเรื่องหนึ่งของเหตุการณ์สหรัฐฯโจมตีอิหร่านในครั้งนี้คือ Ted Cruz วุฒิสมาชิกที่กระหายสงครามและยุให้รบ ยังไม่รู้เลยว่าอิหร่านมีพลเมืองเท่าไร มีเชื้อชาติใดบ้าง รู้แต่ว่าต้องทำลายประเทศนี้ให้ราบ 

การที่ Ted Cruz ผู้เคยลงสมัครเป็นประธานาธิบดีไม่รู้เรื่องการเมืองโลก เป็นเรื่องน่ากังวลใจ พอๆ กับรัฐมนตรีกลาโหมไม่รู้ว่าโลกมีประเทศกลุ่มอาเซียน

ชาวตะวันตกจำนวนมากไม่รู้จักอิหร่านเลย ยังคิดว่าอิหร่านเป็นพวกอาหรับ และอาหรับเป็นพวกเลวร้าย ความจริงอิหร่านไม่ใช่อาหรับ ตุรกีก็ไม่ใช่อาหรับ

อิหร่านคือพวกเปอร์เซีย ใช้ภาษาฟาร์ซี เปอร์เซียเป็นอาณาจักรเก่าแก่ของโลก พังไปเพราะพวกมองโกล 

เปอร์เซียเป็นศูนย์กลางวิทยาการของโลกในอดีต ศาสตร์ต่างๆ ที่มีคำว่า 'อัล' คิดค้นโดยพวกเปอร์เซีย เช่น อัลกอริทึม พีชคณิต (Algebra) เป็นต้น

ดีที่อยู่ไกลนะ ไม่งั้นคงโดนบางประเทศเคลมไปแล้ว

เปอร์เซียส่งอิทธิพลไปทั่วโลกในอดีต ลัทธิเม้งก้าแห่ง ดาบมังกรหยก ก็มาจากเปอร์เซีย

ชาวเปอร์เซียที่อพยพมาอยู่สยามตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น เฉกอะหมัด เป็นข้าราชการระดับสูงของไทย

ชาวเปอร์เซียก็คือต้นตระกูลบุนนาค บุรานนท์ ศุภมิตร ศรีเพ็ญ เป็นต้น

อเมริกันมีภาพลบกับพวกอิหร่านเพราะเหตุการณ์อิหร่านจับชาวเมริกัน 66 คนเป็นตัวประกันในปี 1979 หลังจากเกิดปฏิวัติอิหร่านในปีนั้น ราชวงศ์ปาลาวีถูกโค่น ชาห์เรซา ปาลาวีหนีไปสหรัฐฯ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษยึดครองอิหร่าน ปลดชาห์ นายกฯคือ Mohammad Mosaddegh อนุญาตให้บริษัทน้ำมันของอังกฤษเข้าไปหาผลประโยชน์ เขาปกครองจนปี 1953 ก็ถูกสหรัฐฯและอังกฤษล้มผ่านการรัฐประหาร เพราะ Mohammad Mosaddegh ไม่ยอมตะวันตกบางเรื่อง

สหรัฐฯตั้งชาห์ปาลาวีขึ้นมาครองอำนาจ เพราะโปรตะวันตก ตอนนั้นเองบริษัทน้ำมันสหรัฐฯก็เข้าไปในอิหร่าน อิหร่านเป็นประเทศที่ทันสมัยแบบตะวันตก จนเมื่อชาห์เรซา ปาลาวี ถูกโค่น ตั้งแต่นั้นมา สหรัฐฯก็เป็นศัตรูกับอิหร่านอย่างเปิดเผย

เหตุการณ์อิหร่านจับชาวเมริกัน 66 คนเป็นตัวประกันถูกสร้างเป็นหนังเรื่อง Argo ยิ่งตอกย้ำภาพอิหร่านเป็นคนเลวร้าย (หนังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์)

เล่ากันว่าก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 1980 รอนัลด์ เรแกน ส่งคนไปเจรจากับฝ่ายอิหร่านลับๆ ให้ปล่อยตัวประกัน ทำให้เขาชนะ จิมมี คาร์เตอร์ แต่เหตุการณ์นี้ไม่มีใครยอมรับว่าจริง

เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้รู้ว่า เวลาอ่านเหตุการณ์ใดๆ ต้องรู้ประวัติศาสตร์ด้วย
เพราะที่สำคัญกว่า 'what' คือ 'why'

ทรัมป์รับประกัน! รัสเซียจะไม่บุกยุโรปในยุคตน สวนทาง ‘นาโต’ ที่เร่งจัดสรรงบเตรียมรับศึกใหม่

(27 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมนาโตที่กรุงเฮกเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า รัสเซียจะไม่โจมตีกลุ่มนาโต ตราบใดที่เขายังดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยอมรับว่า รัสเซียอาจต้องการขยายอิทธิพลไปไกลกว่ายูเครนในอนาคต 

แม้จะไม่ปฏิเสธความเสี่ยงจากมอสโก ซึ่งทรัมป์ลดทอนน้ำหนักภัยคุกคามของรัสเซีย โดยระบุว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ได้ร้ายกาจหรืออันตรายอย่างที่หลายประเทศเชื่อ แต่เป็นแค่คนที่มีมุมมองหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์โลก ซึ่งคำพูดนี้สวนทางกับความกังวลของหลายประเทศในยุโรปที่เริ่มเตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ของสงครามเต็มรูปแบบระหว่างรัสเซียกับนาโต

ท่าทีที่เบาลงของทรัมป์มีขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรปเริ่มตึงเครียดมากขึ้น เพราะไม่นานก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี เพิ่งเปิดเผยว่า หน่วยข่าวกรองของยูเครนพบหลักฐานว่ารัสเซียกำลังวางแผนโจมตียุโรปอีกระลอก ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินก็เพิ่งประกาศชัดว่า “ยูเครนทั้งหมดเป็นของรัสเซีย” ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ารัสเซียอาจไม่หยุดแค่ยูเครน

ทั้งนี้ ท่ามกลางกระแสคุกคามที่เพิ่มขึ้น ประเทศสมาชิกนาโตจึงเห็นพ้องร่วมกันในการเพิ่มงบกลาโหม โดยตั้งเป้าให้แต่ละประเทศจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงอย่างน้อย 5% ของ GDP ภายในปี 2035 ด้านผู้นำใหม่ของนาโต มาร์ค รุตเต้ (Mark Rutte) ยังเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายมีท่าทีสมจริงต่อภัยจากรัสเซียและจีน ขณะที่เยอรมนีก็เตือนว่า รัสเซียอาจทดสอบความเหนียวแน่นของพันธมิตรนาโตนอกเหนือจากยูเครนในเร็ว ๆ นี้

‘ดร.กอบศักดิ์’ วิเคราะห์นัยยะอัตราภาษี “สหรัฐฯ-เวียดนาม” ชี้ เป็นจุดเปรียบเทียบที่ไทยต้องพยายามทำให้ได้ไม่น้อยหน้า

(3 ก.ค. 68) ‘ดร.กอบศักดิ์’ วิเคราะห์นัยยะอัตราภาษี หลัง “สหรัฐฯ-เวียดนาม” บรรลุการเจรจา ชี้เป็นจุดเปรียบเทียบไทยต้องพยายามให้ได้ไม่น้อยหน้า พร้อมให้กำลังใจทีมไทยแลนด์เจรจาให้ได้รับผลที่ดี

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กว่า นัยยะจากผลการเจรจาของสหรัฐกับเวียดนาม ข้อสรุปล่าสุดสำหรับเวียดนามที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศออกมาเมื่อคืน จะเป็น 1.จุดเปรียบเทียบที่ไทย ต้องพยายามให้ได้ ไม่น้อยหน้า 2.ต้นแบบและบรรทัดฐานให้กับทุกประเทศที่เหลือ โดยข้อตกลงดังกล่าวมีตัวเลขสำคัญ 3 ตัวเลข 0% 20% และ 40%

โดย 0% สำหรับสินค้าสหรัฐที่จะส่งมาที่เวียดนาม ที่ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไหนก็ตามที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา จะสามารถส่งมาที่เวียดนามโดยไม่โดนภาษีศุลกากร

“เรื่องนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการพูดถึงชัด ๆ แต่คำว่า Total Access คงหมายรวมไปถึงว่า จะต้องไม่มี Non-tariff Barriers ต่าง ๆ ที่เวียดนามจะแอบทำด้วย ซึ่งสหรัฐคงจะแจ้งไทย (และคู่เจรจาคนอื่น ๆ) เช่นกันว่า เขาต้องการ 0% และ Total Access ที่ไม่มีการกีดกันอื่น ๆ สำหรับสินค้าสหรัฐ”

ขณะที่คิด 20% สำหรับสินค้าเวียดนามทุกอย่างที่ส่งออกมาที่สหรัฐ ตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะต่อไปจะเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่าง ๆ ที่สหรัฐขาดดุลด้วย และเป็นจุดเปรียบเทียบสำคัญที่ไทย (และประเทศอื่นในเอเชีย) ต้องทำให้ได้ ให้ดีกว่าเวียดนาม หรืออย่างน้อย ไม่น้อยหน้าเวียดนาม

“หากจะจบสูงกว่าตัวเลขนี้ ก็ต้องให้ได้ไม่เกิน 25% ไม่เช่นนั้น บริษัทส่งออกในไทยก็จะเสียเปรียบคู่แข่งคนสำคัญของเรา บริษัทที่กำลังคิดว่าจะย้ายฐานมาที่ไทย ก็จะคิดหนักขึ้น ว่าไปเวียดนามดีกว่าไหม”

ส่วน 40% สำหรับสินค้าจีน (หรือประเทศอื่น ๆ) ที่จะแอบส่งมาให้เวียดนาม แล้วส่งต่อไปที่สหรัฐ โดยอัตรานี้จะเป็นข้อเรียกร้องที่สหรัฐทำกับทุกประเทศที่เจรจาด้วย โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่เป็นจุดส่งผ่านสำคัญ รวมถึงกับไทยด้วย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักไก่ ไม่ให้มีช่องที่จะเอาสินค้าจีนเข้ามา แล้วส่งต่อไปสหรัฐแบบ Transshipment เพื่อรับสิทธิภาษี 20% ของเวียดนาม

ซึ่งการเตรียมการลักษณะนี้ มีนัยยะต่อไปว่า ภาษีกับจีน ที่สหรัฐมีอยู่ในใจ และจะคิดในท้ายที่สุด คงใกล้ ๆ กับตัวเลขนี้

ทั้งนี้ หากลองกลับไปเปรียบเทียบกับกรณีอังกฤษ ที่ได้เจรจาเบื้องต้นไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ก็จะทำให้เห็นภาพชัดเจน โดยอังกฤษยอมให้สหรัฐ 0% สำหรับสินค้าต่างๆ ที่สหรัฐส่งมา หมายความว่า สหรัฐคงมีอยู่ในใจ ที่จะใช้อำนาจต่อรองจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ของตนเอง ในการเปิดประตูการค้าให้กับสหรัฐเอง เพื่อนำไปสู่ Free Trade / Free Access สำหรับสินค้าสหรัฐในทุกประเทศทั่วโลก

จะได้บอกบริษัทที่มาลงทุนที่สหรัฐว่า สินค้าที่ผลิตในสหรัฐ (อย่างน้อยเมื่อเทียบกับยุโรป หรือประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ) จะสามารถส่งไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด

ขณะเดียวกัน อังกฤษยอมให้สหรัฐคิดภาษีนำเข้า 10% ซึ่งตัวเลข 10% นี้ คงเป็นตัวเลขที่สหรัฐมีในใจ สำหรับประเทศที่สหรัฐเกินดุลด้วย

10% สำหรับประเทศเกินดุล และประมาณ 20% สำหรับประเทศที่สหรัฐขาดดุลด้วย คงจะกลายเป็น Benchmark ที่เป็นกรอบในการเจรจาของทีมสหรัฐ

เพราะตัวเลขนี้ จะช่วยสร้างรายได้ให้สหรัฐจากภาษีศุลกากรไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ในเดือนพฤษภาคม เก็บได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์) ช่วยลดการขาดดุลการคลัง ช่วยในการลดภาษีของ One Big Beautiful Bill ที่กำลังจะออกมา ช่วยปรับสมดุลทางการค้าของสหรัฐ นอกจากนี้ ช่วยสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมให้กับบริษัทขยายการลงทุนในสหรัฐ เพื่อช่วยสร้างงานในประเทศ

ส่วนจีน (คู่ต่อสู้สำคัญของสหรัฐ ที่กำลังทาบรัศมี) ก็คงจะต้องจ่ายมากกว่าคนอื่นๆ 10% จาก Reciprocal Tariffs 20% จากกรณีของ Fentanyl และ 25% เดิม รวมแล้วอย่างน้อย 55% ทั้งนี้ สินค้าจีนที่แอบส่งมาผ่านประเทศที่ 3 ก็จะโดนตรวจเข้มและโดนภาษีอย่างน้อย 40% ซึ่งในจุดนี้ คงต้องปรับต่อไป เพราะว่าสินค้าขนาดเล็กของจีน (ราคาต่ำกว่า 800$) ที่ส่งไปสหรัฐ ขณะนี้โดนภาษี 54% ยังสูงกว่าการหลีกเลี่ยงผ่านประเทศที่ 3 ที่ตกลงกับเวียดนามล่าสุด

“ทั้งหมด จะเป็นข้อสรุปในรอบแรกของสงครามการค้าโลก ที่จะนำไปสู่กรอบใหม่และสมดุลใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ สามารถเจรจาให้ได้ผลที่ดี”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top