Thursday, 3 July 2025
สหรัฐฯ

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศมาตรการจำกัดวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย

(15 มี.ค. 68) มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศมาตรการจำกัดวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย จากกรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์ที่หลบหนีเข้าเมือง 40 คนกลับจีน ซึ่งทางสหรัฐฯ อ้างว่าพวกเขาเสี่ยงที่จะเผชิญบทลงโทษรุนแรง

ถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับความพยายามของจีนที่จะกดดันรัฐบาลชาติต่างๆ ให้ส่งตัวชาวอุยกูร์และคนกลุ่มอื่นๆ กลับไปยังจีน "ที่ซึ่งพวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานและการบังคับสูญหาย"

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้แสดงเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ ที่ต้องการโน้มน้าวไทยและประเทศอื่นๆ ให้งดเว้นการเนรเทศในลักษณะเช่นนี้

ทั้งนี้ ประกาศของ รูบิโอ ก็ไม่ได้มีการระบุรายชื่อเจ้าหน้าที่ไทยที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

การส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 ชีวิตซึ่งอาศัยอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยมานานกว่า 10 ปีมีขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้ย้ำเตือนไทยหลายครั้งว่า คนเหล่านี้เสี่ยงตกเป็น้หยื่อการทรมาน การปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ และอาจได้รับอันตรายชนิดแก้ไขกลับคืนไม่ได้หากถูกส่งกลับไปยังแดนมังกร

รอยเตอร์รายงานเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ว่า แคนาดาและสหรัฐฯ เคยยื่นข้อเสนอรับชาวอุยกูร์ 48 คนจากไทย ทว่าไทยไม่ดำเนินการใดๆ เนื่องจากเกรงว่าจะมีปัญหากับจีน

"ผมตัดสินใจใช้มาตรการนี้ทันทีด้วยการจำกัดการออกวีซ่าแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจกับการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ก.พ." 

รูบิโอ ระบุในคำแถลง

"เนื่องจากจีนมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) และก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติต่อชาวอุยกูร์มานานแล้ว เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกอย่าได้บังคับส่งชาวอุยกูร์หรือคนกลุ่มอื่นๆ กลับไปยังจีน" 

คำแถลงระบุด้วยว่า มาตรการจำกัดวีซ่าของสหรัฐฯ อาจจะถูกขยายครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวของบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรด้วย 

รัฐบาลไทยออกมาแถลงปกป้องการส่งกลับชาวอุยกูร์ โดยยืนยันว่าได้ทำตามกฎหมายและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนทุกประการ ขณะที่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังไม่ออกมาให้ความเห็นต่อคำประกาศของ รูบิโอ

แม้สหรัฐฯ จะเคยใช้มาตรการคว่ำบาตรกับไทยมาแล้วในอดีต รวมถึงระดับความช่วยเหลือด้านการทหารหลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น และยังพุ่งเป้าเจาะจงไปยังบุคคลและบริษัทของไทยที่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรประเทศที่สาม ทว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนหนึ่งระบุว่า เขายังไม่เคยเห็นการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทยเช่นนี้มาก่อน

เมอร์เรย์ ไฮเบิร์ต (Murray Hiebert) ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า เขาไม่เคยเห็นสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยในลักษณะเช่นนี้

ไฮเบิร์ต ยังชี้ว่า ไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างเซนซิทีฟกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทว่าคราวนี้ปฏิกิริยาต่างๆ อาจจะไม่มาก เนื่องจากไทยยังมีความเสี่ยงที่จะถูกประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งรีดภาษีสินค้านำเข้าในฐานะประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ

"พวกเขาอาจเลือกที่จะสงบปากสงบคำไว้ก่อน" ไฮเบิร์ต ระบุ "พวกเขาถูกหมายหัวอยู่แล้วเนื่องจากเป็นชาติที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 11 และยังไม่แน่ว่าไทยจะรอดพ้นจากคำสั่งรีดภาษีของ ทรัมป์ ในวันที่ 2 เม.ย. นี้หรือไม่"

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ที่ผ่านมาวอชิงตันพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงกับไทย เพราะเกรงว่าจะยิ่งทำให้ไทยที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่หันไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นอีก

ด้านกลุ่ม Campaign for Uighurs ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือชาวอุยกูร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออกมาชื่นชมคำประกาศของ รูบิโอ และรัฐบาล ทรัมป์ โดยชี้ว่า "นี่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า กลุ่มคนที่เอื้อให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับผลจากการก่ออาชญากรรมนั้น"

รูบิโอ โดนจีนขึ้นบัญชีดำ ปม!! อุยกูร์ ตั้งแต่ปี 2020 ก็เลยระบายความคับแค้น ผ่านการลงโทษ ไทยแลนด์ แบบที่ตัวเองก็โดน

(15 มี.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า …
.
 “ รัฐบาล #จีน ขึ้นบัญชีดำ คุณ #รูบิโอ รมว กต ของรัฐบาลทรัมป์คนนี้เรื่อง #อุยกูร์ มานานแล้วตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ. 2563) ตอนที่ แกเป็นวุฒิสมาชิกจากฟลอริดาแล้วนะคะ เอิ่ม.. แกก็เลยถือโอกาสนี้ระบายความคับแค้นด้วยการกระทำแบบที่คล้ายกันนี้กับ #ไทยแลนด์ บ้าง ใช่มั้ยหนอ?

Stephen Capus ซีอีโอของ RFE/RL ลั่น!! ‘อเมริกา’ ส่งของขวัญชิ้นโตให้ ‘ศัตรู’ เหตุ!! ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หั่นงบ ‘USAID’ มอง!! สื่อเสรีภาพ ต้องได้รับการสนับสนุน

(16 มี.ค. 68) โดมิโน่สื่อสายทุนจบเห่! RFE/RL โดนหั่นงบฯ หลัง USAID เดี้ยงด้วยน้ำมือทรัมป์

เมื่อวานเดินเล่นไถฟีดไปเรื่อยๆ เจอข่าวชวนตะลึงเข้าให้—Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL) ออกมาคร่ำครวญว่าถูกตัดงบสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ แบบสายฟ้าแลบ! อ่านแล้วก็อดสะกิดใจไม่ได้ว่านี่มันอีกหนึ่งโดมิโน่เอฟเฟ็คจากการที่ USAID ถูกทรัมป์ซอยเละตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้วนี่นา

RFE/RL นี่ไม่ใช่ใครที่ไหน สื่อที่ได้กินอิ่มกินดีจากงบประมาณของรัฐสหรัฐฯ มาตลอด 75 ปี เป็นกระบอกเสียงเสรีประชาธิปไตยสไตล์วอชิงตันที่ส่งตรงไปถึงประเทศแถบยุโรปตะวันออก รัสเซีย จีน และตะวันออกกลาง ตอนสงครามเย็นก็ทำหน้าที่ตีแผ่ความจริง (ในเวอร์ชันที่สหรัฐฯ อยากให้โลกเห็น) ใส่พวกคอมมิวนิสต์ และแม้ว่าสงครามเย็นจะจบไปนานแล้ว RFE/RL ก็ยังคงมีงบให้ได้โลดแล่นต่อไปภายใต้ข้ออ้างว่า “สื่อเสรีภาพต้องได้รับการสนับสนุน”

แต่พอทรัมป์กลับมาทวงคืนเวทีการเมือง ปฏิบัติการสับงบฯ ก็ตามมาเป็นของแถม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องนี้ USAID ก็โดนฟันมาก่อนหน้าแล้ว จะให้เหลืออะไรอีกล่ะ?

RFE/RL ลั่น: ตัดงบเรา = ของขวัญให้จีน-รัสเซีย

Stephen Capus ซีอีโอของ RFE/RL รีบออกมาจุดพลุทันที บอกว่าการถูกตัดงบนี้ เป็นเหมือนการส่งของขวัญชิ้นโตให้ศัตรูของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น จีน รัสเซีย อิหร่าน หรือผู้นำเผด็จการแห่งมินสก์ เพราะพวกนั้นคงจะฉลองกันยกใหญ่ที่สื่อขาประจำของวอชิงตันกำลังล้มระเนระนาด

Capus ไม่ได้พูดเล่น เพราะที่ผ่านมาสื่อสายทุนเหล่านี้ก็มีบทบาทชัดเจนในการเล่นเกมสงครามข้อมูลข่าวสาร ไล่ขุดแฉรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ ตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน ยันการทุจริตแบบข้ามชาติ แต่พอโดนตัดงบเอง ดันออกมาโอดครวญซะอย่างนั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า เฮ้ย แล้วตอนที่ไปเจาะข่าวประเทศอื่นเขา ทำไมไม่พูดถึงแหล่งทุนของตัวเองบ้าง? พอตัวเองโดนบ้าง กลับมาเรียกร้องเสรีภาพซะงั้น!

เมื่อ USAID เดี้ยง สื่อสายทุนก็ขาลง

มองย้อนกลับไปหน่อย USAID ไม่ใช่แค่หน่วยงานพัฒนา มันเป็น ท่อส่งเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนสื่อ นักเคลื่อนไหว และ NGOs ทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ต้องบอกนะว่าเงินไหลไปไหนบ้าง พอ USAID โดนทรัมป์ฟันงบ ก็เหมือนปิดก๊อกน้ำ ทำให้สื่อหลายเจ้าที่เคยพึ่งพางบนี้ต้องดิ้นรนหาแหล่งทุนใหม่

RFE/RL ก็คือหนึ่งในนั้น และตอนนี้ดูเหมือนว่าวิกฤตนี้จะมาถึงจุดที่พวกเขาเองก็ ต้องเผชิญความเป็นจริงว่าหากไม่มีรัฐอุ้ม ก็อยู่ลำบาก
คำถามสำคัญที่น่าสนใจคือ สื่อเสรีแบบนี้ หากไม่มีงบจากรัฐ ยังเสรีได้อยู่ไหม? หรือจริงๆ แล้วมันคือ “สื่อเสรีภาพที่มีเงื่อนไข” มาตลอด
โดมิโน่ต่อไปจะเป็นใคร?

VOA (Voice of America) ก็คงมีเสียวๆ อยู่บ้าง เพราะเป็นอีกเจ้าที่ใช้งบสนับสนุนจากรัฐสหรัฐฯ เช่นกัน จะว่าไปแล้ว ในยุคที่โซเชียลมีเดียครองเมือง สื่อที่อาศัยทุนรัฐเพื่อทำข่าวนโยบายต่างประเทศ อาจต้องเตรียมใจเผชิญยุคที่ “อเมริกาต้องมาก่อน” อย่างเต็มตัวแล้วจริงๆ
ว่าแต่… หรือพวกเขาจะหาทางออกใหม่โดยไปขอทุนจากที่อื่นแทน? หรือถ้าหมดยุคของสื่อสายทุน รัฐบาลสหรัฐฯ จะใช้ช่องทางไหนในการขยายอิทธิพลทางข้อมูลข่าวสาร? คำตอบอาจอยู่ในอนาคตที่กำลังใกล้เข้ามา…

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ใจป้ำ!! เสนอให้จ่าย ‘ค่าล่วงเวลา’ สองนักบินอวกาศ ที่ติดอยู่ในอวกาศ!! นาน 9 เดือน

(23 มี.ค. 68) หลังจากที่สองนักบินอวกาศ Barry 'Butch' Wilmore และ Sunita 'Suni' Williams เดินทางกลับมาสู่โลกจากที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือน โดยแผนการเดินทางที่กำหนดเอาไว้เพียง 8 วันเท่านั้น  

หลังจากออกเดินทางสู่ ISS เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 เพื่อ 'การเดินทางระยะเวลา 8 วัน' แต่ในที่สุดแล้ว Wilmore และ Williams ก็ลงเอยด้วยการกลับคืนสู่พื้นโลกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มีนาคม 2025) แม้ว่าทั้งคู่จะถูกบังคับให้ขยายเวลาในการอยู่ในอวกาศโดยไม่มีทางเลือก แต่โฆษกของ NASA ระบุว่า "เมื่อนักบินอวกาศของ NASA อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พวกเขาจะได้รับเงินเดือนจากการทํางาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาหรือวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดอื่น ๆ สําหรับเวลาในอวกาศที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้”

อย่างไรก็ตาม การที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือนย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของนักบินอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แผนการ จิตใจ และหรือสุขภาพร่างกาย สาเหตุที่ทั้งคู่ไม่สามารถกลับสู่โลกได้นั้น เป็นผลมาจากความผิดปกติของยานอวกาศที่จะนำทั้งคู่กลับมาและต้องได้รับการช่วยเหลือจากยาน SpaceX Crew Dragon โฆษกของ NASA กล่าวเสริมว่า "พวกเขายังอยู่ในภารกิจชั่วคราวระยะยาว (Temporary Duty : TDY) และได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ตามจำนวนวันที่พวกเขาอยู่ในอวกาศ ซึ่งเบี้ยเลี้ยง TDY สําหรับการเดินทางไปยังสถานที่ใด ๆ ในปัจจุบันคือ วันละ $5"

Cady Coleman อดีตนักบินอวกาศของ NASA เปิดเผยว่า เธอเคยได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY 'ประมาณ $4 ต่อวัน' จากสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน โดยอิงจากภารกิจ 159 วันของเธอในปี 2010-11 ซึ่งเธอได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ประมาณ $636 ต่อมาลูกสาวของ Wilmore ได้โพสต์ TikTok อ้างว่า พ่อของเธอถูกกําหนดให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY $5 พิเศษ รวมเป็น $1,430 บวกกับเงินเดือนคร่าว ๆ อีกประมาณ '$152,258.00 ต่อปี' 

ประธานาธิบดี Trump ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2025 ว่า นับเป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินว่านักบินอวกาศไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา และหาก NASA ทำไม่ได้ เขายินดีที่จะจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้นักบินอวกาศทั้งสองด้วยเงินส่วนตัว ประธานาธิบดี Trump บอกว่า: "ไม่มีใครเคยบอกถึงเรื่องนี้กับผมเลย ถ้าจําเป็นผมจะใช้เงินส่วนตัวของผมจ่ายเอง” นักบินอวกาศทั้งคู่กลับบ้านหลังจากผ่านไป 286 วัน โดยประธานาธิบดี Trump ได้ขอให้ Elon Musk 'ไปรับ' Wilmore และ Williams ผู้ที่ประธานาธิบดี Trump อ้างว่าถูก 'ทอดทิ้งโดยฝ่ายบริหารของ Biden ในอวกาศ' ซึ่งตอนนั้น ประธานาธิบดี Trump ได้โพสต์สรุปใน Truth Social ของเขาว่า "พวกเขารออยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มาหลายเดือนแล้ว Elon จะดำเนินการเร็ว ๆ นี้ หวังว่าทุก ๆ อย่างจะเรียบร้อยและปลอดภัย ขอให้โชคดีนะ Elon!!!" 

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เล็งควบรวม!! ‘แคนาดา’ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา อ้าง!! จะดีกว่าเดิม ถ้ารวมชาติกัน นายกฯ แคนาดา ลั่น!! ‘ไม่มีวัน’

(23 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เน้นย้ำอีกครั้งว่า เขาจริงจังเกี่ยวกับการผนวกแคนาดาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา ระหว่างให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความเห็นล่าสุดนี้มีขึ้นท่ามกลางสงครามการค้าที่ลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างเพื่อนบ้าน 2 ชาติ และมีขึ้นตามหลังความเห็นหลายต่อหลายรอบของทรัมป์ ที่อ้างว่า แคนาดา จะดีกว่าเดิม หากเข้ามาเป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ในวันศุกร์ (21 มี.ค.) ทรัมป์ เน้นย้ำคำกล่าวอ้างของเขาก่อนหน้านี้ ที่ว่าสหรัฐฯ อุดหนุนเพื่อนบ้านทางเหนือแห่งนี้หลายแสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปี โดยชี้ถึงการค้าทวิภาคีอันมหาศาล ที่ไม่มีความสมดุลกันระหว่าง 2 ชาติ

"เราต้องสูญเสียเงินไปมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในการอุดหนุนเพื่อพยุงไม่ให้แคนาดาล้มลง" เขากล่าว พร้อมระบุว่าความจริงแล้ว สหรัฐฯ ไม่ต้องการสินค้าส่งออกต่างๆ ของแคนาดา อย่างเช่นรถยนต์ ไม้แปรรูป และพลังงาน

มาร์ค คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา ซึ่งก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทน จัสติน ทรูโด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ระบุว่าแคนาดาจะไม่มีวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ "เราจะไม่มีวันเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในแนวทางไหนหรือรูปแบบใดก็ตาม" พร้อมระบุตัวตนความเป็นชาติของแคนาดาและเศรษฐกิจ ทำให้แนวคิดของทรัมป์ ไม่มีความสมเหตุสมผล

อดีตนายธนาคารกลางรายนี้ประกาศว่าแคนาดาจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และเน้นย้ำว่าแคนาดาจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเสาะหาคู่หูทางการค้าทางเลือก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ออตตาวา กำหนดมาตรการรีดภาษี 25% สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านดอลาร์ ตอบโต้มาตรการรีดภาษี 25% ที่ประกาศโดยทรัมป์ ทั้งนี้ ทรัมป์ ถอยกลับจากการกำหนดมาตรการรีดภาษีระดับ 25% ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก แคนาดา ยกเลิกแผนปรับเพิ่มภาษีพลังงานนำเข้าจากสหรัฐฯ 25% เช่นกัน

คาร์นีย์ เน้นย้ำในถ้อยแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.) ว่าออตตาวาพร้อมนั่งลงและหารือเกี่ยวกับสงครามการค้ากับวอชิงตัน "เมื่อมีการแสดงออกถึงความเคารพต่อแคนาดา ในฐานะชาติอธิปไตยหนึ่งๆ"

‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ แนะ!! ‘ไทย’ ควรสงวนท่าทีเจรจากับ ‘สหรัฐฯ’ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอน ‘ทรัมป์’ ถอย

(7 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ แนะไทยสงวนท่าทีเจรจากับสหรัฐฯ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอนทรัมป์ถอย ยันมีกองทุน 3 พันล้านดูแลผู้ส่งออก

การรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ได้ผล เนื่องจากทรัมป์มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยไม่สนใจแนวทางเดิมๆ 

ทีมงานไทยจึงประเมินสถานการณ์และเสนอแนวทางเชิงรุก คือ แทนที่จะรีบลดภาษีหรือให้สิ่งตอบแทนทันที ควรมุ่งสร้างพันธมิตรกับภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ โดยเสนอซื้อ วัตถุดิบทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มาแปรรูปเป็นอาหารส่งออกทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเตรียม "บันได" หรือข้อเสนอผ่อนปรนอื่นๆ ไว้ แต่จะยื่นข้อเสนอเมื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณพร้อมเจรจา หรือเมื่อนโยบายของทรัมป์เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง 

การเจรจาควรดำเนินการตามลำดับขั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR) ก่อน ถึงระดับรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ ไทยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบด้วย

ศุภวุฒิ อธิบายว่าหลายประเทศที่รีบเจรจากับสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทรัมป์ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลการค้าอย่างจริงจัง แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างอังกฤษ ก็ยังถูกขึ้นภาษี 

การตัดสินใจของทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การเจรจาในช่วงแรกเป็นไปได้ยาก 

ทีมยุทธศาสตร์ของไทย นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์และมี ศุภวุฒิ และ พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา ประเมินว่าทรัมป์มีเหตุผล 3 ประการในการขึ้นภาษี คือ 1) มองว่าการขาดดุลคือการถูกเอาเปรียบ 2) ต้องการหารายได้ชดเชยการลดภาษีคนรวย 3) ต้องการดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ

ดังนั้น แทนที่จะรีบเจรจาและให้สิ่งตอบแทนโดยเปล่าประโยชน์ ไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ "รอจังหวะ" และ "สร้างพันธมิตร" โดยเสนอตัวเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่จากสหรัฐฯ (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) ซึ่งไทยผลิตไม่พออยู่แล้ว นำมาแปรรูปเป็นอาหารส่งออก แนวทางนี้จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

พร้อมกันนี้ ไทยเตรียมมาตรการผ่อนปรนอื่นๆ เช่น การลดภาษีสินค้าบางรายการ หรือการร่วมลงทุน/นำเข้า LNG ไว้เป็น "บันได" ให้สหรัฐฯ ลง 

หากนโยบายภาษีเริ่มส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง (เช่น เงินเฟ้อ หุ้นตก) และสหรัฐฯ พร้อมจะเจรจามากขึ้น การเจรจาควรเริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR ผ่านกรอบ TIFA) ก่อนเพื่อกรุยทางในรายละเอียด แล้วค่อยให้ระดับรัฐมนตรีตัดสินใจในประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ 

การเดินทางไปสหรัฐฯของคณะทำงานจึงเป็นการไป "พบปะหารือ" สร้างแนวร่วม ไม่ใช่การ "เจรจา" ในทันที

‘ปีเตอร์ นาวาร์โร’ ที่ปรึกษาทรัมป์ ปัดตกข้อเสนอของเวียดนาม แม้ยื่นลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ก็ยังไม่พอ แนะต้องแก้ที่ ‘กลโกงทางการค้า’

(9 เม.ย. 68) ความพยายามของเวียดนามในการเสนอให้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 46% จากรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะไม่เป็นผล 

เมื่อปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าของทำเนียบขาว ออกมาตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า ข้อเสนอของเวียดนาม “ไม่มีความหมายอะไรเลย”

ความคิดเห็นของนาวาร์โรมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เปิดเผยผ่านโพสต์ในแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่า โต เลิม เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้เสนอให้เวียดนามลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีใหม่จากสหรัฐฯ

ต่อมาในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อวันจันทร์ นาวาร์โรไม่เพียงแค่ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว แต่ยังกล่าวหาว่าเวียดนามใช้ “กลโกงทางการค้า” หลายรูปแบบ เช่น การเปิดช่องให้จีนหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยส่งสินค้าผ่านเวียดนาม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้า

“ดูอย่างเวียดนาม เมื่อพวกเขาเสนอจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันทั้งหมด สำหรับเราแล้วข้อเสนอนี้ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง” นาวาร์โรกล่าวอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเสริมว่า “ทุกประเทศโกงเรา แค่วิธีต่างกันเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม นาวาร์โรได้ “ปรับน้ำเสียง” เล็กน้อยในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ โดยยอมรับว่าข้อเสนอของเวียดนามอาจถือเป็น “การเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ” แต่ยังห่างไกลจากการสร้างความน่าเชื่อถือหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นอุปสรรคในการค้าระหว่างสองประเทศ

คำให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ตอกย้ำแนวทางการค้าที่แข็งกร้าวของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งยังคงมุ่งเน้นการกดดันประเทศคู่ค้าให้ลดความไม่สมดุลทางการค้า และเตือนเวียดนามว่าการยื่นข้อเสนอเพียงผิวเผินอาจไม่เพียงพอในการหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีที่เข้มงวดจากวอชิงตัน

‘ราคาทอง’ พุ่ง!! ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สะท้อนยุคเปลี่ยนผ่านของ ‘ระบบดอลลาร์สหรัฐฯ’ หลายประเทศ หันไปถือทอง มองเป็น ‘สกุลเงินที่แท้จริง’ ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

(12 เม.ย. 68) สำนักข่าว Sputnik International รายงานว่า ราคาทองคำที่พุ่งทะลุระดับ 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงผลจากความผันผวนระยะสั้นของตลาด แต่เป็นสัญญาณสะท้อนความสั่นคลอนของระเบียบการเงินโลกที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรง

รายงานวิเคราะห์ว่า การคว่ำบาตร การตั้งกำแพงภาษี และความปั่นป่วนในยุคทรัมป์ ได้ทำให้หลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับความมั่นคงของเงินดอลลาร์ พร้อมทั้งหันไปถือครอง ทองคำ ซึ่งถูกยกให้เป็น 'สกุลเงินที่แท้จริง' ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

Claudio Grass นักเศรษฐศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับสปุตนิกว่า หลังสงครามเย็น โลกเคยรวมศูนย์อยู่กับระเบียบที่นำโดยสหรัฐฯ และดอลลาร์ได้รับอานิสงส์อย่างมาก แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระแส 'แยกตัวออก' ไปสู่ความเป็นระเบียบหลายขั้ว (multipolarity) ที่ลดบทบาทของดอลลาร์ลง

Grass ระบุว่า เรากำลังเข้าสู่ 'ยุคเปลี่ยนผ่านของระบบ'  (system transition) ซึ่งจะเต็มไปด้วยเงินเฟ้อ ความไม่มั่นคง และความสูญเสียทางการเงิน พร้อมเสนอแนวคิดว่า “ประชาชนควรเป็นธนาคารกลางของตนเอง ด้วยการถือทองคำจริงและเงินแท่งไว้นอกระบบ”

ขณะเดียวกัน Tom Luongo นักวิเคราะห์การเงินอิสระกล่าวว่า ความผันผวนของโลกในขณะนี้เป็นสาเหตุให้คนหันกลับมามอง 'ทองคำ' ในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากระบบที่กำลังเปลี่ยนโฉม

ทั้งนี้ สปุตนิกยังรายงานเสริมว่า ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรายย่อยจำนวนมาก ต่างเร่งสะสมทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX risk) ในช่วงที่ความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินตะวันตกเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์เตือนว่า เราอาจอยู่ในช่วงต้นของ 'สงครามการเงิน' ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ยังรวมถึงความตึงเครียดกับยุโรป ที่พยายามตอบโต้การผลักดันนโยบายดอกเบี้ยต่ำและการลดการพึ่งพาระบบดอลลาร์ของทรัมป์

รายงานของสปุตนิกสรุปว่า ราคาทองที่พุ่งสูงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปฏิเสธดอลลาร์โดยตรง แต่เป็นการ 'ป้องกันตัว' จากความวุ่นวายของระบบที่กำลังถูกจัดระเบียบใหม่

ระเบียบโลกใหม่!! อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ‘จีน’ อาจเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ หาก ‘อเมริกา’ ยังเล่นบท ‘นักเลงภาษี’ อาจต้องตกเป็นรอง ในเวทีโลก

(12 เม.ย. 68) ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่สนใจแล้วว่าโลกหมุนทางไหน เพราะตอนนี้เขาหยิบค้อนภาษีมาทุบใส่เกือบทุกประเทศแบบไม่แยกแยะ จีนโดนหนักสุดถึง 145% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็โดนหางเลขกันถ้วนหน้า การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจึงทวีความดุเดือดแบบไม่มีเบรก

ผลคืออะไร? ระเบียบโลกที่เราเคยรู้จักมาตลอด 80 ปีเริ่มสั่นคลอนอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์บางคนถึงกับฟันธงว่ามัน "ตายไปแล้ว" และสิ่งใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น... มีจีนเป็นศูนย์กลาง

Cameron Johnson ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนจากเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า “ถ้าคุณยังไม่กระโดดขึ้นรถไฟสายเอเชีย ก็เตรียมตัวถูกทิ้งไว้กลางทางได้เลย”

จีนในวันนี้ไม่ใช่แค่ ‘โรงงานโลก’ แต่กำลังกลายเป็นคู่ค้าที่ประเทศต่าง ๆ หันไปหาด้วยความจำเป็น (หรือสิ้นหวัง) โดยเฉพาะในวันที่อเมริกากลายเป็น ‘พ่อค้าเร่’ ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

แผนยุทธศาสตร์สายพานและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนก็เหมือนกล่องเครื่องมือที่จีนหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ และเงินทุนที่หลายประเทศใฝ่ฝัน ขณะที่อเมริกายืนกอดอกบอกให้ใครต่อใคร "มาลงทุนในบ้านเราแทน"

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลับกลายเป็นโอกาสทองให้จีนได้ขยับบทบาท ยิ่งเมื่อประเทศในเอเชียเริ่มจับมือกันแน่นขึ้น ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพิ่งจัดประชุมร่วมกันครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ฝั่งยุโรปเองแม้จะยังไม่ถึงขั้น ‘หวานชื่น’ กับจีน แต่ก็เริ่มขยับเข้าใกล้มากขึ้น เมื่อประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนายกรัฐมนตรีจีนจับสายตรงคุยกัน หารือความร่วมมือ และพยายามประคองความสัมพันธ์ให้ ‘มั่นคงต่อเนื่อง‘

ส่วนแคนาดา? เลือกแนวทาง ‘เสี่ยงต่ำ’ รอดูท่าทีอยู่ห่าง ๆ แบบไม่กล้าเดินเข้าหา แต่ก็ไม่อาจเมินจีนได้เสียทีเดียว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยอร์คบอกว่า “จะมองข้ามจีนในโลกยุคนี้ ถือว่า...พลาด”

สรุป: โลกยุคใหม่อาจไม่มีผู้นำคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่หลายขั้วอำนาจลุกขึ้นมาเขียนกติกาใหม่ และถ้าอเมริกายังเล่นบทนักเลงภาษีต่อไป อาจจะต้องทำใจกับบทบาทพระรองในฉากสุดท้ายของเวทีโลกใบนี้

ชายชาวเพนซิลเวเนีย ถูกตั้งข้อหาขู่ฆ่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังโพสต์!! เราแค่ต้องเริ่มฆ่าคน ปฏิวัติอเมริกา 2.0

(12 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ที่ #สหรัฐฯ ชายชาวเพนซิลเวเนียถูกตั้งข้อหาขู่ฆ่าทรัมป์

Shawn Monper หรือที่เรียกกันว่า Mr. Satan ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากรัฐบาลกลางฐานขู่จะลอบสังหาร Trump, Elon และหน่วยปฏิบัติการทั้งหมดของ Trump

เขาโพสต์ว่า “ไม่ล่ะ เราแค่ต้องเริ่มฆ่าคน…” และสัญญาว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติอเมริกา 2.0

FBI เรียกว่าการกระทำนี้ว่าการก่ออาชญากรรมต่อรัฐบาลกลาง

ขณะนี้เขาต้องเผชิญกับโทษจำคุกอย่างหนักจากสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นโพสต์ที่ ‘ไร้สาระ’

คำเตือน: การขู่ฆ่าทางออนไลน์ไม่ถือเป็นเสรีภาพในการพูด แต่เป็นความโง่เขลาเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top