Wednesday, 26 June 2024
ศรีสะเกษ

'กองทุนหมู่บ้าน' กระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิดของประชานิยม เมื่อคนกู้ชักดาบ ไม่มีเงินจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ใครซวย?

นางวาสนา สมพงษ์ อายุ 58 ปี อดีตคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหนองเรือ หมู่ 6 ตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร้องทุกข์กับสื่อต่าง ๆ ว่า ตนให้สมาชิกและคณะกรรมการกองทุนฯ กว่า 50 คน กู้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้านฯ รวมกว่า 3.7 ล้านบาท แล้วไม่มีใครชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย ส่งผลทำให้ตนต้องถูกธนาคารยึดทรัพย์ที่ดินทำกินของตนเอง นำไปเตรียมขายทอดตลาด ทั้งที่มูลหนี้ดังกล่าวไม่ใช่มูลหนี้ที่ตนเองก่อขึ้น จึงทุกข์ใจหนักจนต้องเข้าร้องทุกข์ต่อสื่อมวลชน เพื่อเป็นสื่อกลางขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ

นางวาสนา เล่าว่า เมื่อปี 2561 ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหนองเรือ ซึ่งมีคณะกรรมการฯ รวมทั้งคณะ 10 คน และมีสมาชิกทั้งหมด 53 คน ในขณะนั้นคณะกรรมการและสมาชิกต่างก็ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากกองทุน รายละ 10,000-30,000 บาท โดยช่วงแรก ๆ ก็มีการคืนต้นจ่ายดอกครบถ้วน จนกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นระดับ 3 A+ 

ในเวลาต่อมาธนาคารออมสินได้ให้ยอดเงินกู้เพิ่มอีกเป็นเงิน 2 ล้านบาท จึงมีคณะกรรมการพร้อมทั้งสมาชิกเข้ามาทำสัญญากู้ยืมเงินต่อ บางคนกู้ยืมเงินจากกองทุนหลักหมื่น บางรายก็หลักแสน จากนั้นคณะกรรมการชุดตนก็หมดวาระลง และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งต่อมาต่างก็ประสบปัญหาตอนโควิด19 ระบาด อีกทั้งเจอกับปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ ส่งผลทำให้สมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเกิดปัญหาติดขัดด้านการเงิน ทำให้เริ่มไม่มีเงินจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กระทั่งตนได้สำรองเงินตัวเองสำรองจ่ายให้กับสมาชิกไปก่อน

ซึ่งต่อมาธนาคารออมสินได้ไปถอดโฉนดที่ดินของตน โดยยึดที่ดินออกมาจาก ธกส. ที่ตนเคยไปกู้ยืมเงินส่วนตัวย้ายไปไว้ที่ธนาคารออมสินแทน เนื่องจากไม่มียอดชำระหนี้ของสมาชิกตามหลักเกณฑ์ และสำนักงานบังคับคดีได้ทำการประกาศขายทอดที่ดินของตนเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยที่คณะกรรมการชุดตนนั้นมีเพียงตนที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเพียงคนเดียว ขณะที่คณะกรรมการคนอื่น ๆ รวมถึงประธานอีก 9 คนต่างก็ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตนเองแม้แต่คนเดียว ธนาคารออมสินจึงไม่สามารถไปบังคับยึดทรัพย์สินของกรรมการคนอื่น ๆ ได้

ทำให้ตนต้องนำเงินส่วนตัวไปจ่ายหนี้ให้คนทั้งหมู่บ้านที่เป็นสมาชิก เดือนละ 20,000-30,000 บาท แยกเป็นเงินต้นที่ต้องจ่ายธนาคาร 12,000 บาท และดอกเบี้ยอีกเดือนละ 2.4 หมื่นบาท จนถึงตอนนี้หมดเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาท ต้องหมดเนื้อหมดตัว ซ้ำยังถูกยึดที่ดินทำกิน ซึ่งตนได้พยายามไปอ้อนวอนขอให้สมาชิกมาใช้หนี้ บางคนก็บอกไม่มี และถูกบอกปัดไปเรื่อย ถ้ารู้ว่าจะเป็นแบบนี้แล้วในตอนนั้น ตนจะไม่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านอย่างแน่นอน

‘กองทุนหมู่บ้านฯ’ มีชื่อเต็มว่า ‘กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง’ เป็นโครงการตามนโยบายเร่งด่วนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนในระดับรากหญ้าของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร โดยมีการดำเนินการจัดตั้งกองทุนในทุกหมู่บ้าน ๆ ละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ชาวบ้านได้มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ และดำรงชีพ เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ และบรรเทาเหตุจำเป็นเร่งด่วนของชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า เป็นการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองด้วยภูมิปัญญาของตนเอง และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนทั่วประเทศ

แม้จะมีการกล่าวอ้างถึงผลดีมากมายของกองทุนหมู่บ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับมีผลเสียปรากฏมากมายกว่า ดังนี้...

- ผลการประเมินของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติระบุว่า ผู้กู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านฯ มีอัตราการชำระหนี้คืนกองทุนลดลง จาก 95.3% (ค้างชำระ 4.7%) ในปี 2547 เป็น 77.3% (ค้างชำระ 22.7%) ในปี 2555
- ในปี 2549 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านฯ พบประเด็นปัญหาสำคัญ คือ กองทุนหมู่บ้านฯ 50% มีหนี้ค้างชำระและ/หรือเงินขาดบัญชี โดยบางแห่งมีผลการดำเนินงานอยู่ในภาวะวิกฤติไม่ได้ดำเนินกิจกรรมมาเป็นเวลาหลายปี และไม่มีเงินคงเหลือในบัญชีกองทุน
- ผลประเมินการดำเนินงานโดยกรมบัญชีกลาง ระบุว่า กองทุนหมู่บ้านฯ ได้คะแนนรวมเพียง 2.4982 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเงินทุนหมุนเวียนประเภทกู้ยืม 3.1760 โดยด้านที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ ด้านการเงิน 4.6974 ส่วนด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 1.7163
- งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2550) ระบุว่า แม้กองทุนหมู่บ้านฯ จะทำให้รายได้จากกิจการภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจริง แต่ไม่เพียงพอจะทำให้รายได้รวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
- ผลสำรวจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า 22.0% ของผู้กู้ยืมกองทุนหมู่บ้านฯ มีการใช้เงินกู้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน หากกองทุนที่บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก จะก่อให้เกิดเป็นวงจรหนี้ที่พอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาชิกยังต้องกลับไปกู้หนี้นอกระบบอีก
- แม้ครัวเรือนที่เป็นหนี้จะลดลงจาก 11.50 ล้านครัวเรือนในปี 2550 เหลือ 10.84 ล้านครัวเรือน ในปี 2556 หรือลดลง 6% แต่จำนวนหนี้สินเฉลี่ยตัวครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 116,681 บาท ในปี 2550 เป็น 163,087 บาท ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 40%

วันนี้พรรคการเมืองภายใต้ทักษิณ ชินวัตรกลับมาเป็นรัฐบาลแล้ว ปัญหาของกองทุนหมู่บ้านฯ ดังที่ปรากฏเป็นข่าว รัฐบาลชุดนี้จะแก้ไขอย่างไร? ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ คงช่วยอะไรไม่ได้...

ดังนั้นทุกคนที่มีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างกองทุนหมู่บ้านฯ จึงต้องรีบระดมสมองเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของกองทุนหมู่บ้านฯ ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนที่สุดโดยไม่สามารถบ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เลย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top