Monday, 7 July 2025
ลดค่าไฟ

‘พีระพันธุ์’ ตรึงค่าไฟฟ้ามาแล้วกว่า 1 ปี พร้อมทำทุกวิถีทางหวังช่วยลดภาระให้ประชาชน

(29 พ.ย.67) งานแรก ๆ หลังจากการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 คือการออกมาตรการอย่างเข้มใน 6 เดือนแรกของการกำกับดูแลระบบพลังงานโดยรวมของไทยดังนี้ 

(1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ มีการเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธรที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ 

(2) น้ำมัน ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันโดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และสร้างเสถียรภาพให้กับราคาเชื้อเพลิงพลังงาน 

และ (3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลงและเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ ติดตามเร่งรัดการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ทำให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมด ไม่ว่าการออกใบอนุญาตผลิตกระแสไฟฟ้า การกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า FT (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวนเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ อันเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดย กกพ.เป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน

นับแต่ กกพ.ชุดแรกเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาต่างให้ กกพ.เป็นผู้ดำเนินการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า ดังนั้น ‘ค่า FT’ จึงถูกกำหนดให้เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่ กกพ. ได้พิจารณา แต่สำหรับ ‘พีระพันธุ์’ แล้วการตรึงค่าไฟฟ้านั้นทำได้ด้วยการใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการทำให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า FT ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ได้ใช้ความพยายามในการแสวงหาวิธีการและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทำให้ค่า FT ต่ำที่สุด อาทิ มาตรการที่กำลังทำอยู่คือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) โดยนอกจากจะได้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG อันเป็นก๊าซหุงต้มที่พี่น้องประชาชนคนไทยใช้กันมากที่สุดแล้ว ยังมีการสำรองก๊าซ LNG อันเป็นก๊าซเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของบ้านเราในปัจจุบันก็จะถูกสำรองเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางพลังงานที่สำคัญของประเทศ

ดังเช่น ค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2568 ตามที่ประกาศ ถ้าเป็นไปตามที่ กกพ.เสนอจะอยู่ที่หน่วยละ 5.49 บาท ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ไม่เห็นด้วย กกพ. จึงเสนอให้ราคาคงที่หน่วยละ 4.18 บาทเหมือนเดิม แต่ ‘พีระพันธุ์’ ยังขอให้ลดลงอีกหน่อยจนเหลือหน่วยละ 4.15 บาท ทำให้มีการลดอัตราค่าไฟฟ้าจริงหน่วยละ 1.34 บาท ไม่ใช่  3 สตางค์ตามที่สังคมไทยโดยรวมเข้าใจเช่นนั้น ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบบริหารจัดการในการซื้อขายกระแสไฟฟ้าของประเทศคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังนั้นความจริงก็คือ ภาระดังกล่าวถูกผลักให้ ‘กฟผ.’ ต้องรับผิดชอบ โดยพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นหนี้ ‘กฟผ.’ เพราะ ‘กฟผ.’ เรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำกว่าต้นทุนของตัวเองจากนโยบายของรัฐที่จะไม่ให้พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ามากจนเกินไป 

ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการทยอยใช้หนี้ดังกล่าวคืนให้กับ ‘กฟผ.’ เพื่อให้ ‘กฟผ.’ นำเงินที่ได้ไปใช้หนี้คืนอีกทอดหนึ่ง ทำให้เกิดสมการที่ใช้ในการเก็บ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ ว่าจะต้องเก็บเท่าไรเพื่อที่ ‘กฟผ.’ จะมีเงินเพื่อนำไปใช้หนี้ตามข้อเสนอของกกพ.ตามแนวทางที่ได้กล่าวมา 

ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ตัดสินใจเสนอให้มีการยืดหนี้แล้วจ่ายบางส่วน ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยรับภาระน้อยกว่าที่กกพ.ได้เสนอมา และในขณะเดียวกัน ‘กฟผ.’ เองก็จะมีเงินเพื่อนำไปชำระหนี้จำนวนหนึ่ง โดยอัตราค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5.49 บาท ตามแนวทางแรกที่กกพ.เสนอนั้น ‘กฟผ.’ จะได้เงินเพื่อนำไปชำระหนี้ทั้งยอดจำนวนกว่า 80,000 ล้านบาท แต่ถ้าจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.15 บาท ‘กฟผ.’ จะได้เงินเพื่อไปชำระหนี้ 13,000ล้านบาทก่อน ซึ่งทุกวันนี้ ‘กฟผ.’ ต้องแบกรับภาระหนี้แทนพี่น้องประชาชนไทยอยู่ และผู้ใช้ไฟฟ้าจำเป็นที่จะต้องเริ่มผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวคืนให้กับกฟผ.เพื่อไม่ให้ยอดหนี้นั้นแกว่งจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกฟผ.ด้วย

ดังนั้น ค่าไฟฟ้าของเดือนมกราคม-เมษายน พ.ศ. 2568 มีการใช้ไฟฟ้าไป 100 หน่วย ถ้าต้องจ่ายในอัตราที่กกพ.เสนอที่หน่วยละ 5.49 บาท จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นเงิน 549 บาท แต่เป็นหน่วยละ 4.15 บาทตามที่ ‘พี่ตุ๋ย’ พีระพันธุ์เสนอแล้วพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าจะจ่ายเพียง 415 บาท ซึ่งทำให้จ่ายน้อยลง 134 บาท การแบกรับค่า Ft ของ ‘กฟผ.’ ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนของค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (AP) และต้นทุนของเชื้อเพลิง LNG ที่มีการเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารวมทุกอย่างแล้วสูงกว่าราคาที่ขายให้พี่น้องประชาชนคนไทยในปัจจุบัน เมื่อต้นทุนสูงแต่เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยจ่ายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ทำให้ ‘กฟผ.’ ต้องไปกู้เงินมาจ่ายค่าไฟฟ้าที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชน รวมทั้งหนี้จากค่า LNG ที่ ‘กฟผ.’ ซื้อมาจากปตท.ในส่วนที่ ‘กฟผ.’ นำมาผลิตไฟฟ้าเอง และเมื่อมีโอกาสหากมีเงื่อนไขที่สามารถทำให้ต้นทุนลดลงได้อีกแล้ว ‘กฟผ.’ จึงค่อยเรียกเก็บเพิ่มจากพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อมาเฉลี่ยใช้หนี้ดังกล่าวต่อไป

กกพ. เสนอรื้อสัญญาทาสคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน ชี้ ลดค่าไฟได้ทันที 17 สตางค์/หน่วย ช่วยประหยัด 3.3 หมื่นลบ.

เมื่อวันที่ (16 ม.ค.68) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมตินำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และอัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (Feed in Tariff:FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท เหลือหน่วยละ 3.98 บาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ กล่าวต่อว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่า Adder หน่วยละ 8 บาท ตลอดอายุโครงการ 10 ปี รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และ FIT ได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 533 รายจำนวน 3,400 เมกะวัตต์

การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงาน แสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วย เช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพง กว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็น กำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบ กิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

‘พีระพันธุ์’ เร่งหาวิธีปรับลดค่าไฟรอบใหม่ หลังหารือฝ่ายกฎหมายชี้ชัดแนวทาง กกพ. ทำไม่ได้

วันนี้ (19 ก.พ. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานการประชุมกับเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการลดค่าไฟ  รวมทั้งกรณีที่ กกพ. เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งได้รับการต่อสัญญาและให้ได้รับการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (Adder) รวมทั้งมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(เอฟไอที) จากผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อจะให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้อีก 17 สตางค์  โดยที่ประชุมเห็นว่าไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่ กกพ.เสนอ เนื่องจากเป็นเรื่องของข้อผูกพันทางสัญญาไม่ใช่เรื่องระเบียบ กกพ. ซึ่งเลขาธิการ กกพ. รับทราบและเข้าใจข้อกฎหมายแล้ว โดยจะนำไปแจ้งให้คณะกรรมการ กกพ. ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปจากผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกาว่า ข้อเสนอของ กกพ. เพื่อปรับลดค่าไฟในแนวทางนี้ไม่สามารถทำได้ และ รมว.พลังงาน ได้ขอให้ทาง กกพ. พิจารณาและทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ได้เกิดความสับสนในเรื่องดังกล่าว

นายพีระพันธุ์ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟงวดต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวทางการปรับปรุงระบบ Pool Gas ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน

‘อัครเดช’ ปลื้ม!! ได้กำลังใจล้นหลาม!! ชาวบ้านแห่ชม 'พีระพันธุ์' ทุ่มเท ทำงานหนัก ลดค่าไฟต่อเนื่อง ผ่อนคลายค่าครองชีพ ช่วยลดภาระความเดือดร้อน ให้ครัวเรือน

(27 เม.ย. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า

เนื่องจากในช่วงนี้เป็นการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตนรวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติต่างลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและเสียงสะท้อนการทำงานจากพี่น้องประชาชน ตามนโยบายของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ

จากการลงพื้นที่ตนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติต่างได้รับเสียงชื่นชมในการทำงานของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่สามารถลดค่าไฟได้อย่างต่อเนื่องทั้งในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 68 ที่สามารถควบคุมค่าไฟให้อยู่ที 4.15 บาทต่อหน่วยจากที่ กกพ. ได้เสนอที่ 4.49-4.79 บาทต่อหน่วย และในรอบต่อไปคือ พ.ค.-ส.ค. 68 ที่คาดว่าจะลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย จากที่ กกพ. เสนอที่ 4.15 บาทต่อหน่วย 

นอกจากนี้พี่น้องประชาชนยังขอขอบคุณสำหรับการทำงานอย่างหนักของนายพีระพันธุ์ และรัฐบาล ที่สามารถช่วยลดค่าไฟซึ่งเป็นหนึ่งในค่าครองชีพที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต เป็นการช่วยผ่อนคลายค่าครองชีพที่เป็นภาระหนักอึ้ง

นายอัครเดช กล่าวต่อไปว่า แต่อย่างไรก็ตามสำหรับการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งที่เห็นในขณะนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน การแก้ไขปัญหาในระยะยาวต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะทลายปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน และเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน

"ตนอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนมั่นใจว่า การบริหารงานของกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ภายใต้การสนับสนุนภารกิจนี้จากนายกรัฐมนตรีเป็นการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการรื้อ ลด ปลด สร้างพลังงานไทย การแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการจัดการอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต "นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย

เจาะเบื้องลึก ‘กกพ.’ ยอมลดค่าไฟจากมติเดิม 4.15 บาท/หน่วย เหตุถูก ‘รมว.พลังงาน’ กดดันหลังพบกอดเงิน Claw Back 2 หมื่นลบ.

จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีมติลดค่าไฟเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ครม. ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้มีผลทันทีในรอบบิลพ.ค.-ส.ค. 68

ทั้งนี้ เดิมทีเมื่อวันที่ (1 เม.ย. 68) คณะรัฐมนตรี มีมติ โดยได้มีการอนุมัติเป้าหมายการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2568 นี้ ลงเหลืออัตราไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท โดยไม่มีการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ 

พร้อมมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแล คณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงตามเป้าหมายดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ ทาง กกพ. ได้เสนอ 3 ทางเลือกเปิดประชาพิจารณ์ค่าไฟงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 โดยกำหนดราคาเอาไว้ที่ 4.15 – 5.16 บาทต่อหน่วย 

จากนั้นทาง กกพ. ได้สรุปการประชาพิจารณ์โดยตรึงค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ไว้ที่ 4.15 เท่าเดิมจากค่าไฟงวดปัจจุบัน

และถึงแม้ว่า ทาง ครม. ได้วางกรอบเป้าหมายให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามที่นายพีระพันธุ์ ได้นำเสนอต่อ ครม. ก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ทาง กกพ. ยืนยัน จะคงอัตราเท่าเดิม คือ 4.15 บาทต่อหน่วย ไม่สามารถลดได้อีก

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ทาง รมว.พลังงาน ได้เจรจาให้ทาง กกพ.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หาแนวทางลดค่าไฟตามกรอบที่ ครม.ให้ไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ แต่ทาง กกพ. ก็ยังยืนยันเช่นเดิม คือ ทำได้แค่ตรึงไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้น ทาง รมว.พลังงาน ได้ตรวจพบว่า ทาง กกพ. มีเงินที่เรียกว่า Claw Back ซึ่งเป็นเงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผนที่เสนอให้ กกพ. พิจารณา ในช่วงที่มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า อยู่ราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำมาอุดหนุนค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 

และจากการตรวจพบเงินจำนวนดังกล่าวที่ กกพ. เก็บไว้นั้น ทำให้ทาง กกพ. จำต้องยอมลดค่าไฟในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 68 ลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าที่ ครม. กำหนดไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย แบบเสียมิได้ โดยใช้เงิน Claw Back จำนวน 12,200 ล้านเข้ามาอุดหนุน

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า หาก รมว. พลังงาน ไม่ไปตรวจสอบพบเงินจำนวน 20,000 ล้านดังกล่าว ทาง กกพ. จะยอมลดค่าไฟลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ตามที่ได้ออกมาประกาศในวันนี้หรือไม่...

NiA : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ “จากการลดค่าไฟ สู่การลดอุณหภูมิโลก “ขอเชิญชวนประกวดผลงานด้านนวัตกรรมเวทีระดับชาติ

(29 พ.ค. 68) อากาศร้อน ค่าไฟพุ่ง ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่คนในสังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สภาพอากาศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จนภูมิอากาศแปรปรวน และทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเมื่ออุณหภูมิรอบตัวสูงขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นตาม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมค่าไฟจึงแพงขึ้นแม้ว่าจะใช้ไฟฟ้าในปริมาณเท่าเดิม ปัญหานี้ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งนั่นหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นมหาศาล หากไม่มีการบริหารจัดการหรือวางแผนรับมืออย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินได้ 

ด้วยเหตุนี้ ‘บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด’ Charoenchai Transformer องค์กรที่มีประสบการณ์การทำหม้อแปลงไฟฟ้ามายาวนานกว่า 60 ปี มองเห็นปัญหาในส่วนนี้ จึงได้คิดค้นนวัตกรรม “หม้อแปลง BCG & Low Carbon” ที่ตอบโจทย์ปัญหาเรื่องค่าไฟ และยังสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) ในปี 2065 

นวัตกรรมหม้อแปลง BCG & Low Carbon เป็นหม้อแปลงรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้คงที่แบบอัตโนมัติ (220/380 โวลต์) มีความสามารถในการบริหารจัดการพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ สามารถควบคุมการใช้พลังงานได้เรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยี IoT การติดตั้งหม้อแปลงนี้สามารถลดค่าไฟได้ 5–20% และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักร 

ไม่เพียงแค่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หม้อแปลง BCG & Low Carbon ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดคาร์บอนให้กับภาคธุรกิจ โดยได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก. / TGO) จากการประเมินความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 69.746 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเมื่อปี 2565 ซึ่งการลดคาร์บอนได้มากถึง 100 ล้านตัน เทียบได้กับการปลูกป่า 105,263,158 ไร่เลยทีเดียว 

จากคุณสมบัติที่โดดเด่นนี้จะเห็นได้ว่าหม้อแปลง BCG & Low Carbon เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สำหรับภาคธุรกิจ และยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

โดยนวัตกรรมหม้อแปลง BCG & Low Carbon นี้ ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จของแวดวงเทคโนโลยีด้านพลังงาน จนได้รับ ‘รางวัลชนะเลิศ การประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ ประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง NIA ประจำปี 2566’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นศักยภาพของนวัตกรรม ทั้งในมิติของคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและการมุ่งสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศ ผ่านการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับผู้ประกอบการ และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

NIA ในฐานะองค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน จึงได้จัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติผลงานนวัตกรรมไทยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และปีนี้กลับมาอีกครั้ง! กับการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2568

ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษา สมาคม ร่วมส่งผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดในเวทีระดับชาติ “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2568” รางวัลทรงเกียรติสูงสุดของวงการนวัตกรรมไทย ส่งผลงานได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ดูคู่มือการประกวดและสมัครผ่านทางออนไลน์ได้ที่ https://award.nia.or.th

อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้ที่ https://tinyurl.com/yc67x2bj

ติดตามคอนเทนต์ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และสตาร์ทอัพที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่
https://www.nia.or.th/article/blog.html

#NIA #NIAFocalConductor #มุ่งเป้าสู่ชาตินวัตกรรม #Innovation #นวัตกรรม #หม้อแปลงไฟฟ้า #BCG #LowCarbon

อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://youtu.be/G_MrxotdPpg?si=VBJ2kGoAMgZE-oeJ
https://bcg.in.th/news/thailand-energy-awards-2023/
https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1093560


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top