Thursday, 16 May 2024
ลดค่าไฟ

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ ครม.พรุ่งนี้  ยัน!! จะทำให้ดีที่สุด ตัวเลขต้องไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย 

(18 ธ.ค.66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผย ว่าการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (19 ธ.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอปรับลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค. - เม.ย.67   

โดยตัวเลขค่าไฟจะไม่เกินที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะนี้กำลังทำตัวเลขอยู่ว่าจะได้เท่าไหร่ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ส่วนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่เคยใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ก็จะมีช่วยเหลือ อยู่ที่ราคาเดิม คือ 3.99 บาท ซึ่งสามารถช่วยครัวเรือนได้ประมาณ 17 ล้านราย  

นางรัดเกล้า กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันอยากที่จะให้ค่าไฟฟ้า อยู่ที่ 4.10 บาท แต่จะต้องมีหลายส่วนที่ต้องดูให้สอดคล้องกัน และรัฐมนตรีพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต้องดูทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ปรับโครงสร้างเท่านั้น   

“ขอประชาชนไม่ต้องห่วง รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะพยายามทำให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องของพลังงานไฟฟ้า ราคาน้ำมัน โดยจะรื้อทั้งระบบที่เคยมีมากว่า 30 ปี ทั้งนี้เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่สร้างภาระให้กับประชาชน และสิ่งใดที่สามารถทำได้จะทำทันที” นางรัดเกล้า กล่าว

‘พีระพันธุ์’ อึ้ง!! ‘สส.ก้าวไกล’ ใช้ ‘ข้อมูลคาดการณ์’ อภิปรายฯ งัดข้อมูลจริง ‘กฟผ.’ ยัน!! ‘ลดค่าไฟ’ ไม่ได้สร้างปัญหาการเงิน

(5 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า…

วันนี้ติดภารกิจตลอดทั้งวัน เพิ่งมีโอกาสได้สรุปข้อเท็จจริง

ช่วงหัวค่ำเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 66 ท่านศุภโชติ ไชยสัจ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณ ปี 2567 พาดพิงเรื่องที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนว่าทำให้เป็นปัญหาการเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)

น่าแปลกที่เรื่องเดียวกันท่านกลับเลือกพูดเรื่องปัญหาการเงินของ กฟผ. แทนที่จะพูดเรื่องประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั้งประเทศที่ผมและรัฐบาลนี้ทำสำเร็จ

ท่านบอกว่า กฟผ. มีสถานะเงินสดต่ำมากจนน่าเป็นห่วง โดยมีแนวโน้มตามกราฟิกที่นำมาแสดงว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 กฟผ. จะมีกระแสเงินสดเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท และลดลงเรื่อย ๆ ถึงขั้นมีกระแสเงินสดเหลือแค่ 10,000 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม 2567 จะไปถึงขั้นกระแสเงินสดติดลบเอาเลย แถมยังมีหนี้สินที่ต้องชำระให้ ปตท. อีกหลายหมื่นล้านบาท 

ในขณะที่จะต้องส่งรายได้ให้รัฐอีกปีละหลายหมื่นล้านโดยปี 2566 กฟผ. ต้องนำรายได้ส่งรัฐ 17,142 ล้านบาท และปี 2567 ที่จะติดลบกระแสเงินสดด้วยนี้ กฟผ. กลับจะต้องนำส่งรายได้ให้รัฐถึง 28,386 ล้านบาท สูงกว่าปี 66 ถึง 65% แล้วจะทำอย่างไร

ฟังแล้วน่าตกใจว่ารัฐไปยัดปัญหาให้ กฟผ. เพิ่มทำไม ประชาชนทางบ้านและสื่อมวลชนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงก็จะตกใจตามไปด้วย

ผมก็ตกใจครับ ไม่ได้ตกใจในข้อมูลและตัวเลขที่ท่านพูด แต่ตกใจว่าทำไมท่านเลือกเอาข้อมูลที่เป็นเพียง ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่ทำล่วงหน้าก่อนของจริงตั้งแต่ตุลาคม 2566 ปีที่แล้วมาพูด แทนที่จะเอา ‘ข้อมูลจริง’ ที่ ‘เกิดขึ้นจริง’ ณ เวลานี้ มาพูด

ขอเรียนตามนี้ครับ
1) ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ที่ผมนำมานั้น มาจากรองผู้ว่าการ กฟผ. ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ที่ให้ข้อมูลผมตอนที่จะนำงบการเงินปี 2564 - 2565 ของ กฟผ. รายงานต่อ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 67 และอีกครั้งก่อนที่ผมจะตอบชี้แจงเมื่อคืน จึงเชื่อถือได้ว่าเป็น ‘ข้อมูลจริง’ แต่ถ้าท่านไม่เชื่อคงต้องไปเถียงกับ กฟผ. เอาเองนะครับ

2) ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่ท่าน สส. ศุภโชติ แห่งพรรคก้าวไกล นำมาพูดนั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ตุลาคม 2566 ก่อนมี ‘ข้อมูลจริง’ ณ ปัจจุบัน ดังนี้

(ก) ตารางหรือกราฟที่ท่าน ส.ส. ศุภโชติ นำมาใช้นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์เพื่อแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น และมิได้แปลว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เพราะ กฟผ. จะต้องบริหารจัดการมิให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม กฟผ. ก็ต้องประมาณการแบบ ‘ร้าย’ หรือแบบ worst case scenario ไว้ก่อน และตารางหรือกราฟนั้นก็เป็นเพียงเอกสารภายในที่ใช้เพื่อชี้แจงพนักงานของ กฟผ. ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลจริงในการบริหาร และไม่อาจใช้อ้างอิงได้ เพราะไม่ใช่ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจริง

(ข) มีปัจจัยที่เป็น ‘ข้อมูลจริง’ อื่น ๆ ที่ทำให้ กฟผ. มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตามตารางที่นำมาแสดงอีกประมาณเกือบ 15,000 ล้านบาท เช่น กำไรจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท กำไรจากการรับงานภายนอกองค์กรประมาณ 1,000 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 2,600 ล้านบาท ต้นทุนลดลงจากการบริหารจัดการประมาณ 5,000 ล้านบาท และกำไรจากรายได้อื่นๆ ประมาณ 2,100 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดคงเหลือจริงประมาณ 91,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 63,623.6 ล้านบาท ตามที่ปรากฏในตารางคาดการณ์ที่นำมาแสดง

(ค) อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนตามการคาดการณ์ในตารางจะอยู่ที่ 3.99 บาท / หน่วย ตลอดปี 2567 และคาดการณ์ว่าเป็นภาระของ กฟผ. เองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ ‘ข้อมูลจริง’ ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่าง 4.15 ถึง 4.20 บาท / หน่วย ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2567 ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาท / หน่วย นั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาแสดง

(ง) การแบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงทั้งสองครั้งนี้ ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ เป็นการคาดการณ์ว่า กฟผ. จะเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ตาม ‘ข้อมูลจริง’ รัฐบาลมีการบริหารจัดการและช่วยดำเนินการในหลายรูปแบบ โดยในครั้งนี้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้ กกพ. เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ รวมทั้งใช้เงินงบกลางเข้ามาช่วยลดภาระ กฟผ. ด้วย
ข้อมูลใน (ค) และ (ง) นี้ก็ไม่ปรากฏในตารางที่เป็น ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาพูด เพราะในเวลาที่ทำตารางเมื่อเดือนตุลาคม 2566 นั้น ‘ข้อมูลจริง’ นี้ ยังไม่เกิดขึ้น

3) จากสถานะการเงินที่เป็น ‘ข้อมูลจริง’ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดในมือประมาณ 91,000 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ณ เดือนมกราคม 2567 เพียงหนึ่งเดือนให้หลังกระแสเงินสดของ กฟผ. ก่อนหักค่าใช้จ่ายจะเหลือเพียง 39,234 ล้านบาท ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาแสดง

4) มาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. จะต้องคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หากเมื่อใดมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่ามาตรฐานนี้ กฟผ. จะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ทันที และที่ผ่านมา กฟผ. ก็ดำเนินการตามนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริงที่สถานะการเงินจริงของ กฟผ. ในปี 2567 จะลดลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นติดลบในเดือนกรกฎาคม ตุลาคม และธันวาคม 2567 ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาแสดง

5) ตาม ‘ข้อมูลจริง’ นั้น กฟผ. ชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท. หมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม 2566 สำหรับปี 2566 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. โดยมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา ณ วันนี้ กฟผ. จึงไม่มีหนี้สินอะไรกับ ปตท. อีก

6) การส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ. กำหนดมาตรฐานไว้ที่ประมาณ 50% ของกำไรในแต่ละปี สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในปี 2566 ว่า กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐ 17,142 ล้านบาท แต่ตาม ‘ข้อมูลจริง’ กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐสำหรับปี 2566 นี้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 17,142 ล้านบาท ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาพูด ข้อมูลที่นำมาพูดจึงผิดไปจากความจริงที่เป็น ‘ข้อมูลจริง’ ถึง 28.575% และนี้ยังแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่า ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

7) สำหรับปี 2567 ล่าสุด กฟผ. คาดการณ์ว่าจะนำส่งเงินรายได้ประจำปี 2567 ให้รัฐประมาณ 20,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 16.6666% ไม่ใช่จะนำส่งรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 65% จาก 17,142 ล้านบาท เป็น 28,386 ล้านบาท ตาม ‘ข้อมูลคาดการณ์’ ที่นำมาพูดอีกเช่นกัน แต่ไม่แน่นะครับ เอาเข้าจริง กฟผ. อาจสามารถบริหารจัดการให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นเดียวกับปี 2566 ที่ผ่านมานี้ได้อีก ก็เป็นไปได้นะครับ

'ธนกร' ชี้!! 'พีระพันธุ์' ทำตามสัญญาสำเร็จ ลดค่าไฟฟ้า 4.18 บาทต่อหน่วย เชื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าภาค 'ครัวเรือน-โรงงาน-ภาคเอกชน' ได้มาก

(12 ม.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า “จากการติดตามการดำเนินการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ล่าสุดได้ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนม.ค. ถึง เม.ย. 2567 ทั่วไปในอัตรา 4.18 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ในอัตราค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งเป็นการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก ซึ่งตนต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่คงมาตรการนี้ต่อ”

ทั้งนี้ จากที่ตนได้ฟังเสียงตอบรับจากประชาชนและภาคเอกชน ต่างมีความพึงพอใจมาตรการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าว ว่าลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้จริง หลังจากนายกฯและครม.ให้การสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงพลังงานและอนุมัติงบกลางเพื่อช่วยยืนมาตรการนี้ โดยหลังจากนี้จะมีการรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป

นายธนกร ยังกล่าวว่า “ถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาล โดยเฉพาะนายพีระพันธุ์ ที่ได้ “ทำตามสัญญา“ ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งภาคประชาชนเอง ก็หวังอยากให้รัฐบาลดำเนินมาตรการดังกล่าว ต่อเนื่องยาวไปจนถึงรอบบิล งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.67 โดยเชื่อว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ภาคเอกชนต่างๆได้อย่างมาก ส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิตภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้นด้วย”

'พีระพันธุ์' จี้!! แหล่งก๊าซเอราวัณให้ขุดได้ตามเป้า ตัวแปรสำคัญช่วยคงค่าไฟงวดหน้าไม่สูงกว่าเดิม 

(27 ก.พ.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้กล่าวถึงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2567 ว่า ตนเองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้เพราะเป็นห่วงพี่น้องประชาชนตลอดเวลา ทั้งนี้หลังจากที่ตนและผู้บริหารกระทรวงพลังงานโดยเฉพาะปลัดกระทรวง นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรี (นายณอคุณ สิทธิพงษ์) และประธานคณะกรรมการ กกพ., นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รวมทั้งคณะกรรมการ กกพ. และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ร่วมกันพยายามหาทางให้อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 ไม่สูงถึงหน่วยละ 4.68 บาท อย่างที่เคยเป็นข่าว 

แม้จะมีปัจจัยลบจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปเป็นจำนวนมากพอสมควร ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซที่มีราคาแพงมาชดเชยในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันบริหารจัดการปัจจัยต่าง ๆ อย่างจริงจังแล้ว ก็สามารถทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท และยืนอัตราหน่วยละ 3.99 บาทสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจากอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2567 มากนัก 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กกพ. จะมีการปรับค่าเอฟทีสำหรับการกำหนดค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน ดังนั้นอัตราค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2567 นี้ ก็จะต้องมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไปคือ งวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2567 กันใหม่อีกในเร็ว ๆ นี้ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า จะพยายามคงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2567 ไว้ในอัตราเดิม คือหน่วยละ 4.18 บาท ให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้เพราะทาง ปตท. สผ. ยืนยันว่าจะสามารถขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปจำนวนมากกลับคืนมาได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งตนเองจะเดินทางไปดูการทำงานของ ปตท.สผ. ที่หลุมขุดเจาะเอราวัณกลางอ่าวไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ปตท.สผ. จะสามารถดำเนินการได้ตามที่รับปากไว้ และยังมีแนวโน้มว่าปัจจัยอื่นน่าจะเป็นบวกมากกว่าในงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 อีกทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับปากว่าจะพยายามยืนอัตราค่าไฟฟ้าไว้ในอัตราเดิม ตนจึงค่อนข้างมั่นใจว่าพี่น้องประชาชนจะไม่เจอกับปัญหาการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดระยะเวลาดังกล่าว 

“เราเป็นห่วงประชาชน จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของประชาชนซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญลงให้ได้ โดยใช้มาตรการทุกอย่างที่ทำได้ภายใต้โครงสร้างปัจจุบันก่อนที่จะรื้อทั้งระบบภายในปีนี้” นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

'พีระพันธุ์' ให้คำมั่น!! ยืนหยัดแก้ปัญหาพลังงาน เพื่อ 'ชาติ-ประชาชน' ตามรอย 'พลโทณรงค์' ในงานสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์

(2 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปบรรยายเรื่องพลังงาน ในฐานะที่คุณพ่อ 'พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค' เคยเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าฟิลิปปินส์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นคนแรก  

โดยนายพีระพันธุ์ได้เล่าถึงเรื่องราวของ พลโทณรงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการพลังงานของไทย รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกการก่อสร้าง 'โรงกลั่นน้ำมัน' แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมัน 'สามทหาร' ที่ปัจจุบันแปรสภาพเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อจำหน่ายน้ำมันที่ขุดและกลั่นได้เองจากโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอฝางให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ของประเทศไทย

นายพีระพันธุ์ กล่าวย้ำว่า พลังงานคือความมั่นคงของประเทศ แต่ปัจจุบันกิจการด้านพลังงานได้แปรเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของธุรกิจ ตนในฐานะ รมว.พลังงาน จึงตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน ตามแนวทาง รื้อ ลด ปลด สร้าง ที่ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว

'โฆษก รมว.พลังงาน' แจง!! 'หม่อมอุ๋ย' ปมนโยบายพลังงานทำลายประเทศ ยัน!! 'อุ้มดีเซล-ลดค่าไฟ' เป็นมาตรการที่ช่วย ปชช.ได้จริงในระยะสั้น

(2 มี.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ้กส่วนตัว แสดงความเห็นตอบโต้หนังสือเปิดผนึกของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อการดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐบาล โดยข้อความระบุว่า

เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้ชื่นชอบแนวทาง "จ่ายก่อนคืนทีหลัง" เท่าไหร่นัก แต่เป็นมาตรการเดียวที่ลดความเดือดร้อนประชาชนได้ในระยะสั้น ภายใต้โครงสร้างพลังงานเดิมที่มีอยู่ 

ระยะยาวกระทรวงมีการผลักดัน โซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ปลดข้อจำกัดให้ประชาชนมีไฟฟ้าที่พึ่งพาตัวเองได้ ,กฎหมายน้ำมันสำหรับเกษตรกร และผู้มีรายได้ต่ำกำลังร่างกฎหมายกันอยู่ ,รื้อระบบกองทุนน้ำมันที่ทำให้ภาระหนี้ตกอยู่กับรัฐ  

สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนฉากทัศน์โครงสร้างพลังงานไทย ถาวรแน่นอน

ประเด็น3-4 เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ที่ว่ากระทรวงเอาจริงขนาดไหนเกี่ยวกับการลดควันPM2.5

ตอบในฐานะหนึ่งในกรรมาธิการพ.ร.บ. อากาศสะอาด ก็ต้องเรียนว่าทางกระทรวงพลังงานจริงจังมาก ได้ประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร5 ที่ลดการปล่อยPM2.5ตั้งแต่ต้นม.ค.67 เป็นที่เรียบร้อย 

ส่วนเรื่องราคาที่พรีเมียมขึ้น น่าจะอยู่ในช่วงที่กระทรวงกำลังหารือเจรจากับผู้กลั่นน้ำมัน นอกจากนั้นร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมเรื่องยานยนต์EV3.5 ลดการใช้รถพลังงานสันดาบ และส่งเสริม Utility Green Tariff ไฟฟ้าสีเขียวให้ใช้แพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นที่เรียบร้อย 

อย่าตัดสินว่าลดราคาน้ำมัน แล้วจะไม่จริงจังปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะคนละส่วน

ประเด็นข้อ5 เรื่องสูตรราคาPool Gas 

พูดว่าพูลแก๊ส(ราคาก๊าซเฉลี่ย+นำเข้า) คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินนัก ต้องบอกประชาชนผู้ใช้พลังงานทุกท่านว่า สูตรที่รัฐมนตรีพีระพันธุ์ ได้ปรับผ่านมติเห็นชอบจากกกพ. เมื่อปลาย ธ.ค. 66 ได้สร้างประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้ไฟทั้งประเทศมหาศาล เพราะการนำเอาโควต้าก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยราคาถูก ที่เคยให้กับบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ไปให้การใช้กับก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนก่อน เอกชนจะต้องไปซื้อราคาPool Gasแพงขึ้น แต่ราคาต้นทุนผลิตไฟฟ้าคนไทยถูกลงถาวร 18สตางค์/หน่วย

หากคิดถึงคนทั้งชาติ กับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย เรื่องนี้ยกประโยชน์ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง ดีกว่าเอื้อเอกชนรายใหญ่ไม่กี่ราย จึงไม่ควรต้องปรับเปลี่ยนสูตรกลับไป

"เข้าใจว่าทั้ง 3 ท่านต่างมีเจตนาดีต่อการบริหารงานประเทศ เข้าใจว่าทางรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สร้างผลงานให้โครงสร้างพลังงานเป็นธรรม-ยั่งยืน-มั่นคง ให้เป็นที่ประจักษ์ ครับ

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดเพื่อเตรียมชี้แจงข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจกรณีต่างๆ ของหนังสือเปิดผนึกอย่างเป็นทางการในที่ 4 มี.ค.2567

‘พีระพันธุ์’ มั่นใจ!! ค่าไฟรอบใหม่ (พ.ค. - ส.ค.) จะไม่สูงกว่ารอบปัจจุบัน

(7 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ถึงกรณีตรวจเยี่ยมแท่นขุดเจาะก๊าซกลางอ่าวไทย และราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่ (พฤษภาคม - สิงหาคม) ระบุว่า…

หลังจากที่ไปตรวจการผลิตก๊าซกลางอ่าวไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมาเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีก๊าซมากพอเพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งของการยันราคาค่าไฟฟ้าในรอบใหม่นี้ 

ต่อมาผมได้หารือกับท่านเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และท่านปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ และล่าสุดได้หารือกับผู้บริหาร กฟผ. เพื่อขอให้ช่วยกันดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้เต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาระค่าไฟฟ้ามากไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งทุกท่านทุกฝ่ายพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะทาง กฟผ. พร้อมที่จะแบกรับภาระหลายอย่างเพื่อประชาชน 

ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าราคาค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไป (พฤษภาคม - สิงหาคม) จะไม่สูงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ขอให้มั่นใจครับว่าผมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้อีกครั้งครับ

'Transformer Low Carbon เจริญชัย' รางวัลนวัตกรรม NiA ตอกย้ำ ลดค่าไฟ-ลดคาร์บอน อนุรักษ์พลังงาน

บจ.ฟาร์โซนิคส์ (ลำพูน) เมษาลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน พร้อมการสนับสนุนอนุรักษ์พลังงานโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มหาวิยาลัยราชภัฏลำปาง / สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง อย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่ LESS, CFP, CFO, BOI, Carbon Credit, Net Zero, Carbon Neutrality 

นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ กล่าว บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน และไว้ใจเลือกติดตั้งหม้อแปลง Low Carbon เป็นหม้อแปลงบริหารระบบจัดการพลังงานที่บริหารจัดการพลังงานสิ้นเปลืองให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเสถียรภาพกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงและยั่งยืน ตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรม, อาคาร สถานประกอบการตามนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลเร่งการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

หม้อแปลงดังกล่าว ลดค่าไฟฟ้า 5-20% (Energy Saving) ลดคาร์บอน 5-20% (Low Carbon) มากกว่า 100 ล้านตัน ลดมลพิษ (Low Emission) ทำให้อุปกรณ์อายุการใช้งานยาวนานขึ้น (Long Life Equipment) เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เจ้าของอาคาร ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน

นายสรสิทธิ์ ชลิศราพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด, ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการและบริการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้โอกาสติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า Low Carbon Platform การบริหารจัดการพลังงาน พร้อมก้าวสู่  Net Zero, LESS, CFP, CFO, Carbon Credit และ BOI นำล้ำทันสมัยที่สุดในอาเซียน อีกทั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบที่พร้อมจะดำเนินการตามนโยบายภาครัฐในการลดก๊าซเรือนกระจก และการประหยัดพลังงานอนุรักษ์พลังงาน ตอบโจทย์ นโยบายภาครัฐด้านการประหยัดพลังงาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด

ดร.ณัฐวุฒิ จารุวสุพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงาน smart energy & innovation และ นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้ร่วมวิจัยและได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัยหม้อแปลง Low Carbon และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response” ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าหม้อแปลงที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ที่กล่าวในข้างต้นตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงานถึง 9% โดยสามารถลดการใช้พลังงาน ลดตันทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา 2-5 ปี ซึ่ง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคมประชาชนและผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า

สภาอุตสาหกรรม 3 จังหวัด (เชียงใหม่, ลำพูน และลำปาง) กล่าว ขอแสดงความยินกับ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อนุรักษ์พลังงานและลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน อีกทั้งสภาฯ และ มช. พร้อมสนับสนุน บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำต้นแบบด้านการประหยัดพลังงาน ตอบโจทย์ภาครัฐด้านการประหยัดพลังงาน พร้อมก้าวสู่ LESS, CFP, CFO, BOI, Carbon Credit, Net Zero, Carbon Neutrality


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top