Friday, 4 July 2025
รัสเซีย

แม้สหรัฐฯ ไม่ส่งขีปนาวุธ 20,000 ลูกให้ยูเครน เชื่อใกล้บีบรัสเซียหยุดยิงได้

(9 มิ.ย. 68) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เปิดเผยในการสัมภาษณ์กับ ABC News ว่าสหรัฐฯ ได้ยกเลิกแผนส่งมอบขีปนาวุธต่อต้านโดรนจำนวน 20,000 ลูก ตามที่เคยรับปากไว้กับยูเครนในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน โดยอ้างว่าขีปนาวุธดังกล่าวถูกส่งไปยังกองกำลังอเมริกันในตะวันออกกลางแทน ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ยูเครนต้องต่อกรกับฝูงโดรนชนิดชาเฮด (Shahed) ที่รัสเซียนำมาใช้โจมตีอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้เหตุการณ์นี้จะถูกมองว่าเป็นอุปสรรคทางยุทธศาสตร์ แต่เซเลนสกียืนยันว่าเขาไม่ได้วิตกกังวลต่อการเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ และเขาเชื่อว่าตอนนี้ยูเครนอยู่ในจุดที่สามารถชนะรัสเซียได้ พร้อมกล่าวชัดเจนว่า “เรากำลังเข้าใกล้จุดที่เราแทบจะบังคับให้รัสเซียหยุดสงคราม หรืออย่างน้อยก็หยุดยิงชั่วคราว”

ผู้นำยูเครนยังอธิบายว่า กำลังมองเห็นผลจากปฏิบัติการทางทหารที่เจาะลึกเข้าไปภายในดินแดนรัสเซีย ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความตื่นตระหนกและรู้ซึ้งถึง “ศักยภาพแท้จริง” ของยูเครน ขณะที่เขาเน้นว่าโมเมนตัมนี้ช่วยให้เกิดแรงกดดันทางจิตใจต่อกองกำลังรัสเซีย

สำหรับเบื้องหลังการเปลี่ยนเส้นทางส่งมอบขีปนาวุธครั้งนี้ มีรายงานจาก Wall Street Journal และ Kyiv Independent ว่าเป็นคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากอิหร่านและกลุ่มฮูตีในเยเมน แต่เซเลนสกียังเรียกร้องให้สหรัฐฯ กลับมาส่งมอบยุทโธปกรณ์ครบถ้วน พร้อมขยายความร่วมมือหลากหลายด้านเพื่อช่วยเร่งจุดจบของสงครามและผลักดันให้รัสเซียยอมเจรจาหยุดยิงถาวร

วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ชี้ ‘เซเลนสกี’ รู้ดีว่ากำลังแพ้ แต่พยายามดึง ‘นาโต้’ เข้าร่วมสงครามกับรัสเซีย

(9 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ตระหนักดีว่ากำลังพ่ายแพ้ในสงคราม และพยายามดึงนาโต้ (NATO) เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกับรัสเซีย ตามคำกล่าวของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ทอมมี ทับเบอร์วิลล์ (Tommy Tubberville) 

ทับเบอร์วิลล์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานี WABC ว่า “ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีข้อสงสัย เซเลนสกีไม่สามารถชนะสงครามนี้ได้ด้วยตัวเอง เขารู้ดีว่าเขากำลังแพ้” พร้อมเสริมว่าการโจมตีสนามบินทหารรัสเซียในต้นเดือนมิถุนายนเป็นการยกระดับความขัดแย้งโดยเจตนา

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่าเคียฟได้ใช้โดรน FPV โจมตีสนามบินในภูมิภาคมูร์มันสค์, อีร์คุตสค์, อิวาโนโว, ริยาซาน และอามูร์ ซึ่งการโจมตีในบางพื้นที่ถูกต่อต้านไว้ได้ทั้งหมด

กระทรวงฯ ระบุว่า สนามบินในภูมิภาคมูร์มันสค์ และอีร์คุตสค์เกิดเพลิงไหม้แต่ได้ควบคุมไฟได้แล้ว และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในหมู่เจ้าหน้าที่จากการโจมตีครั้งนี้

ซีอีโอ Telegram โวย ‘ฝรั่งเศส’ ละเมิดเสรีภาพ อึ้ง!! ‘อเมริกา’ ล้วงข้อมูลโดยไม่ต้องแจ้งผู้ใช้??

เมื่อวันที่ (9 มิ.ย. 68) ที่ผ่านมา ทัคเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) นักข่าวชาวอเมริกัน เผยแพร่บทสัมภาษณ์ล่าสุดกับ พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยพูดคุยกันในเดือนเมษายน 2024 เพียง 4 เดือนให้หลัง ดูรอฟก็ถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมในปารีส ด้วยข้อหาหนักหลายรายการ เช่น เพิกเฉยต่อคำขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ สนับสนุนการกระจายซอฟต์แวร์แฮ็กและภาพลามกเด็ก รวมถึงฟอกเงินผิดกฎหมาย

ดูรอฟ ระบุว่า การสอบสวนในฝรั่งเศสยังไม่สิ้นสุด และหากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อาจยืดเยื้อนานถึง 2 ปี ขณะนี้เขาได้รับการปล่อยตัว แต่ยังต้องขออนุญาตหากต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางไปเยี่ยมลูกในดูไบ และมารดาที่ป่วยหนัก เขาเล่าว่าถูกจับกุมที่สนามบินและถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจนาน 4 วัน พร้อมล่ามชาวรัสเซียที่อพยพมาอยู่ฝรั่งเศสช่วยแปลระหว่างการสอบสวน

ล่ามคนดังกล่าวเล่าให้ดูรอฟฟังหลังทำหน้าที่ต่อเนื่องภายใต้แรงกดดันของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 วัน ว่า เธอเคยคิดว่าการออกจากรัสเซียมาฝรั่งเศสจะทำให้ได้พบกับเสรีภาพที่แท้จริง เพราะเชื่อในชื่อเสียงของฝรั่งเศสในฐานะดินแดนแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อได้สัมผัสด้วยตัวเองกับกระบวนการยุติธรรมฝรั่งเศส กลับไม่ใช่อย่างที่เธอคิด

ดูรอฟวิจารณ์การจับกุมว่า “น่าประหลาดใจมาก” เพราะ Telegram ไม่เคยเพิกเฉยต่อคำร้องขอที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมแย้งว่าฝรั่งเศสไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ เช่น การค้นหาช่องทางติดต่อผ่าน Google ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เขาย้ำว่า Telegram ไม่ได้สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมาย และการพุ่งเป้ามายังแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน เป็นการทำร้ายภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสเอง

นอกจากนี้ ดูรอฟยังเปิดเผยเหตุผลที่ไม่ย้ายทีมพัฒนา Telegram ไปยังสหรัฐฯ โดยระบุว่า ในฝรั่งเศสและอดีตสหภาพโซเวียต ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “gag order” หรือคำสั่งลับจากรัฐที่สามารถบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าของบัญชี หรือแม้แต่ไม่ต้องให้เขารู้ตัว เขาเชื่อว่าสิ่งนี้ละเมิดความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐาน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่ตั้งศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ในอเมริกา

รัสเซีย-เกาหลีเหนือ กลับมาเดินรถไฟระยะไกลสุดในโลกอีกครั้งในรอบ 4 ปี ระหว่างกรุงเปียงยาง-มอสโก เริ่ม 17 มิ.ย.นี้

(11 มิ.ย. 68) รัสเซียและเกาหลีเหนือเตรียมกลับมาให้บริการ เดินทางด้วยรถไฟโดยสารที่ระยะไกลสุดในโลกระหว่างกรุงเปียงยาง-มอสโก เริ่ม 17 มิถุนายนนี้ หลังระงับไปกว่า 4 ปี จากมาตรการปิดพรมแดนช่วงโควิด-19

รถไฟสายตรงดังกล่าวใช้เวลาเดินทาง 8 วัน โดยขาไปจะออกจากกรุงเปียงยาง วันที่ 17 มิถุนายน ถึงมอสโก วันที่ 25 มิถุนายน ส่วนขากลับจะออกจากกรุงมอสโก วันที่ 26 มิถุนายน ถึงเปียงยางวันที่ 4 กรกฎาคม ให้บริการเดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 3 และ 17 ของทุกเดือน

สำหรับรถไฟจะให้บริการแบบไม่แวะจอดนอกกำหนด โดยจะมีจุดจอดตามเมืองใหญ่ในรัสเซียประมาณ 12 เมือง เช่น อีร์คุตสค์ ครัสโนยาสค์ โนโวซีบีสค์และเยคาเตรินบุร์ก โดยทางการรถไฟเกาหลีเหนือจะเป็นผู้ดำเนินการตู้โดยสารของตนเอง

ขณะที่ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ จะมีการกลับมาเปิดเดินรถไฟระหว่างเปียงยาง-ฮาบารอฟสค์ แบบรายเดือนเพิ่มเติมด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สะท้อนความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

ทั้งนี้ ความร่วมมือรัสเซีย-เกาหลีเหนือแน่นแฟ้นขึ้นหลังสงครามยูเครน โดยมีรายงานว่า เกาหลีเหนือส่งกำลังสนับสนุนรัสเซียในแนวรบเมืองคูร์สก์ และได้ลงนามข้อตกลงความมั่นคงร่วมกันเมื่อปลายปี 2024

‘รัสเซีย’ โจมตี ‘ยูเครน’ ครั้งใหญ่สุดในรอบ 3 ปี โรงงานผลิตอาวุธ-คลังน้ำมัน-โครงสร้างพื้นฐานพังยับ

(11 มิ.ย. 68) กรุงเคียฟเผชิญการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในปี 2565 โดยมีการโจมตีเป้าหมายสำคัญทางทหารและอุตสาหกรรมทั่วเมือง รวมถึงโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองโอเดสซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และบาดเจ็บอีกหลายคน

กระทรวงกลาโหมรัสเซียยืนยันว่า การโจมตีแบบผสมผสานด้วยขีปนาวุธและโดรนครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมการบิน ขีปนาวุธ ยานเกราะ และโรงงานต่อเรือในเคียฟ โดยเฉพาะโรงงาน Artem, โรงงานหุ้มเกราะเคียฟ และคลังเชื้อเพลิงจรวดซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไฟยังคงลุกไหม้หลายชั่วโมงหลังถูกถล่ม

นอกจากนี้ โดรนและขีปนาวุธรัสเซียมากกว่า 200 ลำพุ่งเป้าโจมตีจุดยุทธศาสตร์ในเขต Vyshgorod, Boryspil, Bila Tserkva รวมถึงสนามบินทหารและคลังน้ำมันหลักของเคียฟ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมได้รับความเสียหาย ถนน เส้นทางรถไฟ และคลังสินค้าหลายแห่งถูกทำลาย

หนึ่งในจุดที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักคือคลังเก็บหัวรถจักร Darnitsa ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทหารทางราง และฐานซ่อมบำรุงของยานเกราะที่เก็บรถถังและอาวุธหนัก ขณะที่วิดีโอจากภาคสนามเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เฮลิคอปเตอร์ Ka-32 พยายามควบคุมเพลิงในคลังเชื้อเพลิงกลางเมือง

ด้านประธานาธิบดีเซเลนสกี ประณามรัสเซียว่า “จงใจโจมตีหัวใจของชาติ” พร้อมเรียกร้องพันธมิตรเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรและสนับสนุนระบบป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มเติม แม้จะมีความพยายามเจรจาสันติภาพเมื่อไม่นานนี้ แต่การโจมตีล่าสุดยิ่งตอกย้ำความตึงเครียดของสงครามที่ยังไม่มีจุดสิ้นสุด

เอกสารลับรัสเซียเผย FSB กลัวจีนแทรกซึมล้วงข้อมูล อ้างปักกิ่งวางแผนผนวกดินแดน ‘วลาดิวอสต็อก’

(11 มิ.ย. 68) เอกสารลับของหน่วยข่าวกรองภายในรัสเซีย (F.S.B.) ที่เพิ่งถูกเปิดเผย ระบุว่าจีนเป็น 'ศัตรู' และกำลังแทรกซึมเพื่อขโมยเทคโนโลยีทางทหารของรัสเซีย รวมถึงพยายามชักชวนผู้เชี่ยวชาญรัสเซียให้ทำงานเป็นสายลับ

แม้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะประกาศมิตรภาพแน่นแฟ้นกับจีนอย่างเป็นทางการ แต่ภายใน F.S.B. ได้ดำเนินแผนต้านการจารกรรมจากจีนตั้งแต่ต้นปี 2022 ภายใต้ชื่อ 'Entente-4' พร้อมจับตานักวิชาการ นักข่าว และเจ้าหน้าที่ที่มีความเชื่อมโยงกับจีน

รายงานระบุว่าจีนพยายามล้วงข้อมูลการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน โดยมุ่งเรียนรู้เทคโนโลยีโดรน การรับมืออาวุธตะวันตก และกำลังจับตานักวิทยาศาสตร์การบินและอดีตวิศวกรโครงการยุทธศาสตร์โซเวียตที่ถูกยุบ

จีนยังถูกกล่าวหาว่าใช้มหาวิทยาลัยและบริษัทเหมืองแร่เป็นฉากหน้าในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิภาคอาร์กติกของรัสเซีย พร้อมทั้งขยายอิทธิพลในเอเชียกลางผ่านยุทธศาสตร์แลกเปลี่ยนเชิงมนุษยธรรม โดยเริ่มที่อุซเบกิสถาน

F.S.B. แสดงความกังวลว่าจีนกำลังพยายามสร้างข้ออ้างทางประวัติศาสตร์เพื่อเรียกร้องดินแดนในภาคตะวันออกไกลของรัสเซียอย่าง 'วลาดิวอสต็อก' และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการวิจัยที่อาจเชื่อมโยงถึงแนวคิด 'ทวงคืนดินแดน' 

สำหรับ วลาดิวอสต็อก (Vladivostok) เป็นเมืองท่าสำคัญทางตะวันออกไกลของรัสเซียในปัจจุบัน เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจักรวรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ชิง ก่อนที่จะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียอย่างเป็นทางการในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ผ่านสนธิสัญญาที่ฝ่ายจีนมองว่าเป็น 'สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม'

นอกจากในรายงานยังอ้างถึงเจ้าหน้าที่รัสเซียได้รับคำสั่งให้สอดแนมผู้ใช้งานแอป WeChat รวมถึงตรวจสอบนักศึกษารัสเซียกว่า 20,000 คนในจีน โดยจีนยังพยายามสรรหาชาวรัสเซียที่แต่งงานกับชาวจีนเป็นสายลับ

แม้เอกสารจะแสดงความกังวลอย่างชัดเจน แต่ก็ระบุว่าการรักษาความสัมพันธ์กับจีนยังสำคัญยิ่ง เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องได้รับอนุมัติจากระดับสูงสุดก่อนจะดำเนินการใด ๆ ที่อาจกระทบสัมพันธ์ทวิภาคี

‘คิม จองอึน’ ยกสัมพันธ์รัสเซียคือสายเลือดพี่น้อง ประกาศจับมือแน่น!!...ขอยืนเคียงข้างปูตินตลอดไป

(12 มิ.ย. 68) สื่อทางการเกาหลีเหนือ KCNA รายงานว่า คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ส่งสาส์นแสดงความยินดีถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เนื่องในวันชาติรัสเซีย โดยเรียกปูตินว่า “มิตรและสหายที่รักที่สุด” พร้อมยกย่องความสัมพันธ์ที่หล่อหลอมด้วยเลือดระหว่างทั้งสองชาติ

คิม จองอึน ระบุว่า รัสเซียเป็น “รัฐพี่น้อง” และมิตรภาพดั้งเดิมระหว่างเปียงยางและมอสโกยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น ภายใต้ความร่วมมือเชิงทหารที่ทั้งสองประเทศได้ต่อสู้ร่วมกันใน “สงครามอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องอธิปไตยของรัสเซีย”

ภายใต้สนธิสัญญาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบเบ็ดเสร็จ กองกำลังเกาหลีเหนือได้ถูกส่งไปประจำในแคว้นเคอร์สค์ของรัสเซีย โดยมีบทบาทช่วยขับไล่กองทัพยูเครนออกจากพื้นที่ชายแดน ซึ่งปูตินได้แสดงความขอบคุณและยกย่องทหารเกาหลีเหนือว่า “ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเกียรติและความกล้าหาญ”

ในรายงานจากกองทัพรัสเซียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายพลวาเลรี เกราซิมอฟ ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของกองทัพประชาชนเกาหลีในการปลดปล่อยแคว้นเคอร์สค์ และปูตินกล่าวว่า “ประชาชนรัสเซียจะไม่มีวันลืมวีรกรรมของทหารเกาหลีเหนือ”

ทั้งนี้ ผู้นำเกาหลีเหนือยืนยันว่าเขาและประเทศจะ “ยืนเคียงข้างปูตินและสหพันธรัฐรัสเซียตลอดไป” สะท้อนถึงแนวโน้มความร่วมมือด้านการทหารและการเมืองระหว่างสองชาติท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังยืดเยื้อในยูเครน

‘อิหร่าน’ ขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย เพื่อต่อสู้กับ ‘อิสราเอล’ หลังการโจมตี!! โรงงานนิวเคลียร์ และแหล่งก๊าซเซาท์พาร์ส

(15 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘คัดข่าว’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

อิหร่านร้องรัสเซียช่วยทหารต้านอิสราเอล แต่ถูกปฏิเสธตามสนธิสัญญา

วันที่ 15 มิ.ย. 2568 สื่อบน X รายงานว่า อิหร่านพยายามขอความช่วยเหลือทางทหารจากรัสเซียเพื่อต่อสู้กับอิสราเอล หลังการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์และแหล่งก๊าซเซาท์พาร์สเมื่อ 13-14 มิ.ย. 2568 

อย่างไรก็ตาม รัสเซียปฏิเสธ 

โดยย้ำว่าไม่มีภาระผูกพันตามสนธิสัญญาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ลงนามเมื่อ 17 ม.ค. 2568 ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และมาซูด เปเซชเคียน 

สนธิสัญญานี้เน้นความร่วมมือด้านการค้า การทหาร และพลังงาน แต่ไม่มีข้อตกลงป้องกันร่วมเหมือนที่รัสเซียทำกับเกาหลีเหนือหรือเบลารุส 

ผู้เชี่ยวชาญจาก Carnegie Endowment ชี้ว่า สนธิสัญญานี้เป็นเพียงการยืนยันความสัมพันธ์ที่มีอยู่ ไม่ใช่พันธมิตรทหารเต็มรูปแบบ อิหร่านเผชิญความท้าทายจากความสูญเสียในซีเรียและการคว่ำบาตร ขณะที่รัสเซียระวังไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

รัสเซีย ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 ราย สวนทางยูเครน ส่งคืนให้รัสเซียเพียงแค่ 78 ราย

(18 มิ.ย.68) สื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า ทางการยูเครนได้รับร่างของทหารที่เสียชีวิตในสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีก 1,245 ร่าง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นการส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตรอบสุดท้ายตามที่ตกลงไว้ในการเจรจาที่อิสตันบูล ประเทศทูร์เคีย

ขณะที่ทางด้าน วลาดิมีร์ เมดินสกี ผู้ช่วยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายรัสเซีย เผยว่า รัสเซียได้ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 นาย และยูเครนได้ส่งร่างทหารรัสเซียกลับคืนมา 78 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตครั้งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่สื่อตะวันตก และ ยูเครน อ้างว่าทหารรัสเซีย เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ยูเครนไม่สามารถนำมาแลกกันในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ทำได้เพียงการส่งคืน 78 ร่างเท่านั้น

โฆษกรัสเซียฟาดแรงอิสราเอล ‘อย่าบีบอิหร่านเปลี่ยนระบอบ’ เตือนการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์คือหายนะ

(19 มิ.ย. 68) มาเรีย ซาคาโรวา กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ออกมาแถลงอย่างชัดเจนว่า ‘อิสราเอลไม่มีสิทธิ์ที่จะบังคับให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง’ และเตือนว่าการโจมตีเป้าหมายด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นอยู่ ‘ใกล้เคียงกับหายนะระดับมิลลิเมตร’

ซาคาโรวาเน้นถึงสิทธิของอิหร่านในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ทางสันติภาพ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการลอบโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ถือเป็น ‘เกมอันน่าสยดสยอง’ ที่สามารถนำไปสู่ผลที่ไม่อาจคาดเดาได้ โดยย้ำว่าอิหร่านมีสิทธิ์ ‘มีและจะมี’ โรงงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพต่อไป

ขณะที่ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียชี้ว่า ขณะนี้อิหร่านกำลังรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่ง แม้จะมีการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากอิสราเอล และยอมรับความเป็นกลางของรัสเซียในการใช้มาตรการทางทหาร แต่จะยังคงให้การสนับสนุนในระดับการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงการลุกลามของวิกฤตการณ์

ขณะที่ชาติตะวันตกและสื่อระหว่างประเทศหลายแห่งเตือนว่าการมุ่งเป้า ‘เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง’ อาจนำไปสู่ความวุ่นวายในภูมิภาคและมิใช่ทางออกที่เหมาะสม เป้าหมายหลักควรเป็นการหยุดโครงการนิวเคลียร์ทางทหารของอิหร่านเท่านั้น

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนแนวทางบีบบังคับให้อิหร่านเปลี่ยนผู้นำ และเรียกร้องให้เผชิญหน้าด้วยบทบาททางการทูตและการเจรจาที่จริงจังแทน ทั้งนี้ รัสเซียและชาติยุโรปยังคงผลักดันให้เปิดโต๊ะเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตอย่างสันติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top