Sunday, 19 May 2024
รัสเซีย

‘สายลับสหรัฐฯ’ โว รู้แผนก่อกบฏของ ‘วากเนอร์’ ก่อนปูติน ชี้!! สืบพบสัญญาณความผิดปกติได้ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.

เมื่อไม่นานนี้ สื่อสหรัฐฯ ทั้ง Washington Post และ New York Times รายงานว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ รับทราบข้อมูลล่วงหน้าที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่กองกำลัง วากเนอร์จะก่อกบฏภายในรัสเซีย และได้สรุปรายงานนี้ให้กับทั้งทางทำเนียบขาว สภาคองเกรซ และฝ่ายกลาโหมก่อนหน้าจะเกิดเหตุจริงเพียงไม่กี่วัน

สายสืบสหรัฐฯ อ้างว่า สามารถจับสัญญาณการเคลื่อนไหวบางอย่างของเยฟเกนี พริโกซิน และกองกำลังวากเนอร์ในการต่อต้าน นายพลเซอร์เก ชอยกู ผู้นำฝ่ายกลาโหมรัสเซีย ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ถึงแม้จะไม่รู้แน่ชัดว่า พริโกซิน ริเริ่มวางแผนการตั้งแต่เมื่อใด แต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของเขาทำให้ทีมข่าวกรองของสหรัฐฯ รับรู้ถึงความไม่ปกติภายใน ว่าน่าจะมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด คือ ‘สงครามกลางเมือง’ ได้

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่า จุดแตกหักของเรื่องนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมรัสเซีย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา ให้กองกำลังอาสาสมัครทั้งหมด ต้องมาขึ้นทะเบียน และลงนามข้อตกลงกับกองทัพรัฐบาล ถึงแม้ว่าจะไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นกลุ่มกองกำลังวากเนอร์ แต่หลักปฏิบัตินั้นชัดเจนว่า ทหารกองอาสาสมัครทั้งหมด ทุกกลุ่ม ครอบคลุมถึงหน่วยของกองทหารรับจ้างวากเนอร์ ต้องอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงกลาโหม

นั่นหมายความว่า ฝ่ายกระทรวงกลาโหมรัสเซีย มีเป้าหมายที่จะควบรวมกองกำลังวากเนอร์ เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ จากที่เคยเป็นกองกำลังอิสระ บริหารในรูปแบบบริษัทเอกชน ที่มีเยฟเกนี พริโกซิน เป็นผู้นำ และยังสร้างผลงานโดดเด่นในการสู้รบในยูเครน โดยเฉพาะสมรภูมิในเมืองบัคมุท

เจ้าหน้าที่ฝ่ายการทหารของยูเครนก็ได้จับตา พริโกซิน หลังวันประกาศเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. เช่นกัน และเชื่อว่าผู้นำกองกำลังวากเนอร์ เริ่มเคลื่อนพลเพื่อต่อต้านรัฐบาลมอสโกแล้วตั้งแต่วันนั้น และยังแสดงออกชัดเจนว่า ‘ไม่ลงรอย’ กับผู้นำสุงสุดของฝ่ายกลาโหมรัสเซียหลายครั้ง และมั่นใจว่า พริโกซินไม่รู้ตัวว่า ทั้งรัฐบาลยูเครน และหน่วยข่าวกรองสหรัฐกำลังจับตาดูอยู่ อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลับระหว่างกันอีกด้วย

หน่วยสอดแนมลับของสหรัฐฯ เชื่อว่า แม้กระทั่งปูตินเอง น่าจะเพิ่งรับรายงานแผนการก่อกบฏของพริโกซิน ผู้ซึ่งเคยเป็นสหายคนสนิทของเขา ล่วงหน้าเพียงวันเดียวเท่านั้น ซึ่งพริโกซินก็ดำเนินตามแผนการที่วางไว้อย่างรวดเร็วจนน่าแปลกใจ

และทันทีที่กลุ่มวากเนอร์ ข้ามชายแดนยูเครนเข้ามาในรัสเซียในช่วงวันศุกร์ที่ 23 มิ.ย. ก็บุกยึดกองบัญชาการกองทัพรัสเซียในเมืองรอสตอฟได้ทันทีในวันเสาร์ และประกาศบุกมอสโกต่อในวันอาทิตย์ สร้างความปั่นป่วนโกลาหลไปทั่วกรุงมอสโก ก่อนที่จะเยฟเกนี พริโกซิน จะยอมรับเงื่อนไขของทางรัฐบาลรัสเซีย ลี้ภัยไปเบลารุส และให้กลุ่มวากเนอร์ ถอยกลับไปประจำในฐานที่มั่นของตน

แม้ว่าเหตุการณ์จะสงบแล้ว แต่กองทัพรัสเซียคงไม่อาจไว้วางใจกองกำลังวากเนอร์ได้อีกต่อไป แม้ปูตินจะยอมรับว่า ทหารวากเนอร์ส่วนใหญ่ถือเป็นนักรบผู้กล้าที่ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ แต่หลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา จำเป็นที่จะต้องสลายกลุ่มวากเนอร์ โดยปูตินยื่นข้อเสนอว่า กองกำลังวากเนอร์มีทางเลือก 3 ทาง คือ เข้าประจำการในกองทัพรัสเซีย, กลับบ้าน หรือลี้ภัยไปเบลารุสเท่านั้น

จากคำกล่าวอ้างของเยฟเกนี พริโกซิน มีกองกำลังวากเนอร์ ที่ประจำการพร้อมรบอยู่ราว 25,000 คน และมีกองหนุนสำรองอีกนับหมื่นคน

‘ผู้นำกบฏวากเนอร์’ เข้าพบ ‘ประธานาธิบปูติน’ หลังก่อกบฏ พร้อมกล่าวสาบาน จะขอจงรักภักดีต่อรัฐบาลรัสเซีย

(11 ก.ค. 66) นายเยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำผู้นำกลุ่มกบฏวากเนอร์ได้เข้าพบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพียง 5 วันหลังจากก่อเหตุกบฏที่กินเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง โดยนายพริโกซินได้ประกาศความจงรักภักดีต่อรัฐบาลรัสเซียในขณะเข้าพบปูตินอีกด้วย

นายดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า การพบกันของปูตินและพริโกซินเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และไม่ได้มีเพียงแค่ตัวของนายพริโกซินเท่านั้น แต่ยังมีผู้บัญชาการจากกลุ่มวากเนอร์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของพริโกซินด้วย

เปสคอฟกล่าวว่า ผู้บัญชาการของวากเนอร์ได้พูดถึงมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเน้นย้ำว่าพวกเขาถือเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขัน และเป็นทหารของประมุขแห่งรัฐและผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยพวกเขาพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อมาตุภูมิต่อไป

ทั้งนี้ การยืนยันว่าปูตินได้พบกับนายพริโกซินซึ่งเป็นผู้นำทัพวากเนอร์ บุกไปยังกรุงมอสโกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกลาโหมถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

พริโกซินไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการหารือที่เกิดขึ้น และขณะนี้ชะตากรรมของเขาก็ยังไม่ชัดเจน โดยการประกาศดังกล่าวทำให้เห็นว่า มีการเจรจาเบื้องหลังอยู่มากมายในที่ลับ และพริโกซินยังคงถูกดำเนินคดีในความผิดทางการเงินหรือข้อหาอื่น ๆ ต่อไป

'รัสเซีย' ขู่!! พร้อมใช้อาวุธแบบเดียวกันโต้ตอบ หลังสหรัฐฯ จัดหา 'ระเบิดพวง' ป้อนให้ยูเครน

(12 ก.ค. 66) สหรัฐฯ แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะจัดหากระสุนคลัสเตอร์ให้แก่ยูเครน อาวุธระเบิดที่ปกติแล้วจะปลดปล่อยลูกระเบิดขนาดเล็กจำนวนมากกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง

คลัสเตอร์บอมบ์ถูกห้ามโดยประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 ชาติทั่วโลก สืบเนื่องจากมันเสี่ยงก่ออันตรายแก่พลเรือน ปกติแล้วมันปลดปล่อยระเบิดขนาดเล็กกว่าที่สามารถเข่นฆ่าชีวิตโดยไม่เลือกหน้าในพื้นที่หนึ่งเป็นบริเวณกว้าง ส่วนกระสุนลูกที่ไม่ระเบิดนั้นก็เสี่ยงก่ออันตรายเป็นเวลานานหลายทศวรรษ หลังความขัดแย้งสิ้นสุดลง

สื่อมวลชนรัสเซียอ้างคำกล่าวของ ชอยกู ระบุว่ารัสเซียมีกระสุนคลัสเตอร์ในครอบครองเช่นกัน แต่จนถึงตอนนี้ยังคงอดทนอดกลั้นจากการใช้มันในปฏิบัติการพิเศษด้านการทหาร

อย่างไรก็ตาม รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า สหรัฐฯ เคยกล่าวหารัสเซียใช้กระสุนคลัสเตอร์ในยูเครน และบอกว่าระเบิดลูกปรายของมอสโกมีอัตราการด้านสูงสุดถึง 40% ส่งผลให้สมรภูมิรบเต็มไปด้วยลูกระเบิดขนาดเล็กที่ไม่ทำงาน ขณะที่วอชิงตัน กล่าวอ้างว่าระเบิดคลัสเตอร์ของพวกเขาที่กำลังส่งมอบแก่ยูเครนนั้น มีอัตราการกระสุนด้านไม่เกิน 2.35%

ชอยกู ระบุในวันอังคาร (11 ก.ค.) ว่า "ในกรณีที่สหรัฐฯ จัดหากระสุนคลัสเตอร์ให้ยูเครน ทางกองกำลังรัสเซียจะถูกบีบให้ใช้อาวุธแบบเดียวกันกับกองกำลังยูเครนเป็นการตอบโต้" เขากล่าว "พวกเขาควรจำไว้ว่า รัสเซียก็มีกระสุนคลัสเตอร์ในประจำการเช่นกัน และในทุก ๆ วาระ พวกมันมีประสิทธิภาพเหนือกว่าของอเมริกาเป็นอย่างมาก"

รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียบอกว่ากองทัพมอสโกกำลังใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องกำลังพลของพวกเขาจากอาวุธดังกล่าว

กลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอตช์ อ้างว่าทั้งมอสโกและเคียฟต่างก็เคยใช้กระสุนคลัสเตอร์ระหว่างความขัดแย้งในยูเครนที่ลากยาวมาเกือบ 17 เดือนแล้ว
.
รัสเซีย ยูเครน และสหรัฐฯ ต่างไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย (Convention on Cluster Munitions) ซึ่งห้ามใช้ จัดเก็บ ผลิตและขนย้ายกระสุนคลัสเตอร์โดยสิ้นเชิง และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2010

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อ้างว่าจำเป็นต้องอนุมัติคำขอของทางเคียฟ สำหรับกระสุนคลัสเตอร์ หลังจากเริ่มชัดเจนแล้วว่า ยูเครน ซึ่งเวลานี้กำลังปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รัสเซีย กำลังขาดแคลนกระสุนปืนใหญ่ทั่วไป และกำลังผลิตคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของยูเครน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นแม้ว่าบรรดาพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ อย่างสหราชอาณาจักร แคนาดา และเยอรมนี แสดงจุดยืนคัดค้านการใช้กระสุนคลัสเตอร์

ในด้านสถานการณ์การสู้รบ ชอยกู แสดงความคิดเห็นว่า รัสเซียกำลังลดศักยภาพการโจมตีตอบโต้ของยูเครนลงอย่างมาก และกองกำลังรัสเซียสามารถรุกคืบในภาคสนามระหว่างปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของตนเองเช่นกัน ในทิศทางเมืองลีมัน ในแคว้นโดเนตส์ก ทางภาคตะวันออกของยูเครน

‘วากเนอร์’ ยอมจำนน ส่งมอบอาวุธให้กองทัพรัสเซียแล้ว ด้าน ‘ปูติน’ เสนอเงื่อนไข เพื่อชี้ชะตา ‘ผู้นำเยฟเกนี’

(13 ก.ค. 66) กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมว่า กลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ได้ทำการส่งมอบอาวุธให้กับกองทัพรัสเซีย หลังเกิดการก่อกบฏช่วงสั้น ๆ เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในการให้ข่าวของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ยังได้มีการเผยแพร่ภาพอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่วากเนอร์ส่งมอบให้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนถึงความพยายามในการคลี่คลายภัยคุกคาม และดูเหมือนจะเป็นการประกาศยุติปฎิบัติการของกลุ่มทหารรับจ้างกลุ่มนี้ ในสนามรบภายในดินแดนยูเครน

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า อาวุธที่มีการส่งมอบการมีมากกว่า 2,000 ชิ้น ตั้งแต่รถถัง เครื่องยิงจรวด ปืนใหญ่ และระบบป้องกันภัยทางอากาศ พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์อีกมากกว่า 2,500 ตัน และอาวุธปืนมากกว่า 20,000 กระบอก

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลรัสเซียออกมายอมรับเมื่อต้นสัปดาห์ว่า นายเยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำกลุ่มวากเนอร์และผู้บัญชาการระดับสูง 34 นายของเขา ได้พบกับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เพียง 5 วันหลังจากการก่อกบฏ โดยผู้บัญชาการวากเนอร์ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อปูติน และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อมาตุภูมิต่อไป

ขณะที่ปูตินกล่าวว่า กองทหารของวากเนอร์ต้องเลือกว่าจะเซ็นสัญญากับกระทรวงกลาโหม ย้ายไปอยู่เบลารุส หรือเกษียณจากการทำงาน

ภาพการส่งมอบอาวุธดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางความให้ชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของพริโกซิน และเงื่อนไขข้อตกลงที่มีการนิรโทษกรรมให้กับเขาพร้อมกับทหารรับจ้างในสังกัด

ทางการไครเมียสั่งปิดสะพานฉุกเฉินไม่มีกำหนด หลังเหตุระเบิดสะพาน ทำผู้เสียชีวิต 2 ราย

ยังอยู่ในสถานการณ์สงคราม ที่มีการโจมตี ตอบโต้กันเป็นรายวัน สำหรับฝ่ายรัสเซีย และ ยูเครน ที่ไม่มีใครยอมใคร

ล่าสุดวันนี้มีรายงานเหตุระเบิดที่สะพานไครเมียของรัสเซีย ที่เชื่อมต่อระหว่างคาบสมุทรไครเมีย กับ แคว้นครัสโนดาร์ทางฝั่งรัสเซีย จนทางการไครเมียต้องสั่งปิดสะพานฉุกเฉิน

นายเซอร์เก้ อาคสโยนอฟ ผู้ว่าการไครเมียที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลมอสโควได้ออกมายืนยันผ่าน Telegram ว่าเกิดเหตุระเบิดบริเวณสะพานจริง ที่ตำแหน่งเสาต้นที่ 145 จึงต้องสั่งปิดการจราจรบนสะพานชั่วคราว โดยไม่มีการระบุรายละเอียดชัดเจนถึงสภาพความเสียหายใดๆ

แต่ต่อมาสื่อรัสเซียรายงานเพิ่มเติมว่า เหตุระเบิดที่สะพานไครเมียอาจทำให้ตารางเดินรถไฟต้องเปลี่ยนแปลงฉุกเฉิน อีกทั้งยังรายงานว่า การระเบิดรุนแรงจนได้ยินไกลไปทั่วบริเวณ

ซึ่งล่าสุด มีรายงานผู้เสียชีวิตบนสะพานไครเมียแล้วถึง 2 ราย โดย นาย ยาเชสลาฟ แกรดคอฟ ผู้ว่าการเมืองเบลโกรอด ทางตอนใต้ของรัสเซีย รายงานว่าเป็นครอบครัวชาวเมืองเบลโกรอด ที่เป็นพ่อ-แม่ เดินทางพร้อมกับลูกสาว แต่พ่อและแม่เสียชีวิต ส่วนลูกสาวได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ด้านกองทัพยูเครนในเมืองโอเดสซา ก็ออกมาโพสต์ภาพความเสียหายของสะพานไครเมียในวันนี้ลงในช่องทาง Telegram แต่ไม่ได้ยอมรับว่าเป็นฝีมือของกองทัพยูเครนที่เป็นผู้โจมตีสะพานแห่งนี้

สะพานข้ามช่องแคบเคียร์ช หรือ ที่มักนิยมเรียกว่าสะพานไครเมีย เป็นหนึ่งในผลงานก่อสร้างที่ปูติน ภูมิใจ หลังจากที่รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียได้ในปี 2014 ก็เดินหน้าโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อม 2 แผ่นดินระหว่างรัสเซีย และ ไครเมียที่มีความยาวกว่า 18 กิโลเมตร

และปัจจุบัน เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในยุโรป เปิดสัญจรทั้งทางรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป รถบรรทุกขนส่ง และ ทางรถไฟ นับเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าหลักเส้นหนึ่งของรัสเซีย และยังส่งเสริมเศรษฐกิจของคาบสมุทรไครเมีย ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวรัสเซีย ที่เดินทางมาตากอากาศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

แต่ด้วยสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้สะพานไครเมียเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการโจมตีของฝ่ายต่อต้านรัสเซียเรื่อยมา เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2022 ที่มีข่าวการโจมตีสะพานด้วยระเบิด โดยทางฝ่ายรัสเซียได้ออกมากล่าวหาว่า รัฐบาลยูเครนอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมที่สะพานแห่งนี้ 

ส่วนการโจมตีครั้งล่าสุดในวันนี้ ช่อง Grey Zone Channel ของรัสเซีย รายงานว่า มีการโจมตีถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่ช่วงตี 3 และได้สร้างความเสียหายแก่ตัวตอม่อสะพาน จนทางการไครเมียต้องประกาศปิดสะพาน ทำให้สภาพจราจรระหว่าง 2 ฝั่ง ติดขัดอย่างมาก

จอร์จ บาร์รอส นักวิชาการจากสถาบันสงครามในกรุงวอชิงตัน ดีซี ให้ความเห็นว่า สะพานไครเมียมีความสำคัญกับรัสเซียมากกว่าแค่เส้นทางคมนาคม หรือขนส่งสินค้า เพราะ เป็นเส้นทางบกทางเดียว ที่รัสเซียใช้ลำเลียงพลหลักหมื่นนาย และเสบียงจากถนนเลียบชายฝั่งทะเลอะซอฟ ข้ามมาไครเมีย เพื่อต่อขึ้นไปยังยูเครน ดังนั้นฝ่ายรัสเซียมีปัญหาแน่นอน ถ้าเกิดสะพานไครเมียแห่งนี้เสียหายจนต้องปิด ไม่ว่าจะเพียงแค่ชั่วคราว หรือถาวรก็ตาม

แม้ในเวลานี้ ความเสียหายบนสะพานไครเมียยังคงคลุมเครือ แต่ทางการไครเมียออกมาแถลงว่า ข้าวของที่จำเป็นบนคาบสมุทรไครเมียยังมีเพียงพอ แต่เตือนให้ชาวไครเมียหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามสะพานในช่วงนี้จนกว่าจะเคลียร์ปัญหาบนสะพานได้ ซึ่งจะช้าหรือเร็ว ยังไม่มีกำหนดชัดเจน

แม้แต่ยักษ์ 10 ตาอย่าง ทศกัณฐ์ ยังมีกล่องดวงใจ ที่ให้ใครแตะต้องไม่ได้ ก็ไม่แปลกใจว่า ผู้นำ 2 ทศวรรษอย่าง วลาดิมีร์ ปูติน จะมีของหวงที่เป็นจุดอ่อนอย่างสะพานไครเมีย หนึ่งในงานภูมิใจของเขา เหมือนกัน เพียงแต่กล่องดวงใจนี้ ขยี้แล้วยักษ์จะตาย หรือ จะร้ายกว่าเดิม เพิ่มเติมคือมหากาพย์ ก็ต้องมาว่ากันต่อไป 

'ปูติน' สั่งยึด 2 กิจการยุโรป 'นม Danone-เบียร์ Carlsberg' โต้ตอบชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียแบบ 'ตาต่อตาฟันต่อฟัน'

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ลงนามคำสั่งใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ 16 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้ทางการรัสเซียเข้าควบคุมกิจการ 2 บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ในรัสเซีย ได้แก่ Danone ผู้ผลิตโยเกิร์ตชั้นนำจากฝรั่งเศส และ โรงงานเบียร์ Carlberg ของเดนมาร์ก โดยได้แต่งตั้งหน่วยงานเข้ามาบริหารจัดการชั่วคราวในกิจการทั้ง 2 แห่งแล้ว

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลมอสโคว์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำรัสเซียได้ออกกฎหมายเมื่อช่วงต้นปี 2023 ให้สิทธิ์รัฐสามารถยึดทรัพย์สินของบริษัทข้ามชาติ ที่มาจากประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซียได้ โดยในช่วงเดือนเมษายน รัฐบาลมอสโคว์ได้ควบคุมกิจการในเครือ Uniper และ Fortum บริษัทด้านพลังงานของ เยอรมนี และฟินแลนด์ ตามลำดับมาแล้ว

มาคราวนี้เป็นคิวของ Danone และ Carlsberg บริษัทยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส และ เดนมาร์กบ้าง ที่มีข่าวว่า ทั้ง 2 บริษัทมีแผนที่จะถอนกิจการออกจากรัสเซียอยู่แล้ว และกำลังขายธุรกิจของตนให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ แต่โดนรัฐบาลรัสเซียยึดกิจการเสียก่อนในวันนี้ คาดหมายว่าจะโอนกิจการให้กับ Rosimushchestvo หน่วยงานด้านกิจการอสังหาริมทรัพย์ของรัสเซียเป็นผู้ดูแลต่อไป

ด้านบริษัทแม่ของ Danone ในฝรั่งเศส กล่าวว่า ทางบริษัทอยู่ในขั้นตอนขายกิจการของตนในรัสเซียตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ตอนนี้กำลังประเมินสถานการณ์อยู่ และพร้อมปกป้องสิทธิ์ของตนในฐานะหุ้นส่วนของ Danone Russia เท่าที่ทำได้ และสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจต่อในรัสเซีย

ด้านผู้บริหารของ Carlsberg กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาลรัสเซียเกี่ยวกับคำสั่งประธานาธิบดี ที่จะมีผลต่อกิจการโรงเบียร์ในเครือของบริษัทที่รัสเซีย

บริษัทผู้ผลิตเบียร์ชื่อดังจากเดนมาร์กยังกล่าวอีกว่า Carlsberg ได้แยกกิจการของโรงเบียร์ในรัสเซียออกจากธุรกิจในเครือของบริษัทเรียบร้อยแล้ว และเพิ่งจะเซ็นข้อตกลงที่จะขายกิจการในรัสเซียไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้ทำสัญญาแล้วเสร็จ ก็มาโดนคำสั่งควบคุมการจากผู้นำรัสเซียเสียก่อน ยอมรับว่าหลังจากนี้การขายทอดกิจการอาจทำได้ยาก

บริษัท Danone Russia นับเป็นบริษัทผู้ผลิตนมที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย มีพนักงานราว 8,000 คน และมีมูลค่าธุรกิจสูงกว่า 1.1 พันล้านเหรียญ ส่วนโรงเบียร์ Carlsberg ในรัสเซีย ที่ทำตลาดภายใต้ชื่อ Baltika ถือเป็นแบรนด์เบียร์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในรัสเซีย มีโรงงานผลิตเบียร์ถึง 8 แห่ง และพนักงานกว่า 8,400 คน

จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้บริษัทจากรัสเซียถูกคว่ำบาตร และเงินสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียถูกอายัดโดยชาติพันธมิตรตะวันตก เป็นเหตุให้รัฐบาลรัสเซียตอบโต้ด้วยการยึดกิจการของบริษัทข้ามชาติของชาติตะวันตก โดยรัฐบาลลรัสเซียได้ขู่ว่าอาจมีการพิจารณายึดทรัพย์สินของชาติตะวันตกเพิ่มอีก ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวของชาติตะวันตกที่กระทำกับบริษัทของรัสเซียในต่างประเทศเช่นกัน

เป็นมาตรการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ยึดมา ยึดกลับ ไม่โกง ตามสไตล์ปูติน สิ่งเดียวที่ต้องระวังคือ สายป่านใครจะยาวกว่ากันนั่นเอง 

'ปูติน' ย้ำ!! ธนาคารทางเลือก BRICS จำเป็น  เกมต่อกร 'วอชิงตัน' ใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ

การจัดตั้งสถาบันการเงินทางเลือกเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ความพยายามดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาที่วอชิงตันใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นอาวุธ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวในวันพุธ (26 ก.ค.) ระหว่างการประชุมร่วมกับ ดิลมา รูสเซฟฟ์ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มบริกส์ (BRICS)

อดีตประธานาธิบดีหญิงของบราซิล ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานอดีตธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่ม BRICS เมื่อเดือนมีนาคม เดินทางเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อพบปะกับ ปูติน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตรัสเซีย-แอฟริกาในสัปดาห์นี้

"ผมไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ ด้วยประสบการณ์มากมายของคุณและความรู้ในขอบเขตนี้ คุณจะทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาสถาบันแห่งนี้ ที่ผมคิดว่ามันมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน" ปูตินบอกกับรูสเซฟฟ์ "ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน มันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เนื่องด้วยสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับการเงินโลก และการใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง"

ปูติน เน้นย้ำว่ากลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ไม่ได้มีเป้าหมายที่ใครอย่างเฉพาะเจาะจง แต่กำลังทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ร่วม ในนั้นรวมถึงด้านการเงิน เขาชี้ว่าสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้ยกระดับใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระบัญชีทางการค้าระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว

รูสเซฟฟ์ เห็นด้วยว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายควรทำแนวทางนี้ไปใช้ในวงกว้าง เธอยังบอกอีกว่าความท้าทายใหญ่หลวงที่มีต่อเหล่าชาติกำลังพัฒนาคือศักยภาพในการเพิ่มงบประมาณสำหรับโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไล่ตั้งแต่การบริการสังคม ไปจนถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นนี้ เธออ้างว่าถูกละเลิกเพิกเฉย เนื่องจากทุกคนมุ่งเน้นไปยังปัญหาหนี้สิน

สหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็น 20% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลก แต่มากกว่า 50% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกถือครองในสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว สัดส่วนการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา หลังมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินเล่นงานรัสเซีย ต่อความขัดแย้งในยูเครน ในนั้นรวมถึงอายัดทุนสำรองระหว่างประเทศและสกัดการเข้าถึงระบบชำระเงิน SWIFT ก่อความกังวลแก่ชาติต่าง ๆ ว่าพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายของมาตรการลักษณะเดียวกันในอนาคต

เมื่อเดือนตุลาคม ปูตินอ้างว่าสหรัฐฯ "บั่นทอนความน่าเชื่อถือสถาบันทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ แรกเริ่มคือปล่อยมลพิษทางการเงิน จากนั้นก็ขโมยเงินของรัสเซีย" และนับตั้งแต่นั้น เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังอเมริกา ยอมรับว่ามาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ อาจผลักบางประเทศละทิ้งดอลลาร์

"ประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งยุคสมัยการครองโลกของดอลลาร์สหรัฐกำลังมาถึงจุดจบ" อันเดรย์ คอสติน ประธานธนาคารวีทีบีแบงก์ของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว

ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกส่วนใหญ่ มองไม่เห็นว่าจะมีสกุลเงินอื่นใดที่มีศักยภาพพอจะก้าวมาแทนที่ดอลลาร์ แต่ ปูติน แย้มเมื่อเดือนมิถุนายน ว่า BRICS กำลังดำเนินการเกี่ยวกับสกุลเงินสำรองของตนเอง บางทีอาจอยู่บนพื้นฐานของตะกร้าสินค้าโภคภัณฑ์

โชว์แสนยานุภาพ!! ‘ผู้นำคิม’ เปิดคลังแสง อวดโฉมอาวุธ ‘รมว.กห.รัสเซีย’ ยัน!! โสมแดงพร้อมหนุนมอสโก ร่วมต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

(27 ก.ค. 66) สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (เคซีเอ็นเอ) รายงานว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ พานายเซอร์เกย์ ซอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ที่อยู่ระหว่างเดินทางเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ ชมการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของเกาหลีเหนือ

ซอยกูเยือนเกาหลีเหนือเพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดสงครามเกาหลี ที่เกาหลีเหนือเฉลิมฉลองในชื่อ “วันแห่งชัยชนะ” การเยือนของซอยกูถือเป็นการเยือนเกาหลีเหนือครั้งแรกโดยรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย นับตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต

ผู้นำคิมนำซอยกูเยี่ยมชมนิทรรศการอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารชนิดใหม่ ที่มีการจัดแสดงขีปนาวุธหลายชนิด รวมถึงเครื่องยิงแบบหลายเพลา ทั้งยังมีภาพที่นักวิเคราะห์ระบุว่าดูเหมือนจะเป็นโดรนชนิดใหม่อีกด้วย ทั้งยังบอกด้วยว่า การชมขีปนาวุธของเกาหลีเหนือของซอยกูเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า รัสเซียยอมรับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

เคซีเอ็นเอรายงานว่า ซอยกูได้มอบจดหมายจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ให้กับผู้นำคิม ขณะที่คิมได้ขอบคุณปูตินที่ส่งคณะผู้แทนทหารมาเยือนเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นการเปิดบ้านต้อนรับคณะผู้แทนต่างประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ผู้นำคิมได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ในการต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตย การพัฒนา และผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ จากการปฎิบัติโดยพลการตามอำเภอใจของพวกจักรวรรดินิยม เพื่อการบรรลุซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพระหว่างประเทศ” เคซีเอ็นเอระบุ

เคซีเอ็นเอยังรายงานด้วยว่า ผู้นำคิมได้แสดงความเชื่อของเขาซ้ำว่า กองทัพและประชาชนรัสเซียจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ในการต่อสู้เพื่อสร้างประเทศที่ทรงพลัง

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า นายคัง ซุน นัม รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีเหนือ กล่าวว่า เกาหลีเหนือสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของรัสเซียอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องอธิปไตยของตน

‘รัสเซีย’ ยิงขีปนาวุธถล่มเมืองทางตะวันออกของ ‘ยูเครน’ อาคาร-บ้านเรือนพังยับ พบผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 66 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มอาคาร 2 แห่ง ในเมืองดนีโปรซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน ส่งผลให้อาคารดังกล่าวเสียหายอย่างหนัก และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5 คน

นักข่าวภาคสนามของบีบีซียืนยันว่า ชั้นบนสุดของอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ถูกทำลายเกือบจนย่อยยับจากการโจมตีของรัสเซียเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 28 กรกฎาคม

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวด้วยว่า อาคารแห่งหนึ่งของหน่วยงานด้านความมั่นคง (SBU) ของยูเครนก็ถูกโจมตีเช่นกัน ซึ่งเขาได้กล่าวโทษรัสเซียที่ยิงขีปนาวุธจนทำให้อาคารทั้ง 2 เสียหาย

นอกจากนี้ เซเลนสกีกล่าวว่า ตนได้มีการประชุมฉุกเฉินกับ SBU กระทรวงกิจการภายใน หน่วยบริการฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

‘เซอร์ฮีย์ ไลซัก’ (Serhiy Lysak) ผู้ว่าการภูมิภาคดนีโปรแปตร็อวสก์ กล่าวว่า มีเด็กสองคนอายุ 14 ปี และ 17 ปี อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกำลังได้รับการรักษาที่บ้าน และว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการยิงขีปนาวุธของรัสเซียครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 20.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น

‘บอริส ฟิลาทอฟ’ (Boris Filatov) นายกเทศมนตรีเมืองดนีโปร กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งล่าสุดถือเป็นการโจมตีครั้งที่สามที่อาคารของหน่วยงาน SBU ตกเป็นเป้าหมายของรัสเซีย ส่วนอาคารที่อยู่อาศัยที่ถูกขีปนาวุธทำลายนั้นเพิ่งสร้างเสร็จและกำลังปล่อยขายห้องว่าง อย่างไรก็ดี ขณะเกิดเหตุไม่ค่อยมีผู้คนอยู่ด้านในอาคารทั้ง 2 แห่ง

ทั้งนี้ การโจมตีในเมืองดนีโปรมีขึ้นหลังจากที่รัสเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ค.) ว่าได้ยิงสกัดกั้นขีปนาวุธยูเครนจำนวน 2 ลูก เหนือภูมิภาครอสตอฟทางตอนใต้ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครน มอสโกกล่าวว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 15 คน จากซากปรักหักพังที่ร่วงลงมาในเมืองท่าทางทาแกนร็อก (Taganrog)

กระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวว่า ขีปนาวุธเอส-200 (S-200) ลูกแรกมีเป้าหมายโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางที่อยู่อาศัยในเมืองทาแกนร็อก ที่มีประชากรประมาณ 250,000 คน หลังจากนั้นไม่นาน มอสโกกล่าวว่า ได้ยิงขีปนาวุธ S-200 ลูกที่สองตกใกล้กับเมืองอซอฟ (Azov) โดยมีเศษชิ้นส่วนตกลงในพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย

‘ปูติน’ เผย รัสเซียไม่ปฏิเสธแนวคิดเจรจาสันติภาพยูเครน แม้ถูกถล่มสะพานไครเมีย ลั่น!! พร้อมโต้ตอบทุกเมื่อ

(30 ก.ค. 66) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า เขาไม่ปฏิเสธแนวคิดเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพกับยูเครน ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซียพูดถึงเรื่องดังกล่าวระหว่างแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดรัสเซีย-แอฟริกา ผ่านระบบออนไลน์กับผู้นำแอฟริกาในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ปูตินระบุว่า ความคิดริเริ่มของแอฟริกาและจีนสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการแสวงหาสันติภาพ และยังบอกว่า เป็นการยากที่จะทำการหยุดยิง เมื่อกองทัพยูเครนกำลังอยู่ในการตอบโต้กลับ

ปูตินกล่าวอีกว่า ขณะนี้รัสเซียยังไม่มีแผนที่จะกระชับปฏิบัติการในแนวรบยูเครน ทั้งยังปกป้องการจับกุมกลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยอ้างว่ามีบางคนที่ทำร้ายรัสเซียจากภายในประเทศ

ผู้นำรัสเซียกล่าวด้วยว่า มอสโกได้ทำการป้องกันการโจมตีหลังเกิดเหตุระเบิดสะพานไครเมียเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งปูตินสาบานว่าจะทำการตอบโต้การกระทำของผู้ก่อการร้ายโดยยูเครน แม้ว่าเคียฟจะไม่ออกมารับว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุดังกล่าวอย่างเป็นทางการก็ตาม

ก่อนหน้านี้ ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างระบุว่า พวกเขาจะไม่เข้าร่วมโต๊ะเจรจาหากไม่มีการตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าบางอย่าง โดยยูเครนต้องการให้พรมแดนของประเทศกลับมาอยู่ในสถานะเดิมในปี 1991 ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง อีกทั้งยังโต้แย้งว่า หากจะให้เกิดการเจรจาขึ้น ยูเครนต้องยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับเขตแดนใหม่ของตนเสียก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top