Tuesday, 14 May 2024
รถไฟความเร็วสูง

รฟท. เคาะ!! สร้างรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ระยะทาง 357 กม. คาดเริ่มก่อสร้างปี 68 เปิดบริการปี 74

(23 เม.ย.67) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.จะเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. รวมมูลค่าลงทุน 341,351.42 ล้านบาท หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มีมติอนุมัติเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้กระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง) กำหนดเปิดให้บริการปี 2574

ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติ

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย แบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ

1.งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท

2.งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงินลงทุน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาทค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท, ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท, ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท

โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ (Elevated Structure) ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. (แบบคันทาง 138.93 กม. เป็นสะพานรถไฟ 15.71 กม.) มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่,สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคายมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ หน่วยซ่อมบำรุงบ้านมะค่า , หน่วยซ่อมบำรุงหนองเม็ก, หน่วยซ่อมบำรุงโนนสะอาด , หน่วยซ่อมบำรุงนาทา มีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และมีย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา

นายนิรุฒ กล่าวว่า เบื้องต้นการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท จะแบ่งงานออกเป็น 13 สัญญา โดยในส่วนของการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงาน ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา โดยจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง

นอกจากนี้ บอร์ดรฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา) ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นว่าควรแยกการลงทุนออกมาดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน

โดยหลังจาก บอร์ดรฟท. ให้ความเห็นชอบ จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการคัดลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ขนาดเนื้อที่ ใช้รูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าการร่วมลงทุน 7,211.94 ล้านบาท (การรถไฟฯลงทุน 6,560.03 ล้านบาท หรือ 90.96% เอกชนลงทุน 651.91 ล้านบาท หรือ 9.04%) ระยะเวลาร่วมลงทุน 20 ปี ประเมินค่าสัมปทานที่การรถไฟฯ ได้รับตลอดอายุโครงการ ที่4,457.07 ล้านบาท โดย การรถไฟฯ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 5.87% เอกชน 15.09% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) รฟท. ที่ 941 ล้านบาท เอกชน 32 ล้านบาท

'สุริยะ' เยือนจีน ฟื้นเจรจารถไฟความเร็วสูง 'ไทย-จีน' ดันเฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ตอกเสาเข็มปีหน้า ได้ใช้ปี 73

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกับนายอู่ ฮ่าว เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันความร่วมมือโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. งานก่อสร้างโครงการช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา (ระยะที่ 1) โดยได้เห็นชอบแนวทางและมาตรการร่วมกันในการเร่งรัดให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา โดยปัจจุบันก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 2 สัญญาจากทั้งหมด 14 สัญญา อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และรอการลงนามจำนวน 2 สัญญา ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

2. ความคืบหน้าการดำเนินการของโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย) ที่ฝ่ายไทยได้ออกแบบรายละเอียด งานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ไปพร้อมกับการขออนุมัติโครงการ โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติ การประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบอนุมัติการดำเนินโครงการก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573 

3. การเชื่อมต่อโครงการรถไฟเชื่อมต่อจากหนองคายไปยังเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ โดยระยะห่างประมาณ 30 เมตร ประกอบด้วยทางรถไฟขนาดมาตรฐานและทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันกรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 สำหรับการออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA จำนวน 125 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขต ของงาน และราคากลาง เพื่อจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า โดย รฟท. ดำเนินการศึกษาในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อเป็นสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่รับรองการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างทางรถไฟขนาด 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน รวมถึงเป็นพื้นที่การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างทางถนนและทางราง และใช้เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ อาคาร คลังสินค้า การให้บริการคลังสินค้า รวมทั้งการให้บริการพิธีการทางศุลกากรเพื่อตรวจปล่อยสินค้า X–ray ตู้สินค้า การตรวจรังสี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังได้กำหนดให้นาทาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย, ลาว และจีน โดยในการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติการประชุม ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เห็นชอบให้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาเสนอต่อสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 

ทั้งนี้ การหารือ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบในการปรับปรุงและดำเนินความร่วมมือให้ลึกซึ้งและประสานงานอย่างใกล้ชิดในการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อผลักดันให้โครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟดังกล่าวก้าวหน้าต่อไป

4. ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบถึงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงคมนาคม โดย สทร. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการอำนวยความสะดวกและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านระบบรางจากต่างประเทศ

5. ที่ประชุมได้ให้การรับรองและเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 32 ขึ้นในประเทศไทย และร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้คืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยความร่วมมือและสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันเพื่อให้บรรลุประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งรถไฟของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top