Friday, 3 May 2024
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ และทรงปลูกต้นกาลพฤกษ์ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย 

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบพระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า

"...การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี..."

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นอุดมศึกษาสถานแห่งแรก ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวิทยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อน สงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจัง กระทำกันในรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่ม พัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2505 การลงมือก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จังหวัดขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Khon Kaen Institute of Technology มีชื่อย่อ K.I.T. โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในปีพ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ เป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติ ‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง มีชื่อเรียกว่า 'มอดินแดง' บนพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และหน่วยงานเทียบเท่าคณะอีกจำนวนมาก

เชียงใหม่-เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการรีดน้ำเชื้อสัตว์ป่าหายากที่มีความสำคัญของประเทศไทย

วันที่ 9 มกราคม 2567 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เดินหน้าทำโครงการ เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญและหายาก นางสาวฐิติรัตน์ ต๊ะวันวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดที่มีการลดลงอย่างต่อเนื่องในธรรมชาติ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จึงได้ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการรีดน้ำเชื้อสัตว์ป่าหายากที่มีความสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ สมเสร็จมลายู (Malayan Tapir) และหมีหมา (Malayan Sun Bear) เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำเชื้อ และทำน้ำเชื้อแช่แข็ง เพื่อนำมาใช้ช่วยในการวางแผนประชากรสมเสร็จมลายูและหมีหมาโดยการผสมเทียมต่อไป 

นอกจากสัตว์ 2 ชนิดนี้แล้ว เชียงใหม่ไนท์ซาฟารียังได้ทำการรีดเก็บน้ำเชื้อของสัตว์ป่าอีกหลายชนิดเก็บรักษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ต่างประเทศ เช่น ไฮยีน่าลายแถบ เสือโคร่งเบงกอล เสือจากัวร์ หรือสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทยเอง เช่น กวางผา เลียงผา เสือไฟ เสือดาว ฯลฯ เป็นต้น โดยเป็นโครงการต่อเนื่องในการวิจัยและอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าหายากของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และเพื่อช่วยอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป 

ขอนแก่น - 'มข.' เตรียมจัดงาน 'งานวันเกษตรภาคอีสาน 2567' ยิ่งใหญ่ แห่งปี

“งานวันเกษตรภาคอีสาน 2567” มข. มหกรรมงานโชว์ศักยภาพการพัฒนาด้านการเกษตรไทยสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ฉลอง 60 ปี มหาวิทยาลัยและคณะเกษตรศาสตร์ พร้อมปักหมุดให้ชม ช้อป ชิม วันที่ 26 ม.ค.- 4 ก.พ. นี้  

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่ ห้อง 5101 อาคาร AG 05 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว งานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2567 “เกษตรอีสาน สรรค์สร้างนวัตกรรม นำคุณค่าสู่สากล” นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจ การบัญชี ม.ขอนแก่น และภาคีเครือข่ายทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร, กรมการข้าว, กรมปศุสัตว์ และกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมเปิดไฮไลต์มหกรรมสุดยิ่งใหญ่แห่งปี

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ถือว่าเป็นอีกงานใหญ่ที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อปณิธานและปรัชญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นศูนย์รวมทางความคิดสติปัญญาของสังคมและเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี คณะเกษตรศาสตร์ และ 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“การจัดงานงานวันเกษตรภาคอีสานเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทย  ทั้งยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านการเกษตรในระดับต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน เกิดเป็นเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก กระจายรายได้สู่ชุมชน และกระตุ้นการท่องเที่ยว–เศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2566 มีประชาชนเข้าเที่ยวชมงานรวมกว่า 560,000 คน และมีเงินทุนหมุนเวียนภายในงานมากกว่า 500-600 ล้านบาท”

ขณะที่ รศ.ดร.ดรุณี  โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2567 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันศุกร์ที่ 26 มกราคม – วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567    รวมระยะเวลา 10 วัน ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีนี้นับเป็นปีที่ 32 ของการจัดงาน ภายใต้คำขวัญ “เกษตรอีสาน สรรค์สร้างนวัตกรรม นำคุณค่าสู่สากล” โดยความร่วมมือจาก 44 องค์กรและหน่วยงานในการจัดงานปีนี้

ภายในงานมีกิจกรรมของคณะเกษตรศาสตร์มากมาย ทั้งนิทรรศการ “60 ปีเกษตรมข. : บทบาทการพัฒนาภาคการเกษตรที่ยั่งยืนของอีสาน”, การเสวนาและฝึกอบรมอาชีพทางด้านการเกษตร, การประกวดและแข่งขันภูมิปัญญาชาวบ้าน,การแข่งขันตอบปัญหาทางด้านการเกษตร ในวันที่ 28 มกราคม 2567, การประชุมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 25 วันที่ 29 มกราคม 2567, การจัดแสดงปลาสวยงาม การแข่งขันจับปลาไหล การประกวดสัตว์ชนิดต่าง ๆ และนิทรรศการแสดงนวัตกรรมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร, กรมการข้าว, กรมปศุสัตว์ และกรมพัฒนาที่ดิน

ด้าน นายกมล โสพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ระบุว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น พร้อมจัดแสดงผลงานดีเด่นระดับประเทศ ยกผลงานการเกษตรจาก 20 จังหวัดภาคอีสานมาให้ได้ชมกัน โดยมีไฮไลต์ คือ กล้วยหอมทองแก้จน วิถีคนบึงกาฬ,ซำตารมย์แปลงใหญ่ ทุเรียนภูเขาไฟแก้จน จ.ศรีสะเกษ และข้าวอินทรีย์ วิถีเมืองธรรมเกษตร แก้จนให้ชาวนาอำนาจเจริญ เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้นวัตกรรมการเกษตรสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ส่วน นายวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์เขต 4 กรมปศุสัตว์ กล่าวเสริมว่า กรมปศุสัตว์ เตรียมนิทรรศการด้านปศุสัตว์ พร้อมกับการเดินหน้าจัดการประกวดกระบือฯ พื้นเมืองไทย,การแข่งขันประลองไก่เก่ง 3 รุ่น จากชมรมผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง, การแข่งขันคล้องโค ล้มโค และกิจกรรมใหม่กับการแข่งขันลาบชิงแชมป์ จังหวัดขอนแก่น  ประจำปี 2567 ชิงเงินรางวัลพร้อมใบประกาศนียบัตรอีกด้วย

นอกจากนี้ ในปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีบริการนำเที่ยวเชิงเกษตรบริเวณโดยรอบงานวันเกษตรภาคอีสาน โดยนักศึกษา และการออกร้านจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์อีกด้วย ส่วนของพื้นที่จัดงาน คณะได้เนรมิตพื้นที่บริเวณทิศใต้ของอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อจัดทำเป็นแปลงพืชพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาว (KKU Smart Flower Farm) ซึ่งประกอบไปด้วยแปลงดอกคัตเตอร์ ทานตะวันแคระ และทุ่งดอกคอสมอส

คณะเกษตรศาสตร์ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านค้าเอกชน กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เครือข่าย Young Smart Farmer ในการออกร้านจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร การจัดแสดงสินค้าชุมชนจากทั่วทุกภาคของประเทศ (OTOP) การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดี 20 จังหวัดภาคอีสาน การจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมความก้าวหน้าเครื่องจักรกลการเกษตรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การจัดแสดงนวัตกรรมทางด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ชนิดต่าง ๆ การจำหน่ายพันธุ์ไม้หายากหลากหลายชนิด

ด้านความบันเทิง ยังจัดเต็มกับการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งเกษตรอีสาน ครั้งที่ 11  และการประกวดวงดนตรี Aggie Music Award ครั้งที่ 5 และกิจกรรม อีกมากมาย ที่มุ่งเน้นเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรสู่เกษตรกรและชุมชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ฟาร์มคณะเกษตรศาสตร์และบริเวณทิศตะวันออกของพื้นที่จัดงานยังได้เพิ่มจุดจอดรถไว้บริการผู้เข้าร่วมงาน พร้อมมีบริการรถเมล์ปรับอากาศฟรีสายสีเขียว (shuttle bus) วิ่งรับ-ส่งรอบบริเวณจัดงานด้วย โดยมีชุดกำลังจากกองป้องกันและรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถานีตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น คอยดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ผู้เข้าร่วมงาน

ขอนแก่น-"มข." จัด"โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน"ทางเลือกหนึ่งพลังงานทดแทน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อีกทางเลือกหนึ่ง โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการขาย ให้เช่าหรือเช่าซื้อ แก่นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนขยายผลและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve สามารถ คว้าโอกาส ชิงความได้เปรียบ แข่งขันได้ทันกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน เพราะในปัจจุบันการใช้งานแบตเตอรี่ของประเทศไทยนั้นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

เมื่อวันอังคารที่ 23 มกราคม 2567  ที่ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  พร้อมด้วย ผศ.ดร.อาวุธ  ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม, ม.ร.ว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด ,ผศ.นพ.ธารา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ,นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น ,รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่  และนายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมแถลงข่าว ”โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน" โดยมี คณะผู้บริหาร มข.,ผู้บริหารบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด และสื่อมวลชนทุกแขนง ร่วมฟังการแถลงข่าวในครั้งนี้

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ Research Transformation คือการปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยโดยปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัยไปสู่การทำวิจัยเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ (Impact) สูง และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดไปใช้จริง เกิดผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม (Societal Contributions) และสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ (Great Place to Live)เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) มุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เช่น การสนับสนุนนโยบายด้านการขนส่งพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

สำหรับ"โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน" เป็นตัวอย่างโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งวันนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองอธิการบดี
ฝ่ายบริหาร ผู้ดูแลโครงการ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม ผู้รับผิดชอบดูแลเรื่อง Net Zero ของมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ตลอดจนบริษัทออสก้าโซลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ให้บริการจักรยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการผลิตแบตเตอรี่ภายใต้แบรนด์ UVOLT (ยู-โวลต์) ซึ่งผลิตโดยโรงงานแบตเตอรี่ และพลังงานยุคใหม่ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ โรงงานยังมีการผลิตและพัฒนาส่วนประกอบของแบตเตอรี่ ชนิดต่าง ๆ สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งชนิดลิเทียมไอออนและโซเดียมไอออน ที่มีมาตรฐานระดับสากลในปัจจุบันการใช้งานแบตเตอรี่ของประเทศไทยนั้นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศให้เกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของประเทศไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการออกมาตรการสนับสนุนที่จำเป็นในการขยายผลและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทยเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถ คว้าโอกาส ชิงความได้เปรียบ แข่งขันได้ทันกระแสของความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน

ด้าน ผศ.นพ.ธารา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อบรรลุตามยุทธศาสตร์ Green and Smart Campus เพื่อให้เป็นองค์กรแบบชาญฉลาด คำนึงถึงผลกระทบด้ำนสิ่งแวดล้อม สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ Great place to live เพื่อให้เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมในการใช้ชีวิต มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการให้สิทธิเอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยการขาย ให้เช่าหรือเช่าซื้อ แก่นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมบริหารจัดการระบบอำนวยความสะดวก และติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station : BSS) เพื่อจัดหาผู้ประกอบการ และให้สิทธิ์ในการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อการต่อยอดการใช้งานภายในจังหวัดขอนแก่นต่อไป

ผศ.ดร.อาวุธ  ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเป้าหมายสำคัญที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโครงการสำคัญตามแผนที่สนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร ในกลุ่มของคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ อาคารกีฬา อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นน้ำ (Solar Floating) ในบ่อสำรองน้ำดิบของมหาวิทยาลัย รวมประมาณ 9.5 เมกกะวัตต์ และติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นน้ำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียอีกประมาณ 10 เมกกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีสำหรับการหันมาใช้พลังงานทดแทน ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ด้วยเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานอย่างสูงสุด และยังเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทางอ้อม ได้อย่างมีนัยสำคัญสำหรับ "โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งมั่นที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่ง โดยใช้ยานพาหนะไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วน มรว.พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าในนามบริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งได้เป็นผู้รับสิทธิ์ในโครงการ "จัดบริการยานยนต์ไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน"ของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในครั้งนี้ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด เราให้บริการออกแบบและประกอบแบตเตอรี่แพค ลิเที่ยม สำหรับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องมีออุตสาหกรรม รวมไปถึงแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามากว่า 30 ปี ออสก้า เป็นบริษัทแรกๆ ในประเทศไทย ที่ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ และประกอบ โดยร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับโรงงานแบตเตอรี่ลิเที่ยมไออ้อนต้นแบบของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายในการยกระดับแบตเตอรี่ที่ผลิตได้เองในประเทศไทยไปสู่มาตรฐานระดับสากล

หากย้อนไปเมื่อปี 2557 ในช่วงที่ยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ออสก้าได้เริ่มทำการพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยเป้าหมายเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า EV ที่คาดว่าจะประสบปัญหาเรื่องการให้บริการแบตเตอรี่ ในอีกไม่กี่ปีให้หลัง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง บริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทลูกในเครือของออสก้า ดำเนินการกิจการเป็นผู้ออกแบบ และประกอบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และรถไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่จะนำมาใช้ในการทดสอบแบตเตอรี่จากออสก้า โดยมีโรงงานตั้งอยู่บนถนนบางนาตราด กิโลเมตรที่ 13 บนพื้นที่ กว่า 3,000 ตรม. มีกำลังการผลิต รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ถึงเดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน สตรอม มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ทั้งด้านสมรรถนะ ความเร็ว การประหยัดพลังงานและที่สำคัญ รถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า Strom เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวใจหลักคือการมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่เป็นของตัวเอง Strom เป็นบริษัทของคนไทย 100% และมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนผลิตภัณฑ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมของคนไทย เราพิจารณาเลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ในประเทศให้ได้มากที่สุด และลดสัดส่วนวัตถุดิบจากต่างประเทศลงเพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมีอระหว่างนักวิจัย สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ นำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการคิดค้นของคนไทย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเป็นการรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญา และความมั่นคงทางเทคโนโลยีของไทยอีกด้วย

นายธีระศักดิ์ ทีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ในการขับเคลื่อน Smart City กับการพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่น กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองไว้ 7 สมาร์ท โดยหนึ่งในนั้น คือ Smart Mobility คือ เมืองที่สามารถขนส่ง ติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างสะดวกสบาย มีความคล่องตัว ปลอดภัย และใช้พลังงานสะอาดแนวคิดในการพัฒนาเมืองขอนแก่น มาจากการที่เดิมทีจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม ไม่ได้มีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้ง ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจที่ทางรัฐบาลจะมีการส่งเสริมงบประมาณพิเศษ ในการพัฒนาเมืองมาให้เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ แต่สิ่งที่ขอนแก่นมี คือ การเป็นเมืองที่อยู่จุดศูนย์กลางของภาคอีสาน มีมหาวิทยาลัย และศูนย์ราชการต่าง ๆ ค่อนข้างมากดังนั้น โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนซึ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองด้าน Smart Mobility เป็นความสำเร็จด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านยานนต์ไฟฟ้าการจัดการพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม และขยายผลไปสู่นักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปัจจุบัน

นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า แนวทางการสนับสนุนการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น ตามภารกิจหน้าที่ของสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น ขอขอบคุณท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นประโยชน์กับนักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายไปถึงทุกหน่วยงานในจังหวัดขอนแก่น
เพื่อสร้างแรงจูงใจทางด้านการเงิน และลดต้นทุนในการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้าสามารถสร้างแรงจูงใจที่มิใช่ทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต

ตบท้ายที่ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ กล่าวตอนท้ายสุดว่า อย่างไรก็ตามทางโครงการ ฯ ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือก ในระดับเซลล์จากโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และนำไปทดลองใช้งานจริงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ และระบบกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่สำหรับจักรยานไฟฟ้า แบตเตอรี่สำรองสำหรับระบบโซลาร์เซลล์ และไฟส่องสว่าง เรามีโมเดลการใช้พลังงานแบตเตอรี่จากโซเดียม คือ E – Bike ที่ประหยัดพลังงานและใช้งานได้จริง ในอนาคตทีมนักวิจัยมีแนวโน้มจะศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน โดยให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพสูง ราคาประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด ผลักดันให้ไทยกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลกตามเป้าของกระทรวง ฯต่อไป.

ขอนแก่น - 'คณะแพทย์ มข.' เจ๋ง!รักษาโรคหนังแข็ง สำเร็จ เป็นรายแรกของภาคอีสาน

โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน ที่ได้รับการผ่าตัด อาการดีขึ้น 70% และค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนให้ชีวิตใหม่ กับ ผู้ป่วย

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ชั้น 6 ห้องประชุมหนองแวง อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานแถลงข่าว ความสำเร็จในการรักษาโรคหนังแข็ง ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด รายแรกของภาคอีสาน  โดยรศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงความก้าวหน้าของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ในการนี้ ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม สาขาวิชาอายุรศาสตร์การ แพทย์เจ้าของไข้ พร้อมด้วยนางสาวธนวรรณ โตภูเขียว ผู้ป่วยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวถึงอาการของโรคหนังแข็ง และการรักษาผู้ป่วย  ต่อด้วยผศ.นพ.ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ กล่าวถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และการพูดถึงสิทธิการรักษาและการช่วยเหลือจากกองทุนวันศรีนครินทร์ โดย ศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 

รศ.นพ.อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความก้าวหน้าของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ว่า ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด นับเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบันและอนาคต 

ด้าน ศ.พญ.ชิงชิง ฟูเจริญ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม แพทย์เจ้าของไข้ เปิดเผยถึงโรคหนังแข็ง ว่าโรคหนังแข็ง (Scleroderma ) เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้เซลล์ร่างกายผลิตเส้นใย คอลลาเจนออกมาอย่างต่อเนื่องและกระตุ้นการสร้างพังผืด ส่งผลให้พังผืดไปเกาะตามอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เกิดผิวหนังตึงแข็ง บริเวณใบหน้า นิ้วมือ นิ้วเท้า แขนขา หน้าอก หน้าท้อง ซึ่งหนังแข็งไม่ได้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายนอกเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงอวัยวะภายในด้วย เช่น ภาวะปอดเป็นพังผืด และกล้ามเนื้อหัวใจเป็นพังผืด ซึ่งอันตรายอาจพิการและเสียชีวิต 

โรคหนังแข็งส่วนใหญ่พบในวัยกลางคน-วัยสูงอายุ (ราว 40-50 ปี) และพบในคนอายุน้อยได้น้อยมาก โดยทั่วประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 24:1 แสนคน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยโรคหนังแข็ง คิดเป็นอัตรา 40/1 แสนคน จากการเก็บข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยโรคหนังแข็งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมากกว่าในภาคอื่นๆ

ในรายของ นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ป่วยหญิง วัย 18 ปี เข้ารักษาเมื่อเตือนมกราคม 2565 ได้ถูกส่งตัวมาเพื่อรักษาต่อกับอายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสชั่ม อาการในขณะที่มาพบอายุรแพทย์ พบว่ามีภาวะฟังผืดลามไปที่ปอดผิวหนังแข็งตึง จึงได้วางแผนรักษาด้วยการทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเอง หลักจากการรักษา 14 วัน พบว่า ผู้ป่วยมีผิวนุ่มขึ้น และในเดือนที่ 3 พบว่าข้อต่อดีขึ้น สามารถเหยียดนิ้วมือ ข้อศอกได้สะดวก และสีผิวกลับเป็นปกติอย่างเห็นได้ชัด การทำงานของอวัยวะภายในคงที่ อาการของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ สามารถช่วยเหลือตนเองได้และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ โรคหนังแข็งเป็นโรคที่พบได้น้อยผู้ป่วยหลายคนยังไม่ทราบแหล่งที่จะหาข้อมูลเรื่องโรคและการปฏิบัติตัว หากท่านมีอาการผิดปกติที่ผิวหนังหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคหนังแข็ง แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา

ต่อด้วย ผศ.นพ.ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา กล่าวถึงขั้นตอนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ปัจจุบันมีนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยใช้เซลล์ของตนเอง เป็นหนึ่งทางเลือกรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้โรคสงบหรือหายขาด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติ โดยแพทย์จะทำการกระตุ้นเก็บเซลล์ตันกำเนิดเม็ดเลือดของผู้ป่วยไว้ หลังจากนั้นจะให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง เพื่อกำจัดเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และรีเซ็ตระบบภูมิคุ้มกัน แล้วนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดกลับมาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว โดยมีขั้นตอนหลักดังนี้1.ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความแข็งแรงของร่างกาย 2.แพทย์จะทำการกระตุ้นเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้ป่วย 3.ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงเพื่อกำจัดเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและรีเช็ตระบบภูมิคุ้มกัน 4.นำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดกลับมาฉีดให้แก่ผู้ป่วยให้ร่างกายพื้นตัว

ปกติแล้วการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะทำให้กับผู้ป่วยที่อายุไม่มากเกินไปและการทำงานของอวัยวะต่างๆยังดี โดยเลือกผู้ป่วยอาการของโรครุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนในผู้ป่วยหนังแข็งที่อายุสูงวัยและอาการไม่รุนแรงมากนัก ไม่จำเป็นต้องปลูกถ่าย 

ทางด้าน ศ.นพ.ทรงศักดิ์  เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอบคุณผู้บริจาคสมทบทุนวันศรีนครินทร์ ทุกๆ ท่าน เพราะเงินจากการบริจาคของท่านทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้นำมาช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีโรคที่ซับซ้อน มีรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายเกินสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล และพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วย รายนี้เป็นตัวอย่างที่เราได้นำเงินบริจาคของประชาชนทุกท่านมาช่วยเหลือให้สามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างปกติ "ชีวิตยังมีหวังด้วยพลังแห่งการให้ ร่วมเป็นผู้ให้ได้ที่กองทุนวันศรีนครินทร์"คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นางสาวธนวรรณ โตภูเขียว  นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ป่วยหญิง วัย 18 ปี  กล่าวว่าก่อนเข้ารักษา ข้อศอกหรือการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อไม่ค่อยดี เพราะโดนผิวหนังยึดไปทั้งหมด โดยยึดตั้งแต่ส่วนแขนไปจนถึงลำตัว เวลาจะยกแขนก็ยกไม่ได้ ส่วนช่วงหน้าหนาวก็จะมีแผลเกิดขึ้นตามข้อศอก ตามนิ้ว เจ็บมาก เพราะเวลาเจาะเลือดก็จะไม่มีเลือดออก เส้นเลือดก็จะเหมือนหนังที่รัดไว้ การใช้ชีวิตประจำวัน เวลาไปเรียนก็มีความยากลำบาก ส่วนหน้าหนาว หรือเป็นแผล จะเจ็บมาก และก็จะทำให้ตัวเองขาดเรียนบ่อย แต่ตอนนี้สภาวะร่างกายเริ่มปรับตัวดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกันกับเพื่อนได้ รู้สึกดีขึ้นมาก และรู้สึกดีขึ้นเหมือนได้ชีวิตใหม่กลับมาใช้ชีวิต เหมือนคนปกติเช่นเดิม และในตลอดระยะเวลาในการรักษา มีทีมแพทย์ทีมพยาบาลที่คอยช่วยเหลือ และให้คำปรึกษา ดูแลตั้งแต่ก่อนรักษาจนรักษาเสร็จ ในระหว่างที่รักษาเสร็จก็จะมีการติดตามการรักษาอยู่ตลอดเวลา หรือผิดปกติอะไรคุณหมอก็จะรีบมาช่วยเหลือทันตลอดเวลา 

ตบท้ายที่ ร.ต.อ.อุทัย โตภูเขียว สว.สอบสวน สภ.ภูผาม่าน บิดา ซึ่งมีนางสุภาวดี โตภูเขียว ภรรยา อาชีพขายของชำ เปิดเผยตัวสื่อมวลชนว่า ลูกสาวได้รักษาตัวมาได้ 7 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ 2560 ตนเองกับครอบครัวต่อสู้กับโรคนี้มา 7 ปี การที่เห็นลูกสาวเจ็บปวด บางทีหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ มันเหนื่อยมันมันหาอะไรที่ ทุกข์ใจมากกว่านี้ไม่ได้หรอก หลังจากเข้ารับการรักษา เห็นสภาพร่างกายเขาดีขึ้นตามลำดับ ต้องขอขอบคุณทีมแพทย์ทุกท่านที่ให้ความกรุณาครอบครัว ตนเอง ขอขอบคุณมากๆ

ต่อข้อถามที่ว่าแล้วทราบได้อย่างไรว่าทางคณะแพทย์ มข. รักษาโรคนี้ได้ และ คิดยังไงถึงมารักษาที่นี่ เริ่มต้นก็เนื่องจากน้องเขา ตอนเริ่มเป็นใหม่ๆตอนนั้นอายุ 14 เขา เขาใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรงจากสิทธิ์ของพ่อ ก็เลยได้รับคำแนะนำว่าให้ให้มาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เนื่องจากที่นี่มีแพทย์ ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคนี้ ซึ่งตนเองก็รอ 6 ปีถึงมีเคส ซึ่งทางโรงพยาบาลฯถึงเสนอว่ามีวิธีการรักษาแบบนี้ หากสนใจที่จะเข้ารับการรักษา ดังนั้นจึงแสดงความจำนงค์มาทางโรงพยาบาล ศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าทำการรักษาให้ ซึ่งตนเองต้องขอบคุณมาก เพราะว่าตนเองรอมาหลายปีต้องขอบคุณจริงๆ

‘ป๋าเทพ’ สุเทพ โพธิ์งาม ขอบคุณ ม.ขอนแก่น ยกให้เป็น ‘ศิลปินมรดกอีสาน’ ด้านนักแสดงตลก

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 67 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี พุทธศักราช 2567 เนื่องในโอกาสมหามิ่งมงคล วันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเทิดพระเกียรติ ด้วยการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน โดยรางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน มอบแด่ ศิลปิน ผู้เป็นต้นแบบศิลปะพื้นถิ่นอีสาน เปี่ยมล้นคุณธรรม จริยธรรม เป็นจุดเริ่มต้นแห่งแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดศาสตร์ศิลป์ จนเป็นองค์ความรู้อันมีค่ายิ่ง มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นทุ่มเท สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าต่อแผ่นดินอีสาน ก่อคุณูปการด้านศิลปวัฒนธรรมต่อแผ่นดินไทย

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มอบรางวัลศิลปินมรดกอีสาน ประกอบด้วยสาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง ซึ่งในรางวัลดังกล่าวปรากฏรายชื่อของ นายสุเทพ โพธิ์งาม หรือ ‘ป๋าเทพ’ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงตลก)

ด้าน นายสุเทพ โพธิ์งาม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้คัดเลือกตนได้รับมอบรางวัลมรดกอีสาน สาขาการแสดงตลก ซึ่งตนได้ทราบจากทางมหาวิทยาลัย เมื่อประมาณเดือนก่อน ตนก็ไม่ทราบรายละเอียดในรางวัลดังกล่าว ตนก็ไม่เคยคิดว่าจะได้รับรางวัลอะไร ที่ผ่านมาศิลปินตลกทั่วๆ ไป และก็เป็นตลกมานานแบบว่าอยู่วงการตลกจนแก่ แต่ตอนนี้อายุ 74 ปีแล้ว ก็วางมือจากทุกๆ อย่างแล้ว ตนก็ต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่มอบรางวัลให้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top