Thursday, 16 May 2024
ภาษี

ฤาทางออก 'การคลังไทย' จะไปรอดได้ในสังคมผู้สูงอายุ หากให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น?

(17 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Chalermporn Tantikarnjanarkul' โดยคุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงแนวทางที่จะทำให้การคลังไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ไว้ว่า...

ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ ถ้าอยากให้ฐานะการคลังของไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ทางที่ดีที่สุด ยุติธรรมที่สุด ไม่ใช่หาเงินมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือเลือกช่วยเฉพาะคนลำบากยากเข็ญ เพื่อลดรายจ่ายลงให้ได้มากที่สุดแบบที่พยายามทำ

แต่เป็นการให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น จ่ายมาเกินกี่ปี ถึงได้สิทธิก็ว่าไป

ใครจ่ายก็ได้ ใครไม่จ่ายก็อด ก็ตรงไปตรงมา

แต่ไม่มีใครกล้าบอกแบบนี้ เพราะจะกลายเป็นคนใจร้าย ไร้น้ำใจ 

ปัญหาคือถ้านับในปัจจุบัน คนที่ไม่เคยเข้าระบบภาษีเงินได้เลยน่าจะมีอยู่มาก และอาจมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ไม่ได้ หากไม่พึ่งสวัสดิการ หากทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปล่อยคนเป็นล้าน ๆ คนให้จมน้ำโดยไม่เหลียวแล

ถ้าทำเลยไม่ได้ เราอาจใช้การประกาศล่วงหน้า เช่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ใครที่ไม่เคยเสียภาษี ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ แล้วนะ ระหว่างนี้ ก็อุดรูรั่วทางภาษี เอาคนมาเข้าระบบให้หมด ให้ฐานรายได้กว้างขึ้น จะได้มีเงินมากพอไปช่วยคนที่จนมาก เอาตัวไม่รอดจริง ๆ

แต่แน่นอน ก็จะมีคำถามตามมาว่า ถ้าเข้าระบบภาษีแต่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เลยไม่ต้องเสียเลย ฉันอยู่กลุ่มไหน?

และคำถามคลาสสิกตลอดกาลอย่าง

ถึงไม่เคยเสียภาษีเงินได้แต่ฉันก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มนะเฟ้ยยยย ใครบอกฉันไม่เสียภาษี!

ผมว่าเราเลิกเพ้อฝันแล้วอยู่กับความจริง แล้วเริ่มทำทุกอย่างให้มันถูกร่องถูกรอยเสียตั้งแต่วันนี้ ยอมรับก่อนว่ายังไง ฐานภาษีตอนนี้ ก็แบกทุกคนไม่ไหวแน่ ๆ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาช่วยกันแบก

'ทุเรียนไทย' เนื้อหอม!! เฉิดฉายในงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 เบิกทางผู้ประกอบการไทย พาสินค้าสยามสู่ชาวจีนตอนใต้มากขึ้น

(22 ส.ค.66) สำนักข่าวซินหัว เผยว่า 'ทุเรียน' ถือเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนในฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะกับ 'ทุเรียนไทย' ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากชาวจีน และรวมถึงฝูงชนที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในนครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

เฉินเจี๋ย ผู้จัดแสดงสินค้าทุเรียนอบแห้งจากไทย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าสู่จีนในปัจจุบันนั้นปลอดภาษี ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของการทำธุรกิจในตลาดจีนอย่างมาก ขณะกลุ่มประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียนยังช่วยมอบโอกาสทางธุรกิจอันดี

ผลิตภัณฑ์ของเฉินสามารถเข้าสู่ตลาดจีนอย่างรวดเร็วผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งตอนนี้ขยับขยายเส้นทางการเดินรถถึงจังหวัดจันทบุรี ไม่ไกลจากสวนทุเรียนที่เขาร่วมมืออยู่ด้วย ทำให้ขนส่งผลิตภัณฑ์สดใหม่สู่ผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ 'ทุเรียน' เปรียบเป็นนามบัตรใบสำคัญของไทย ท่ามกลางการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เฟื่องฟูยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มบริษัททุเรียนไทยคาดหวังส่งออกผลิตภัณฑ์สู่จีนเพิ่มขึ้น

งานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในนครคุนหมิง จึงเป็นโอกาสใหม่แก่จีนและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังเช่น บริษัท จันทบุรี ฟรุ๊ต โปรดักส์ จำกัด ที่ปีนี้ส่งออกผลไม้แปรรูปสู่จีน 12 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในแง่ปริมาณ และร้อยละ 30 ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบปีต่อปี

"งานแสดงสินค้าฯ ในคุนหมิงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคชาวจีนตอนใต้" วิชญะ พฤกษากิจ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ กล่าวทิ้งท้าย

ชาวเน็ต โวย กลุ่มบิดเบืยนข้อเท็จจริง ปมปรับขึ้น VAT ชี้!! หากไม่ปรับขึ้น รัฐฯ อาจแบกรับภาระทั้งหมดไม่ไหว

(27 ส.ค. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10% โดยระบุว่า…

“คนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องอยากได้รัฐสวัสดิการแบบประเทศในกลุ่ม Scandinavia เลี้ยงดูกันไปตั้งแต่เกิดจนตาย โดยอ้างว่า ตัวเองจ่าย VAT เยอะแล้ว… พอมีแนวคิดจะขึ้น VAT เป็น 10% (ซึ่งเป็นอัตราปกติ ที่เราจ่าย 7% นี่เป็นอัตราลดมาเนิ่นนาน) ก็โวยวายว่า VAT เป็นภาษีแห่งความเหลื่อมล้ำ ควรจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได 😅

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า
1.) Income Tax เก็บเป็นขั้นบันไดอยู่แล้ว แต่มีคนจ่ายแค่ 4 ล้านคน ต้องแบกรับภาระคนทั้งประเทศ

2.) VAT ที่ไหนก็เก็บเป็น flat rate แล้วมันก็ยุติธรรม เพราะคนรวยที่ซื้อของเยอะ ก็ต้องจ่าย VAT เยอะ ธุรกิจที่ขายของได้เยอะ ก็ต้องนำส่ง VAT เยอะ

3.) ถ้าอยากได้รัฐสวัสดิการแบบ Scandinavia ก็ช่วยดูด้วยว่า เขาจ่าย VAT กัน 25%... ไหวไหมล่ะ นี่ยังไม่นับ Income Tax ที่เขาจ่ายกันเกิน 50% แถมยังมีฐานภาษีที่กว้างมากด้วย

4.) หลายคนไม่ยอมศึกษาระบบประกันสังคมของไทย ซึ่งออกแบบมาดูแลแรงงานในระบบตั้งแต่เกิดจนตาย โดยใช้หลักคิด co-pay ร่วมกันจ่าย 3 ฝ่าย : รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง… เมื่อคน 10+ ล้านคนอยู่ในระบบนี้แล้ว รัฐฯ จึงมีภาระดูแลเฉพาะคนที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ ซึ่งรัฐฯ ต้องจ่ายฝ่ายเดียว

5.) ประเทศที่ล้มละลายเพราะให้สวัสดิการมากไปก็มี แม้แต่ Sweden เองก็ต้องทยอยลดสวัสดิการลง เพราะรัฐฯ แบกภาระไม่ไหว

การที่ Influencer นำเสนอข้อมูลบิดเบือน ก็ไม่ต่างอะไรกับ Propaganda ที่หวังผลทางการเมือง แล้วเราก็จะอยู่กันในโลกที่ถกเถียงกันด้วยข้อมูลผิดๆ แบบนี้ไปอีกนาน”

‘ก้าวไกล’ ป้อง ‘พงศธร’ มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เชื่อ!! ตอนนี้มีขบวนการสาดโคลน หวังดิสเครดิต

(29 ส.ค. 66) ที่พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม สส. พรรคก้าวไกล ระยอง เขต 3 ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีข้อกล่าวหาทางด้านภาษีและคดียักยอกทรัพย์ ตามที่ปรากฏในข่าว

โดยนายรังสิมันต์ เปิดเผยว่า รายละเอียดว่าตั้งแต่ปี 2562 นายพงศธร ทำหน้าที่เป็นผู้ชำนาญการประจำตัว สส.ของ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ มีเงินรายได้ประมาณ 15,000 บาท/เดือน เมื่อคำนวณตลอดทั้งปี นายพงศธร จะมีรายได้ไม่เกิน 180,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขไม่เกินที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายภาษี ดังนั้น เมื่อตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นายพงศธร ก็ไม่ได้ยื่นแบบฟอร์มภาษี ทั้งที่ตัวเองก็โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย และนายพงศธร ก็ได้ทำแบบฟอร์ม สส. 4/7 เพื่อยืนยันว่าตัวเองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี

ประเด็นที่สอง กรณีสื่อผู้จัดการพาดหัวข่าวว่า “โซเชียลทั้งขุดทั้งแฉนายพงศธร ผู้สมัครเขต 3 ระยอง ก้าวไกล ไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบชีวิตหรูหราฟู่ฟ่า ขายเบียร์ใส่รถกันเป็นลังๆ อีกด้านขุดกันไปถึงคดียักยอกปี 61” ซึ่งเป็นพาดหัวค่อนข้างรุนแรง จึงขอชี้แจงตามนี้

กรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายพงศธร ได้ร่วมหุ้นกับเพื่อนเพื่อดำเนินธุรกิจนี้จริง แต่การประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่นำไปสู่การปันผลจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ เมื่อไม่ได้รับปันผล นายพงศธรก็ไม่เคยต้องไปยื่นเสียภาษีในกรณีนี้ ดังนั้นรายได้ของนายพงศธร ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มาจากการทำหน้าที่ตำแหน่งผู้ชำนาญการ สส.เท่านั้น

ประเด็นต่อมาคือคดีความที่นายพงศธร เคยถูกแจ้งความร้องทุกข์ในคดียักยอกทรัพย์ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ชัดเจนแล้วว่าสุดท้ายทางตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จึงยังมีคุณสมบัติครบถ้วนลงสมัครรับเลือกตั้งได้

“ขอยืนยันต่อสื่อมวลชนว่าเราเข้าใจดีในการตรวจสอบ และเราก็ยินดีที่พี่น้องสื่อมวลชน พี่น้องประชาชนจะตรวจสอบพวกเรา เพราะถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดการเมืองที่มีความโปร่งใส แต่เมื่อพิจารณาจากพาดหัวข่าวและประเด็นที่มีการโจมตี ต้องเรียนว่าเกินเลยจากข้อเท็จจริงไปมาก สุดท้ายก็คงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าคงจะมีกลุ่มบุคคล ใครบางคนหวังใช้ข้อเท็จจริงเหล่านี้หวังประโยชน์ทางการเมืองจากการดิสเครดิตนี้ ผมขอฝากว่าอย่าเลยครับ เรามาสู้กันเพื่อเอาชนะใจประชาชนมากกว่าจะมาใช้การสาดโคลน ดิสเครดิตทางการเมืองจะดีกว่า” นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้านนายพงศธร เปิดเผยว่ามีพี่น้องประชาชนติดต่อสอบถามเข้ามาจำนวนมาก โดยตนเองยังมีกำลังใจดี ไม่หวั่นไหวหรือกังวลต่อกรณีดังกล่าว และเชื่อว่าทุกวันนี้พ่อแม่พี่น้องทุกคนมีวุฒิภาวะแยกแยะข้อเท็จจริงได้

‘นายกฯ’ สั่ง ‘กรมสรรพากร’ ศึกษากฎหมาย แก้ภาษี ‘มรดก-ที่ดิน’ หวังเพิ่มรายได้-ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้!! ต้องปรับให้สอดคล้องปัจจุบัน

(9 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณา การปรับปรุงกฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมองว่า กฎหมายการจัดเก็บภาษีการรับมรดกในปัจจุบันนั้น ถูกมองว่า เป็นกฎหมายที่มีขึ้นในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่สามารถจัดเก็บได้จริง

“ผมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสรรพากรไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยกฎหมายจะต้องมีผลบังคับใช้ได้จริงทั้งในมุมการจัดเก็บรายได้และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเผยว่า หลักในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายภาษีการรับมรดกนั้น ต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.) ฐานในการจัดเก็บ ซึ่งปัจจุบัน จัดเก็บมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อราย ซึ่งประเด็นนี้ ก็ต้องมาดูว่า รัฐบาลต้องการปรับเพิ่ม หรือ ลดลงหรือไม่อย่างไร
2.) รายการทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายการเสียภาษี
3.) ข้อยกเว้นในการเสียภาษีดังกล่าว โดยภรรยาหรือสามีตามกฎหมายเมื่อได้รับมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษี

ทั้งนี้ กรณียกเว้นการจัดเก็บภาษีการรับมรดกที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อรายนั้น ก็ถือเป็นช่องที่จะหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยกตัวอย่าง บิดาซึ่งเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ภรรยา 100 ล้านบาท และ ลูก 2 คนๆละ 100 ล้านบาท มรดกดังกล่าว จะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจาก ได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีภรรยานั้น ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เนื่องจาก กฎหมายให้ยกเว้นเฉพาะคู่สามีภรรยา

สำหรับภาษีการรับมรดก เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยผู้ที่ได้รับมรดกเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีและมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า เพราะรับภาระภาษีตามสัดส่วนมูลค่าของมรดกที่ได้รับ

“ภาษีการรับมรดกนั้น เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้าของมรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท” นายเศรษฐา กล่าว

ส่วนทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน สำหรับการยกเว้นภาษีการรับมรดกนั้น อาทิ บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หรือ หน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณประโยชน์ หรือ บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกันกับนานาประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาษีมรดกนั้น เคยถูกนำมาใช้เมื่อปี 2476 แต่ได้ยกเลิกไป เนื่องจาก จัดเก็บได้น้อย ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ โดยยอดการจัดเก็บภาษีในแต่ละปีจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนมรดกที่ถูกส่งต่อมาให้ผู้รับมรดก เนื่องจาก วัฒนธรรมของประเทศไทย คือ การสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งประเด็นการสะสมความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อให้ลูกหลานนั้น ถือเป็นละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทยเช่นกัน เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากิน และในระหว่างที่ได้ทรัพย์สินมา ทางผู้มีทรัพย์สินก็ได้ชำระภาษีให้กับรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้ว

‘ก.พลังงาน’ เล็งใช้สิทธิทางภาษีจูงใจ ‘ภาคเอกชน’ หันมาใช้เครื่องจักรคุณภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงาน

(23 ม.ค.67) นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมการผลิต การใช้และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี’ ภายใต้โครงการพัฒนาและติดตามผล มาตรการทางภาษีเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า การดำเนินงานโครงการนั้นเป็นการศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการปรับมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงาน โดยใช้กลไกทางการเงินเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ

ด้าน นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า พพ. ได้ดำเนินการศึกษาโครงสร้างภาษี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เครื่องจักร อุปกรณ์และกิจกรรมที่ให้สิทธิประโยชน์ ผู้รับสิทธิประโยชน์ และอัตราภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย และในต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดประชุมหารือและรับฟังความคิดสำหรับ (ร่าง) แนวทางและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการผลิตการใช้ และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

อย่างไรก็ดี ได้มีผลการศึกษาแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสมต่อประเทศไทย คือ รูปแบบการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษี และสนับสนุนอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง, อุปกรณ์ที่ติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขอัตราภาษีที่จะนำไปคำนวณสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านพลังงานที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้จากการศึกษาจำเป็นต้องมีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

‘รทสช.’ ชี้!! เงินบริจาคผ่านระบบภาษีให้พรรคพุ่งเป็นอันดับ 3 สะท้อน!! ปชช.เชื่อมั่นในแนวทาง ‘พรรคอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่’

(26 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่ร่วมสนับสนุนบริจาคเงินภาษีและเงินอุดหนุนให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในปีนี้ได้ถึง 10 ล้านกว่าบาท ได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของพรรคการเมืองที่จดทะเบียน ยอดบริจาคในปีนี้เพิ่มมากขึ้นถ้าเปรียบเทียบกับปีก่อนที่ได้เพียง 4 แสนกว่าบาท แม้พรรครวมไทยสร้างชาติจะเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ ทำการเมืองมาปีกว่าๆ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ได้ทำให้ผู้บริหารพรรคและสมาชิกพรรคมีกำลังใจ ดีใจที่เห็นพี่น้องประชาชนทั่วประเทศสนับสนุน ทำให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ดูแลรับใช้ประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยพรรคจะยืนหยัดในอุดมการณ์ของพรรคอย่างมั่นคง ในแนวทาง ‘พรรคอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่’ โดยพร้อมเปิดกว้างพร้อมรับแนวร่วมคนทุกรุ่นทุกเพศทุกวัยเข้ามาสร้างพรรคให้เติบโต ตามแนวทางของพรรคที่ยังจะรักษาสิ่งที่ดีงามในอดีตของประเทศไว้ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่าที่มีความจำเป็น

นายอัครเดช กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่มาร่วมสนับสนุนแนวทางการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติให้มากยิ่งขึ้น พรรคจะพยายามทำงานแสดงจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนว่าพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่ยังคงรักษาสิ่งที่ดีงามในอดีตไว้

เมื่อถามว่า การที่มีประชาชนบริจาคเงินสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นแสดงว่าแนวทางของพรรคที่เดินมาถูกทางแล้วใช่หรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ยอดเงินบริจาคที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่าประชาชนเชื่อมั่น ในแนวทางของพรรคโดยเฉพาะจุดยืนมีความชัดเจน และ ผลงานของพรรคที่ทำมา แม้จะเข้าร่วมรัฐบาลได้ไม่นาน ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนหันมาสนับสนุน พรรครวมไทยสร้างชาติเรามีบุคลากรที่พร้อมจะเข้ามาบริหารประเทศและพร้อมเข้ามาทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงในสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อถามว่า จะเดินตามแนวทางนี้ของพรรคต่อไปไม่เปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า พรรคจะยึดมั่นแนวทางนี้ต่อไปเพราะเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนได้ ดูได้จากมีคนมาบริจาคเงิน ผ่านระบบการเสียภาษี ให้พรรคเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ในปีต่อไปขอให้พี่น้องประชาชนมาร่วมบริจาคเงินให้พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พรรคยืนหยัดในแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคที่ได้ประกาศไว้ต่อพี่น้องประชาชนอย่างมั่นคง

‘บอร์ดอีวี’ ไฟเขียว!! ซื้อ ‘รถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า’ ลดภาษีสูงสุด 2 เท่า ชี้!! มีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 68 หวังลดการปล่อย ‘มลภาวะ’ ภาคขนส่ง

(21 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี (EV) ครั้งแรกของปี 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าให้ครบทั้งระบบ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

โดยแยกเป็น กรณีซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า ส่วนกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า 

สำหรับมาตรการนี้จะมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานสามารถซื้อได้ไม่จำกัดจำนวน และไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมสรรพากร พิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า การออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่นี้ จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ 

“การที่บอร์ดอีวีได้ออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากมาตรการ EV3 และ EV3.5 ที่เน้นกลุ่มรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถกระบะเป็นหลัก คาดว่าจะมีการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีก 4,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และผลักดันการเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท” นายนฤตม์ กล่าว

พร้อมกันนี้ที่ประชุมบอร์ดอีวี ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐสามารถกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีแบบครบวงจร

โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอ ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

- รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
- รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
- รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
- แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
- ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
- สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

สหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีน 4 เท่าตัว เพิ่มจาก 25% เป็น 100% ขวางทางโต EV ขั้นสุด

(11 พ.ค.67) TechHangout รายงานว่า สหรัฐฯ กำลังจะประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายประเภท รวมถึงสินค้ารักษ์โลกต่าง ๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ เวชภัณฑ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในจีน จาก 25% เป็น 100%

ปัจจุบัน รถยนต์ที่ผลิตในจีนทั้งหมดต้องเสียภาษีนำเข้า 25% เมื่อนำเข้ามายังสหรัฐฯ นอกเหนือจากภาษีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศอีก 2.5% ซึ่งรวมเป็น 27.5% ภาษีที่สูงนี้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้ารถยนต์จีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำกว่าเป็นเรื่องง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่มีราคาไม่แพง แม้จะมีภาษี 25% ราคาก็ยังคงแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่า ไม่ว่าอย่างไร รถยนต์ไฟฟ้าจีนก็อาจเข้ามาทำตลาดในสหรัฐฯ อยู่ดี

ทางการสหรัฐฯ จึงมองว่าภาษี 25% ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจีน ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะขึ้นเป็น 100% ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนจะมีราคาขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อนำเข้ามาสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ นโยบายนี้ยังไม่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีการประกาศเกี่ยวกับภาษีใหม่ในวันอังคารนี้ (14 พ.ค.67)

ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ และยุโรป หลายรายเรียกร้องให้มีการขึ้นภาษี เนื่องจากการผลิต รถยนต์ไฟฟ้าจีน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2015 ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าของจีนอยู่ที่เพียง 0.84% ซึ่งใกล้เคียงกับส่วนแบ่งการตลาดของสหรัฐฯ ที่ 0.66% แต่ในปี 2023 แม้ส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นเพียง 7.6% แต่ส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกลับพุ่งสูงไปถึง 37% แซงหน้าหลายประเทศในอุตสาหกรรมนี้

ปัจจุบันภายใต้ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้การผลิตยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีรถล้นตลาดและพอที่จะทำให้มีรถเหลือเฟือสำหรับการส่งออก และผู้ผลิตรถจีนก็ได้เริ่มส่งออกไปยังยุโรปจำนวนมาก จนถึงขั้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาเรือขนส่งได้เพียงพอ

ฉะนั้นเพื่อไม่ให้โอกาสการขยายตัวของรถไฟฟ้าจีนเพิ่มไปกว่านี้ การขึ้นภาษีรถไฟฟ้าจีนที่จะเข้ามาในสหรัฐฯ จึงเป็นเกมกีดกันการค้าที่ดุเอาเรื่อง และนั่นก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีโอกาสได้สัมผัสรถยนต์ไฟฟ้าจีนราคาประหยัดและเทคโนโลยีล้ำสมัยน้อยลงด้วยไปโดยปริยาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top