Saturday, 18 May 2024
ภัยแล้ง

‘เพื่อไทย’ จวก ‘บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม’ ใช้งบ 6 แสนล้าน ยังแก้ภัยแล้งไม่ได้ เชื่อปีนี้แล้งหนัก จี้ เร่งแก้ปัญหา ก่อนกระทบไร่-นาชาวบ้านนับหมื่น

(14 มี.ค. 66) นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย (พท.) จากภาพรวมของสถานการณ์น้ำในพิษณุโลกน่าเป็นห่วง กังวลใจว่าปีนี้ภัยแล้งจะมาเร็วและมาแรงกว่าปีที่ผ่านมา พบว่าในหลายจังหวัดใกล้เคียง เกษตรกรเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว ดังนั้น ในพื้นที่พิษณุโลก หากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ปัญหา จะกระทบพื้นที่นาข้าวนับหมื่นไร่และเกษตรกรหลายหมื่นครัวเรือนอย่างแน่นอน

ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ กนช. อ้างว่าตั้งแต่เป็นรัฐบาลไม่เคยมีเกษตรกรที่ไหนมาร้องเรียนเรื่องภัยแล้ง หากเป็นเช่นนั้นจริง พล.อ.ประวิตร คงหูดับหรือก้มหน้าก้มตาอ่านแต่รายงานที่ลูกน้องรายงานมา ในความเป็นจริงความแห้งแล้งเกิดขึ้นหลายจังหวัด เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง เกษตรกรหลายหมื่นครัวเรือนต้องยืนดูต้นข้าวแห้งตาย เพราะไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยงนาข้าวที่เกษตรกรลงแรงปักดำหวังรายได้จากนาข้าวของตนเอง ส่งผลให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ต้องลงขันระดมทุนจ้างบริษัทเอกชนมาขุดบ่อสูบน้ำบาดาลทำนากันแล้ว

นายนพพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันน้ำต้นทุนในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ดูแลน้ำเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกรใน 4 จังหวัด คืออุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตรและนครสวรรค์จะมีปัญหา เพราะมีน้ำต้นทุนเพียง 4,000 ล้านลบ.ม. แต่ใช้ได้เพียงเหลือเพียง 2,700 ล้านลบ.ม.เท่านั้น กังวลว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร พล.อ.ประวิตรต้องเร่งบริหารจัดการน้ำ หรือหาแหล่งน้ำรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น อย่ามาอ้างว่าเป็นช่วงปลายรัฐบาลทำอะไรไม่ได้ เพราะท่านยังมีอำนาจบริหารจัดการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร อย่ามัวแต่เอาเวลาไปเดินสายหาเสียงจนไม่รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลต้องทำงานให้ประชาชน อย่าเอาเรื่องการเมืองนำหน้าการแก้ปัญหาให้ประชาชน

‘บิ๊กตู่’ จ่อลงพื้นที่ จ.ระนอง 16 มี.ค.นี้ เร่งติดตามปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม ก่อนยุบสภาฯ

(15 มี.ค. 66) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ไปยังท่าอากาศยานนราธิวาส ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมราชการที่จังหวัดนราธิวาส

อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งเดินทางร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรี สวมแว่นกรองแสงทางการแพทย์ พร้อมเปิดเผยว่า เจ็บตาเนื่องจากไปพบแพทย์และลอกตามา ซึ่งไม่เป็นอะไรมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนยุบสภา พี่น้องทั้ง 3 ป. มีอาการป่วยครบแล้วทั้ง 3 คน โดย พล.อ.ประยุทธ์เจ็บมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เจ็บขา และล่าสุด พล.อ.อนุพงษ์ เจ็บตา

โดยเวลา 13.15 น. นายกรัฐมนตรี สักการะพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล และนมัสการพระเทพศีลวิสุทธิ์ ที่ปรึกษา เจ้าคณะภาค 18 ณ พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส  ตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ก่อนเป็นประธานในพิธีเปิดแพขนานยนต์ ณ ด่านศุลกากรตากใบ ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

เวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ พบปะหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาในเขตพื้นทีจังหวัดนราธิวาส ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส และเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดระนอง ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2566 เพื่อติดตามการดำเนินงานสำคัญตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาปรับปรุงการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

โดยมีกำหนดการ ดังนี้ โดยเวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานระนอง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ จากนั้นเดินทางไปตรวจติดตามสภาพปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และพบปะประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ณ อาคารอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง

‘บิ๊กป้อม’ พอใจ บริหารจัดการน้ำคืบหน้า ย้ำ ทุกฝ่ายต้องตื่นตัว สั่งเร่งพัฒนาแหล่งเก็บน้ำทุกพื้นที่ รองรับสภาพอากาศผกผัน

(16 มี.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/66 มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ หลังจากลงตรวจกำกับในหลายพื้นที่

โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 66 โดยใช้แนวทางปี 65 ไปพลางก่อน ซึ่งให้ความสำคัญกับหน่วยรับผิดชอบหลัก และหน่วยสนับสนุนการจัดเตรียมและการใช้ประโยชน์ข้อมูล, การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะน้ำท่วม, การจัดทำระบบเตือนภัยและการเผยแพร่ข้อมูลกับประชาชน, วิธีการระบายน้ำที่รวดเร็วและถูกต้องตามหลักวิชาการ, การกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน

‘บิ๊กตู่’ บุกระนอง ติดตามปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค กำชับทุกฝ่าย เร่งแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อน ปชช.โดยเร็ว

(16 มี.ค. 66) ที่อาคารอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาที่อาคารอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เพื่อตรวจติดตามสภาพปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และพบปะประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนปัญหาขาดแคลนนาอุปโภค บริโภค โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน, นายนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายอำเภอสุขสำราญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจเยี่ยมครั้งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี รับฟังสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคของประชาชนในพื้นที่ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง จากนายอำเภอสุขสำราญ โดยสภาพปัญหาคือแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานกว่า 25 ปี ทำให้ท่อส่งน้ำมีสภาพเสื่อมโทรม และชำรุดเสียหาย ซึ่งแหล่งกักเก็บน้ำหลักในพื้นที่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ฝายคลองกำพวน และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ฝายบ้านโตนกลอย

และเนื่องจากทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการถ่ายโอนภารกิจแล้ว โครงการชลประทานระนองจึงไม่สามารถขอรับสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการซ่อมแซมได้ ส่งผลให้ราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในช่วงที่เกิดการชำรุดเสียหายของท่อส่งน้ำ

ทั้งนี้ เทศบาลตำบลกำพวนได้ซ่อมแซมและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยโครงการชลประทานระนองได้ประสานไปยังส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 14 เพื่อพิจารณาโครงการเบื้องต้น เป็นโครงการฝายคลองโตนกลอยพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหา วงเงินงบประมาณ 40.60 ล้านบาท คาดว่าจะจัดเข้าแผนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีปัญหากัดเซาะชายหาดบ้านทะเลนอก ระยะทาง 7 กิโลเมตร รวมถึงระบบไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับเจ้าหน้าที่และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บูรณาการทำงานร่วมกันในการเร่งช่วยเหลือดูแล แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้เป็นผลสำเร็จภายในปีนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ได้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินทางมาจังหวัดระนองในวันนี้ ว่า เพื่อมารับฟังปัญหาและหาแนวทางพัฒนาปรับปรุงให้การดำเนินงานสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนไปตามแผน รวมทั้งตั้งใจมาขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งของจังหวัดระนอง ทั้งด้านเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยขอย้ำให้ทุกคนนำศักยภาพที่จังหวัดระนองมีอยู่ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการเป็นจังหวัดที่ติดกับทะเล ที่จะเชื่อมไปฝั่งอันดามันและต่างประเทศ รวมถึงการเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาขับเคลื่อนพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า สร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ รวมถึงการร่วมมือกันในประเทศและต่างประเทศ ในการลดโลกร้อนที่เกิดขึ้นขณะนี้ โดยเฉพาะร่วมกันรักษาป่า และปลูกป่า สร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อดูดซับคาร์บอน และสามารถใช้ในการเป็นคาร์บอนเครดิต ที่จะสร้างรายได้ในอนาคต

‘บิ๊กป้อม’ ลุย ‘กระบี่-พังงา’ หาแนวทาง รับมือน้ำท่วม-ภัยแล้ง พร้อมหนุน ‘ศูนย์กลางผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ’

‘บิ๊กป้อม’ โหมงาน ลุยกระบี่-พังงา ติดตามพัฒนาแหล่งน้ำ-เมืองท่องเที่ยว-ดัน พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน ชู ไทย ‘ศูนย์กลางผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ’ และมีหน่วยงานรองรับตรง 

(20 มี.ค. 66) เมื่อเวลา 09.30. น.ที่ จ.กระบี่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.กระบี่ และพังงา โดยจุดแรก ติดตามความคืบหน้าโครงการฝายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการอนุรักษ์แหล่งน้ำในพื้นที่ มี ผวจ.กระบี่และพังงา เลขา สทนช. อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมชลประทาน และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ให้การต้อนรับ 

โดยรับฟังการบรรยายสรุปในพื้นที่ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองไหล ต.พรุเตียว อ.เขาพนม จว.กระบี่ พร้อมพบปะรับฟังปัญหาประชาชนในพื้นที่ ภาพรวมสถานการณ์น้ำของ จว.กระบี่ปัจจุบัน ปี 61 - 65 ดำเนินการแล้ว 447 โครงการ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 15,000 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์กว่า 23,500 ไร่  ปี 66 อยู่ระหว่างดำเนินการ 13 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์  1,430 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 1,000 ครัวเรือน และปี 67 เตรียมโครงการรรองรับ 148 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์กว่า 48,000 ไร่ ประชาชนรับประโยชน์กว่า 7,100 ครัวเรือน สำหรับปี 66 คาดการณ์มีภาวะฝนทิ้งช่วง มิ.ย.- กค. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำสะสมน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

นายกแจ๊สเดินหน้าระดมช่วยเหลือบรรเทาภัยเกษตรกรเตรียมรับมือแล้งหนัก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 08.00 น. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย ทีมงานผู้บริหาร อบจ. ผู้นำชุมชนร่วมลงพื้นที่เตรียมความพร้อมและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตามแนวคลอง 9 ต.บึงกาสาม และ ต.บึงบอน อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี


โดยมี นายเด่นวันชัย สำราญราษฎร์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , นายเฉลิมพงษ์ รังสิวัฒนศักดิ์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , นายสุริยา ธรรมธารา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เขตอำเภอหนองเสือ , นางพิชชานันท์ เกษมวราภรณ์ ผู้อำนวยการกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , นายสำเนียง บุญนะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงบอน ร่วมลงพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และเตรียมประสานชลประทานร่วมประชุมรับมือภัยแล้งอำเภอหนองเสือ


นายเด่นวันชัย สำราญราษฎร์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากเราได้เข้าสู่หน้าแล้งอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีปริมาณที่น้อยลง ซึ่งเกษตรกรยังมีความต้องการน้ำ อากาศที่ร้อนส่งผลให้น้ำสูญเสียไปกับความร้อน แดด ลมบางส่วน จะเห็นว่าระดับน้ำในคลองชลประทานลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องทำให้เราต้องเตรียมการรับมือภัยแล้ง เนื่องจากเราอยากทำงานก่อนที่จะแล้ง หากแล้งแล้วเราจะทำงานกันไม่ทันชาวบ้านจะเดือดร้อนจึงได้ประสานพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี เข้ามาแก้ไขปัญหา ลดความเดือดร้อนของประชาชน


นายสำเนียง บุญนะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงบอน กล่าวว่า เนื่องจากระดับน้ำในคลองลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คลองที่เกษตรใช้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าตามระบบปกติได้ มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องขนาดใหญ่ตั้งสูบเข้าไป เพราะประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบไม่มีเครื่องมือที่จะผลักดันน้ำจากคลองส่งน้ำเข้าสู่คลองซอย จึงต้องอาศัยท่านพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี แก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนชาวเกษตรกรหนองเสือ เพราะว่าช่วงนี้อากาศร้อนและแล้งมาก ฝนไม่ตก การระเหยของน้ำสูง พี่น้องชาวหนองเสือทำนาทำสวนปลูกผักมีความจำเป็นต้องใช้น้ำรวมถึงเพื่อการอุปโภคบริโภคด้วย

ปทุมธานี ภัยแล้งมาแล้วนายกแจ๊สจับมือทุกฝ่ายบูรณาการ แก้ไขปัญหาช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอหนองเสือ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในการประชุมแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเขตพื้นที่อำเภอหนองเสือ เพื่อป้องกันและแก้ไขภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบจ.ปทุมธานี ผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ว่าที่ร้อยตรีธีระพล โชคนำชัย นายอำเภอหนองเสือ , นายมานพ แจ่มมี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ , นายเฉลิมพล ทองน้อย ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 11 เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยมีชาวบ้านนำผลผลิตทางการเกษตร พืชผักผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกมามอบให้นายกแจ๊สและทีมงานเพื่อขอบคุณที่ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้เกษตรชาวหนองเสือ


โดยมี นายพิษณุ พลธี อดีต ส.ส.เขต.6 ปทุมธานี พรรคภูมิใจไทย (นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดปทุมธานี) และผู้นำชุมชนได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในคลองส่งน้ำที่เก้า เนื่องจากเป็นคลองที่มีสภาพตื้นเขินทีสุด หากระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์ลดน้ำในคลองส่งน้ำหลักจะแห้งอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำไหลเข้าคลองย่อยหรือคลองซอยตามธรรมชาติไม่ได้ จึงต้องใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เบื้องต้น ทาง อบจ.ปทุมธานีได้นำเครื่องสูบน้ำจำนวน 8 เครื่องมาตั้งเครื่องที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองย่อยต่าง ๆ เพื่อสูบน้ำให้เกษตรกรใช้น้ำได้อย่างปกติ


ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า วันนี้ได้ประสานชลประทาน ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ท่านนายอำเภอฯ ทุกฝ่ายมาร่วมกันระดมรับฟังปัญหาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด วันนี้เกิดประโยชน์มากที่ทางกำนันผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต.ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เมื่อรับทราบปัญหาทางชลประทานจะมีการเติมน้ำเข้ามาในคลองส่งน้ำคลองหลัก เพื่อให้เราได้สูบน้ำเข้าไปยังคลองย่อยคลองซอย

พิษณุโลก กองบิน ๔๖ ขจัดอุบัติภัย บรรเทาภัยแล้ง”

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบิน ๔๖ ลงพื้นที่ตำบลบ้านป่า อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๖ นาวาอากาศเอก สิระ บุญญะพาศ ผู้บังคับการกองบิน ๔๖ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบิน ๔๖ มอบหมายให้ นาวาอากาศโท พีระพัฒน์ ปั้นกล่ำ หัวหน้าแผนกกิจการพลเรือน กองบังคับการ กองบิน ๔๖ พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน กองบิน ๔๖ และเจ้าหน้าที่ นำรถบรรทุกน้ำสะอาด จำนวน ๑๘,๐๐๐ ลิตร แจกจ่ายให้ประชาชน ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ออกแจกจ่ายน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค ณ พื้นที่บ้านป่า หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านป่า อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก  เนื่องจากแหล่งน้ำบาดาลที่ใช้มีปริมาณลดลง และเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง รวมถึงบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ใจถึงใจไปทันที จิตอาสาต้านภัยแล้ง66 น้ำคือชีวิต กองบิน46เพื่อประชาชน


จิตอาสา904 ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว

‘สทนช.’ คาด ‘เอลนีโญ’ ส่งผลกระทบทำไทยแล้งนาน 2 ปี ห่วงภาคกลางต้นทุนน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ​ 17​ เท่านั้น

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 66) นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการรับมือกับภาวะภัยแล้ง-น้ำท่วม โดยวิเคราะห์ว่า ปีนี้ ไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ สิ่งที่เป็นกังงวลคือเรื่องของภัยแล้ง เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปริมาณฝนตกทั่วประเทศเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ คือ ร้อยละ 25 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างลงมาลุ่มเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่กลุ่มฝนจะไปตกทางภาคใต้และลุ่มแม่น้ำมูลของภาคอีสาน การบริหารจัดการน้ำจึงต้องประหยัดและทำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำอยู่ร้อยละ 29 หรือ 1 หมื่น 5 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรปล่อยน้ำให้ประชาชนใช้ไปแล้วร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสิ่งที่ศุนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นกังวล คือการทำเกษตร เพราะหากประชาชนยังเพาะปลูกต่อเนื่อง โอกาสภัยแล้งมีโอกาสจะกระทบไปถึงปีหน้า

นอกจากบริหารจัดการการใช้น้ำแล้ว ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธณี เพื่อวางแนวทางร่วมกัน คือ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ปรับแผนขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีแหล่งน้ำบาดาลสำรองสำหรับใช้อุปโภคบริโภค 200 แห่ง แหล่งน้ำบาดาลเพื่อทำเกษตรขนาดใหญ่ 200 แห่ง และยังมีแหล่งน้ำบาดาลที่ยังใช้งานไม่ได้จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงอีก 1 พันกว่าแห่ง

ส่วนพื้นที่รับน้ำแก้มลิง มีทุ่งบางระกำและทุ่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ปัจจุบันยังจัดสรรน้ำให้ประชาชนในการเพาะปลูกอยู่เพื่อพร่องน้ำไว้รับมือกับน้ำหลากน้ำท่วมหากฝนตก คาดว่าการทำเกษตรของประชาชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติเน้นย้ำว่าผลกระทบจากเอลนีโญ่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้งไปอีก 2 ปี ทุกหน่วยงานจึงต้องมีความพร้อมรับมือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะพยายามไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด หากพื้นที่ไหนเช่นนอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอก็จะจัดหาน้ำเข้่ไปช่วย ทั้งนี้มีความกังวลในพื้นที่ภาคกลางมากสุด โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ แควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในปริมาณมาก โดยปัจจุบันภาคกลางเหลือน้ำต้นทุนอยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น

‘บิ๊กป้อม’ เปิดงาน ‘วันน้ำโลก ปี 66’ วอนคนไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า กำชับทุกภาคส่วน บริหารจัดการน้ำเต็มประสิทธิภาพ-รับมือภัยแล้ง

(1 ก.ย. 66) โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดกิจกรรม ‘ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ’ เนื่องใน ‘วันน้ำโลก ประจำปี 2566’ พร้อมมอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เจตนารมย์ของรัฐบาลไทย ที่พร้อมเดินหน้าไปกับประเทศสมาชิก เพื่อยืนยันความร่วมมือ ภายใต้กรอบองค์การสหประชาชาติ และไทยพร้อมรับข้อเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงาน และองค์กรด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มอัตราเร่งการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ยังได้ รณรงค์ขอให้ประชาชน และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัด เห็นคุณค่าในโอกาสนี้ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top