Friday, 3 May 2024
พลังงานสะอาด

‘ปตท. - กองทัพเรือ’ ชูนวัตกรรมโซลาร์ลอยน้ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความยั่งยืน 

เมื่อไม่นานมานี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ และดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน และระบบการบริหารจัดการน้ำ ระหว่าง กองทัพเรือ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำและการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของกองทัพเรือด้านการสร้างความมั่นคงของประเทศและการช่วยเหลือดูแลประชาชนอีกด้วย

ครั้งประวัติศาสตร์ TSB เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตแก่สวิตเซอร์แลนด์ จากรถเมล์พลังงานสะอาดเจ้าแรกของโลก

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB เปิดเผยว่า จากความพยายามของบริษัทในการพัฒนาขนส่งมวลชนของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบพลังงานไฟฟ้า 100% ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันดำอันจะส่งผลต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน ทั้งยังช่วยเก็บคาร์บอนเครดิต ที่เป็นสิทธิจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ล่าสุด ทางเครือไทยสมายล์กรุ๊ป และหน่วยงานพันธมิตร ได้เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตที่บันทึกได้จากโครงการ “Bangkok E-Bus Programme” โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2  การร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยกรอบความร่วมมือภาคสมัครใจ ทั้งยังมีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้ซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

สำหรับการพัฒนาในปี 2567 นางสาวกุลพรภัสร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจของบริษัทกับพนักงานทุกคน ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งนี้ แม้ตนเองเป็นบริษัทเอกชน 100% ก็จะขออาสาช่วยพัฒนาการคมนาคมขนส่งของไทยอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน ทั้งในเรื่องของคุณภาพการให้บริการ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดั่งความตั้งใจที่ว่า "เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" โดยภายในปีนี้จะมีการทยอยนำรถเข้ามาเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีรถพร้อมให้บริการอยู่จำนวน 2,200 คัน เป็น 3,100 คันตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันบริษัทก็จะพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาให้บริการมากขึ้นควบคู่กันไปด้วย

‘ธ.กสิกรไทย’ จริงจัง!! เริ่มใช้ ‘รถแลกเปลี่ยนเงินตรา’ พลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าผลิตบัตรเครดิต-เดบิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20 ล้านใบใน 7 ปี

(11 ม.ค. 67) นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564

โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป

‘พีระพันธุ์’ เคาะ!! ‘ค่าไฟฟ้าสีเขียว’ 4.55 บาท/หน่วย เปิดทางพลังงานสะอาด ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

‘กระทรวงพลังงาน’ คาด ก.พ. เคาะราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว คาดราคาเหมาะสม 4.55 บาทต่อหน่วย ปลดเงื่อนไขทางต่างชาติต้องการพลังงานสะอาด ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้กฎหมายโรงงานผลิตไฟฟ้าโซลาร์หลังคาเกิน 1,000 หน่วยไม่ต้องขออนุญาต

(20 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในไม่เกินเดือน ก.พ.2567 กระทรวงพลังงานจะประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวไปแล้ว นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมในการจัดหา ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ มีทั้งกระบวนการผลิต จัดหา และการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ได้เป็นอย่างดี มั่นใจว่าจะมีไฟฟ้าสีเขียวในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้

รับฟังความเห็นสาธารณะ ม.ค. นี้
เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ.กล่าวว่า ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การคำนวณอัตราราคาเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว และเตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงเดือนม.ค. 2567 นี้ โดยการประกาศโครงการ การจัดทำอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) จะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคสุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่าง ๆ

พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์สูงสุด
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 250 ล้านตันต่อปี โดย 100 ล้านตัน มาจากภาคการไฟฟ้า มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และภายในปี 2080 จะมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 80% โดยส่วนใหญ่มาจากโซลาร์เซลล์ ประมาณ 20,000 เมกะวัตต์

คมกฤชคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นที่คำนวณเพื่อจะนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือนม.ค. 2567 โดยคำนวณราคาค่าไฟไว้ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ที่น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม มารับฟังความเห็นฯ โดยตัวเลขต่างๆ มีการรวบรวมจากค่าบริการของต่างประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วด้วย

แก้กฎหมาย-ลดหย่อนภาษีโซลาร์หลังคา
ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปลดล็อคให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งเตรียมผลักดันมาตรการลดหย่อนภาษีประจำปี ส่งเสริม Solar Rooftop ในกลุ่มบ้านอาศัย วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท 10 กิโลวัตต์ เพื่อสนับสนุนคนใช้โซลาร์ 9 หมื่นครัวเรือนต่อปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า สำหรับประชาชนผู้ร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน

‘S&P’ หนุนองค์กรใช้พลังงานสะอาด-ซื้อคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(20 ม.ค. 67) ‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รางวัลนั้นเกิดจากความพยายามเดินหน้าธุรกิจ ตามแนวคิด ‘คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม’ เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า

จากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ. 2559 ที่บริษัทเริ่มติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป บนอาคาร 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่ บางพลี โรงงานผลิตเบเกอรี่ จ.ลำพูน และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า S&P (S&P Smart Distribution Center) ที่ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 594 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 785,712 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 390 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 12,104 ต้น

ขณะที่โรงงานผลิตเบเกอรี่และอาหาร 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่บางนา-ตราด กม.23.5 (เฟส 3) โรงงานผลิตเบเกอรี่ลำพูน และ โรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 2,285,531 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 33,980 ต้น ส่วนโรงงานผลิตเบเกอรี่สุขุมวิท 62 โครงสร้างอาคารไม่สามรถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ จึงนำระบบ Solar Light มาใช้แทน ซึ่งรวมแล้วทั้งหมด สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ราว 20-25%

นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการคาร์บอน สโคป 1 และ 2 เป็นเรื่องที่เอสแอนด์พีดำเนินการต่อเนื่อง และพยายามพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2566 เอสแอนด์ พี ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนแล้ว 1.3 หมื่นตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เอส แอนด์ พี ปล่อยต่อปี โดยยังไม่รวมปริมาณคาร์บอนจากสาขาอีกเกือบ 500 สาขา ที่จะเริ่มนับและคำนวณปริมาณคาร์บอนในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้นำรถไฟฟ้า S&P EV Truck จำนวน 1 คัน มาใช้ในการขนส่งสินค้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าการเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาดอีก 4 คัน ในปี 2567 เพื่อครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง

ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งใหม่ ของศูนย์กระจายสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การบรรจุสินค้าใส่รถยนต์ การกำหนดเส้นทางการเดินรถ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้าน Supply chain ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงทำให้สามารถลดค่านํ้ามันลงได้ถึง 9 ล้านบาทต่อเดือน

มณีสุดา กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดจากจุดเริ่มต้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ ทำให้ต้องใช้งบค่อนข้างสูง

อีกทั้ง สิ่งที่ดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เป็นการปรับพฤติกรรมพนักงานในองค์กร เริ่มจากการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงานทำมาแล้ว 3 รุ่น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า สู่วัสดุรีไซเคิล หมายรวมถึงพลาสติกที่เริ่มจากการลดความหนาของพลาสติกลง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วทั้งหมด 94%

“การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในร้าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ หากต้องเปลี่ยนพลาสติกทั้งหมด ต้องใช้งบไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาท หรือแม้แต่การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนภาคในองค์กร รวมถึงกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการลงมือทำ จากสิ่งใกล้ตัวก่อนและค่อย ๆ ทยอยทำ จะช่วยให้งานทั้งหมดสามารถเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นคำนวณ Payback Period มันไม่คุ้ม”

เอส แอนด์ พี พยายามทำทั้ง Green Product และ Green Restaurant ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 11 สาขา รวมถึงการทำ โครงการ Food Rescue โดยร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ ‘SOS Thailand’ ส่งต่ออาการส่วนเกินให้กับผู้ที่มีความต้องการ ทำให้สามารถลดขยะอาหารจาก 240 ล้านบาท เหลือ 168 ล้านบาทในปัจจุบัน

“เอส แอนด์ พี ยังดำเนินการร่วมกับซัพพลายเชน เช่น เกษตรกรและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ค.ศ.2050”

‘รมว.พีระพันธุ์’ เดินหน้าให้ความรู้ด้าน ‘พลังงาน’ แก่คนไทย หนุนผลิต-ใช้ ‘พลังงานทดแทน’ ปักหมุด ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางเอเชีย

(23 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ United Thai Nation Party’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ รมว.พลังงานลงพื้นที่ จ.ชุมพร เปิดกิจกรรม ‘คาราวานความสุข @ชุมพร’ หนุนชุมชนใช้พลังงานทดแทน โดยระบุว่า…

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เปิดงาน ‘กระทรวงพลังงาน คาราวานความสุข @ ชุมพร’ ตามนโยบายสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเอเชีย และ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งจากภาคพลังงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำองค์กรเอกชน กลุ่มพลังมวลชน ร่วมพิธีกว่า 2,000 คน ณ ลานกิจกรรมเทศบาลเมืองชุมพร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร 

นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘พลังงานสร้างสุข ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน เพื่อคนไทยทุกคน’ เพื่อประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับนโยบายด้านการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน สร้างความเข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ไปยังกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการอาคาร โรงงานและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านพลังงานและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานและสินค้าชุมชนให้มีโอกาสพบผู้บริโภคได้โดยตรง รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการและชุมชนต่าง ๆ ให้สามารถแลกเปลี่ยน ซื้อขาย ตลอดจนตกลงร่วมมือทางด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างแก่ผู้ประกอบการและชุมชนอื่น ๆ ให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง

‘รมว.ปุ้ย’ ดึง ‘อุตฯ พลังงานสะอาดญี่ปุ่น’ ลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรม เสริมบริการสาธารณูปโภคสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

(11 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 ตนเองพร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เลขานุการรัฐมนตรีฯ ประธานกรรมการ กนอ. ผู้ว่าการ (กนอ.) และรองผู้ว่าการ กนอ. อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมในการรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน ในพื้นที่ อีอีซี และพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้พบกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงการขยายการลงทุนในอนาคต โดยมีโอกาสในการขยายการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ได้แก่ เพิ่มมูลค่าการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศได้อีกด้วย 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ตนยังได้เป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ ‘การให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว’ โดยคาดว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต 

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่ กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ…

ระยะที่ 1 : ศึกษาความเป็นไปได้ (1 ปี) 
ระยะที่ 2 : ตั้งโรงงานต้นแบบ 
และระยะที่3 : ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ (หากผลการศึกษาเป็นไปได้) 

ความร่วมมือนี้ จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียว กับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าประชุมเจรจาความร่วมมือร่วมกับนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (Next generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่นและหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่ายต่อไป 

ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค.67) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จำนวน 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอก EEC จำนวน 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง

'ผอ. ภูวดล มิ่งขวัญ' เทคนิคบุรีรัมย์ ศึกษาพลังงานนำล้ำอาเซียน สอนทำจริง บริหารพร้อมวิจัย การจัดการพลังงานสะอาดและอนุรักษ์พลังงาน ก้าวสู่ Smart College Energy Real Time Net Zero Energy Real Time (IoT) College

นายภูวดล มิ่งขวัญ  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ กล่าว ขอขอบคุณ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด มอบ platform สื่อการสอน ระบบไฟฟ้าและค่าพลังงานไฟฟ้าด้วยกราฟ แบบ Online และ Real Time เป็นสื่อการเรียนการสอนทันสมัยที่สุดในอาเซียน จาก นาย ประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ ตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ณ ห้องประชุมบุรีรายา วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ 

จากที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการแถลงนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ทางวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ได้ตะหนักถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงองค์กร พร้อมทำตึกอนุรักษ์พลังงาน และนำหม้อแปลง Low Carbon ลงดิน โดยมีโซล่าเซลล์ Solar Cell, Energy Storage สอนพร้อม ปฏิบัติจริง และอนาคตสนามฟุตบอล, สนามบาสเกตบอล และสนามกีฬาจะเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเล่นกีฬาทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 18.00 – 20.00 น. โดยจะใช้ไฟจากพลังงานสะอาด 100% จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อทางวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ และเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยแบบ Real Time นำโปรแกรม Energy Management System Smart Building ในด้าน Net Zero & Near Zero, Peak Demand และ Demand Response พร้อมคาดการว่าจะประหยัดพลังงานถึง 10% และโครงการดังกล่าว 3 สถานบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาให้ความร่วมมือในอนาคต 

โดยโมเดลที่กล่าวมาข้างต้นจะเหมือนกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้วิจัยพัฒนาเกี่ยวกับการตรวจเช็ค วิเคราะห์พลังงาน บำรุงรักษา ด้านความปลอดภัย อัคคีภัย แบบ IoT ในการให้ความรู้ด้านการจัดการพลังงานแบบเรียลไทม์ (IoT)  และบริหาร Green Energy Low Carbon ส่งเสริมหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนทันสมัยสุดในอาเซียนเรื่องบำรุงรักษาและมาตรฐานความปลอดภัย อัคคีภัย ของหม้อแปลงไฟฟ้า สามารถลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์และตรงต่อความต้องการของ ภาคประกอบการ เป็นกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

หม้อแปลงดังกล่าวได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (NiA) และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐ และสถาบันมากมาย เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพของนวัตกรรม ด้วยรางวัล และประกาศเกียรติคุณ อาทิ Thailand energy awards 2023, ASEAN ENERGY AWARDS 2023, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) TGO, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), กรมบัญชีกลาง, สำนักงบประมาณ, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรางวัลประหยัดพลังงาน ลดคาร์บอน อีกทั้งยังตีพิมพ์วรสารระดับโลก IEEE journal  ด้านการประหยัดพลังงานอีกด้วย

'อลงกรณ์-ชัชชาติ' ผนึกความร่วมมือ 'กทม.-จีน' แก้ปัญหาพีเอ็ม2.5และลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท ประธานที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเปิดเผยวันนี้(15 มี.ค.)ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีกว่า10คนเข้าพบหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารกทม.ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกันในด้านของสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดว่า

การพบปะหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การเป็น“มหานครโซลาร์เซลล์”และ“กรุงเทพสีเขียว2030 “ของกรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและประเทศจีนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นตัวอย่างในที่ดีในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดซึ่งกรุงเทพมหานครมีกลไกและแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาpm.2.5 การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การมีจุดบริการบรรจุไฟฟ้า(EV Charging points)และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเมือง
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สรุปเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ได้แก่ 

1. การโปรโมตการใช้รถ EV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการเปลี่ยนรถขยะจากระบบน้ำมันมาเป็นระบบ EV จำนวน 2,000 คัน
2. การเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า 40 จุด
3. การพิจารณาทำโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ 
4. การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครโซลาร์เซลล์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแดดทั้งปี โดยมีโครงการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร 
5. การพิจารณาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชายทะเลอยู่ประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นผู้ประสานความร่วมมือหลัก

นายอลงกรณ์ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่งและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารกทม.และแสดงความชื่นชมผู้ว่ากรุงเทพมหานครและคณะที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การขับเคลื่อน“กรุงเทพสีเขียว2030”(Green Bangkok 2030” ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutrality)และซีโร่คาร์บอน(Zero carbon)โดยเป็นภารกิจของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนในปีค.ศ.2050และ2065ตามลำดับ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับประเทศจีนในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่วาระครบรอบ50ปีในความสัมพันธ์ทางการฑูตของ2ประเทศในปี2568นับแต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี2518ซึ่งม.ล.สุภาพ ปราโมชผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้นและสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการเดินทางไปจีนถึง148ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์2ประเทศจนถึงทุกวันนี้โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีได้ตอบตกลงและพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างกระตือรือร้นและจะเร่งดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สำหรับการประชุมหารือเมื่อวันที่14มีนาคม2567มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ คณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายธัชธรรม พลบุตร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย

‘สนพ.’ เผยการปล่อยก๊าซ CO2 ภาคพลังงานของไทยปี 2566 น่าปลื้ม!! ลดลง 2.4% จากปีก่อน ผลจากการใช้พลังงานสะอาดทดแทน

(21 มี.ค. 67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2566 พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง อุปสงค์ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกชะลอตัวทำให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่ลดลงเล็กน้อย 

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 43 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 33 และ 24 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.0 และ 1.1 ตามลำดับ ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ในปี 2566 ที่ลดลง ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า  มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 81.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 95.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 9.7 ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 89.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 13.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 3.5

“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.27 / 2.28 / 2.13 และ 2.85 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ 

ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อย ก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้” นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top