Tuesday, 21 May 2024
ผู้สูงอายุ

โรงพยาบาลรามคำแหง ให้บริการผู้ดูแลส่วนตัว สะดวกสบาย ครอบคลุมทุกความต้องการ

โรงพยาบาลรามคำแหง มีบริการผู้ดูแลส่วนตัว สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เมื่อต้องมาโรงพยาบาลคนเดียว

โดยจะคอยช่วยเหลือผู้มาใช้บริการตั้งแต่ ช่วยทำนัด จัดหารถรับส่ง เป็นเพื่อนซื้อกาแฟ หาผ้าห่มให้เผื่อหนาว พาไปพบหมอ รอรับยา จนเสร็จสิ้นภารกิจ ขึ้นรถกลับบ้าน
 

‘เกาหลีใต้’ เผชิญวิกฤต ‘สังคมผู้สูงอายุ’ เพิ่มจำนวนต่อเนื่อง หลังยอดแรงงานสูงวัยพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2023

(25 ก.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, โซล รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งเกาหลีใต้ รายงานว่า อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้สูงอายุเกาหลีใต้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ท่ามกลางภาวะประชากรสูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

รายงานระบุว่าจำนวนประชากรผู้มีอายุ 55-79 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปีก่อน อยู่ที่ 15,481,000 คนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 34.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยร้อยละ 60.2 ของผู้มีอายุ 55-79 ปี ทำงานเชิงเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8 จุด

อัตราการมีส่วนร่วมดังกล่าว ครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีงานทำและผู้สูงอายุที่กำลังหางานทำ โดยจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 9,120,000 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 349,000 คน ส่วนอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 0.8 จุด จนแตะระดับสูงใหม่ที่ร้อยละ 58.9

ทั้งนี้ ร้อยละ 68.5 ของประชากรสูงอายุคาดหวังจะทำงานต่อไป เพื่อหาค่าครองชีพและความสุขจากการทำงาน

รายงานระบุว่าผู้รับเงินบำนาญของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 50.3 ของผู้สูงอายุทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.9 จุด โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุเพศชายรับเงินบำนาญ 980,000 วอน (ราว 26,494 บาท) ต่อเดือน ขณะผู้สูงอายุเพศหญิงรับเงินบำนาญ 500,000 วอน (ราว 13,517 บาท) ต่อเดือน

ที่มา : Xinhua

‘มหาดไทย’ ออกระเบียบใหม่ วิธีจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี 66 ชี้!! ผู้ที่ไม่มีสิทธิ แต่ได้รับเบี้ยไปก่อนหน้า ไม่ต้องเรียกเงินคืน

(13 ส.ค. 66) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 ระบุหากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพด้วยความสุจริต ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระงับสิทธิ แต่ยกเว้นไม่ต้องเรียกเงินคืน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ระเบียบดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 69 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 5 และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 6 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกระเบียบไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566”

บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศ หรือมติอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป)

สาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้
ข้อ 4 ในระเบียบนี้ ‘ผู้สูงอายุ’ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ‘เบี้ยยังชีพ’ หมายความว่า เงินที่รัฐมอบให้แก่ผู้สูงอายุตามกฎหมายเพื่อใช้ในการยังชีพ

‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ หมายความว่า ‘เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา’ ‘ผู้บริหารท้องถิ่น’ หมายความว่า ‘นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตาบล และนายกเมืองพัทยา’

หมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ

ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(3) มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ขณะที่ในหมวด 5 ข้อ 14 ระบุ สิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบนี้สิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6
(3) แจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ระบุว่า บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป

การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว

‘อนุพงษ์’ ยัน!! เบี้ยผู้สูงอายุตอนนี้ยังเหมือนเดิม เชื่อ ระเบียบใหม่ช่วย ปชช.ได้ประโยชน์ทั่วถึงมากขึ้น

(15 ส.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ว่า การจ่ายเดิมทางกรมบัญชีกลางเห็นว่าผู้ที่มีรายได้อื่นๆ เช่น บำนาญ คงจะรับเงินไม่ได้ต้องเรียกคืน และในที่สุดก็มีปัญหา จนรัฐบาลต้องจ่ายเงินคืนให้ จากนั้นได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่ง พม.ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ โดยกฤษฎีกาตีความว่าระเบียบที่ออกนี้ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า ประชาชนจะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ รัฐบาลต้องช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นการที่กำหนดว่าจะให้ใครตามระเบียบเดิมไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตามการจะให้นี้ต้องทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจะมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ถ้าจะให้ทั่วถึงจ่ายทุกคนก็ได้ หรือจะไปกำหนดกลุ่ม คนที่มีรายได้มากอาจจะไม่ต้องจ่ายก็ได้ ซึ่งระเบียบนี้ก็เปิดทางไว้ อย่างไรก็ตามถ้าคณะกรรมการผู้สูงอายุยังไม่กำหนด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายแบบเดิมได้ ทั้งผู้ที่ได้รับอยู่แล้วและผู้ที่จะอายุครบ 60 ปีใหม่ สามารถจ่ายตามเกณฑ์เดิมได้

เมื่อถามว่า จะรอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุพิจารณาก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณาอย่างไร แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปทำ เพราะมันคงผูกพันกับรัฐบาลใหม่แล้ว เนื่องจากใช้งบประมาณมาก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้รัฐบาลได้ทำหนทางไว้หมดแล้ว รัฐบาลใหม่มาจะทำอย่างไรก็สามารถทำได้หมด ดังนั้นตอนนี้ผู้สูงอายุเดิมรับเงินอย่างไรก็รับไปตามเดิม ผู้สูงอายุใหม่ก็สามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่า ตอนนี้ประชาชนยังไม่ต้องกังวลใจในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล และถ้าตนมองในตอนนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ เป็นธรรม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

‘ทนายนกเขา’ ฟาดสื่อหลายสำนัก ปั่นข่าวเบี้ยผู้สูงอายุจนเละ  นำเสนอไม่ครบถ้วน ทั้งที่ประกาศใหม่ ทุกคนยังได้สิทธิคงเดิม

เมื่อไม่นานนี้ นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทนายนกเขา’ ทนายความที่รับว่าความคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันเป็นกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนประจำสภาทนายความ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนหลายๆ สำนัก ที่ได้ทำข่าวประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงวัย ปี 66 ในลักษณะที่บิดเบือน และข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้สังคมเกิดความสับสน จนนำไปสู่การวิจารณ์รัฐบาลด้วยความเข้าใจผิด โดยระบุว่า…

“ในเรื่องเบี้ยยังชีพของคนชราที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ จริงๆ แล้ว น่าตบปากสื่อมวลชนหลายสำนัก นำเสนอข่าววันแรก ก็นำเสนอไม่ครบ นำเสนอวันที่ 2 ก็ปั่นกระแสจนวุ่นวายหมด ไม่ได้ดูเลยว่า การที่รัฐบาลออกประกาศใหม่มานั้น ทุกคนยังได้สิทธิ์คงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และผู้รับสิทธิ์รายใหม่ ที่อายุกำลังจะถึง 60 ปี ก็ยังได้สิทธิ์ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการผู้สูงอายุไปกำหนดระเบียบ ประกาศ กำหนกหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งก็อยู่ในประกาศข้อที่ 17-18 ที่มีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกระแสปั่นจนเกิดความเข้าใจผิด”

“พี่น้องประชาชนลองคิดดูว่า ถ้าการจ่ายเงินแบบสุรุ่ยสุร่าย ไร้สาระ เช่น คนที่ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะได้ ให้ทำอย่างไร? เหมือนที่คุณอนุพงษ์ เผ่าจินดา เขาพูดว่า ถ้าหากเขา หรือ พล.อ.ประยุทธ์ได้เบี้ยคนชรา สังคมจะรู้สึกอย่างไร?

ส่วนคุณเศรษฐา คงจะไม่รู้สึกอะไร เพราะเขาคงแจกเงินคนรวยจากเงินดิจิทัลอยู่แล้ว พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ของพวกคุณธนาธร คุณพิธา เขาเดือดร้อนขนาดนั้นเลยหรือ? เดือดร้อนถึงขั้นต้องมาเอาเงินจากภาษีของพี่น้องประชาชนที่ร่วมกันจ่ายเลยหรือ?”

“เพราะฉะนั้น ‘ความเท่าเทียม’ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องได้เบี้ยคนชรา เมื่อมีอายุครบเกณฑ์แล้ว แต่หมายความว่า เมื่ออายุเข้าสู่ผู้สูงวัยแล้วนั้นจะต้องมีการดูแลให้ใกล้เคียง หรือมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อ เหมือนกับผู้สูงอายที่มีรายได้ มีฐานทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว”

มันก็อาจจะก่อเกิดความคิดที่ว่า คนที่ยังต้องดูแล อาจจะได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นก็ได้ หากบริหารจัดการจากเม็ดเงินตรงนี้ดีๆ ก็จะได้ประโยชน์อย่างเป็นถาวร เป็นนิรันดร์ เศรษฐกิจต่างๆ มันก็อาจจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ แต่เราเจอนักเมืองที่ไม่ประสีประสาเรื่องนโนยบายการเงิน การคลังของประเทศ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประสีประสามากน้อยแค่ไหน? คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประสีประสามากน้อยแค่ไหนกันเชียว? กับเรื่องงบประมาณการเงิน การคลังของประเทศในภาพรวมทั้งหมด พูดแต่วิธีจ่ายเงินออกไปทั้งนั้นเลย วิธีหายรายได้ให้ประเทศ พูดเป็นไหม? พูดได้ไหม?

ฤาทางออก 'การคลังไทย' จะไปรอดได้ในสังคมผู้สูงอายุ หากให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น?

(17 ส.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Chalermporn Tantikarnjanarkul' โดยคุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ได้โพสต์แสดงความเห็นถึงแนวทางที่จะทำให้การคลังไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ไว้ว่า...

ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ ถ้าอยากให้ฐานะการคลังของไทยไปรอดในสังคมผู้สูงอายุ ทางที่ดีที่สุด ยุติธรรมที่สุด ไม่ใช่หาเงินมาทำสวัสดิการถ้วนหน้า หรือเลือกช่วยเฉพาะคนลำบากยากเข็ญ เพื่อลดรายจ่ายลงให้ได้มากที่สุดแบบที่พยายามทำ

แต่เป็นการให้สวัสดิการ เฉพาะกับคนที่เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น จ่ายมาเกินกี่ปี ถึงได้สิทธิก็ว่าไป

ใครจ่ายก็ได้ ใครไม่จ่ายก็อด ก็ตรงไปตรงมา

แต่ไม่มีใครกล้าบอกแบบนี้ เพราะจะกลายเป็นคนใจร้าย ไร้น้ำใจ 

ปัญหาคือถ้านับในปัจจุบัน คนที่ไม่เคยเข้าระบบภาษีเงินได้เลยน่าจะมีอยู่มาก และอาจมีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ไม่ได้ หากไม่พึ่งสวัสดิการ หากทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปล่อยคนเป็นล้าน ๆ คนให้จมน้ำโดยไม่เหลียวแล

ถ้าทำเลยไม่ได้ เราอาจใช้การประกาศล่วงหน้า เช่น ในอีก 10 ปีข้างหน้า ใครที่ไม่เคยเสียภาษี ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ แล้วนะ ระหว่างนี้ ก็อุดรูรั่วทางภาษี เอาคนมาเข้าระบบให้หมด ให้ฐานรายได้กว้างขึ้น จะได้มีเงินมากพอไปช่วยคนที่จนมาก เอาตัวไม่รอดจริง ๆ

แต่แน่นอน ก็จะมีคำถามตามมาว่า ถ้าเข้าระบบภาษีแต่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เลยไม่ต้องเสียเลย ฉันอยู่กลุ่มไหน?

และคำถามคลาสสิกตลอดกาลอย่าง

ถึงไม่เคยเสียภาษีเงินได้แต่ฉันก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มนะเฟ้ยยยย ใครบอกฉันไม่เสียภาษี!

ผมว่าเราเลิกเพ้อฝันแล้วอยู่กับความจริง แล้วเริ่มทำทุกอย่างให้มันถูกร่องถูกรอยเสียตั้งแต่วันนี้ ยอมรับก่อนว่ายังไง ฐานภาษีตอนนี้ ก็แบกทุกคนไม่ไหวแน่ ๆ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เข้ามาช่วยกันแบก

‘ญี่ปุ่น’ กลุ้มใจ!! ประชากร 1 ใน 10 อายุเกิน 80 ปี  อัตราการเกิดต่ำ ส่งผลขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว

(19 ก.ย. 66) รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานประจำปีเนื่องในวันผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.66 ว่า จำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 80 ปีคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดในประเทศเป็นครั้งแรก โดยอัตราการเกิดต่ำเรื้อรังและการที่ประชากรมีอายุยืนยาว ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนประชากรที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งปีนี้แตะ 29.1% ของสัดส่วนประชากรทั้งหมดในประเทศ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การใช้จ่ายประกันสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นได้ซ้ำเติมญี่ปุ่นที่มีหนี้สินมหาศาลอยู่แล้วและการขาดแคลนคนหนุ่มสาวส่งผลให้อุตสาหกรรมจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผู้ดูแลคนสูงอายุ โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นเสี่ยงที่จะสูญเสียศักยภาพในการทำงาน หากไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

รายงานระบุว่า ญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันทางการญี่ปุ่นก็มีความลังเลที่จะเปิดรับแรงงงานต่างชาติในปริมาณมาก เพื่อชดเชยภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 800,000 คนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในศตวรรษที่ 19 ในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ประชากรโดยรวมของญี่ปุ่นลดลงประมาณ 5 แสนราย สู่ 124.4 ล้านราย และคาดการณ์ว่าประชากรจะเหลือไม่ถึง 109 ล้านรายภายในปี 2588

ปัจจุบัน หลายประเทศในทวีปเอเชียกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและประชากรหดตัว โดยเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ส่วนประชากรจีนเริ่มหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีในปี 2565

‘เลขาฯ กอช.’ กระตุ้นสังคมออมเงินไว้ยามการเกษียณ ยก ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ทางเลือกเพื่ออนาคต

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 4 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ในประเด็น ‘การออมเพื่อการเกษียณ โอกาสเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคม’ โดยคุณจารุลักษณ์ กล่าวว่า...

“การออมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมเพื่อการเกษียณ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายโอกาสและเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคม เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตหลังเกษียณอายุ จากการทำงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา...

“โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามผลักดันนโยบายส่งเสริมการออม เพื่อให้ประชาชนวัยแรงงานจำนวนราว 39 ล้านคน เข้าสู่ 2 วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยระบบการออมเพื่อการเกษียณในรูปแบบการออมทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ”

คุณจารุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ที่เป็นแรงงานในระบบมีช่องทางการออมภาคบังคับ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและประกันสังคมมาตรา 33 อีกทั้ง มีช่องทางการออมภาคสมัครใจสำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างประจำส่วนราชการคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

ทว่าในส่วนของแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ยังไม่มีการออมภาคบังคับ มีแต่การออมภาคสมัครใจที่รัฐจัดให้คือ ประกันสังคมมาตรา 40 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อคนกลุ่มนี้ นั่นก็คือ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ซึ่งปัจจุบันดูแลสมาชิกอยู่มากกว่า 2.5 ล้านคน โดยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่วยสร้างสรรค์กลไกสวัสดิการภาครัฐ ให้แก่แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับ ได้มีโอกาสรับบำนาญในยามเกษียณเหมือนแรงงานในระบบจากเงินออมสะสมและเงินสมทบ

“กอช. มีภารกิจในการส่งเสริมการออมทรัพย์ให้กับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือที่เรารู้จักกันว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ชีวิตของประชาชนกลุ่มนี้ได้ใช้สิทธิสวัสดิการจากภาครัฐอย่างทั่วถึง...

“โดยการออมกับ กอช. นั้นมีเกณฑ์ขั้นต่ำเพียง 50 บาท/ครั้ง สูงสุด 30,000 บาท/ปี สามารถรับเงินสมทบจากรัฐ สูงสุด 100% หรือไม่เกิน 1,800 บาท/ปี ที่สำคัญเป็นการออมภาคแบบสมัครใจ ผู้ที่เป็นสมาชิก กอช. สามารถออมเงินได้ตามบริบทของชีวิต คือ ออมได้เมื่อพร้อม ทำให้สิทธิการเป็นสมาชิกยังคงอยู่เช่นเดิม ซึ่งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจผ่านจำนวนสมาชิก กอช. ในปัจจุบัน ที่มีจำนวนอยู่ 2,552,607 คน” เลขาฯ กอช. เสริม

สำหรับการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา กอช. ได้พัฒนาช่องทางการให้บริการให้ประชาชนผู้สนใจ และช่องทางอำนวยความสะดวกให้สมาชิกเข้าถึงการออมกับ กอช. ในการสมัครสมาชิก หรือออมต่อเนื่องกับ กอช. ผ่านหน่วยบริการต่างๆ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัด ธนาคารของรัฐ ทั้ง 5 แห่ง อาทิ... 

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 
2. ธนาคารออมสิน 
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
4. ธนาคารกรุงไทย 
5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินชุมชน, ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน รวมทั้งไปรษณีย์ไทย, สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม, เซเว่น-อีเลฟเว่น, เทสโก้โลตัส และตู้บุญเติม อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีช่องทางออนไลน์ ผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อให้เข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยแอดได้ที่ ไลน์แอดของ กอช. ‘@nsf.th’ / แอปพลิเคชัน กอช. / แอปพลิเคชัน เป๋าตัง / แอปพลิเคชัน MyMo / แอปพลิเคชัน K PLUS และแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT กอช. อีกทั้งยังเพิ่มความมั่นใจให้กับสมาชิกที่ต้องการหลักประกัน เพื่อความอุ่นใจ โดยการจัดทำสมุดเงินออม (Passbook) ขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เป็นหน่วยรับให้บริการ ออกสมุดเงินออมให้แก่สมาชิก กอช. ได้อัปเดตความเคลื่อนไหวเงินออมของตนเองที่ออมกับ กอช.

คุณจารุลักษณ์ กล่าวอีกด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กอช. ยังได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการลงพื้นที่ส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงิน ให้ตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินที่ดี และส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีเงินออมยามเกษียณกับ กอช. ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.), ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด, ผู้แทนจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัด รวมถึงครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา สภาเด็กและเยาวชน และนายกสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ ทาง กอช. ยังได้มีการจัดงานมอบรางวัลส่งเสริมการออมยอดเยี่ยม ประจำปี 2566 เนื่องในงานวันออมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 ซึ่งเป็นการขอบคุณเครือข่าย หน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. ที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้ถึงการออมเงินกับ กอช. เพื่อวัยเกษียณให้กับตนเองและคนในครอบครัวอีกด้วย

ก็ถือว่าเป็นอีกหน่วยงานที่กำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างโอกาสเสริมสร้างความเสมอภาคแก่คนไทยทุกคนให้เริ่มวางแผนชีวิตเพื่ออนาคตตั้งแต่เนิ่น ๆ 

วันนี้หากใครที่ยังไม่มีแผนเริ่มลงทุนเพื่ออนาคตยามเกษียณ ลองศึกษารายละเอียดของ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ เพื่อชีวิตในยามแก่ชราจะได้มีคุณค่าแบบไม่ต้องให้ใครมาห่วงกันเถอะ...

‘จีน’ เปิดตัว 'รถเมล์ผู้สูงวัย' จำนวน 6 สาย ชูจุดเด่น!! ออกแบบพิเศษให้ตอบโจทย์ใช้งานจริง

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดตัวรถบัสประจำทางที่เหมาะสำหรับให้บริการผู้สูงวัย จำนวน 6 สาย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่เดินทางด้วยรถประจำทาง

รถบัสเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน อาทิ พื้นรถถูกปรับลดระดับความสูงลง การใช้งานได้แบบไร้สิ่งกีดขวาง อุปกรณ์สำหรับยึดรถเข็น เบาะพนักพิงที่นุ่มยิ่งขึ้น ตลอดจนมือจับที่มีข้อความน่ารักๆ อย่าง ‘ห่วงใยผู้สูงวัย สังคมแห่งน้ำใจ’ นอกจากนี้ คนขับรถและพนักงานบนรถบัสก็ยังได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษเรื่องการบริการและดูแลผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน

‘เทศบาลตำบลบางเมือง’ จัดประกวด ‘นางนพมาศผู้สูงอายุ' ‘สร้างสีสัน-คืนความสุขให้สูงวัย’ ในวันลอยกระทงเต็มเปี่ยม

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) ที่สำนักงานเทศบาลตำบลบางเมือง ได้จัดงานประเพณีลอยกระทง 2566 อย่างยิ่งใหญ่ โดยมี นาวาเอก อนุศักดิ์ นาคทิม นายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง เป็นประธานเปิดงานประเพณีลอยกระทง เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ที่มีมายาวนาน ให้คงอยู่สืบไป โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ บนเวทีสร้างความสามัคคีและสร้างสีสันให้กับงาน 

ภายในงานได้มีการประกวดกระทงสวยงาม และการประกวดนางนพมาศ โดยปีนี้ได้รับสมัครผู้เข้าประกวดนางนพมาศที่มีอายุระหว่าง 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางเมือง ซึ่งจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาตัดสินการประกวด โดยจะพิจารณาจากรูปร่างหน้าตา ความสวยงาม ความประทับใจในบุคลิกภาพ คะแนน 40 คะแนน กิริยามารยาท ท่วงท่าในการตัดสินใจและความมั่นใจ 30 คะแนน และการแต่งกายสวยงามเหมาะสมอีก 30 คะแนน

ซึ่งการประกวดดังกล่าวสร้างความสนใจให้กับผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก โดยมีกองเชียร์ส่งเสียงลุ้นระทึกให้กับผู้สมัครนางนพมาศของตัวเองที่เข้าประกวดทำให้บรรยากาศภายในงานมีสีสัน สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยประชาชนต่างทยอยไปลอยกระทงที่ท่าน้ำที่ทางเทศบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกดูแลเรื่องความปลอดภัย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top