Saturday, 11 May 2024
ประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์ - ผอ.สบอ.3 ตรวจแหล่งท่องเที่ยวประจวบฯ ช่วงปีใหม่ พบ นทท.ตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่าได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแหล่งท่องเที่ยวภาย ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเตรียมความพร้อมการต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมไปถึงความพร้อมของศูนย์บริการและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายยุทธพล อังกินันท์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. และ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยรวมไปถึงการดูแลป้องกันการบุกรุกป่าในพื้นที่รับผิดชอบ จากนั้นได้มอบหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ไว้ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน

 

ประจวบคีรีขันธ์ - จ.ประจวบฯ น้อมรำลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องใน ‘วันกองทัพไทย’

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี ผู้บัญชาการโรงเรียนนายสิบทหารบก ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมประกอบพิธีถวายราชสักการะและถวายพานพุ่มดอกไม้สด พร้อมกล่าวถวายราชสดุดี เบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันกองทัพไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช องค์วีรกษัตริย์ไทย และบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ ตลอดจนเหล่าบรรพบุรุษของไทยที่ได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้เป็นมรดกมาจนถึงทุกวันนี้

วันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถีในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ.954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2135 (บางตำรา พ.ศ.2136) เดิมกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายน ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวันกองทัพไทยและวันสถาปนากระทรวงกลาโหม ลง 13 มิ.ย.2523 ต่อมาภายหลังได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบและพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคมปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคมเป็นวันกองทัพไทยต่อไป

 

ประจวบคีรีขันธ์ - ทูตเบลเยียม พบผู้ว่าประจวบฯ หารือถึงสถานการณ์โควิด และปัญหาชายแดน!!

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้การต้อนรับ นางซีบิลล์ เดอ การ์ทิเย่ร์ ดีฟส์ (Mrs.Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม ประจำประเทศไทย ในโอกาสเดินทางมาเยือน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 65 พร้อมให้ข้อมูลที่สำคัญและปรึกษาหารือในประเด็นต่าง ๆ โดย นางซีบิลล์ มีความสนใจแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แผนและแนวทางการฟื้นฟูจังหวัดจากสถานการณ์โควิด รวมทั้งแผนการท่องเที่ยวแบบ Sandbox และกรณีปัญหาการอพยพของชาวเมียนมาซึ่งลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดน

ซึ่งผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ ได้นำเสนอข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดประจวบฯถือว่ายังสามารถควบคุมได้และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ในส่วนแผนและแนวทางการฟื้นฟูจังหวัดจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นด้านที่ต้องการฟื้นฟูมากที่สุด เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักของจังหวัดประจวบฯ โดยมีแนวทางในการประชาสัมพันธ์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทราบถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามภายในจังหวัด

นอกจาก “หัวหิน” ที่เป็นเป้าหมายหลักสำหรับนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาจังหวัดประจวบฯแล้ว ภายในจังหวัดยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหน้าสนใจอีกหลายจุดรวมทั้งยังมีเส้นทางการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายเช่น การท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และกรณีการท่องเที่ยวแบบ Sandbox นั้นทางจังหวัดประจวบฯได้มีแผนที่จะทำในอนาคต แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเพื่อให้มีมาตรการที่ครอบคลุมปลอดภัย สำหรับผลกระทบในด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรมในจังหวัด ยังไม่ส่งผลมากนักจากสถานการณ์โควิด เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ประจวบคีรีขันธ์ - พ่อเมืองประจวบฯ สั่งคุมเข้มราคาสินค้า ป้องกันเอาเปรียบผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการ "มอร์นิ่งบรี๊ฟ" ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด โดยกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน บูรณาการการทำงานออกตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และกำกับดูแลการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมูเนื้อแดง ไข่ไก่ และสินค้าที่จำเป็นในดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งในช่วงนี้พี่น้องประชาชนได้ประสบปัญหาราคาสินค้าเนื้อหมูที่มีราคาสูงขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคในการกักตุนเนื้อสุกรเพื่อนำออกมาจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น

พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ติดป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกซื้อหรือใช้สินค้าได้เป็นธรรม รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2565 เรื่องการแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร ทั้งนี้ได้มอบแนวทางให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หารือร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อาทิ กิจกรรมธงฟ้าราคาประหยัด และนำสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป

 

ประจวบคีรีขันธ์ - ครบรอบ 135 ปี วันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 มอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ที่ให้การสนับสนุน

พ.อ.จักรพงษ์ โพธิ์นาแค ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 พร้อมด้วยข้าราชการ และพนักงาน ร่วมกันจัดงานเนื่องในวันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 ครบรอบ 135 ปี โดยมี พล.ต.ณรงค์ สวนแก้ว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 3 เป็นประธานในพิธีฯ ซึ่งในการจัดงานพิธีเนื่องในวันสถาปนา กรมทหารราบที่ 13 ในครั้งนี้ ได้มีการบวงสรวงถวายสักการะบูรพกษัตรย์, การประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับกำลังพลที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน , การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ/หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนภารกิจของ กรมทหารราบที่ 13 มาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีแขกผู้มีเกียรติ มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งอดีต ผู้บังคับบัญชาของหน่วย , อดีตข้าราชการของหน่วย, นักธุรกิจจังหวัดอุดรธานี และส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนี้หน่วยได้ดำเนินการจัดพิธีฯ ตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 

พล.ต.ณรงค์ สวนแก้ว ผบ.พล.ร.3 ได้พบปะพูดคุยสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของอดีตข้าราชการของหน่วย เพื่อพัฒนาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนหาแนวทางให้การช่วยเหลือ เมื่อได้รับความเดือดร้อนในโอกาสต่อไป

“กรมทหารราบที่ 13” มีประวัติความเป็นมาดังนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยานมิต) เป็นแม่ทัพ จนเหตุการณ์สงบ เมื่อปี พ.ศ.2418 ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 พวกฮ่อรุกรานเมืองหลวงพระบางอีก จึงโปรดให้พระยาพิชัย (มิ่ง) พระยาสุโขทัย (ครุธ) ยกกำลังไปปราบ แล้วให้พระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) เป็นแม่ทัพ จนถึงปี พ.ศ. 2428 แต่ไม่สำเร็จ จึงได้ถอนกำลังจากทุ่งเชียงคำกลับมายังเมืองหนองคาย เนื่องจากขาดเสบียงอาหารและแม่ทัพ คือ พระยาราชวรานุกูล ถูกฮ่อยิงบาดเจ็บ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ

โดยจัดเป็นสองกองทัพคือกองทัพฝ่ายเหนือ มีนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต)  เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อ ในแคว้นหัวพันห้าทั้งหกและแคว้นสิบสองจุไท กองทัพฝ่ายใต้  มีนายพันเอกพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้ พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค) เป็นทัพหน้าเข้าตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ จนกระทั่ง พ.ศ. 2429  สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบ จึงยกกำลังส่วนหนึ่งกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2540 และคงกำลังส่วนหนึ่งไว้ในบังคับบัญชาของ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทหารของ กรมทหารราบที่ 13 โดยมี พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นผู้บังคับหน่วยคนแรก และต่อมา ในปี พ.ศ.2434 ได้จัดตั้งเป็นมณฑลลาวพวน โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน มีกองบัญชาการมณฑลที่เมืองหนองคาย ภายหลังการปราบปรามฮ่อสงบแล้ว ไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรียกว่า “กรณีพิพาท ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)” ด้วยพระปรีชาญาณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงยอมเสียสละส่วนน้อย เพื่อรักษาประเทศไว้  จึงทรงสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส และปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ โดยห้ามประเทศสยามตั้งกองทหาร และป้อมปราการอยู่ในรัศมี 25 กิโลเมตรของฝั่งแม่น้ำโขง

ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2436 จึงได้เคลื่อนย้าย มณฑลลาวพวน ลงมาทางใต้เข้าที่ตั้งบริเวณบ้านหมากแข้งริมหนองนาเกลือ (หนองประจักษ์) กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2443 ได้เปลี่ยนนามหน่วยจากมณฑลลาวพวน เป็น มณฑลอุดร ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีกระแสพระบรมราชโองการให้จัดตั้งเมืองอุดรธานีอยู่ในเขตการปกครองของ มณฑลอุดร ขึ้นที่บ้านหมากแข้งโดยให้ย้ายกำลังทหารจากหนองนาเกลือ มาตั้งอยู่ที่ ริมหนองขอนกว้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายประจักษ์ศิลปาคมในปัจจุบัน กำลังทหารในขณะนั้นมี 2 หน่วยคือ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 และกรมทหารราบที่ 7 

ปี พ.ศ.2451 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยใหม่เป็น กองทหารปืนใหญ่ที่ 10  และเปลี่ยนชื่อ กรมทหารราบที่ 7 เป็น กรมทหารราบที่ 20 ทั้ง 2 หน่วยขึ้นการบังคับบัญชากับ กองพลที่ 10 ปี พ.ศ.2454 กองทหารปืนใหญ่ที่ 10  ย้ายไปตั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนกรมทหารราบที่ 20  ย้ายไปตั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด  โดยต่อมาในปี พ.ศ. 2456 จึงได้จัดตั้งกรมทหารม้าขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี เรียกชื่อว่า กรมทหารม้าที่ 10 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2459 ยุบเลิก และเปลี่ยนเป็น กรมทหารราบในกองพลทหารบกที่ 10

ปี พ.ศ.2460 กรมทหารราบในกองพลทหารบกที่ 10 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 ครั้นถึงปี พ.ศ.2462  กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 9 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น  กรมทหารพรานในกองพลทหารบกที่ 10 ต่อมากรมนี้ได้ถูกยุบเมื่อปี พ.ศ.2470  เนื่องจากกองทัพบกได้ปรับปรุงกองทัพใหม่ แล้วตั้งเป็น กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 15

ปี พ.ศ.2471 กรมทหารราบที่ 15   ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  กรมทหารราบที่ 6 โดยกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 15  เดิมได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 6  ส่วนจังหวัดทหารบกอุดร มีฐานะเป็นจังหวัดทหารบกชั้น  3  มีผู้บังคับกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 6  เป็นผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในด้านกิจการต่างๆ ของสายงานจังหวัดทหารบกอุดร คงใช้เจ้าหน้าที่ของหน่วยกำลังรบเป็นส่วนใหญ่ ปี พ.ศ.2475 เปลี่ยนชื่อ กองพันที่ 2 เป็น กองพันทหารราบที่ 18 ปี พ.ศ.2477 กองพันทหารราบที่ 18 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันทหารราบที่ 22 ปี พ.ศ.2486 กองพันทหารราบที่ 22 ได้แบ่งแยกกำลังส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็น กรมทหารราบที่ 13 โดย กรมทหารราบที่ 13  มี พันโท มล.เอก อิศรางกูล เป็น ผู้บังคับการกรม และกองพันทหารราบที่ 22 มี พันโท รัตน์ นพตระกูล เป็นผู้บังคับกองพัน

ปี พ.ศ.2489 กองพันทหารราบที่ 22 เปลี่ยนชื่อเป็น  กองพันที่ 1 และกำหนดให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมทหารราบที่ 13 โดยทั้ง กรมทหารราบที่ 13 และ กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  และในปีเดียวกัน ร.พัน.21 ได้ย้ายที่ตั้งจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มาตั้งที่หนองสำโรง โดยเปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองพันที่ 2 เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมทหารราบที่ 13

เมื่อปี พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานนามค่ายว่า “ค่ายประจักษ์ศิลปาคม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ และถวายพระเกียรติแก่ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ในปี พ.ศ.2497 กองทัพบก ได้มีคำสั่ง ทบ. ที่ 28/4221 ลง 1 มีนาคม 2497  จัดตั้ง กองพันที่ 3 ให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมทหารราบที่ 13 โดยมีที่ตั้งบริเวณฝั่งด้านทิศใต้ของหนองสำโรง ตำบลหมูม่น อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  ร่วมกับกองพันที่ 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยจนถึงปัจจุบัน และต่อมาในปี พ.ศ.2498 กรมทหารราบที่ 13 แปรสภาพเป็น กรมผสมที่ 13 จนถึงปี พ.ศ.2510 โดยผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุดร และผู้บังคับการกรมผสมที่ 13 ซึ่งเดิมเป็นคนเดียวกัน ได้แยกกันอย่างเด็ดขาด และมีบทบาทหน้าที่โดยเฉพาะตามตำแหน่งที่ปฏิบัติงาน

 

ประจวบคีรีขันธ์ - มอบเข็ม- เกียรติบัตรดีเด่น!! ให้ อส.ครบรอบ 68 ปี

นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดประจวบฯเป็นประธานพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน ครบรอบ 68 ปี ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัด เพื่อระลึกถึงคุณความดี ความเสียสละของผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือสมาชิก อส.ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เข้าร่วมในพิธี จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้อ่านสารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ประธานได้มอบเข็มอาสารักษาดินแดนสดุดีผู้ประกอบคุณงามความดี จำนวน 5 นาย มอบประกาศเกียรติคุณให้แก่สมาชิก อส.ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 10 นาย มอบทุนการศึกษามูลนิธิอาสารักษาดินแดนในพระบรมราชินูปถัมภ์ให้แก่บุตรสมาชิก อส.จำนวน 5 ราย 

โอกาสนี้ นายเสถียร ได้กล่าวให้โอวาทแก่สมาชิก อส.โดยน้อมนำพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงประจำกองอาสารักษาดินแดน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2497 ความว่า "ขอให้เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยพยายามฝึกสอนอบรมประชาชนให้เข้าใจกิจการในหน้าที่ของตน ทั้งในส่วนตัวบุคคล ของครอบครัว ของหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ตลอดจนบ้านเมืองในที่สุด เพื่อให้ได้มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันที่จะช่วยป้องกันภัยอันตรายและรักษาความสงบในท้องถิ่นของตนด้วยความองอาจ กล้าหาญ และซื่อสัตย์สุจริตเพื่อชาติบ้านเมือง และความเป็นเอกราชของเรา จะได้วัฒนาถาวร" 

ประจวบคีรีขันธ์ - ‘หัวหิน’ เปิดเมือง! รับเทศกาลนักวิ่ง “ปั้นเทศกาลวิ่งหญิงไทย ให้ “ปัง” ระดับนานาชาติ” ครั้งแรก!!

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่โรงแรมอมารี หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ เทศบาลเมืองหัวหิน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกัน “ปั้นเทศกาลวิ่งหญิงไทย ให้ “ปัง” ระดับนานาชาติ” เปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวและความมั่นใจในการสร้างสนามวิ่งมาตรฐานเพื่อผู้หญิง ตอกย้ำความมั่นใจด้วยศักยภาพของนักวิ่งหญิงและเชิญชวนทุกคนแสดงพลังเสริมสร้างความแข็งแรง ผ่านการวิ่งเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมทางกายกับงานวิ่ง “Hua Hin Women’s Half Marathon 2022 Friendship’s Race with Nagoya Women’s Marathon” ก้าวไปสู่สนามในฝันเพื่อการวิ่งของผู้หญิงทุกคน 

โดยภายในงานแถลงข่าวมีการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อ “หลักของการเดิน วิ่งสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะเพื่อผู้หญิง”รวมถึงการตอกย้ำถึงบทบาทของ สสส.ในการสร้างเสริมสุขภาวะ ผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในทุกกลุ่มประชากร 

โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยในการเข้าร่วมงานวิ่งของผู้หญิงในมุมมองของวิทยากรที่หลากหลาย ทั้งคุณหมอ และนักวิ่งหญิง รวมถึงบทบาทผู้หญิงในการขับเคลื่อนสังคมผ่านสนามวิ่งผู้หญิงมาตรฐาน ความรู้จากคู่มือนักวิ่งสำหรับผู้หญิง และการบูรณาการงานกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย กีฬา ที่แสดงออกถึงความเท่าเทียมจะสร้างโอกาสความมั่นใจให้ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด  

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ สสปน.กล่าวว่าสสปน.ในนามผู้สนับสนุนการสร้างงานวิ่ง “Hua Hin Women’s Half Marathon 2022 Friendship’s Race with Nagoya Women’s Marathon” ให้เป็นสนามวิ่งมาตรฐานสำหรับนักวิ่งผู้หญิงในประเทศไทย ตามพันธกิจหลักของ สสปน.ในการดึงสิทธิ์งานที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างงานวิ่ง NAGOYA WOMEN’S MARATHON มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสนามวิ่งมาตรฐานที่ปลอดภัยและสร้างมิติใหม่ของมาตรฐานงานวิ่งสำหรับผู้หญิงในประเทศไทยบนพื้นที่ริเวียร่าพื้นที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลไทยซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทยและเพื่อสร้างสรรค์ระบบนิเวศน์ของระบบเศรษฐกิจใหม่ 

ซึ่งหัวหินนับเป็นพื้นที่ที่ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพนั้นได้เป็นอย่างดีในหลาย ๆ งานที่ผ่านมา นับว่าเป็นการดึงดูดมวลชนเข้ามาในพื้นที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักวิ่งให้เกิดความประทับใจ และกลับมาใช้เวลากับพื้นที่หัวหินนี้อีกครั้ง  

ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่างานวิ่ง “Hua Hin Women’s Half Marathon 2022 Friendship’s Race with Nagoya Women’s Marathon” เป็นงานที่หลายหน่วยงานให้การสนับสนุนเพื่อย้ำชัดในการมุ่งมั่นในการเป็นสนามวิ่งมาตรฐานเพื่อผู้หญิงในระยะฮาล์ฟมาราธอน และเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจเมือง ชุมชน และผู้ประกอบการต่างๆ ให้กลับมาคึกคัก กระผมในฐานะตัวแทนของจังหวัดมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเปิดเมืองต้อนรับนักวิ่ง รวมถึงผู้ติดตามที่เข้าร่วมงานทุกท่าน ขอให้ท่านมั่นใจและวิ่งด้วยความสุขตลอดเส้นทาง

ด้าน น.ส.บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวว่าเทศบาลเมืองหัวหินมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ก้าวสู่การจัดงานจริงในพื้นที่ เพื่อย้ำชัดในความมุ่งมั่นที่จะสร้างมาตรฐานดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง โดยเทศบาลเมืองหัวหินได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านความปลอดภัยของเส้นทางวิ่ง การจราจร การอำนวยการด้านต่าง ๆ เป็นการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ เพื่อต้อนรับการมาเยือนของนักวิ่งและผู้ติดตาม

‘เทศมนตรีหัวหิน’ เจ๋ง!! คว้ารางวัลชนะเลิศดีเด่น ระดับประเทศ ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ จากนายกตู่

(4 มี..65) ประจวบคีรีขันธ์ - ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข, นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองหัวหิน เข้ารับโล่เกียรติคุณ “ชนะเลิศระดับทอง (ดีเด่น)” ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” (MERIT MAKER) ระดับประเทศ ประจำปี 2564 จากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้มอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดี พร้อมกันนี้ นายพงษ์ดนัย เทพวนิลกร หัวหน้าหน่วยกู้ภัยสว่างหัวหินธรรมสถาน ได้นำผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้มาร่วมจัดแสดงด้วย

นายอนุทิน กล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเด็ก 3 เรื่องหลัก คือ ว่ายน้ำเป็น ลอยตัวในน้ำหรือรอให้คนมาช่วยได้ การออกกำลังกายและการเรียน 2 ภาษา โดยเรื่องป้องกันการจมน้ำ สธ.ดำเนินงานตามมติสหประชาชาติร่วมมือกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำและสร้างทีม “ผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” (MERIT MAKER) ซึ่งช่วยลดการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กได้ร้อยละ 56 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมเด็กจมน้ำเสียชีวิตปีละ 1,500 คน เหลือ 658 คนในปี 2564 เรามีเครือข่ายฝึกฝนดูแลอบรมเด็กเล็กทั้งในโรงเรียนหรือตามสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือมีแต่ต้องให้ประชาชนใส่ใจกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะถึงเวลาเราคงอ่านศึกษาไม่ทัน จากการครองสติต่างๆ จึงต้องมีการศึกษาการช่วยเหลือหรือเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินก่อน ซึ่งจะให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต ทำการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนว่าการจะไปเที่ยวที่ไหนหรือไปไหนก็ตาม ให้มองเรื่องความปลอดภัย สอดส่องว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะทำอย่างไร ประตูทางออกฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิตอยู่ที่ไหน เช่น ชูชีพในเรือ ค้อนทุบกระจกในรถ หลักเดียวกับการออกจากบ้านที่เราพกยาดมยาหม่อง เจลแอลกอฮอล์ หรือเรื่องของภูมิปัญญาการช่วยการจมน้ำ เช่น หากไม่มีชูชีพก็สามารถหาขวดมาเย็บรวมกันเพื่อทำตัวช่วยลอยน้ำก่อนได้ เป็นต้น

'เฉลิมชัย' ไฮไลต์ 'ทุเรียนป่าละอู' เปิดมหกรรมผลไม้ที่ประจวบคีรีขันธ์

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ 'มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู' ประจำปี 2565 โดยมี นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วย นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ รองเลขาธิการ มกอช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีฯ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สำหรับโครงการดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-17 กรกฎาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนีที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการผลิตทุเรียนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในลักษณะของกลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร โดยในส่วนของการยกระดับมาตรฐานสินค้าทุเรียน มีการส่งเสริมควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จำนวน 390 ราย และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยเป็นทุเรียนป่าละอู จำนวน 83 ราย

‘คิงก่อนบ่าย’ ซบ พปชร. สู้ศึกเลือกตั้งประจวบฯ​ เขต 1 ขอบคุณผู้ใหญ่ให้โอกาส แม้ไม่ใช่ทายาทนักการเมือง

เมื่อวันที่ (27 ธ.ค. 65) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร) นายณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือ คิงก่อนบ่าย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกับ พปชร. ว่า เดิมทีบทบาทของเราคนก็รู้จัก เราพูดอะไรก็เหมือนเป็นคอลเอาต์ จึงคิดว่าควรเอาตัวเองมาพูดในสภา เพื่อสะท้อนปัญหาของชาวบ้านในสภา ขณะเดียวกัน ตนได้มาติดตามการทำงานของ พปชร. และตอนที่แม่เลี้ยงกับญาติโดนแก๊งคอลเซนเตอร์ ซึ่งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ได้เข้ามาช่วย 

ทุกวันนี้เห็นแล้วว่าเครือข่ายเหล่านี้ค่อย ๆ ถูกทลายลง เราเห็นถึงการทำงานว่ามาเห็นแต่ปัญหาตัวเองไม่ได้ แต่เป็นภาพใหญ่ของประเทศ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ร่วมมือกันหลาย ๆ ฝ่าย   

นายณภัทร กล่าวอีกว่า เมื่อได้ติดตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. จะเห็นว่าต่างกับในข่าว และเมื่อตนมีความใฝ่ฝันที่จะลงการเมือง นายชัยวุฒิได้ให้ความเมตตา ทำให้ตนมองว่าแม้เป็นลูกชาวไร่ ไม่ได้เป็นเชื้อสายนักการเมือง ไม่มีต้นตระกูลเป็นนักการเมือง แต่ พปชร.ให้โอกาสเราเป็นผู้สมัคร ส.ส. มองว่านี่คือจุดใหม่ เป็นการจุดประกายให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทนักการเมือง ไม่ต้องเป็นลูกคนรวย ขอแค่มีจิตใจที่อยากพัฒนาบ้านเกิด ก็สามารถเข้ามาเป็นนักการเมืองได้ จึงตัดสินใจมาลงสมัครกับ พปชร.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top