Friday, 3 May 2024
ธุรกิจ

‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ แห่ตั้งบริษัทใหม่ รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้าน ผุดบริการแลกเปลี่ยนเงินตราพุ่ง 1.89 เท่า รองรับตลาดฟื้นตัว

(22 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ยอดการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนสิงหาคม 2566 ทั่วประเทศรวม 7,424 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 24,905.75 ล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 584 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 482 ราย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 360 ราย โดยช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วนมากสุด 64.51% มีจำนวน 4,789 ราย คิดเป็น 64.51%

ขณะที่ธุรกิจเลิกกิจการเดือนสิงหาคม 2566 รวม 2,007 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 7,038.02 ล้านบาท และ 3 ประเภทธุรกิจเลิกกิจการสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 172 ราย รองลงมา คือ อสังหาริมทรัพย์ 85 ราย และ ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 49 ราย ซึ่งสัดส่วน 70.55% เป็นธุรกิจมีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ 31 สิงหาคม 2566 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 888,090 ราย มูลค่าทุน 21.51 ล้านล้านบาท มากสุดเป็นช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือจำนวน 518,247 ราย คิดเป็น 58.36%

“ธุรกิจตั้งใหม่เดือนสิงหาคมปีนี้ เทียบสิงหาคมปีก่อน เพิ่ม 0.08% และเทียบเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่ม 8.41% ขณะที่เลิกธุรกิจสิงหาคมปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.40% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.50% จากเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 จัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 61,558 ราย เพิ่มขึ้น 14.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งยอดตั้งธุรกิจใหม่สิงหาคม 2566 เป็นจำนวนสูงสุดรอบ 10 ปีเทียบเฉพาะเดือนสิงหาคมด้วยกัน และสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ 8 เดือนแรก2566 มีจำนวนจัดตั้งสูงสุดรอบ 10 ปีด้วย หรือตั้งแต่ปี 2557 – 2566” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้นยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว 8 เดือนแรก 2566 มีจำนวนตั้งเพิ่มถึง 60.66% โดยเฉพาะธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเติบโต 1.89 เท่า ตัวแทนธุรกิจการเดินทางเติบโต 1.41 เท่า ธุรกิจจัดนำเที่ยวเติบโต 1.03 เท่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเติบโต 45.46% และ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุดเติบโต 42.86%) มีสัดส่วนคิดเป็น 7.94% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งทั้งหมดใน 8 เดือนแรก2566

นายทศพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจน่าจับตามองที่เติบโตกว่า 1 เท่า เทียบ 8 เดือนแรกปีก่อน ได้แก่ ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืชเติบโต 2.07 เท่า เพิ่มขึ้น 118 ราย จากนโยบายส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก

ธุรกิจบริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้างเติบโต 1.70 เท่า เพิ่มขึ้น 311 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้มีธุรกิจที่รับบริหารจัดการเกี่ยวกับที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจให้เช่าและให้เช่าแบบลิสซิ่งยานยนต์เติบโต 1.40 เท่า เพิ่มขึ้น 155 ราย จากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตและภาคธุรกิจที่นิยมการเช่ารถยนต์มากขึ้น และธุรกิจการปลูกพืชประเภทเครื่องเทศเครื่องหอมยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์เติบโต 1.12 เท่า เพิ่มขึ้น 201 ราย

“จากทิศทางที่ดีขึ้น กรมคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ที่ 32,000 – 39,000 ราย ซึ่งทำให้ทั้งปี 2566 อยู่ที่ 79,000-86,000 ราย” นายทศพล กล่าว

นายทศพล กล่าวว่า การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนสิงหาคม 2566 มีการอนุญาต 58 ราย มีเม็ดเงินลงทุน 6,840 ล้านบาท เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 จำนวนเพิ่มขึ้น 14% เงินลงทุนลดลง 32% นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 15 ราย รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ทำให้ 8 เดือนแรก 2566 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในไทย 435 ราย มีเงินลงทุน 65,790 ล้านบาท

‘กรุงศรีฯ’ ซื้อกิจการ ‘Home Credit’ พร้อมถือหุ้น 75% ในอินโดนีเซีย เพื่อขยายธุรกิจ-เชื่อมโยงความต้องการลูกค้าอาเซียน ตั้งเป้าโตปีละ 5%

(3 ต.ค. 66) นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงศรีฯ ประกาศความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการและถือหุ้นในสัดส่วน 75% ของ ‘PT. Home Credit Indonesia’ (Home Credit Indonesia) ซึ่งเป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในอินโดนีเซีย มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน PT Adira Dinamika Multi Finance, Tbk (Adira Finance) บริษัทในเครือ Bank Danamon หนึ่งในสมาชิกของ MUFG ได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 9.83% ของ Home Credit Indonesia ด้วย

ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้กรุงศรีฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาค (Regional Bank) และมีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียน สอดคล้องกับกลยุทธ์ตามแผนธุรกิจระยะกลางของกรุงศรีฯ ที่ต้องการขยายและสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจเพื่อเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งอาเซียน

“กรุงศรีฯ ยังคงขยายธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าในอาเซียน ซึ่งจากความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ Home Credit Indonesia ครั้งนี้ ทำให้มีธุรกิจครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย สปป.ลาว, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นประเทศล่าสุด และยังมีสำนักงานตัวแทนซึ่งตั้งอยู่ในเมียนมาด้วย นอกจากนี้ ความสำเร็จในครั้งนี้ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งของกรุงศรีฯ ในฐานะธนาคารแห่งภูมิภาคอาเซียนให้ชัดเจนขึ้น”

นายเคนอิจิกล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.0% ต่อปีในช่วง 5 ปีนับจากนี้ อีกทั้งยังมีอัตราการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ขณะที่ Home Credit Indonesia นับเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในตลาดและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียมาเป็นเวลาราว 10 ปี ปัจจุบันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ด้วยจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชันกว่า 17 ล้านรายและฐานลูกค้ากว่า 6 ล้านราย

โดยหลังจากนี้ เรามุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและกรุงศรีฯ จะใช้ความเชี่ยวชาญในด้านสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคและการบริหารจัดการความเสี่ยงในการขยายเครือข่ายพันธมิตรใหม่ ๆ สร้างความเติบโตให้กับฐานลูกค้า รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอินโดนีเซียมากยิ่งขึ้น

“เรายินดีเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ Home Credit Indonesia ในครั้งนี้ สำหรับ Adira Finance นี่คือก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ ความสำเร็จในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการผสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่าง Adira Finance และบริษัทในเครือ MUFG ในการนำเสนอบริการที่เหมาะสมให้กับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ” Dewa Made Susila, President Director, Adira Finance กล่าว

“สิ่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จและความแข็งแกร่งของ Home Credit Indonesia นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 Home Credit ได้นำเสนอบริการทางการเงินที่เข้าถึงง่ายและหลากหลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ และความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ให้บริการรายหลัก และลูกค้านั้นได้ส่งผลให้เกิดอิโคซิสเต็มส์ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ และมีราคาที่เหมาะสม” Animesh Narang, Chief Executive Officer, Home Credit Indonesia กล่าว

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'ต่างชาติ' พอใจสภาพแวดล้อมในจีน 'ภาษี-ตลาด-กฎหมายต่างๆ' เอื้ออำนวยต่อการลงทุน

(1 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลสำรวจจากสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (CCPIT) ประจำไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ของปีนี้ พบบริษัทที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ในจีนพึงพอใจกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยประโยชน์ของจีน

รายงานระบุว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับการชำระภาษี การเข้าถึงตลาด และการระงับข้อพิพาทในจีน ได้รับเสียงชื่นชมเป็นวงกว้างจากกลุ่มบริษัทต่างชาติที่ดำเนินงานในจีน โดยเกือบร้อยละ 90 ของผู้ประกอบการต่างชาติกลุ่มสำรวจ 700 ราย พอใจกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีน

กลุ่มบริษัทต่างชาติมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจในจีน โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 80 คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นในปี 2023 ด้านสภาฯ จะเดินหน้าเกื้อหนุนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในจีนที่มุ่งเน้นตลาด อิงกฎหมาย และเป็นสากลมากขึ้น

‘กลุ่มธุรกิจไทย’ เผย งาน ‘CIIE’ หนุนการสื่อสาร-ขยายตลาดดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการค้า-เจาะกลุ่มเป้าหมายตรงจุด-กระตุ้นยอดขายพุ่ง

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า ผู้นำวงการธุรกิจไทย กล่าวว่า ‘งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ถือเป็นงานแสดงสินค้าระดับสูง ที่มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชั้นนำเข้าร่วม และสร้างเวทีอันกว้างใหญ่สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติเข้าสู่ตลาดจีน

‘หลี่เจียชุน’ วัย 48 ปี ผู้ค้าอัญมณี และประธานสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ย้ายมาไทยพร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และก่อตั้ง ‘บริษัท ไทยแลนด์ หย่งไท่ จิวเวลรี จำกัด’ (Thailand Yongtai Jewelry) ตอนอายุ 18 ปี ซึ่งนำสู่การมีส่วนร่วมในแวดวงธุรกิจการค้าอัญมณี

หลี่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ก่อนมีการจัดงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. ว่า งานมหกรรมฯ ขยับขยายกลุ่มมิตรสหาย และเขาเข้าร่วมงานทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2018 โดยปีนี้นับเป็นการเข้าร่วมงานครั้งที่ 6 แล้ว

ไทยเป็นศูนย์กลางการแปรรูปทับทิมและไพลินระดับโลก และอัญมณีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักของไทย โดยหลี่และบริษัทของเขาได้เข้าร่วมงานมหกรรมฯ ตามคำเชิญจากตลาดแลกเปลี่ยนอัญมณีและหยกแห่งประเทศจีน (China Gems & Jade Exchange) ในปี 2018

หลี่ กล่าวว่า บริษัทของเขาได้ลงนามสัญญาจะซื้อจะขายจำนวนมาก และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่งานมหกรรมฯ รวมถึงแข่งขันกับแบรนด์ชื่อดังมากมาย และเรียนรู้จากแต่ละฝ่ายผ่านงานนี้ ขณะเดียวกันสามารถสื่อสารกับลูกค้าที่มีศักยภาพโดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มชื่อเสียงของเราในจีน

งานมหกรรมฯ ในปีนี้จัดทางออฟไลน์อย่างเต็มรูปแบบ และบูธของหลี่ขยายพื้นที่จากเดิม 36 เป็น 72 ตารางเมตร โดยขนาดบูธที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความน่าดึงดูดของงานมหกรรมฯ ที่มีต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม และเขาขยายบูธเพราะเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์มากมายจากงานนี้

หลี่ เผยว่า งานมหกรรมฯ ไม่เพียงแสดงการเปิดกว้างของตลาดจีน แต่ยังแสดงพัฒนาการของบริษัทเขาตลอดหลายปีมานี้ด้วย โดยการขยายบูธเป็นเครื่องแสดงการหยั่งรากลึกในตลาดจีนยิ่งขึ้น และปีนี้เขาวางแผนนำเสนออัญมณีกว่า 1,000 รายการ และเพชรพลอย 5,000 กะรัต

การเจรจาพูดคุยกับลูกค้าชาวจีนโดยตรง ทำให้หลี่พบว่า ความเข้าใจของลูกค้าชาวจีนที่มีต่อวัฒนธรรมอัญมณีนั้นลึกซึ้งเพิ่มขึ้น โดยชาวจีนแสวงหาและรู้จักอัญมณีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามกำลังการบริโภคที่พัฒนาดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะความต้องการของลูกค้ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมอัญมณีในจีนมีโอกาสรออยู่มากมาย

นอกจากมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ หลี่ยังมีส่วนร่วมช่วยผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ผ่านสมาคมฯ โดยเขานำพาผู้ผลิตอัญมณีไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ครั้งแรกในปี 2018 มากกว่า 40 ราย และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 70 รายในงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งครอบคลุมผู้จัดแสดงสินค้าอาหารและการแพทย์ด้วย

ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ที่นำเสนอโดยจีน ซึ่งงานมหกรรมฯ ที่เป็นงานแสดงสินค้านำเข้าระดับชาติงานแรกของโลก มีกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ เข้าร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยปัจจุบันมีบริษัทจากกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ลงทะเบียนเข้าร่วมนิทรรศการผู้ประกอบการและธุรกิจของงานมหกรรมฯ ครั้งนี้มากกว่า 1,500 แห่ง

หลี่ กล่าวว่า งานมหกรรมฯ สร้างโอกาสใหม่แก่ไทยและกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยรัฐบาลไทยยกย่องงานมหกรรมฯ เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการค้า และกระตุ้นบริษัทต่างๆ เข้าร่วมอย่างแข็งขันเป็นจำนวนมาก

“เราจะยังคงส่งเสริมผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ และนำเสนอสินค้าไทยสู่ตลาดจีนมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันจะมุ่งนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูงจากจีนมาสู่ไทยและทั่วโลกด้วย” หลี่ กล่าวทิ้งท้าย

‘ILINK’ โชว์ผลงานตลอด 9 เดือน ปี 2566 ธุรกิจโตอย่างมีคุณภาพ ทำกำไรรวม 522.15 ลบ.

(15 พ.ย. 66) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK สร้างผลงาน 9 เดือน เป็นไปตามเป้าหมายที่แสดงถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน พร้อมกับตอกย้ำการเป็นบริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยี ตามอุดมการณ์ที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศไทย ทำรายได้รวมยอดเยี่ยมอยู่ที่ 5,126.65 ล้านบาท ทำกำไรสูงสุด 522.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.16 % เทียบเป็นกำไรสุทธิ 10.18% ซึ่งเกิดจากการรับรู้รายได้ของการขยายตลาดของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ และการเร่งส่งมอบงานโครงการเกาะเต่าของ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ รวมถึงเร่งผลักดันการรับรู้รายได้ของธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้า เซ็นเตอร์ ซึ่งดำเนินงานโดย บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม

โดยรายได้ของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business) ผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2566 มีรายได้ตามการวางยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัทฯ ที่เน้นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ส่งผลมีรายได้รวมในไตรมาสนี้ 2,234.96 ล้านบาท ทำกำไร 252.19 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 64.55% มีรายได้รวมเติบโต 14.82% สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างโดดเด่น จากบริษัทฯ ที่เป็นผู้นำเข้าสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นผู้นำตลาดของระบบสายสัญญาณ โดยเป็นผู้ชี้นำตลาดของประเทศไทยและอาเซียน รวมถึงเป็นแบรนด์อันดับต้น ๆ ของโลก ที่ประกอบสายสัญญาณของ ILINK สหรัฐอเมริกา และ GERMAN RACK นับเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในตลาด High End ซึ่งมีการขยายตัวอย่างมาก พร้อมกับมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากหมวดของสาย LAN และสาย SOLAR ซึ่งได้อานิสงส์จากตลาดที่โตขึ้นของสาย LAN และคู่แข่งขันสาย SOLAR ที่ประสบปัญหา ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพกับราคาแล้ว ผลิตภัณฑ์ LINK American และ GERMAN RACK

สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) มีรายได้รวม 9 เดือน จากธุรกิจ 955.51 ล้านบาท มีกำไร 70.64 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 169.43% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่สามารถส่งมอบงานโครงการสายเคเบิลใต้ทะเลของที่ก่อสร้างของสายจากเกาะพะงันไปยังเกาะเต่า ที่คาดว่าบริษัทฯ จะติดตั้งสายเคเบิลใต้น้ำของโครงการสายเคเบิลใต้น้ำเกาะเต่า ที่มีมูลค่างานทั้งหมด 1.78 พันล้านบาท ให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดเวลา และปัจจุบันยังคงมีงานโครงการในมือ (Back log) เพียงพอสำหรับปี 2023 และปี 2024 ที่กำลังรอโครงการขนาดเล็กที่ทยอยเซ็นต์สัญญาต่อไปในปีนี้อีก 1 โครงการ และงานโครงการในต้นปี 2025 อีก 1 โครงการขนาดใหญ่

ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) โชว์ผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,936.19 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 199.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.88% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 186.47 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากบริษัทฯ มีการเติบโตในทุกธุรกิจ และความต้องการลูกค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับงบการเงินไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 753 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากไตรมาส 3/2565 ที่มีรายได้ 768 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 55 ล้านบาท โดยในเดือนตุลาคม 2566 บริษัทฯ ได้มีรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ถึงรายการเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ Global Lithotripsy Services Company Limited โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 100% เบื้องต้นคาดจะเริ่มรับรู้รายได้ ในไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป

อีกทั้ง บริษัทฯ ได้อยู่ในกระบวนการเตรียมยื่น FILING เพื่อนำบริษัทลูกของลูก ได้แก่ BLUE SOLUTIONS เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) โดยกำหนด Tentative จะยื่นในวันที่ 22 พ.ย. 2566 นี้ และคาดว่าจะนำ บริษัท BLUE SOLUTIONS เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2024 รวมถึงบริษัทฯ ลูก (ITEL) และบริษัทลูกของลูก (BLUE SOLUTIONS) ได้ลงนามในสัญญาโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม กับ กสทช. ได้แก่ ITEL (ภาคใต้) มูลค่า 297.21 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ BLUE SOLUTIONS (ภาคอีสานบน) มูลค่า 345.04 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) อีกด้วย

‘วีระศักดิ์’ ยกธุรกิจทั่วโลกเริ่มตื่นตัว ‘สังคม-สิ่งแวดล้อม’ ชูหลัก ‘5 P’ ช่วยภาคธุรกิจปรับประยุกต์ในงาน AFECA

เมื่อไม่นานนี้ ณ ห้องบอลรูม ที่ Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทางสหพันธ์สมาคมการจัดการประชุมและนิทรรศการแห่งเอเชีย ‘Asian Federation of Exhibition & Convention Associations’ หรือ ‘AFECA’ ได้เดินทางเข้ามาจัดการประชุมนานาชาติ ‘ASIA 20 BUSINESS EVENTS FORUM’ ที่ประเทศไทย โดยมีสมาชิกจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานประมาณ 170 คน

โดยงานนี้ได้เชิญ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตประธานบอร์ด TCEB เป็น Keynote Speaker ของการประชุมในหัวข้อ ‘Business Events & Future Implications’ ซึ่งนายวีระศักดิ์ได้กล่าวถึงความตื่นตัวของธุรกิจต่างๆ ในระดับโลกที่กำลังพยายามตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการจัดการความยั่งยืนที่องค์กรและธุรกิจกำลังดำเนินการ ตลอดจนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างตื่นตัว

นายวีระศักดิ์ เสนอให้วงการธุรกิจปรับมุมมองจากการเป็น Business Community ที่มักมีไว้เพิ่มโอกาสธุรกิจระหว่างกัน ให้ยกระดับสู่การเป็น Business for Humanity ด้วยหลักการ 5 P ของสหประชาชาติ คือ ‘People - Planet - Peace - Partnership’ และสุดท้าย คือ ‘Prosperity’ ซึ่งแปลว่า ‘รุ่งเรือง’ ไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย

พร้อมทั้งยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่ภาคธุรกิจสามารถรับพนักงานผู้พิการให้อยู่ตามภูมิลำเนาบ้าน เพื่อปลูกป่าในนามของบริษัท ทำให้ได้ทั้งเรื่องของ ‘ESG’ (Environment Social Responsibility และ Good Governance) ไปในตัวด้วย

ลำพูน - สถานทูตเอกอัครราชทูตอินเดีย กรุงเทพฯ จัดเสวนา 'โอกาสทางธุรกิจในประเทศอินเดีย' ที่จังหวัดลำพูน

สถานทูตเอกอัครราชทูตอินเดีย กรุงเทพฯ จัดเสวนาในหัวข้อ "โอกาสทางธุรกิจในประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10:00 ถึง 12:30 นาฬิกา ณ ห้องจามจุรี 1 ชั้น 2 อาคารสัมมนา เดอะแกรนด์จามจุรี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ลำพูน ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 

สาระสำคัญเริ่มที่ นางปอโลมี  ทริปาติ อุปทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับฯ ถัดมา นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวสุนทรพจน์ ลำดับถัดไป นายมนัส เกียรติเจริญวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์/ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นายบรรจง วิพรหมชัย ประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน กล่าวคำปราศรัย และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย กรุงเทพฯ นำเสนอหัวข้อ "โอกาสทางธุรกิจในประเทศอินเดีย โดยมีผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าชั้นนำทั้งสองประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหารือโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยอินเดีย

นางปอโลมี ตริปาฐี อุปทูตอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับว่า ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณสำหรับความสนับสนุนที่ได้รับจาก นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำพูนที่ได้จัดการสัมมนา "โอกาสทางธุรกิจในประเทศอินเดีย" ข้าพเจ้าขอขอบคุณนักธุรกิจไทยทุกท่านที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่าของท่านเพื่อเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นความยินดีอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้าที่ได้มีโอกาสมาเยือนจังหวัดลำพูนที่สวยงามนี้ 

ทุกท่าน อินเดียและไทยเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและอารยธรรมอย่างลึกซึ้ง ดังที่เห็นได้จากอิทธิพลที่แข็งแกร่งจากรามเกียรติและพุทธศาสนาในทั้งสองประเทศ ในฐานะเพื่อนบ้านทางทะเล เรามีความเชื่อมโยงทางภูมิรัฐศาสตร์และมีวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ รวมถึงรากเหง้าของภาษาร่วมกัน ความเชื่อมโยงทางประเพณีของเรานั้นเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นแฟ้น และในปัจจุบันก็ได้รับการเสริมสร้างด้วยความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แข็งแกร่งของเรา ทั้งในความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนที่เติบโตขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนมากขึ้น ผ่านการท่องเที่ยวและการศึกษา

อินเดียเป็นประเทศที่ประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นประชากรในวัยหนุ่มสาว ด้วยจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก และมีจุดเน้นที่ส่งเสริมความแข็งแกร่งในด้านการศึกษา อินเดียได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมความเป็นเลิศในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการ ในปัจจุบันมีคนอินเดียทำหน้าที่เป็นผู้บริหารบริษัทข้ามชาติมากกว่า 21 แห่ง ทั้งบริษัท google, Microsoft, IBM และอื่น ๆ จุดเน้นทางการศึกษาและสภาพแวดล้อมทางโอกาสที่เหมาะสมก็ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของบริษัท Startups เป็นอย่างมากในประเทศอินเดีย การค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงแนวคิดจากการเป็นคนหางานเป็นคนให้งานของกลุ่มคนหนุ่มสาวในอินเดียถือเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงมีบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมากกว่า 111 แห่ง เป็นมูลค่ากว่า 349 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 สำหรับอินเดียในภูมิภาคอาเซียน ทั้งไทยและอินเดียมีเป็นประเทศเกษตรกรรมมาโดยตลอด และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อกลายเป็นศูนย์การผลิตของภูมิภาค การค้าทวิภาคีระหว่างอินเดียและไทยแตะจุดสูงสุดประมาณ 17.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ส่วนการลงทุนทวิภาคีก็มีการเจริญเติบโตที่เป็นที่น่าพอใจในหลายปีที่ผ่านมา และมีบริษัทหลายแห่งในไทยได้ลงทุนในประเทศอินเดีย

ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้บรรลุความก้าวหน้าอย่างน่าชื่นชมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยเปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้น้อยไปยังประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าทึ่งกำลังถูกบันทึกไว้ในอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลกแม้กระทั่งหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินมาตรการนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจในอินเดียและดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาในหลายด้าน เช่น ความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ระบบนิเวศนวัตกรรม การแข่งขัน เป็นต้น คุณทราบหรือไม่ว่า อินเดียได้ก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 79 ในห้าปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 63 ในการจัดอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกสำหรับปี 2022 (2565) อินเดียอยู่ในอันดับที่ 40 ในดัชนีนวัตกรรมโลก 2023 (Global Innovation Index 2023 )ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)

ประเทศอินเดียมีระบบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เปิดกว้างเกือบทุกภาคส่วน เช่น การก่อสร้าง การธนาคาร ประกันภัย รถไฟ ค้าปลีก สื่อ สายการบิน การป้องกันประเทศ ฯลฯ และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 100% ในภาคส่วนส่วนใหญ่ผ่านเส้นทางอัตโนมัติ อินเดียได้บันทึกการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประจำปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 83.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว

ปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบการผลิตชิปเซ็ตที่แตกต่างและหลากหลาย แผนการอุดหนุนล่าสุดที่ประกาศสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยรัฐบาลทำให้อินเดียเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดที่สุดในเอเชียสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ ภายใต้โครงการอุดหนุนการเชื่อมโยงการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รัฐบาลอินเดียได้ประกาศการสนับสนุนทางการคลังแบบสม่ำเสมอ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายโครงการสำหรับการจัดตั้ง Semiconductor Fabs ในอินเดีย เพื่อนร่วมงานของฉันจะนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและแผนริเริ่มต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในอินเดีย

ประเทศอินเดียมีโอกาสการลงทุนอย่างมากมายในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ถนน ท่าเรือ ภาคพลังงาน อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ การแปรรูปอาหาร พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีดิจิทัล โลจิสติกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า ในระหว่างการประชุมและการพูดคุยของฉันกับภาคธุรกิจในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ฉันรู้สึกยินดีที่เห็นว่าความร่วมมือของเราแข็งแกร่งขึ้นและมีสภาพแวดล้อมแห่งความไว้วางใจระหว่างธุรกิจของทั้งสองประเทศ ประชากรจำนวนมากของอินเดียไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกเท่านั้น แต่ยังเปิดทางให้ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์และการลงทุนของไทย 

นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังได้เสนอให้มีการประสานงานกันในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) เพื่อส่งเสริมการค้าและสนับสนุนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของทั้งสองฝ่าย ฉันทราบดีว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในลำพูนอยู่ในประเภท SME (ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม) และพวกเขาจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนจากความร่วมมือดังกล่าว

ทุกท่าน นับตั้งแต่เราได้รับเอกราช อินเดียได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วอย่างไม่หยุดยั้ง และเรายังคงก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลอินเดียกำลังจะนำอินเดียไปสู่จุดศูนย์กลางเวทีโลก วิสัยทัศน์และภารกิจของอินเดียในปี 2047 ซึ่งเราเรียกว่า "อมฤตกาล" และนโยบาย Thailand 4.0 เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของเจตจำนงของเราที่มีต่อความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้า ฉันเชื่อว่าความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันและบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้

ในนามของสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ข้าพเจ้ายินดีต้อนรับกลุ่มธุรกิจของลำพูน ที่จะเข้ามาเพื่อสำรวจตลาดอินเดียเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุนที่มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่และสิ่งจูงใจที่รัฐบาลอินเดียมอบให้ ข้าพเจ้าหวังว่าเราจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีประสิทธิภาพในงานสัมมนาฯ และพร้อมรับข้อเสนอแนะของคุณ ขอบคุณทุกท่านที่สละเวลาเข้าร่วมสัมมนาในวันนี้(30 พ.ย. 66)..นางปอโลมีฯ กล่าวในที่สุด

‘ญี่ปุ่น’ ซึ้ง!! ขอบคุณ ‘ไทย’ ช่วยกอบกู้ ‘ธุรกิจใกล้ตาย’ ให้พ้นจากวิกฤติ หลังยอดสั่งสินค้าจากไทยพุ่ง ด้านคนญี่ปุ่นแห่คอมเมนต์ขอบคุณเพียบ!!

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวเอเอ็นเอ็นของญี่ปุ่น ได้มีการเผยแพร่สกู๊ปข่าวเกี่ยวกับ ‘ประเทศไทย’ ที่ได้มีส่วนช่วยกอบกู้ธุรกิจเก่าแก่ที่กำลังใกล้ตายในประเทศญี่ปุ่น ให้พลิกฟื้นจากสภาวะวิกฤติ จนสามารถกลับมารุ่งเรืองขึ้นได้อีกครั้ง โดยทางสำนักข่าวเอเอ็นเอ็น ระบุว่า…

กระแสญี่ปุ่นฟีเวอร์ในไทย ซึ่งมีมานานแล้ว และยังคงบูมอยู่จนถึงทุกวันนี้ กำลังมีส่วนช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างที่เราไม่เคยคาดคิด นักข่าวของเอเอ็นเอ็นถึงกับบินมาถ่ายทำสกู๊ปนี้ที่เจปาร์ค ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และที่ฮาราจุกุไทยแลนด์ในกรุงเทพฯ ซึ่งตกแต่งสถานที่เหมือนกับอยู่ญี่ปุ่นไม่มีผิด และที่สำคัญคือ มีการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ที่ก้าวกระโดดขึ้นมา เพราะวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนไทยไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ‘มันหวานญี่ปุ่น’ ที่เมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 เกือบ 2 เท่า จาก 1,000 ตัน เพิ่มเป็นเกือบ 2,000 ตัน หลังจากที่ก่อนหน้าช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นแค่หลัก 10 ต่อปี

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ตัวเลขนำสินค้าประเภท ‘ชาเขียว’ รวมถึง ‘มัทฉะ’ ที่คนไทยนิยมดื่มกัน ซึ่งเมื่อปี 2022 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 37.6% จาก 436 ล้านเยน เป็น 638 ล้านเยน

และสินค้าตัวสุดท้าย ที่เจ้าของธุรกิจถึงกับบอกว่า “คนไทยช่วยพวกเขาจาก ‘ภาวะใกล้ตาย’ จริงๆ” คือ สินค้าจำพวก ‘เครื่องเคลือบ’ เจ้าของธุรกิจเครื่องเคลือบในญี่ปุ่นบอกว่า ที่ญี่ปุ่น ธุรกิจเครื่องเคลือบ มีการแข่งขันตัดราคากันหนักมาก จนโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กๆ ทำแบบเน้นคุณภาพ แทบจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่ยอดออเดอร์จากไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากบรรดาร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม หรือร้านซูชิโอมากาเสะ ทำให้ภาชนะระดับพรีเมียมของพวกเขา ยังสามารถขายออกได้ (อ้างอิงจากเพจ WA Japan) โดยแค่ยอดขายจากไทยประเทศเดียว ก็ขายได้มากถึง 70 ล้านเยน หรือเกือบ 18 ล้านบาทแล้ว ทำให้จากที่เคยจะต้องปลดพนักงานเหลือแค่ 1 ใน 4 แต่ตอนนี้มีออเดอร์เข้ามาจากประเทศไทยมากจนแทบจะทำกันไม่ทันแล้ว แถมคนไทยยังสนใจพวกเครื่องเคลือบลายพิเศษ ลายใหม่ๆ ลายแบบลิมิเต็ด ทำให้พวกเขากลับมามีไฟในการสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง

เมื่อมาลองส่องคอมเมนต์ของคลิปสกู๊ปข่าวของสำนักข่าวเอเอ็นเอ็นในยูทูบ ก็ยิ่งทำให้ใจฟูมากขึ้นไปอีก เพราะมีคนญี่ปุ่นมาคอมเมนต์ขอบคุณคนไทยกันเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างท็อปคอมเมนต์ของชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่บอกว่า “ฉันดีใจมากที่มีประเทศที่รักญี่ปุ่นมากขนาดนี้”

ส่วนคอมเมนต์ที่ 2 บอกว่า “ฉันรู้สึกประทับใจที่สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ ไม่ใช่ฝีมือคนญี่ปุ่น แต่เป็นคนไทยทำขึ้นเอง”

อีกคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า “มันเจ๋งมากที่คนไทยทำธุรกิจเหล่านี้ ด้วยความเคารพต่อวัฒนธรรมและประเพณีของเราจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ”

ส่วนคอมเมนต์สุดท้ายบอกว่า “ฉันขอไปเที่ยวประเทศที่รักเราแบบนี้ดีกว่าไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเจอกันนะคนไทย”

นับว่าเป็นข่าวที่น่าชื่นใจจริงๆ ที่ได้รู้ว่านอกจากประเทศไทยของเรานั้น จะได้ประโยชน์จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นแล้ว ฝ่ายไทยเองก็มีส่วนช่วยธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน และที่สำคัญคือ มีสื่อที่มองเห็นแง่มุมนี้ และเผยแพร่ออกไปให้คนญี่ปุ่นได้รับรู้ จนทำให้พวกเขารู้สึกขอบคุณ และมองเห็นคุณค่าในประเทศไทยของเรา

‘เศรษฐา’ นำ 2 ค่ายยักษ์ยานยนต์บิน ‘ญี่ปุ่น’ ช่วยเจรจาการค้า เชื่อ ฟรีวีซ่าเพิ่มความสะดวก ช่วยเศรษฐกิจไทยส่องแสงสว่าง

(14 ธ.ค. 88) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคาดหวังในการปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ ว่า เป็นการเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก มีเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเยอะ และจะมีการพบปะกับ ‘ฮุน มาเนต’ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ ‘เจ้าชายอับดุล มาทีน’ มกุฏราชกุมารลำดับที่ 4 ของราชวงศ์บรูไนที่จะอภิเษกสมรสในเดือนหน้านี้ การเดินทางเป็นการไปล่วงหน้าก่อน 2 วัน ไปเจรจาเรื่องการค้าญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับยานยนต์ที่จะมีการพูดคุยกัน จะเจอรายใหญ่หลายราย เช่น พานาโซนิค และมีอีกหลายนัด และพยายามให้บริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นมาพบมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ ระบุว่า การเดินทางไปต่างประเทศจะชักชวนนักธุรกิจไทยไปด้วย เพื่อพูดคุยถึงการลงทุนที่จะดึงต่างประเทศเข้ามาในไทย รอบนี้มีนักธุรกิจกลุ่มไหนบ้างที่ไปด้วย นายเศรษฐา กล่าวว่า คราวนี้มี แต่เขาเดินทางไปเอง คือ นายพรวุฒิ สารสิน ประธานบริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะไปช่วยเจรจาให้ และนายกลินท์ สารสิน ประธานบริษัทโตโยต้า ที่จะเดินทางไปด้วย และยังมีอีกหลายท่านที่จะไปช่วยเจรจาเพื่อนำผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศ

เมื่อถามว่า จะทำให้เกิดความมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจ และมีแสงสว่างมากขึ้นใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า อย่างไรแสงสว่างก็มีอยู่แล้ว แต่เรื่องความหนักใจ การแบกความหวังเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน 68 ล้านคน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำต่อไป คงจะไม่เพียงพอ ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อถามว่า การเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ซึ่งจะมีเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นด้วย ในส่วนของไทยมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมาลงทุนสูงสุดในประเทศไทยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น เราพยายามทำให้ความสัมพันธ์นี้เข้มแข็งมากขึ้นในเรื่องการลงทุนของทั้งสองฝ่าย และเราได้มีการประกาศจะให้วีซ่าฟรีกับธุรกิจญี่ปุ่นด้วยที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งจะทำให้การเดินทางเข้าออกทั้งสองทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top