Friday, 3 May 2024
ธุรกิจ

กรณีศึกษา Nestle ถอนตัวออกจากเมียนมา   สะท้อน!! ไม่มีใครทำร้ายชาติเราได้เท่าคนในชาติตัวเอง

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่ดังไปทั่วเมียนมาเมื่อบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Nestle ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ถอนตัวออกจากเมียนมา โดยมีแถลงการออกมาจากทาง Nestle ว่าทางบริษัทจะยุติการดำเนินการทั้งสายโรงงานและการปฏิบัติงานในส่วนของออฟฟิศทั้งหมด  

ข่าวนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจของเมียนมาพอสมควร โดยทาง Nestle อ้างว่าการที่บริษัทตัดสินใจเช่นนี้เป็นเพราะบริษัทมีปัญหาในเรื่องการนำเข้าและปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน 

พออ่านมาถึงจุดนี้ คือต้องมาเอ๊ะ เดี๋ยวก่อน….เราควรมาดูข้อมูลรอบตัวของข่าวนี้ก่อนดีไหม? เริ่ม!!

ข้อแรก Nestle เป็นบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์ แต่การดำเนินการของ Nestle เมียนมานั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของ Nestle สาขาประเทศไทย ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็น 1 ในประเทศคู่ค้าของกลุ่ม EU ที่ทำการแซงชันเมียนมา โดยการแซงชันของ EU นั้น นอกจากเน้นไปที่ตัวบุคคลแล้วยังเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของเช่น อัญมณี เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซรวมถึงป่าไม้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจเหล่านั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแซงชันดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและก๊าซในเมียนมาที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีคนนอกในการผลิตและแปรรูป  

จึงไม่แปลกที่ธุรกิจของประเทศในกลุ่มดังกล่าวจะโดนกดดันจากฝั่งเมียนมา ซึ่งบางธุรกิจเช่นธุรกิจผลิตวัตถุดิบบางอย่างของสัญชาติอเมริกันก็เลือกที่จะปิดตัวเองเลย ซึ่งแม้บริษัทเหล่านั้นอาจจะมีการทำ Political Insurance ไว้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเงินสินไหมจะทดแทนกับมูลค่าที่ลงทุนและโอกาสทางการตลาดที่เสียไปได้หรือไม่

กลับมาที่ Nestle เมียนมา ก็ต้องขอปรบมือให้ทีมบริหารที่ใช้ความพยายามในการผลักดัน เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีในขณะที่หลายๆ บริษัท ทั้งบริษัทที่เป็นของชาวต่างชาติก็ดี หรือของคนเมียนมาเองก็ดี ต่างทยอยปิดตัวลงจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แทบจะเรียกได้ว่า Nestle เป็นบริษัทท้ายๆ ที่ใช้เหตุผลนี้มาปิดบริษัท เพราะตอนนี้ก็เหมือนเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตต่างๆ เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากหลายๆ บริษัทในเขตนิคมเองก็เปิดมากขึ้น  

อย่างไรก็ดีด้วยประเด็นของการที่ประเทศในกลุ่มอียูมีนโยบายแซงชันเมียนมา จึงเป็นอะไรที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนสเล่ ที่เจ้าของคือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้เป็นคู่ค้ารายสำคัญของกลุ่มประเทศอียูจะโดนบีบให้ปฏิบัติตามด้วยก็ไม่แปลก เพราะหากเทียบความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเมียนมากับมูลค่าที่จะสูญเสียในยุโรปนั้น Nestle บริษัทแม่เลือกไม่ยากเลยที่จะเลือกปิดโรงงาน ลอยแพคนงานเมียนมาและหันกลับมาใช้ระบบตัวแทนจำหน่ายที่เป็นบริษัทเมียนมาแทน  

‘บิ๊กตู่’ มั่นใจ!! ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น เผย ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่พุ่ง สูงสุดในรอบ 10 ปี

นายกฯ เชื่อมั่นเศรษฐกิจภาพรวมไทยดีขึ้น ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือนมีนาคม 2566 กว่า 9 พันราย สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมียอดจดประมาณถึง 72,000 – 77,000 ราย

(29 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม และสถานการณ์การท่องเที่ยว ฟื้นตัวดีขึ้นช่วยให้มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนมีนาคม 2566 ถึงกว่า 9 พันราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีนาคม 2565) ถึงร้อยละ 28 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศมีศักยภาพ สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ต่างประเทศยอมรับในเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงิน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมีนาคม 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 9,179 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกือบร้อยละ 8 ในขณะที่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28 โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 752 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 699 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 440 ราย ตามลําดับ ซึ่งเป็นตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม 299,608.53 ล้านบาท ทำให้จำนวนรวมในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 26,182 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถิติเดือนมีนาคม 2557 – ปี 2566 ทำให้ยอดการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2566 เป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกับเดือนมกราคม 2566 และกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการจดทะเบียนรายเดือนและรายไตรมาสที่เพิ่มขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้คาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 77,000 ราย

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีสัญญาณจากการจัดตั้งบริษัทใหม่จำนวนมาก ซึ่งเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับที่ตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นอีกแรงบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในทุกระดับและจะส่งผลถึงในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม” นายอนุชากล่าว

ปตท. เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2566 เป็นไปตามแผนธุรกิจ ใช้งบกว่า 20,000 ล้านบาท ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19

เมื่อวานนี้ (11 พ.ค. 66) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศ OPEC และชาติพันธมิตร จนถึงสิ้นปี 2566 และเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2566 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ที่ 104,008 ล้านบาท ลดลง 36,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 140,912 ล้านบาท โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง เช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ตามราคาปิโตรเคมีในตลาดที่ใช้อ้างอิง ประกอบกับปริมาณการขายลดลงและต้นทุนค่าเนื้อก๊าซสูงขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยในไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 27,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,063 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่จำนวน 24,792 ล้านบาท 

ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และประเทศให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 - 2565 ได้ใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาทิ การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT เป็นต้น 

ทั้งนี้ ปตท. เร่งเดินหน้ากลยุทธ์ ‘ปรับ เปลี่ยน ปลูก’ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน ปี 2593 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมเปลี่ยน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการ ปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า ส่งเสริมอาชีพ และรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี 

“ปตท. มุ่งมั่นดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย สนับสนุนการใช้พลังงานแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ พร้อมศึกษาพลังงานไฮโดรเจน และพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ นำพาประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอรรถพล กล่าวเสริม

ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 4 เดือนแรก ทะลุ!! 3.8 หมื่น ลบ. เพิ่มขึ้น 6% จากปี 65 ‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์อันดับ 1  

(19 พ.ค. 66) นายทศพล ทั้งสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่าในเดือน เม.ย. 66 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 43 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 13 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,654 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 487 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 217 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 69 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 148 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 38,702 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 2,419 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 55 ราย (คิดเป็น 25%) เงินลงทุน 14,024 ล้านบาท, สิงคโปร์ 35 ราย (16%) เงินลงทุน 4,854 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 34 ราย (15%) เงินลงทุน 1,725 ล้านบาท, จีน 14 ราย (6%) เงินลงทุน 11,230 ล้านบาท, สมาพันธรัฐสวิส 11 ราย (5%) เงินลงทุน 1,692 ล้านบาท และอื่น ๆ 68 ราย (33%) เงินลงทุน 5,177 ล้านบาท

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรง จากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะปิโตรเลียม, องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า, องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV), องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก่ไขปัญหาเครื่องอัดอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 217 ราย เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุน 38,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจ้างงานคนไทย 2,419 คน เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ‘ญี่ปุ่น’

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 66 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ บริการขุดเจาะหลุมปิโตรลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับ สัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า

บริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ดังนี้

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาและแนะนำเชิงเทคนิค การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค รวบรวมข้อมูลด้านเทคนิค เป็นต้น

บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า

บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 43 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 7,521 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 17 ราย ลงทุน 2,816 ล้านบาท, จีน 8 ราย ลงทุน 725 ล้านบาท, ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 15 ราย ลงทุน 1,058 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
1.) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการการผลิต ด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินค้า และด้านการบริหารจัดการระบบการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

2.) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์

3.) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 

4.) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

5.) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของธุรกิจไทยเริ่มต้นและเดินหน้าอย่างช้าๆ ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดที่เปลี่ยนวิถีชีวิตคน เป็นผลให้ธุรกิจต้องเดินหน้าสู่การใช้งานดิจิทัลเต็มตัว เพราะเป็นช่องทางเดียวในการเข้าถึงผู้บริโภค

LINE ถูกเลือกให้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสร้างแบรนด์ สร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ด้วยประสิทธิภาพของเครื่องมือบนแพลตฟอร์ม ที่พร้อมให้แบรนด์เข้าถึงคนไทยได้มากกว่า 53 ล้านคน

LINE พร้อมเชิดชูความสำเร็จขององค์กรและแบรนด์ที่ใช้งานแพลตฟอร์มในเชิงธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์ ทรงประสิทธิภาพ นำไปสู่ความสำเร็จเชิงการตลาดอันโดดเด่น และเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับการทำธุรกิจในวงกว้าง จึงจัดงานประกาศรางวัลสำหรับภาคธุรกิจครั้งใหญ่แห่งปี LINE Thailand Awards 2022

โดยมีการมอบรางวัลรวมทั้งสิ้น 51 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลสุดยอดแบรนด์ผู้สร้างผลงานการตลาดดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่ง 8 รางวัล และรางวัลการใช้งานโซลูชันต่างๆ บน LINE ยอดเยี่ยมตามแต่ละกลุ่มประเภทธุรกิจอีก 43 รางวัล ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจสำคัญในไทย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา LINE ได้พัฒนาโซลูชันมากมาย เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเลือกใช้งานตามเป้าหมายทางการตลาดได้อย่างครบครัน นำมาซึ่งผลสำเร็จเชิงการตลาดที่หลากหลาย ไม่เพียงเพิ่มจำนวนลูกค้าหรือเพิ่มยอดขาย แต่ยังสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าของแบรนด์

โดยเห็นได้จากแบรนด์ที่ได้รับรางวัล ‘สุดยอดแบรนด์ผู้สร้างผลงานการตลาดดิจิทัลยอดเยี่ยมแห่งปี 2022’ ที่สามารถสร้างความสำเร็จเชิงธุรกิจได้หลากหลายมิติ จากการใช้แพลตฟอร์ม LINE อาทิ

>>ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง คว้ารางวัล Data Lead Campaign of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์บริหารดาต้ายอดเยี่ยมแห่งปี

ด้วยกลยุทธ์ในการบริหาร จัดการข้อมูลบนแพลตฟอร์ม LINE อย่างมีชั้นเชิง ผ่านการใช้ LINE OA และ Mission Stickers เพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย พร้อมจำแนกแบ่งกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาในเชิงลึก ด้วยเครื่องมือ MyCustomer และต่อยอดสู่การทำ Cross Targeting ร่วมกับ LINE OA ของแบรนด์ในเครือ ด้วย Business Manager ทำให้ประสิทธิภาพการสื่อสาร และการลงโฆษณาผ่าน LINE Ads ไปสู่กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ของแต่ละแบรนด์ในเครือ Unilever แม่นยำ ตอกย้ำการเป็นแบรนด์ผู้นำในกลุ่ม FMCG ในยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง

>>วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) คว้ารางวัล Chat Commerce of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์สร้างสรรค์กลยุทธ์ Chat Commerce ยอดเยี่ยมแห่งปี

ด้วยการใช้โซลูชันบนแพลตฟอร์ม LINE ในการทำแชตคอมเมิร์ซได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การลงโฆษณาผ่าน LINE Ads เพื่อกระตุ้นลูกค้ามาเพิ่มเพื่อนบน LINE OA การใช้ LINE OA เป็นช่องทางสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าได้อย่างทันใจ มีการใช้แชตบอตเข้ามาเสริมเพื่อสร้างสัมพันธ์และเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายไปพร้อมๆ กัน และสามารถนำเสนอสินค้า เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือกจองรถและปิดการขายผ่าน LINE SHOPPING ได้อย่างลงตัว สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับธุรกิจยานยนต์ไทย ขับเคลื่อนด้วยแชตคอมเมิร์ซบน LINE ได้อย่างครบวงจร

>>ซีพี ออลล์ คว้ารางวัล Best LINE OA of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์ใช้งาน LINE OA ยอดเยี่ยมแห่งปี จาก LINE OA: CP ALL 7-Eleven

ด้วยยอดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Target Reach) และอัตราการเข้าใช้งาน LINE OA จากตลอดทั้งปีสูงที่สุด สะท้อนถึงกลยุทธ์การพัฒนารูปแบบการซื้อขายร้านสะดวกซื้อสู่บริการยุคใหม่ผ่านแชตบน LINE OA ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วไทยได้อย่างตรงจุด ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับทุกการสื่อสาร ทุกกิจกรรมและทุกบริการที่นำเสนอบน LINE 0A นี้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการปฏิรูปวิถีการค้าปลีกของไทยมาอยู่บน LINE ได้อย่างทรงพลัง

>> สำนักงานประกันสังคม คว้ารางวัล Best Sticker of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์สร้างสรรค์สติ๊กเกอร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

จากสติ๊กเกอร์ชุด ‘ออมสุขและอุ่นใจห่วงใยคุณ ด้วยยอดดาวน์โหลดถล่มทลายสูงสุด จากการออกแบบคาแรคเตอร์ ‘น้องออมสุขและน้องอุ่นใจ’ ในรูปแบบสติ๊กเกอร์ไลน์ ที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์และสร้างการจดจำต่อองค์กรได้เป็นอย่างดี สมาชิกผู้ประกันตนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสื่อสารแทนใจ ส่งต่อความห่วงใยให้คนรอบข้างได้ในหลากหลายโอกาส ถือเป็นหนึ่งในตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ที่มีการปรับใช้ดิจิทัลเพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้สู่ประชาชนในวงกว้างได้อย่างน่าสนใจและมีประสิทธิภาพ

>> ลาซาด้า คว้ารางวัล Best Display Advertising of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์ด้านโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี

ด้วยอัตราการคลิกโฆษณารวมตลอดทั้งปีสูงที่สุด จากกลยุทธ์ในการวางแผนลงโฆษณาที่โดดเด่น ทรงประสิทธิภาพ มีการจำแนกประเภทกลุ่มสินค้าให้ตรงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจ ลงโฆษณาผ่าน LINE ในหลากหลายตำแหน่งเพื่อความครอบคลุม ออกแบบช่วงเวลาการนำเสนอโฆษณาแต่ละชิ้นได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้สารจากโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดในเวลาที่ใช่ นำมาสู่ผลลัพธ์เชิงการตลาดที่น่าประทับใจท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของตลาดอีคอมเมิร์ซ

>>โคคา โคล่า ประเทศไทย คว้ารางวัล Best LINE Ads Campaign of the Year หรือ สุดยอดแบรนด์แคมเปญโฆษณาบน LINE Ads จากแคมเปญโฆษณา ‘Coke ซ่าทุกเบรก’

ถือเป็นผู้นำพากลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ติดโผที่สุดแห่งปี ด้วยกลยุทธ์การวางกลุ่มเป้าหมายหลักของโฆษณาได้อย่างน่าสนใจ ก่อนกระจายการรับรู้ไปในวงกว้าง ผสานกับคอนเซปต์และชิ้นงานโฆษณาที่ดึงดูดสายตา ดึงดูดใจ ไปจนถึงเส้นทางการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ หลังรับชมโฆษณาที่ออกแบบมาได้อย่างลงตัว ทำให้แคมเปญนี้สร้างสถิติการเข้าถึง และอัตราการคลิกผ่าน LINE Ads สูงที่สุดแห่งปี

>>M-Flow - กรมทางหลวง คว้ารางวัล Best Display Advertising of the Year in Public
Sector หรือ สุดยอดองค์กรภาครัฐด้านโฆษณายอดเยี่ยมแห่งปี จากโฆษณา ‘M-Flow’

รางวัลพิเศษที่ตอกย้ำถึงการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของภาครัฐอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านสื่อโฆษณา ซึ่ง M-Flow ได้ออกแบบคอนเซปต์โฆษณาได้อย่างสร้างสรรค์ ชูสโลแกนความเป็นครอบครัวเดียวกัน (M-Flow Family) และกลยุทธ์ในการเลือกตำแหน่งโฆษณาบน LINE ได้อย่างทรงพลัง นำมาซึ่งผลสำเร็จในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยยอดการเข้าถึงและอัตราการคลิกโฆษณาสูงที่สุดในกลุ่มโฆษณาจากองค์กรภาครัฐด้วยกัน

ทั้งนี้ หากมองในมุมของกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจตลอดช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างการเติบโตบนแพลตฟอร์ม LINE ได้อย่างโดดเด่น ทั้งในด้านการใช้งาน LINE OA เพื่อสื่อสารกับฐานผู้บริโภคของแต่ละแบรนด์ในข้อมูลเชิงลึกต่างๆ เช่น รายละเอียดสินค้าหรือบริการ ด้วยการพูดคุยผ่านแชตเพื่อปิดการขาย และในด้านการลงโฆษณาบน LINE เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ ไปจนถึงแคมเปญการตลาด โปรโมชันไปยังผู้บริโภค ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ FMCG เริ่มมีการพัฒนาการใช้งาน LINE OA ในเชิงลึก ยกระดับสู่การบริหาร จัดการดาต้าบน LINE นำโดยแบรนด์ใหญ่อย่าง Unilever Thai Trading Limited ถือเป็นโอกาสให้แบรนด์อื่นทั้งในกลุ่มธุรกิจนี้และกลุ่มธุรกิจอื่น ได้ศึกษาและพัฒนาต่อยอด LINE OA เพื่อประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดาต้าได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ถือเป็นน้องใหม่มาแรงในช่วงปี 2022 คือ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจสินค้าหรู และองค์กรภาครัฐ โดยธุรกิจยานยนต์และสินค้าหรู เน้นกลยุทธ์ Chat Commerce ด้วยการออกแบบเส้นทางให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ผ่าน LINE ตั้งแต่สร้างการรับรู้จนถึงปิดการขาย แม้สินค้ามีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถสร้างการเติบโตผ่าน LINE ได้อย่างต่อเนื่องและโดดเด่นไม่แพ้กลุ่มธุรกิจอื่น

ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ถือว่ามีความโดดเด่นในด้านโฆษณาบนแพลตฟอร์ม LINE ด้วยการสร้างการรับรู้สู่ประชาชนผ่านโซลูชันต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นสติ๊กเกอร์ และการลงโฆษณารวมไปจนถึงการใช้งาน LINE OA จากหลากหลายหน่วยงานภาครัฐที่มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวสู่โลกดิจิทัลที่จริงจัง อันสามารถต่อยอดสู่การขับเคลื่อนประเทศในเชิงโครงสร้างด้วยดิจิทัลได้ในอนาคต

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ โลกและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แบรนด์จำเป็นต้องเลือกใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเข้าถึง เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว การมอบรางวัล LINE Thailand Awards ไม่เพียงเชิดชูแบรนด์ที่มีการตลาดดิจิทัลที่เหนือกว่า แต่ยังเป็นเครื่องกระตุ้นให้แต่ละแบรนด์พัฒนาความสามารถในการนำโซลูชัน LINE ไปใช้งานเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ที่มา: LINE Thailand Awards 2022

เคยสงสัยกันมั้ย

🔍เคยสงสัยกันมั้ย ว่าทำไมร้านค้าที่ขายของคล้ายๆ กัน ถึงชอบเปิดร้านใกล้กัน ไม่ว่าจะเป็น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ทั้งนี้ หากมองในมิติเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี ‘Hotelling's law’ 

แต่ถ้าจะมองในมิติที่ไม่ซับซ้อน อาจกล่าวได้ว่า การที่ธุรกิจประเภทเดียวกัน เปิดร้านอยู่ใกล้กัน ในบางธุรกิจถือว่าเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างความคึกคักน่าสนใจและเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ไปลองดูตัวอย่างธุรกิจประเภทเดียวกันที่มักพบเห็นเปิดในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ว่ามีอะไรบ้าง
 

เปิดมุมน่าคิด ธุรกิจที่สำเร็จส่วนใหญ่ มักจะมีโชคช่วย แต่หากไม่ทำงานหนัก โชคเหล่านั้นก็จะไม่มาหา

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @ckfastwork หรือ ‘CK Cheong’ CEO แห่งบริษัท Fastwork.co ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับธุรกิจจะสามารถสําเร็จได้ ต้องพึ่งโชคอย่างเดียวหรือเปล่า โดยระบุว่า…

“ถูกส่วนหนึ่งครับ…ธุรกิจที่สําเร็จมักจะมีโชค แต่ถ้าคุณไม่ทำงานหนักก็จะไม่มีโชค เนื่องจากโชคมันเกิดขึ้นสําหรับคนที่พร้อมทุกวัน หากนอนดู Netflix ทั้งวันก็คงไม่มีโชคมาหรอกครับ…คนที่โชคดีคือคนที่ออกไปตามหามันทุกวัน ทํางานเหนื่อยมากๆ ทุกวัน 4-8 ปี ทุกวันทําเหมือนเดิม สักวันหนึ่งใน 5-6 ปีนั้นก็จะมีโชคดีเข้ามา”

“แต่ถ้าคุณไม่ตื่นมาตามหามันทุกวัน หรืออาจตามหาบ้าง ไม่ตามหาบ้าง ชิลบ้าง พักผ่อนบ้าง โชคก็ไม่มาหรอกครับ…โชคไม่ลอยมาจากท้องฟ้า เรายังต้องไปตามหามัน โชคมันมีกับทุกคน และเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่เรายังคงต้องออกไปตามหามันอยู่”

“โชคก็เหมือนกับ ‘โปเกมอน’ เรายังต้องตามหา เพราะมันไม่เดินเข้ามาหาเรา ดังนั้น 'โชค' คือสําหรับคนที่พร้อมในการตามหาทุกวัน แต่ก็ถูกครับ…ธุรกิจที่สําเร็จได้ก็ต้องมีโชค”

‘INTERLINK’ เปิดบ้านนำนักลงทุนทัวร์กิจการ-สอบถามเชิงลึก มั่นใจ!! รัฐบาลชุดใหม่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ หนุนภาคธุรกิจเติบโต

(5 ก.ย. 66) ‘INTERLINK’ โดยคุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่ม บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชัน (ILINK) เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนกว่า 35 ท่าน พร้อมแถลงผลประกอบการผ่านงาน Opportunity Day จากนั้นได้พากลุ่มนักลงทุนเยี่ยมชมกิจการ และสอบถามผลประกอบการในเชิงลึก

โดยในงานนี้ คุณสมบัติยังกล่าวอีกด้วยว่า กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความมั่นใจว่า ในภาคธุรกิจจะสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น เติบโตทั้งรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และมีคุณภาพ ตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท

คุณสมบัติได้ตอบคำถามที่นักลงทุนถามว่า เหตุใดตนถึงมั่นใจว่าภาคธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างแน่นอน? ว่า…

“ผมมั่นใจว่า ภายหลังเมื่อสามารถตั้งรัฐบาลเสร็จ โดยการบริหารงานภายใต้การนำของ ‘นายกเศรษฐา’ ครั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ

1.) ความรู้สึกหรือความเชื่อว่า เศรษฐกิจภายหลังจากนี้จะดีกว่ารัฐบาลที่แล้วอย่างแน่นอน

2.) งบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนและงบก่อสร้างปรับปรุง ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 20% จะถูกเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้างและปรับปรุง อันจะส่งผลต่อการสั่งซื้อสายสัญญาณของบริษัทไปติดตั้งเพิ่มเติม

3.) คู่แข่งโรงงานผลิตสาย Sola Cable, สายโทรศัพท์ และสาย Control รายใหญ่ของประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องของตลาดทุน ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามเวลา ส่งผลให้ลูกค้าต้องเปลี่ยนมาสั่งซื้อจากบริษัทอย่างมากมาย

4.) เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความต้องการกับชีวิตที่ดีขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ทำให้กระแสสัญญาณของสาย FTTR (Fiber To The Room) ถูกบังคับให้ต้องเตรียมการติดตั้งในคอนโดมิเนียม หรือบ้านพักที่สร้างใหม่

ซึ่งผลิตภัณฑ์ LINK มาตรฐานอเมริกา ของบริษัท มี Outlet รุ่นใหม่ที่มีขนาดเท่ากับหน้ากากไฟฟ้า สามารถติดตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงามในห้อง และใช้งานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ คาดว่า หลังจากนี้จะเกิดกระแสการรับอย่างมาก

5.) เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ทุกคนต้องการความปลอดภัยและใช้ชีวิตด้วยความสะดวกสบาย โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์สายสัญญาณในหมด Security and Control มารองรับการก่อสร้างอาคาร Intelligent และที่พักอาศัยของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาของสายคอนโทรลที่โรงงานในประเทศไทย จำเป็นต้องหยุดการผลิต

“สุดท้ายต้องขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง และเป็นบรรยากาศการพบปะระหว่างประธานบริษัทฯ กับนักลงทุนที่คุยกันอย่างเป็นกันเองในทุกเรื่อง และยืนยันว่า นอกจากนักลงทุนจะทราบข้อมูลเชิงลึกแล้ว บริษัทฯ ยังได้รับคำแนะนำดีๆ จากนักลงทุนอีกด้วย” คุณสมบัติ กล่าว

‘MASTER’ ผนึกกำลัง ‘KIN Corp.’ เดินเกมรุกธุรกิจสื่อโฆษณา ขยายช่องทางการตลาด-เพิ่มขีดความสามารถ-รองรับการแข่งขัน

‘MASTER’ เดินเกมรุกเน้นโตแบบ Organic และ Inorganic ด้วยกลยุทธ์ ‘Merger and Partnership’ (M&P) ล่าสุดผนึกกำลัง ‘KIN Corp.’ ผู้นำธุรกิจสื่อโฆษณาออฟไลน์และออนไลน์ ปูพรมขยายช่องทางการตลาด เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจรองรับการแข่งขัน พร้อมส่องภาพรวมธุรกิจสื่อโฆษณา หลังสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ชูสื่อนอกบ้าน-สื่อการเดินทาง รอบ 7 เดือนปี 66 เม็ดเงินโฆษณาโต 23% อยู่ที่ 9,032 ล้านบาท เชื่อธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก  

นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘MASTER’ โรงพยาบาลด้านศัลยกรรมความงามครบวงจรชั้นนำของไทย ภายใต้ชื่อ ‘โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช : Masterpiece Hospital’ เปิดเผยถึงแนวทางการขยายโอกาสทางธุรกิจของ MASTER เน้นการเติบโตทั้ง Organic และ Inorganic ด้วยกลยุทธ์แบบ Merger and Partnership (M&P) มาประยุกต์ใช้ โดยวางหลักเกณฑ์ 3 เรื่องในการเข้าพิจารณาลงทุนกับพาร์ตเนอร์ ได้แก่

1.) ซื้อกิจการหรือธุรกิจที่มีเจ้าของเดิมยังบริหารต่อและต้องการเติบโตไปด้วยกัน
2.) เป็นกิจการหรือธุรกิจท้องถิ่น มีชื่อเสียง และความสัมพันธ์ที่ดีต่อพื้นที่นั้นๆ
3.) มีการทำงานร่วมกัน (Synergy) ระหว่างธุรกิจกับโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช

โดยล่าสุด บริษัทลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท คิน คอร์ปอเรชัน จำกัด (KIN Corp.) ผู้ดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 400,000 หุ้น หรือ 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 160 ล้านบาท โดยมีแผนการใช้เงินเพื่อไปใช้ในการขยายกิจการ และคาดว่าจะดำเนินการเข้าลงทุนแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2567 

สำหรับการร่วมทุนในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญของ MASTER เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงทีมผู้บริหาร นำโดย นายภาคิน วณิชภิรมย์ มีแผนธุรกิจอย่างชัดเจน แต่เดิมเน้นทำการตลาดกลุ่มลูกค้า Real Estate เป็นหลัก จึงมองเห็นโอกาสในการขยายเข้าสู่ตลาดกลุ่ม Health Care ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากที่สุด  

“การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในครั้งนี้ เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจของ MASTER ทำให้สามารถเพิ่มรายได้และยังสร้างประโยชน์ทางธุรกิจให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในอนาคต พร้อมเปิดโอกาสการเติบโตในตลาดวงการศัลยกรรม ด้วยศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ จากการที่ KIN Corp. มีเครือข่ายและทำเลที่ตั้งโฆษณาครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงต่างจังหวัดทั่วไทย ถือเป็นแต้มต่อทางธุรกิจที่สำคัญ ซึ่ง KIN Corp. มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ มีความต้องการด้านสื่อโฆษณาสูง ทำให้มีโอกาสขยายฐานลูกค้า พร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยงานบริการด้านต่างๆ กับกลุ่มลูกค้าหลากหลายประเภท” นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว

นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER กล่าวว่า ภายหลังจากการเข้าถือหุ้น KIN Corp. เสร็จสมบูรณ์ บมจ. มาสเตอร์ สไตล์ พร้อมให้การสนับสนุน KIN Corp. ในทุกๆ ด้าน โดยคาดว่า KIN Corp. เริ่มสร้างผลกำไรให้ MASTER ได้ในไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป และจะรับรู้กำไรเข้าเต็มปี 2567 เป็นปีแรก

นายภาคิน วณิชภิรมย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิน คอร์ปอเรชัน จำกัด (KIN Corp.) ผู้ดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เปิดเผยว่า บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ MASTER เห็นโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน จนเกิดข้อตกลงร่วมทุนดังกล่าว  

“นอกจากสิ่งที่สัมผัสได้จากการแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจแล้ว ผมมองว่า MASTER มีจุดแข็งเรื่องการพัฒนาคนในองค์กร ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับ KIN Corp. เพราะแนวทางการดึงศักยภาพของคนในองค์กร นำมาใช้ในเรื่องการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาคนในองค์กร เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มจากทีม MASTER” นายภาคิน กล่าว 

ด้านภาพรวมธุรกิจสื่อโฆษณา หลังสถานการณ์ Covid -19 คลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยอ้างอิงจากรายงาน ‘นีลเส็น’ (Nielsen) ระบุว่าเม็ดเงินโฆษณา (Media Spending) ช่วง 7 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่าเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าอยู่ที่ 65,093 ล้านบาท แบ่งเป็น สื่อทีวี ยังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด อยู่ที่ 57% คิดเป็นมูลค่า 34,483 ล้านบาท

รองลงมาเป็นสื่อดิจิทัล เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น 6% มูลค่าอยู่ที่ 16,031 ล้านบาท และตามมาด้วยสื่อนอกบ้าน และสื่อการเดินทาง เม็ดเงินโฆษณาโต 23% มูลค่าอยู่ที่ 9,032 ล้านบาท ดังนั้น KIN เชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา เพราะด้วยโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ลูกค้าต่างมองหาวิธีที่จะทำให้แบรนด์ของตนเองโดดเด่นและดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนในการโฆษณา การสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ หรือการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้บนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป้าหมายสูงสุด คือ การเพิ่มการมองเห็นและเข้าถึงผู้มีโอกาสเป็นลูกค้ามากขึ้น 

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ไป บริษัทวางแผนขยายตลาดในกลุ่ม Medical และกลุ่ม Health Care ที่ต้องการบริษัทผลิตสื่อที่ครบวงจร ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือกลุ่ม Out of Home Media ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ KIN Corp. สนใจ จากเดิมที่ KIN Corp. มีฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม Real Estate ซึ่งบริหารโครงการอยู่ประมาณ 250 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม 

ส่วนช่วงที่เหลือของปี 2566 ของ MASTER มีโอกาสร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหม่อย่างน้อยอีก 3 ราย โดยเชื่อมั่นว่าทุกดีลที่เกิดขึ้นจะสนับสนุนให้ MASTER เติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน นับตั้งแต่ต้นปี 2566 บริษัทเข้าไปลงทุนกิจการคลินิกเสริมความงาม ภายใต้ชื่อ ‘WIND Clinic’ ด้วยการเข้าลงทุน 40% รวมถึงลงทุนใน ‘Rattinan Medical Center’ ถือหุ้นสัดส่วนไม่เกิน 36% และบริษัท ด็อกเตอร์เชน เซอร์เจอรี่ ฮอสพิทอล จำกัด เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน 40%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top