Monday, 17 June 2024
ทารุณสัตว์

‘Klook’ ประกาศยุติขายบัตรท่องเที่ยวที่ ‘ทารุณสัตว์’ ในไทย จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบดำเนินงาน

(26 ก.ย. 66) Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวระดับโลก ประกาศการตัดสินใจในการยุติการขายบัตรท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการขายโปรแกรมสถานที่ท่องเที่ยวหรือประสบการณ์ที่แสวงประโยชน์จากสัตว์ในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นับเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ Klook ในการกำหนดนโยบายใหม่ด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลิกขายการแสดงโชว์ที่เกี่ยวข้องกับ ช้าง โลมา และเสือ จนกว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงาน นโยบายนี้จะมีกำหนดบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566

นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์ม Klook จะไม่สามารถพบตัวเลือกในการซื้อบัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เหล่านี้ในประเทศไทยอีกต่อไป โดยตอบสนองกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม ไม่สนับสนุนการใช้สัตว์เพื่อสร้างความบันเทิงโดยได้ยุติการขายบัตรโชว์การแสดงที่ทำกำไรจากการทรมานสัตว์ อีกกว่า 130 แห่งทั่วโลก

ซูซาน มิลธอร์ป หัวหน้าฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “เรายินดีกับความก้าวหน้าของ Klook และจัดว่าเป็นก้าวแรกในการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ เราหวังอย่างยิ่งที่จะเห็น Klook มุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หยุดขายแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่แท้จริง เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเมื่อจองกิจกรรมการท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์ม เราสนับสนุนให้ Klook เดินหน้ายกเลิกกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับช้างต่อไป เช่น การอาบน้ำและการให้อาหารช้าง และจะกลายมาเป็นบริษัทท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่าอย่างแท้จริง”

“การยกเลิกกิจกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากสัตว์ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักท่องเที่ยวที่ไปในทิศทางเดียวกัน กับกระแสการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในประเทศไทยจากข้อมูลผลสำรวจสวนดุสิตโพลในปี พ.ศ. 2565 พบว่า 76 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าการแสดงโชว์ช้างเป็นการทารุณกรรมสัตว์” หทัย ลิ้มประยูรยงค์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริม

การจัดการนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เอาจริงเอาจังของบริษัทท่องเที่ยวอย่าง Klook และแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวอื่นๆ จะช่วยตัดเม็ดเงินที่จะไปสนับสนุนต่อยอดการทำธุรกิจที่ใช้สัตว์ป่าเพื่อสร้างความบันเทิง ซึ่งเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับการนำสัตว์มาฝึกด้วยวิธีการโหดร้ายทารุณเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทท่องเที่ยวจะต้องให้ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ผ่านการเพิ่มตัวเลือกของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าแทน

‘การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ’ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งหมายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจสถานบริการ บริษัทท่องเที่ยว แพลตฟอร์มออนไลน์และนักท่องเที่ยว จะต้องมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของตัวเองความโปร่งใสระหว่างบริษัทฯ และลูกค้าจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่น การแสดงจุดยืนในการต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ ผ่านการแสวงหาผลประโยชน์จากสัตว์ป่า ในทางหนึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีสถานะทางการตลาดที่มั่นคงและช่วยสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

‘เกาหลีใต้’ ไฟเขียว!! กฎหมายห้าม ‘กิน-ซื้อขาย’ เนื้อสุนัข รับแรงหนุน 'กระแสแอนตี้-ปธน.เป็นคนรักสัตว์ตัวยง'

(10 ม.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายห้ามการจำหน่ายและบริโภคเนื้อสุนัขเมื่อวันอังคาร(9 ม.ค.) ซึ่งจะส่งผลให้ประเพณีการรับประทานเนื้อสุนัขที่มีมานานนับร้อยๆ ในแดนโสมกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ท่ามกลางกระแสรณรงค์ต่อต้านการกินเนื้อสุนัขจากบรรดานักปกป้องสิทธิสัตว์ รวมถึงบุคคลทั่วไป

กฎหมายแบนการรับประทานและจำหน่ายเนื้อสุนัขผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนน 208 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังผ่านช่วงเวลาผ่อนผัน (grace period) 3 ปี

ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 30 ล้านวอน (ราว 795,000 บาท)

คนเกาหลีใต้สมัยก่อนเชื่อกันว่า การรับประทานเนื้อสุนัขจะช่วยให้ร่างกายทรหดอดทนต่อสภาพอากาศในฤดูร้อน ทว่าปัจจุบันสุนัขกลายเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน บวกกับมีการรณรงค์ต่อต้านการเชือดสุนัขเพื่อเป็นอาหาร ทำให้ความนิยมในการกินเนื้อสุนัขลดลงไปมาก และยังคงรับประทานกันเฉพาะในหมู่คนสูงวัยเสียเป็นส่วนใหญ่

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์ชี้ว่า สุนัขมักจะถูกฆ่าด้วยวิธีใช้ไฟฟ้าช็อตหรือแขวนคอให้ตาย ก่อนจะถูกนำมาแล่เนื้อ  แต่เจ้าของฟาร์มและผู้ค้าสุนัขก็ออกมาแย้งว่าพวกเขามีความพยายามที่จะปรับไปใช้วิธีการฆ่าที่ทารุณน้อยลง

กระแสต่อต้านการกินเนื้อสุนัขเริ่มแพร่หลายขึ้นในยุคของประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนรักสัตว์ และเลี้ยงสุนัขเอาไว้ถึง 6 ตัว แมวอีก 8 ตัว ขณะที่นางคิม คยอน-ฮี สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาวิจารณ์การรับประทานเนื้อสุนัขเช่นกัน

ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (8 ม.ค.) โดยสถาบัน Animal Welfare Awareness, Research and Education ในกรุงโซลพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% ไม่ได้รับประทานเนื้อสุนัขเลยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และ 93% บอกว่าคงจะไม่รับประทานอีกในอนาคต

'สาวเจ้าของเก่า' ราดน้ำร้อนใส่ไซบีเรียน โพสต์เปิดใจ ยอมรับว่าผิด แต่ไม่ใช่เพราะขโมยขนม ยัน!! ไม่รู้หมาท้อง

(5 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ที่กำลังท้อง ถูกราดน้ำร้อนจัดใส่ โดยฝีมือเจ้าของหมา ซึ่งให้เหตุผลว่าแอบกินขนม ขณะที่มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ ได้เข้าไปช่วยดูแลและหาบ้านใหม่ให้ 

สะเทือนใจคนรักหมา ว่อนคลิปสาวราดน้ำร้อน ไซบีเรียนท้อง ‘ดิ้นร้องสุดทรมาน’ 

ล่าสุด เจ้าของเก่าของเจ้าไซบีเรียน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

เป็น บ..จริงๆ ค่ะ ก่อนอื่นต้องขอโทษสังคมก่อนที่ได้รับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความรู้สึกผิด หรือรู้สำนึกว่ามันไม่ดี มันเกิดขึ้นตั้งแต่อารมณ์ขาดสติหมดลงแล้วค่ะ

เหตุการณ์เดือนนึงแล้ว บ..ไม่ได้มีไทม์แมชชีนย้อนกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดทางอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น ณ จุดฟีลขาด

บ..ขอพูดในมุมของ บ..ในพื้นที่ของ บ..ที่จะเปิดเป็นสาธารณะ เพราะวันนี้มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของสังคม ที่ได้รับภาพความรุนแรง

ก่อนหน้านี้ไม่ทราบมาก่อนค่ะ ว่าน้องหมาตั้งท้อง

หมวยเล็กเป็นหมาที่ บ..เลี้ยงมาเอง ตั้งแต่มัน 45 วัน

กัดข้าวของและก่อการร้ายในบ้านเรื่อยๆ ตามประสา

ถ้า บ..ตีเพราะพฤติกรรมแย่งขนม น้องคงไม่ได้เป็นที่รักของทุกคนในโซเชียลจากการเผยแพร่ของ บ..

บ..อยากใช้พื้นที่ส่วนตัวอธิบายให้สังคมรับรู้ว่าทุกๆ คน มีแรงกดดัน มีสภาพแวดล้อม มีวิธีจัดการกับอารมณ์เมื่อจนมุมต่างกัน และ บ..ผิดพลาดที่จัดการอารมณ์ไม่ดี

เรารับรู้และไม่เคยกดดูคลิปวิดีโอนั้น แม้แต่ 1 ครั้ง เพราะใช่ มันรุนแรง เรารู้สึกผิดตั้งแต่วันที่มันเกิดเหตุแล้ว ว่ามันเกินกว่าเหตุ

แต่เราไม่ได้มานั่งอธิบายแต่แรก เพราะเราคิดว่ามันไม่มีใครเข้าใจ pressure environment ของแต่ละคนในเหตุการณ์นั้นๆ ทุกคนเห็นและตัดสินจากการกระทำเลย

เราแมนพอรับว่าเราตั้งใจทำ เราทำจริง และเรารับทุกคำด่าได้เป็นผลจากการกระทำของเราเอง
ขอความอนุเคราะห์ด่าในพื้นที่

ที่วางขอบเขตไว้โดยไม่รบกวนต่อบุคคลที่ 3-4-5-6 หรือคนในครอบครัว ตลอดจนเพื่อนร่วมสถานะ friends ใน Facebook

ขอบคุณและขอโทษอีกครั้งค่ะ

ส่วนของการดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้เป็นไปตามขั้นตอนได้เลยค่ะ

***ไม่มีใครราดน้ำร้อน เพราะหมาขโมยขนมหรอกค่ะ***

มันมีหลายปัจจัย ที่กดดันให้ทำเพื่อให้หมาไปหาบ้านใหม่ที่พร้อมดูแลค่ะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top