Friday, 17 May 2024
ตรัง

‘เปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง’ เมนูสุดเด็ดเชฟส์เทเบิ้ล ของดีเมืองตรัง ได้รสสัมผัสข้าวยำปักษ์ใต้ หอมกลิ่นสมุนไพร ลองแล้วจะติดใจ!!

เปิดสูตรเด็ด ‘เปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง’ อาหารกินเล่นสุดว้าว จากเชฟส์เทเบิ้ล ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว จนเป็นเมนูยอดฮิตของรีสอร์ทหนึ่ง ในจังหวัดตรัง

‘ข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ’ เมนูสุดว้าวจากเชฟส์เทเบิ้ล อร่อย 1 คำ จะได้รสสัมผัสของข้าวยำปักษ์ใต้ ที่หอมคละคลุ้งไปด้วยสมุนไพร และในขณะเดียวกันก็จะได้กินหมูย่างเมืองตรังไปด้วย

แม้ข้าวยำจะเป็นอาหารประจำถิ่นที่นิยมรับประทานใน 3 จังหวัดชายแดนได้ และล่าสุด ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม’ (สวธ.) ประกาศรายชื่อผลคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ภายใต้โครงการการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย ‘รสชาติ...ที่หายไป’ (The Lost Tasts) ประจำปี 2566 ซึ่งจังหวัดได้รับการคัดเลือก ‘ข้าวยำโจร’ นั้นข้าวยำโจร ก็มีลักษณะเป็นข้าวยำคลุกด้วยเครื่องสมุนไพร ก็ไม่ต่างกับข้าวยำคลุกในจังหวัดอื่นในภาคใต้

แต่ที่จังหวัดตรัง นายจิรวัฒน์ วิระพรสวรรค์ หรือมิก อายุ 28 ปี หนุ่มสถาปนิก จากรั้วสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับบ้านช่วยครอบครัวบริหารรีสอร์ท และเป็นผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหาร จนนับได้ว่าเป็น เชฟส์เทเบิ้ล แนวหน้าคนหนึ่งของจังหวัดตรัง โดยการคิดและค้นหาวัตถุดิบในชุมชนมารังสรรค์เป็นอาหารสุดว้าว ที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านเมนูจานอาหารที่เชฟรังสรรค์ขึ้น โดยแต่ละเมนูนั้นจะมีความพิเศษทั้งในเรื่องของวัตถุดิบและเรื่องราวมากมายที่เกิดจากชุมชน มานำเสนอในจานอาหาร

โดยนำ ‘ข้าวเบายอดม่วง’ ข้าวพื้นเมืองชื่อดังที่กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ได้รับ GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นข้าวพื้นเมืองของจังหวัดตรัง มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นเมนูที่หลากหลาย โดยเฉพาะข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ นอกจากนี้มีการวิจัยพบว่าข้าวเบายอดม่วงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนสูง แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ รับประทานแล้วไม่อ้วน และข้าวเบายอดม่วง มีลักษณะเนื้อข้าวที่เหนียวหนึบนุ่ม คล้ายกับข้าวญี่ปุ่น เหมาะต่อการนำมาทำข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ เวลาม้วนข้าวจะมาแตก เกาะตัวกับไส้ได้เป็นอย่างดี

เพิ่มความอร่อยด้วยการนำหมูย่างเมืองตรัง ที่ได้รับการคุ้มครองเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ในปี พ.ศ. 2548 มาเป็นส่วนผสมในข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบด้วย เมื่อรับประทานข้าวยำไส้หมูย่างทอดกรอบ 1 คำจะได้รสสัมผัสของข้าวยำปักษ์ใต้ ที่หอมคละคลุ้งไปด้วยสมุนไพร และในขณะเดียวกันก็จะได้กินหมูย่างเมืองตรังไปด้วย เปรียบได้กับกินจังหวัดตรังไปเลยที่เดียว

การทำเปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง ทางนายจิรวัฒน์ ก็ได้นำสมุนไพรที่ปลูกไว้ในสวนของรีสอร์ท มาเป็นส่วนผสมไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ในมะกรูด ใบชะพลู ดอกดาหลา ถั่วฝักยาว มะม่วงเบา มะพร้าวคั่ว และที่ต้องซื้อหาเพิ่มเติม เช่น กุ้งแห้งป่น พริกป่น น้ำบูดู ขั้นตอนการทำก็เริ่มจากนำเครื่องข้าวยำ ที่เตรียมไว้ใสลงไปในถ้วยแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำบูดูลงไป คนให้เข้ากัน จากนั้นนำใบชะพลูมาเรียงก่อนที่จะตักข้าวยำที่คลุกเคล้าแล้ว ลงไปวางบนใบชะพลูตามด้วยการใส่หมูย่างลงไป ก็ทำการม้วนให้แน่น

ก่อนนำไปชุบแป้งทอดกรอบ และนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ ประมาณ 5-10 นาที ตักขึ้นมาพักให้เย็นจึงจะหันมาเป็นชิ้นๆ รับประทานเปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง 1 คำ จะได้รสสัมผัสที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นตรัง เพราะมีทั้งความเป็นข้าวยำ น้ำบูดู แบบฉบับของปักษ์ใต้ หอมหวานด้วยหมูย่างเมืองตรัง ความกรอบนอกนุ่มในของแป้งและใบชะพลู อร่อยไปอีกแบบ

ส่วนใครสนใจ ลิ้มลองเมนู ‘เปาะเปี๊ยะข้าวยำหมูย่าง’ ไปกันได้ที่ห้องอาหาร กะช่องฮิลล์ รีสอร์ท 45 หมู่ 7 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง โทรศัพท์ : 075-573-513 ส่วนใครจะนำไปทำรับประทานเองก็ไม่หวงสูตร

‘น้องภีม’ ควาญช้างวัย 11 ขวบ โชว์ลีลาขี่ ‘พลายปีโป้’ นำแห่หน้าขบวนกลองยาว ในงานทอดกฐินที่เมืองตรัง

(22 พ.ย. 66) ช่วงนี้เป็นเทศกาลงานทอดกฐินสามัคคี วัดต่าง ๆ จึงมีงานทอดกฐินหลังวันออกพรรษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลายกิจการมีรายได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มคนเลี้ยงช้างในจังหวัดตรัง ซึ่งมักจะได้รับการว่าจ้างให้นำช้างแสนรู้ ไปแห่นำหน้าขบวนกลองยาว สร้างสีสันและเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าภาพ

โดยล่าสุด ในขบวนแห่ช้างได้พบกับควาญช้างที่วัย 11 ขวบเป็นนักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านห้วยเร็จ ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ชื่อว่า เด็กชาย วีระวัฒน์ นุ้ยเร็ต หรือ ‘น้องภีม’ อายุ 11 ขวบ ขี่ช้าง ‘พลายปีโป้’ อายุ 20 ปีมาร่วมขบวนแห่ไปตามถนนสายนาบินหลา-ทุ่งชน ตำบลนาบินหลา อำเภอเมืองตรัง เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตรได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่แพ้บรรดาควาญช้างรุ่นใหญ่ โดยมีญาติ ๆ ขี่ช้างเชือกอื่นมาร่วมขบวนด้วย

น้องภีม ได้โชว์ลีลาการบังคับช้าง การขึ้นลงบนหลังช้างแบบสบาย ๆ สร้างความประทับใจให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างมาก และเมื่อสอบถามน้องภีมจึงทราบว่า บ้านคุณลุงและคุณน้าของน้องภีมเลี้ยงช้างมานานหลายปีแล้ว ทำให้น้องภีมเห็นช้างมาตั้งแต่เกิด จึงมีความรักความผูกพันและหัดขี่ช้างมาตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ จนกระทั่งอายุ 10 ขวบ น้องภีม จึงเริ่มขี่ช้างออกงานได้ แต่ยังต้องมีคุณลุงหรือคุณน้าคอยจูงช้างให้

น้องภีม มักจะใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุด ตามญาติไปขี่ช้าง รับจ้างเดินป่า ชักลากไม้ยางพารา งานท่องเที่ยว และงานบุญงานทอดกฐินต่างๆ ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้น ถือเป็นควาญช้างที่อายุน้อยที่สุดใน จ.ตรัง ซึ่งก็ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ส่วนรายได้ญาติจะแบ่งปันให้เป็นค่าขนมไปโรงเรียนครั้งละไม่กี่บาท ซึ่งน้องภีมไม่ได้สนใจ แค่ได้ขี่ช้างไปร่วมงานก็พอใจแล้ว  สำหรับช้างที่น้องภีมชอบขี่มี 2 เชือก ชื่อว่าพลายกล้วยกับพลายปีโป้ เนื่องจากเป็นช้างที่โตมาด้วยกัน มีนิสัยดี ไม่ดุร้าย สวยสง่า และไม่ตื่นกลัวคน ซึ่งในอนาคตญาติอยากจะให้น้องภีมเป็นควาญช้างสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น หลังเห็นแววว่าน้องภีมทำหน้าที่นี้ได้ดีและมีใจรักมาตั้งแต่เด็ก

โดย ด.ช.วีระวัฒน์ นุ้ยเร็ต หรือน้องภีม กล่าวว่า ช้างที่ขี่ได้ชื่อพลายปีโป้กับพลายกล้วย ซึ่งตนขี่แล้วรู้สึกชอบมาก โดยมากับคุณตา ที่บ้านไม่ได้เลี้ยงช้างแต่ตาเลี้ยง ขี่แล้วรู้สึกสนุก ชอบมาก โตขึ้นก็อยากจะเป็นควาญช้างด้วย

นายอนุพงศ์ จันทร์สุข อายุ 33 ปีน้าชายของน้องภีม กล่าวว่า น้องภีมชอบขี่ช้างมาตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบแล้ว ซึ่งน้องภีมชอบตามไปชักลากไม้ แม้ที่บ้านของน้องภีมจะไม่ได้เลี้ยงช้าง ส่วนตนเป็นน้าชายมีช้างอยู่ 1 เชือก ชื่อพลายปีโป้ที่น้องภีมชอบขี่ เวลาไปทำงานน้องภีมจะชอบตาม โดยบังคับช้างด้วยการพาขี่ไปไกลได้ถึง 10 กิโล หากโตขึ้นก็อยากให้น้องภีมเป็นควาญช้างต่อไป

‘เมืองตรัง’ ตกแต่งหอนาฬิการูป ‘พญานาค’ งบ 1 แสน รับปีมะโรง แต่กระแสตีกลับ!! ชาวเน็ตชี้ ไม่สื่อ-ไม่เหมาะสม นึกว่างานบุญบั้งไฟ

เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.66) นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง นายยุทธนา เจ้าพนักงาน ป.ป.ช.ชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลนครตรัง ที่ดูแลรับผิดชอบโครงการเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ประจำปี 2567

ร่วมกันตรวจสอบการติดตั้งประดับรูปพญานาค บริเวณหอนาฬิกา จ.ตรัง ภายเทศบาลติดตั้งรูปพญานาค 4 ตัว พร้อมป้าย 4 จุดรอบทั้ง 4 ทิศหอนาฬิกา ใช้งบประมาณ 1 แสนบาท แต่ถูกกระแสโซเชียลรวมทั้ง เพจ ชมรมตรังต้านโกง ยกประเด็นขึ้นมาโพสต์ และวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกับงบประมาณ 1 แสนบาท และไม่เหมาะสมกับเทศกาล ควรจะเป็นการนำรูปอื่นมาแสดง หรือมีการแสดงติดตั้งที่มองแล้วว่าสื่อถึง จ.ตรัง เช่น พะยูน ฯลฯ และมองให้เห็นว่าเป็นเทศกาลปีใหม่จริงๆ ไม่ใช่ใช้พญานาค ที่ผู้คนมองว่าคล้ายกับงานบุญบั้งไฟเดือน 6

โดยเทศบาลนครตรัง ชี้แจงเป็นเอกสาร ระบุ คอนเซปต์งาน สวัสดีปีมะโรง ตามปีนักษัตรไทยตามตำราของคนไทย มะโรงตามความหมาย คือ ความเป็นสิริมงคล ยิ่งใหญ่ มั่นคง ความมุ่งหวังเพื่อ จ.ตรัง ได้รับสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ จ.ตรัง มีความยิ่งใหญ่ มั่นคง โดยคอนเซปต์ช่วงไฮไลต์เคาท์ดาวน์ จะมีการใช้เทคนิคไฟโพโล วางที่ปากพญานาค และพ่นไฟออกมา

ส่วนรายละเอียดตกแต่งบริเวณหอนาฬิกา พร้อมระบบเมนไฟ ค่าแรงติดตั้งรื้อถอน และเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย เป็นจำนวนเงิน 1 แสนบาท ประกอบด้วย พญานาคทั้ง 4 ตัว ทั้ง 4 ด้าน มีขนาดตัวละ 1.5×7 ตัวละ 2 หมื่นบาท โดยใช้วัสดุ ด้านในประกอบด้วยโครงสร้างเหล็ก และโครงสร้างไม้ หุ้มส่วนท้องด้านล่างด้วยวัสดุพลาสวู้ดทำสี

ด้านนอกไวนิลบุด้วยไม้กระดานอัดขนาดความหนา 6 มิลลิเมตรฉลุตามรูป โดยทั้งหมดเดินระบบไฟโดยรอบด้วยไฟเส้น LED สำหรับข้อความทั้ง 4 ด้าน คือ HAPPY NEW YEAR 2024 และสวัสดีปีใหม่ 2567 ทำจากไวนิลบุด้วยไม้กระดานอัด

นายบัณฑิต กล่าวว่า ข้อมูลรายละเอียด งบประมาณ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะนี้ยังไม่ได้รับ แต่ป.ป.ช.ตรัง มีหนังสือไปถึงเทศบาลนครตรัง ซึ่งน่าจะอีกไม่กี่วันคงจะได้รับข้อมูล รายละเอียดและข้อเท็จจริงทั้งหมด เกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ทราบว่าใช้งบประมาณ 1 แสนบาท การดำเนินการโครงการต่างๆ จะต้องทำตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และต้องมีความเหมาะสมเรื่องราคาและที่มาที่ไป

‘หนุ่มตรัง’ แห่สมัครทหารคึกคัก!! หวังคว้าโควตาสอบนายสิบ-นายร้อย บางคนเศร้า ตั้งใจมาสมัครแต่ผิดหวัง เนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อม

(28 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สโมสรกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง พันเอกพงษ์เทพ แตงพลับ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้ตรวจคัดเลือกทหารที่สมัครทหารออนไลน์ประจำปี 2567 คุณสมบัติเป็นทหารกองเกินที่มีอายุ 18 ถึง 20 ปีบริบูรณ์(เกิดปี พ.ศ. 2547 – 2549) หรือทหารกองเกินที่มีอายุ 22 ถึง 29 ปีบริบูรณ์ (เกิดปี พ.ศ. 2538 – 2545) ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการตรวจเลือกแล้วแต่ไม่ถูกเข้ากองประจำการ และเป็นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ดี ไม่พิการทุพพลภาพหรือมีโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหารตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. รับการทหาร พ.ศ.2497

สำหรับการสมัครทหารกองเกินเข้ารับราชการ เป็นทหารกองประจำการ โดยวิธีการร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ประจำปี 2567 เพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบ นักเรียนนายร้อย และบุคลากรของกองทัพบก การสมัครทหารออนไลน์นั้น เมื่อผ่านการตรวจร่างกายแล้วรับใช้ชาติเป็นทหารกองประจำการ โดยไม่ต้องจับใบดำใบแดง

ทั้งนี้ พันเอก พงษ์เทพ แตงพลับ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้บอกกล่าวกับผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาสมัครฯว่าจะได้สิทธิต่างๆตามที่กองทัพกำหนด ผู้ที่สมัครสามารถเลือกได้ว่าจะสังกัด กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ ได้รับอัตราเงินเดือนตามที่กำหนด ที่สำคัญคือมีโอกาสในการสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบ นักเรียนนายร้อย การสมัครรับราชการทหาร สามารถลดค่าใช้จ่ายและยังเป็นการช่วยเหลือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในวันนี้มีผู้ปกครองมาสมัครจำนวนมาก

เป็นผลมาจากการที่สัสดีจังหวัดตรัง สัสดีอำเภอและหน่วยทหารกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ได้ออกรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อนำบุตรหลานมาสมัคร ขณะนี้ที่จังหวัดตรังมีผู้มาสมัครทหารออนไลน์และผ่านการคัดเลือกแล้ว เกือบ 300 คน แต่ก็มีบางรายที่ตั้งใจมาสมัคร แต่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายเนื่องจากมีโรคประจำตัว ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้รักษาร่างกายให้หายดีก่อนแล้วมาสมัครพร้อมกับใบรับรองแพทย์ ในปีถัดไป การสมัครนั้นจะหมดเขตในวันที่ 28 มกราคม 2567 นี้

ศาลเจ้ากวนอู หลักสอง!! ศาลเจ้าดังคู่เมืองตรัง  'คนจีน-สิงคโปร์' ต่างนิยมมาทำพิธีแก้ชงประจำปี

'ศาลเจ้ากวนอู หลักสอง' ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยยอด ตรงข้ามโชว์รูมโตโยต้าเมืองตรัง จ.ตรัง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 นาที ซึ่งคนตรังจะคุ้นกันในชื่อ 'โรงพระ หลักสอง' เนื่องจากศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 ก่อนเข้าตัวเมืองตรังพอดิบพอดี

ที่มาของศาลเจ้าแห่งนี้ เริ่มจากชาวจีนกวางตุ้งนามว่า นายจุงหว่าซัน ซึ่งมาอาศัยอยู่ในเมืองตรังเกิดล้มป่วยเรื้อรังอยู่นาน ต่อเมื่อขอพรจากเทพกวนอูก็สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยจนหายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยความศรัทธานับถืออย่างมาก นายจุงหว่าซัน พี่ชายของนายพาก วัฒนะจันทร์ (ตระกูลวัฒนะจันทร์ในปัจจุบัน) จึงบริจาคที่ดินสวนมะพร้าวริมถนนห้วยยอดของตนเอง เพื่อสร้างเป็นศาลเทพเจ้ากวนอู และได้อัญเชิญเทพกวนอูเข้าประทับในปี พ.ศ.2515 จากนั้นมาศาลเจ้าพ่อกวนอูหลักสอง ก็กลายเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวบ้านในท้องถิ่นมาจนถึงทุกวันนี้

ในอดีต ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยและเดินทางมาให้เทพกวนอูได้รักษา จะพำนักค้างแรมที่เรือนคุณธรรม ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น ที่ทางศาลเจ้าสร้างไว้บริการประชาชนที่เดินทางมาจากสถานที่ไกลๆ เพื่อมาขอพรและเคารพสักการะ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  60 ปีผ่านไป ปัจจุบันเรือนคุณธรรมได้ถูกบูรณะปรับปรุงใหม่ด้วยเงินบริจาคของลูกหลานและผู้มีจิตศรัทธา เพื่อรองรับการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆ 

จากประตูทางเข้าศาลเจ้ากวนอูหลักสอง เมื่อเดินเข้ามาจากประตูหน้าทางเข้าศาลเจ้า เราจะเห็นต้นงิ้วสูงใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติเด่นตระหง่านอยู่ทางขวามือทางเข้า และเนื่องจากองค์เทพเจ้ากวนอู หรือ กวน ยฺหวี่ (關羽) ผู้มีใบหน้าสีแดงนั้นเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าต้นงิ้วใหญ่ต้นนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนมีความซื่อสัตย์สุจริตในการดำรงชีวิต

แม้ในจังหวัดตรังจะมีศาลเทพกวนอูอยู่ด้วยกันหลายแห่ง แต่ศาลเจ้าพ่อกวนอูหลัก 2 ก็ถือเป็นศาลเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ ภายในศาลนั้นเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายพระองค์ ซึ่งได้แก่เทพกวนอู ที่อยู่ในปางสำเร็จเป็นเง็กเซียนฮ่องเต้ รายล้อมด้วยบริวาร คือ 'กวนเป๋ง' ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม (ขวา) และ 'จิวฉอง หรือ จิวชัง' ซึ่งเป็นขุนศึกคู่ใจ (ซ้าย) ประทับอยู่ในศาลองค์ประธาน ตามด้วยศาลรองประธานซึ่งเป็นที่ประทับของเทพไฉ่สิ่งเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และเทพฮั่วท้อเซียงซือ หรือหมอฮูโต๋ อีกทั้งบริเวณรอบๆ ยังมีจุดไหว้พระและองค์เทพอื่นๆ อีก เช่น พระม้าเช็กเทา ศาลเจ้าแม่กวนอิม และพระสังกัจจายน์ เป็นต้น

ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีน เทพกวนอูได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ความกตัญญูรู้คุณ ความกล้าหาญ และคุณธรรม โดย กวนอู เป็นหนึ่งในยอดขุนพลในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 1,800 ปีก่อน ตามประวัติเล่าว่า องค์กวนอูเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์พิชัยสงคราม ต่อมาได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้องกับเล่าปี่ และร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาจนสร้างวีรกรรมมากมาย 

ภายหลังกวนอูพลาดท่าโดนฝ่ายซุนกวนจับตัวได้ ซุนกวนพยายามหว่านล้อมให้ท่านยอมสวามิภักดิ์ แต่ด้วยความซื่อสัตย์และภักดีต่อเล่าปี่ทำให้ท่านปฏิเสธ ท่านจึงถูกประหารพร้อมกับกวนเป๋งผู้เป็นบุตรบุญธรรม

ด้วยคุณธรรมตามตำนานที่กล่าวมา ชาวจีนจึงยกย่ององค์กวนอูขึ้นเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์และจงรักภักดี โดยมักทำพิธีบูชาก่อนออกทะเลไปค้าขายต่างบ้านต่างเมืองเสมอ เพราะเชื่อกันว่าการยึดถือความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ รักเพื่อนพ้อง และยึดมั่นในคุณความดี จะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยและทำการค้าขายสำเร็จดังหวัง 

นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้ากวนอูอันเป็นที่เลื่องชื่อลือชาให้คนมากราบไหว้แล้ว ศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้ ยังโด่งดังในเรื่องการทำพิธีแก้ชง เพื่อสะเดาะเคราะห์ประจำปี ตามแบบฉบับจีนโบราณ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนและชาวสิงคโปร์เป็นอย่างมาก ซึ่งชาวสิงคโปร์บางคณะได้เดินทางมาเพื่อสักการะศาลเจ้าแห่งนี้เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

ศาลเจ้ากวนอูหลักสองแห่งนี้ จึงถึงเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ลูกหลานชาวตรังได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบัน ได้มีการบูรณะหอเทวดาและการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่หอเทวดา ด้วยศิลปะแบบจีนโบราณ โดยจิตรกรมือหนึ่งของ จ.ตรัง อายุ  80 ปี เพื่อสืบทอดศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน

ท่านใดที่อยากแวะมาไหว้เทพเจ้ากวนอูเพื่อขอพรเพื่อเสริมสิริมงคล หรือสนใจมาเที่ยวชมศิลปะและวัฒนธรรมแบบจีน สามารถมาได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึง 17.00 น. 

‘วาเลนไทน์’ เริ่มแล้ว!! ‘จ.ตรัง’ จัดงานวิวาห์ใต้สมุทร 2024 บ่าวสาว 11 คู่ เตรียมดำน้ำจดทะเบียนสมรส วันแห่งความรัก

(13 ก.พ.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.ตรัง เริ่มงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทร 2024 หรือ งานแต่งงานใต้ทะเล ต้อนรับวันวาเลนไทน์ ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 27 แล้ว

เริ่มด้วยขบวนรถตุ๊กตุ๊กหัวกบจำนวน 12 คัน แห่คู่บ่าวสาวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศรวม 12 คู่ เป็นชาวไทย 9 คู่ ชาวจีน 1 คู่ ชาวมาเลเซีย 1 คู่ และไทย-อินโดนีเซีย 1 คู่ โดยแห่ไปรอบตลาดสดเทศบาลนครตรัง เพื่อให้คู่บ่าวสาวได้ชมวิถีชีวิตชาวเมืองตรัง โดยการนั่งรถตุ๊ก ๆ หัวกบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตรัง และเป็นรถประจำทางที่ไม่เหมือนใครหนึ่งเดียวในประเทศ

ก่อนเดินทางไปร่วมพิธีแห่ขบวนขันหมาก ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ในเขตเทศบาลนครตรัง โดยนำสินสอด ทองหมั้น และแหวนเพชรไปสู่ขอเจ้าสาวด้วย จากนั้นจึงมีการให้คู่บ่าวสาวลอดซุ้มประตูวิวาห์และลั่นระฆังรัก ก่อนจะพาคู่บ่าวสาวไปสักการะอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรัง เพื่อความเป็นสิริมงคล

นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง เดินทางมาเป็นประธานในพิธีรดน้ำสังข์ (น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 แห่ง จ.ตรัง) ให้ คู่บ่าวสาวที่เข้าร่วมพิธีวิวาห์ใต้สมุทรทั้ง 12 คู่

สำหรับพิธีวิวาห์ใต้สมุทรปีนี้ มีคู่บ่าวสาวร่วมดำน้ำจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลในวันวาเลนไทน์ ในวันพรุ่งนี้ 14 ก.พ. ที่บริเวณหินก้อนเดียว หน้าเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรังจำนวน 11 คู่ จากทั้งหมด 12 คู่ และมีการจดทะเบียนสมรสจริง ที่เกาะกระดาน อ.กันตัง จ.ตรัง

หอยนางรมเกาะหิน คล้ายพระพุทธรูป ชาวบ้านแห่ ส่องเลขเด็ด เจ้าของ ยัน ไม่ขาย ตั้งใจเก็บไว้ให้ นทท.ดู ในงานเทศกาลกินหอย

(2 มี.ค. 67) ที่บ้านแหลม หมู่ที่ 3 ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง มีชาวบ้านออกไปหาหอยนางรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ นำมาขายให้ น.ส. มล ณะสม หรือ จ๊ะมล อายุ 50 ปี แม่ค้ารับซื้อหอยนางรมที่ท่าเรือบ้านแหลม

แต่ปรากฏว่ามีหอยนางรมสุดแปลกอยู่ 1 ตัวเกาะติดอยู่บนก้อนหินที่มีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม โดยท้ายหอยปักลงด้านล่าง ส่วนตัวหอยอยู่ในแนวตั้ง มองดูคล้ายพระพุทธรูป ซึ่งชาวบ้านพยายามแกะหอยนางรมออกจากก้อนหินก้อนนี้เพื่อเอาแต่ตัวหอย แต่ไม่สามารถแกะออกได้ จึงยกมาขายทั้งหินทั้งหอย ราคา 25 บาท

โดย จ๊ะมล ให้ราคาตามขนาดของหอย คือเป็นหอยนางรมขนาดกลาง รับซื้อตัวละ 25 บาท แต่เห็นว่ามีรูปร่างแปลกตา จึงวางไว้หน้าร้าน ซึ่งเมื่อชาวบ้านผ่านมาพบเห็น ได้สร้างความฮือฮาและแห่เข้ามาดูอย่างต่อเนื่อง บ้างก็ว่ารูปร่างคล้ายพระพุทธรูปบ้าง คล้ายกับเด็กบ้าง คล้ายกับถ้วยรางวัลบ้าง

แต่ที่พลาดไม่ได้ การตีเป็นเลขเด็ดรับวันหวยออก โดยเอาเลขที่บ้านคือ 57 หมู่ที่ 3 ต.วังวน กับเลขที่เห็นจากหินและหอย เป็นเลข 8 บ้าง 9 บ้าง 4 บ้าง

ซึ่งบางคนก็เอามือมาลูบๆ คลำๆ และขอพรให้สมหวัง หากถูกรางวัลจะกลับมาตั้งศาลให้ ขณะที่บางคนบอกถ้างวดนี้ไม่ทัน งวดหน้าก็ยังไม่สาย

เจ๊มล เจ้าของแพรับซื้อ ได้นำไปแช่น้ำทะเลเป็นระยะ เพื่อไม่ให้หอยนางรมตาย และยังไม่ขาย เพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีงานเทศกาลกินหอยนางรมบ้านแหลม จึงจะเก็บไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ดู เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอนุบาลหอยนางรมแหล่งใหญ่ที่สุดใน จ.ตรัง ซึ่งอยู่ที่ตำบลวังวน อ.กันตัง จ.ตรัง

เจ๊มล กล่าวว่า รับซื้อมาตั้งแต่เมื่อวาน หลังชาวบ้านไปเก็บหอยนางรมมาขาย ตัวนี้ซื้อมา 25 บาทพร้อมก้อนหิน เห็นมันแปลกจึงจะเก็บไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูว่า มีหอยนางรมที่สมบูรณ์ โดยชาวบ้านมาดูเป็นตัวเลขก็มี มาดูความแปลกใหม่ บางคนก็ตีไปตามสายตาของแต่ละคน บางคนว่าเหมือนพระพุทธรูป บางคนว่าเหมือนเด็ก และบางคนว่าเหมือนถ้วยรางวัล ซึ่งช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลงานหอย จึงอยากให้คนนอกพื้นที่เข้ามาดู และยังไม่ขาย

วัดดังเมืองตรังปลูก 'เมล่อน-ดาวเรือง-ดอกมะลิ' ในวัด ให้ชาวบ้านเก็บฟรี เผย!! เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามโครงการ 'วัด-บ้าน-โรงเรียน'

(29 เม.ย. 67) ที่วัดเกาะมะม่วง หมู่ที่ 1 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง พระอธิการพานิช ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดเกาะมะม่วง ใช้เงินส่วนตัวสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์เมล่อนสีทองมาปลูกไว้ที่หน้ากุฏิจำนวน 22 ต้น โดยทำเป็นซุ้มให้โค้งเข้าหากันทั้งสองด้าน ไม่มีโรงเรือน ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ใช้ถุงสีเหลืองและสีขาวจากชุดสังฆทานที่ชาวบ้านนำมาถวาย มาตัดทำเปลให้เมล่อนนอน โดยใช้เวลาปลูกประมาณ 70-75 วัน ปรากฏว่าเมล่อนรุ่นแรกให้ผลดีเกินคาด

บรรดาญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด เห็นเข้าต่างแห่จับจองเป็นเจ้าของ แม้ว่าเจ้าอาวาสจะบอกว่าไม่ได้ขาย จะปลูกไว้ฉันเองภายในวัด แต่สุดท้ายทนชาวบ้านรบเร้าไม่ไหว เพราะเห็นว่าลูกใหญ่ สีสวย ปลอดภัยจากสารพิษ เจ้าอาวาสฯ จึงให้เขียนชื่อติดไว้ จนมีไม่พอต่อความต้องการของชาวบ้าน และมีการเก็บไปกว่า 10 ลูกแล้ว โดยไม่มีการคิดมูลค่า แล้วแต่จิตศรัทธา แต่พระในวัดยังไม่ได้ฉันแม้แต่ลูกเดียว

ส่วนบริเวณหน้าโกศ (ภาคใต้เรียกหน้าบัว) หรือที่ใส่กระดูกคนตาย พระสงฆ์ได้ช่วยกันปลูกดอกดาวเรืองไว้จำนวน 600 ต้น เพื่อให้บานทันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องซื้อดอกไม้ให้เก็บมาใช้ได้ แต่ดาวเรืองบานช้ากว่ากำหนดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้หลังสงกรานต์ก็ยังมีดอกดาวเรืองบานสะพรั่ง สีเหลืองสวยงาม เป็นที่ถูกตา ต้องใจบรรดาแม่ค้าขายดอกไม้เป็นอย่างมาก

โดยได้มาขอซื้อวันละ 2,000-3,000 ดอก เพื่อนำไปร้อยมาลัยและขายต่อให้กับแม่ค้าเจ้าอื่น แต่เจ้าอาวาสให้เก็บฟรี ส่วนชาวบ้านใครจะใช้ดอกดาวเรืองก็มาเก็บฟรีได้เช่นกัน ซึ่งบางวันหากแม่ค้าเก็บไม่ทัน พระสงฆ์ในวัดก็ช่วยกันตัดส่งให้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามโครงการ วัด บ้าน โรงเรียน ซึ่งในแปลงปลูกดอกดาวเรือง ยังมีแตงโมปลอดสารให้เก็บกินฟรีด้วย

นอกจากนี้พระสงฆ์ยังช่วยกันปลูกดอกมะลิไว้จำนวน 1,200 ต้น เพื่อให้มีกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่ววัดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยอนุญาตให้ชาวบ้านเก็บไปใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ ได้ ซึ่งทุกอย่างฟรีหมด แต่เจ้าอาวาสออกเงินส่วนตัวซื้อเองทั้งหมดและเป็นแบบนี้มานานหลายปีแล้ว ทำให้พระสงฆ์ของวัดนี้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ส่วนผลไม้และต้นไม้ต่าง ๆ ปลูกไว้เป็นร่มเงา เพื่อให้ชาวบ้านได้นั่งพักผ่อน หรือใช้เป็นสถานที่นั่งปฎิบัติธรรม ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองตรัง ประมาณ 5-6 กิโลเมตรเท่านั้น

ด้านพระอธิการพานิช ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดเกาะมะม่วง กล่าวว่า เมล่อนปลูกที่ซุ้มหน้ากุฏิเพื่อความสวยงามไม่ได้ปลูกขาย แต่โยมมาจองหมด ซึ่งก็แล้วแต่จะให้ลูกละ 10 บาท 20 บาท แต่ไม่มีใครเอาฟรี ส่วนมากก็ให้ลูกละ 200 บาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งรอบนี้ปลูกประมาณ 22 ต้นเพราะมีเนื้อที่จำกัดและปลูกในกระถาง โดยตั้งใจจะปลูกไว้ฉันเอง แต่พอโยมมาเห็น ต่างพากันจอง ซึ่งที่เจ้าอาวาสจองไว้ โยมยังขอเลยยกให้

โดยรอบต่อไปจะปลูกแตงโมในกระถาง ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เหลือเท่าไหร่ก็กินเท่านั้นและปลูกดาวเรืองไว้ 600 ต้นอาไว้ใช้ช่วงสงกรานต์แต่มีทั้งบานก่อนและหลังสงกรานต์ เกินเวลาที่คำนวณไว้ ซึ่งมีโยมมาตัดไปขาย ถ้าพระว่างก็ใช้พระตัดให้ แต่ส่วนมากพระไม่ได้ตัดให้ เพิ่งวันนี้วันแรก ส่วนมะลิปลูกไว้จำนวน 1,200 ต้น แต่ไม่ได้ปลูกเพื่อขายโดยบอกญาติโยมว่าถ้ามีงานมงคลหรืองานอะไรก็แล้วแต่ไม่ต้องไปซื้อที่ตลาดให้มาเอาที่วัดเกาะมะม่วงได้เลย แล้วแต่จะเอาไปใช้อะไร แต่ไม่ได้ขาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top