Tuesday, 21 May 2024
ดิจิทัลวอลเล็ต

‘นายกฯ’ รับ!! ไทย ‘เสียโอกาส-ตัวตน’ บนเวทีโลกกว่าทศวรรษ เชื่อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จำเป็น!! ต่อการฟื้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

(23 พ.ย. 66) ที่เพลนารีฮอลล์ 1-4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ ‘FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยในอนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลง’ โดยก่อนปาฐกถานายกรัฐมนตรีได้พูดคุยและหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมากว่าทศวรรษไทยสูญเสียโอกาส และตัวตนในเวทีโลกในการออกไปค้าขายเพื่อให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทย ด้วยปัญหาภายในประเทศ วันนี้รัฐบาลนี้ต้องการเอาศักดิ์ศรีของประเทศไทยกลับสู่เวทีโลกให้คนไทยมีความภาคภูมิใจ ว่าไทยสามารถยืนยันบนเวทีโลกและต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน ในการดึงนักลงทุน และในแง่ของการทูตเชิงรุกได้

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เรามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรีมาจากพลเรือนและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน มีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีที่ดีเพื่อเชิญชวนมาลงทุน ต่อยอดการแข่งขันและการลงทุน ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาไทยได้เซ็น MOU ไปหลายฉบับ ขณะที่ทูตพาณิชย์ต้องรู้จุดขาย ออกไป เป็น KPI ใหม่ที่ทูตต้องทำงานร่วมกับองค์กรรัฐ เพื่อเป็นการขยายการทำงานของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่วนเศรษฐกิจจะวิกฤตหรือไม่วิกฤติเป็นเรื่องที่ตนกำลังถกเถียงกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวในเรื่องของมาตรการการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำที่อาจหมดกำลังใจในการใช้หนี้นอกระบบ ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ซึ่งรัฐบาลจะมีการแถลงข่าวใหญ่ในวันที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เช่นเดียวกับหนี้ในระบบที่จะมีการแถลงในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

“เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี วันนี้ยืนตรงนี้ไม่อยากให้เป็นวาทกรรมเฉยๆ ว่าเราอยากจะเพิ่มรายได้เกษตรกร แต่อยากจะมีขั้นตอนในทุกภาคส่วนในหลายพืชผล ที่เราสามารถทำได้จริง หลังจากวาระของรัฐบาลชุดนี้จบลง เริ่มจากน้ำไม่ท่วมไม่แล้ง และเปิดตลาดใหม่ให้มีการค้าขายได้ ผมหวังว่ากลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า เราจะมีการแถลงใหญ่และมีขั้นตอนที่ชัดเจน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า อุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาตั้งในไทยต้องการใช้น้ำอย่างมหาศาล หากเราไม่บริหารจัดการให้เพียงพอจะเป็นปัญหาได้ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร เช่น ข้าว นอกจากนี้ยังมีปัญหา ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ยางที่มีปัญหาจากสภาพดิน รัฐบาลนี้พยายามปรับพืชผลเพิ่มผลผลิตให้สินค้าเกษตร เชื่อว่ามีเกษตรกรไทย10 ล้านคนที่สามารถทำงานได้อีก

นายเศรษฐา กล่าวยืนยันว่า เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใสมีความชอบธรรมถูกต้องตามหลักนิติรัฐและมีที่มาที่ไป ซึ่งเป็นที่มาของรัฐบาลนี้ในการออก พ.ร.บ.เงินกู้

“ถ้าครม.เห็นด้วย คือตัวแทนของสส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แสดงว่าพี่น้องประชาชนเห็นด้วย ถ้ากฤษฎีกาเห็นชอบก็ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ต้องผ่านสภาก็เป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องลงรายละเอียด ให้รัฐบาลตอบรายละเอียดทุกข้อให้ได้ ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความชอบธรรม ผ่านการตรวจสอบของทุกภาคส่วน ผมไม่อยากจะพูดต่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเพราะพูดไปหลายเวทีแล้ว ขอให้ขั้นตอนดำเนินไปอาจจะช้าบ้าง แต่ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความชอบธรรมโปร่งใส ตรวจสอบได้จากทุกภาคส่วน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เป็นหน้าที่ของเรารัฐบาลที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ยืนยันว่าประเทศไทยเปิดแล้วพร้อมแล้วในการที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศมีภาคเอกชนที่แข็งแรงและพร้อมให้นักลงทุนมาลงทุนในประเทศ ผ่านนโยบายต่างๆ และเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของรัฐบาลที่จะช่วยยกระดับพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลยินดีรับคำแนะนำ ติชมจากทุกคน พยายามทำให้ถูกต้องและนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก

'อ.เกียรติอนันต์' ชี้!! ความเป็นไปได้ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' กระตุ้นเศรษฐกิจไทย สร้างแรงทวีการจับจ่ายที่หดหาย แต่ต้องดีไซน์ไม่ให้ไปกองแค่กลุ่มทุน

(2 ธ.ค.66) จากรายการ 'ถลกข่าว ถลกปัญหา' ทาง THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.66 ได้พูดคุยกับ อ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ดีจริงหรือไหม? ว่า…

“ตัวอย่างแรกเลย…เศรษฐกิจต้องการการกระตุ้นไหม? คำตอบคือ 1.ต้องการ และ 2.หากไปดูอีกฝั่งคือนโยบายการเงินเขาพยายามที่จะเบรก ‘เงินเฟ้อ’ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ย แต่เวลาปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อเบรกเงินเฟ้อมันจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและทําให้คนระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตหรือการกู้เงิน เพราะฉะนั้นเงินมันก็หายไป นอกจากนี้ พอมองอีกตัวคือเงินที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งก็เข้ามาแค่ประมาณ 50-60% ของที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นโจทย์แรกคือในเมื่อคนซื้อของมันหายไปทั้งหมดเลย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจําเป็นไหม คำตอบคือจําเป็น…

ส่วนคําถามต่อมาคือเราจะกระตุ้นแบบไหน? เวลาเรากระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้มันจะผ่าน ‘ตัว C’ หรือ ‘ตัวการบริโภค’ ดังนั้นอะไรก็ตามที่จะทําให้คนบริโภคเยอะขึ้น มันจะเห็นผลเร็ว เพราะว่าตัว C เป็นเงินที่เดินทางเข้าสู่เศรษฐกิจเร็วที่สุด เช่น ออกไปตลาดเพื่อซื้อของอย่างนี้คือได้เงินเลย แต่ถ้าเป็นนักลงทุน อย่างอนุมัติการลงทุนวันนี้อีกปีกว่าเงินลงทุนจะมา ต้องรอหลายเดือน ส่งออก 6 เดือน 8 เดือนกว่าจะเข้า มันจึงไม่มีทางเลือก ดังนั้นเราจําเป็นต้องทำ

ถัดมา มี 2 ประเด็น ที่ต้องคิดคู่กันคือ 1. เครื่องมือในการกระตุ้นมันดีหรือยัง? และ 2. การกระตุ้นแบบนี้ถูกออกแบบมาให้เงินมันฟู หรือที่เรียกว่าตัวคูณทวี (Multiplier Effect) มันมีพลังมากที่สุดหรือเปล่า? เพราะฉะนั้นถ้าเรามองอย่างแรกคือจะรู้เลยว่าต้องกระตุ้น แต่การกระตุ้นมันมีทั้งแบบเดิมคือนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งก็คือ 'โครงการคนละครึ่ง' ซึ่งอันนี้ไม่ใช่คนละครึ่ง ไม่ใช่การเอาเงินต่อเงิน แต่เอาเงินไปเติมเงินด้วยนโยบาย 1 หมื่นบาท โดยตอนแรกเขาออกมาแค่ 1 หมื่นบาท แต่ว่าไม่ได้พูดถึงรายละเอียดมากนั้น จึงทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น จากนั้นรัฐบาลได้เก็บคำวิจารณ์เหล่านี้มาปรับปรุงกระบวนการ อย่างเมื่อก่อนบอกเฉพาะในพื้นที่แต่ตอนนี้ใช้ได้ในอําเภอได้แล้ว หรือจาก 25,000 ก็ขยับเป็น 70,000 แล้ว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอย่างน้อยเสียงด่าถึงหูรัฐบาลซึ่งถือเป็นข่าวดี เพราะมีการปรับปรุงและใช้เงื่อนไขที่ตัดข้อกังวลหลายอย่าง เช่น สามารถใช้ซื้อของได้แค่บางอย่าง โดยมีของที่ใช้ในชีวิตประจําวันเป็นหลัก และข้อดีของสิ่งนี้คือมันช่วยให้เงินไปถึงคนที่ต้องการใช้จริง ๆ เพราะคนที่ต้องการใช้เงินและใช้ได้เร็วที่สุดคือคนที่หาเช้ากินค่ำ เพราะเขาสามารถเอาเงินตัวนี้ไปซื้อข้าวของแทนได้ แต่คนที่อาจจะเอ๊ะ…เขาไม่ได้ลําบากขนาดนั้น แต่ด้วยข้อบังคับตัวนี้ มันบังคับให้เขาไม่จําเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ก็ได้ เพราะว่าสิ่งอื่นที่เขาอยากจะซื้อ มันไม่จําเป็นต้องซื้อ เพราะฉะนั้นมันเหมือนกลยุทธ์ของรัฐบาลที่บอกว่าจะใช้เงิน 500,000 ล้าน แต่เอาเข้าจริงๆ พอใช้มันอาจจะไม่ถึงก็ได้

แต่สิ่งที่กังวลคือ…การบอกว่าตัวคูณทวีจะทรงพลังมากถึง 3 เท่า…ดังนั้น อย่างแรกต้องกลับไปเปิดตํานานเศรษฐศาสตร์มหภาคของปี 1 ก่อน เวลาเราคํานวณตัวคูณทวีมันจะมีสูตรคํานวณ และจะต้องคํานวณเป็นสิบ ๆ บรรทัดกว่าจะได้ตัวเลขมา คือ ฉันจ่ายให้เธอ เธอจ่ายต่อคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ ยาวเป็นกิโล เพราะฉะนั้นสมมติฐานการคํานวณตัวคูณทวีคือเงินมันจะวิ่งหลายสิบทอดมากกว่าที่มันจะฟู อันนี้คือข้อที่กังวล เพราะเงินดิจิทัลบอกว่า ต้นทางเอาไปซื้อของจากพ่อค้า ไม่ต้องอยู่ในระบบก็ได้แต่ซื้อได้ สมมติได้ไป 500 บาท และทีนี้หากพ่อค้าคนนี้ไปซื้อของจากแม็คโคร โลตัส หรือว่าอะไรก็ตามที่เป็นบริษัทใหญ่เงินมันจะจบแค่นั้น… เขาสามารถเอาไปขึ้นเงินได้เลย ดังนั้น มันจะเดินทางเพียงแค่ 2 ต่อ แต่ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บอกว่าต้องเดินทางเป็นสิบ ๆ ต่อ แสดงว่าตัวฟูอาจจะไม่ฟูแล้ว ดังนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่กังวลอย่างมาก และคิดว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้…”

'อรรถวิชช์' มอง!! ดิจิทัลวอลเล็ตในเชิงเศรษฐศาสตร์ มันจบแล้ว ชี้!! หากแท้ง ลองหวน 'แก้เครดิตบูโร' ช่วยประชาชนได้มากกว่า

(18 ม.ค.67) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีต สส.กทม. แชร์มุมมองเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต ในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่า…

ผมบอกได้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมันจบแล้วท่านนายกฯ สำหรับในมุมเศรษฐศาสตร์ มันจบแล้ว และหมายความว่ามันไม่ได้วิกฤต ซึ่งเรากําลังพูดในปี 2567 ในปีนี้ ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าวิกฤตเศรษฐกิจมันจะมีดังต่อไปนี้

1.) ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ ค่าเงินจะอ่อนตัวค่อนข้างมาก ซึ่งของเราไม่ได้เป็นอย่างงั้นในขณะนี้ และ 2.) ‘ทุนสํารองเงินตราระหว่างประเทศ’ คือ ทองคําก็ดี ดอลลาร์หรือเยนที่ต้องเอามาแบ็คในการพิมพ์แบงค์มันร่อยหรอ ที่เขาบอกเงินหมดเกลี้ยงคลังซึ่งก็คือทุนสํารองเงินตราระหว่างประเทศ ของเราขณะนี้เต็มพิกัดเยอะมาก และมีมากกว่าเงินในระบบหลายเท่าตัวด้วย 

ปัจจุบันเมื่อปี 2566 เขาเพิ่งประกาศว่าสถาบันการเงินกําไรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว…อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ใช่อีก ก็ไม่ได้เฟ้อหรือเละเทะไปไหน ในปีนี้ GDP ก็ขึ้นแดนบวก เพราะฉะนั้นในมุมความเป็นเศรษฐศาสตร์ในปีนี้มันจบล่ะโครงการนี้ มันไม่มีความชอบธรรมแล้ว

ดังนั้น ในมุมเศรษฐศาสตร์ที่มันจบแล้ว มันมีกฎหมายพรบ.วินัยทางการคลังมาตรา 53 โดยมาตรานี้ได้บอกว่าถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายนี้ออกได้ถ้ามันฉุกเฉินและจําเป็น แต่คุณต้องทําทั้ง ๆ ที่คุณใช้งบประมาณปกติประจําปีไม่ได้แล้ว ปีนี้กําลังคุยงบประมาณปี 2567 กันอยู่ พูดกันในสภาใช่ไหม แล้วมีไหมงบเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตข้างใน ซึ่งไม่มี…ก็จบแล้ว ไม่ต้องไปพูดเลยว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต เพราะว่ามันตั้งงบประมาณทัน แต่มันไม่ตั้ง 

แต่มันมีเรื่องหนึ่งที่ท่านนายกฯ มีความชอบธรรม คือความชอบธรรมของท่านนายกฯ มาจากประชาชน ท่านจะมีหน้าที่ต้องแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ไม่ใช่วิกฤตประเทศ ซึ่งเมื่อกี้ได้ย้ำแล้วนะ GDP เราอยู่แดนบวก มันเป็นวิกฤตของชาวบ้าน พวกเราคนเงินเดือนต้องสู้กับดอกเบี้ยที่สูง สู้กับภาระหนี้นอกระบบ ทําไมธนาคารพาณิชย์ไทยไม่แข่งขันส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ซึ่งสูงมาก ขณะที่ประเทศอื่นเขาอยู่กัน 2-3% แบงก์มันถึงกําไรเยอะ แล้วปีที่แล้วอเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะกลัวเงินเฟ้อ จึงพิมพ์แบงค์ใช้เอง เพื่อแจกประชาชน พอแจกเยอะก็จะเอาเงินกลับ เพราะเงินเฟ้อเยอะ ก็ดูดขึ้นดอกเบี้ย เราก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ประเด็นมันมีอยู่ว่าตอนขึ้นตามไม่มีปัญหาหรอก มันถึงมีกําไรทุกวันนี้ แล้วตอนกดลง มันกดลงได้เปล่า? ไม่ลงไง…

แล้วก็กลับมาว่าเกิดความตาย แล้วใครตาย? พวกเราไง พวกที่ไปผ่อนบ้านอยู่ 2-3 ล้านกว่า จากดอกหมื่นเดียว 3 ปีตรึงดอกเบี้ย พอขึ้นปีที่ 4 ดอกเบี้ยลอยตัว จากที่เคยจ่าย 10,000 บาท เป็นจ่าย 16,000-17,000 บาท ตายครับ…ไปเที่ยวก็ไม่ต้องไปเที่ยวไหนกันแล้ว

คือรัฐบาลเขามองว่าเขาแจกถ้วนหน้าทุกคน ไม่ใช่การไปช่วยเหลือคนจน เพราะเขามองว่าจะเอารายจ่ายภาครัฐอัดฉีดเครื่องยนต์ตัวนี้ให้ติด เพื่อไปกระตุ้นการบริโภค ซึ่งเขามองเรื่อง GDP ดังนั้นคําถามคืออันนี้ประเทศวิกฤตไหม? คําตอบคือประเทศไม่ได้วิกฤต คุณแจกถ้วนหน้าไม่ได้ในสูตรนั้น ผมจึงบอกมันจบแล้วไง แต่ในกลับกันคนชั้นกลางคนจนนี่แหละที่วิกฤต ทําไมอัตราดอกเบี้ยมันขึ้น ก็ต้องถามว่าทําไมแบงก์พาณิชย์มันกําไรกระฉูดเมื่อปีที่แล้ว เพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมันไม่แข่งขันกัน…ทำยังไงคุณให้ธนาคารพาณิชย์แข่งเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งไม่ใช่เปิดแบงก์เพิ่มนะ และที่บอกว่าให้เปิดแบงก์เพิ่มเนี่ยผมว่าเป็นความคิดล้าหลังมาก เราเปิดแบงก์เพิ่มทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น อิสลามแบงก์ เอสเอ็มอีแบงก์ ลายเส้นแบงก์ย่อย เราเปิดหมด ไม่ใช่การเพิ่มแบงก์ เราต้องการเพิ่มในข้อแข่งขันในอัตราดอกเบี้ย เรื่องพวกนี้รัฐบาลต้องทํา ถึงบอกท่านว่าแล้วทําไมท่านไม่ใช้วิธีอื่นบ้าง? แก้กฎหมายเครดิตบูโรใครที่ติดหนี้อยู่แล้วจ่ายหนี้เรียบร้อย ให้ลบออกจากบัญชีไป เครดิตตอนนี้เวลาทําเป็นบัญชีนะ 3 ปี เหมือนบัญชีหนังหมา ดีบ้างไม่ดีบ้างอยู่ 3 ปี ไปปล่อยแบงก์ก็ไม่กล้าปล่อย

ดังนั้น ทําไมคุณไม่ทําแบบอเมริกาเป็น Credit Score บอกเป็นคะแนนเลย ถ้าคะแนนดีดอกต่ำ ถ้าคะแนนต่ำดอกแพง อย่างนี้มันก็เกิดการแข่งขันธนาคารไม่ใช่เพิ่มจํานวนธนาคาร แต่มันคือการให้ธนาคารแข่งขันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย

‘นายกฯ’ มั่นใจ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น’ ไร้ทุจริต ลั่น!! ไม่มีแนวคิดยุติโครงการ แต่อาจดีเลย์

(19 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ตนได้รับรายงานจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บอกขอรอรับรายงานจากทาง ป.ป.ช.ก่อน ส่วนเรื่องคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าตนเชื่อว่า มีตัวเลือกที่สามารถอธิบายได้ ส่วนเรื่องทุจริตผมมั่นใจ 100% ว่าไม่มีแน่นอน หากสงสัยว่าทุจริตตรงไหนให้ถามมา ทางรัฐบาลมีหน้าที่อธิบาย เพราะมีการใช้เทคโนโลยี ในการส่งเงินจาก G to C (Government to customer) เพื่อเข้ากระเป๋าสตางค์ของประชาชน ซึ่งตนไม่เห็นว่าจะทุจริตตรงไหนได้เลย พร้อมย้ำว่าอย่าพูดลอยๆ ว่ามีการทำทุจริตได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ พร้อมระบุว่า ถ้าบอกได้ว่าตรงไหนมีการทุจริตเราก็พร้อมที่จะอธิบายให้ฟัง เพราะหากอธิบายไม่ได้หรือมีข้อกังขาก็คงทำไม่ได้ 

เมื่อถามว่าไทม์ไลน์ของโครงการจะเริ่มที่เดือนพฤษภาคมเหมือนเดิมใช่หรือไม่? นายกรัฐมนตรีระบุว่า “เป็นไปตามที่นายจุลพันธ์ ระบุว่าอาจจะมีการดีเลย์ออกไป”

ส่วนกรณีที่นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาระบุว่ารัฐบาลจะใช้ข้ออ้างของป.ป.ช. เพื่อเป็นหลังพิงฝาในการยุติโครงการดังกล่าว? นายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ไม่มีความคิด ณ จุดนี้ เดินหน้าเต็มที่ ส่วนจะดีเลย์ออกไประยะเวลานานแค่ไหนตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับว่าหนังสือจากป.ป.ช.จะมาถึงเมื่อใด และมีคำถามมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีคำถามมาตนก็อยากให้เป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจง เพราะจะได้สามารถตอบอย่างตรงไปตรงมา”

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะถึงขั้นเลื่อนมาใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในการดำเนินโครงการ? นายเศรษฐา ระบุว่า “ยังไม่พูดไปไกลขนาดนั้น” และกล่าวอีกว่า ตนมีความกังวลในทุกเรื่อง ที่เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต โรงงานพลุระเบิด จังหวัดสุพรรณบุรี ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งตนก็กังวลทุกเรื่อง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนให้เกียรติรัฐร่วมรัฐบาลเสมอ ซึ่งต้องคุยกันทุกเรื่อง ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เมื่อมีข้อมูลหรือคำถามเข้ามาเราก็ต้องอธิบายคำถามให้ได้ว่าเป็นอย่างไร และเราต้อง คุยกับพรรคร่วมรวมถึงถามว่าพอใจหรือเห็นด้วยหรือไม่ เพราะอยู่ด้วยกันต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนยืนยันมาตลอด 

'กรณ์' เชื่อ!! กู้เงินแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่เกิด ชี้!! หากทำได้ 'เพื่อไทย' ได้ประโยชน์คนเดียว

(23 ม.ค. 67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นถึงโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลมีเป้าหมายกู้เงิน 5 แสนล้านมาใช้ในโครงการดังกล่าว โดยฟันธงว่า การกู้เงินมาเพื่อ ‘แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ คงไม่เกิดแล้ว แม้ว่าทางรัฐบาล (จริงๆ คือพรรคเพื่อไทย) ยังจะวางท่าทีขึงขังเหมือนจะเดินหน้าต่อก็ตาม

นายกรณ์ กล่าวว่า ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศออกมาก่อนเลือกตั้ง ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ไม่ต่างกับผู้คัดค้านอีกหลายท่าน ทั้งในแง่การเมือง (การหาเสียงแนวนี้มีแต่จะทำให้การเมืองแย่ลง) แง่เศรษฐกิจ (เป็นการใช้เงิน (กู้) ที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ) และแง่กฎหมาย (รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ชัดเจนมากว่าทำไม่ได้)

นายกรณ์ ระบุด้วยว่า ส่วนตัวได้ถอยจากการเมืองมาแล้ว ก็ไม่อยากออกตัวมากมาย แต่บางเรื่องที่ถือว่าพอมีความรู้และประสบการณ์ และเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่หลวงกับบ้านเมือง และมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงขอแสดงออก ส่วนจะผิดถูกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจเองอยู่ดี

"หลังจากที่ได้อ่านความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผมสรุปได้เลยว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผลสรุปว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่อยู่ในเกณฑ์วิกฤต เมื่อไม่วิกฤตก็ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 53 พรบ.วินัยทางการคลังที่จะออกกฎหมายกู้เงินแบบ 'นอกงบประมาณ' ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช. สรุปตามนี้ หากรัฐบาลเดินหน้าต่อไปจะเสี่ยงมาก อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเขาอาจจะยังกล้าเดินหน้า... แต่ผมไม่คิดว่าพรรคร่วมจะเอาด้วย" นายกรณ์ ระบุ

พร้อมระบุอีกด้วยว่า "ทางการเมืองนโยบายนี้เป็นของเพื่อไทย ไม่ใช่ของพรรคอื่น ถ้าทำได้และทำดี พรรคเดียวที่ได้ประโยชน์คือเพื่อไทย อันนี้ต่างกับนโยบายอื่นที่ก็มีคนคัดค้านมากมายเหมือนกัน เช่น Land Bridge เพราะนโยบายนี้พูดไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลลุงตู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ จึงมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่ภูมิใจไทยที่มีความเป็นพรรคภาคใต้มากขึ้นก็ไม่อยากค้านเรื่องนี้ ประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านยังไม่มีท่าทีเรื่องนี้ที่ชัดเจนเลย แต่แจกเงินดิจิทัลนี้ หากล้มไปตอนนี้ผมเชื่อว่าพรรคร่วมแทบทุกพรรคจะถอนหายใจโล่งอก หนึ่งไม่ต้องเสี่ยง สองปัญหาตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว แต่ถ้าล้มหลังผ่าน ครม. หรือผ่าน สภาฯ ไปแล้ว พรรคร่วมจะมีปัญหาด้วย เพราะต้องร่วมรับผิดชอบ" 

อดีต รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ในกรณี พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะตอนนั้นยุบสภาไปแล้ว และรัฐบาลอยู่ในสภาพรักษาการ ที่สำคัญ ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องร้องเรียน พ.ร.บ.ฉบับนั้น กับศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ยื่นด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกันนักกับข้อสรุปล่าสุดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็คือการออก พ.ร.บ.ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนจำเป็นทำไมได้ ต้องใช้เงินใน พ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น (ซึ่งตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยเองก็ยืนยันว่าจะทำตามนั้น) และที่สำคัญผู้ที่ร่วมลงนามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวันนั้น มีทั้งสส. ทั้งรัฐมนตรี และรวมไปถึงแม้แต่หัวหน้าพรรคของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน

"ดังนั้นผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่ได้ไปต่อ เพราะท่านเหล่านั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า การออก พรบ.กู้เงินลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ วันนี้มี พรบ.วินัยทางการคลังมายํ้าประเด็นเพิ่มเติม และยังมีความเห็น ปปช. ที่ไม่เห็นด้วยอีกต่างหาก...

"ผมคิดว่าเพื่อไทยคงหาทางลงอยู่ จริงๆ แล้วก็แค่บอกว่า เราเคารพความเห็นและความกังวลของทุกฝ่าย เราจะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีอื่น โดยเราจะให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน การฟื้นฟูการลงทุน การยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย และการส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมในทุกภาคธุรกิจ...

"ผมว่าถ้าออกมาอย่างนี้ รัฐบาลจะไปต่อได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าดันทุรัง รัฐบาลจะมีปัญหา ซึ่งหมายความว่าประเทศก็จะมีปัญหา ยิ่งจบเร็วยิ่งจะมีผลเสียน้อยกับทุกฝ่ายครับ" นายกรณ์ ทิ้งท้าย

‘นิด้าโพล’ เผย!! คนไทยส่วนใหญ่ไม่โกรธนายกฯ หากต้องยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

(28 ม.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘วิกฤติเศรษฐกิจ กับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.51 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน, รองลงมา ร้อยละ 20.15 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ ต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่เร่งด่วน, ร้อยละ 10.08 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใดๆ, ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.72 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน, รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง, ร้อยละ 20.45 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 10.92 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจใดๆ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า

- ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว
- ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
- ร้อยละ 5.88 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568
- ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
- ร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหากนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า

- ร้อยละ 68.85 ระบุว่า ไม่โกรธเลย
- ร้อยละ 12.37 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ
- ร้อยละ 9.39 ระบุว่า โกรธมาก
- ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ
- ร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘นายกฯ’ เผย!! ยังรอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. ปมดิจิทัลวอลเล็ต ลั่น!! ประชาชนคอยไม่ได้ สัปดาห์หน้าจะสอบถามว่าต้องการอะไร

(3 ก.พ. 67) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแจกเงินประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า จะมีการพูดคุยกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องยอมรับว่าจะต้องรอคำเสนอแนะจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งก็รอมานานแล้ว ตนคิดว่าต้องมีวิธีการอื่นรองรับ เพราะคำเสนอแนะยังไม่มาสักที พี่น้องประชาชนเขาคอยไม่ได้

เมื่อถามว่าทาง ป.ป.ช.รอการดำเนินการความชัดเจนจากรัฐบาล และรัฐบาลก็รอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับไปมากหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ค่อยแน่ใจว่า ป.ป.ช. รอรัฐบาลเรื่องอะไร จึงต้องขอสอบถามก่อนดีกว่า อย่าให้พูดไปโดยไม่มีข้อมูล ขอเป็นต้นสัปดาห์หน้า

‘ซูเปอร์โพล’ ชี้ คนส่วนใหญ่ ยังเชื่อใจ-รอคอย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พร้อมหวังให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายต่อ ไม่ต้องปรับปรุงอะไร

เมื่อวานนี้ (4 ก.พ. 67) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลการศึกษาเรื่อง ‘เงินดิจิทัลที่ประชาชนเชื่อมั่นและรอคอย’ จากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,120 ราย ระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคือรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.3 และ กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000-35,000 บาทต่อเดือน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 71.6 ในขณะที่ กลุ่มรายได้เกิน 35,000 บาทขึ้นไป มีความเชื่อมั่นร้อยละ 57.5 ว่าการแจกเงินดิจิทัล ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาคของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่าในกลุ่มคนในภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นสูงสุด คือร้อยละ 75.4 รองลงมา กลุ่มคนในภาคกลาง มีความเชื่อมั่นร้อยละ 74.2 กลุ่มคนในภาคอีสาน มีความเชื่อมั่นร้อยละ 73.6 กลุ่มคนกรุงเทพมหานคร มีความเชื่อมั่นร้อยละ 68.7 และกลุ่มคนในภาคใต้ มีความเชื่อมั่นร้อยละ 65.8 ตามลำดับ

ทั้งนี้ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มคนอายุน้อย คือต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 54.1 และกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 47.2 ระบุ, กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 42.5 กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 31.7 และกลุ่มคนอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 26.7 ที่ระบุ ควรเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไร เพราะรออยู่

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่ากลุ่มคนในภาคกลาง ร้อยละ 59.3 และกลุ่มคนในภาคใต้ ร้อยละ 43.9 ระบุ รออยู่ ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในขณะที่กลุ่มคนในภาคเหนือ ร้อยละ 36.8 และกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 32.6 ระบุ รออยู่ควรเดินหน้าต่อไม่ต้องปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

‘จุรินทร์’ ถามรัฐ หากเศรษฐกิจวิกฤตจริง “ทำไมไม่เดินหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ตสักที”

(6 ก.พ. 67) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลดาหน้าออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤตและจำเป็นจะต้องเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องเห็นตาม ปปช. ว่า…

“ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤตจริง แล้วจะมัวเงื้อง่า ซื้อเวลาอยู่ทำไม และถ้าเศรษฐกิจกำลังวิกฤติจริง ยิ่งรอช้าเศรษฐกิจจะไม่ยิ่งวิกฤตหนักเข้าไปอีกหรือ ยิ่งรัฐบาลบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำตามความเห็น ปปช. เสมอไป แล้วทำไมไม่ทำเสียที เพราะประชาชนรออยู่ ทำเหมือนส่อออกอาการปากกล้าขาสั่น”

สรุป 8 ข้อท้วงติงจาก ป.ป.ช. ส่อ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' เสี่ยง 'ทุจริต-ผิดกฎหมาย'

‘นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต’ ถือเป็นนโยบายเรือธงของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ด้วยการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยการใช้จ่ายใกล้บ้านด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว

แต่ดูเหมือนว่าจะติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งทางด้าน ป.ป.ช. ก็ได้ออกมาท้วงติง และชี้ให้เห็นช่องโหว่หลาย ๆ ด้าน วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวม 8 ข้อท้วงติงมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top