Wednesday, 15 May 2024
การเกษตร

‘เยียนไถ’ รุกคืบปลูกสมุนไพรใต้แผงโซลาร์เซลล์ หนุนพลังงานสะอาด เดินเครื่องสถานีไฟฟ้าผสานเกษตรฯ สร้างมูลค่า ศก.กว่า 5 แสนหยวน

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ จางเจียจวง ศูนย์กลางการขนส่งในเขตฝูซาน เมืองเยียนไถ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน เริ่มดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (PV) ระยะที่ 1 โดยผสมผสานการผลิตไฟฟ้ากับการเกษตร

แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของสถานีผลิตไฟฟ้าแห่งนี้จะรับแสงแดดได้เต็มที่ ซึ่งจะถูกแปลงเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งเข้าไปที่บริษัทสเตต กริด เยียนไถ พาวเวอร์ ซัพพลาย คอมพานี (State Grid Yantai Power Supply Company) ก่อนจะจ่ายไปยังบ้านเรือนของประชาชน

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ดำเนินการสอดประสานกับลักษณะเกษตรกรรมของท้องถิ่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อการ ‘ผลิตไฟฟ้าบนแผงเซลล์ ปลูกพืชใต้แผงเซลล์’ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการบรรเทาความยากจนที่ผสมผสานการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าผ่านการปลูกผักอินทรีย์ ผลไม้คุณภาพสูง หรือสมุนไพรจีน ในพื้นที่โครงการผลิตไฟฟ้า

สถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้มีกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละราว 70.22 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง สร้างรายได้สุทธิทางเศรษฐกิจแก่หมู่บ้านกว่า 500,000 หยวน (ราว 2.52 ล้านล้านบาท) และสร้างประโยชน์แก่ผู้คนกว่า 700 คน ขณะเดียวกันลดการใช้ถ่านหินมาตรฐานได้ 21,417.67 ตันในแต่ละปี และลดก๊าซอันตรายและการปล่อยไอเสียได้

ขณะนี้ กำลังการผลิตติดตั้งของการผลิตพลังงานสะอาดในเยียนไถอยู่ที่ 11.74 ล้านกิโลวัตต์ เป็นอันดับหนึ่งในมณฑลซานตง โดยคิดเป็นร้อยละ 54.49 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมดในซานตง

‘วิชัย ทองแตง’ เยือน ‘สกลนคร’ พบปะเกษตรกร ร่วมแชร์ไอเดียนวัตกรรมการเกษตร เสริมแกร่ง ‘สกลนครโมเดล’

นักปั้นนมือทอง!! ‘วิชัย ทองแตง’ เยือนถิ่นสกลนคร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมแชร์ไอเดีย หวังผลักดันนัวตกรรมการเกษตร สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมหนุนโครงการสกลนครโมเดลให้แข็งแกร่ง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักปั้นธุรกิจสตาร์ตอัป ได้เดินทางเยือนจังหวัดสกลนคร ในการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลการพัฒนาเกษตรนวัตกรรมจังหวัดสกลนคร ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

สำหรับเดินทางเยี่ยมเยียนเกษตรกรในครั้งนี้ คุณวิชัย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจ และแนวทางการทำตลาดสินค้าเกษตรในยุค ‘Digital Transformation’ ซึ่งถือเป็นยุคแห่งโอกาส ทั้งโอกาสในการพัฒนาสินค้า โอกาสในการขยายตลาด และโอกาสในการเรียนรู้ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ แต่ที่สำคัญหากโอกาสมาถึงแล้ว อย่าปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป

พร้อมกันนี้ คุณวิชัย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรภายใต้โครงการ ‘สกลนครโมเดล’ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลดล็อกศักยภาพสูงสุดของการเกษตรเชิงนวัตกรรมในพื้นที่ และรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวม จาก น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส. สกลนคร เขต 6 ถึงความสำเร็จในการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตั้งแต่พืชผักสวนครัว สมุนไพร กล้วยหอมทอง เห็ดป่า ผ้าทอ และผ้าย้อมคราม โดยเฉพาะผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของสกลนคร และสามารถต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย 

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยจุดเด่นของวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงทักษะของเกษตรกรสกลนคร คุณวิชัย เชื่อว่า หากได้รับการสนับสนุนและการนำด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอด จะช่วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและยกระดับรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน

‘สจล.’ เดินหน้าผลักดันเครือข่าย ‘ไทย-เนเธอร์แลนด์’ นำนวัตกรรม ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ หนุนการเกษตร-อาหาร

(30 พ.ย. 66) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ระดมเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติจากมหาวิทยาลัย ชุมชนธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานภาครัฐ ผลักดันความร่วมมือในงาน ‘เนเธอร์แลนด์-ไทย : เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ (The Netherlands – Thailand Space Technology Forum 2023 : Space Technology for Resilient Agriculture and Food System) เพื่อเป้าหมายยกระดับการทำเกษตรและระบบอาหารที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว พัฒนาการเกษตรดาวเทียม โดยมี รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. และนายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ณ ห้อง The Crystal Box เกษตรทาวเวอร์ ราชประสงค์

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ระบบการเกษตรและอาหารทั่วโลกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Climate Change) ความท้าทายของระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ ไม่เพียงต้องผลิตอาหารด้วยวิธีที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งเป้าประกันความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ได้อย่างเพียงพอสำหรับทุกคนด้วย ‘งานเนเธอร์แลนด์-ไทย: เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ ตอกย้ำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เชิงพื้นที่ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ (Space Technology) และ ‘เกษตรกรรมดาวเทียม’ (Satellite Agriculture) เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศ นับเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ และผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย 140 คน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยโซลูชั่นที่ก้าวล้ำ และกำหนดภูมิทัศน์ใหม่ของ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ และ ‘เกษตรกรรมที่ชาญฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ’ อาทิ การใช้ข้อมูลและภาพจากดาวเทียมเพื่อการพยากรณ์อากาศ การวิเคราะห์ดิน และการจัดการพืชผลแบบเรียลไทม์ได้ปฏิวัติการเกษตรกรรมสู่ยุคใหม่ เพิ่มขีดความสามารถสร้าง ‘มาตรฐานสากลเกษตรยืดหยุ่นและยั่งยืน’ ในการทำ ‘เกษตรอัจฉริยะ’ ผ่านปัญญาประดิษฐ์ IoT และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG2 - ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security), SDG3 - ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตลอดจน SDG11 – ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน เราจะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ ด้วยนวัตกรรมและสร้างแรงบันดาลใจของความร่วมมือไทย - เนเธอร์แลนด์ ในการผลักดันขยายองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ‘วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ’ มีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา การวางแผนการเดินทาง พยากรณ์อากาศ และอื่นๆ ข้อมูลเชิงพื้นที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การวางผังเมือง การจัดการทรัพยากร (ป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ) และเพื่อการออกแบบระบบที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยพิบัติ อันเป็นความท้าทายของโลกปัจจุบัน เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะทางอากาศ ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และต้นกำเนิดและผลที่ตามมามักจะทับซ้อนกันทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเราในการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพื่อสังคมและโลกอีกด้วย การประชุมเทคโนโลยีอวกาศเนเธอร์แลนด์ - ไทย 2023 ครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การนำ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ เข้ามามีส่วนในการทำ ‘ระบบการเกษตรและอาหาร’ ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและยั่งยืนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

ดร. นพดล สุกแสงปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์และติดตามสังเกตการณ์ ‘ภัยแล้ง’ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ภัยแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา 2. ภัยแล้งเชิงอุทกภัย 3. ภัยแล้งเชิงเกษตรกรรม เพื่อให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลและภาพไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการภัยแล้งได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้องค์ประกอบต่างๆ อาทิ ระดับปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของหน้าดิน สภาพอากาศความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช ระบบชลประทาน และความชื้นของดิน เพื่อใช้ในการวางแผนทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ผลักดันเครือข่ายในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ในการใช้ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ มาช่วยทางด้าน ‘เกษตรแม่นยำ’ และระบบอาหารที่มั่นคงเพียงพอ หากเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้จริงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพียงแต่ในปัจจุบันยังขาดการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ใช้ นอกจากนี้ควรออกมาตรการเพื่อความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เสริมสร้างเกษตรกรที่ไม่ทำลายป่าและไม่ทำการเพาะปลูกมากเกินจนล้นความต้องการของผู้บริโภค

ศาสตราจารย์ ดร. วิคเตอร์ เจตเทน คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัยทเวนเต้ (University of Twente) เนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารใน ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ (Extreme Climatic Conditions) ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล หรือ Remote Sensing จากดาวเทียม สามารถช่วยระบุปริมาณผลิตผลที่ชัดเจน ปัญหาการผลิตในเวลาและสถานที่ได้อย่างแน่นอน เราสามารถระบุพื้นที่มีปัญหาเพื่อวางแผนรับมือกับจุดอ่อนได้ทันท่วงทีและแม่นยำ ทั้งนี้เราต้องเข้าใจความซับซ้อนของระบบการเกษตร ความยืดหยุ่น ความเป็นจริงและข้อจำกัดของเกษตรกร จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานครั้งนี้ ประกอบด้วยความร่วมมือของ 11 องค์กร ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL), คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัย Twente, สำนักงานภูมิภาค FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย (GISTDA), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป่าไม้ ประเทศไทย, ศูนย์ภูมิสารสนเทศสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), คาดาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์, ปีเตอร์สัน เทคโนโลยี เนเธอร์แลนด์ และชมรมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

‘วิชัย ทองแตง’ ชี้ ‘อาหารสัตว์’ เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงสุด ย้ำ!! นี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศ ถ้าผู้ประกอบการโตในทิศทางนี้ได้

(27 ธ.ค.66) จากช่องติ๊กต็อก ‘GodfatherofStarup’ ได้โพสต์คลิปการประชุมหารือหัวข้องานวิจัย ‘Selected Topic’ ที่มีผลกระทบสูง โดยมีผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ มาแชร์มุมมองของตนเองเกี่ยวกับภาคการเกษตร ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้…

เปิดด้วย คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า “อาชีพหลักของผมคือ ‘การต่อยอด’ หากพวกคุณเดินไปความสำเร็จแล้ว มี 2G แล้ว เดี๋ยวผมปั้นเข้าตลาดให้ สิ่งนี้คืออาชีพของผม…”

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า “สวก.เป็นหน่วยบริการทุนวิจัย ซึ่งจะได้รับเงินแต่ละปีประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจะโฟกัสไปที่การซัปพอร์ต เรื่องของงานวิจัยภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสําคัญกับทางเศรษฐกิจ”

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ทุเรียนไทย ออกก่อนชาวบ้านเขา เพราะฉะนั้นในตลาดจีน ยังไงก็คิดว่าซีซั่นแรกเราครองตลาดได้แน่นอน ปลอกแล้วเก็บได้นาน ยืดอายุได้นาน จะไปถึงปลายทางแล้วคุณภาพยังดี ส่วนของ สวก.ก็ได้ให้ทุนวิจัยไปส่วนหนึ่ง อย่างเครื่องวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ซึ่งความแม่นยําจะอยู่ที่ประมาณ 60 ยังไม่ได้ถึง 90”

คุณทรงสมร สุขบุญทิพย์ บริษัท ไทย ไฮไซแพค จำกัด กล่าวว่า “ระบบ Tracking ซึ่งจริง ๆ แล้วถามว่า QR Code สามารถระบุอะไรได้บ้าง เช่น ID Product, Product Type, วันที่เก็บเกี่ยว/สวนที่เก็บเกี่ยว, ผลวิเคราะห์คุณภาพ, รหัสการติดตาม, คำแนะนําการเก็บรักษา เป็นต้น และถ้าเกิดมี Egap ขึ้นมา ที่กรมวิชาการเกษตรเขาอยากทําในส่วนตรงนั้น คิดว่าเอามาปลั๊กอินกันได้ และตรงนั้นเราสามารถประเมินได้เลยว่า สวนไหน ออกดอกเมื่อไหร่ มี Output เท่าไหร่ และเราจะต้องให้อะไรมากขึ้นที่เท่าไหร่ ซึ่งเราคุมตั้งแต่ต้นน้ำเลย ตั้งแต่สวน มือตัด มี QC และมาตรฐานที่จะเช็กแต่ละอย่าง”

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ กรรมการบริหาร สวก. กล่าวว่า “เห็นด้วยกับในเรื่องของการที่ไม่อ่อนไม่หนอน ก็คือขายแต่ ‘เนื้อ’ ซึ่งเขาไปขายทั้งผลเป็นทุเรียนสดแช่เย็น แล้วก็ขายเฉพาะเนื้อแช่เย็น นั่นคือสิ่งที่ สวก. กําลังให้ทุนดําเนินการอยู่เช่นกัน ส่วนเปลือกสามารถเอากลับมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยได้”

คุณวิชัย ทองแตง Godfather of startup กล่าวเสริมว่า “เปลือกสามารถเอามาทําอะไรได้หลายอย่าง ทั้งกระบวนการสามารถเอาไปจัดการได้หมด เป็น Zero waste ได้ และจะเป็นสตอรี่ที่ทางการตลาดให้ความสําคัญ”

คุณสุภาลักษณ์ กมลธรไท บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า “เสียงที่เราเคยพูดเกี่ยวกับ ‘มะขาม’ มันยังดังไม่พอ…และก็เป็นความหวังลึกๆ… เพราะมีการคุยกันตลอดเรื่องปัญหามะขาม ที่มันเยอะ อีกทั้งมะขามคุณภาพต้องมะขามเพชรบูรณ์ และส่วนตัวที่มีปัญหาเรื่องเชื้อรามากที่สุด ก็คือมะขามที่มันหวาน โดยมันต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกถ้าจะไม่ให้มีรา ซึ่งปุ๋ยบางตัวที่ใส่ไปแล้วก็จะทําให้เกิดราน้อย”

คุณอรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล บริษัท ทีเอสซีจี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “มะขามหวานเป็นเชื้อราจริง ๆ ซึ่งมันเกิดจากดิน ทั้งนี้ ‘ดินเบา’ เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่สามารถดูดซับกลิ่นแล้วก็ทําเป็นปุ๋ยได้ ไปเพิ่มประสิทธิภาพในธาตุดินให้มันมีเอ็นพีเคได้ และยังทําเป็นซีโร่เอสได้ในขณะที่มันเอาไปดูดซับน้ำมัน แล้วส่งเข้าโรงไฟฟ้าได้ จึงอยากให้ทางสวก.ช่วยในเรื่องรับรองผลว่า มันสามารถปราบพวกศัตรูพืชต่าง ๆ ได้จริง”

คุณปวีณา ว่านสุวรรณา บริษัท สกลนครนวกิจ จำกัด กล่าวว่า “สามารถเอา ‘ดินเบา’ ของเราไปทดลองใช้ได้ ด้วยการเอาไปโรยในแปลงหญ้า จากนั้นหนอนที่ขึ้นมากัดกินใบไม้ตอนช่วงกลางคืน พอถูกดินเบาติดตามผิวหนัง ก็จะถูกดินเบาดูดซับน้ำหล่อเลี้ยงในตัว ดังนั้นพอตื่นเช้ามา เราจะเห็นเขาตายตามร่องน้ำ และนี่ก็เป็นการใช้งานจริง”

คุณพงศ์ศักดิ์ จิระพันธ์พงศ์ กล่าวว่า “วันนี้ที่ได้มีการเอามาโชว์เป็นพิเศษ ก็จะเป็นตัวน้ำที่เป็นอัลคาไลน์ เป็นซิลิกา (Silica) ซึ่งมาจากดินเบาตัวนี้ ซึ่งมีซิลิกา (Silica) สูงมาก โดยมีถึง 74-76% และมันจะต่อยอดกับทางการเกษตรได้อีกเยอะมาก อีกทั้งข้อดีของดินเบาตรงนี้สามารถเอาไปเผาเป็นพลังงานได้”

คุณชาญวิทย์ เอนกสัมพันธ หญ้าเนเปียร์ในอาหารสัตว์ กล่าวว่า “หญ้าเนเปียร์ปลูกได้ปีนึงประมาณ 4-6 ในการตัดต่อครั้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรเคยได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นั้นปลูกหญ้าในเปียร์ แต่พอปลูกไปปลูกมาหายไปเลย เกษตรกรก็งงส่งเสริมให้เราปลูกแต่ทําไมคุณไม่มาทําอะไรต่อ…”

คุณชนเมศ เจนสถิตวงศ์ บริษัท มิดแลนเน็กซื จำกัด กล่าวว่า “เรามีการทดลองเอา ‘วัวที่ไม่ได้กิน’ กับ ‘วัวที่กิน’ มาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าน้ำนมวัวเพิ่มขึ้นทุกตัวเลยในส่วนที่อัตราเฉลี่ย 1.6 กิโลต่อวัน”

อีกทั้งยังมีความคิดเห็นของผู้บริหารท่านอื่นที่ต่างแชร์มุมมองกัน ดังนี้

- “เนเปียร์จริง ๆ แล้วเป็นหญ้าที่ต้องมีน้ำเยอะ ๆ เพราะปัญหาของการเกษตรเราก็คือว่าหลังจากทําไปแล้วก็ถ้าขายไม่ได้ก็หยุด”
- “การปลูกเนเปียร์มันดีอย่างหนึ่ง เพราะมันใช้เครื่องจักรห่ออ้อยได้เลย กระบวนของการดูแลรักษาให้ปุ๋ยอะไรต่าง ๆ สามารถใช้เครื่องจักรอ้อยได้ ซึ่งถ้าหากเราจะทําเป็นแมสก์ เป็นอุตสาหกรรมมันจะไม่ยาก”
- “คําว่า ‘Zero Waste’ คํานี้เป็นคําที่ใหญ่มาก ๆ ถ้าเราดูในเรื่องของกระบวนการทั้งหมด มันคือการเพิ่มมูลค่าทั้งวงจรของการผลิตทางด้านการเกษตร ถ้าเราจะมาทํางานวิจัยที่เป็นชุมชน หมู่บ้าน หรือตําบล ภาคการเกษตร ก็จะมีรายได้มากขึ้น”

และปิดท้ายด้วย คุณวิชัย ทองแตง “ธุรกิจอาหารสัตว์ คือธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงที่สุด และนี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศ ถ้าหากว่าคุณสามารถโตไปในทางเรื่องอาหารสัตว์ได้ คุณจะสามารถไปสู่เป้าหมายและประเทศไทยจะยิ่งใหญ่ได้…”

'นักวิจัยญี่ปุ่น' เผย!! 'ตาข่ายสีแดง' ปกป้องพืชผลจากแมลงได้ดีที่สุด บังตาพืชผล ลดใช้สารเคมี เพิ่มโอกาสพืชรับ 'แสง-น้ำ-อากาศถ่ายเท'

(20 ก.พ. 67) จาก TNN Tech เผยข้อมูลจากนักวิจัยประเทศญี่ปุ่นที่ค้นพบว่า 'ตาข่ายสีแดง' สามารถปกป้องพืชผลจากแมลงได้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งแตกต่างจากตาข่ายที่ใช้กับแปลงปลูกผักแบบกางมุ้งในปัจจุบันที่มักเป็นสีดำ สีขาว สีเขียวหรือสีน้ำเงิน

แม้ว่าการปลูกพืชในมุ้งจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผักปลอดจากสารเคมีกำจัดแมลงมากที่สุด แต่ยังคงมีแมลงบางชนิดที่สามารถหลุดรอดผ่านมุ้งเข้าไปทำลายแปลงผักของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะ 'เพลี้ยไฟหัวหอม' ซึ่งนอกจากกินต้นพืช มันยังมีเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายทิ้งเอาไว้ด้วย

งานวิจัยตาข่ายสีแดงปกป้องพืชชิ้นนี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญหลังมีการตรวจพบว่าเพลี้ยไฟหัวหอม มักอยู่ห่างจากพืชที่ถูกฉายรังสีด้วยแสงสีแดง ทำให้ศาสตราจารย์ มาซามิ ชิโมดะ และทีมงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยโตเกียว ตั้งสมมติฐานว่าหากใช้ตาข่ายสีแดงอาจสามารถกันแมลงได้ 

ทีมงานได้ใช้ตาข่ายสีแดงผสมกับสีอื่นๆ สามสี ประกอบด้วย แดง-ขาว แดง-ดำ และแดง-แดง โดยตาข่ายแต่ละสีมีขนาดรูแตกต่างกัน เช่น 2, 1 และ 0.8 มม. เพื่อให้ได้คำตอบของงานวิจัยที่แม่นยำทั้งในด้านของการใช้สีและขนาดของรูตาข่าย

ตาข่ายทั้ง 3 แบบ ถูกนำมาคลุมแปลงต้นหอมคูโจ หรือหัวหอมเวลส์ และเริ่มทำการทดลองปล่อยให้ต้นหอมเจริญเติบโต ผลการทดลองพบว่าแม้ตาข่ายสี 'แดง-แดง' จะมีรูตาข่ายขนาดใหญ่แมลงลอดผ่านได้ง่ายมากกว่าตาข่ายสีอื่น แต่ผักกลับมีร่องรอยการโจมตีของแมลงที่น้อย แสดงว่าให้เห็นว่าแมลงอาจมองไม่เห็นตาข่ายสีแดง

นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมและพบคำตอบว่า แมลงส่วนใหญ่รวมถึงเพลี้ยไฟหัวหอม ไม่มีเซลล์รับแสงสีแดงในดวงตาไม่สามารถมองเห็นสีแดงได้เช่นเดียวกับดวงตาของมนุษย์ ทำให้พวกแมลงไม่สามารถมองเห็นตาข่ายสีแดง รวมไปถึงผักที่โดนตาข่ายสีแดงปกป้องเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงทำการทดลองต่อไป เพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติของตาข่ายสีแดงที่มีผลต่อแมลงและพฤติกรรมของเพลี้ยไฟหัวหอมอย่างแท้จริง รวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมของแมลงสายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากตาข่ายสีแดงยังไม่สามารถป้องกันแมลงทุกสายพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว นับว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญและอาจปูทางไปสู่การลดใช้สารเคมีปราบแมลงในการทำเกษตร นอกจากนี้การใช้ตาข่ายสีแดงและรูตาข่ายที่ใหญ่ขึ้น ยังเพิ่มโอกาสให้พืชสามารถรับแสงแดด น้ำและการไหลเวียนของอากาศได้ดีมากขึ้นยิ่งขึ้น

‘รมช.อนุชา’ หนุนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ-ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

(19 มี.ค. 67) นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักปลอดภัย ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา หารือกับผู้ประกอบการรับฟังปัญหาเพื่อนำมาสู่การแก้ไข

ทั้งนี้ ได้มีการเปิดพื้นที่แปลงของนายจำนงค์ นาคประดับ หมอดินอาสาจังหวัดพะเยา ซึ่งทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เดิมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชผัก และมีความสนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ นายจำนงค์ จึงได้รวบรวมเกษตรกรมาศึกษาเรียนรู้และเข้าสู่กระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ที่สนับสนุนโดยสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา จัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตผักปลอดภัยตำบลบ้านตุ่น ส่งจำหน่ายโรงพยาบาลพะเยา และพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินจอกับปอ โดยเป็นตัวอย่างการทำเกษตรแบบผสมผสานปลูกไม้ผลและพืชผักหลากหลายชนิด มีจุดถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ พร้อมส่งน้ำด้วยระบบท่อ โดยใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ นับเป็นต้นแบบที่ดีในการทำเกษตรอินทรีย์ของคนต้นน้ำ

นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียง ให้สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ โดยมุ่งให้ความรู้เกษตรกรด้านการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรมและยกระดับรายได้ของพี่น้องเกษตรกร

นายอนุชา เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรต้องมีการพัฒนาที่ทันสมัย รวดเร็ว รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เป็นรากฐานการผลิตที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันหาแนวทางปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนบริบทภาคเกษตรเพื่อเพิ่ม GDP ภาคเกษตรให้สูงขึ้น อีกทั้ง ต้องร่วมกันขับเคลื่อนการใช้พื้นที่เกษตรให้เต็มศักยภาพ ด้วยการจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ นำไปสู่การสร้างอาชีพให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นความยากจน ลดภาระหนี้สิน

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม โดยเน้นความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรปลอดภัย

“กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้กินดี อยู่ดี มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มขีดความสามารถให้ชาวนาพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นการทำเกษตรเชิงรุก ยกระดับจากมาตรฐาน GAP สู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS วิถีชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ของหมอดินอาสาที่มีศักยภาพในการจัดทำแปลงสาธิต และมีความสามารถในการเป็นวิทยากร เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานเรียนรู้จากแปลงต้นแบบและฐานเรียนรู้ ได้อย่างถูกต้อง” นายอนุชา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top